Skip to main content

ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการสร้างเขื่อนสิรินธรเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๔ ได้จัดงานรำลึก ๑๕ ปีในการต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ในบริเวณแถบอีสานใต้นี้ นับว่ามีปัญหาของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายของภาครัฐอยู่หลายโครงการ เอาแค่ใกล้ๆ ที่ฉันอยู่ มีปัญหาจากการสร้างเขื่อนอยู่สามโครงการคือ เขื่อนสิรินธร เขื่อนปากมูน และเขื่อนราษีไศล


เขื่อนสิรินธรเป็นเขื่อนที่สร้างในยุคที่สังคมยังเต็มไปด้วยความขัดแย้งทางการเมือง สังคมไม่เป็นประชาธิปไตย ดังนั้น เมื่อมีโครงการสร้างเขื่อนจากภาครัฐเข้ามาจึงทำให้ชาวบ้านไม่มีสิทธิ์เสียงที่จะคัดค้าน รวมถึงการถูกสั่งให้ย้ายบ้านไปอยู่ในพื้นที่กันดาร ทำไร่ทำนาไม่ได้ ค่าชดเชยที่ดินที่ถูกน้ำท่วมก็ได้มาเพียงไร่ละ ๒๐๐ บาท แม้ขมขื่น ไม่ยินดีต่อสิ่งเหล่านี้ แต่จะทำอย่างไรได้ นอกจากแอบจับกลุ่มคุยกันซึ่งก็ได้เพียงไม่เกินห้าคน สภาพความเป็นอยู่ที่แร้นแค้น ทำอะไรไม่ได้นี้ดำเนินเรื่อยมาจนถึงปลายปี 2537 เมื่อคนคนหนึ่งได้เข้ามาหาชาวบ้าน มาร่วมพูดคุยและเริ่มทำให้ชาวบ้านเห็นหนทางรำไรว่าจะแก้ไขให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นอย่างไร จะต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมจากเหตุการณ์ที่ทำลายสภาพชีวิตครอบครัวนี้ได้อย่างไร


บุคคลคนนั้นได้ปลุกใจให้ชาวบ้านเห็นพลังชีวิตของตัวเอง เขาทำให้ชาวบ้านรู้ว่าคนตัวเล็กๆ นั้นสามารถที่จะต่อสู้กับอำนาจรัฐที่ไม่เป็นธรรมได้ แต่ว่าเราจะสู้เฉพาะพวกเราไม่ได้ เสียงของเรายังน้อยเกินไป ดังนั้น เราต้องรวมกลุ่ม กลุ่มของคนเดือดร้อนมีที่ไหนเราไปรวมที่นั่น เพื่อให้เกิดพลังที่ใหญ่ขึ้น และที่สุดกลุ่มใหญ่ของความเดือดร้อนที่เขาบอกก็ปรากฏให้เห็นในนาม "สมัชชาคนจน"


นันทโชติ ชัยรัตน์ หรือหัวหน้า ปุ๋ย ของชาวบ้านกลายเป็นบุคคลที่พี่น้องสิรินธรต้องจดจำไปจนชั่วชีวิตเมื่อได้พาชาวบ้านเข้าสู่ขบวนการต่อสู้ และ๑๕ ปีแห่งพลังแห่งศรัทธา ไม่มียอมแพ้ ไม่ท้อถอย ก็ได้มอบของขวัญให้พวกเขาด้วยการที่รัฐยอมจ่ายเงินชดเชยให้กับครอบครัวที่เดือดร้อนเป็นเงินจำนวนหนึ่งที่พอจะทำให้ตั้งหลักสร้างคุณภาพชีวิตกันใหม่ได้


แน่นอนว่าในสายตาคนมีอันจะกินมันช่างเป็นเงินน้อยนิด และในสายตาของคนที่รู้เรื่องกฎหมายดีโดยเฉพาะในโลกยุคแค่กล่าวหมิ่นประมาทก็โดนฟ้องร้องค่าเสียหายเป็นเงินหลักล้าน หรือปัญหาเมียน้อยเมียหลวงก็ยังฟ้องร้องเป็นเงินสิบล้านยี่สิบล้าน ดังนั้น คนที่ได้รับการเบียดเบียนชีวิตจนไม่รู้จะหาที่ซุกหัวนอนตรงไหนได้นั้น เงินเท่านี้ยังถือว่าน้อยไปด้วยซ้ำ


แต่ทว่า ในความเคยชินของคนที่อยู่กับระบบเจ้าขุนมูลนาย ไม่ว่าคนจนเหล่านี้จะได้รับเงินชดเชยไปจำนวนเท่าไหร่ ก็ล้วนไม่สบตา ไม่ถูกใจ สักที เพราะพวกเขาเคยชินกับการที่ชาวบ้านต้องนอบน้อม ชาวบ้านที่น่ารักต้องไม่หือไม่อือ ผู้ใหญ่ว่าไงก็ค่อยว่าตาม ให้อะไรก็ควรแสดงความดีใจที่ได้รับ ไม่ใช่การมาร้องแรกแหกกระเชออยู่หน้าทำเนียบ หน้าตารึก็กระดำกระด่าง ผิวพรรณรึก็หยาบกร้าน เท้าแตกตีนแตก เสื้อผ้าเหม็นเก่า ยังพยายามจะหาทางเจรจากับนายกฯ


ความรับไม่ได้ที่เห็นชาวบ้านเปลี่ยนไปเป็นแข็งกร้าว ทำให้พวกเขามักคิดว่าคนเหล่านี้ก้าวร้าว โดยที่ไม่ได้ดูที่มาที่ไปสักนิดว่าก่อนนี้พวกเขาถูกกระทำอย่างไร


และนั่นเอง ถึงทำให้การเรียกร้องความเป็นธรรมของคนรากหญ้าต้องใช้เวลายาวนาน (จนฉันคิดว่า มันน่าจะจ่ายค่าเสียเวลาให้ด้วยนะ ตั้ง ๑๕ ปี นี่ถ้าเป็นปัญญาชนหัวหมอในเมืองกรุงก็คงทำแบบนี้แล้ว)


เมื่อได้รับเงิน ชาวบ้านทุกคนต่างซาบซึ้งถึงคุณค่าเงินก้อนนี้ดีว่า กว่าจะได้มาต้องเหน็ดเหนื่อยเพียงไหน แต่แน่นอนว่า ภายใต้ความเหน็ดเหนื่อยนี้ ทุกคนก็ได้บทเรียนอันประเมินเป็นมูลค่าไม่ได้ มันมีค่ายิ่งกว่าเกียรติบัตรความรู้ระดับใดๆ ทั้งสิ้น เพราะมันมาจากประสบการณ์ตรงที่แม้คนจบด๊อกเตอร์มาก็อาจไม่เข้าใจ


ดังนั้น เพื่อไม่ให้บทเรียนชีวิตสูญเปล่าหรือว่าได้เงินมาแล้วก็แปลว่าการต่อสู้นั้นได้จบลง ชาวบ้านทั้งหมดจึงตกลงกันว่าเราจะยังคงรวมกลุ่มช่วยเหลือกันและกัน อีกทั้งจะทำงานกันต่อไปเผื่อมีปัญหาอื่นๆ อีกในวันข้างหน้า

"หัวหน้าปุ๋ยบอกว่า ถ้าเราได้รับการแก้ปัญหาแล้วเราก็ยังต้องรวมกันเพื่อสู้เหมือนเดิม เพราะถ้าต่างคนต่างอยู่วันหน้าเค้าก็จะมาเอาเปรียบอีก"


พ่อ บุญมี คำเรือง หนึ่งในแกนนำสำคัญของชาวบ้านสิรินธรเล่าให้ถึงแนวคิดของหัวหน้าปุ๋ยที่อยากให้ทุกคนยังรวมตัวกันอยู่ และแน่นอนทุกคนล้วนเห็นด้วยและพร้อมจะสืบสานแนวคิดนี้


วันที่จัดงาน มีทั้งเวทีอภิปรายของชาวบ้านที่ได้สรุปบทเรียนการต่อสู้และก้าวต่อไปของชาวบ้านสิรินธร ซึ่งก็มีทั้งคำแนะนำในเรื่องการใช้เงินที่ได้มา โดยเฉพาะการเน้นให้ทำการเกษตรอินทรีย์ อย่าไปเป็นทาสของปุ๋ยเคมี หรือ ธกส. ไม่อย่างนั้นเดี๋ยวจะกลายเป็นหนี้กันอีก


แน่นอนว่า เมื่อเอ่ยถึง ธกส. แล้ว วงนอกเวทียังคงคุยกันอย่างออกรสออกชาติว่าทำอย่างไรถึงจะทำให้ชาวบ้านหนีภัยจาก ธกส. ได้


ปัญหา ธกส. มีมาแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่จวบจนถึงเดี๋ยวนี้ ไม่น่าเชื่อเลยว่าธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ซึ่งดูเหมือนว่าจะมาช่วยเหลือคนจนแต่สุดท้ายกลับกลายเป็นมีดที่คอยกรีดเฉือนเอาเนื้อคนจนไปกินทุกปี ทุกปี หลายคนหมดเนื้อหมดตัว ต้องยกที่ดินทำกินให้ธนาคารไป หลายคนก็ยังเป็นหนี้บานเบอะจนหัวหงอกหัวขาวก็ยังไม่รู้จะใช้หนี้อย่างไรหมด


อะไรจะช่างประสบความสำเร็จอย่างสูงปานนั้นหนอ ธกส.


งานรำลึก ๑๕ ปีการต่อสู้เขื่อนสิรินธร นอกจากเวทีการอภิปรายที่ยังคงเป็นประโยชน์ต่อคนฟังแล้ว ช่วงเย็นและกลางคืนยังคงมีดนตรีและหมอลำมาร้องรำทำเพลงท่ามกลางอากาศที่เย็นสบายพอดี


เสียงพิณเสียงแคนเสียงร้องลำยังคงปลุกขวัญและเป็นกำลังใจให้ชาวบ้านที่หากดูเพียงรูปลักษณ์ภายนอก เราก็อาจจะคิดด้วยความคุ้นเคยว่าพวกเขาเป็นเพียงพลเมืองชั้นล่าง ไม่ปราดเปรื่องดั่งคนมีความรู้ดี แต่หากได้ลองฟังพวกเขาพูด เปิดโอกาสให้พวกเขาได้พูด ก็จะรู้ว่าพวกเขามีปัญญา มีวิจารณญาณ และมีอารมณ์อันเยือกเย็น น่านับถือ


คนใช้ชีวิตมาปูนนี้ ย่อมรู้ได้ไม่แตกต่างจากพวกเราว่าอะไรคือดี อะไรคือถูกต้อง

 

 

บล็อกของ สร้อยแก้ว

สร้อยแก้ว
นั่งดูบอลคู่นี้อย่างไม่ตั้งใจนัก เผอิญว่ากดรีโมทโทรทัศน์มาเจอเข้าพอดี เลยคิดว่าอยากจะเชียร์บอลไทยสักหน่อย ดูเวลาการแข่งขันตอนนั้นก็เข้าสู่นาทีที่เจ็ดสิบกว่าแล้ว ไทยนำอยู่ 2-1 ดูไปได้ไม่ทันไร ก็มาถึงจังหวะการกระโดดแย่งบอลกันกลางอากาศ นักเตะไทยเป็นฝ่ายกระโดดได้สูงกว่าและโดนลูกบอล แต่เมื่อเท้าแตะถึงพื้น นักเตะไทยวิ่งต่อ ส่วนนักเตะเลบานอนลงไปนอนกับพื้น เอากุมหัว ดิ้นอย่างเจ็บปวดสักพักเมื่อเขาลุกขึ้น สิ่งที่เห็นก็คือเลือดอาบหน้าและสองมือที่กุมเอาไว้ เลือดออกเยอะมากขนาดที่เห็นแล้วต้องเบะปาก ขณะที่เพื่อนร่วมทีมวิ่งมาดู นักเตะไทยเดินยิ้ม ยักไหล่ แพทย์สนามก็มาช้าเหลือเกิน เกมรึ…
สร้อยแก้ว
หลังการจากไปของพี่ปุ๋ย (นันทโชติ ชัยรัตน์) วันหนึ่งของต้นฤดูหนาว พี่แป๊ะ ภรรยาพี่ปุ๋ยก็มีดำริจะปลูกบ้านเป็นของตัวเองเสียที โดยพี่แป๊ะได้ซื้อไม้จากบ้านเก่าหลังหนึ่งไว้ ก่อนการเริ่มต้นปลูกบ้าน พี่แป๊ะจึงต้องหาคนมารื้อเอาไม้จากบ้านเก่าก่อน ซึ่งก็ได้น้องนุ่งแรงดีจากลุ่มน้ำมูนและหนุ่มในเมืองอย่างเอก และผู้อาวุโสแต่หัวใจวัยรุ่นอย่างพ่อถาหนึ่งในแกนนำปากมูน แห่งบ้านนาหว้า มาช่วยกันคนละไม้ละมือ
สร้อยแก้ว
(ขอความกรุณาสวมเสื้อขาว, สีฟ้า หรือสีที่ดูเหมาะสม ยกเว้นอย่าสวมเสื้อสีเหลืองหรือสีแดง เพราะจะทำให้แตกสามัคคี) ข้อความในวงเล็บนี้ทำเอาฉันอมยิ้มจนเกือบเผลอหัวเราะนี่คือจดหมายเชิญเดินเทิดพระเกียรติของชมรมผู้สูงอายุตำบลหารแก้วที่ประธานชมรมถึงกับควบมอเตอร์ไซค์แถดๆ มาหาพ่อถึงบ้าน
สร้อยแก้ว
 ฉันมีโอกาสไปร่วมงานรางวัลลูกโลกสีเขียว ครั้งที่ ๑๐ ปีนี้ เลยทำให้อดคิดไม่ได้ว่า รางวัล มีความหมายอย่างไรต่อชีวิตคนบ้าง ลองเปิดพจนานุกรมฉบับบัณฑิตยสถานดู เขาก็บอกว่ารางวัลคือ สิ่งของหรือเงินที่ได้มาจากความดี ความชอบ หรือความสามารถย้อนทบทวนตอนเด็กๆ รางวัลแรกของฉันมาจากการวิ่งได้ที่ ๓ จากการวิ่งแข่งกันสี่คน (เกือบไป!) โชคดีได้ขึ้นแท่นรับรางวัลกับเขา ยิ้มแก้มแทบปริ และเมื่อถึงบ้านก็รีบเอาสมุดดินสอมาให้พ่อกับแม่ดู
สร้อยแก้ว
ไม่รู้ทำไม จู่ๆ ภาพของเพื่อนสนิทคนหนึ่งในวันที่เข็นรถเด็กที่มีเด็กหญิงวัยแปดเดือนนั่งยิ้มแฉ่งเดินเล่นยามเย็นนอกเมืองก็โผล่ขึ้นมาในห้วงคำนึงในวันฝนตก ทั้งที่ไม่ได้เกี่ยวกันเลยสักนิด เธอดูมีความสุขปลอดโปร่งใจดีเหลือเกิน เธอบอกฉันว่า แต่ก่อน เธอมองชีวิตแบบเอ็นจีโอ ใส่เสื้อผ้าฝ้าย ใช้ข้าวของอย่างประหยัด หน้าตาไม่แต่ง เธอเชื่อมั่นในวิธีคิดแบบนั้น ศรัทธาคนเหล่านั้น แต่วันเวลาก็ทำให้เธอเห็นว่าคนเหล่านั้นก็เป็นเพียงปุถุชนธรรมดาๆ เท่านั้น พวกเขาไม่ได้ดีอย่างที่เรามอบความศรัทธาให้ เธอไม่รู้ว่าทำไมเธอถึงใช้ชีวิตตามแนวคิดอย่างนั้นได้อย่างเชื่อมั่นอยู่ตั้งหลายปี…
สร้อยแก้ว
สำหรับนักเขียน ยามคอมพิวเตอร์มีปัญหานับว่าเป็นเรื่องใหญ่ทีเดียว เพราะแต่ละวันไม่ว่ายังไงก็ต้องได้ลูบๆ เคาะๆ วันละนิดละหน่อยจนเคยชิน ครั้นเมื่อมันเกิดปัญหาขลุกขลัก แม้จะรู้สึกเซ็งๆ แต่ก็ต้องทนหอบหิ้วมันไปหาช่าง – คนที่เราคิดว่าเขารู้ดีกว่าเราแต่การเลือกช่างก็เหมือนการเลือกหมอรักษาอาการป่วยของเรานั่นแหละ หากยามใดเราไปเจอหมอที่วินิจฉัยโรคเราผิด จากที่ไม่ได้เป็นอะไรเลยแต่กลับบอกว่าเป็นโรคร้ายต้องผ่าตัดไปหลายยก เจ็บกาย เสียเวลา เสียเงิน เพื่อที่จะพบว่า ที่แท้เราไม่ได้เป็นอะไรเลย ความรู้สึกโกรธและไม่อาจทำใจยอมรับกับความสูญเสียที่เกิดขึ้นได้ง่ายๆ…
สร้อยแก้ว
ชาวบ้านห้วยสะคามตื่นเต้น ใช้ไฟฟรี ประหยัดกันยกใหญ่! อยากให้พาดหัวข่าวแบบนี้ในหน้าหนังสือพิมพ์บ้างจัง แม้ว่ามันจะเป็นเรื่องเล็กมากของประเทศ ท่ามกลางสถานการณ์ที่ขัดแย้งใหญ่หลวงของบ้านเมืองยามนี้ นโยบายอะไรๆ ของรัฐบาลก็ไม่ดีทั้งนั้น ในฐานะที่ไม่ได้รู้ตื้นลึกหนาบางอะไรมากเกี่ยวกับนโยบายประชานิยม แต่ว่าพอเข้าใจหัวจิตหัวใจของชาวบ้านตาดำๆ ซึ่งเวลาลงคะแนนเลือกตั้งเสียงของเขาก็มีค่าเท่ากับศาสตราจารย์หรือด๊อกเตอร์ในเมืองไทย เขาก็มองเห็นผลดีผลได้เท่าที่จับต้องได้ ไม่ต้องอ้างเอ่ยว่าเขาซื้อเสียงง่ายหรอก แต่เขาเห็นว่าเขาได้อะไรจากรัฐบาลชุดที่แล้ว (ยุคทักษิณ) เขาถึงเลือกและชอบ
สร้อยแก้ว
ภาพจาก http://www.blogth.com/blog/ddimg/uploadimg/20070514/093435918.jpgอาจไม่ต้องถึงขั้นเป็นคอบอล เป็นแค่ผู้นิยมกีฬาฟุตบอลก็คงต้องอยากดูเกมระหว่างแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด กับเชลซีเมื่อวันอาทิตย์ที่ 21 กันยายน ที่ผ่านมาว่าจะเป็นอย่างไร เปิดฤดูกาลของพรีเมียร์ลีก เชลซีเดินหน้าชนะทุกนัดเก็บมาได้เก้าคะแนนเต็ม เป็นการออกสตาร์ทที่สวยงามและทั้งนักเตะทั้งแฟนบอลเต็มไปด้วยความฮึกเหิม ขณะที่แชมป์เก่าอีกทั้งยังเป็นแชมป์ถ้วยฟุตบอลสโมสรยุโรปซะด้วย กลับเก็บมาได้เพียงสี่คะแนน แพ้บ้าง เสมอบ้าง จนแฟนๆ ชักใจคอไม่ดี แม้ฤดูกาลที่แล้วก็ออกสตาร์ทไม่ดีเหมือนกันแต่สุดท้ายก็ได้ถ้วย…
สร้อยแก้ว
โขงเจียมคือชื่ออำเภอหนึ่งของจังหวัดอุบลราชธานี อันเป็นที่รู้จักกันดีว่า เป็นเมืองที่เห็นพระอาทิตย์ขึ้นก่อนใครในสยามเพราะอยู่ทิศตะวันออกสุดของประเทศ และยังเป็นที่รู้จักอีกในฐานะที่มีแม่น้ำสายสำคัญของอีสานสองสายมาบรรจบคือแม่น้ำมูลและแม่น้ำโขง จุดที่บรรจบกันนั้นเรียกกันอย่างไพเราะว่า แม่น้ำสองสี โขงสีขุ่น มูลสีคราม (แต่ตอนนี้ขุ่นทั้งคู่ หากอยากเห็นมูลสีครามน่าจะเป็นช่วงหน้าแล้ง) โขงเจียมมีฐานะเป็นอำเภอ แต่อำเภอนี้เล็กเหมือนหมู่บ้าน ค่ำมาราวสักสองทุ่มก็เงียบแล้ว บางบ้านเข้านอน บางบ้านอาจจะยังนั่งพูดคุยกันอยู่หน้าบ้าน แต่คุยกันอย่างเงียบๆ ไม่กระโตกกระตาก สงบดีเหลือเกิน…
สร้อยแก้ว
ฤดูฝน นาพ่อสนเขียวไสวด้วยต้นข้าว ยามเช้าน้ำค้างชุ่มหญ้า ชุ่มพุ่มไม้ ครั้นเมื่อแสงแดดโผล่พ้นจากหมู่เมฆ ท้องนาสีเขียวยิ่งดูกระจ่างตา เหลียวมองรอบๆ แสนสบายตาสบายใจ เอ แล้วดอกอะไรกันหนอสีแดงขาว เป็นพุ่มไม้ใหญ่อยู่หน้าเถียงนาอีกแห่งนั่น ? เห็นแล้วก็อดคว้ากล้องเดินย่ำน้ำค้างบนคันนาไปหาดอกไม้นั้นไม่ได้ ไพจิตรเห็นก็วิ่งตามโดยทันใด เธอไม่ใส่รองเท้า ฉันบอกระวังหนาม ไพจิตรเงยหน้าขึ้นมองไม่ตอบอะไรนอกจากยิ้ม เธอทำให้ฉันอดคิดถึงครั้งหนึ่งเมื่อเราไปเที่ยวช่องเม็ก ด่านชายแดนลาวด้วยกัน
สร้อยแก้ว
ฉันถ่ายรูปไพจิตรไว้หลายรูปทีเดียว จนอดไม่ได้ที่จะเขียนถึงเธออีกครั้ง ด้วยความที่เธอบริสุทธิ์เหลือเกิน บ้านของไพจิตรอยู่ในหมู่บ้าน แต่เธอและครอบครัวมักชอบไปนอนเถียงนาที่มีวัว ควาย หมู หมา ไก่ เป็นเพื่อน ในหมู่บ้าน บ้านเรือนมักจะปลูกติดๆ กัน อันเป็นธรรมดาของสังคมหมู่บ้าน ซึ่งสมัยก่อน บ้านเรือนอาจปลูกไม่ชิดกันมากขนาดนี้ แต่เมื่อลูกหลานสร้างครอบครัวกันขึ้นมาใหม่ เริ่มปลูกบ้านหลังใหม่เพิ่ม ลักษณะหมู่บ้านจึงดูหนาแน่นขึ้น ครอบครัวของพ่อสนซึ่งรักความสันโดษเลยพากันไปนอนเถียงนาที่แสนจะเงียบสงบ อากาศเย็นสบาย และฉันก็มักไปนอนที่นั่นด้วยบ่อยๆ
สร้อยแก้ว
ดาวใจและไพจิตร เป็นชื่อของเด็กหญิงสองพี่น้อง ลูกสาวแม่พร พ่อสน คนดูแลสวน-สถานที่ของศูนย์ภูมิปัญญาไทบ้าน พ่อสนมีลูกทั้งหมดสิบคน ลูกชายสองคนก่อนหน้าดาวใจ ไพจิตร ชื่อไมโคร และ นูโว นัยว่าพ่อท่าจะชอบเสียงเพลงมากถึงตั้งชื่อลูกเป็นชื่อศิลปินนักร้อง ตอนนี้ลูกๆ ของพ่อสนที่ไม่ได้เอ่ยนามล้วนออกเรือน มีครอบครัว บ้างเสียชีวิต ลูกๆ ที่ยังอยู่กับพ่อสน แม่พร จึงมีสี่คนที่ว่า (ส่วนลูกชายอีกคนหนึ่งของพ่อสนที่เคยโด่งดังในม็อบปากมูนเมื่อหลายปีก่อน จนหนังสือพิมพ์หลายฉบับต่างเขียนถึงและลงบทสัมภาษณ์ คือดาวไฮปาร์คเด็กที่ชื่อ เปาโล ตอนนี้เปาโลโตเป็นหนุ่ม แต่งงานมีลูกแล้ว) ดาวใจกับไพจิตร เป็นเด็กหญิงที่ร่าเริง…