ช่วงปิดเทอม ดาวใจกับไพจิตรได้เข้ามาที่ศูนย์ภูมิปัญญาไทบ้านเกือบทุกวันเพราะพ่อแม่ของเธอมารับจ้างสับมัน (มันสำปะหลัง) กับสหกรณ์ปากมูล (สหกรณ์ปากมูลและศูนย์ภูมิปัญญาไทบ้านอยู่ติดกัน) บางครั้งดาวใจก็รับจ้างด้วย เพราะเธอโตแล้ว อายุสิบสี่ปีกว่า เธอทำงานแบบนี้ได้สบายมาก ส่วนไพจิตรยังคงเป็นเด็กหญิงซนๆ วิ่งไปวิ่งมา ทำงานตามแต่คำบัญชาการของพ่อแม่
ผ่านหน้าร้อน เข้าหน้าฝน หัวมันถูกสับตากแห้งเข้าโรงงานกันหมดแล้ว งานที่สหกรณ์ไม่ค่อยมีอะไรมาก เธอสองคนมีเวลาลงมาเล่นแถวบ้านดินของฉันบ่อยขึ้น ไม่ได้มาเที่ยวเฉยๆ แต่เธอสองคนมีหน้าที่เกี่ยวหญ้าเอาไปให้ควาย หรือบางครั้งแม่ของเธอรับจ้างซักผ้าห่ม ปลอกหมอน ผ้าปูที่นอน ที่ใช้รับรองแขกยามเข้ามาพักในศูนย์ฯ เธอสองคนก็ต้องมาช่วย
ไม่รู้ว่าครอบครัวนี้เลี้ยงลูกอย่างไรถึงทำให้การทำงานของพวกเธอไม่เคยเป็นเรื่องน่าเบื่อ ชวนให้หน้าหงิกหน้างอ ไม่ว่าจะทำงานหนักแค่ไหน อย่างงานซักผ้าห่มซึ่งหนักเอาเรื่อง แต่เธอสองคนก็ยังสนุกสนานเฮฮาตลอด รวมถึง ไมโคร นูโว พี่ชายทั้งสองคนก็เหมือนกัน เวลาทำงานทุกคนทำอย่างเต็มใจไม่มีใครแสดงท่าทีปั้นปึ่ง
วันซักผ้าห่มนั้น ฉันเห็นดาวใจนุ่งผ้าถุงกระโจมอก เพราะว่าซักผ้าเยอะขนาดนั้นต้องตัวเปียกอยู่แล้ว ส่วนไพจิตรยังใส่เสื้อยืดกางเกงขาสั้น แต่ตัวเธอก็เปียกม่อกล่อกม่อกแล่ก ทั้งสองซักไปหยอกเย้าหัวเราะกันไป ตอนเข็นรถที่มีผ้าห่มเปียกกองซ้อนอยู่นั้นท่าทางหนักหนาเอาการ ดาวใจต้องออกแรงน่าดู ไพจิตรก็คอยช่วยเข็นอีกแรง แต่นั่นแหละ เข็นไปดันไปและหัวเราะไป อะไรๆ ก็ดูรื่นรมย์ไปหมด จนกระทั่งผ้าห่ม ปลอกหมอน ผ้าปูที่นอน ถูกแขวนตากจนหมด ดาวใจถึงไปเปลี่ยนเสื้อผ้า
ฉันมองเด็กหญิงสองคนแล้วก็คิดไม่ได้ว่า ทำไมพวกเธอยังคงรักษาความเป็นเด็กได้นานอย่างนี้นะ เสียงหัวเราะ ความสนุกสนานในสิ่งที่ทำ จำได้ว่ามักจะมีอยู่ในเด็กๆ แต่พอเราโตขึ้น เรามักเห็นว่างานคืองาน เล่นคือเล่น เราไม่เคยรู้สึกว่าเล่นคืองาน งานคือเล่น เราจึงไม่สนุกกับการทำงานอีก
เมื่อวานนี้ฝนตกพรำๆ ดาวใจกับไพจิตรเดินลงมากับแม่ และแวะนั่งเล่นที่บ้านฉัน แม่ของเธอขึ้นไปทำงานที่สหกรณ์ก่อน ปล่อยเด็กหญิงทั้งสองนั่งเล่นบนเปลที่ฉันผูกใต้ถุนบ้านข้างๆ ทั้งสองคนนั่งร้องเพลงงุ้งงิ้ง เคล้ากับสายฝนเย็นฉ่ำ ฉันได้ยินได้ฟังก็พลอยอารมณ์ดีไปกับพวกเธอ
ไม่นานนัก นูโวพี่ชายคนก่อนดาวใจ มาบอกว่าแม่ให้เกี่ยวหญ้าไปให้ควายด้วย เด็กหญิงทั้งสองยังไม่ขยับลุกทันที หากแต่จับลูกแมว (ตอนนี้มันโตขึ้นมาก) มาเล่น พากันหยอกแมว ได้ยินเสียงหัวเราะต่อเนื่องมาตลอด ฉันแบ่งขนมที่เพื่อนส่งพัสดุมาจากมหาสารคามใส่ถ้วยไปให้พวกเธอ
อดถามดาวใจอีกครั้งไม่ได้ว่า ดาวใจตอนนี้อายุเท่าไหร่แล้ว
ดาวใจบอกว่า “สิบสี่”
จะขึ้นชั้นไหนแล้วล่ะ
“ม.3”
ฉันหัวเราะหึๆ นี่เด็กอายุสิบสี่หรืออายุสิบขวบกันแน่ ดูเด๊ก เด็ก ถ้าเป็นเด็กกรุงเทพฯ นะ เค้าเป็นสาวกันแล้ว บางคนเป็นนางแบบ เป็นนักร้อง กันแล้วด้วย
ส่วนไพจิตรล่ะ
เด็กหญิงยกมือขึ้นชูตัวเลขและโบกไปมา
“ป.5” เด็กหญิงยิ้มแฉ่ง
กินขนมเสร็จ ดาวใจก็ชวนไพจิตรเกี่ยวหญ้า ขณะที่ฝนพรำบางๆ แต่เด็กทั้งสองไม่กลัวฝน ไม่กลัวเปียก ยิ่งไพจิตร ระหว่างเธอเดินไปยังบริเวณที่หญ้าขึ้นเยอะๆ มือหนึ่งเธอถือเคียวไป ส่วนอีกมือหนึ่งเธอก็โบกรำ ร้องเพลงไปอย่างเจริญใจ พอสายตาเธอมาเจอะกับฉันที่แอบมองเธอจากหน้าต่างบ้าน เธอก็ยักไหล่ รีบหยุดร้อง พลางยิ้มขวยเขิน
ฉันได้แต่หัวเราะ
อิจฉาเด็กพวกนี้จริง ทำไมจิตใจเบิกบานได้ขนาดนี้นะ
หรือเป็นเพราะเธอเกิดและเติบโตในที่ที่อากาศดี จิตใจจึงเบิกบาน เถียงนากลางทุ่งเป็นที่นอนที่อยู่มากกว่าบ้านจริงๆ ในหมู่บ้าน เด็กทั้งสองกินนอนและใช้เวลาอยู่ที่นั่นมาตั้งแต่ยังเล็ก
สงสัยฉันเองก็ต้องหาสถานที่ที่มีอากาศดีๆ ให้ลูกแล้วล่ะ หากอยากให้แกอารมณ์ดี สายลมต้องกินได้ ทำให้ชีวิตจิตใจเจริญเติบโตได้ ใช่เพียงแค่อาหาร
ฉันเคยไปเถียงนาของเด็กหญิงยังจำได้ว่าที่นั่นลมพัดตลอด สบายที่สุด
ตอนนี้ไฟฟ้าเข้าถึงแล้ว เด็กทั้งสองได้ดูละครโทรทัศน์กลางนาอย่างมีความสุข ถ้าเรื่องไหนไม่สนุกก็นอนหลับ ถ้าเรื่องไหนสนุกก็ดูกัน อย่างตอนนี้ ทั้งสองติด “แจ๋วใจร้ายและคุณชายเทวดา” ตื่นเช้ามาพากันเล่าถึงฉากสนุกๆ กันอีกครั้งอย่างออกรสออกชาติ แถมมาเล่าให้ฉันฟังด้วยว่าสนุกยังไง ไพจิตรนั้นยิ่งอยากเล่าก็ยิ่งติดอ่างคล้ายว่าคิดคำพูดไม่ออก ยิ่งฟังก็ยิ่งตลก ไม่ใช่ตลกเรื่องในละคร แต่ตลกที่เธอติดอ่าง พูดไม่ทันใจ
ฉันได้แต่ยิ้ม
วันนี้ตอนที่ทั้งสองคนยังว่างๆ กันอยู่ (ยังไม่ถูกเรียกให้ไปเกี่ยวหญ้า) ดาวใจกับไพจิตรก็พากันเก็บดอกไม้และร้อยรัดเข้าด้วยกันเป็นช่อ เอามาให้ฉัน
“อื้อ” ดาวใจยื่นให้โดยไม่บอกว่าให้
“ให้เหรอ” ฉันถามย้ำอีกครั้ง
เธอพยักหน้า
ฉันบอกขอบคุณค่ะ แล้วจัดแจงใส่แก้วน้ำไว้ ช่างเข้ากันเหลือเกินกับบ้านดินหลังนี้
ดอกหญ้ากับบ้านดิน
ฉันมองแล้วก็ได้แต่ยิ้ม หวนคิดถึงคำว่า “เหมาะสม” หรือ “บริบท”
การที่สิ่งใดจะเกิดขึ้นหรือเป็นไปนั้นมันมีที่ทางของมัน มีความเหมาะสมของมัน บ้านดินหลังนี้คงไม่เหมาะกับคาร์เนชั่นหรือลิลลี่แน่ แม้ดอกไม้สองชนิดนี้จะสวยงามเพียงใด เพราะมันมีบริบทของมันที่จะทำให้มันเหมาะกับอะไร
เช่นเดียวกับวิถีชีวิตผู้คนที่นี่ มีความพอดิบพอดีแล้วกับการกินอยู่อย่างเป็นธรรมชาติ หิวเดินเข้าป่า ลงแม่น้ำ ไม่ใช่ยึดทรัพยากรธรรมชาติของเขาไปแล้วบอกว่าจะสร้างอาชีพใหม่ให้
ซึ่งจนถึงทุกวันนี้ ยังไงๆ ฉันก็ไม่เคยรู้สึกว่าอาชีพการเลี้ยงปลาในกระชังมันจะเหมาะกับลูกแม่มูนเลยสักนิด เช้าค่ำต้องโปรยอาหาร (ที่มาจากซีพี) ให้ปลา แทนที่จะได้เดินถือแห มอง ตุ้ม พายเรือลงแม่น้ำอย่างงามสง่า
เพราะหากเราเกิดและเติบโตในบริบทที่ต่างกัน แล้วไม่ยอมเรียนรู้กัน ไม่ยอมเปิดใจยอมรับกัน มันก็คงยากที่จะทำให้เข้าใจได้จริงๆ ว่าทำไมแต่ละคนถึงเลือกอย่างนั้นอย่างนี้ ทำไมไม่เลือกเหมือนตัวเอง ร้ายไปกว่านั้นก็พาลตำหนิคนที่คิดไม่เหมือนเรา อย่างเช่นเสื้อเหลืองเสื้อแดงตอนนี้แหละ
(อ้าว! มาลงเรื่องนี้จนได้ 555)