Skip to main content

ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการสร้างเขื่อนสิรินธรเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๔ ได้จัดงานรำลึก ๑๕ ปีในการต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ในบริเวณแถบอีสานใต้นี้ นับว่ามีปัญหาของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายของภาครัฐอยู่หลายโครงการ เอาแค่ใกล้ๆ ที่ฉันอยู่ มีปัญหาจากการสร้างเขื่อนอยู่สามโครงการคือ เขื่อนสิรินธร เขื่อนปากมูน และเขื่อนราษีไศล


เขื่อนสิรินธรเป็นเขื่อนที่สร้างในยุคที่สังคมยังเต็มไปด้วยความขัดแย้งทางการเมือง สังคมไม่เป็นประชาธิปไตย ดังนั้น เมื่อมีโครงการสร้างเขื่อนจากภาครัฐเข้ามาจึงทำให้ชาวบ้านไม่มีสิทธิ์เสียงที่จะคัดค้าน รวมถึงการถูกสั่งให้ย้ายบ้านไปอยู่ในพื้นที่กันดาร ทำไร่ทำนาไม่ได้ ค่าชดเชยที่ดินที่ถูกน้ำท่วมก็ได้มาเพียงไร่ละ ๒๐๐ บาท แม้ขมขื่น ไม่ยินดีต่อสิ่งเหล่านี้ แต่จะทำอย่างไรได้ นอกจากแอบจับกลุ่มคุยกันซึ่งก็ได้เพียงไม่เกินห้าคน สภาพความเป็นอยู่ที่แร้นแค้น ทำอะไรไม่ได้นี้ดำเนินเรื่อยมาจนถึงปลายปี 2537 เมื่อคนคนหนึ่งได้เข้ามาหาชาวบ้าน มาร่วมพูดคุยและเริ่มทำให้ชาวบ้านเห็นหนทางรำไรว่าจะแก้ไขให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นอย่างไร จะต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมจากเหตุการณ์ที่ทำลายสภาพชีวิตครอบครัวนี้ได้อย่างไร


บุคคลคนนั้นได้ปลุกใจให้ชาวบ้านเห็นพลังชีวิตของตัวเอง เขาทำให้ชาวบ้านรู้ว่าคนตัวเล็กๆ นั้นสามารถที่จะต่อสู้กับอำนาจรัฐที่ไม่เป็นธรรมได้ แต่ว่าเราจะสู้เฉพาะพวกเราไม่ได้ เสียงของเรายังน้อยเกินไป ดังนั้น เราต้องรวมกลุ่ม กลุ่มของคนเดือดร้อนมีที่ไหนเราไปรวมที่นั่น เพื่อให้เกิดพลังที่ใหญ่ขึ้น และที่สุดกลุ่มใหญ่ของความเดือดร้อนที่เขาบอกก็ปรากฏให้เห็นในนาม "สมัชชาคนจน"


นันทโชติ ชัยรัตน์ หรือหัวหน้า ปุ๋ย ของชาวบ้านกลายเป็นบุคคลที่พี่น้องสิรินธรต้องจดจำไปจนชั่วชีวิตเมื่อได้พาชาวบ้านเข้าสู่ขบวนการต่อสู้ และ๑๕ ปีแห่งพลังแห่งศรัทธา ไม่มียอมแพ้ ไม่ท้อถอย ก็ได้มอบของขวัญให้พวกเขาด้วยการที่รัฐยอมจ่ายเงินชดเชยให้กับครอบครัวที่เดือดร้อนเป็นเงินจำนวนหนึ่งที่พอจะทำให้ตั้งหลักสร้างคุณภาพชีวิตกันใหม่ได้


แน่นอนว่าในสายตาคนมีอันจะกินมันช่างเป็นเงินน้อยนิด และในสายตาของคนที่รู้เรื่องกฎหมายดีโดยเฉพาะในโลกยุคแค่กล่าวหมิ่นประมาทก็โดนฟ้องร้องค่าเสียหายเป็นเงินหลักล้าน หรือปัญหาเมียน้อยเมียหลวงก็ยังฟ้องร้องเป็นเงินสิบล้านยี่สิบล้าน ดังนั้น คนที่ได้รับการเบียดเบียนชีวิตจนไม่รู้จะหาที่ซุกหัวนอนตรงไหนได้นั้น เงินเท่านี้ยังถือว่าน้อยไปด้วยซ้ำ


แต่ทว่า ในความเคยชินของคนที่อยู่กับระบบเจ้าขุนมูลนาย ไม่ว่าคนจนเหล่านี้จะได้รับเงินชดเชยไปจำนวนเท่าไหร่ ก็ล้วนไม่สบตา ไม่ถูกใจ สักที เพราะพวกเขาเคยชินกับการที่ชาวบ้านต้องนอบน้อม ชาวบ้านที่น่ารักต้องไม่หือไม่อือ ผู้ใหญ่ว่าไงก็ค่อยว่าตาม ให้อะไรก็ควรแสดงความดีใจที่ได้รับ ไม่ใช่การมาร้องแรกแหกกระเชออยู่หน้าทำเนียบ หน้าตารึก็กระดำกระด่าง ผิวพรรณรึก็หยาบกร้าน เท้าแตกตีนแตก เสื้อผ้าเหม็นเก่า ยังพยายามจะหาทางเจรจากับนายกฯ


ความรับไม่ได้ที่เห็นชาวบ้านเปลี่ยนไปเป็นแข็งกร้าว ทำให้พวกเขามักคิดว่าคนเหล่านี้ก้าวร้าว โดยที่ไม่ได้ดูที่มาที่ไปสักนิดว่าก่อนนี้พวกเขาถูกกระทำอย่างไร


และนั่นเอง ถึงทำให้การเรียกร้องความเป็นธรรมของคนรากหญ้าต้องใช้เวลายาวนาน (จนฉันคิดว่า มันน่าจะจ่ายค่าเสียเวลาให้ด้วยนะ ตั้ง ๑๕ ปี นี่ถ้าเป็นปัญญาชนหัวหมอในเมืองกรุงก็คงทำแบบนี้แล้ว)


เมื่อได้รับเงิน ชาวบ้านทุกคนต่างซาบซึ้งถึงคุณค่าเงินก้อนนี้ดีว่า กว่าจะได้มาต้องเหน็ดเหนื่อยเพียงไหน แต่แน่นอนว่า ภายใต้ความเหน็ดเหนื่อยนี้ ทุกคนก็ได้บทเรียนอันประเมินเป็นมูลค่าไม่ได้ มันมีค่ายิ่งกว่าเกียรติบัตรความรู้ระดับใดๆ ทั้งสิ้น เพราะมันมาจากประสบการณ์ตรงที่แม้คนจบด๊อกเตอร์มาก็อาจไม่เข้าใจ


ดังนั้น เพื่อไม่ให้บทเรียนชีวิตสูญเปล่าหรือว่าได้เงินมาแล้วก็แปลว่าการต่อสู้นั้นได้จบลง ชาวบ้านทั้งหมดจึงตกลงกันว่าเราจะยังคงรวมกลุ่มช่วยเหลือกันและกัน อีกทั้งจะทำงานกันต่อไปเผื่อมีปัญหาอื่นๆ อีกในวันข้างหน้า

"หัวหน้าปุ๋ยบอกว่า ถ้าเราได้รับการแก้ปัญหาแล้วเราก็ยังต้องรวมกันเพื่อสู้เหมือนเดิม เพราะถ้าต่างคนต่างอยู่วันหน้าเค้าก็จะมาเอาเปรียบอีก"


พ่อ บุญมี คำเรือง หนึ่งในแกนนำสำคัญของชาวบ้านสิรินธรเล่าให้ถึงแนวคิดของหัวหน้าปุ๋ยที่อยากให้ทุกคนยังรวมตัวกันอยู่ และแน่นอนทุกคนล้วนเห็นด้วยและพร้อมจะสืบสานแนวคิดนี้


วันที่จัดงาน มีทั้งเวทีอภิปรายของชาวบ้านที่ได้สรุปบทเรียนการต่อสู้และก้าวต่อไปของชาวบ้านสิรินธร ซึ่งก็มีทั้งคำแนะนำในเรื่องการใช้เงินที่ได้มา โดยเฉพาะการเน้นให้ทำการเกษตรอินทรีย์ อย่าไปเป็นทาสของปุ๋ยเคมี หรือ ธกส. ไม่อย่างนั้นเดี๋ยวจะกลายเป็นหนี้กันอีก


แน่นอนว่า เมื่อเอ่ยถึง ธกส. แล้ว วงนอกเวทียังคงคุยกันอย่างออกรสออกชาติว่าทำอย่างไรถึงจะทำให้ชาวบ้านหนีภัยจาก ธกส. ได้


ปัญหา ธกส. มีมาแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่จวบจนถึงเดี๋ยวนี้ ไม่น่าเชื่อเลยว่าธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ซึ่งดูเหมือนว่าจะมาช่วยเหลือคนจนแต่สุดท้ายกลับกลายเป็นมีดที่คอยกรีดเฉือนเอาเนื้อคนจนไปกินทุกปี ทุกปี หลายคนหมดเนื้อหมดตัว ต้องยกที่ดินทำกินให้ธนาคารไป หลายคนก็ยังเป็นหนี้บานเบอะจนหัวหงอกหัวขาวก็ยังไม่รู้จะใช้หนี้อย่างไรหมด


อะไรจะช่างประสบความสำเร็จอย่างสูงปานนั้นหนอ ธกส.


งานรำลึก ๑๕ ปีการต่อสู้เขื่อนสิรินธร นอกจากเวทีการอภิปรายที่ยังคงเป็นประโยชน์ต่อคนฟังแล้ว ช่วงเย็นและกลางคืนยังคงมีดนตรีและหมอลำมาร้องรำทำเพลงท่ามกลางอากาศที่เย็นสบายพอดี


เสียงพิณเสียงแคนเสียงร้องลำยังคงปลุกขวัญและเป็นกำลังใจให้ชาวบ้านที่หากดูเพียงรูปลักษณ์ภายนอก เราก็อาจจะคิดด้วยความคุ้นเคยว่าพวกเขาเป็นเพียงพลเมืองชั้นล่าง ไม่ปราดเปรื่องดั่งคนมีความรู้ดี แต่หากได้ลองฟังพวกเขาพูด เปิดโอกาสให้พวกเขาได้พูด ก็จะรู้ว่าพวกเขามีปัญญา มีวิจารณญาณ และมีอารมณ์อันเยือกเย็น น่านับถือ


คนใช้ชีวิตมาปูนนี้ ย่อมรู้ได้ไม่แตกต่างจากพวกเราว่าอะไรคือดี อะไรคือถูกต้อง

 

 

บล็อกของ สร้อยแก้ว

สร้อยแก้ว
อืมม์... ดูเหมือนยุคนี้คนฆ่าสัตว์ตัดชีวิตจะกลายเป็นอาชญากร ไม่น่าคบไปเลยจริงๆ เมื่อฉันจัดการทุบหัวปลาโป๊กๆ สีหน้าน้องผู้หญิงบางคนเหยเก เบะปาก “กินไหมเล่า!” ฉันเอ็ดเอา “กินอ่ะ” “เออ ถ้าจะกินอย่าทำหน้าอย่างนั้น คนฆ่าเสียเซลฟ์เหมือนกัน” อืมม์... แต่จะว่าไปก็ฆ่าตัวเป็นๆ ซะหลายตัว จะไม่ให้น้องมันทำหน้าเบ้ได้ไง กับคนรู้จักมักคุ้นฉันมักออกตัวเสมอว่า ฉันไม่ใช่คนเรียบร้อยใจดีนะ ฉันเป็นคนที่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตได้โดยไม่รู้สึกผิดเลย ตกปลาฆ่าปลาได้ ยิงหนังกะติ๊กเอานกมาย่างไฟได้ ฆ่าตั๊กแตน ฆ่าแมลงต่างๆ ได้ จับปูเป็นๆ เผาบนเตาถ่านได้ หรือจับปูเป็นๆ โขลกในครกได้ (การทำน้ำปู๋ของคนเหนือ)…
สร้อยแก้ว
ถ้าไม่ใช่คนอีสาน จะมีใครบ้างหนอ รู้จักแมงหัวหงอก ? โอ้! จ๊อด มันน่าตื่นตาตื่นใจเสียจริง ขนาดว่าฉันโตมากับป่าเขา ใช้ชีวิตอย่างคนบ้านนอกเหมือนกัน แต่ก็ใช่ว่าบ้านนอกทุกพื้นที่จะเหมือนกันเสียเมื่อไหร่ แมงหัวหงอกพากันมาจับต้นไม้ไร้ใบ ตั้งแต่เมื่อไหร่ไม่ทันมีใครสังเกต เห็นอีกที มันก็ขาวเต็มต้นแล้ว แรกทีเดียวฉันคิดว่าเป็นครั่งเสียอีก แต่ไม่ใช่ มันเป็นแมลงเล็กๆ ขาวสะอาดทั้งตัว มีขนสีขาวตรงกลางหลังชี้ออกเหมือนขนหางนกยูง กระโดดได้ เวลาจับตัวมันไว้ในอุ้งมือมันจะกระโดดไปมาแรงทีเดียว ต้องจับลงถังน้ำ ถึงจะหมดความสามารถในการกระโดด แม้จะเป็นแมลงที่ดูสวยงาม น่ารัก แต่ว่าในเมื่อมันกินได้…
สร้อยแก้ว
แมงกุดจี่ทั้งเคยได้ยิน ทั้งเคยฟังเพลง และเคยกินมาก่อน แต่ยามได้เดินถือกระแป๋งตามเด็กสองคนไปขุดหาแมงกุดจี่ในยามเช้า ก็ยังรู้สึกตื่นเต้นเมื่อได้เห็นพวกมันผลุบๆ โผล่ๆ ในรู ดาวใจเป็นพี่สาวของไพจิตร เธอขุดแมงกุดจี่พลาดโดนตัวมันหลายครั้ง ทำให้ฉันขัดใจน่าดู “มา มา ขอพี่ทำหน่อยซิ” ฉันว่าฉันมือเบาน่าจะขุดได้ดี แต่หาเป็นเช่นนั้นไม่ ฉันสับเอาแมงกุดจี่หัวขาด ตัวขาด รุ่งริ่ง เสียจนน่าเวทนา เด็กหญิงไพจิตรร้องเสียงหลงทุกทีที่ฉันยั้งมือไม่ทัน คมเสียมสับลงกลางตัวแมงสีดำๆ นั้นเสียแล้ว
สร้อยแก้ว
เดือนเมษายน เมื่อฉันกลับไปยังศูนย์ภูมิปัญญาไทบ้านอีกครั้ง ภาพของผืนดินแล้ง หญ้าแห้ง และต้นไม้ใบร่วงยืนโดดเดี่ยวเดียวดายที่เห็นชินตาก็แปรเปลี่ยนไปสายฝนที่สาดเทลงมาเพียงไม่กี่ครั้งได้ลบล้างโลกสีน้ำตาลให้หายไป สองข้างทางระหว่างที่รถสามล้อเครื่องนำพาไปมีทิวหญ้าสีเขียวระบัดใบตลอดทาง ต้นไม้ใบแห้งผลิใบเขียวชะอุ่ม และผืนดินแล้งก็มีพุ่มไม้ใบขึ้นเป็นกอเล็กกอน้อยนับว่าชวนตื่นตาตื่นใจไม่น้อยสำหรับเวลาที่หายไปเพียงยี่สิบวัน ผืนดินก็เปลี่ยนแปลงได้เพียงนี้