‘ดอกเสี้ยวขาว’
การที่ต้องลำบากเดินลัดเลาะไปตามร่องเขา ไต่ขึ้นไปบนความสูงชัน นานหลายชั่วโมง เพียงเพื่อไปกวาดใบไม้บนสันดอยสูงนั้น หลายคนอาจมองเป็นเรื่องธรรมดาไม่สำคัญ แต่สำหรับผมกลับมองว่า นี่ไม่ใช่เรื่องใหญ่และไม่ธรรมดาอย่างแน่นอน
ที่นั่น, บนสันดอยสูง...พวกเขาช่วยกันกวาดใบไม้ ก่อนที่จะจุดไฟเผา ซึ่งไม่ได้ไปคนเดียว แต่ไปร่วมกันหมดทุกหลังคาบ้าน มีทั้งผู้เฒ่า เด็กเยาวชน ผู้ใหญ่ ผู้นำทางศาสนา ฯลฯ
“ตอนนี้ถ้าทางการเขาสั่งห้ามเผาป่า จะทำได้มั้ย?...” ผมลองแหย่ถามชาวบ้าน
“แล้วถ้าเขาสั่งห้ามกินข้าว เราจะทำได้มั้ย...ถ้าเชื่อ เราก็ไม่ได้กินข้าว ไม่ได้กินอะไรเลย...”
ชาวบ้านชนเผ่าลาหู่คนหนึ่งเอ่ยออกมา ในขณะที่กำลังช่วยกันกวาดใบไม้บนสันดอย ก่อนจุดไฟเผาเศษไม้ใบหญ้าเพื่อทำเป็นช่องว่าง ทำแนวกันไฟ
ใช่, การเผาป่า หลายคนบอกว่ามันผิด และอาจจะถูกจับกุมได้ เพราะมีมาตรการทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด แต่การเผาของชาวบ้านที่นี่ เขาเรียกกันว่า ‘การชิงเผา’ ซึ่งเป็นวิธีหนึ่งในการจัดการไฟป่าด้วยภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่อยู่ในเขตป่าชุมชน ป่าที่ให้ชีวิตแก่พวกเขา มีตาน้ำที่ค่อยๆ หยาดหยด โดยผ่านขุนห้วยเคี้ยวคดรดรินไหลลงมาหล่อเลี้ยงชีวิตของชาวบ้านแถบนี้ ดังนั้นเขาก็ต้องรักษาด้วยชีวิตไว้ด้วยเช่นเดียวกัน
ผู้นำชนเผ่าลาหู่เล่าให้ฟังว่า เรามีการพูดคุยกันทุกปี ทั้งเด็กเยาวชน ผู้ใหญ่ คนเฒ่าคนแก่ จะมีการช่วยกันสอดส่องดูแล และทุกปีจะมีการทบทวนกฎระเบียบที่ตั้งไว้ ทุกคนมีหน้าที่ มีสิทธิในการดูแลรักษาป่า ไม่ได้เป็นหน้าที่ของคนใดคนหนึ่ง ถ้ามีเหตุการณ์อะไรให้แจ้งคณะกรรมการหมู่บ้าน เราทำกันเองไม่มีงบประมาณอะไร เราจะใช้วิธีชิงเผาก่อน
“ทำอย่างไรหรือ ชิงเผาก่อน...” ผมถาม
“ก็ช่วยกันกวาดใบไม้ที่หล่นลงมารวมกันตรงกลาง ก่อนที่จะจุดไฟเผา แต่ถ้าเรากองไว้ข้างๆ มันจะกองใหญ่ ถ้าไฟมา จะลุกไหม้และจะลามลุกข้ามไปได้ เราจึงใช้วิธีนี้มานานแล้ว”ผู้นำชนเผ่า บอกเล่าให้ฟัง
ทำให้ผมนึกไปถึงมติการประชุมคณะรัฐมนตรีประจำวันที่ 8 มกราคม 2551 การเตรียมการแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่า ปี 2551 (สมัยรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์) อีกครั้งหนึ่ง...
ในมติ ครม.ฉบับนั้น บอกว่า ในห้วงฤดูแล้ง (เดือนพฤศจิกายน 2550 ถึงเดือนพฤษภาคม 2551) ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือและความกดอากาศสูงจากประเทศจีนจะพัดปกคลุมพื้นที่ของประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอากาศหนาวเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า ปริมาณฝนตกน้อย ทำให้สภาพอากาศโดยทั่วไปมีความแห้งแล้ง และมีลมกระโชกแรง มีโอกาสที่จะเกิดไฟป่าและหมอกควันไฟได้ง่าย โดยเฉพาะในพื้นที่ป่าไม้และภูเขาสูงในภาคเหนือตอนบน
การดำเนินการของกระทรวงมหาดไทยโดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้แจ้งให้จังหวัดภาคเหนือตอนบน 8 จังหวัด (เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่และน่าน) ดำเนินการตามนโยบายของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์) ในการเตรียมการแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่าปี 2551 โดยให้จัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่าระดับจังหวัดและระดับอำเภอ และบูรณาการการปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการและมาตรการที่จังหวัดจัดทำไว้ในห้วงระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2550 - เมษายน 2551 เน้นการดำเนินการทั้งมาตรการด้านการควบคุม การป้องกันและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
ดังนั้น จึงขอความร่วมมือประชาชนในการงดเว้นการเผา โดยประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆอย่างจริงจังและต่อเนื่อง หากไม่เป็นผลให้ดำเนินการตามมาตรการทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัดโดยเฉพาะการจับกุมผู้กระทำผิดอย่างจริงจัง!
ในระหว่างที่ผมกลับมาเขียนงานชิ้นนี้ ผมนั่งมองผ่านหน้าต่างออกไป เห็นไฟป่าที่กำลังลุกลามเลียอยู่เหนือดอยผาแดงทางทิศตะวันออกของหมู่บ้าน เส้นทางเดินของไฟป่า ขีดเป็นแนวคดโค้งไปมา บางแห่งมอดดับเห็นแต่แสงรำไร บางแห่งลุกโชติช่วง สว่างไสว เหมือนไม่มีวันที่จะดับมอดลง ท่ามกลางพงไพร ที่ไร้แสงจันทร์นวล
พลางให้นึกถึงครูประถม ที่เคยบอกว่า การเสียดสีของต้นไม้ ทำให้เกิดไฟป่า ซึ่งผมเชื่อในตอนนั้น และตอนนี้รัฐบาลก็บอกผมอีกว่า ชาวบ้านเป็นต้นเหตุของการทำให้เกิดปัญหาหมอกควันและไฟป่าที่ผ่านมา โดยเฉพาะพี่น้องชนเผ่า ที่รัฐเรียกขานว่า ชาวเขา เป็นผู้ทำลายป่า เป็นตัวบ่อนทำลายชาติ เป็นพวกค้ายาเสพติด และเป็นต้นเหตุของสิ่งเลวร้ายทั้งปวง ล่าสุดก็ได้รับข้อกล่าวหานี้เพิ่มขึ้นอีกแล้ว
“จะห้ามเผาในไร่ของตัวเองเป็นไปไม่ได้ เราทำแบบนี้มานานแล้ว แต่เราก็ช่วยได้ในระดับหนึ่ง ถ้าจะดีต้องควบคุมไม่ให้ไหม้เข้าไปในป่า หรือการนำเศษวัชพืช มาทำปุ๋ยหมัก บางพื้นที่ชาวบ้านไม่ได้เผาเลย เพราะช่วงนี้ปลูกถั่วอยู่อยู่ในไร่ แต่ถ้าคนไหนปลูกข้าวโพดเพียงอย่างเดียว ไม่ปลูกถั่ว เขาก็จะเผา เพราะหญ้าจะแรง หญ้าจะงอกมาเร็ว เมื่อไม่ได้ปลูกถั่วเนื่องจากพื้นที่ได้ถูกปล่อยไว้ให้วัชพืชจะขึ้นมาก ถ้าไม่มีการดูแล ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่เท่านั้นที่มีการเผา”
“แล้วถ้าไม่ให้ชาวบ้านเผา จะทำอย่างไรกันดีล่ะ...”
“ถ้าจะแก้ไขปัญหาไม่ให้ชาวบ้านเผาป่าช่วงนี้ ก็น่าจะส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกถั่วต่างๆ หลังจากปลูกข้าวโพด และดูแลเรื่องราคาตลาดให้ด้วย อย่างนี้ชาวบ้านจะไม่ต้องเผาไร่ เพราะการย่อยสลายของถั่วย่อยได้เร็วกว่า เราก็ไม่ต้องเผา ปลูกข้าวไร่ต่อได้เลย”
นี่เป็นความคิดของชาวบ้านเผ่าลาหู่คนหนึ่ง ที่ได้แสดงความคิดเห็น และเสนอแนวทางการแก้ไข ทางออกของปัญหาในพื้นที่ของเขา
“รัฐบาลอยากให้มีส่วนร่วมทุกภาคส่วน” นี่คงเป็นเพียงคำพูดประโยคหนึ่งเท่านั้น ถามว่าที่ผ่านมา เคยรับฟังความคิดเห็นชาวบ้านบ้างไหม เคยมาเรียนรู้วิถีชีวิตพวกเขาบ้างไหม การใช้อำนาจเพียงอย่างเดียวในการแก้ไขปัญหา ไม่ประสบความสำเร็จแน่นอนถ้าปราศจากความร่วมมือของชาวบ้าน ผมเชื่ออย่างนั้น
การแก้ปัญหาของรัฐบาลชุดนี้(สมัยรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช) ก็คงไม่แตกต่างกันกับชุดที่มาจากการรัฐประหาร แว่วข่าวมาว่า มีการสั่งการมายังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ออกข้อบัญญัติว่าด้วยการแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่า และให้บังคับใช้กับชาวบ้านในพื้นที่
ซึ่งจะเห็นได้ว่า รัฐใช้อำนาจการปกครองนั้นผ่านกระทรวงมหาดไทยมาโดยตลอด แม้ว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่น แต่ความสัมพันธ์ระหว่างกระทรวงมหาดไทยและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ยังคงดำเนินมาในรูปแบบที่รัฐมีอำนาจในการควบคุมดูแลการพัฒนาการเมืองไทยในทิศทางที่เป็นประชาธิปไตย และให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองเกิดขึ้นในระดับชาติ เท่านั้น แต่ในระดับท้องถิ่นแทบไม่มีการพัฒนาในทิศทางดังกล่าวเลย
ตอนนี้ผมไม่เชื่อทั้งครู และรัฐบาล ที่คอยพร่ำบอกไว้ อย่างนั้นอย่างนี้อีกแล้ว ตราบใดที่เราไม่ได้มาสัมผัสกับความเป็นจริง อยู่กับความเป็นไป และในสังคมที่ไร้ความชอบธรรมเยี่ยงนี้ ผมเลือกที่จะเชื่อตัวผมเองและผมเชื่อในความเป็นเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน หลังจากที่ได้มาสัมผัสกับพี่น้องชาวบ้าน
“เราเป็นคนดอย อยู่ในดอย หากินในดอย จะให้ไปอยู่ในเมือง เราก็อยู่ไม่ได้ คนในเมือง มาอยู่ในดอยก็อยู่ไม่ได้ เรามีวิถีที่แตกต่างกัน แต่ก็อยากให้ลงมาสัมผัสกับวิถีชีวิตของเรา ว่าเป็นอย่างไร…” ผู้นำชนเผ่าลาหู่ เอ่ยออกมาในวันนั้น ในวันที่พี่น้องชนเผ่าช่วยกันกวาดใบไม้บนสันดอย...
ผมยังนั่งนิ่งมองไฟป่า ริมหน้าต่างบ้านสวนบนเนินเขา แสงไฟเริ่มมอดดับลง เห็นเพียงแค่จุดเล็กๆของถ่านไฟที่ยังมีเชื้อไฟติดอยู่ พระจันทร์ครึ่งดวง เริ่มโผล่พ้นขอบฟ้าเหนือดอยผาแดง แสงของพระจันทร์ยังเปล่งแสงได้ไม่เต็มที่ หากยังมองเห็นเมฆลอยคว้างอยู่บนฟ้า ทำนึกถึงภาพในอดีตอีกครั้ง…
...เมื่อก่อนก็มีไฟป่า ชาวบ้านก็เผาป่า เผามากกว่าเดี๋ยวนี้ด้วยซ้ำ ไม่เห็นจะเดือนร้อนเหมือนกับตอนนี้เลย ไม่เคยมีปัญหาเรื่องหมอกควัน แล้วสาเหตุที่แท้จริงมันเกิดจากอะไรหนอ....???