หลังการจากไปของพี่ปุ๋ย (นันทโชติ ชัยรัตน์) วันหนึ่งของต้นฤดูหนาว พี่แป๊ะ ภรรยาพี่ปุ๋ยก็มีดำริจะปลูกบ้านเป็นของตัวเองเสียที โดยพี่แป๊ะได้ซื้อไม้จากบ้านเก่าหลังหนึ่งไว้
ก่อนการเริ่มต้นปลูกบ้าน พี่แป๊ะจึงต้องหาคนมารื้อเอาไม้จากบ้านเก่าก่อน ซึ่งก็ได้น้องนุ่งแรงดีจากลุ่มน้ำมูนและหนุ่มในเมืองอย่างเอก และผู้อาวุโสแต่หัวใจวัยรุ่นอย่างพ่อถาหนึ่งในแกนนำปากมูน แห่งบ้านนาหว้า มาช่วยกันคนละไม้ละมือ
ฉันกับบุญมีรับหน้าที่ทำอาหารเลี้ยงเหล่าแรงงาน
ช่วงบ่ายๆ หลังกินข้าวแล้วถึงได้ออกไปดูพวกเขาว่ารื้อไปถึงไหน ยังไงบ้างแล้ว
ไปดูไปเห็น ถึงรู้ โอ้โห มันไม่ใช่งานง่ายๆ เลยนะ และบางครั้งก็เสี่ยงอันตรายทีเดียว แต่ความเป็นหนุ่มลูกทุ่งบ้านนาคุ้นชินกับการปลูกบ้านรื้อบ้านด้วยแรงงานตน หาใช่มีเงินหนึ่งก้อนแล้วปล่อยเป็นหน้าที่ผู้รับเหมา ถึงเวลาก็หอบข้าวของเข้าไปอยู่
ในความรับรู้ของคนอย่างฉันอาจมองว่านี่เป็นเรื่องของวิถีชีวิตดั้งเดิม แต่คนที่นี่รับรู้เข้าใจว่า ปัจจุบันของพวกเขาก็เป็นอย่างนี้นี่แหละ
ฉันอาจตื่นเต้นที่เห็นพวกเขาปีนป่ายหลังคาเล่นเหมือนหนังจีนที่ตัวละครใช้วิชาตัวเบาไล่สู้กัน แต่มองอีกทีก็หวาดเสียวใช่เล่น
การเสี่ยงอันตรายอย่างนี้ ทุ่มเทให้กันก็ด้วยใจ ไม่มีค่าแรงงานใดๆ ทั้งสิ้น นอกจากความเป็นมิตร เป็นพี่เป็นน้อง
ในบรรดาหนุ่มๆ ทั้งหมด เอกเป็นคนเดียวที่เรียนจบปริญญาตรี ส่วนคนอื่นๆ พวกเขาเรียนไม่สูงนัก ซึ่งหลายครั้งหลายหนแล้วที่ฉันมักสงสัยว่าการศึกษาในสถาบันต่างๆ ของพวกเราโดยเฉพาะเด็กบ้านนอกนั้น ได้ให้อะไร และพรากเอาอะไรจากเราไป
มีคนหนุ่มสาวจำนวนเพียงหยิบมือเท่านั้นที่จะสามารถรับเอาความรู้ใหม่ๆ วัฒนธรรมใหม่ๆ มาสู่ชีวิต ขณะเดียวกันยังสามารถรักษาความเป็นคนบ้านนอกและความสามารถใช้ชีวิตอย่างคนบ้านนอกไว้ได้
คนหนุ่มจำนวนไม่น้อย เมื่อร่ำเรียนจนจบปริญญาตรี พวกเขาก็จับค้อน ตอกตะปูไม่เป็นเสียแล้ว ให้ตากแดดกล้าแรงๆ ก็ทนไม่ค่อยไหว เพราะการศึกษาทำให้เรารู้ว่าชีวิตมีทางเลือก และโดยสัญชาตญาณเบื้องลึก ส่วนใหญ่ทุกคนก็เลือกที่จะอยู่สุขสบาย เหนื่อยน้อย แต่ได้เงินดี
เราเริ่มรู้จักวิธีหาเงินเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับชีวิต ซึ่งแปรผกผันกับความเริ่มไม่รู้วิธีที่จะดำรงอยู่โดยไม่ต้องพึ่งเงิน ไม่ว่าจะทำอะไรๆ นับวันเราก็ต้องเอาเงินนำหน้า
สร้างบ้าน รื้อบ้าน ที่คนสมัยก่อนปลูกสร้างกันเองเพียงวันสองวันเสร็จ แต่เดี๋ยวนี้กลายเป็นเรื่องใหญ่โตด้วยรสนิยมและคุณค่าที่เปลี่ยนไป บ้านของคนอย่างเราๆ เริ่มมีราคาหลายแสนจนถึงหลายล้าน เริ่มอยู่ยาก กินยากขึ้น
จนทุกครั้งที่นโยบายพัฒนาประเทศถูกหยิบยกขึ้นมาในรูปของการสร้างเขื่อน โรงไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรม คำพูดที่มักได้ยินจากรัฐเรียกร้องกับคนพื้นที่ว่า คนส่วนน้อยต้องเสียสละเพื่อคนส่วนใหญ่ มันทำให้อดคิดไม่ได้จริงๆ ว่าทำไมคนยากคนจนต้องเสียสละให้คนร่ำรวยมั่งมีที่มีแล้วมีอีก มีเท่าไหร่ก็ไม่เคยรู้จักพอสักที พวกเขาอยู่ยากกินยากเกินไปจึงเรียกร้องสิ่งอำนวยความสะดวกที่ไม่เคยสิ้นสุด
เด็กหนุ่มสองคนลุ่มน้ำมูนที่มาช่วยรื้อบ้านวันนี้เพิ่งกลับมาจากกรุงเทพฯ ก่อนนี้พวกเขาไปทำงานเป็นช่างทำเฟอร์นิเจอร์ เมื่อไม่มีงานให้ทำแล้วก็กลับมาบ้าน หาปลาในแม่น้ำมูนต่อ แม้หาได้บ้างไม่ได้บ้าง ก็ยังดีกว่าอยู่เฉยๆ แต่แน่นอนว่า ก่อนที่จะมีการสร้างเขื่อนพวกเขาไม่เคยมีความคิดจะออกจากหมู่บ้านเลย จำนวนปลาที่หาได้มีเพียงพอให้ยังชีพอย่างไม่ขัดสน เขาเล่าให้ฉันฟังถึงตอนที่มีการประท้วงที่สันเขื่อนปากมูนเมื่อหลายปีก่อน ตอนนั้นสะพานข้ามแม่น้ำมูนจากบ้านด่านมาบ้านท่าแพยังไม่ได้สร้างขึ้น เขาและเพื่อนต้องเดินไปตามริมน้ำ ข้ามไหล่เขา หน้าผา ช่วงแก่งตะนะ เดินกันจนรองเท้าขาด เพื่อจะไปร่วมประท้วงด้วย
วันนี้เมื่อเพื่อนคนหนึ่งขอแรงให้มาช่วย พวกเขาก็ยินดีมาโดยไม่อิดออดแม้ว่าจะไม่เคยรู้จักเลยว่าพี่แป๊ะ พี่ปุ๋ย เป็นใคร เป็นน้ำใจที่เพื่อนมีให้เพื่อนแท้ๆ
ส่วนน้องอีกคนหนึ่งก็วางแผนว่าเมื่อหมดหน้าเกี่ยวข้าว เขาเองก็จะออกไปรับจ้างใช้แรงในกรุงเทพฯ เหมือนกัน แต่ช่วงนี้ยังสามารถรับจ้างเกี่ยวข้าวในหมู่บ้านใกล้เคียงได้อยู่ จึงยังอยู่ในหมู่บ้านก่อน
เงินยังคงมีความจำเป็น เป็นสิ่งสำคัญ แต่ก็ไม่ได้หมายว่าเอะอะก็ต้องใช้เงิน ให้เงินมาเป็นเรื่องใหญ่ การรื้อบ้านสองวันนี้ ถ้าคิดตามค่าแรงขั้นต่ำคนหนึ่งก็ได้เกือบๆ สี่ร้อยบาท แต่ว่า พวกเขาก็พร้อมที่จะโบกมือปฏิเสธทันที เพราะนี่คือการใช้แรงเพื่อพี่น้อง เพื่อสายสัมพันธ์ที่ดีที่มีให้กันตลอดมา แม้ว่าพี่ปุ๋ยจะไม่อยู่บนโลกนี้แล้วก็ตาม
จิตใจที่ไม่เคยเห็นเงินเป็นใหญ่อย่างนี้ ไม่รู้ว่าคนที่เคยชินกับการใช้เงินจะคิดได้บ้างไหมว่า บางครั้ง เราไม่จำเป็นต้องเอาประเทศหรือเอาตัวเข้าแลกเพื่อจะให้ได้มาซึ่งค่าดัชนีทางเศรษฐกิจเลย เพราะคุณภาพชีวิตและความสุขเอาเงินมาเป็นตัววัดไม่ได้
สำหรับบางคนกระท่อมหลังเดียวจากการลงแรงด้วยน้ำมือตนและทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ เท่านี้ก็เพียงพอแล้ว ในขณะที่อีกคนกอบโกยเม็ดเงินเท่าไหร่ก็ไม่เคยรู้สึกพอ จึงรุกรานพื้นที่ของอีกคนโดยตรรกะที่ตนร่ำเรียนมาว่า มันคือการพัฒนา มันย่อมดีกว่า ขอให้ผู้ได้รับผลกระทบจงเสียสละ
แต่ลองหยุดคิดสักนิดหนึ่งบ้างจะดีไหม เราควรมีเงินเท่าไหร่ถึงจะพอ ค่าดัชนีทางเศรษฐกิจเป็นตัวเลขเท่าไหร่ถึงจะวัดตัวความสุขของพลเมืองได้