แต่ก่อนฉันเคยใฝ่ฝันกับการมีบ้านมานาน แต่จนแล้วจนรอดก็มักจะรู้สึกว่ายังไม่ใช่เวลานั้น มันยังไม่ถึงเวลา ฉันยังอยากเดินทางท่องไปอยู่ ยังอยากพบเจออะไรใหม่ๆ อยู่ ดังนั้น หลายครั้งหลายหนเมื่อพบเจอปลอกหมอน ฟูกนอนพื้นบ้าน ผ้าพื้นเมืองลายคลาสสิก แก้ว จาน ชาม เซรามิกที่ถูกใจก็มักจะซื้อเก็บไว้ แต่ก็ไม่ค่อยได้นำเอาออกมาใช้
เมื่อตอนที่ตัดสินใจเช่าบ้านอยู่ คิดว่าคงจะอยู่ละแวกลุ่มน้ำมูนอย่างน้อยก็หนึ่งปี การกลับไปยังกรุงเทพฯ ซึ่งข้าวของส่วนใหญ่ของฉันฝากฝังไว้กับบ้านเพื่อน อุปกรณ์ในการดำเนินชีวิตประจำวันไม่ว่า แก้ว จาน ชาม ช้อน หมอน เครื่องเล่นซีดีจึงถูกนำกลับมาด้วย
แต่น่าขำจริงๆ เมื่อแกะกระดาษหนังสือพิมพ์ที่ห่อหุ้มข้าวของพวกนี้ออก กลับรู้สึกว่ามันดูไม่ค่อยเข้ากันเลยกับบ้านเช่าที่อาศัยอยู่
ฟูกนอนพอถูไถ ผ้าพื้นเมืองก็ยังพอใช้ แต่ถ้าจะให้ดี ผ้าม่านหรือหรือปลอกหมอนที่เหมาะกับลักษณะบ้านและชุมชนมากคือ ผ้าลายดอกสีสดแจ่ม
ส่วนจาน ชาม แก้ว เซรามิก ยิ่งไม่เข้ากันที่สุด
บ้านเช่าหลังนั้นเป็นบ้านปูนไม่ได้ฉาบ ชั้นบนเป็นไม้ (ที่ฉันแทบไม่ขึ้นไป) บางส่วนของบ้านเป็นไม้อัด หน้าต่างไม้ ส่วนพื้นห้องด้านหน้า ซึ่งฉันทำเป็นห้องนอน ห้องทำงาน ห้องรับแขก แม้กระทั่งทำกับข้าว (จนคล้ายห้องสี่เหลี่ยมของอพาร์ทเมนท์ในกรุงเทพฯ) เป็นพื้นปูกระเบื้องสีฟ้าแจ่ม
ลักษณะการปลูกบ้านด้วยความหลากหลายตามกำลังทรัพย์ที่มีจนยากจะบรรยายว่าเป็นบ้านแบบชนบทหรือบ้านในเมืองกันแน่ ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะปลูกกันลักษณะนี้ดาษดื่นจึงทำให้สรรหาอุปกรณ์ตกแต่งบ้านหรือข้าวของเครื่องใช้ให้เหมาะสมได้ยาก
บ้านบ้านนอกหลังนี้ไม่ใช่บ้านไม้หรือกระท่อมไม้ น่ารักๆ มุงคาหรือใบตอง ปลูกสร้างด้วยไม้ล้วนๆ แบบคนช่างฝันจะฝันถึง
รสนิยมที่ติดตัวฉันมาจึงดูผิดที่ผิดทางถนัด
จนเมื่อเจ้าของบ้านเช่าเห็นว่าฉันยังไม่มีกระติกใส่น้ำ จึงนำกระติกสีแดงมาให้ยืมใช้ เออ! กระติกพลาสติกสีแจ๋นๆ กลับดูเข้าที
ยิ่งนึกถึงตอนแรกๆ ที่มาอยู่ เขานำผ้าห่มและหมอน ซึ่งมีสีสัน ลวดลาย แบบที่ฉันเคยส่ายหัวในสมัยยังเป็นนักศึกษาหรือว่าทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ มาให้ใช้ ก็ยิ่งรู้สึกว่า อันที่จริงสีสันแบบนั้นต่างหากที่ใช่ แต่แก้วเซรามิกของโมโมโกะ ศิลปินปั้นดินเผาคนเก่งในซอยวัดอุโมงค์ จังหวัดเชียงใหม่ กลับไม่ได้ดูโดดเด่น สง่างาม อย่างที่เคยเป็น
เมื่อมีเวลาว่างๆ ค่อยทบทวนดู ฉันก็พบความจริงอีกบางอย่างเกี่ยวกับคติความเชื่อของตัวเองที่เคยเป็นมา
สมัยก่อน ฉันต่อต้านการใช้พลาสติก เพราะมองว่ามันเป็นภาชนะที่สร้างมลพิษให้กับโลก ทำลายยาก หากเผาก็ทำลายชั้นบรรยากาศอีก ช้อน จาน ชาม สังกะสีรึ กระทรวงสาธารณสุขเคยบอกว่าไม่ปลอดภัย ไม่ควรใช้ แต่เมื่อเริ่มสังเกตบ้านเรือนของชาวบ้านที่นี่ ทั้งพลาสติกและสังกะสีมักเป็นภาชนะใส่อาหารที่คนที่นี่ใช้กัน แน่นอนว่า สาเหตุหลักเป็นเพราะมันมีราคาถูก ห้าบาทสิบบาทเท่านั้น ส่วนจาน ชาม ทำด้วยกระเบื้องหรือเซรามิกจะมีราคาแพงกว่านั้น
บ้านเรือนหลายหลังยังมีช้อนสังกะสีใช้อยู่ เวลาไปกินข้าวที่บ้านชาวบ้านจะเห็นได้ว่าช้อนสังกะสีคงถูกนำมาใช้นานแล้ว เพราะนอกจากความเก่าแล้ว ปัจจุบันก็แทบไม่เห็นมีวางขายไม่ว่าในร้านหรือตลาดนัด ส่วนจาน ชาม สังกะสีเคลือบยังมีวางขายทั่วไป
พลาสติกและสังกะสีไม่ใช่เพียงแค่ว่าราคาถูกกว่าจานเซรามิกหรือจานกระเบื้อง แต่มันหมายถึง ความคงทน ตกไม่แตกด้วย
ในความยากจน ของใช้คงทนจึงถูกเป็นตัวเลือกมากกว่า
การใช้พลาสติกและสังกะสีของคนที่นี่จึงยากเกินที่จะเอาวิธีคิดแบบที่ฉันเคยคิดว่ามันสร้างมลพิษมาใช้ได้ เพราะถ้าแก้วพลาสติกหนึ่งใบใช้ได้นานเกินสิบปี มันก็น่าจะพูดได้ว่าคุ้มค่า(ถูกไหม)
แก้วพลาสติกใบละห้าบาทที่นี่ถูกใช้จริงใช้จังทุกครัวเรือน สังเกตดูได้จากรอยขูดถลอกของแก้ว ซึ่งหมดความสวยไปแล้ว แต่ถ้าไม่แตกก็ยังใช้รับรองแขกกันอยู่
และไม่รู้ด้วยว่า-- อะไรกันหนอ? ที่มันทำให้ภาชนะเหล่านี้กลับดูเข้ากันได้ดีกับลักษณะบ้านและชุมชนของพวกเขา
ถาดสังกะสีสีแดงลายดอก แก้วพลาสติกอันละสิบบาท หรือขันอะลูมิเนียมราคาสิบบาทจึงถูกฉันหยิบขึ้นมาอย่างไม่ลังเลในเช้าวันหนึ่งของตลาดนัดริมโขงที่พี่น้องลาวนั่งเรือข้ามมาจับจ่ายด้วย
ผ้าถุง เสื้อลายดอก แขนจีบ หรือมีลายลูกไม้ ก็ดูจะเข้าทีกับการแต่งตัวที่นี่มากกว่าจะรู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้มันดู "บ้าน บ้าน" อย่างที่ชอบแซวกันเวลาอยู่ในกรุงเทพฯ
ฉันหวนคิดถึงชุดลิเกที่แต่งกันวาววับด้วยเกล็ดเพชรเลื่อมลายและสีสันจัดจ้านของเสื้อผ้า เริ่มพอจะเข้าใจได้ลางๆ ว่า คงเป็นเพราะสังคมยุคก่อนไม่ค่อยมีสีสังเคราะห์ ชีวิตส่วนใหญ่อยู่กับธรรมชาติ สีสันแบบธรรมชาติ พอมีชุดผ้าสีแจ๋นๆ จึงดูสะดุดตา และไม่เพียงสะดุดตาเท่านั้น มันกลับทำให้คนที่ดำเนินชีวิตไปแบบราบๆ เรียบๆ เมื่อได้เห็นแล้วรู้สึกแช่มชื่น เป็นสีสันพาฝันที่ชวนให้เกิดจินตนาการพริ้งเพริศ แม้เพียงชั่วครู่ชั่วยาม แต่ก็เบิกบานในจิตใจ
และแน่นอน ในมุมกลับกัน เมื่อคนสมัยใหม่อยู่กับสีสันที่มากเกินไป เราจึงเริ่มคิดถึงสีของธรรมชาติ คิดถึงการลดความร้อนแรงของสี เราถึงเริ่มที่จะชอบสีเอิร์ทโทน ขรึมๆ สบายตา กระทั่งชอบสีหม่นทึมแบบแก้วเซรามิกญี่ปุ่นสไตล์โมโมโกะ
ขณะเดินตลาดนัด นอกจากเพลินดูเสื้อผ้า ข้าวของ ที่อุดมไปด้วยสีสันแจ๋นๆ ซึ่งพ่อค้าแม่ค้าคงเดารสนิยมของคนที่นี่ได้ เพลงลูกทุ่งของนักร้องชายหญิงหลายคนที่นำมาเปิดดังทั่วตลาดก็ทำให้อมยิ้ม
เพลงทั้งหมดแต่งโดยครูสลา คุณวุฒิ ช่างเข้ากันได้ดีเหลือเกิน