อย่างที่ทิ้งท้ายไว้ในตอนที่แล้วว่าฉันจะนำความคิดของ ไม้หนึ่ง ก.กุนที มานำเสนอ เพราะเห็นว่าวิธีคิดของเขาน่าสนใจมาก ซึ่งแม้ปัจจุบันฉันจะยังอยู่ขอบปลายชายแดนอีสาน ไม่มีโอกาสได้เจอหรือพูดคุยกับตัวตนจริงๆ ของเขา และบทสัมภาษณ์ที่คัดลอกมาฝากนี้ก็เคยผ่านหน้านิตยสารมาบางส่วนแล้ว แต่ฉันก็ยังอยากให้ใครอีกหลายๆ ที่อาจยังไม่ได้ผ่านตากับความเห็นเหล่านี้ได้ลองอ่านเล่นๆ ดูบ้าง
บทสัมภาษณ์ต่อไปนี้เคยลงในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 6-12 มีนาคม 2552 คอลัมน์ สามก๊กฉบับคนกันเอง โดย เอื้อ อัญชลี ซึ่งมีโอกาสไปทักทาย พูดคุยกับเขาถึงที่ร้านข้าวหน้าเป็ดแถวศาลายา (ไม้หนึ่ง ก.กุนที ขายข้าวหน้าเป็ดและบะหมี่เป็ด รสชาติอร่อยมาก ทั้งไม่พึ่งผงชูรสแต่อย่างใดเลย เป็นร้านอาหารที่ต้องการให้คนกินได้ชิมรสชาติแท้ๆ ของวัตถุดิบ เขาเป็นคนหนึ่งที่เอาจริงเอาจังกับการทำงานและไม่เคยฟูมฟายกับสถานะกวีอย่างที่จะเห็นกวี- นักเขียน หลายคนโอดครวญเอาว่าสังคมไม่สนใจ ไม่เหลียวแล แต่เขาเลือกประกอบอาชีพพ่อค้าและค้นพบบทกวีจากบนเขียง ตู้กระจก ผ้ากันเปื้อน)
.................................
คนที่ฉันรู้จักส่วนใหญ่จะเข้าร่วมกับฝ่ายสีเหลือง เพิ่งจะเจอพี่ไผ่ (ไม้หนึ่ง ก.กุนที) นี่แหละที่ประกาศตนชัดเจนว่าเขาอยู่ข้างสีแดง
"ผมเนี่ยทำงานเขียนมาเกือบยี่สิบปี เพิ่งค้นพบรอยเชื่อมต่อระหว่างที่มาและที่ไปของตัวเอง ซึ่งมาสรุปได้ว่า ปัญญาชนหรือการเป็นนักคิดนักเขียนจะต้องรับใช้ประชาชนอย่างไร ไม่ใช่พอเกิดวิกฤติอะไรแล้วมีคนถามว่าคุณจะเลือกข้างไหน คุณกลับตอบว่าไม่เข้าข้างไหน คุณเป็นเสื้อขาว ก็ในเมื่อคนเราไม่ได้รับปัจจัยที่เท่าเทียมกัน และคุณก็เป็นคนหนึ่งที่มีโอกาสช่วงชิงปัจจัยเยอะกว่า ถึงจุดหนึ่งถ้าคุณสุกงอมจริง มีวุฒิภาวะจริง คุณต้องรู้ว่าจะคืนอะไรให้กับประชาชน ต้องรู้ว่าหน้าที่ของปัญญาชนคืออะไร"
สำหรับพี่ไผ่ เขาไม่ได้สนใจว่าใครจะถูกจ้างหรือถูกหลอกให้มาชุมนุม แต่เขามองจากพื้นฐานทางเศรษฐกิจ และเห็นว่าผู้ชุมนุมสีเหลืองส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลาง ซึ่งได้รับโอกาสจากความไม่เท่าเทียมกันทางสังคมมาโดยตลอด และมีกำลังพอที่จะเข้าร่วมชุมนุมด้วยตนเอง ขณะที่กลุ่มสีแดงส่วนใหญ่เป็นชนชั้นล่าง ซึ่งขาดปัจจัยในการชุมนุมอย่างต่อเนื่อง นอกเสียจากจะมีคนคอยจัดตั้งให้
เขาจึงไม่เห็นด้วยที่นักเขียนหรือศิลปินส่วนใหญ่จะเข้าร่วมกับสีเหลืองฝ่ายเดียว และละเลยที่จะรับรู้ความเป็นอยู่ของกลุ่มสีแดง
แล้วพี่ไผ่ก็เล่าว่าถ้ามีเวลาว่างจากงานในร้าน ตัวเขาจะออกไปร่วมชุมนุมกับกลุ่มสีแดงเสมอ
"แต่ไม่ใช่ไปรออ่านบทกวีอย่างเดียวนะ ผมเก็บขยะด้วย"
ฉันถาม "พี่สู้เพื่อใครบางคนหรือเปล่า"
พี่ไผ่ส่ายหน้า "ในกลุ่มแดงเขาใช้คำว่าแนวร่วมประชาชนเพื่อประชาธิปไตย มันมีแนวร่วมหลายกลุ่ม เสื้อแดงต่อยปากกันเองก็มีเยอะ มันบ่งบอกถึงความหลากหลาย ความมั่ว แต่มันคือความจริงไง เพราะพื้นฐานของสังคมนี้คือคนที่ด้อยพัฒนา การศึกษาต่ำ ถ่อย หยาบ คนส่วนใหญ่ของประเทศไม่ได้มีโอกาสจะได้ดูดีอย่างคุณ อย่างผม ไม่มีโอกาสแม้จะเป็นตัวของตัวเองทางการเมือง เขาถูกกระทำอยู่ตลอดเวลา พวกคุณเลือกที่จะแยกตัวเองออกจากประชาชนนั่งบนภูดูเสือกัดกัน แต่ผมก้าวไปรับใช้ประชาชน
"ประชาธิปไตยที่พวกเขากำลังต่อสู้มันเป็นของจริงหรือ"
"ประชาธิปไตยง่ายๆ ไง สำหรับกลุ่มเสื้อแดง มันคือ วิถีที่ก่อกำเนิดมาจากนโยบายประชานิยม คือการเอาเงินไปให้ชาวบ้านฟรีๆ แต่ประชาชนก็มีสิทธิ์ที่จะได้เงินก้อนนี้นะ เพราะมันเป็นส่วนเกินที่ขูดรีดมาจากการเป็นผู้ผลิตของเขา ขณะที่เขากลับได้ค่าแรงต่ำกว่าความเป็นจริง ดังนั้น คนที่เห็นถึงสัจจะอันนี้ก็คือ คนที่เห็นมวลชนอย่างชัดเจน
"ทุกคนอาจจะพูดเหมือนกันว่า อยากให้มนุษยชาติมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีกว่านี้ แต่การกระทำอยู่ที่ไหนล่ะ ผมเคยคิดนะ อยากให้สนามหลวงมีโรงพักอาศัยสำหรับคนเร่ร่อน แล้วก็มีโรงสำหรับให้ทำงานแลกอาหาร หรือหากใครต้องการจะหารายได้สำหรับใช้จ่ายสักวันหนึ่ง ก็มาทำงานที่นี่ อาจเป็นการปั๊มอิฐดิน ให้คนเร่ร่อนไม่มีทางออกได้มาใช้แรงงานเพื่อแลกกับค่าแรงซึ่งอาจจะไม่แพงนัก แต่เป็นการกำจัดทุกข์ขั้นพื้นฐาน"
และอีกข้อความหนึ่ง ซึ่งฉันบังเอิญได้ไปอ่านจากการแสดงความเห็นหลังงานอ่านบทกวี Thai Poet Society Forum (บทกวีของเขาที่ขึ้นไปอ่านชื่อ "สถาปนาสถาบันประชาชน" ฉันได้นำลงไปเมื่อตอนที่แล้ว) ซึ่งมีบางคนเล่าว่าสถานีโทรทัศน์บางแห่งแม้สัมภาษณ์เขาไปแต่ก็ไม่กล้าลงเพราะความเป็นแดงของเขา แต่กระแสเสียงชื่นชมจากเว็บไซต์ของ http://www.thaipoetsociety.com/ ที่มีต่อเขาก็มีไม่น้อยทีเดียว โดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่ และเขาก็ได้เข้ามาตอบโดยใช้นามปากกา "ดอกเข็มแดง" ว่า
"ผมในนามของ ไม้หนึ่ง ก.กุนที ได้ทำหน้าที่ของผมอย่างตั้งใจแล้ว
และขออภัยเป็นอย่างยิ่ง หากสิ่งที่ผมทำอันเป็นการสื่อและย้ำถึงสิทธิเสรีภาพในครั้งนี้
ทำให้พวกคุณหลายคนไม่ได้ออกทีวี
และขอย้ำอีกครั้งว่า สิทธิ์และทรัพยากรทั้งหลายที่ผู้จัดงานนี้ได้มีโอกาสบริหารจัดการนั้น
เป็นโอกาสที่พวกคุณมี โดยคนอื่นไม่มี
และคำว่าสิทธิ์นั้นก็มีความเป็นธรรมชาติในตัวของมันเองเช่นกับสรรพสิ่งในโลกนี้
และสิทธิ์นั้นก็มีอิสระในตัวของมันเองโดยชอบธรรม
เพราะฉะนั้นใครผู้หนึ่ง กล่าวว่า "เป็นสิทธิ์ที่ผมให้คุณ" ถือว่าเป็นถ้อยคำที่วิปริตหรือไม่?
และผมไม่ขออภัยในบทกวีที่ผมอ่านในวันนั้นในส่วนที่เพิ่มเติมจากตัวบทในสูจิบัตร
คงไม่ต้องบอกเหตุผลว่าทำไม
เพราะคุณสุลักษณ์ก็ได้อธิบายไว้ในปัจฉิมคาถา โดยอ้างอิงทรรศนะของกวีท่านหนึ่งต่อบทกวีในช่วงที่กล่าวถึง "..กวีที่บันดาลใจอย่างสดใหม่และไม่ได้เตรียมเขียนไว้อ่านจากต้นฉบับ.."
บทไหว้ครูเสรีชนในตอนต้น และบทยืนยันอุดมการณ์มาร์กซ์ในตอนท้ายของผม แม้ไม่ได้เกิดแรงบันดาลใจสดๆ ในขณะอ่าน แต่มันก็คือแรงบันดาลใจสด ๆ ก่อนที่ผมจะเดินทางออกจากบ้าน
ปัญหาของผู้ที่ไม่สบอารมณ์กับสิ่งที่ผมเพิ่มเติมจากตัวบทนี้ก็คือ "การที่คนผู้นั้นไม่สามารถควบคุมผมได้ ไม่สามารถควบคุมบทกวีที่เติบโตและมีชีวิตอย่างไม่รู้หยุดทุกนาทีชั่วโมงนั่นเอง"
มันเป็นสิ่งที่ตระหนกมากสำหรับผมที่เห็นรูปเงาแห่งการที่จะต้องการควบคุมสิ่งต่าง ๆ ไว้ในมือจากกลุ่มคนที่เที่ยวออกตระเวนกู่ร้องเรียกหาเสรีภาพให้กับที่โน่นที่นี่
ผมอาจบันดาลโทสะให้กับคนหลายใคร?
แต่พรุ่งนี้ มะรืนนี้ หากผมถูกฟ้อง คงเป็นบทพิสูจน์คนหลายใครว่า อุดมคติที่ผลิตขายออกสู่สังคมก่อนหน้านั้นจริงหรือปลอม
ระหว่างความบาดหมางระหว่างปัจเจก กับ "ความใฝ่ฝันถึงโลกที่เสรีอหิงสาและการใช้แรงงานอย่างเหมาะสม" นั้นใครจะเลือกอะไร
สำหรับเรื่องนี้เวทีนี้ลงเสาปูพื้นและเตรียมฉากไว้แล้ว ขาดแต่ตัวละครที่จะโยนชีวิตลงไปจริง ๆ
ผลข้างเคียงจากการงานที่เกิดเป็นแผนการปลุกชีพให้กวีนิพนธ์ครั้งนี้ ท้าทายโคตร !
และอีกครั้งหนึ่งที่เขาเข้ามาตอบ
ขอบคุณทุกคนที่ใจกว้างกับ ไม้หนึ่ง
หากเป็นเรื่องงานนี้เราคงมีเรื่องคุยกันได้อีกเยอะเพื่อผลักสิ่งที่หลายคนในนี้มุ่งหวังให้คืบไปบนหนทางของกวี และผมก็ยินดีแลกเปลี่ยน
แต่ช่วงนี้พวกคุณก็คงรับรู้กันแล้วเรื่องการออกสู่สนามอีกครั้งของคนแดง ผมจึงยากที่จะดำเนินสมาธิได้ยาวสำหรับเรื่องนี้
และหากพวกคุณอยากเห็น ไม้หนึ่ง ในหน้าที่ของเขาจริง ๆ เชิญที่เวทีหน้าทำเนียบครับ
น่าจะราว ๆ ตี 4 ของทุกเช้าวันใหม่
อ่านเสร็จกลับไปย่างเป็ดเปิดร้านขายข้าวและบะหมี่ปกติ
ครึ่งหนึ่งของตัวบทในวันนั้น ไม้หนึ่ง อ่านบนเวทีเมื่อ ตี 4 กว่า ๆ ของวันนี้อีกครั้งแล้วครับ
ขอขอบคุณในไมตรี
ในโลกที่เราหาผู้กล้าได้ยากเย็น หาคนจริงได้ยากเย็น หาคนที่เสียสละโดยไม่มีผลประโยชน์แอบแฝงได้ยากเย็น การปรากฏตัวครั้งนี้ของ ไม้หนึ่ง ก.กุนที ทำให้ฉันคงต้องลงท้ายเหมือนตอนที่แล้วอีกครั้ง - มันอาจเป็นเรื่องสำคัญเหมือนกันที่เราต้องรับรู้ว่า ผู้นำหรือใครคนอื่นๆ กำลังต่อสู้ด้วยผลประโยชน์แอบแฝงแบบไหน ไม่ว่าเสื้อเหลืองหรือเสื้อแดง หัวขบวนอาจจะเต็มไปด้วยพวกเขี้ยวลากดินหรือนักการเมืองร้อยเล่ห์พันเหลี่ยม แต่มันไม่สำคัญเท่า --- คนสู้รู้ตัวดีว่ากำลังสู้เพื่ออะไรต่างหาก
ข้าน้อยขอก้มหัวคารวะ