Skip to main content

Start Line: จุดเริ่มต้น

 

ชะอวด ไม่ใช่ที่หมายในใจฉันในคราแรก ด้วยเหตุผลหลักเพียงข้อเดียว คือ “ฝน” ฉันเกลียดฝน และภาคใต้ในช่วงเวลานี้คงหนีฝนไม่พ้นอย่างแน่นอน ฉันจึงตัดตัวเลือกส่วนใหญ่ที่เป็นภาคใต้ทิ้งไป แต่ชื่อของชุมชนวิถีไท อำเภอชะอวด กลับมาปรากฏอยู่ในสามตัวเลือกสุดท้ายของฉันจนได้ แต่ฉันก็ไม่ได้เลือกที่นี่อยู่ดี ด้วยความคุ้นชินกับการเดินทางขึ้นเหนือมากกว่า สุดท้ายฉันเลือกจะไปที่ จ.เชียงราย เนื่องจากท่านผู้อำนวยการยังติดภารกิจอยู่ที่อื่น ทำให้ฉันไม่ได้เดินทางไปในทันทีเหมือนผู้เข้าร่วมโครงการคนอื่น แต่เลือกที่จะรอไปอีกหนึ่งอาทิตย์ ระหว่างที่รอก็มีข้อความจากพี่คนนึงเข้ามาเป็นโพสต์ของครูเลี่ยมแห่งศูนย์การเรียนรู้วิถีไทพร้อมรูปถ่ายขณะกำลังขนไผ่สำหรับใช้ทำแปลงนาลอยน้ำกันอยู่ พร้อมข้อความสั้นๆ “ส่งมาให้ดู” มันคงมีแรงดึงดูดอะไรบางอย่างจากข้อความที่ครูเลี่ยมเขียน หรืออาจจะจากภาพถ่ายเหล่านั้น เหมือนเป็นสัญญาณออกตัวให้ฉันเริ่มก้าวออกนอกเส้นทาง ก้าวให้พ้นจากความกลัว ความกังวลของตัวเอง สู่ “ชะอวด” ก้าวใหม่ อีกก้าวของฉัน

 

 

เรื่องรายทาง

 

เส้นทางแต่ละเส้นล้วนมีเรื่องราวเป็นของตัวเอง และมีเรื่องเล่าใหม่ๆ จากผู้คน บรรยากาศ สภาพแวดล้อม แต่งเติมขึ้นเรื่อยๆ ในเส้นทางเส้นเดิม การเดินทางทุกครั้งจึงไม่เคยหยุดนิ่ง แม้จะเป็นสถานที่เดิมๆ แต่ความรู้สึกและสิ่งที่ได้รับกลับมามักเป็นสิ่งที่ใหม่เสมอ เราอาจจะเริ่มเดินทางพร้อมกัน เลือกเส้นทางเดียวกัน พบเจออะไรที่เหมือนกัน ปลายทางเป็นสถานที่เดียวกัน แต่เรื่องราวตามรายทางของแต่ละคนย่อมแตกต่างกันตามมุมมอง ตามความรู้สึกของแต่ละคน หลายคนเปรียบชีวิตเป็นเหมือนการเดินทางที่ไม่มีจุดสิ้นสุด แต่กลับยอมรับไม่ได้ที่จะเห็นชีวิตของคนอื่นแตกต่างจากตัวเอง สำหรับฉันการเดินทางครั้งนี้คือการหลบหนี หนีจากกรอบที่มองไม่เห็นที่บีบเข้ามาใกล้ขึ้นทุกที หนีจากความคิดของตัวเองที่กำลังกัดกินคุณค่าของชีวิตที่ควรมี ด้วยความหวังที่จะให้เรื่องราวในการเดินทางช่วยฉุดตัวฉันเองให้พ้นจากความกลัว กลัวในสิ่งที่ตัวเองก็ไม่สามารถตอบได้ว่า “ฉันกำลังกลัวอะไร”

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ฉันขึ้นรถไฟสายใต้ แต่ทุกครั้งที่ฉันนั่งรถไฟสายใต้ก่อนหน้านี้คือการเดินทางเป็นหมู่คณะกับทางมหาวิทยาลัย การเดินทางด้วยรถไฟสายใต้คนเดียวในครั้งนี้จึงไม่ใช่อะไรที่คุ้นชินสำหรับฉัน เนื่องจากเป็นการเดินทางที่กินเวลานานกว่า 15 ชั่วโมง (กรุงเทพฯ-ชะอวด) ฉันจึงเลือกการเดินทางด้วยตู้นอนปรับอากาศ เพื่อจะพักผ่อนอย่างเต็มที่เตรียมพร้อมเริ่มต้นวันใหม่ทันทีเมื่อถึงที่หมาย

รถไฟตู้นอนปรับอากาศสะดวกสบายสมคำร่ำลือ เบาะกว้างขวางและนุ่มสบาย การจัดที่นั่งมีความเป็นพื้นที่ส่วนตัวค่อนข้างสูง ผู้โดยสารในตู้ส่วนใหญ่ใช้เวลาอยู่ในพื้นที่ของตัวเอง ไม่มีการพูดคุยเสียงดัง ไม่มีคนลุกเดินไปเดินมา บางที่ก็ปรับเป็นเตียงนอน ปิดม่านเรียบร้อย ที่นั่งของฉันอยู่ซ้ายมือสุดทางเดินหันหลังให้หัวรถไฟ ฝั่งตรงข้ามเป็นนักท่องเที่ยวชายชาวต่างชาติ เรายิ้มทักทายกันเล็กน้อยก่อนจะจมดิ่งสู่โลกของตัวเอง ความเงียบเป็นสิ่งที่ฉันไม่ชอบ แต่คุ้นเคย รถไฟในเวลานั้นเงียบและชวนให้รู้สึกอึดอัด เป็นความเงียบที่ฉันไม่คุ้นชิน พระอาทิตย์เคลื่อนตัวต่ำ กำลังจะลับขอบฟ้าอยู่ด้านหลังช่วยกระตุ้นให้ฉันลุกออกจากที่นั่งแสนสบายของตัวเอง ก้าวเดินผ่านตู้นอนปรับอากาศ สู่ที่นั่งชั้นสามเพื่อไปหาสถานที่แทรกตัวนั่งกินลม ชมวิวพระอาทิตย์ เสียงลมที่ปะทะเข้ามาทางหน้าต่าง เสียงรถไฟวิ่งไปตามราง กลิ่นหญ้าและกลิ่นฝนที่ผสมปนเปกัน เสียงพูดคุยที่ดังขึ้นเพราะต้องสู้กับเสียงรอบข้าง แม้มันจะไม่ได้สะดวกสบาย แต่ก็เป็นกลิ่นอายที่ชวนคิดถึง โชคดีของฉันที่มีที่นั่งริมหน้าต่างหันหน้าหาพระอาทิตย์เหลือให้ฉันแอบนั่งได้พอดีในวันที่รถไฟคราคร่ำไปด้วยผู้คน เมื่อมันไม่ใช่ที่ของเรา ความกังวลใจเล็กๆ จึงเกิดขึ้น ฉันไม่รู้ว่าการเลือกที่นั่งในตู้รถไฟชั้น 3 นั้นยังเหมือนเดิมหรือไม่ ถึงแม้ในตั๋วจะมีเลขที่นั่งระบุ แต่คนไทยส่วนใหญ่ก็มักจะนั่งตามใจตัวเองมากกว่า น้อยคนหรือน้อยครั้งที่จะนั่งตามที่กันจริงๆ ฉันเคยขึ้นรถไฟแล้วเจอเหตุการณ์อยากนั่งตรงไหนก็นั่งเถอะ ประมาณสองสามครั้ง แต่ในสองสามครั้งนั้นคนไม่ได้แน่นเท่าขบวนในวันนี้ ฉันจึงไม่แน่ใจว่าการที่ฉันมาแอบนั่งอยู่ตรงนี้ จะสร้างความเดือดร้อนให้ใครหรือเปล่า มาถึงขั้นนี้แล้วฉันขอนั่งสักพักก็แล้วกัน ขอใช้ประโยชน์บนความอะลุ้มอล่วยของคนไทยทำตามใจตัวเองในช่วงเวลาพระอาทิตย์ตก ระหว่างนั่งมือก็กดโทรศัพท์ตรวจสอบที่นั่งบนรถไฟไปด้วยว่าที่ว่างหรือไม่

ฉันนั่งอยู่ตรงนั้น จนพระอาทิตย์ลับขอบฟ้าเห็นเพียงแค่แสงเรืองรอง จึงเดินกลับไปยังที่นั่งของตัวเอง ซึ่งนั่นเป็นช่วงเวลาพอดีกับที่คุณลุงจากปัตตานีที่นั่งอยู่ทางด้านซ้ายมือของฉันกำลังมีปัญหาพอดี

ฉันไม่ชอบการเริ่มต้นสนทนากับผู้อื่น การพูดคุยกับคนแปลกหน้า หรือคนรู้จักที่ไม่สนิท เป็นเรื่องยากมากสำหรับฉัน เหตุผลเพราะความกลัว กลัวการเลือกใช้คำพูดของตัวเองที่อาจจะทำให้คนอื่นไม่พอใจ หรือการแสดงออกทางอารมณ์จะไปขัดความรู้สึกคนอื่น กลัวว่าคำพูดของเราอาจจะเผลอทำร้ายความรู้สึกของบางคนโดยไม่ได้ตั้งใจ รวมไปถึงกลัวคนเข้ามายุ่งวุ่นวายในโลกส่วนตัวของตัวเอง ฉันจึงกลัวการเป็นผู้เริ่มต้นสนทนา แต่ฉันกลับชอบนั่งฟังคนแปลกหน้าพูดคุยกันเพื่อรับรู้เรื่องราวของคนเหล่านั้น การเดินทางคนเดียวด้วยรถไฟตู้นอนเป็นสิ่งที่บังคับให้อย่างน้อยฉันต้องคุยเพื่อตกลงกับคนแปลกหน้าเรื่องเวลาที่จะปรับเบาะนั่งเป็นเตียงนอน แต่ฉันก็ไม่จำเป็นที่จะต้องกังวล เพราะฉันรู้มาตอนตรวจตั๋วว่านักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่นั่งตรงข้ามกับฉันและเพื่อนของเขา จะลงที่สถานีหัวหิน ตอนเวลาประมาณหนึ่งทุ่ม ซึ่งฉันสามารถรอจนกว่าจะถึงเวลานั้นได้ แต่คุณลุงเบาะข้างๆ ไม่ได้คิดเช่นนั้น และกำลังพยายามสอบถามชาวต่างชาติที่นั่งตรงข้ามกันเพื่อปรับเบาะนอน แน่นอนว่าฉันรู้ตั้งแต่แรกว่าชาวต่างชาติทั้งสองคนที่นั่งกับฉัน และอีกคนที่นั่งกับคุณลุงนั้นมาด้วยกัน ฉันพร้อมจะสลับที่กับเขาหากเขาต้องการ ฉันหาโอกาสที่จะสอบถามเขาหลายรอบ แต่ก็รวบรวมความกล้าไม่ได้เสียที จนตัวเองตัดสินใจหนีไปนั่งชมพระอาทิตย์ที่อีกตู้ และนี่คงเป็นโอกาสที่ฉันจะถามเขาด้วยคำถามที่ฉันนึกและเตรียมไว้ตั้งแต่รถไฟเริ่มออกจากหัวลำโพง

“คุณจะสลับที่กับฉันไหมคะ คุณมาด้วยกันใช่ไหม สามารถสลับที่กับฉันได้นะคะ” นั่นคือสิ่งที่ฉันพูดออกไปเป็นภาษาอังกฤษ เมื่อคุณลุงหันมามองฉันคล้ายจะขอความช่วยเหลือ ชาวต่างชาติคนนั้นถามกลับมาด้วยความไม่แน่ใจว่าฉันเปลี่ยนที่นั่งกับเธอได้จริงหรือ ฉันจะโอเคกับที่นั่งฝั่งนี้ใช่ไหม ฉันจะไม่รู้สึกแย่ใช่ไหมที่ต้องเปลี่ยนที่นั่ง ก่อนจะเอ่ยว่าขอบคุณพร้อมรอยยิ้ม ความอึดอัดที่ฉันรู้สึกภายในรถไฟตู้นอนปรับอากาศในคราแรกค่อยๆ หายไป ความอึดอัดนั้นคงไม่ได้เกิดจากบรรยากาศภายในตู้รถไฟอย่างที่ฉันเข้าใจไปในตอนแรก แต่คงเกิดขึ้นเพราะกำแพงในตัวฉันเอง

 

ชุมนุมกาแฟ           

 ร้านกาแฟที่สร้างขึ้นเป็นเพิงไม้ขนาดไม่ใหญ่ ตั้งอยู่ริมถนนที่นานๆ ครั้งจะมีรถผ่านสักหนึ่งคัน หน้าร้านมีโต๊ะไม้สามตัวให้ผู้คนได้นั่งล้อมวงผู้คุย พร้อมจิบชากาแฟตามอัธยาศัย ถ้าวันไหนฝนตกก็โยกย้ายเข้าไปนั่งจับกลุ่มกันที่โต๊ะม้าหินใต้ถุนบ้านไม่ใกล้ไม่ไกล สถานที่ที่เป็นเสมือนจุดเริ่มต้นของแต่ละวันที่ชุมชนวิถีไท และเป็นจุดเริ่มต้นวันใหม่ของผู้คนที่อยู่อาศัยในย่านนี้

              ทุกเช้าเวลาประมาณเจ็ดโมง สมาชิกทุกคนในชุมชนวิถีไทจะค่อยๆ ทยอยตื่นออกจากห้องพักของตัวเอง รอกันบ้าง ไม่รอกันบ้าง เพื่อไปจิบกาแฟ และทานอาหารมื้อแรกของวันร่วมกันที่สภากาแฟ ไม่แน่ใจว่าสามารถเรียกว่าเป็นมื้อเช้าได้เต็มปากหรือเปล่า เพราะเมนูอาหารประจำร้านกาแฟแห่งนี้มีเพียงไข่ลวก และข้าวเหนียวที่มาในรูปของข้าวเหนียวปิ้งบ้าง ข้าวต้มมัดบ้าง บางครั้งก็อาจจะเจอข้าวเหนียวหน้าต่างๆ อย่างกระฉีกหรือสังขยา ทานคู่กับเครื่องดื่มร้อนที่มีให้เลือกทั้ง กาแฟดำ กาแฟโบราณ ชาไทย ชาเขียว มอคค่า และโกโก้ เลือกระดับความหวานได้ตามใจชอบ ถ้าใครไม่อยากสั่งเครื่องดื่ม ที่นี่ก็มีชาร้อนคอยให้บริการแบบไม่อั้น จิบชาร้อนล้างคอให้โล่ง แล้วค่อยๆ ใช้เวลานั่งคุยเรื่องราวต่างๆ กันไปเรื่อยๆ ไม่เร่งรีบ เรื่องราวมากมายถูกถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนกันที่นี่ เปลี่ยนบทบาทของร้านค้าเล็กๆ ให้เป็นสถานที่พูดคุย แลกเปลี่ยนความรู้และความคิดเห็นเหมือนเช่นที่ร้านกาแฟ หรือที่คนไทยบ้างก็เรียกว่า สภากาแฟ เคยเป็นเมื่อครั้งอดีต

              ร้านกาแฟจะเป็นสถานที่ที่ชวนนึกถึง เมื่อฉันต้องการเปลี่ยนสถานที่นั่งทำงาน อ่านหนังสือ หรือเป็นเพียงทางผ่านสำหรับการนัดพบใครสักคนเท่านั้น ฉันคุ้นชินที่จะสร้างพื้นที่ส่วนตัวของตัวเองขึ้นมาในพื้นที่ส่วนรวม อยู่ในพื้นที่ของตัวเอง จนบางครั้งลืมคิดไปว่าตัวสถานที่นี้ไม่ใช่พื้นที่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่คือพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้เราได้ใช้ร่วมกับคนอื่น ภาพร้านกาแฟแบบเดิมที่จอแจไปด้วยผู้คนอย่างที่เห็นในหนัง เป็นสิ่งที่ฉันไม่เข้าใจว่าทำไมผู้คนถึงต้องเข้าไปนั่งจิบกาแฟในสถานที่ที่แสนวุ่นวายเช่นนั้น

              ร้านกาแฟที่นี่ไม่วุ่นวาย ไม่จอแจ แต่ก็ไม่เงียบ เพราะเต็มไปด้วยเสียงพูดคุยตลอดเวลา ทั้งเสียงพูดคุยในโต๊ะของตัวเอง และเสียงพูดคุยที่คุยกันข้ามโต๊ะไปมา ความทรงจำแรกของฉันที่นี่คือการแนะนำตัวเอง กับชื่อของทุกคนในร้านที่พอชื่อของคนนึงผ่านเข้าหูซ้าย ชื่อของคนก่อนหน้าก็ทะลุออกหูขวาทันที เป็นไปไม่ได้เลยที่ฉันจะจำชื่อทุกคนได้หมด นั่นคือสิ่งที่ฉันคิด ความทรงจำที่สองคือความรู้สึกไม่แปลกแยก หลายครั้งที่ฉันเดินทางไปที่อื่นแล้วรู้สึกว่าฉันช่างเป็นส่วนเกินที่โดดออกจากสถานที่เหล่านั้น ซึ่งมันก็เป็นความจริงที่สามารถยอมรับได้ ฉันไม่รู้ว่าเพราะอะไรจึงรู้สึกเช่นนั้น จนวันสุดท้ายฉันก็สามารถหาคำตอบให้ตัวเองได้ เพราะที่นี่ฉันไม่ใช่คนกรุงเทพที่ทำอะไรไม่เป็น ไม่ใช่เด็กผู้หญิงที่ทำอะไม่ได้ แต่ทุกคนพร้อมจะพูดคุยกับฉันที่เป็นฉันเป็นมนุษย์คนหนึ่ง มนุษย์ที่ไม่ได้ทำทุกอย่างได้โดยทันที ความทรงจำต่อมาคงเป็นสำเนียงภาษา ที่แห่งนี้เราคุยกันทั้งภาษาใต้ ภาษากลาง และภาษาอังกฤษเป็นหลัก บางครั้งก็มีภาษาสเปน ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น ปะปนมาบ้างให้ต้องนั่งอธิบายกัน แหมบางครั้งจะคุยภาษาเดียวกันแต่ด้วยคนละสำเนียงก็เป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจ แต่ทุกเรื่องราวที่พูดคุยกัน ใครไม่เข้าใจตรงไหน ก็จะมีคนที่พร้อมอธิบายให้เข้าใจไปด้วยกัน บางครั้งฉันเองก็รู้สึกว่าตัวเองไม่ต่างจากอาสาสมัครชาวต่างชาติที่ต้องพึ่งล่ามท้องถิ่นช่วยแปลภาษาใต้ให้เป็นกลาง ก่อนจะทำหน้าที่ล่ามแปลภาษาไทยกลางเป็นภาษาอังกฤษอีกที กว่าจะเข้าใจกันทั้งหมดต้องใช้เวลานานบ้างเร็วบ้าง แต่กลับไม่มีใครหงุดหงิดหรือไม่พอใจ แหมบางครั้ง บางเรื่องต้องอธิบายซ้ำๆ กันอยู่นาน ความทรงจำสุดท้ายคือความคิดถึง แม้ว่าฉันจะอยู่ที่นี่แค่หนึ่งอาทิตย์ ไม่ได้พูดคุยกับทุกคน แต่ทุกคนที่นี่กลับพร้อมช่วยเหลือในทุกเรื่อง คิดถึงปลานิลที่ลุงเสมเพิ่งเลี้ยงและบอกให้ฉันกลับไปกินเมื่อมันโต ถ้าไม่โดนน้ำท่วมพัดไปก่อนก็คงดี คิดถึงเสียงพูดคุย ถกเถียงกันยามเช้า ภาษาอังกฤษที่ทุกคนพยายามสื่อสาร ภาษาใต้ที่ไม่เคยฟังเข้าใจในครั้งแรก นาข้าว สวนปาล์ม ข้าวเหนียวปิ้ง ชาร้อน ไข่ลวก ขนมครก ข้าวต้มมัด เรือ รถมอเตอร์ไซค์ คลองบางกลม บัว และผู้คน

              ร้านกาแฟที่ทุกคนมาชุมนุมกันทุกเช้า เป็นสถานที่ทำความรู้จักและเอ่ยคำอำลา ร้านกาแฟที่บอกให้ฉันรู้ว่าการลดกำแพงพื้นที่ส่วนตัวลงเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ส่วนรวมไม่ใช่เรื่องน่ากลัวเสมอไป แม้มันอาจจะไม่สามารถทำได้ในทุกสถานที่ แต่ที่สถานที่แห่งนี้ฉันสามารถเป็นตัวของตัวเองพร้อมเป็นส่วนหนึ่งของสถานที่แห่งนี้ได้โดยไม่ต้องกังวล 

             

 

 

 

นาลอยน้ำ

 

              “นาลอยน้ำ” อะไรคือนาลอยน้ำ ทำไมนาต้องลอยน้ำ นามันจะลอยน้ำได้อย่างไร แล้วจะลอยไปเพื่ออะไร ทำไมมันถึงต้องลอย คำถามมากมายเกิดขึ้นในหัวฉัน ตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้เห็นคำๆ นี้  คำถามที่เกิดขึ้นดึงดูดความสนใจของฉันให้สนใจพื้นที่แห่งนี้ และทำให้ชุมชนวิถีไทเข้ามาอยู่ในสามตัวเลือกสุดท้ายของฉัน

              นาข้าวลอยน้ำ เป็นการร่วมมือ ผสมผสานความรู้ของสถาปนิกจาก บ.ธัมอาร์คิเทคส์ ในการออกแบบโครงสร้าง เข้ากับความรู้และประสบการณ์ของครูเลี่ยมและคนในพื้นที่ เพื่อช่วยฟื้นชีวิตไร่นาที่ชะอวด ให้กลับลุกขึ้นยืนออกรวงสวยอวดความความภาคภูมิใจของชาวนาได้อีกครั้ง ตามแนวความคิดและความตั้งใจที่ยิ่งใหญ่ของกลุ่มเครือข่ายสถาปนิก DESIGN FOR DISASTERS หรือ D4D เพื่อช่วยเหลือคนในพื้นที่ที่ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ ให้หาทางป้องกัน และเตรียมความพร้อมเพื่อให้สามารถรับมือและปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกับภัยทางธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นในระยะยาว เนื่องจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ หรือการบริหารจัดการที่ไม่เอื้อต่อการดำเนินวิถีชีวิตในแบบเดิมของคนในพื้นที่ จึงเกิด “โครงการแปลงผักพอดี พอดี” ขึ้น เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรใน 9 พื้นที่น้ำท่วมบริเวณภาคใต้ของประเทศไทย “ห้องเรียนนาข้าวลอยน้ำ” ของชุมชนวิถีไท อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นหนึ่งในพื้นที่เหล่านั้น

              ความหวังของ ครูเลี่ยม คนหนึ่งคนที่อยากจะนำความภาคภูมิใจในการเป็นอู่ข้าวอู่น้ำที่สำคัญของชะอวดกลับมา ท่ามกลางความสิ้นหวังของคนทำนาคนอื่น ทุ่งนาที่เคยอุดมสมบูรณ์ ปัจจุบันเหลือชาวนาแค่สองครัวเรือนที่ยังคงต่อสู้กับข้าวที่ไม่เคยออกรวงให้ได้เก็บเกี่ยวร่วมสิบปีเนื่องด้วยปัญหาน้ำท่วมขัง ความหวังของคนไม่กี่คนที่ยังคงส่องแสงนำทางให้ความตั้งใจของคนอีกกลุ่มเข้าไปช่วยเหลือ และปลุกพลังของชุมชนขึ้นมาอีกครั้ง 

              วันที่ฉันเดินทางไปถึงความหวังนั้นเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมากแล้ว โครงไม้ไผ่ขนาดใหญ่สองโครงขึ้นรูปเป็นซุ้มสามเหลี่ยม ซึ่งแท้จริงสามเหลี่ยมนั้นคือรูปรวงข้าวที่ถูกออกแบบมาด้วยความใส่ใจ แม้จะเสียดายอยู่บ้างที่ไม่ได้มามีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น แต่ก็ภูมิใจไม่น้อยที่ได้เป็นส่วนหนึ่ง ฉันไม่มีความรู้อะไรเลยที่นี่ ไม่รู้ว่าสิ่งที่เห็นดีหรือไม่ดีอย่างไร ไม่ได้เห็นด้วยตาว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่มันหนักหนาขนาดไหน แต่สิ่งที่ฉันเห็นตรงหน้าตอนนั้น ฉันรู้แค่ว่ามันมีความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่เกิดขึ้นที่นี่ และทุกคนกำลังมีความสุขกับความเปลี่ยนแปลงนั้น

              วันแรกของฉันที่ห้องเรียนนาข้าวลอยน้ำเต็มไปด้วยความชุ่มฉ่ำ ฝนตกลงมาอย่างไม่ขาดสาย ครูเลี่ยมและทีมช่างเริ่มต้นทำงานทันทีท่ามกลางสายฝนหนักสลับเบาในช่วงเช้า การมัดโครงไม้ไผ่และขึงตาข่ายบนโครงสร้างของแปลงนาเป็นเรื่องที่เกินกำลังสำหรับฉัน จึงได้แค่คอยส่งไม้ไผ่ลำเล็กใหญ่ให้ตามที่ทีมช่างจะร้องขอ เมื่อเสร็จสิ้นก็ย้ายไปถอนพวกวัชพืชริมคลองอย่างกระจูดหนูและหญ้าปล้องมาปูพื้นบนแพ เพื่อเป็นแหล่งอาหารให้กล้าข้าว ก่อนจะใช้ดินที่ขนมาถมทับอีกที

              ความหนาวเย็นเริ่มมาพร้อมกับสายฝนที่โปรยอย่างไม่หยุดหย่อน มารู้ตัวอีกทีว่าตัวเองตัวเปียกและหนาวแค่ไหนก็ตอนที่นั่งทานข้าวกลางวันแล้วลมเบาๆ พัดผ่านให้ร่างกายสั่นสู้จนต้องขยับกายเข้าหาไออุ่นของเตาถ่านที่ใช้ต้มน้ำร้อนชงชาดื่มกันยามพัก ความอุ่นของเตามีแรงดึงดูดมหาศาลจนไม่อยากลุกหนีไปไหน กว่าจะยอมผละออกจากความอบอุ่นนั้นได้ก็ตอนเห็นครูเลี่ยมเริ่มดำข้าว ลุยน้ำไปช่วยแทบไม่ทัน กลัวครูเลี่ยมจะทำคนเดียวหมดเสียก่อน มานาทั้งทีไม่ได้ดำข้าวคงรู้สึกว่ามาไม่ถึง และต้องเสียใจแน่ที่เห็นความอบอุ่นจากเตาถ่านสำคัญกว่าประสบการณ์ที่ไม่ได้หาง่ายๆ แต่ประสบการณ์ผิงไฟจากเตาถ่านก็ไม่ได้หาเจอได้ทั่วไปเหมือนกัน

              หลังจากดำข้าวเสร็จไปหนึ่งแปลง ไม่นานทุกคนก็เลิกงาน ด้วยฝนที่ลงหนักขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงบ่ายทำให้งานในวันนี้เลิกก่อนกำหนดเล็กน้อย ระหว่างทางกลับที่พักก็นั่งรถท้าลมหน้าสั่น ปากสั่นกันไป วันนี้หนาวกว่าทุกวันเลยนะ ใครสักคนเอ่ยขึ้น ช่างเป็นการต้อนรับวันแรกของฉันได้หนาวสั่นจับใจ

 

 

ชุมชนวิถีไทย

 

              ถ้าถามว่าฉันได้อะไรจากการมาอยู่ที่สถานที่แห่งนี้ร่วมสิบวัน สิ่งหนึ่งที่ฉันคิดว่ามันเป็นสิ่งสำคัญมากที่ฉันได้จากที่นี่คือการใช้เวลาพูดคุยกับตัวเอง

              ที่ชุมชนวิถีไทย ไม่มีตารางเวลาคอยบอกว่าต้องทำอะไร เวลาไหน ไม่มีกำหนดการที่แน่ชัดว่าวันนี้จะทำกิจกรรมอะไร ไม่มีการจัดเวรทำอาหารหรือทำความสะอาด ซึ่งฉันรู้สึกว่าบางครั้งมันไม่ยุติธรรมซะเลย หลายครั้งที่ฉันไปอยู่ในศูนย์การเรียนรู้ตามชุมชนต่างๆ มักจะมีกำหนดการแน่นอนว่าวันนี้หน้าที่ของฉันมีอะไรบ้าง และแบ่งหน้าที่ให้ทุกคนที่มาอาศัยอยู่ร่วมกันช่วยกันทำ ตอนแรกฉันไม่เข้าใจเพราะฉันไม่รู้ว่าตัวเองควรเริ่มจากตรงไหน แล้วต้องทำอะไรบ้าง ทำไมที่แห่งนี้ถึงไม่มีการจัดการให้พร้อมสำหรับอาสาสมัคร จนวันที่ได้นั่งคุยกับครูเลี่ยมฉันถึงได้ตระหนักว่าอะไรคือสิ่งที่สำคัญ

              การมาอยู่ที่ชุมชนวิถีไทย คือการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ อยู่กับพื้นที่ มนุษย์เป็นสัตว์ที่ขี้ลืม ลืมไปว่าพื้นที่ตรงนั้นมีอยู่ก่อนที่เราจะเข้าไป ลืมไปว่าพื้นที่ตรงนั้นมีสิ่งมีชีวิตอีกหลายสิ่งครอบครองอยู่ ลืมไปว่าไม่มีใครเป็นเจ้าของธรรมชาติ และลืมไปว่ามนุษย์เองนั้นก็เกิดจากธรรมชาติเช่นกัน ความขี้ลืมนี้ทำให้มนุษย์มองทุกอย่างที่รุกล้ำเข้ามาในพื้นที่ของตัวเองเป็นสิ่งแปลกปลอม และเข้าจัดการควบคุมทุกอย่างให้อยู่ในความต้องการของตัวเอง ที่นี่ไม่มีการใช้สารเคมีไล่ยุง แม้บางครั้งอาสาสมัครจะแอบไปซื้อยาจุดหรือโลชั่นมาบ้างก็ตาม ผึ้งที่เริ่มมาบินวนเวียนแถวๆ คานโรงครัวคล้ายจะหาที่สร้างรังสร้างความรำคาญทุกครั้งที่บินมาส่งเสียงวนเวียนอยู่ข้างหู ตะขาบที่หลงคลานผ่านเข้ามาในบ้านดินที่ใช้นอนพัก งูเจ้าถิ่นที่ได้ยินแต่ชื่อเสียงเรียงนามแต่ยังไม่เห็นตัว เราจะสามารถอยู่ร่วมกับสัตว์เหล่านี้โดยไม่ทำร้าย ไม่ฆ่าได้หรือไม่ เป็นคำถามที่น่าสนใจ สำหรับฉันมันเป็นเรื่องไม่ยากที่จะปฏิบัติเพราะฉันเป็นคนไม่ฆ่าสัตว์ ตบยุงหรือบี้มด โดยตั้งใจอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ยากคือการเลิกใช้สารเคมีที่คุ้นชินอย่างโลชั่นกันยุง เป็นเรื่องที่ท้าทายตัวเองจนขาลาย จะจุดเปลือกส้มให้ควันช่วยไล่ยุงก็ดูจะล้มเหลวเพราะจุดเองกี่ทีก็ไม่ติดสักครั้ง มุดเข้ามุ้งนอนคงเป็นวิธีอยู่ร่วมกับยุงที่ดีที่สุดของฉัน อีกวิธีที่ครูเลี่ยมแนะนำคือการทานอาหารเพื่อปรับสมดุลธาตุในร่างกาย ยุงชอบคนเลือดร้อน ถ้าลดการกินของฤทธิ์ร้อนเช่นพวกอาหารรสจัด หรืออาหารที่ปรุงแต่งด้วยผงชูรสและสารสังเคราะห์เป็นต้น ได้ยุงก็จะกัดน้อยลง วิธีนี้ก็ฟังดูน่าสนใจ และน่าท้าทายว่าจะเป็นจริงดั่งคำครูเลี่ยมว่าหรือไม่ แต่คงต้องใช้เวลาอีกสักพักใหญ่ๆ ถึงจะทดลองวิธีนี้ได้

              โทรศัพท์มือถือเป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับพื้นที่ส่วนรวม ที่นี่ไม่ได้ห้ามใช้มือถือ แต่ให้ใช้เท่าที่จำเป็น และใช้ในพื้นที่ของตัวเอง ด้วยเหตุผลหลักๆ คือ พฤติกรรมเลียนแบบ การอาศัยอยู่ที่ชุมชนวิถีไทที่เปรียบเสมือนเป็นโรงเรียนนอกระบบการศึกษา เป็นห้องเรียนธรรมชาติ ย่อมมีเด็กๆ วิ่งเล่นเข้าออกที่นี่เป็นเรื่องปกติ ฉันเป็นคนไม่ติดโซเชียลมีเดีย ไม่มีอินเทอร์เน็ตใช้ก็ไม่ได้เดือดร้อนเท่าไหร่ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าโทรศัพท์มือถือที่ปัจจุบันเป็นได้แทบทุกอย่างกลายเป็นอุปกรณ์ที่ฉันหยิบขึ้นมาบ่อยๆ สำหรับจดโน้ต บันทึกข้อความ หรือถ่ายรูป ในมุมของเรามันคือการทำงาน แต่ในสายตาของเด็กๆ อาจไม่ได้มองเช่นนั้น ต้นกล้าลูกชายคนโตของครูเลี่ยม น้องมีเวลาเล่นโทรศัพท์มือถือที่จำกัด ฉันไม่แน่ใจว่ากี่ชั่วโมง นาที สำหรับหนึ่งวัน สำหรับเด็กแล้วเวลาในการเล่นโทรศัพท์ของเขาคือเวลาที่เขาจะได้เล่นเกม หรือดูการ์ตูนเท่าที่เขาต้องการ เมื่อเขาเห็นคนนอกอย่างฉันหรือกลุ่มอาสาสมัครหยิบมือถือขึ้นมาในเวลาที่เขาถูกสั่งห้าม เขาจะไม่เข้าใจและรู้สึกว่าไม่ยุติธรรม ครูเลี่ยมจึงขอความร่วมมือให้ทุกคนใช้โทรศัพท์มือถือในพื้นที่ส่วนตัวในที่พักของแต่ละคน มีอยู่ครั้งนึงที่ต้นกล้าถูกทำโทษโดยการสั่งห้ามเล่นมือถือ และบังเอิญที่วันนั้นฉันพกมือถือวางอยู่ข้างตัว แล้วน้องมาเห็นเข้าพอดี ฉันไม่รู้ว่าน้องอยู่ระหว่างโดนทำโทษ เลยปล่อยให้น้องหยิบขึ้นไปดู มือถือฉันไม่มีเกมที่น้องชอบ และแน่นอนว่ามันยังไม่ได้ปลดล็อค หน้าจอมีแต่แจ้งเตือนกรุ๊ปงานที่ยังไม่ได้เปิดเข้าไปดู ฉันคิดว่าพอน้องเห็นว่าไม่มีอะไรให้เล่นก็คงจะหยุดไปเอง น้องจ้องไปที่หน้าจอโทรศัพท์ สไลด์ขึ้นลงไปเรื่อยๆ ฉันขอคืน น้องไม่ส่งให้ น้องไม่ได้ขอให้ฉันปลดล็อกเพราะรู้ดีว่าฉันไม่ทำให้ เอาแต่สไลด์ขึ้นและลงอยู่อย่างนั้น จนตัวน้องเองอารมณ์ดีขึ้น ก่อนจะส่งคืนให้ฉันเพราะได้ยินเสียงครูเลี่ยมเดินมา บางทีภาพการจ้องมองโทรศัพท์ที่น้องเห็น คงเป็นภาพที่เท่และทันสมัยในสายตาน้อง การไม่ได้เล่น ไม่ได้จับโทรศัพท์คงทำให้น้องรู้สึกแปลกแยก เมื่อน้องเห็นทุกคนล้วนมีช่วงเวลาที่อยู่กับโทรศัพท์กันทั้งนั้น เมื่อเราก้าวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ก็ต้องเลือกแล้วว่าจะเก็บโทรศัพท์ขึ้นเพื่อให้กฎระเบียบของพื้นที่นี่ดำเนินไปตามปกติ หรือใช้ชีวิตตามวิถีความเห็นแก่ตัวของเราแล้วให้ที่แห่งนี้ปรับกฎระเบียบตาม

              อีกหนึ่งเรื่องใหญ่ของที่นี่คืออาหารการกิน ที่บ้านครูเลี่ยมปกติแล้วจะทานมังสวิรัติ และไม่ใส่ผงชูรสในการปรุงอาหาร อาจจะมีบางครั้งที่มีอาหารที่มีเนื้อสัตว์ปนมาบ้างเนื่องจากชาวบ้านในละแวกนั้นปรุงมาฝาก การไม่ได้กินเนื้อสัตว์อาจเป็นเรื่องทรมานบ้างของคนที่กินเนื้อสัตว์ทุกวัน แต่การเปลี่ยนจากกินเนื้อสัตว์มากินผักสดก็ไม่ใช่เรื่องที่เลวร้าย เพราะผักที่นี่สดและอร่อย ปลอดสารพิษอย่างที่หาไม่ค่อยได้ในเมืองกรุง ผักหลายอย่างที่ฉันไม่เคยชอบกลับทานได้อย่างสบายที่นี่

              การอยู่ที่นี่ในบางวันที่ไม่ได้เข้านา เป็นช่วงเวลาที่น่าเบื่อเพราะไม่รู้จะทำอะไรดี มือถือที่ใช้ฆ่าเวลาก็วางเก็บไว้ในห้อง ที่นี่ไม่ได้มีอะไรให้ทำมากนัก เด็กๆ มากวนชวนเล่นด้วยเป็นบางครั้ง นอกนั้นก็นั่งว่างๆ หยิบหนังสือจากในตู้มาอ่านบ้าง นั่งเงียบๆ คนเดียวคิดอะไรเรื่อยเปื่อยจนเผลอหลับไปบ้าง แต่พอมาคิดทบทวนดูแล้ว ช่วงเวลาที่คิดว่าว่าง ไม่มีอะไรทำ กลับทำให้ฉันได้พูดคุยกับตัวเอง ทำความรู้จัก ทำความเข้าใจกับตัวเองอย่างที่ฉันไม่ค่อยได้ทำ

              ฉันได้พูดคุยกับครูเลี่ยมในวันนึง ครูเลี่ยมเล่าให้ฟังว่าก่อนหน้านี้เคยมีตารางเวลาในการทำกิจกรรมนะ แต่การทำตารางแบบนั้นเป็นเหมือนการบังคับให้เข้าร่วมอย่างไม่เต็มใจ เลยยกเลิกไป ครูเลี่ยมอยากให้ที่นี่อยู่ร่วมกันโดยช่วยเหลือ ช่วยกันดูแล ทำในสิ่งที่อยากทำ และตระหนักรู้ถึงสิ่งที่ต้องทำด้วยตัวเอง พอฉันลองคิดตามดู มันก็คงจะจริง คนแต่ละคนมีความชอบ ความต้องการที่ต่างกันอยู่แล้ว ถ้ามีตารางเวลา ตารางงาน หน้าที่มาบังคับ ทำในสิ่งที่ไม่ต้องการ คงสร้างความลำบากใจมากกว่าสร้างการเรียนรู้ การทำหน้าที่ตามตารางที่กำหนดคงไม่ต่างอะไรจากหุ่นยนต์ที่ลงโปรแกรมเอาไว้ เราคงไม่ได้ทำความรู้จักตัวตนของแต่ละคนได้มากเท่านี้ และฉันคงเก็บเกี่ยวอะไรจากที่นี่ได้น้อยลง นอกจากได้รู้จักคนอื่น ฉันยังได้รู้จักตัวเองเพิ่มขึ้นว่าตัวเองต้องการอะไรจริงๆ  

 

 

บ้านอีกหลัง

 

              ความรู้สึกแรกที่มา ณ ที่แห่งนี้ คือฉันมาเพื่อเก็บเกี่ยว มาเรียนรู้อะไรก็ตามที่พบเจอ แต่สิ่งที่ได้รับกลับไป ฉันกลับได้มากกว่าสถานที่เรียนรู้ แต่ได้บ้าน ได้พื้นที่ปลอดภัยของตัวเองเพิ่มขึ้นมาอีกแห่ง

              การเข้าสังคมเป็นสิ่งที่ฉันอึดอัด เพราะการเป็นตัวของฉันเองในสังคมรอบตัวฉันมันเป็นเรื่องที่แปลกแยกจากคนอื่น การมีงานอดิเรกหรือความชอบที่ไม่เหมือนคนอื่นทำให้เรามักจะโดนกั้นออกจากวงสนทนา จนหลายครั้งกลายเป็นตัวเราเองที่สร้างกำแพงขึ้นมาโดยไม่รู้ตัว เวลาอยู่กับคนหมู่มากฉันมักจะคิดอยู่ตลอดเวลาว่าต้องทำอย่างไรถึงลดความอึดอัดลงได้ ต้องชวนคุยเรื่องไหนคู่สนทนาถึงจะพอใจ ถ้าต่างคนต่างเงียบๆ จะทำให้อึดอัดหรือเปล่า จึงเลือกที่จะหยิบหน้ากากที่คิดว่าคู่สนทนาจะพอใจที่สุดขึ้นมาใส่ ซึ่งหน้ากากใบนั้นแตกต่างจากตัวฉันเองอย่างสิ้นเชิง แต่การอยู่ที่นี่ อยู่ร่วมกับอาสาสมัครคนอื่น เราไม่ต้องพยายามเข้าหากัน ไม่ต้องพยายามพูดคุย ไม่ต้องพยายามสนิทกัน แต่กลับสนิทใจกันเหมือนรู้จักกันมานาน มันเป็นแค่ความรู้สึก ฉันไม่รู้ว่าอะไรคือเหตุผลของความรู้สึกเหล่านี้

              เราไม่ได้สนิทกันเท่ากันทุกคน แต่เราไม่มีความอึดอัดเวลาอยู่ด้วยกัน ฉันจึงรู้สึกว่าทุกคนเป็น comfort zone ของฉัน ฉันไม่รู้ด้วยซ้ำว่าคนอื่นคิดเหมือนกันกับฉันหรือเปล่า อาจเป็นเพราะเราทำกิจกรรมด้วยกัน อาจเป็นเพราะเรามีความคิดคล้ายกันทำให้สนิทใจกันได้ง่าย หรืออาจเป็นเพราะทุกคนล้วนมีพื้นที่ของตัวเอง พื้นที่ส่วนตัว ที่ปรับเข้าหาให้มันกลมกลืนกับพื้นที่ส่วนรวมที่ใช้ร่วมกัน ปรับน้อยปรับมากไม่เท่ากัน แต่ก็หาจุดร่วมกันเจอ เราไม่ต้องคิดบทสนทนาตลอดเวลาว่าเราควรคุยอะไรกันดี เราแค่นั่งคุยกันเป็นบางเวลา แบ่งปันเรื่องราวของแต่ละคน เห็นตรงกันบ้าง ไม่ตรงกันบ้าง แต่ทุกอย่างล้วนมีเหตุผล ไม่มีใครเอาอารมณ์เป็นที่ตั้งแล้วปิดรับความคิดเห็นจากคนอื่น เราคุยกันได้แทบทุกเรื่องถึงความเห็นจะไม่ตรงกัน เราคุยกันคนละภาษา ยากจะเข้าใจ แต่กลับเข้าใจกันได้มากกว่าบางคนที่คุยภาษาเดียวกัน เรามีเวลาใช้ร่วมกันในพื้นที่แต่ไม่มีแม้แต่เสียงพูดคุย เรามีเวลาของตัวเองที่ไม่ก้าวก่ายกัน ไม่ต้องละลายพฤติกรรม เราทุกคนอยู่บ้านหลังเดียวกัน เหมือนครอบครัวที่ไม่ต้องพยายามทำความรู้จัก แต่เข้าใจ ไม่ต้องเป็นคนดี ไม่ต้องทำอะไรให้เหมือนคนอื่น แค่เป็นตัวเอง ที่มีอัตลักษณ์ส่วนบุคคล ก็สามารถอยู่ร่วมกันได้ ที่แห่งนั้นไร้อัตตา ไร้กรอบของสังคม หน้ากากที่วางลง กำแพงที่ทุบทิ้ง การได้เป็นตัวของตัวเองมันช่างเป็นความสุข เป็นพลัง และเป็นความสบายใจ ที่เกิดขึ้นที่นี่ ที่บ้านอีกหลังนึงของฉัน

 

 

บล็อกของ Storytellers

Storytellers
ปรากฏการณ์การพิทักษ์ความดีงามแห่งรัฐ คำว่า “ความดีงามแห่งรัฐ” คือ สิ่งที่รัฐมองว่าดีงามและควรค่าแก่การรักษา
Storytellers
หากเราลัดเลาะรอบกรุงรัตนโกสินทร์ สิ่งที่เห็นล้วนเต็มไปด้วยวัดวาอาราม ย่านที่เต็มไปด้วยความดีงามที่ควรแค่แก่การอนุรักษ์นำมาซึ่ง “แผนแม่บทเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์”
Storytellers
“Raising and caring for children is more like tending a garden :it involves “a lot of exhausted digging and wallowing in manure” to create a safe,nurturing space in which innovation, adaptability and resilience can thrive.”
Storytellers
หลังจากครุ่นคิดมาทั้งคืน ถึงพื้นที่การเรียนรู้ มุกได้เลือกไปที่ ชุมชนไทดำ จังหวัดสุราษฎร์ธานีค่ะ มีหลายเหตุผลมากมายในการเลือกเดินทางครั้งนี้ นั่นก็คือ อยากที่จะไปเรียนรู้ถึงวัฒนธรรม พิธีกรรม รวมถึงวิถีชีวิตต่าง ๆของคนไทดำ ว่ามีความแตกต่างกับชีวิตประจำวันของเราอย่างไร และสิ่งที่สำคัญที่สุดที่ทำให้
Storytellers
- ฉันเริ่มการสรุป สาธยาย เพ้อเจ้อ และพรรณา ณ วันที่12 ธันวาคม 2561 (12/12) เวลา 18.36 -
Storytellers
คำเตือนการพยายามร้อยเรียงเรื่องราวมันคงจะชัดเจนจนสับสนมากอ่านประโยคเดียวงงไหมคะ?ไม่ต้องพยายามเข้าใจอะไรให้มันง่ายหรอกค่ะ เดี๋ยวมันไม่สนุก ไปกันแบบงงๆกับคนงงๆดีกว่า .Pre-ช่วงประมาณกลางเดือนตุลาคม 2561
Storytellers
ตอน : การจัดการที่อยู่
Storytellers
การนำเสนอ ตั้งใจว่าจะทำเป็น จดหมาย 3 ฉบับที่เขียนในสเนพ่อง เพราะว่าในสเนพ่อง ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์และอินเตอร์เน็ท จึงทำให้การพูดคุยสื่อสารกันด้วยจดหมายน่าจะเข้ากับการนำเสนอการเดินทางในครั้งนี้มากที่สุดค่ะ มีจดหมายฉบับที่ส้มโอเขียนให้ครูเฟริ์นและได้มอบให้ครูเฟริ์นจริงในวันสุดท้ายก่อนออกจากสเนพ่
Storytellers
หลังจากที่นอนคิดเกือบทั้งคืนว่าเราจะเก็บกระเป๋าไปพื้นที่เรียนรู้ที่ไหนดี(จากยี่สิบกว่าตัวเลือกที่ทางโครงการ storytellers in journey มีให้) เราก็ได้คำตอบสุดท้ายแล้ว พรุ่งนี้โมจะไปเสน่พ่อง!
Storytellers
           คุณเคยเห็นเวลาที่รถติดหล่มไหม มันคงใช้เวลาอยู่นานเลยนะกว่าจะหลุดพ้นจากหล่มนั้นมาได้ คงต้องใช้ทั้งเวลาทั้งแรงและปัจจัยอีกหลายๆอย่างมากมายในการหลุดออกมา การจากลาจากใครสักคนก็เหมือนกัน ความรู้สึกของการจากลามันก็เหมือนรถที่ติดหล่มที่เมื่อติดลงไปแล้วก็ทำให้ความ
Storytellers
          พบเพื่อลา มาเพื่อจาก ผมลุกจากที่นอนออกมาทำธุระส่วนตัวก็เห็นน้องๆกำลังแต่งตัวถือหนังสือเตรียมตัวกันมาเรียน มันคงเป็นการตื่นมาเรียนที่แต่ละคนดูสดชื่นไม่เหมือนกับตัวเองสมัยเด็กๆที่โรงเรียนไม่ต่างอะไรจากกรงขังที่ตีกรอบสี่เหลี่ยมให้กับเราแต่สำหรับที่นี่โรงเรียนเหมือน