"Raising and caring for children is more like tending a garden :
it involves “a lot of exhausted digging and wallowing in manure” to create a safe,
nurturing space in which innovation, adaptability and resilience can thrive.”
The Gardener and the Carpenter
“การศึกษา” โดยพื้นฐานแล้ว มุ่งก่อให้เกิดการเรียนรู้ การพัฒนาและเกิดประโยชน์ต่อผู้เรียนที่มีความหลากหลาย ดังนั้นโจทย์สำคัญก็คือจะทำอย่างไรที่จะทำให้เด็ก เยาวชน และคนรุ่นใหม่ เข้าถึงสิทธิเสรีภาพในการเรียนรู้และเติบโตงอกงามของตนเอง เกิดการเรียนรู้อย่างมีความสุข เรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต ขณะเดียวกันก็สามารถส่งเสียง สื่อสารมุมมองความคิด ความเชื่อ ความต้องการ และเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน และพัฒนาสังคมในฐานะพลเมืองได้ ...จากฐานความเชื่อเช่นนี้ Storytellers In Journey จึงเกิดขึ้น โดยการขับเคลื่อนของ #สาธารณะศึกษา ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากแผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน (สสย.)
Storytellers คือ ใคร
Storytellers คือ คนรุ่นใหม่ที่สามารถเลือกการเรียนรู้ของตนเองได้อย่างอิสระตามความสนใจ (passion) และความตื่นรู้ของตนเอง (Insight)
คือ กระบวนการที่เชื่อมั่นว่า หากผู้เรียนสามารถเลือกการเรียนรู้ของตนเองได้แล้วนั้น การคืนอำนาจการเรียนรู้เช่นนี้ จะนำไปสู่การเติบโตงอกงามของผู้เรียน
คือ นักเล่าเรื่องที่ก้าวออกจากชั้นเรียนไปเรียนรู้นอกห้องเรียน ผลิตสื่อจากการเรียนรู้ของตนเอง สื่อที่มุ่งหมายสร้างการเรียนรู้กับสังคม สื่อที่มุ่งหมายสร้างคุณค่าใหม่ให้แก่การศึกษา ...การศึกษาในความหมายของการเรียนรู้อย่างอิสระ
Storytellers In Journey จึงเป็นการเปิดพื้นที่เรียนรู้สาธารณะสำหรับเด็ก เยาวชน และคนรุ่นใหม่ 20 คน เป็นห้องเรียนในนัยยะการเป็นพื้นที่เรียนรู้ พื้นที่ปะทะสังสรรค์ทางสังคม ที่ประกอบสร้างขึ้นความแตกต่างหลากหลาย (เชื้อชาติ วัฒนธรรม โลกทัศน์ ภาษา) ระยะเวลา 2 วัน 1 คืนกับการร่วมแบ่งปันเรื่องเล่า ประสบการณ์ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้
เป็นปฏิบัติการเรียนรู้ทุกที่ ทุกเวลา ระยะเวลา 3 – 10 วัน ของ 19 นักเล่าเรื่อง (Storytellers) จากทั่วประเทศ กับพื้นที่เรียนรู้สาธารณะ 9 แห่ง โรงเรียนสาธิตชุมชนสมเด็จย่า วิทยาลัยโพธิวิชชาลัย มศว. แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่, ศูนย์การเรียนม่อนแสงดาวธรรมชาติวิทยา อ.เมือง จ.เชียงราย, อุตรดิตถ์ติดยิ้ม จ.อุตรดิตถ์, อโรคยาปลาบู่ อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม, สวนไฟฝัน อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา, ศูนย์การเรียนสะเน่พ่อง อ.สังขละ จ.กาญจนบุรี, กลุ่มยุวชนสร้างสรรค์ อ.เมือง จ.สุราษฏร์ธานี, ชุมชนไทดำ อ.เมือง จ.สุราษฏร์ธานี, ศูนย์การเรียนวิถีชุมชนไท อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช
ปฏิบัติการที่นักเล่าเรื่องทุกคนมีอิสรเสรีภาพในการเลือกการเรียนรู้ของตนเองอย่างเท่าเทียมกัน ตั้งแต่การตัดสินใจ การจัดแผนการเรียนรู้ (ความคาดหวังต่อการเรียนรู้ การออกแบบการเดินทาง และการจัดการงบประมาณ)
และสำหรับนักเล่าเรื่องบางคน ...นี่คือการออกเดินทางที่คิด ตัดสินใจด้วยตัวเองและเดินทางเพียงคนเดียวเป็นครั้งแรก
จากแผนการเรียนรู้สู่ปฏิบัติการจริง จาก Comfort Zone สู่พื้นที่เรียนรู้
นับตั้งแต่การออกเดินทางจนถึงการใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่เรียนรู้สาธารณะแต่ละแห่ง นักเล่าเรื่องได้พบเจอกับสถานการณ์ที่คาดไว้และคาดไม่ถึง ได้เผชิญกับปัญหา/ ความกลัว ที่ต้องเรียนรู้ที่จะต้องรับมือและจัดการ ได้พบเจอกับผู้คนที่มีความแตกต่าง บางพื้นที่ ผู้คนมีอัตลักษณ์ วัฒนธรรมเฉพาะ บางพื้นที่มีวิถีชีวิตและความคิด ความเชื่อที่แตกต่างออกไป ทุกขณะที่อยู่ร่วมกับความแตกต่าง การเรียนรู้ที่จะปรับทัศนคติของตนเพื่อการอยู่ร่วมกันด้วยความเข้าใจก็เกิดขึ้น
“กระบวนการเรียนรู้ที่สำคัญที่สุดของพื้นที่เรียนรู้สาธารณะ อาจไม่ใช่เนื้อหาสาระหลักสูตร หากแต่คือ วิถีปฏิบัติที่ผู้เรียนสามารถใช้ชีวิต ดำรงอยู่ร่วม ใช้ประโยชน์ร่วมโดยอิสรเสรี โดยไม่ต้องลดทอนความเป็นมนุษย์ เป็นตัวของตัวเอง พร้อมกับเคารพในความแตกต่างหลากหลาย การเข้าไปเรียนรู้ที่เกิดจากกระบวนการเช่นนี้ จะทำให้การเรียนรู้นั้นๆ ติดอยู่ในตัวตนยาวนาน”
หากหัวใจสำคัญของการเรียนรู้นั้น คือ การทลายกรอบทางความคิด หลุดจากกรอบที่มีใครตั้งให้ เช่นนี้เอง หัวใจสำคัญของปฏิบัติการ Storytellers In Journey จึงมุ่งสร้างกระบวนการเรียนรู้ และลงมือทำอย่างอิสระ เน้นจัดกระบวนการเรียนรู้ มากกว่ากระบวนการฝึกอบรม เน้นสร้างกระบวนการเรียนรู้ผ่านปฏิบัติจริงในพื้นที่เรียนรู้สาธารณะ เตรียมสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ และปล่อยให้นักเล่าเรื่องทุกคนเติบโตอย่างที่เขาต้องการ
“มนุษย์มีความริเริ่มสร้างสรรค์ ‘creativity’ ระหว่างการเติบใหญ่ขึ้นมา เด็กจึงต้องการพื้นที่อิสระเพื่อการเรียนรู้ เพื่อจินตนาการ อันนี้คือสิ่งที่ทำให้ ‘play’ “การเล่น” เป็นพื้นฐานสำคัญในการเรียนรู้ของเด็ก ดังนั้น มนุษย์โดยเฉพาะในวัยเยาว์จึงต้องการ “พื้นที่” ที่จะทดลองด้วยตัวเองเสมอ
สิ่งที่เราจะทำ คือ เตรียมสิ่งแวดล้อมที่ดีให้เขา ไม่คาดหวังกับผลลัพธ์มากนัก ปล่อยวางให้เขาได้เติบโตอย่างที่ต้องการ”