หญ้าป่า
“อยากจะบอกว่ามันเป็นอาชีพ มันเป็นงานของเรา คือหมายความว่าถ้ามีบ้านดีๆ ก็ขาดแม่บ้านไม่ได้นะ มันก็สำคัญและจำเป็น แล้วเราก็ไม่ได้มองตัวเองว่าเราด้อย...อยากจะบอกว่างานแม่บ้านมันก็เป็นงานสุจริต งานที่ดี ไม่ใช่งานต่ำต้อย...”
|
เมื่อพูดอาชีพแม่บ้าน หลายคนอาจมองผ่านข้ามไป ว่าเป็นงานที่ต่ำต้อย บางคนอาจมองว่าเป็นสิ่งไร้ค่า เป็นสิ่งฟุ่มเฟือย แต่กระนั้น คนทั่วไปก็อดที่จะเรียกใช้ ‘บริการ’ จากคนเหล่านี้ไม่ได้ และแน่นอนว่า หากเรามองเข้าไปในชีวิตจิตใจของพวกเธอ เราจะรู้ได้ว่า เบื้องหลังของความสำเร็จในสาขาอาชีพต่างๆ นั้น อาชีพแม่บ้านได้มีความสำคัญ เป็นตัวหนุนเสริม เป็นฟันเฟืองอีกตัวหนึ่งของสังคมที่เราไม่อาจมองข้ามไปได้
แหละนั่น ทำให้ผมมีโอกาสไปสัมผัสเรียนรู้เบื้องหลังชีวิตของแม่บ้านคนหนึ่ง...
ค่ำคืนนั้น, ผมนั่งคุยกับ ‘นุ้ย’ พุทธิพร คำสา เธอเป็นผู้หญิงชาวกะเหรี่ยงโปว์ ที่เดินทางออกจากบ้านเกิด บนดอยสูงในเขตพื้นที่อำเภอฮอด เพื่อลงมาทำงานเป็นแม่บ้านในเมืองเชียงใหม่นานหลายสิบปีแล้ว เธอบอกเล่าให้ฟังว่า มีคนข้างนอกชักชวนมาทำงานแม่บ้านให้กับเจ้าของบ้านซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐคนหนึ่ง เธอต้องทำทุกอย่าง ตั้งแต่ทำกับข้าว ซักผ้า รีดผ้า ทำความสะอาดบ้าน เลี้ยงสุนัข เป็นต้น
“มาเป็นแม่บ้านตอนแรกนั้น เหมือนกับว่าอยู่ภายใต้อำนาจเขามาก คือเขาจะมองเราเป็นแบบคนใช้ คือแยกชั้นฐานะต่างกันเลย แยกของกินของใช้ทุกอย่าง ที่นอนก็เป็นที่นอนเล็กๆ แบบสำหรับคนใช้ ตอนเข้าไปแรกๆ เขาให้เงินเดือน 2,000 บาท”
หากเธอก็ยังอดทน และอดออมเก็บเงิน และยังส่งเงินไปให้ครอบครัวที่บ้านอย่างต่อเนื่อง สุดท้ายเธอต้องตัดสินใจลาออก เมื่อรับรู้ว่างานที่เธอทำนั้นเริ่มมีปัญหาเกิดขึ้นแล้ว เมื่อเธอถูกเจ้านายตุกติกเรื่องค่าแรง สิ้นเดือนไม่ยอมจ่าย พอทักท้วง ก็อ้างว่าจะทยอยให้ แต่ก็ไม่ได้ให้
“เขามาบอกว่าจะเก็บเงินไว้ให้เราส่วนหนึ่ง แต่ว่าพอถึงเวลา ก็ได้ไม่ครบ สิ้นเดือนมาก็เบี้ยวเราอีก”
ในที่สุด, เธอตัดสินใจลาออก หลังจากนั้นก็ไปทำงานเป็นแม่บ้านแถวอำเภอสันกำแพง ที่บ้านหลังนี้ เธอบอกว่า เจ้าของบ้านได้ปฏิบัติต่อเธออย่างเท่าเทียมเหมือนเป็นสมาชิกคนหนึ่งในบ้าน
“ก็ดีขึ้นค่ะ แบบว่าถึงเวลาทานอาหาร เราก็ทานร่วมกับเขา ทานร่วมโต๊ะเดียวกันได้”
แต่หลังจากนั้น เธอก็จำต้องออกกลางครัน เมื่อมีปัญหาเรื่องสุขภาพ ก่อนจะไปทำงานเป็นแม่บ้านในที่แห่งใหม่
“ก่อนหน้านั้นก็เป็นแม่บ้านที่โรงเรียนแห่งหนึ่ง ทำได้ประมาณเดือนกว่า ทำต่อไม่ไหว สุขภาพไม่ดี แล้วงานมันก็หนักด้วย ทำคนเดียว คือต้องทำงานหกโมงเช้าจนถึงโมงหกเย็น”
แต่ถึงอย่างไร เธอบอกว่า ก็ยังรักในอาชีพแม่บ้าน
“ก็ยังเป็นแม่บ้าน ไปเป็นแม่บ้านที่สำนักงานของโรงงานทำตุ๊กตา ทำได้ประมาณปี กว่า ตอนหลังได้ย้ายมาเป็นแม่บ้านในบ้านเจ้านายเลย”
ทุกวันนี้ นับว่าเธอยังโชคดีกว่าแม่บ้านอีกหลายคน เมื่อนายจ้างได้ทำประกันสังคมให้กับเธอด้วย หลังจากที่ทำงานในสำนักงานครบสามเดือน
“ส่วนใหญ่แล้วแม่บ้านจะไม่มีประกันสังคม แต่ดีที่ตนเองเริ่มต้นเป็นแม่บ้านสำนักงาน ก่อนมาทำในบ้านเจ้านาย จึงได้สิทธิ ได้เงินเดือนตามมาตรฐานแรงงานเลย”
เมื่อถามความรู้สึกของเธอ กับอาชีพแม่บ้าน ในขณะที่หลายคนมักมองว่าเป็นงานที่ต่ำต้อย
“ไม่ได้คิดเลยว่าเป็นงานที่ต่ำต้อย เพราะว่าเรามีเจ้านายดี คือเขาก็ให้เกียรติเรา ไม่ได้แยกชั้นวรรณะ ไม่ได้วางตัวสูงกว่าเรา แต่เราก็รู้ว่าเขาเป็นเจ้านายเรานะ”
“อยากจะสื่อสารกับคนในสังคมอย่างไรบ้างกับอาชีพแม่บ้านที่ทำอยู่” ผมเอ่ยถามเธอ
“คืออยากจะบอกว่ามันเป็นอาชีพ มันเป็นงานของเรา คือหมายความว่าถ้ามีบ้านดีๆ ก็ขาดแม่บ้านไม่ได้นะ คนอื่นไม่รู้ว่าเราทำอะไรใช่ไหม แขกไปใครมาก็เห็นบ้านสวยสะอาดก็เป็นที่เชิดหน้าชูตาให้กับเจ้านายเรา มันก็สำคัญและจำเป็น แล้วเราก็ไม่ได้มองตัวเองว่าเราด้อยนะ...อยากจะบอกว่างานแม่บ้านมันก็เป็นงานสุจริต งานที่ดี ไม่ใช่งานต่ำต้อย...”
“จะเลิกอาชีพแม่บ้านอีกเมื่อไหร่” ผมแหย่ถามเธอในตอนท้าย
“นอกจากว่ามันทำไม่ไหวแล้ว ถ้าสุขภาพทำไม่ไหวแล้วก็ต้องเลิก แต่ตอนนี้ยังมีใจรักอยู่ ก็ยังไม่อยากเลิกหรอก”
นี่เป็นบางมุมมองเบื้องหลังชีวิตของแม่บ้านคนหนึ่ง ซึ่งผมมองว่าเป็นตัวแทนของผู้หญิงบริการ อีกอาชีพหนึ่งในสังคมไทยที่เราควรให้ความสำคัญและมิอาจมองข้ามไปได้.