Skip to main content

หลังจากที่นอนคิดเกือบทั้งคืนว่าเราจะเก็บกระเป๋าไปพื้นที่เรียนรู้ที่ไหนดี(จากยี่สิบกว่าตัวเลือกที่ทางโครงการ storytellers in journey มีให้) เราก็ได้คำตอบสุดท้ายแล้ว พรุ่งนี้โมจะไปเสน่พ่อง! เรามีข้อมูลแค่ที่นี่เป็นศูนย์การเรียนรู้ชุมชนในป่าทุ่งใหญ่นเรศวร อยู่ที่ อำเภอสังขละ กาญจนบุรี ไม่มีสัญญาณมือถือ ไม่มีไฟฟ้า และสองอย่างสุดท้ายนี่แหละที่ทำให้ตัดสินใจไป อยากรู้ว่าตัวเองตอนที่ไลน์ไม่เด้ง ไม่มีคนโทรมามันเป็นยังไง อยากรู้ว่าการหาความสุขของคนในชุมชนนั้นเป็นยังไง ลึกๆก็กลัวนะ แม้ทางโครงการจะทำประกันไว้ให้ก็เถอะ กลัวว่าระหว่างที่เข้าไปอยู่ในนั้นที่บ้านจะมีเรื่องด่วนไหม ถ้าอาจารย์สั่งงานด่วนละ ไม่มีสัญญาณส่งอีเมล์ซะด้วย ถ้าเราป่วยตอนอยู่ในนั้นล่ะ แต่ก็มีประโยคนึงจากกัลยาณมิตรลอยมาว่า ถ้าไม่ไปครั้งนี้ก็ไม่น่าจะหาโอกาสได้อีก ชวนคนอื่นไปเขาคงไม่ไปกับเรา ใช้เวลานอนคิดว่าจะไปที่นี่ดีไหม 10 ชั่วโมง วางแผนการเดินทาง 1 ชั่วโมง และก็ออกเดินทางภายในสิบห้านาที ชนิดที่ว่าวางแผนเสร็จก็เดินไปโบกแท็กซี่เลย เป็นการวางแผนการเดินทางที่ใช้เวลาทำน้อยที่สุด และได้ออกเดินทางไวที่สุดเท่าที่เคยทำมา

ครั้งนี้จึงได้สอนกับตัวเองว่า สิ่งที่เข้าใจยากที่สุดคือตัวเอง เรื่องอื่นๆถ้าใจมันอยากไปเดี๋ยวก็จัดการได้หมด

 

สะเน่พ่อง

“สะเน่พ่องนะรึ ยายไปมาแล้ว บรรยากาศเขาดีจริงๆ” เป็นคำบอกเล่าของคุณยายคู่หูสองคนบนรถตู้โดยสาร ที่โดนพวกเราผูกมิตรเรียบร้อย หลังจากนั้นยายก็รีวิวเสน่พ่องฉบับสิบกว่าปีที่แล้วให้พวกเราฟัง ทำเอาอยากให้นาฬิกามันหมุนไวๆ อยากเข้าไปในชุมชนเร็วๆ แต่ยังไงวันนี้ก็เข้าไปในชุมชนไม่ทันอยู่ดี เพราะฉะนั้นเราจะไปเที่ยวสังขละบุรีกันก่อน

ไฟสีส้มเป็นร้อยๆดวงประดับ เหมือนดงหิงห้อยเมื่อมองไกลๆ ทำให้รู้ว่ารถตู้ใกล้ถึงจุดหมายแล้ว หลังจากที่วิ่งลัดเลาะภูเขามานาน คนที่นี่ไม่พลุกพล่าน แต่ก็ไม่น้อยให้วังเวง อากาศเย็นกำลังดี

ตอนเช้าพวกเราออกมาตักบาตรหน้าโฮมสเตย์ มีนักท่องเที่ยวและชาวบ้านรอคิวใส่บาตรกันยาวเหยียด ไม่มีบ้านหลังไหนที่หน้าบ้านไม่มีคนรอใส่บาตรเลย ที่น่าสังเกตคือที่นี่เขาไม่ทำกับข้าวใส่บาตรกัน ของที่ถวายพระจะมีแค่ข้าวสวยกับอาหารแห้งเท่านั้น อ้าวและพระท่านจะฉันท์ข้าวกับอะไรล่ะ คุณน้าเจ้าของบ้านได้เล่าให้ฟังว่า ที่นี่เขาจะมีเวรทำกับข้าวถวายพระ ทำเป็นหม้อๆไปถวายที่วัด ส่วนอาหารแห้งนี่พระจะเอาไปให้ชาวที่ขาดแคลน พวกเราตักบาตรเป็นธรรมเนียมอยู่แล้ว ไม่ได้ทำให้เป็นกิจกรรมนักท่องเที่ยวเฉยๆหรอกนะ ระหว่างที่พระบิณฑบาตรก็จะมีทหารคอยช่วยยกช่วยแบกให้ บ้านแต่ละหลังจะอยู่ติดๆกัน และไม่มีรั้วบ้านเลย แต่กลับรู้สึกปลอดภัยกว่ามีรั้วหลายๆชั้นอีก บรรยากาศที่นี่ทำให้รู้สึกถึงการอยู่ร่วมกันของทุกสถาบันอย่างกลมกลืน กลมกลืนแบบเป็นเนื้อเดียวกัน ไม่ใช่มีสำนักงานอยู่ข้างๆกัน หรือมีโลโก้ข้างๆกันในป้ายไวนิลที่เห็นคนชอบทำกันบ่อยๆ 

หลังจากนั้นเราก็เดินข้ามสะพานมอญ แม้ว่าวันนี้ไม่ใช่วันหยุด แต่ก็ยังมีนักท่องเที่ยวเยอะอยู่ หมอกลอยเหนือแม่น้ำที่ทอดยาวพร้อมทั้งมีภูเขาขนาบซ้ายขวา โคตรคุ้มที่ตื่นเช้ามาจริงๆ สงสัยต้องนั่งเรือแล้วล่ะ มาทั้งที 
แล้วเราจะไป....ล่องเรือกัน

เรือ

"เรือ" เป็นยานพาหนะประเภทหนึ่งที่มีเสน่ห์มาก คนที่อยู่ในสิ่งนี้ จะสัมผัสกับบรรยากาศของเส้นทางได้อย่างเต็มอิ่ม โดยเฉพาะเรือลำนี้ ลำที่พวกเรานั่ง และมันกำลังพาเราไปดูต้นกำเนิดของแม่น้ำแควน้อย จุดที่แม่น้ำสามสาย(ซองกาเรีย,บีคลี่,รันตี)มาเจอกัน ก่อนที่จะถึงวัดจมน้ำ คุณลุงไกด์ดับเครื่องยนต์เพื่อไม่ให้คลื่นไปกระทบกับวัดจมน้ำ เป็นช่วงเวลาที่ทุกอย่างสงบประมาณสองนาที เหมือนเปิดจังหวะให้เราฟังและซึมซับบรรยากาศของกลางแม่น้ำ แค่นั่งนิ่งๆ ได้ยินทั้งเสียงนก เสียงน้ำไหล เสียงตามสายจากชุมชนไกลๆ

หลังจากนั้นคุณน้าเริ่มเล่าประวัติของวัดนี้ให้ฟัง มันสนุกดีนะ มันเป็นการฟังที่ต้องนึกภาพตามมากๆ เพราะที่เห็นตรงหน้า มีเหลือแค่ยอดฉัตร กับ ซากกำแพง(ที่มีแค่สามด้าน)สูงเหนือน้ำมาสักครึ่งเมตร หลังจากนั้นคุณน้าก็เปิดรูปในมือถือที่ถ่ายมาจากภาพเก่าสักที่ ในนั้นเป็นรูปอุโบสถหลังนี้ สมัยที่น้ำยังไม่ท่วม ในภาพยังมีคนมาทำบุญ มีรถจอดอยู่ พอเห็นนี่ยังคิดเลยว่ารูปนี้คือกลางแม่น้ำที่เรากำลังนั่งอยู่ในเรือจริงหรอ ถ้าบอกว่าคนละซีกโลกอาจจะเชื่อง่ายกว่า แต่ขณะที่พูดคุยคุณลุงไม่ได้แสดงสีหน้าที่เครียด หรือโมโหอะไร แต่กลับบอกว่า”เราก็ต้องอยู่ได้สิ ถ้าเขาปล่อยน้ำลงไป น้ำที่นี่ลดก็จริง แต่นาข้าวคนข้างล่างก็น้ำท่วม เราก็เห็นใจเขาน่ะ ถ้าไม่มีเขาใครจะปลูกข้าวให้เรากิน”

การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิประเทศทำให้คนที่นี่ต้องปรับตัว ทั้งตำแหน่งที่อยู่ และวิถีชีวิต รวมทั้งการประกอบอาชีพ ถึงแม้จะต้องปรับตัวมากมายจากช่วงเวลาที่เคยเติบโตมา แต่คำตอบของคุณลุงก็ยังแสดงถึงความเห็นอกเห็นใจ หลายครั้งสถานที่ที่เราไป เราไม่ได้ชื่นชมความสวยงามของสถานที่ได้เพียงอย่างเดียว ทุกๆอย่างมันทำให้เราหลงเสน่ห์ในสถานที่ได้หมด

ชิน

หากสัญญาณ wifi ช้าหรือไฟฟ้าดับไปซักครึ่งชั่วโมง อาจจะสร้างความหงุดหงิดให้เราบ่อยครั้ง อาจเป็นเพราะว่าเรามีทรัพยากรเหล่านี้ให้ใช้อย่างบ้าคลั่ง พึ่งพิงจนเป็นปัจจัยที่ห้าของชีวิต สรุปแล้วมันผิดที่อุปกรณ์ขัดข้อง หรือผิดที่เราเคยชินไปกับการหาความสุขจากสิ่งเหล่านี้จนเป็นนิสัย 

ชุมชนที่นี่มีสถานที่ที่สามารถใช้ไฟฟ้าได้เพียงแห่งเดียว นั่นคือศูนย์การเรียนรู้ชุมชน เป็นไฟฟ้าที่มาจากการติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ แต่ไฟฟ้าของอาคารนี้มีความหมายมาก เอาไว้ใช้ให้นักเรียนอ่านหนังสือบนหอพัก หรือไม่ก็ชาร์จวิทยุสื่อสาร และให้แสงสว่างเวลาเข้าห้องน้ำตอนกลางคืน ขนาดคิดจะชาร์จโทรศัพท์ยังรู้สึกผิดเลย เก็บไฟฟ้าไว้ทำประโยชน์อย่างอื่นอาจจะมีประโยชน์มากกว่ามือถือ ถ้าวันไหนที่ใช้ไฟฟ้ามาก พอตกตอนกลางคืนไฟฟ้าที่เก็บไว้ก็จะหมด 

เช่นเดียวกับสัญญาณมือถือ มีหลายครั้งที่เราหงุดหงิดตอนที่โหลดอะไรสักอย่างช้า หรือดูการ์ตูนแล้วสะดุด พอมาอยู่กับชุมชนที่นี่เท่านั้นแหละ เออ เห้ย เรามีของพวกนี้ใช้จนฟุ่มเฟือยมาก มากจนไม่เห็นคุณค่าของมัน ครูที่นี่ไม่ได้ใช้สัญญาณเพื่อไถ instagram หรือ Twitter และที่นี่ก็ไม่มีเหลือใช้ขนาดนั้นด้วย เมื่อไหร่ที่ครูจำเป็นต้องใช้สัญญาณเพื่อโหลดเอกสารการเรียน หรือสื่อการเรียน คุณครูต้องเดินทางออกไปข้างนอกหมู่บ้านและโหลดไฟล์มาทำสื่อให้นักเรียน ปกติโทรศัพท์ของครูจะวางประจำอยู่ในจุดที่มีสัญญาณ(แค่ขีดสองขีด) อาจจะเป็นกลางสนามฟุตบอล หรือข้างเตาแก๊สในครัว ถ้าจะมีหน่วยงานข้างนอกติดต่อมา แล้วตอนนั้นมีเด็กวิ่งเล่นอยู่แถวนั้นพอดี ก็นับว่าโชคดีไป เด็กนักเรียนจะวิ่งไปบอกครูที่ทำธุระอยู่ให้มารับโทรศัพท์

เวลาพักของน้องๆที่นี่จึงไม่มีอะไรต้องพึ่งพิงปัจจัยภายนอกเลย น้องมักจะนั่งคุยกัน ร้องเพลงด้วยกัน เต้นด้วยกัน ตอนที่เจอภาพแบบนี้มันก็เป็นภาพวิถีชีวิตหนึ่งที่น่ารักดีนะ แต่มันก็สะกิดใจตัวเอง ให้รู้ตัวเหมือนกันว่าเราเคยตัวกับการหาความสุขของสิ่งเหล่านี้มากเกินไป แล้วเราก็ไม่เห็นคุณค่าของมันมากกว่าที่ควรด้วย เรารู้สึกเฉยๆ ถ้าเรื่องที่เราเรียนมีคอร์สออนไลน์ในยูทูปให้นั่งเหยียดขาเรียนที่หอแบบสบายๆ เรารู้สึกธรรมดาตอนที่เรามีไฟให้ต้มน้ำร้อนกินมาม่า หรือจะใช้เท่าไหร่ก็ได้ การไปเสน่พ่องได้สอนว่า เราควรใส่ใจกับคุณค่าของสิ่งที่เรามีอยู่ ไม่ว่ามันจะเป็นอะไรก็ตาม

 

บทเพลงที่เป็นมากกว่าบทเพลง

“ความกลัว” แม้ว่ามันอาจจะเกิดจากการจินตนาการของเราก็จริงและหลายคนคงเข้าใจดี ว่ามันเป็นความรู้สึกที่ไม่มีใครอยากเจอบ่อยๆ ภาพรถกระบะที่มีพวกเรานั่งท้าย กำลังเดินทางบนถนนลูกรัง ไม่มีแสงสว่างใดนอกจากดวงจันทร์ สองข้างทางเป็นธรรมชาติที่สมบูรณ์ของทุ่งใหญ่นเรศวร(ตอนสี่ทุ่ม)ยังติดตา ขอบเขตของความมืดที่ยาวไกลจนประมาณไม่ได้ มองไปด้านไหนก็เห็นเหมือนมีกำแพงสีดำสนิท มาประชิดกับรถที่เรากำลังนั่ง มีเพียงอย่างเดียวที่สามารถหยุดความกลัวได้คือ “บทเพลง” 

แล้วบทเพลงที่ว่ามันจะต้องเพราะขนาดไหนหรอ ขึ้นท็อปชาร์จเลยรึเปล่า อันนี้เราก็ตอบไม่ได้หรอกนะ เราไม่ใช่คอดนตรี แต่ที่เรารับรู้ได้คือความรู้สึกของคนร้องที่เราได้สัมผัส เพลงร้องที่ผู้ร้องรับรู้ เข้าใจความหมายที่ลึกซึ้ง เนื้อเพลงที่ถูกแต่งจากคนในชุมชนและหลอมหลวมให้คนที่ขับร้องเป็นหนึ่งอันเดียวกัน เราคิดนะ ว่าคนร้องเขาอาจจะไม่ได้คิดเยอะเหมือนเรา แต่ในฐานะคนนอกที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่คนนึง พอไปนั่งฟังแล้วฟังแล้วยังไงก็ไม่เบื่อ ตลอดระยะเวลาสองชั่วโมงจากหมู่บ้านหนึ่งไปหมู่บ้านหนึ่ง น้องร้องเพลงตั้งแต่รถสตาร์ทยันดับเครื่องยนต์ ทุกคนสนุกและจดจ่อกับการร้องเพลง เหมือนอยู่ในคอนเสิร์ตที่ทุกคนมีอารมณ์ไปกับเพลงร่วมกัน แต่แค่ไม่มีไมค์เสียงดังๆ กับแสงไฟจ้าให้แสบตา บางทีคุณค่าของเพลง ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความถูกต้องของตัวโน๊ต หรือจำนวนคนฟังที่เป็นล้านๆคน แต่อาจจะขึ้นอยู่กับเพลงนั้นมีผลกระทบต่อวิถีชีวิตคนมากเท่าใด

 

รีวิวหมา!

ลักษณะหนึ่งของทาสหมา คือจะชอบหมาทุกที่ ไม่ว่าไปที่ไหนก็จะอยากเล่นกับเจ้าสี่ขาชนิดนี้ การเดินทางครั้งนี้ก็เช่นกัน เราได้สังเกตุหมาทุกสถานที่ที่เราไป หมาในหมู่บ้านนี้มีนิสัยที่เฉพาะตัวมาก เริ่มจากการเดินเข้ามาจอแจ แล้วก็กระดิกหาง เหมือนว่ารู้จักกันมานานแล้ว เป็นแบบนี้เกือบทุกตัว หรือเวลาที่เราจะเดินไปไหนในหมูบ้าน หมาก็จะไปด้วย ไปด้วยในที่นี้คือไปกับเราด้วย เราแวะเขาแวะ เราไม่แวะเขาไม่แวะ ถ้าเราเดินช้าเขาหยุดรอ ถ้าเราเดินไวเขาจะวิ่งตามให้ทัน เป็นบอดี้การ์ดระดับพรีเมี่ยมได้เลย หน้าตาของหมาที่นี่จะคล้ายๆกัน เดาว่าคงจะเป็นญาติๆกัน และที่สำคัญคือ มันไม่เห่า! ปกติหมามันก็ต้องเห่าคนแปลกหน้าใช่ไหม หมาที่นี่เดินผ่านแล้วสามารถเข้าไปเล่นด้วยได้เลย มากสุดถ้าเขาไม่ถูกใจเรา เขาก็จะเดินหนี ระดับเฟรนด์ลี่นี่สิบดาว เราเลยถามชาวบ้านว่าหมาที่นี่ไม่เห่าหรอคะ เขาบอกว่าตอนกลางคืนถ้ามีคนมาก็เห่าอยู่น่ะ 
 

มีทริปอยู่เช้าวันนึง เราจะไปดูพระอาทิตย์ขึ้นที่หน้าผา ออกเดินทางประมาณตีห้ากว่าๆ หมาเจ้าก็ไปด้วย ไม่นอนตื่นสายเหมือนหมาที่เลี้ยงไว้ที่บ้าน เดินป่า ปีนเขา หมาก็ไม่เกี่ยงที่จะตามไป แต่ติดอยู่อย่างนึง มันชอบวิ่งสกัดขา แล้วต้องเป็นทางชันๆที่เดินเฉยก็ลำบากแล้วด้วยนะ ถ้าช่วงทางที่ง่ายๆนี่ไม่แซง ต้องวิ่งแซงตรงทางที่มันผาดโผด ณ จุดนั้นอยากกินวุ้นแปลภาษาของโดเรามอน แล้วจะได้ถามว่า หมาเจ้าคิดอะไรอยู่
 

ถึงอย่างไรก็ตามหมาที่นี่ก็มีนิสัยน่ารักใช้ได้ แม้จะมีหมัดประมาณแสนล้านๆตัว และที่สำคัญ มันเล่นกับกล้องเราทุกตัว ถ่ายรูปง่ายมาก หมาที่เลี้ยงยังไม่เชื่องขนาดนี้เลย อารมณ์คนกับหมาที่นี่ไม่เหมือนสัตว์เลี้ยง เหมือนบัดดี้กันมากกว่า ไปไหนไปด้วย

มิติของการบริจาค

การซื้อเสื้อผ้าซักตัว ไม่ได้เป็นเรื่องยากหรือปัญหาอะไร สำหรับวัยรุ่นอย่างเราๆ เพราะซื้อมาก็ใส่ได้หลายครั้ง ตัวนึงมีอายุการใช้งานที่นาน สามารถใส่ได้จนคุ้มราคา เบื่อก็เอาไปขายหรือบริจาค การเดินทางครั้งนี้ถือว่าโชคดีมากๆ เราได้ไปเห็นปลายทางของเสื้อผ้าที่พวกเราเคยบริจาค เพราะวันที่เราไปเป็นวันเดียวกันที่มีคณะจากข้างนอกนำของมามอบให้ชุมชน เสื้อผ้าที่ถูกขนมาบริจาคมันเยอะมาก เยอะเกินความต้องการ เยอะระดับที่ว่าถ้ามีราวแขวนพอก็สามารถเปิดตลาดได้เลย มองกลายๆก็เหมือนว่าเป็นการขนขยะขึ้นภูเขา คุณครูของชุมชนมีวิธีจัดการคือ ให้นักเรียนสามารถเลือกช็อปปิ้ง(จากกองบริจาค) ได้เพียงแค่คนละห้าชิ้นเท่านั้น ส่วนที่เหลือจะถูกส่งต่อไปยังชุมชนใกล้เคียงที่ขาดแคลน หรือบางทีอาจจะส่งไปถึงหมูบ้านของประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ติดกัน การให้เป็นเรื่องดี แต่การให้ในสิ่งที่ตรงความต้องการย่อมดีกว่า 

นอกจากเสื้อผ้าแล้วก็ยังมีอาหาร แต่อาหารก็จะมีรูปแบบที่ซ้ำๆ ข้าวสาร มาม่า ปลากระป๋อง เราได้มีโอกาสเข้าไปช่วยเขาจัดห้องสเบียง คือมันมีเยอะมาก มีกองกระสอบข้าวสาร กับลังมาม่าตั้งสูงกว่าตัวเรา เลยถามน้องที่อยู่ข้างๆ(แบบไม่ได้คิด)ว่า เรามีอาหารแห้งเยอะแบบนี้ตลอดเลยหรอ “ไม่ค่ะ เวลาไม่มีก็ไม่มีเลย” นอกจากความต้องการของที่จะนำมาช่วยเหลือ แต่ละประเภทไม่เท่ากัน แต่ละช่วงเวลาความต้องการก็ไม่เหมือนกันด้วย 

นอกจากนี้ก็ยังมีคอมพิวเตอร์ประมาณสิบกว่าตัว ที่ถูกตั้งอยู่ในห้องสมุดของโรงเรียนที่ต้องใช้ไฟฟ้าแบบประหยัด หรือหนังสือเรียนหลักสูตรกระทรวงปี 44 ที่ไม่ดึงดูดใจเด็กวัยมัธยมอยู่ในชั้นวางห้องสมุด ความสุขของการให้คือเราได้รับความสุขของผู้รับ ที่ได้รับแล้วชีวิตเขาดีขึ้น การให้ที่ให้แล้วตัวเองรู้สึกสบายใจ โดยไม่ได้ประเมินความเหมาะสมของสถานะผู้รับ มันเป็นเหมือนการยื่นขยะ ให้มันผ่านจากมือเรา ก็เท่านั้นเอง บทความนี้เขียนเพื่อเตือนตัวเองไว้ว่า ถ้าคิดจะช่วยเหลือใคร เราควรศึกษาความต้องการของผู้รับก่อน ไม่ใช่เอาตัวเองมาคิดว่าเขาน่าจะอยากได้โน่นน่ะ นี่นะ มันไม่ตรงความต้องการ และมันก็กลายเป็นขยะบนภูเขาด้วย 

 

ล้างหมู่บ้าน

เวลาที่เราเดินทางโดยปราศจากมือถือ จะทำให้เราสนใจและสังเกตุสิ่งรอบตัวได้มากและละเอียดขึ้น รอยคราบสีน้ำตาลอ่อนๆบนผนัง ที่ปรากฎให้เห็นเกือบทุกบ้านขณะเดินรอบชุมชน เป็นสื่อช่วยให้เราเห็นภาพเหตุการณ์ได้เป็นอย่างดี ประกอบกับคำบอกเล่าเหตุการณ์ของคนในชุมชนระหว่างที่เดินเที่ยวรอบหมู่บ้าน ทำให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้น

น้ำท่วมเราว่ามันเป็นปัญหาที่ทุกคนไม่ได้รู้สึกว่ามันแปลกอะไร เมื่อพูดถึงน้ำท่วม มีไม่กี่อย่างที่เราจะนึกถึง สาเหตุ และการช่วยเหลือ แต่สิ่งที่เราไม่เคยเจอเลยคือแนวคิดของคนที่นี่ มีประโยคนึงที่ได้ฟังแล้วรู้สึกปลื้มมาก “เราทำผิดบาปไว้ เขาจึงเอาน้ำมาล้างหมู่บ้าน” ฟังดูเผินๆแล้วนี่มีแต่ความเชื่อล้วนๆ ถ้าเหตุการณ์เดียวกันไปเกิดกับคนข้างนอกอาจจะเป็นเรื่องใหญ่มาก อาจจะทะเลาะกันเรื่องปล่อยน้ำ สูบน้ำ ความช่วยเหลือที่เข้าไม่ถึงหรือไม่ดีพอ มีความผิดมากมายที่ไม่ได้มาจากตัวเอง เราชอบคนที่นี่มากๆ หยุดที่ตัวเองก็จบ ตลอดระยะเวลาที่คุย คุณครูได้เล่าให้ฟังอย่างละเอียดว่าน้ำมาตอนไหน สูงขนาดไหน หมาแมว คน ไปอยู่ที่ไหน ความชุลมุนตอนนั้นเป็นยังไง เขาจัดการคนในหมู่บ้านเพื่อช่วยเหลือกันยังไง เพราะที่นี่อยู่กันเป็นหมู่บ้าน ไม่มีหน่วยงานที่รับผิดชอบสาธารณะภัยเหมือนคนเมือง

การพึ่งพาตนเองและเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกันจึงเป็นสิ่งที่ต้องทำทุกเรื่อง ทุกขณะ เราหลงรักนิสัยของคนที่นี่มาก พอมาเปรียบเทียบแล้วยังรู้สึกเลยว่า ทำไมนิสัยเราแย่จัง การเที่ยวครั้งนี้ไม่ได้เรียนรู้แค่ว่าที่นี่มีอะไรอย่างเดียว แต่วัฒนธรรม วิธีการคิด วิถีชีวิตนี่เราก็ต้องเรียนรู้อีกมาก ความรู้ระดับเด็กแรกเกิดเลยก็ว่าได้

 

 

บล็อกของ Storytellers

Storytellers
ปรากฏการณ์การพิทักษ์ความดีงามแห่งรัฐ คำว่า “ความดีงามแห่งรัฐ” คือ สิ่งที่รัฐมองว่าดีงามและควรค่าแก่การรักษา
Storytellers
หากเราลัดเลาะรอบกรุงรัตนโกสินทร์ สิ่งที่เห็นล้วนเต็มไปด้วยวัดวาอาราม ย่านที่เต็มไปด้วยความดีงามที่ควรแค่แก่การอนุรักษ์นำมาซึ่ง “แผนแม่บทเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์”
Storytellers
“Raising and caring for children is more like tending a garden :it involves “a lot of exhausted digging and wallowing in manure” to create a safe,nurturing space in which innovation, adaptability and resilience can thrive.”
Storytellers
หลังจากครุ่นคิดมาทั้งคืน ถึงพื้นที่การเรียนรู้ มุกได้เลือกไปที่ ชุมชนไทดำ จังหวัดสุราษฎร์ธานีค่ะ มีหลายเหตุผลมากมายในการเลือกเดินทางครั้งนี้ นั่นก็คือ อยากที่จะไปเรียนรู้ถึงวัฒนธรรม พิธีกรรม รวมถึงวิถีชีวิตต่าง ๆของคนไทดำ ว่ามีความแตกต่างกับชีวิตประจำวันของเราอย่างไร และสิ่งที่สำคัญที่สุดที่ทำให้
Storytellers
- ฉันเริ่มการสรุป สาธยาย เพ้อเจ้อ และพรรณา ณ วันที่12 ธันวาคม 2561 (12/12) เวลา 18.36 -
Storytellers
คำเตือนการพยายามร้อยเรียงเรื่องราวมันคงจะชัดเจนจนสับสนมากอ่านประโยคเดียวงงไหมคะ?ไม่ต้องพยายามเข้าใจอะไรให้มันง่ายหรอกค่ะ เดี๋ยวมันไม่สนุก ไปกันแบบงงๆกับคนงงๆดีกว่า .Pre-ช่วงประมาณกลางเดือนตุลาคม 2561
Storytellers
ตอน : การจัดการที่อยู่
Storytellers
การนำเสนอ ตั้งใจว่าจะทำเป็น จดหมาย 3 ฉบับที่เขียนในสเนพ่อง เพราะว่าในสเนพ่อง ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์และอินเตอร์เน็ท จึงทำให้การพูดคุยสื่อสารกันด้วยจดหมายน่าจะเข้ากับการนำเสนอการเดินทางในครั้งนี้มากที่สุดค่ะ มีจดหมายฉบับที่ส้มโอเขียนให้ครูเฟริ์นและได้มอบให้ครูเฟริ์นจริงในวันสุดท้ายก่อนออกจากสเนพ่
Storytellers
หลังจากที่นอนคิดเกือบทั้งคืนว่าเราจะเก็บกระเป๋าไปพื้นที่เรียนรู้ที่ไหนดี(จากยี่สิบกว่าตัวเลือกที่ทางโครงการ storytellers in journey มีให้) เราก็ได้คำตอบสุดท้ายแล้ว พรุ่งนี้โมจะไปเสน่พ่อง!
Storytellers
           คุณเคยเห็นเวลาที่รถติดหล่มไหม มันคงใช้เวลาอยู่นานเลยนะกว่าจะหลุดพ้นจากหล่มนั้นมาได้ คงต้องใช้ทั้งเวลาทั้งแรงและปัจจัยอีกหลายๆอย่างมากมายในการหลุดออกมา การจากลาจากใครสักคนก็เหมือนกัน ความรู้สึกของการจากลามันก็เหมือนรถที่ติดหล่มที่เมื่อติดลงไปแล้วก็ทำให้ความ
Storytellers
          พบเพื่อลา มาเพื่อจาก ผมลุกจากที่นอนออกมาทำธุระส่วนตัวก็เห็นน้องๆกำลังแต่งตัวถือหนังสือเตรียมตัวกันมาเรียน มันคงเป็นการตื่นมาเรียนที่แต่ละคนดูสดชื่นไม่เหมือนกับตัวเองสมัยเด็กๆที่โรงเรียนไม่ต่างอะไรจากกรงขังที่ตีกรอบสี่เหลี่ยมให้กับเราแต่สำหรับที่นี่โรงเรียนเหมือน