ตอน : การจัดการที่อยู่
ปกติแล้วพื้นที่ใดที่คนเข้ามาเที่ยวมากๆ ก็จะมีนักธุรกิจเข้ามาทำธุรกิจที่พัก โรงแรม ร้านค้า ร้านอาหาร ฯลฯ Demand Supply ก็จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผลก็คือ กายภาพรวมของพื้นที่นั้นเปลี่ยน (อาคารหน้าตาไม่เข้าพวก ตัวอาคารประจัดกระจายไม่มีแบบแผน) สภาพแวดล้อมเสื่อมโทรม ปริมาณขยะในพื้นที่ล้น และหากชุมชนไม่แข็งแรงพอ ผลกระทบที่เกิดขึ้นก็จะทำให้พื้นที่นั้นสูญเสียต้นทุนที่ดีไป ดังเช่นเยี่ยงเมืองเชียงคาน จ.เลย และคีรีวง จ.นครศรีธรรมราช
ผมเองเมื่อเข้ามาที่สังขละบุรี พื้นที่ Hit Hot ด้านการท่องเที่ยว ก็อดหวั่นไม่ได้ว่า เมืองที่สวยงามแบบนี้ จะเปลี่ยนไปไหม มันคงไม่ดีสักเท่าไรที่คนนอกจะเข้ามาทำธุรกิจและครอบครองที่ดินมากกว่าคนในพื้นที่….ผมนอนที่ Homestay ในสังขละบุรี (ฝั่งมอญ) 1 คืน พร้อมกับความคิดแบบนั้นที่อยู่ในใจ รุ่งเช้าหลังจากเก็บของเตรียม Check out เสร็จ ผม (M) ก็ได้พูดคุยกับพี่ปุณย์ (P) เจ้าของที่พัก Home stay แห่งนี้
M : ที่นี่มีนักท่องเที่ยวเยอะขนาดนี้ คนนอกเขาไม่มาซื้อที่ทำ Resort อยู่ฝั่งนี้เหรอครับ
P : ซื้อไม่ได้หรอกค่ะ เพราะที่เป็นของวัด เราก็อาศัยอยู่ในพื้นที่วัด
M : อ้าว !! เหรอครับ (หน้าตกใจมาก) แล้วแบ่งสิทธิ์กันอย่างไรเหรอครับ
P : เราก็ซื้อขายกันแต่เป็นการซื้อขายเพียงสิทธิ์เท่านั้น สังเกตดูนะคะว่าคนมอญเขาจะอยู่กับวัด วัดอยู่ไหน คนมอญอยู่นั่น ฝั่งมอญเลยไม่ค่อยมีคนนอกเป็นเจ้าของไงคะ
ผมคิดในใจ โอ้โห!! นี่มันเป็นระบบการจัดการบนฐานชุมชนที่ได้ผลมาก นั่นหมายความว่า สิ่งที่จะทำให้พื้นที่นั้นเละหรือไม่ ขึ้นอยู่กับปัจจัยภายใน (คนในพื้นที่) เพียงอย่างเดียว เขาเล่าให้ผมฟังต่อว่า เขายังมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกันอยู่ มีการพูดคุยกันอยู่ตลอดเวลา ทำให้พื้นที่นั้นยังอยู่ในสภาพที่เขาควบคุมได้
มันดีจริงๆเลย ผมไม่เคยเจอการจัดการบนฐานชุมชนแบบนี้มาก่อน ปัจจุบัน (9/11/2561) จึงเป็นการจัดการที่ได้ผล แต่หากลองคิดไปถึงอนาคต คนมอญจะเปลี่ยนไปเช่นไร เมืองก็ย่อมเปลี่ยนตามคน ดังนั้นอาจทิ้งคำถามที่ว่า คนมอญจะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและจัดการกับมันอย่างไร ?
ตอน : การจัดการเรียนรู้ ศูนย์การเรียนชุมชนศรีสุวรรณสะเนพ่อง
ศูนย์การเรียนชุมชนศรีสุวรรณสะเนพ่อง ทำการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับ ม.1-ม.6 มีเด็กโดยรวมประมาณ 35 คน (ข้อมูลเมื่อ 9/11/2561) ยังไม่มีเด็กที่อยู่ในระดับชั้น ม.6 มีบุคลากร 5 คนได้แก่ ผอ. ครูซา ครูชาติ ครูเฟิร์น ครูไผ่
ศูนย์การเรียนฯ ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่อุทยานฯทุ่งใหญ่นเรศวร ดั้งนั้นสาธารณูปโภคจึงไม่สามารถเข้าไปได้เรียกได้ว่า ไม่เห็นสายไฟเสาไฟฟ้าเลยล่ะครับ พอชาว storyteller ย่างกรายเข้าไปในไปในซอยทางเข้าหมู่บ้านปุ๊บ อย่างกะมีม่านบาเรียกันสัญญาณโทรศัพท์ไว้ เข้าปุ๊บหายปั๊บ...อุ่ยยย ความสนุกกำลังจะเริ่มขึ้น
เข้าไปลึกอยู่เด้ออออ หมู่บ้านอะ….รถ 4 wheel สูงเท่านั้นที่จะเข้าไปทางที่สมบุกสมบันนั้นได้….ลุยผ่านแม่น้ำด้วยจ้าาาา มันสนุกสุดๆอย่างกะเถื่อนทราเวล 5555
ผมได้พูดคุยกับครูซา ครูซาเล่าว่า แต่ก่อนพื้นที่นี้ไม่มีอะไรเลย ศูนย์การเรียนเราก็ช่วยกันสร้างกับเด็ก….ผมเองก็เริ่มสอนเองทั้งที่ไม่ได้จบปริญญาอะไรนะ แต่เราอยากให้เด็กๆมีความรู้จึงออกไปเรียนรู้แล้วกลับมาสอน (หูยยยย ไอ้แมคก็ซึ้งใจไปอีก) พอโรงเรียนเริ่มโตก็เริ่มรับสมัครครูจิตอาสา แต่ปัญหาคือครูที่เข้ามาสอนแป๊ปๆ ไม่อยู่นานทำให้การสอนไม่มีประสิทธิภาพ ตั้งแต่นั้นเราจึงรับครูที่ประจำ……ผมเห็นถึงเบื้องหลังของโรงเรียนคือการต่อสู้จริงๆ
โปรแกรมการเรียน
ม.1-ม.3 ปรับพื้นฐาน
ม.4. เดินทางเปิดโลกเรียนรู้
ม.5 ทำโครงการที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต
ม.6 ส่งเด็กฝึกอาชีพตามที่สนใจ
ดูสิๆ เห็นโปรแกรมการเรียนของเขาแล้วผมก็รู้สึกอยากเรียนแบบนี้จังเลย เขามีการจัดการเรียนการสอนที่ถูกคิดบนฐานชุมชน โดยเฉพาะตอน ม.4 นะ เด็กจะได้ไปเรียนรู้โลกกว้าง ครูซาบอกว่าแหล่งเงินสนับสนุนมาจากฝรั่งชาว swiss และเราก็ต้องรายงานเขาว่าเด็กได้ไปทำอะไรมาบ้างส่วนโครงการ ม.5 นั้นก็น่าสนใจที่เด็กจะได้รู้ต้นทุนชุมชนตนเอง โครงการที่เด็กทำก็จะมี เก็บเมล็ดพันธุ์พืชอาหารพื้นถิ่น เก็บเมล็ดพันธ์ข้าวพื้นถิ่น เป็นต้น น่าสนใจมากครับที่เด็กจะเป็นคนเก็บมรดกที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตที่เป็นอยู่ อยากกลับไปทำแบบนี้ที่บ้านจังโว้ยยยย ม.6 ถึงแม้จะยังไม่มีเด็กที่เรียนไปถึงระดับชั้นนั้น แต่ก็มีการวางการศึกษาที่เสริมสร้างทักษะให้เด็กไปประกอบอาชีพได้ตามที่ตนเองชอบ เด็กจะถูกส่งไปเรียนรู้ตามที่ฝึกอาชีพนั้นๆ
ตารางเรียนตารางชีวิต
วันจันทร์-พฤหัส
05.00-06.00 น. ตื่นทำธุระส่วนตัว
06.00-07.00 น. ทำอาหาร
07.00-08.00 น. ทำเวรความสะอาด
08.00-08.40 น. จิตศึกษา สุ(ฟัง) / จิ(คิด) / ปุ(ถาม) / ลิ(เขียน)
08.40-12.00 น. เรียนวิชาหลัก ไทย,อังกฤษ,วิทย์,คณิต
12.00-12.50 น. พักทำอาหาร ทานข้าวกลางวัน
12.50-13.20 น. Body scan
13.20-15.50 น เรียนรู้แบบ PBL(Problem-Based Learning)
15.50-16.00 น. ทำเวรความสะอาด
16.00-16.20 น. Home room / AAR (After Action Review)
หลังจาก 16.20 น ทำอาหาร พักผ่อน เข้านอน
วันศุกร์
05.00-06.00 น. ตื่นทำธุระส่วนตัว
06.00-07.00 น. ทำอาหาร
07.00-08.00 น. ทำเวรความสะอาด
08.00-08.40 น. จิตศึกษา สุ(ฟัง) / จิ(คิด) / ปุ(ถาม) / ลิ(เขียน)
08.40-12.00 น. ภาษากะเหรี่ยง
12.00-12.50 น. พักทำอาหาร ทานข้าวกลางวัน , สวดมนต์กะเหรี่ยง
12.50-13.20 น. Body scan
13.20-15.50 น วิถีกระเหรี่ยง , มรดกกะเหรี่ยง
15.50-16.00 น. ทำเวรความสะอาด
16.00-16.20 น. Home room / AAR (After Action Review)
หลังจาก 16.20 น ทำอาหาร พักผ่อน เข้านอน
วันเสาร์
05.00-06.00 น. ตื่นทำธุระส่วนตัว
06.00-07.00 น. ทำอาหาร
07.00-12.00 น. พักผ่อน
12.00-13.00 น. พักทำอาหาร ทานข้าวกลางวัน
13.00-16.00 น. สร้างประโยชน์ให้กับโรงเรียน
หลังจาก 16.00 น ทำอาหาร พักผ่อน เข้านอน
วันอาทิตย์
05.00-06.00 น. ตื่นทำธุระส่วนตัว
06.00-07.00 น. ทำอาหาร
07.00-12.00 น. สร้างประโยชน์ให้กับโรงเรียน
12.00-13.00 น. พักทำอาหาร ทานข้าวกลางวัน
13.00-16.00 น. พักผ่อน
หลังจาก 16.00 น ทำอาหาร พักผ่อน เข้านอน
ผมชอบวิชาจิตศึกษามาก (ฟังจากที่เด็กเล่า) เพราะมันเป็นการทำให้เด็กคิดอย่างเป็นระบบ เด็กเล่าว่าเขานั่งกันเป็นทั้งวงใหญ่ บางทีก็วงย่อย ผลัดกันตั้งคำถามตั้งประเด็น และไล่ตอบไปทีละคน เด็กก็จะมีทักษะครบทั้ง สุจิปุลิ
พอเด็กเล่าว่ากิจกรรม Body scan เป็นการนอน แล้วฟังที่ครูพูดไปเรื่อยๆ แน่นอนว่าชาว storyteller อยากทำกิจกรรมนี้เป็นพิเศษจนออกหน้าออกตา 5555 (แต่ก็ไม่มีโอกาสได้ทำ ซึ่งภายหลังเราเรียกการงีบหลับระหว่างวันว่าเป็น Body scan ไปด้วย 5555) ด้วยความข้องใจนั้น ผมจึงถามครูซาถึงกิจกรรมนี้ว่าจริงๆมันมีแนวคิดอย่างไร ครูซาบอกว่า เป็นกระบวนการที่ทำให้คนกลับมาสำรวจตัวเอง รู้คุณค่าตนเอง และขอบคุณตนเองขอบคุณในสิ่งที่ตนเองมี เช่น ขอบคุณมือของเราที่ทำให้เราหยิบจับได้สะดวก ขอบคุณเท้าของเราที่ทำให้เราไปในที่ต่างๆได้ ขอบคุณผมของเราที่ช่วยป้องกันความร้อนจากแดด…..ประมาณนี้
มันดีจริงๆ พอย้อนกลับมาคิดถึงตัวเองก็เกิดคำถามขึ้นว่า แล้วเราขอบคุณตัวเองบ้างไหม ครั้งสุดท้ายเมื่อไร เรารู้คุณค่าตัวเองหรือยัง ??
PBL (Problem-Based Learning) เรียนรู้บนโจทย์โดยที่จะมีวิธีคิดเป็นขั้นตอนดังนี้
ปัญหา > ผลกระทบของปัญหา > วิธีแก้ไขปัญหา > ผลลัพธ์จากการแก้ไข โดยวิชานี้จะถูกเรียนแบบบูรณาการแต่ประเมินผลแยกรายวิชา ซึ่งครูที่สอนจะเป็นผู้ที่ออกแบบการเรียนการสอนสนุกๆแบบนี้ทุกเทอม
ผมประทับใจกับการเรียนการศึกษาที่นี่มาก เขาตั้งต้นคิดโปรแกรมการเรียนการศึกษาบนฐานชุมชน เราจึงได้เห็นการเรียนรู้และการศึกษาที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชุมชนอย่างแท้จริง แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากที่ศูนย์แห่งนี้ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโรงเรียนในความดูแลของรัฐ การหาเงินที่จะมาคอยสนับสนุนนั้นเราต้องพยายามกันมาก ผมสรุปแหล่งทุนสนับสนุนจากการฟังที่ครูซาเล่าได้ 3 แหล่งคือ 1.แหล่งทุนจากบุคคลอื่น (คู่สามีภรรยาฝรั่ง **หากจำผิดขออภัย) 2.จากมูลนิธิต่างๆ ซึ่ง CYF เป็นพี่เลี้ยงร่วมให้คำปรึกษาด้วย 3.จากองค์กรเอกชน และหน่วยงานอื่นๆที่ครูได้ทำโครงการเสนอไป
เขียนมาถึงตรงนี้แล้วผมตื้นตันใจถึงจิตวิญญาณและความตั้งใจของครูมาก (ร้องไห้แป๊ป TT) ที่นี่จะเป็นแรงบันดาลใจให้ผม ขอบคุณที่สะเนพ่องยังมีการศึกษาดีๆแบบนี้อยู่นะครับ
ตอน : คำสอนในตำนาน
ครูซามองไปยังเบื้องล่างหมู่บ้านแล้วเล่าให้ชาว storyteller ฟังว่า
งูใหญ่จะเลื้อยเข้าหมู่บ้าน คือ ………………………………………………...
ดอกเห็ดจะผุดขึ้นเยอะ คือ ………………………………………………...
………………………………………… คือ …………………………………………………
ปล.ข้อสุดท้ายให้เดาว่าเป็นอะไร และ คืออะไร
โห!! ผมก็มีคำสอนคล้ายๆแบบนี้อยู่เหมือนกันครับครู ฟังของผมบ้างนะ (แมคพูด)
ทางดีไม่มีคนเดินจะมีแต่งูที่ใช้ทางนั้น งู คือ………………………………………………
เถาวัลย์จะพันเข้าบ้าน เถาวัลย์ คือ ……………………………………………..
เราจะมีหูทิพย์ตาทิพย์ หูทิพย์ตาทิพย์ คือ ……………………………………………..
ปล.อยากให้ร่วมสนุกก่อนนนน
คนสมัยก่อนเขารู้ได้อย่างไรนะว่าไหมครับครู เรื่องนี้ผมได้เรียนรู้ว่า คำสอนในตำนานระหว่างชาวกะเหรี่ยงและผมที่เป็นชาวไทญวนนั้น อาจมีวัฒนธรรมร่วมบางอย่าง แล้วเราล่ะ จะคาดเดาอนาคตดังที่เหล่าบรรพชนเขาคาดคะเนไว้ได้ไหมนะ
เฉลย
งูใหญ่จะเลื้อยเข้าหมู่บ้าน คือ ถนน
ดอกเห็ดจะผูดขึ้นเยอะ คือ เสาไฟฟ้า
น่าจะเป็นเรื่องใกล้ๆกันหูทิพย์ตาทิพย์ คือ โทรศัพท์ , อินเตอร์เน็ต
ทางดีไม่มีคนเดินจะมีแต่งูที่ใช้ทางนั้น งู คือ ลายยางรถยน ก็คือบนถนน จะมีแต่รถ
เถาวัลย์จะพันเข้าบ้าน เถาวัลย์ คือ สายไฟฟ้า
เราจะมีหูทิพย์ตาทิพย์ หูทิพย์ตาทิพย์ คือ โทรศัพท์ , อินเตอร์เน็ต
ตอน : เห็นว่าเป็นแบบไหน
ตอน : เห็นว่าอย่างไร
Status “หนูอยากมีเพียงพี่น้อง 2 คนจังเลยค่ะ”
Comment โอ้ยยยย มีคนเดียวก็พอละ จะได้มีเปลืองค่าใช้จ่าย การที่จะมีลูกสมัยนี้ใช้เงินเยอะนะ
จะมีกี่คนก็ได้ แล้วมีเลี้ยงไหวก็ OK
ดูจากที่เขาโพสเขาอาจจะมีมากกว่า 2 คน
แล้วตอนนี้บ้านเธอมี 8 คนเหรอ จะเอาไปเป็นแรงงานเกษตรรึไง
อย่าไปล้อเขาสิ...เขาอาจอยากระบาย
คิดอะไรอยู่ค่ะ ทุกคนก็มีพี่น้อง 2 คนกันทั้งนั้น
ไม่ใช่ บ้านเรามีตั้ง 3 คนนะ
เออ...คนจีนเขาจะมีลูกเยอะๆนะ เอาไว้เป็นแรงงาน
คนอื่นส่วนใหญ่อาจจะมีลูกเพียง 1 คนก็ได้นครับ
อยากมีก็เรื่องของคุณสิคะ ฉันอยู่ของฉันคนเดียวก็ดี เป็นลูกรักตลอดไป
เกลียดอีพวกลูกรัก หมั่นใส้
ทำไมค่ะ !! แม่ไม่รักเหรอคะ อีด_ก
บางทีเขาอาจจะมีเหตุผลอยู่ก็ได้นะครับ อย่าพึ่งไปตัดสิน
-------------------------------------------------------------------------------------
Status
Situation : เด็กสาวม.ปลาย ที่มีพี่น้องร่วม 6 คน เธอเป็นชาวกะเหรี่ยง และช่วยพ่อแม่ทำไร่บนเขาที่ไฟฟ้าเข้าไม่ถึง
“หนูอยากมีเพียงพี่น้อง 2 คนจังเลยค่ะ”
Comment แสดงว่ามีมากกว่า 2 คนละสิท่า อิอิ
จะมีกี่คนก็ได้ แล้วมีเลี้ยงไหวก็ OK
ดูจากที่เขาโพสเขาอาจจะมีมากกว่า 2 คน
เป็นอะไรรึเปล่าคะ...อยากระบายเหรอ
ไหนเล่ามาเผื่อช่วยได้
คืออย่างงี้คะ...เนื่องจากว่าครอบครัวเรามีพี่น้องเยอะ ค่าใช้จ่ายเลยเยอะตาม หนูจึงคิดว่าถ้าหากเรามีพี่น้อง 2 คนเหมือนคนในเมือง แม่อาจจะไม่ต้องลำบากขนาดนี้...หนูยิ่งเป็นน้องเกือบคนสุดท้องด้วย อาจจะช่วยเหลือแม่ไม่ได้มาก....มีอีกหลายอย่างที่อยากระบายค่ะ แต่ตอนนี้ต้องเข้าหมู่บ้านละ จะไม่มีคลื่นเน็ต วันหลังมาเล่าใหม่
ตามค่ะ
เอาใจช่วยนะคะ
ใช่ มีพี่น้องเยอะไม่ดีหรอก เดี๋ยวแย่งมรดกเหมือนเลือดข้นคนจาง
แต่เขาทำไรอยู่บนเขานะ ไม่มีแย่งมรดกหรอกมั้ง
อ่านดูดีๆ ประเด็นมันไม่ได้เกี่ยวกับแย่งมรดกเลยนะคุณณณณ
คนละเรื่องละ
5555 แวะมาขำ
แล้วมาบอกทำไมเหรอ ต้องการอะไรจากสังคม
มึงงะ ต้องการอะไรจากสังคม อยู่ๆก็คอมเม้นแรง
คอมเม้นแรง ตอบก็แซบมาก รอตีกัน