Skip to main content

หลังการจากไปของพี่ปุ๋ย (นันทโชติ ชัยรัตน์) วันหนึ่งของต้นฤดูหนาว พี่แป๊ะ ภรรยาพี่ปุ๋ยก็มีดำริจะปลูกบ้านเป็นของตัวเองเสียที โดยพี่แป๊ะได้ซื้อไม้จากบ้านเก่าหลังหนึ่งไว้


ก่อนการเริ่มต้นปลูกบ้าน พี่แป๊ะจึงต้องหาคนมารื้อเอาไม้จากบ้านเก่าก่อน ซึ่งก็ได้น้องนุ่งแรงดีจากลุ่มน้ำมูนและหนุ่มในเมืองอย่างเอก และผู้อาวุโสแต่หัวใจวัยรุ่นอย่างพ่อถาหนึ่งในแกนนำปากมูน แห่งบ้านนาหว้า มาช่วยกันคนละไม้ละมือ


ฉันกับบุญมีรับหน้าที่ทำอาหารเลี้ยงเหล่าแรงงาน

ช่วงบ่ายๆ หลังกินข้าวแล้วถึงได้ออกไปดูพวกเขาว่ารื้อไปถึงไหน ยังไงบ้างแล้ว


ไปดูไปเห็น ถึงรู้ โอ้โห มันไม่ใช่งานง่ายๆ เลยนะ และบางครั้งก็เสี่ยงอันตรายทีเดียว แต่ความเป็นหนุ่มลูกทุ่งบ้านนาคุ้นชินกับการปลูกบ้านรื้อบ้านด้วยแรงงานตน หาใช่มีเงินหนึ่งก้อนแล้วปล่อยเป็นหน้าที่ผู้รับเหมา ถึงเวลาก็หอบข้าวของเข้าไปอยู่



ในความรับรู้ของคนอย่างฉันอาจมองว่านี่เป็นเรื่องของวิถีชีวิตดั้งเดิม แต่คนที่นี่รับรู้เข้าใจว่า ปัจจุบันของพวกเขาก็เป็นอย่างนี้นี่แหละ


ฉันอาจตื่นเต้นที่เห็นพวกเขาปีนป่ายหลังคาเล่นเหมือนหนังจีนที่ตัวละครใช้วิชาตัวเบาไล่สู้กัน แต่มองอีกทีก็หวาดเสียวใช่เล่น


การเสี่ยงอันตรายอย่างนี้ ทุ่มเทให้กันก็ด้วยใจ ไม่มีค่าแรงงานใดๆ ทั้งสิ้น นอกจากความเป็นมิตร เป็นพี่เป็นน้อง


ในบรรดาหนุ่มๆ ทั้งหมด เอกเป็นคนเดียวที่เรียนจบปริญญาตรี ส่วนคนอื่นๆ พวกเขาเรียนไม่สูงนัก ซึ่งหลายครั้งหลายหนแล้วที่ฉันมักสงสัยว่าการศึกษาในสถาบันต่างๆ ของพวกเราโดยเฉพาะเด็กบ้านนอกนั้น ได้ให้อะไร และพรากเอาอะไรจากเราไป


มีคนหนุ่มสาวจำนวนเพียงหยิบมือเท่านั้นที่จะสามารถรับเอาความรู้ใหม่ๆ วัฒนธรรมใหม่ๆ มาสู่ชีวิต ขณะเดียวกันยังสามารถรักษาความเป็นคนบ้านนอกและความสามารถใช้ชีวิตอย่างคนบ้านนอกไว้ได้


คนหนุ่มจำนวนไม่น้อย เมื่อร่ำเรียนจนจบปริญญาตรี พวกเขาก็จับค้อน ตอกตะปูไม่เป็นเสียแล้ว ให้ตากแดดกล้าแรงๆ ก็ทนไม่ค่อยไหว เพราะการศึกษาทำให้เรารู้ว่าชีวิตมีทางเลือก และโดยสัญชาตญาณเบื้องลึก ส่วนใหญ่ทุกคนก็เลือกที่จะอยู่สุขสบาย เหนื่อยน้อย แต่ได้เงินดี


เราเริ่มรู้จักวิธีหาเงินเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับชีวิต ซึ่งแปรผกผันกับความเริ่มไม่รู้วิธีที่จะดำรงอยู่โดยไม่ต้องพึ่งเงิน ไม่ว่าจะทำอะไรๆ นับวันเราก็ต้องเอาเงินนำหน้า


สร้างบ้าน รื้อบ้าน ที่คนสมัยก่อนปลูกสร้างกันเองเพียงวันสองวันเสร็จ แต่เดี๋ยวนี้กลายเป็นเรื่องใหญ่โตด้วยรสนิยมและคุณค่าที่เปลี่ยนไป บ้านของคนอย่างเราๆ เริ่มมีราคาหลายแสนจนถึงหลายล้าน เริ่มอยู่ยาก กินยากขึ้น


จนทุกครั้งที่นโยบายพัฒนาประเทศถูกหยิบยกขึ้นมาในรูปของการสร้างเขื่อน โรงไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรม คำพูดที่มักได้ยินจากรัฐเรียกร้องกับคนพื้นที่ว่า คนส่วนน้อยต้องเสียสละเพื่อคนส่วนใหญ่ มันทำให้อดคิดไม่ได้จริงๆ ว่าทำไมคนยากคนจนต้องเสียสละให้คนร่ำรวยมั่งมีที่มีแล้วมีอีก มีเท่าไหร่ก็ไม่เคยรู้จักพอสักที พวกเขาอยู่ยากกินยากเกินไปจึงเรียกร้องสิ่งอำนวยความสะดวกที่ไม่เคยสิ้นสุด


เด็กหนุ่มสองคนลุ่มน้ำมูนที่มาช่วยรื้อบ้านวันนี้เพิ่งกลับมาจากกรุงเทพฯ ก่อนนี้พวกเขาไปทำงานเป็นช่างทำเฟอร์นิเจอร์ เมื่อไม่มีงานให้ทำแล้วก็กลับมาบ้าน หาปลาในแม่น้ำมูนต่อ แม้หาได้บ้างไม่ได้บ้าง ก็ยังดีกว่าอยู่เฉยๆ แต่แน่นอนว่า ก่อนที่จะมีการสร้างเขื่อนพวกเขาไม่เคยมีความคิดจะออกจากหมู่บ้านเลย จำนวนปลาที่หาได้มีเพียงพอให้ยังชีพอย่างไม่ขัดสน เขาเล่าให้ฉันฟังถึงตอนที่มีการประท้วงที่สันเขื่อนปากมูนเมื่อหลายปีก่อน ตอนนั้นสะพานข้ามแม่น้ำมูนจากบ้านด่านมาบ้านท่าแพยังไม่ได้สร้างขึ้น เขาและเพื่อนต้องเดินไปตามริมน้ำ ข้ามไหล่เขา หน้าผา ช่วงแก่งตะนะ เดินกันจนรองเท้าขาด เพื่อจะไปร่วมประท้วงด้วย


วันนี้เมื่อเพื่อนคนหนึ่งขอแรงให้มาช่วย พวกเขาก็ยินดีมาโดยไม่อิดออดแม้ว่าจะไม่เคยรู้จักเลยว่าพี่แป๊ะ พี่ปุ๋ย เป็นใคร เป็นน้ำใจที่เพื่อนมีให้เพื่อนแท้ๆ


ส่วนน้องอีกคนหนึ่งก็วางแผนว่าเมื่อหมดหน้าเกี่ยวข้าว เขาเองก็จะออกไปรับจ้างใช้แรงในกรุงเทพฯ เหมือนกัน แต่ช่วงนี้ยังสามารถรับจ้างเกี่ยวข้าวในหมู่บ้านใกล้เคียงได้อยู่ จึงยังอยู่ในหมู่บ้านก่อน


เงินยังคงมีความจำเป็น เป็นสิ่งสำคัญ แต่ก็ไม่ได้หมายว่าเอะอะก็ต้องใช้เงิน ให้เงินมาเป็นเรื่องใหญ่ การรื้อบ้านสองวันนี้ ถ้าคิดตามค่าแรงขั้นต่ำคนหนึ่งก็ได้เกือบๆ สี่ร้อยบาท แต่ว่า พวกเขาก็พร้อมที่จะโบกมือปฏิเสธทันที เพราะนี่คือการใช้แรงเพื่อพี่น้อง เพื่อสายสัมพันธ์ที่ดีที่มีให้กันตลอดมา แม้ว่าพี่ปุ๋ยจะไม่อยู่บนโลกนี้แล้วก็ตาม


จิตใจที่ไม่เคยเห็นเงินเป็นใหญ่อย่างนี้ ไม่รู้ว่าคนที่เคยชินกับการใช้เงินจะคิดได้บ้างไหมว่า บางครั้ง เราไม่จำเป็นต้องเอาประเทศหรือเอาตัวเข้าแลกเพื่อจะให้ได้มาซึ่งค่าดัชนีทางเศรษฐกิจเลย เพราะคุณภาพชีวิตและความสุขเอาเงินมาเป็นตัววัดไม่ได้


สำหรับบางคนกระท่อมหลังเดียวจากการลงแรงด้วยน้ำมือตนและทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ เท่านี้ก็เพียงพอแล้ว ในขณะที่อีกคนกอบโกยเม็ดเงินเท่าไหร่ก็ไม่เคยรู้สึกพอ จึงรุกรานพื้นที่ของอีกคนโดยตรรกะที่ตนร่ำเรียนมาว่า มันคือการพัฒนา มันย่อมดีกว่า ขอให้ผู้ได้รับผลกระทบจงเสียสละ


แต่ลองหยุดคิดสักนิดหนึ่งบ้างจะดีไหม เราควรมีเงินเท่าไหร่ถึงจะพอ ค่าดัชนีทางเศรษฐกิจเป็นตัวเลขเท่าไหร่ถึงจะวัดตัวความสุขของพลเมืองได้



บล็อกของ สร้อยแก้ว

สร้อยแก้ว
  ๑.ผูกพัน เป็นชื่อเพลงเพลงหนึ่งไม่บ่อยนักที่ฉันจะได้ฟังเพลงสักเพลงแล้วมันตรึงเราให้อยู่นิ่งๆ ตั้งอกตั้งใจฟังจำได้ว่า วันนั้นฉันนอนเปลที่ผูกเข้ากับเสาอาคารและต้นไม้ข้างศูนย์ฯ มีกิจกรรมค่ายของน้องๆ วัยมัธยมและมหาวิทยาลัยราวสี่สิบคน บรรดาพี่เลี้ยงเป็นคนทำงานด้านสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมที่แต่ละคนล้วนฝีมือฉกาจฉกรรจ์ โดยเฉพาะ แคน และน้องผู้ชายอีกคนจำชื่อไม่ได้ (มาจากแก่งเสือเต้น) ดำเนินกิจกรรมให้กับเด็กๆ ได้อย่างมีสาระและสนุกสนาน เรียกว่าเอาอยู่ เก่งมากๆ
สร้อยแก้ว
 หน้าบ้านดอกโมกบานก่อนเพื่อนดอกมะลิตามมาดอกคูนเริ่มผลิไสวลั่นทมสี่ต้นที่เคยปลูกเองกับมือก็ผลิดอกให้ชมเร็วทันใจปีที่แล้วนี้เอง, ตอนนั้นเอามาปลูกกับเด็กหญิงไพจิตรพายุคะนองทำให้กิ่งก้านใหญ่ของลั่นทมหน้าศูนย์ฯ หักฉันแบ่งออกเป็นสี่กิ่งปลูกรอบบ้านดินไม่คิดว่าวันหนึ่งจะได้มาอยู่บ้านหลังนี้ลั่นทมกลิ่นหอม ชอบเด็ดมาดมดอกพุก ไม้ยืนต้นก็บานแล้วสีขาวดอกยอกขี้หมาส่งกลิ่นหอมจากคืนถึงเช้ามันเป็นดอกที่ชื่อกับตัวไม่เข้ากันเลยยอกขี้หมาสีขาวร่วงหล่นบนพื้นสีขาวเกลื่อนทางเดินดูสวยดียามเช้าตื่นมาเดินเล่น สูดดมกลิ่นหอมของดอกไม้แสนสดชื่นเย็นวันนี้…
สร้อยแก้ว
แม้ม็อบเสื้อสีๆ จะซาลงไปแล้ว (ซาแต่นามภาพ-รูปธรรม แต่ในความรู้สึกนั้นยังคงไหลแรง) แต่ฉันก็ยังเชื่อว่าคนที่เข้าร่วมแต่ละกลุ่มย่อมมีความคิด มีทัศนคติที่ชัดเจนของตนเอง อย่างที่ทิ้งท้ายไว้ในตอนที่แล้วว่าฉันจะนำความคิดของ ไม้หนึ่ง ก.กุนที มานำเสนอ เพราะเห็นว่าวิธีคิดของเขาน่าสนใจมาก ซึ่งแม้ปัจจุบันฉันจะยังอยู่ขอบปลายชายแดนอีสาน ไม่มีโอกาสได้เจอหรือพูดคุยกับตัวตนจริงๆ ของเขา และบทสัมภาษณ์ที่คัดลอกมาฝากนี้ก็เคยผ่านหน้านิตยสารมาบางส่วนแล้ว แต่ฉันก็ยังอยากให้ใครอีกหลายๆ ที่อาจยังไม่ได้ผ่านตากับความเห็นเหล่านี้ได้ลองอ่านเล่นๆ ดูบ้าง
สร้อยแก้ว
ไม้หนึ่ง ก. กุนที - เป็นใคร? สำหรับคนที่ไม่ได้สนใจงานเขียนประเภทกวีนิพนธ์หรืองานวรรณกรรม ก็มีความเป็นไปได้สูงที่อาจจะตั้งคำถามนี้ แต่สำหรับแวดวงนักเขียนหรือคนที่สนใจงานวรรณกรรม ย่อมรู้จักเขาดีว่าเขาคือหนึ่งในกวีหัวก้าวหน้าที่มีความสามารถสูงในด้านฉันทลักษณ์จนก้าวพ้นกรอบกฎเกณฑ์ของฉันทลักษณ์ไปได้อย่างสง่างามและพยายามที่จะให้ฉันทลักษณ์รับใช้ศิลปะ มีชีวิตชีวา มากกว่าเพียงแค่ถ้อยคำไพเราะเพราะพริ้ง
สร้อยแก้ว
แมนยูฯ คือ แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด ศูนย์ฯ คือ ศูนย์ภูมิปัญญาไทบ้านปากมูนฉันย้ายจากบ้านเช่าในเมืองโขงเจียมมาอยู่บ้านดินของศูนย์ภูมิปัญญาไทบ้านปากมูน ได้ ๑ เดือนเต็มๆ แล้วและนับตั้งแต่มาอยู่ที่นี่ภายในบ้านที่มีโทรทัศน์ใส่กล่องกระดาษตั้งอยู่ มันก็มีหน้าที่เป็นพนักพิงยามเขียนหนังสือ (กับโต๊ะญี่ปุ่น) ให้เท่านั้น ฉันขอความร่วมมือจากคนร่วมชายคาบ้านว่าหากอยากดูข่าวสารจากโทรทัศน์ก็ช่วยออกแรงเดินสักร้อยกว่าเมตรไปดูในห้องทำงานของศูนย์ฯ เถอะนะ ซึ่งที่นั่นจะมีน้องชายอ้วนดูอยู่เป็นประจำ (และนอนที่นี่) คนอาศัยชายคาเดียวกันก็นับว่ามีน้ำใจยิ่ง ให้ความร่วมมือกับคนเรื่องมากอย่างฉันโดยดี
สร้อยแก้ว
ไม่ได้ตั้งใจจะเลี้ยงเล้ยยยยย... จริงๆ พับเผื่อยซิ วันประชุมสมัชชาคนจน ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบความเดือดร้อนจากการสร้างเขื่อน ได้มาประชุมปรึกษาหารือกันที่ศูนย์ภูมิปัญญาไทบ้าน เจ้าแมวตัวนี้นอนซุกอยู่ในรองเท้าเจ้าอ้วน - เด็กอ้วนแห่งรายการวิทยุชุมชน เด็กๆ แถวนี้บอกว่าพี่น้องมันตายไปหมดแล้ว หมาฟัดเรียบฉันได้แต่ฟังเขาพูด ไม่ได้ขึ้นไปฟังเขาประชุมด้วย เลยไม่รับรู้ต่อการมีอยู่ของมันแต่ว่าพอบ่ายแก่ๆ ก็มีมือดีจับใส่กระเป๋าเสื้อเดินมาให้ที่บ้านดิน"อยู่ที่นี่ดีกว่านะ ไม่งั้นเดี๋ยวมันจะถูกหมาฟัดตาย"เจ้าของเสียงดึงมันออกมา ตัวเล็กๆ อยู่ในอุ้งมือเดียวเท่านั้นของชายหนุ่มฉันมองแล้วทั้งยิ้มทั้งถอนใจ
สร้อยแก้ว
ร้อนๆ อย่างนี้ ซื้อน้ำแข็งกินทีไร ก็อดคิดถึงตู้เย็นไม่ได้ทุกที ถ้ามีตู้เย็นฉันคงจะซื้อน้ำแข็งกินไม่เปลืองเท่านี้ เพราะกินเท่าที่ต้องการ เหลือก็ใส่ตู้เย็น หรือบางทีก็ทำน้ำแข็งกินเองก็ได้ ส่วนของสดหรืออาหารที่กินเหลือก็แช่ตู้เย็นไว้ได้ หิวเมื่อไหร่ก็นำมากินได้อีก ไม่เปลือง อืมม์! คิดทีไรก็อยากกลับไปเอาตู้เย็นที่กรุงเทพฯ ทุกที แต่ก็ติดตรงที่ฉันไม่เคยแน่ใจสักทีว่าจะปักหลักที่ไหน การเคลื่อนย้ายบ่อยจึงไม่เหมาะที่จะมีสัมภาระอะไรมาก นี่ขนาดว่าไม่มาก ฉันก็ยังซื้อโทรทัศน์ (ไว้ดูข่าวสารบ้านเมือง) เครื่องซักผ้า (แก่แล้ว นั่งซักปวดหลัง) หนังสืออีกหนึ่งเข่งและข้าวของจิปาถะอีกสองเข่งกับอีกสองลังเสื้อผ้า…
สร้อยแก้ว
ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการสร้างเขื่อนสิรินธรเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๔ ได้จัดงานรำลึก ๑๕ ปีในการต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ในบริเวณแถบอีสานใต้นี้ นับว่ามีปัญหาของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายของภาครัฐอยู่หลายโครงการ เอาแค่ใกล้ๆ ที่ฉันอยู่ มีปัญหาจากการสร้างเขื่อนอยู่สามโครงการคือ เขื่อนสิรินธร เขื่อนปากมูน และเขื่อนราษีไศล
สร้อยแก้ว
  "ท่านเป็นเจ้านาย มีเงินเดือนกิน ท่านบ่ได้เป็นแม่ค้าหาเช้ากินค่ำ ท่านจะเว้าจังได๋ก็ได้"คำพูดของแม่ค้าคนหนึ่งดังอยู่ข้างหูเมื่อทุกคนมายืนรอฟังคำตอบจากการไปเจรจากับทางเทศบาลมาเสียงโทรศัพท์ที่ดังแต่เมื่อคืนบอกถึงเจตจำนงในการจะยึดพื้นที่ค้าขายกลับคืนมาในช่วงเวลาราวตีหนึ่งเศษทำให้เพื่อนบางคนที่ทำงานในศูนย์ภูมิปัญญาไทบ้านต้องรีบออกไปดูแต่เช้า และแน่นอนด้วยความอยากรู้อยากเห็นฉันก็ขอกระเตงติดรถไปด้วยคน
สร้อยแก้ว
ฉันมีโอกาสไปดูงานรณรงค์เลิกเหล้าของหมู่บ้านคำกลาง ตำบลโนนหนามแท่ง อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ เมื่อหลายเดือนก่อน ตำบลนี้มีกำนันคนเก่งเป็นผู้หญิงชื่อ รัตนา สารคุณ ก่อนนี้แม่กำนันเคยเป็นนักเลงสุรา ดื่มเหล้าหนัก แม่กำนันดื่มเหล้าเพียวและดื่มน้ำตบตูดแบบเดียวกับที่ผู้ชายพื้นบ้านนิยมดื่มกัน และแม่คอแข็งชนิดผู้ชายต้องยอมแพ้ แต่สุดท้ายเมื่อเวลาผ่านไป กาลเวลาสามารถพิสูจน์ความสามารถของเธอได้มากกว่าการพิสูจน์ความกินทนกินนาน ใจป้ำ ใจแกร่ง ในวงสุรา แม่กำนันก็เห็นโทษของการดื่มสุรา และหันมารณรงค์ให้ลูกบ้านลดละเลิกเหล้า
สร้อยแก้ว
  นึกไม่ออกแล้วว่าเคยไปร่วมงานวันเด็กครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่พยายามนึก...ลูกก็ยังไม่มี หลานรึ ก็ไม่เคยได้พาไป เพราะไม่ค่อยได้อยู่บ้านงานวันเด็กครั้งสุดท้ายของตัวเองน่าจะเป็นตอนที่ยังเรียนอยู่ชั้น ป.๖ นั่นแหละ เพราะหลังจากนั้น พอขึ้นชั้น ม.๑ ความแก่แดดแก่ลมของฉันก็พลันให้รู้สึกว่าตัวเองเป็นสาววัยรุ่นแล้ว ไม่ใช่เด็ก จึงไม่เคยไปวอแวงานวันเด็กอีก ไม่อย่างนั้น เค้าจะหาว่าเด็กจนปีใหม่นี้ฉันมีโอกาสไปนอนมองพระจันทร์กลางทุ่งนา มองฟ้าพร่างดาวเคลื่อนคล้อยข้ามคืนข้ามปีในช่วงปีใหม่ที่อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร ก็เลยได้อยู่ยาวมาเรื่อยจนถึงงานวันเด็กของหมู่บ้าน