ดอกเสี้ยวขาว
ยามสายของวันหนึ่ง ฝอยฝนหล่นลงมาอย่างไม่ขาดสาย ทำให้ถนนทางเข้าหมู่บ้านปางตอง ตำบลปิงโค้ง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เต็มไปด้วยโคลนดินแดงเข้ม ทำให้รถไม่สามารถผ่านเข้าออกได้ ยิ่งถ้าหากเป็นรถธรรมดา หมดสิทธิ์ที่จะไต่ข้ามเส้นทางสายนี้ไปได้ นอกจากรถขับเคลื่อนสี่ล้อเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ด้วยมนต์เสน่ห์ของ “ประเพณี กินข้าวใหม่” ของพี่น้องลาหู่บนดอยสูง สามารถทำให้คนพื้นราบหลาย ๆ คน รวมทั้งผมด้วย มองข้ามเรื่องการเดินทางแสนยาก กับถนนเต็มไปด้วยดินโคลน จึงไม่เป็นอุปสรรคสำหรับงานนี้ รู้แต่เพียงว่าอยากเข้าไปสัมผัส ซึมซับกับบรรยากาศของงานประเพณีกินข้าวใหม่ในครั้งนี้ให้ได้
รถขับเคลื่อนสี่ล้อ รถคาริเบียนสีดำคันเก่าของผม ค่อย ๆเคลื่อนตัวออกไปอย่างช้าๆ ลัดเลาะไปตามถนนดินโคลน ผ่านกลางป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ แสงแดดที่ว่าแน่แต่ก็ยังไม่สามารถทะลุผ่านเข้ามาได้ ทำให้ถนนสายนี้ชุ่มชื้นลื่นเละไปด้วยโคลนดินแดงตลอดทาง
จากปากทางเข้าหมู่บ้าน ประมาณ 20 นาที รถคันเก่าของผมได้เคลื่อนเข้าสู่หมู่บ้านปางตอง หมู่บ้านเล็กๆ 20 กว่าหลังคาเรือน เป็นชนเผ่าลาหู่ (มูเซอ) ที่มีการอาศัยอยู่ร่วมกันมานานหลายปี ที่สำคัญพวกเขามีประเพณีเป็นของตัวเอง โดยสืบทอดร่วมกันมานานหลายชั่วอายุคน และวันนี้พวกเขาได้ร่วมกันสืบทอดประเพณีนี้อีกครั้ง ในวันขึ้น 12 ค่ำ เดือน 11
ประเพณีกินข้าวใหม่ หรือ “จ่าลือจ่าเลอ” ของชนเผ่าลาหู่ ว่าไว้ว่า ถ้าไม่มีประเพณีนี้ ก็ไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตมาบริโภคได้ เชื่อว่าพอผลผลิตในไร่ เทพเจ้ากื่อซา ประทานมาให้ ประเพณีนี้เริ่มเมื่อข้าวแตกรวง เดือนสิงหาคม-กันยายน ของทุกปี ในวันพระจันทร์เต็มดวง เป็นวันประกอบพิธี
ถือว่าเป็นวันสัญลักษณ์แห่งความเจริญรุ่งเรือง ซึ่งจะนำเอาข้าวที่ปลูกไว้ นำมาบูชาเทพเจ้ากื่อซา
ที่สำคัญ ผมมองว่า ที่สุดแล้ว พวกเขาได้หยิบยื่นการพึ่งพาและเกื้อกูลกันให้ต่อกัน การร่วมงานฉลองการกินข้าวใหม่ในครั้งนี้ ถึงแม้พวกเขาจะยากดีมีจนอย่างไร แต่น้ำใจที่ได้ชักชวนให้ใครต่อหลายคน เข้าไปร่วมเป็นส่วนหนึ่ง สืบสานงานประเพณีกินข้าวใหม่ ถึงแม้ไม่ได้ปลูกข้าว เกี่ยวข้าว ตำข้าว ด้วยกันก็ตาม แต่ผมสัมผัสได้ว่า พวกเขาไม่ได้แบ่งแยกว่าคุณเป็นใคร มาจากไหน เป็นชาวอะไร คงมีเพียงแต่สังคมภายนอกเท่านั้น ที่พยายามแยกคนเหล่านี้ออกจากสังคม เป็นพวกชาวเขา มิใช่ชาวเรา
หากเป็นเช่นนี้ แล้วเราจะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร.