ตาน้ำ
ช่วงเวลาสั้นๆ เท่านั้นเองที่แม่หลบมารดน้ำให้หัวใจ
รินลมหายใจแผ่วๆ ช้าๆ
ตาน้ำ
ช่วงเวลาสั้นๆ เท่านี้เอง แต่มันทำให้แม่มีความสุข เพราะแม่สงบ ปลอดโปร่ง
สำหรับคนอย่างแม่ แต่ไหนแต่ไร การมีเวลาว่าง จิบกาแฟช้าๆ มองยามเช้าเคลื่อนไหว มองแดดสายพยับน้ำ มองสายธารกระพริบเล่น มองสายลมวนตามฤดูกาล เป็นเรื่องปกติธรรมดา กระทั่งเป็นกิจวัตรไปแล้วด้วย หากช่วงไหนไม่ค่อยได้ใช้เวลาอย่างที่ว่า แม่จะรู้สึกถึงความเหนื่อยอ่อนข้างใน แม้ว่าชีวิตรอบข้างยังอยู่ดี ไม่ได้ทะเลาะใคร ไม่ได้ทำร้ายใคร ไม่ได้โมโหโกรธาใคร แต่แม่ก็จะอยากหลบมุมสำหรับโลกภายในของแม่เอง
แม่รู้ตัวอยู่ว่าตัวเองไม่ได้เป็นคนปกตินักสำหรับโลกใบนี้ สิ่งที่ทำ สิ่งที่เลือก ไม่ค่อยตรงกับใจใครคนอื่น (ส่วนใหญ่) แต่แม่ก็สำรวจตัวเองเสมอว่า สิ่งที่แม่ทำลงไปนั้นทำให้ใครเดือดร้อนหรือไม่ มันผิดหรือไม่ หากไม่ แม่ก็ไม่ลังเลถ้านั่นคือสิ่งที่ใช่สำหรับตัวแม่เอง เพียงแต่อาจต้องรับมือกับแรงเสียดทาน แรงคัดค้าน ของคนรอบข้างบ้าง
แต่แม่ก็ชินจนเกือบทำให้มันเป็นภาวะสุญญกาศแล้ว (ถ้าทำได้ก็ขั้นเทพแล้ว ตาน้ำ)
บทกวีของท่านเว่ยหลางไง ที่บอกว่า ถ้าไม่มีกระจก ฝุ่นละอองก็ไม่มีลงเกาะ เราก็ไม่ต้องเช็ดอะไรเลย (ก่อนหน้านี้มีพระรูปหนึ่งเขียนโคลงไว้ว่า ใจคนเปรียบเหมือนกระจก ถ้าไม่หมั่นเช็ดถูฝุ่นละอองก็ลงเกาะ ท่านเว่ยหลางเป็นเพียงเด็กวัดที่รอนแรมมาอาศัยอยู่เห็นเข้าจึงแอบเขียนโคลงของตนไว้ข้างๆ ว่า ถ้าไม่มีกระจกเสีย ฝุ่นละอองจะเกาะจับอะไรได้)
ตาน้ำ ภาวะที่จิตใจไม่มีอะไรเลย เป็นปรัชญาแบบเซน แม่ชอบอ่าน บางบทก็ชอบมาก แต่บางบทก็ไม่เข้าใจหรอก ยังโง่อยู่เลย อีกนานแหละกว่าจะคลี่คลาย
ซึ่งชีวิตแบบนี้ เราจำเป็นต้องมีเวลานะ ตาน้ำ
เวลาที่เราจะได้รินลมหายใจช้าๆ แผ่วๆ มองความเป็นไปแบบกลวงโบ๋ ว่างเปล่า ไม่ต้องไปคิดอะไร แม่รู้สึกว่ามันเป็นสภาวะชำระจิตใจ หากได้ใช้เวลาอย่างนี้บ้าง จิตใจก็จะใสสะอาด เบาสบายขึ้น
แม่แคร์เรื่องการดูแลความรู้สึกคนนะ ตาน้ำ แคร์จนบางทีก็รู้สึกว่ามันมากเกินไป พอแก่ตัวขึ้นแม่เลยเลือกที่จะพบเจอผู้คนให้น้อยลงเพราะกลัวว่าตัวเองอาจเผลอไปทำร้ายหรือระคายเคืองคนอื่นเข้าอย่างไม่ตั้งใจ (โดยเฉพาะในยามที่ไม่ค่อยมีสมาธิกับชีวิตนัก) แม่เลือกที่จะอยู่กับธรรมชาติให้มาก เพราะธรรมชาติทำให้ใจแม่สงบ ไม่วุ่นวาย
ด้วยเหตุนี้แหละ ตาน้ำ แม่ถึงเลือกที่จะให้ลูกเกิดและเติบโตที่นี่ แม้ว่ามันอาจมีปัญหา อุปสรรค ความไม่สะดวก บ้าง แต่ธรรมชาติและอากาศที่บริสุทธิ์ปลอดโปร่ง คือสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับลูกในวัยนี้ (ใครบางคนบอกแม่ว่า สำหรับเด็กทารกแล้ว เขาไม่ต้องการอะไรมากไปกว่าอากาศบริสุทธิ์และนมแม่) แม่อยากให้ลูกจิตใจอ่อนโยน เยือกเย็น จึงเลือกที่จะอยู่กับธรรมชาติ แต่ก็ไม่กล้าคาดหวังนักหรอก เพราะของอย่างนี้ เขาว่ายิ่งคาดหวัง มักได้ตรงกันข้าม (จริงหรือเปล่านะ?)
ตาน้ำ การเลือกเป็น เลือกทำในสิ่งที่ไม่เหมือนคนอื่นเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความมั่นคงของจิตใจมากพอสมควร ลูกจะเป็นคนเช่นนี้ได้ ลูกต้องมีความดื้อรั้นระดับหนึ่ง แล้วมีแรงขวนขวายให้มาก ไม่ว่าความรู้ หรือประสบการณ์ เพราะสองสิ่งนี้ จะเพิ่มความรู้ให้ลูก เมื่อลูกมีความรู้ ลูกก็จะมีความมั่นใจ ไม่ใช่การมั่นใจอย่างไร้สติ ไร้ข้อมูล
ทุกวันนี้ แม่พยายามทำงานให้มาก เพื่อจะให้ลูกได้มีโอกาสเรียนรู้ให้มาก แม่ไม่เคยคาดหวังสิ่งใดจากลูก นอกจากแม่อยากเห็นลูกเติบโตอยู่บนโลกนี้อย่างสง่างาม ไม่เอาเปรียบใคร ไม่รังแกใคร แต่ก็เอาตัวรอดได้
ตาน้ำ รู้ไหม สิ่งที่แม่กลัวที่สุดในฐานะคนเป็นแม่คืออะไร
แม่กลัวลูกถูกรังแก ถูกคนหลอก ถูกเอารัดเอาเปรียบ รู้ไม่เท่าทันเล่ห์กลคนโกงคนโฉด แม่เพิ่งพูดกับเพื่อนเมื่อไม่นานนี้เองว่า “ฉันไม่อยากให้ลูกเป็นคนมองโลกในแง่ดี ฉันอยากให้มันเห็นแก่ตัวบ้าง อยากให้มันเอาตัวรอดได้ ไม่ถูกใครเอาเปรียบหรือหลอกมัน"
และแม่ก็ไม่อยากให้ลูกเป็นคนขี้สงสาร เพราะความขี้สงสารมันย้อนกลับมาทำร้ายคนคนนั้นมานักต่อนักแล้ว
แม่รู้ ว่าแม่หยาบกระด้างขึ้น แต่โลกทุกวันนี้น่ากลัว ตาน้ำ มันไม่ได้สวยงามอย่างที่แม่เคยมองเห็นอีกต่อไป (มันอาจเลวร้ายอย่างนี้อยู่แล้ว แต่แม่เพิ่งค้นพบ หรือมันอาจเพิ่งเลวร้ายมากขึ้นไม่นานมานี้เอง เพราะโลกของเราเปลี่ยนไป มันคืออย่างไหนไม่รู้ แต่ที่แน่ๆ มันสวยงามก็เพียงด้านเดียว และลูกจะต้องเรียนรู้ทั้งสองด้าน)
แต่ก่อนแม่ไม่เคยเข้าใจว่าทำไม พ่อแม่ของแม่ (ตายาย) จะต้องเข้ามาจ้ำจี้จ้ำไชชีวิตแม่มาก แม่เคยคิดว่า เจ็บก็เรื่องของแม่ แม่รับผิดชอบเอง แม่ไม่ได้ทำให้ใครเจ็บปวดด้วยนี่ แต่เปล่าเลย ตาน้ำ แม่เพิ่งมารู้สึกเอาตอนมีลูกนี้เองว่า ‘เจ็บก็เรื่องของฉัน’ นั้น เป็นแค่ความคิดของลูกผู้ดื้อรั้นแต่โง่ (แม่หวังว่าลูกจะดื้อและเฉลียวฉลาด) แม่ไม่เคยรู้เลยว่า ทุกครั้งที่แม่เจ็บ ปิดประตูห้องร้องไห้ ใครกำลังยืนสะอื้นร้องไห้มากยิ่งกว่าอยู่นอกห้องนั้น
ตาน้ำ ทุกครั้งที่ลูกอยู่ในอ้อมกอดของคนอื่น ลูกยิ้ม แม่ก็พลอยสุขใจ แต่หากเมื่อไหร่ลูกร้องไห้ โยกตัวหนีจะหาแม่ แม่รู้สึกได้ ว่าแม่อยากรับลูกมาอยู่ในอ้อมกอดแม่โดยเร็วที่สุด แม่ไม่อยากเห็นลูกร้องไห้ ไม่อยากเห็นลูกทุกข์ใจ แม่ห่วงใยสารพัดว่ายามใครพาลูกเดินลับตา เขาดูแลลูกดีหรือไม่ เขาเอาอะไรให้ลูกกิน เขาเข้าใจความต้องการ ความรู้สึกของลูกหรือไม่ เขาถนุถนอมจับต้องลูกอย่างอ่อนโยนเพียงพอไหม
ตาน้ำ แม่เพิ่งเข้าใจอย่างลึกซึ้งเดี๋ยวนี้เอง ว่าตลอดสามสิบกว่าปีที่ผ่านมา พ่อแม่ (ตายายของลูก) เขารู้สึกอย่างไร
ทุกครั้งที่แม่โทรศัพท์บอกพ่อแม่ว่า ไม่ต้องเป็นห่วงนะ หนูสบายดี แม่รู้แล้วว่า คนฟังก็เพียงแค่ฟัง แต่ไม่มีวันหรอกที่เขาจะไม่ห่วง ห่วงอันนี้มันจะติดตามไปจนชั่วชีวิต
“ฉันเลี้ยงแกมา ทำไมฉันจะไม่รู้ว่าแกเป็นคนยังไง”
(ประโยคคลาสสิคในหนัง The joy luck club)
.....
ตาน้ำ โตขึ้นลูกจะเป็นคนอย่างไรนะ
แม่ว่าแม่จะไม่คาดหวัง แต่ไปๆ มาๆ แม่ก็คาดหวังมากมายไปหมด อยากให้ลูกเยือกเย็นอ่อนโยน แต่ก็เข้มแข็งหนักแน่นมั่นคง อยากให้ลูกเป็นคนดี แต่ก็อยากให้ดีโดยไม่เบียดเบียนตัวเอง เอาตัวรอดได้
ตาน้ำ
แม่ห่วงลูก แม่อาจกังวลล่วงหน้าหลายอย่าง
แต่บางทีนะ บางที ลูกอาจไปได้ดีกว่าแม่ ทำได้ดีกว่า เข้าใจโลกและชีวิตได้ดีกว่า และแม่อยากให้เป็นเช่นนั้น
รักลูก
แม่สร้อย
๑๖ ธันวาคม ๒๕๕๒