เดือนเมษายน
เมื่อฉันกลับไปยังศูนย์ภูมิปัญญาไทบ้านอีกครั้ง ภาพของผืนดินแล้ง หญ้าแห้ง และต้นไม้ใบร่วงยืนโดดเดี่ยวเดียวดายที่เห็นชินตาก็แปรเปลี่ยนไป
สายฝนที่สาดเทลงมาเพียงไม่กี่ครั้งได้ลบล้างโลกสีน้ำตาลให้หายไป สองข้างทางระหว่างที่รถสามล้อเครื่องนำพาไปมีทิวหญ้าสีเขียวระบัดใบตลอดทาง ต้นไม้ใบแห้งผลิใบเขียวชะอุ่ม และผืนดินแล้งก็มีพุ่มไม้ใบขึ้นเป็นกอเล็กกอน้อย
นับว่าชวนตื่นตาตื่นใจไม่น้อยสำหรับเวลาที่หายไปเพียงยี่สิบวัน ผืนดินก็เปลี่ยนแปลงได้เพียงนี้
ตลอดทางที่นั่งรถผ่านมีกอดอกไม้ชนิดหนึ่งออกดอกสีขาวขึ้นกระจัดกระจายทั่วไป ดอกสีขาวสะอาดดีเหลือเกิน หมายตาหมายใจไว้ว่าจะหาโอกาสไปถ่ายรูปมันสักวัน
ดอกไม้แปลกหน้า มีชื่อเรียกขานจากคนพื้นถิ่นว่า โมกนา
เช้าวันอากาศอบอ้าว ฟ้าหลัว ฉันชวนเพื่อนตัวน้อยมุดรั้วลวดหนามของสำนักงานออกไปถ่ายรูปโมกนาที่ชูช่อรับอรุณ
โมกนาเป็นดอกไม้ที่คนท้องถิ่นคุ้นเคยและเห็นเจนตาในยามฤดูกาลผัดเปลี่ยนจากร้อนสู่ฝน
เมื่อเด็ดดอกไม้ ยางสีขาวก็ซึมออกจากก้านของมัน และเพียงเดี๋ยวเดียวมันก็คอพับ ดอกเฉา เด็ดครั้งเดียวฉันจึงเป็นอันเข้าใจได้ว่าโมกนาไม่เหมาะที่จะอยู่ในแจกันเลย ดีที่สุดแล้วที่จะให้มันอยู่กลางทุ่งนาเปล่งสีขาวบริสุทธิ์กลางท้องนาบริสุทธิ์
นอกจากโมกนาแล้ว ยังมีไม้ยืนต้นอีกต้นที่ออกดอกสีขาวดอกเล็กๆ เด็กหญิงไพจิตรบอกฉันว่า มันคือดอก ยอกขี้หมา ส่งกลิ่นหอมชื่นใจรอบๆ บริเวณ
ช่วงนี้คล้ายว่าดอกไม้สีขาวจะพากันออกดอกอย่างพร้อมเพรียง ไม่ว่าดอกพุด พุดซ้อน โมก ดอกแก้ว ดอกปีบ ที่ปลูกอยู่ในสำนักงาน ส่วนดอกไม้พื้นถิ่นก็อย่างโมกนา ยอกขี้หมา และยังมีอีกต้นหนึ่งออกดอกสีขาวเหมือนกันกลีบดอกคล้ายลำดวน แม่เด็กหญิงไพจิตรบอกกับฉันแล้วว่าชื่ออะไร แต่ฉันลืมไป
สายฝนเป็นเหมือนน้ำทิพย์ พลิกผืนดินสีแดงให้กลายเป็นเขียวไสวและดอกไม้เบ่งบาน
ป่าหินดินแล้งไม่ได้แปลว่าป่าแห่งนี้ไม่สมบูรณ์ ลักษณะทางธรณีศาสตร์ของที่นี่เป็นอย่างนี้ แต่เพียงแค่ฝนมา ทุกอย่างก็จะเปลี่ยนไป
ท่ามกลางความยากจนกลางผืนดิน ป่าหิน น้ำใส ของดินแดนที่ได้ชื่อว่ามีอายุกว่าสี่พันปีจากภาพเขียนประวัติศาสตร์บนผาแต้ม ผู้คนยังคงดำเนินชีวิตไปเพื่อให้อยู่รอด แม้การทำนาหาปลายังคงเป็นหลักสำคัญสำหรับชีวิตที่นี่ แต่ยามพ้นหน้าฝน ต้นไม้ทนแล้งอย่างยูคาลิปตัสก็ทำให้ชาวบ้านหันมาไถกลบผืนป่าเพื่อต้นไม้ที่ได้ชื่อว่าทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างเอกอุ อย่างยูคาลิปตัส
แม้ไม่เห็นมีใครร่ำรวยจากการปลูกยูคาลิปตัสนอกจากโรงงานกระดาษ แต่ชาวบ้านก็รู้สึกว่ามันดีกว่าไม่ได้ทำอะไรเลย
คนจนรังเกียจความจน เขาอยากกินอิ่ม อยากมีบ้านแข็งแรง มั่นคง มีความสะดวกสบาย แต่การแก้ปัญหาความยากจนไม่ใช่การแจกคูปองคนจนหรือแจกจ่ายเงินทองในนามกองทุนหมู่บ้านละล้านสองล้าน หรือแม้กระทั่งบอกให้เขารู้จักพอขณะที่พวกเขาขาดแคลน
การแก้ไขปัญหาความยากจนที่ดีที่สุดคือ การให้พื้นที่ทรัพยากรธรรมชาติ ให้อำนาจในการจัดการ และให้ความเชื่อมั่นในวิถีที่เคยดำเนินมาต่างหาก
ไม่มีเงิน แต่มีป่า มีที่นา มีแม่น้ำ พวกเขาก็จะรู้เองว่าจะหลีกพ้นความขาดแคลนได้อย่างไร