14 เมษายน 2552
“เราแพ้แล้ว”
ผู้ชายคนหนึ่ง หน้าเศร้า เดินมาบอกผู้ชายอีกสองสามคนที่บ้านหลังหนึ่ง รู้สึกได้ถึงความเสียใจ ผิดหวัง และจากนั้น หลายๆ คนก็เข้ามานั่งคุยกัน ทุกคนสีหน้าไม่สู้ดี
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งของ อ. กุดชุม จ.ยโสธร ขณะที่แทบทุกบ้าน ตั้งวงกินดื่ม รื่นเริง ญาติพี่น้องอยู่กันพร้อมหน้าวันสงกรานต์ ชาวบ้านผู้ชายกลุ่มหนึ่งก็จับกลุ่มคุยกัน
สองสามวันต่อมา วัยรุ่นในหมู่บ้านโพกผ้าแดงที่หัว แว้นมอเตอร์ไซค์ ร้องตะโกน “อภิสิทธิ์ออกไป อภิสิทธิ์ออกไป” และโบกผ้าแดงร่อนรอบหมู่บ้าน
เขาเป็นญาติของคนรู้จัก ฉันถามว่า สองสามวันที่มีการชุมนุมที่ กทม. น้องไปด้วยใช่ไหม “แหม ไปอยู่แล้วครับ เรามันต้องเรียกร้องประชาธิปไตย ฮ่าๆๆ”
เขาพูดแบบเห็นเป็นเรื่องสนุกมากกว่า
เหตุการณ์นี้ สื่อรายงานในช่วงแรกว่ารัฐบาลปฏิบัติการสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงดีมาก ไม่มีใครตายเลย ปฏิบัติการอย่างระมัดระวัง รอบคอบมาก แต่ภายหลังพบว่ามีเสื้อแดงตายจริง และศพถูกจับโยนลงแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างน้อย 2 ศพที่ค้นพบ แต่ไม่รู้สาเหตุว่าใครทำ
หลังเหตุการณ์ 19 พฤษภาคม 2553
ลูกสาวฉันอายุยังไม่ถึงหนึ่งขวบ ยังต้องอุ้มกระเตงไปที่ไหนๆ ภายใต้กฎอัยการศึกและการล้างทำความสะอาด กทม. (บิ๊ก คลีนนิ่ง เดย์) ฉันเปรยกับพี่สาวคนหนึ่งว่า ฉันอยากรู้ว่า คนเสื้อแดงตอนนี้ไปอยู่ไหน ฉันรู้แน่ๆ ล่ะว่า ตอนนี้พวกเขาอยู่รอบตัวฉันนี่แหละ สันป่าตอง สันกำแพง ดอยสะเก็ด พวกเขาไม่ใช่ภูติผีปีศาจที่ไหน ฉันอยากไปสัมภาษณ์พวกเขา อยากรู้ว่าพวกเขาคิดอะไร อย่างไรบ้าง ทำไมถึงไปชุมนุม พวกเขาถูกจ้างไปจริงหรือ
รุ่นพี่ที่เรียนมช. มาด้วยกัน เธอพอมีรายได้บ้าง ให้เงินฉันมาสองพันสำหรับค่าน้ำมันรถ ลองไปสัมภาษณ์ดู เพราะตอนนั้นฉันจนมาก ไม่มีงานทำ ต้องเลี้ยงลูกทั้งวัน เงินแค่ร้อยสองร้อยก็ไม่มีติดตัว
คนเสื้อแดงอยู่ไหน จะถามใครดี
ทุกอย่างเป็นแค่ความเชื่อมั่นว่าพวกเขาอยู่รอบๆ ตัวนี่แหละ แต่เป็นใครก็ไม่รู้
แกนนำเสื้อแดงคนหนึ่งที่เริ่มปรากฎตัวเพื่อจะยืนหยัดต่อสู้หลังการตายของคนเสื้อแดงหลายสิบคนในเวลานั้น คือคนที่ให้เบอร์โทรผู้นำในพื้นที่บางคนมา และพี่ไม้หนึ่ง ก กุนที เป็นอีกคนหนึ่งที่ช่วยการันตี ให้ว่า ฉันไม่ได้เป็นสายของใคร ฉันเป็นนักเขียนเหมือนแก รักความยุติธรรมเหมือนแก (ตอนไปสัมภาษณ์ผู้มาร่วมชุมนุมที่เชียงราย ผู้นำบางคนไม่แน่ใจในตัวฉันนัก เขาโทรศัพท์หา ไม้หนึ่ง ก กุนที ซึ่งตอนนั้นกำลังหลบหนีเช่นกัน) มันเป็นช่วงที่ยากสำหรับการขอสัมภาษณ์ในยามที่คนเสื้อแดงจำนวนหนึ่งพากันหลบหนี ถูกไล่ล่า ถูกอุ้มฆ่าเป็นข่าวติดๆ กันหลายคน (ซึ่งจนบัดนี้ก็ไม่อาจรู้ได้ว่าใครฆ่า)
นั่นเป็นที่มาของข้อเขียนชุด ละครโรงหนึ่ง ที่นำลงในประชาไท มีทั้งหมด 5 ตอน
ฉันไม่เคยลืมทุกคำ ทุกกิริยา ที่พวกเขาตอบ ทั้งเคียดแค้น ร้องไห้ ไม่ว่าจะตำบลไหน อำเภอไหน จังหวัดไหน ทุกคนโกรธ ทุกคนแค้น ทุกคนเจ็บ
เขียนไปก็น้ำตาซึมไป
หมดสิ้นการชุมนุม ทุกคนกลับมายืนที่เดิม เป็นแม่ค้าขายของ ทำร้านตัดผม ขายกล้วยทอด ขายลาบ ขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ช่างซ่อมรถ ทำนา เป็นข้าราชการเกษียณ ทิ้งไว้ให้ชนชั้นกลางอย่างฉัน และปัญญาชนจำนวนหนึ่งได้เกิดอาการตาสว่าง ว่าวันนี้พวกเขาเรียนรู้ เติบโตไปถึงไหนแล้ว
ขาดก็แต่สิทธิที่เท่าเทียมกันเท่านั้นเอง
30 พฤศจิกายน 2556
ตู่ เต้น เหวง วีระกานต์
พวกเขาจะมีบทบาทแค่ไหนก็ตาม แต่คนเสื้อแดงเป็นกลุ่มก้อนที่ใหญ่เกินการจำกัดความแค่ “ทักษิณ” น่าเสียดายที่ไมค์สัมภาษณ์ของนักข่าวส่วนใหญ่เลือกที่จะสัมภาษณ์คนอยู่เท่านี้
ความตายที่สนามกีฬารัชมังคลาภิเษก ฉันขอให้เป็นครั้งสุดท้ายที่พวกเขาจะต้องตาย -- วันนั้น ช่วงเย็นฉันอยู่หน้ารามด้วย เห็นความป่าเถื่อน เห็นความรุนแรงหลายอย่างของม็อบนกหวีด เห็นการรุมกระทืบคนเสื้อแดงที่บังเอิญนั่งมอเตอร์ไซค์ผ่านมา เห็นความบ้าคลั่ง และรู้ว่าคนจนไม่มีวันชนะหรอกสำหรับประเทศนี้ เพราะเสียงของพวกเขาเบาเหลือเกิน ภาพของชาวบ้าน คนธรรมดาๆ โบกธงด้วยใบหน้ายิ้มย่อง ฮึกเหิม พร้อมจะมาปกป้องรัฐบาลของเขา ไม่มีเลย ข่าวยังคงรายงานประหนึ่งว่าชาวบ้านถูกหลอกมา และการปะทะกันไม่มีใครบอกสาเหตุว่าเกิดขึ้นเพราะอะไร คนเสื้อแดงตายวันนั้น 4 ศพ ก่อนที่แกนนำจะยุติและขอให้ผู้ชุมนุมกลับบ้าน
23 เมษายน 2557
ไม้หนึ่ง ก กุนที ถูกยิงเสียชีวิต
พี่ไม้หนึ่งที่ฉันรู้จัก เป็นกวี จิบชา ฉลาดล้ำเลิศ น้ำใจเหลือเฟือ ขายข้าวหน้าเป็ด บะหมี่ รักชนชั้นรากหญ้า อุดมการณ์แน่วแน่ มั่นคง รักความยุติธรรม – ฉันรู้เท่านี้ มากไปกว่านี้ ฉันไม่รู้ แต่ฉันจะไม่กล่าวหาว่าใครโดยไม่มีประจักษ์พยานหลักฐาน
10 ปีแล้วของการกำเนิด นปก. นปช. หรือคนเสื้อแดง
ณรงค์ศักดิ์ กอบไธสง เป็นศพแรกของการปะทะระหว่างพันธมิตรและเสื้อแดง เขาถูกรุมตีจนตาย จากนั้นก็มีมาเรื่อยๆ ทั้งจากสองฝั่ง เสื้อเหลืองก็ตาย เสื้อแดงก็ตาย ผู้ไม่รู้อิโหน่อิเหน่แต่โดนลูกหลงก็ตาย นักข่าว พยาบาล
พฤษภาคมแห่งความทรงจำ
บางคนที่ฉันสัมภาษณ์ไปเมื่อ 5 ปีก่อน ได้ล่วงลับไปแล้วเพราะเจ็บป่วย ชราภาพ บางคนก็แขวนคอ
คนเสื้อแดงเป็นใครบ้าง การเมืองซับซ้อนและรุนแรงขนาดไหน บางคนก็ว่าเขารู้ลึก รู้ดีกว่า บางคนก็ว่า ผมอยู่วงใน ผมรู้อะไรเยอะกว่าคุณมาก
ไม่รู้สินะ -- มันอาจจะจริงอย่างเขาว่า ฉันไม่ได้รู้ตื้นลึกหนาบาง ฉันไม่รู้วงใน ไม่รู้ความเป็นไปในกลไกอันรุนแรงครั้งนี้ ฉันเป็นเพียงคนนอก เฝ้ามองดู และเห็นความไม่เป็นธรรม ไม่ยุติธรรม ภายใต้สติปัญญาที่พอจะจำแนกแยกแยะ ตัดสินใจด้วยตนเองได้ ฉันก็อยากทำอะไรเท่าที่จะทำได้บ้าง
การชุมนุมในสี่ห้าปีที่ผ่านมา ทวีความรุนแรงและอาวุธร้ายแรงถูกนำมาใช้จริง ทั้งเหลือง ทั้งแดง แต่ก็ไม่เคยมีใครบอกได้ว่า อาวุธและบุคคลลึกลับที่เข้ามาทำให้เกิดนั้นเป็นใคร
เท่าที่ฉันจะพอค้นหาความจริงได้ มีเพียงเท่านี้ คือ การคุย การคุ้ยเข่งแห่งความหลากหลายในความหมาย “เสื้อแดง” การค้นหาว่าพวกเขาเป็นใคร สะท้อนเสียงของเขาออกมา ไม่ว่าเขาจะรักใคร เลือกใคร ชื่นชอบนโยบายแบบไหน ฉันเคารพการตัดสินใจของพวกเขา ตราบใดที่เขาไม่ได้ละเมิดสิทธิของผู้อื่นหรือกระทำการอันผิดศีลธรรม หรือผิดกฎหมาย
ภาพผู้ชุมนุมที่บ่งบอกถึงความยากจน ยากไร้ น่าสงสารของคนแก่ ผู้หญิง เด็ก ที่กระเตงกันมา เสมือนว่าถูกชักชวนมาอย่างไม่รู้เรื่อง คนเสื้อแดงปะปนไปกับภาพลักษณ์ของพวกผู้ชายวัยฉกรรจ์ ที่ดูกุ๊ย นักเลง กระโชกโฮกฮาก ตัวเหม็น เสียงดัง หัวไม่ได้สระ ฟังเพลงไร้รสนิยม บ้านนอก ก้าวร้าว หน้าตาไว้ใจไม่ได้สิ้นดี แต่พวกนี้ส่วนใหญ่ก็คือลูกหลานในหมู่บ้านของเขาน่ะเอง ยามมีงานวัดก็เมาหัวรา ตีรันฟันแทง ยามมีการปราบปรามกลุ่มผู้ชุมนุม 10 เมษา -19 พฤษภา 2553 พวกนี้เองที่ปกป้องพ่อแม่พี่น้องของตน และล้มตายลงบนท้องถนนก่อนที่คนเมืองกรุงรีบออกมาเช็ดล้างเสนียดจัญไร
คนเสื้อแดงที่ฉันรู้จักเป็นแบบนี้
เป็นคนจนๆ กลุ่มใหญ่ที่กระจัดกระจายไปทั่ว เฝ้าฝันและวาดหวังถึงชีวิตที่ดีกว่า
คนพวกนี้การต่อสู้ของเขาไม่เคยมีราคา
คำว่า “ประชาธิปไตย” จากปากเขาไม่มีความหมาย
พวกเขา จน เจ็บ และแพ้อย่างโงหัวไม่ขึ้นตลอดมา