Skip to main content

ตอนนี้เราจะมาดูกันนะครับว่า ทำไมเมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้นมาในสังคม เราจึงต้องใช้กฎหมายมายุติความขัดแย้ง   เหตุผลของเรื่องนี้ก็ต่อมาจากตอนที่แล้วซึ่งเราบอกว่า กฎหมาย คือ กติกา ที่สังคมกำหนดขึ้นมาร่วมกัน เพื่อชี้ว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์ต่างๆขึ้น แล้วตกลงกันไม่ได้ จะ “ยุติ” ความขัดแย้งอย่างไรให้เป็น “ธรรม” ที่สุด   ครับในเมื่อตกลงกันแล้วว่าจะเอาอย่างไร ก็ไม่ทำตามกติกาที่ตกลงไว้จะสร้างปัญหาอย่างไรตามมาก็ลองนึกตามกันดูครับ

อย่างที่เรารู้กันดีว่าทุกคนในสังคมล้วนมีความคิด ความเชื่อ หรือความหวังเป็นตัวของตัวเอง ทุกคนอยากใช้ชีวิตไปในเส้นทางที่ตัวเองเลือก แต่มันก็มีหลายครั้งที่เราเลือกเองทุกอย่างไม่ได้เพราะมีอะไรหลายอย่างมาสร้างเงื่อนไขให้ชีวิตเรา ตั้งแต่ ต้นทุนในชีวิตที่มีไม่เท่ากัน เช่น จน/รวย พรรคพวกมาก/ไร้เส้น การศึกษาสูง/ไม่ได้เรียนในระบบ   เป้าหมายในชีวิตไม่เหมือนกัน เช่น อยากมีเงินเยอะๆ อยากมีความสุข อยากอยู่เงียบสงบ อยากเป็นที่รักของคนเยอะๆ หรืออยากดัง   ไปจนถึงอิทธิพลจากสิ่งต่างๆในชีวิต เช่น ความคาดหวังของญาติพี่น้อง ต้องครองตนให้น่านับถือ หรือเอาอกเอาใจพรรคพวกเพื่อนฝูงและมวลชนของตน   ครับ มนุษย์แต่ละคนช่างแตกต่างกันเหลือเกิน

จึงไม่แปลกเมื่อเกิดเรื่องอะไรขึ้นมา จึงคิดเห็นว่าต้องแก้ปัญหาต่างกัน อย่างเรื่องไปรับบริการทางการแพทย์ จะช้าหรือเร็ว จัดลำดับกันยังไงยังคิดต่างกันเลย   กลุ่มหนึ่งบอกว่าถ้าไปโรงพยาบาลทุกคนต้องเข้าคิวเหมือนกันหมด มาก่อนได้ก่อนมาหลังได้หลัง   อีกกลุ่มบอกได้ไงล่ะนี่มันโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย ต้องดูแลพนักงานภายในก่อน   อีกคนบอกว่าเดี๋ยวก่อนย่าฉันป่วยหนักรอไม่ได้แล้วต้องให้คนแก่เจ็บหนักก่อน   อีกคนก็เถียงขึ้นมาทันทีว่าคนอื่นเขาป่วยน้อยกว่ารึยังไงทำไมถึงมาตัดหน้า   ลามไปถึงปัญหาคลาสสิก คือ ถ้ามีคนรู้จักก็เล่นลัดคิวรับฝากจองคิว หรือโรงพยาบาลเอกชนเปิดมารองรับคนที่มีเงินที่ไม่อยากรอเลยทีเดียว

ที่มันยุ่งวุ่นวายให้ต้องมาได้คิดมาก ก็เพราะเราแตกต่างกัน แต่ดันต้องมาอยู่ด้วยกันเพราะต้องมาใช้ทรัพยากรร่วมกันนี่ล่ะครับ   แหม...ถ้าเราทำได้ทุกอย่างตั้งแต่ หาของกิน ปรุงกินเองได้ สร้างบ้านได้ ซ่อมได้ ดัดแปลงของต่างๆเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ได้เองทุกอย่าง ก็ไม่ต้องมาสุงสิงกับคนอื่นสินะ  แต่ยากแล้วล่ะครับสมัยนี้   มีแต่พึ่งพาแลกเปลี่ยนกัน แล้วดั้นนน...มีสินค้าหรือบริการบางอย่างที่คนต้องการเยอะแต่มันมีน้อย ก็แย่งชิงกันเป็นธรรมดา ตั้งแต่ ที่ดิน ไฟฟ้า น้ำประกา อาหาร บริการสาธารณสุข ขนส่งมวลชน ฯลฯ

เมื่อไหร่เกิดการแย่งกันกินแย่งกันใช้ ตกลงกันไม่ได้ว่าจะแบ่งกันอย่างไร ไม่พ้นตบตีกันได้ง่ายๆ ครับ หรือที่นักรัฐศาสตร์เรียกว่า “ความเสี่ยง” หรือ “ความไร้เสถียรภาพ” ของสังคมไงครับ   คงเคยเห็นการจัดอันดับของสำนักต่างๆที่บอกว่า ประเทศใดมั่นคงปลอดภัยมากที่สุด หรือเสี่ยงมากที่สุด พวกนี้ใช่ไหมครับ   นั่นล่ะครับ เขามักสำรวจว่าสังคมนั้น รักษากติกากันได้ไหม มีวิธีจัดการความขัดแย้งได้ลงตัวรึเปล่า หรือตอนนี้กำลังฮึ่มๆใส่กัน จนต้องเตรียมปืนและเสบียงไว้ที่บ้านกันเอาเองแล้ว

บางคนบอกว่า โอ้ยยย...กฎหมาย ไม่จำเป็นหรอก ถ้าทุกคนเป็นคนดีมีศีลธรรม ไม่ต้องพูดถึงมันด้วยซ้ำ ขอแค่เรารู้รักสามัคคี ไม่มีอะไรเกิดขึ้นแน่นอน ทุกคนยิ้มได้สบายมาก   ครับ ในเวลาปกติทั่วไป ไม่มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น ทุกคนก็เป็นคนดี ยิ้มแย้ม มีน้ำใจกันได้ง่ายๆครับ   แต่เมื่อไหร่เกิดเรื่องขึ้นมา เช่นว่า รถชนกันจนมีคนบาดเจ็บล้มตาย  มีความเสียหายมากมาย ทีนี้ล่ะครับ ตัวใครตัวมัน เพราะไม่มีใครอยากมารับผิดชอบสิ่งที่ตัวเองไม่ผิด และอยากให้คนที่ทำผิดมาชดใช้ความเสียหายใช่ไหมครับ   เวลาทะเลาะกันแล้วมีกันแค่ฝ่ายละคนก็ว่าตกลงกันอยากแล้ว   แต่ในความเป็นจริงทุกคนมีสังคมกันทั้งนั้นนี่ครับ ก็ระดมคนรู้จักมาช่วยตัวเองกันทั้งนั้น   และไม่ว่าจะคนดีขนาดไหน แต่ใครๆก็รักตัวเอง หรือญาติพี่น้อง เพื่อนพ้องตัวเองด้วยเสมอ   ไอ้ที่เคยฟันธงเป๊ะๆ มันเลยอาจเอนเอียงเข้าข้างตนเองได้ง่ายๆ เพราะเดิมพันมันใหญ่ขึ้นทุกที อาทิ   ติดคุก/รอดตัว   จ่าย 3 ล้าน / ได้ชดเชย 3 ล้าน   เป็นต้น

ถ้าเอาแบบสังคมนักปราชญ์ที่รถชนกันกลางสี่แยกแล้วต่างฝ่ายไปเรียกปราชญ์ของฝ่ายตนมาเถียงกันว่าใครผิด เคยคิดไหมครับว่าจะเถียงกันไปเรื่อยๆได้ขนาดไหน แล้วเถียงกันจะจบไหม  เพราะนักปราชญ์จากต่างสำนักก็มักจะให้เหตุผลเน้นน้ำหนักไปตามสังกัดสำนักที่ต่างกันอีก   หรือแย่กว่านั้น คือ ไม่ยึดเหตุผลแล้ว แต่หาข้ออ้างมาเถียงข้างคูๆ แต่ฟัง “ดูดี” ก็มี เพราะมีทักษะในการเถียง   บอกได้เลยครับว่า “ยาวววววว”

บางคนบอกว่า อย่าไร้สาระ ไม่เห็นมีอะไรยากเลยใช้ “สามัญสำนึก” สิ  เกิดอะไรขึ้นก็เอาสามัญสำนึกมาวัดเลยว่าทำอย่างนี้ ผิดหรือไม่ผิด   อย่าลืมนะครับว่า ประสบการณ์ในชีวิตคนน่ะ  มันต่างกัน!!!   เช่น รถเก๋งขับมาบนทางซ้ายชนเข้ากับคนเข็นรถหาบเร่ข้างถนนที่กำลังเดินทางเอาของไปขาย   คนเข็นรถอาจบอกได้ว่า ไม่มีน้ำใจมาชนคนที่เข็นรถหนักๆไปทำมาหากินได้อย่างไร   ส่วนคนขับรถเก๋งอาจบอกว่าอ้าวก็หลบไม่ได้อีกฟากมีรถสวนมาไงจึงต้องชิดด้านนี้   แล้วรัฐก็อาจมาบอกว่า ไม่สนใจอะไรทั้งนั้น ถนนเป็นที่ของยานพาหนะห้ามเข็นอะไรมากีดขวางการสัญจร   จบเลยครับ กฎหมายบอกอย่างนี้

เราคงเห็นแล้วว่า กฎหมายมีเพื่อป้องกันปัญหาการเถียงกันไม่จบ ไม่สิ้น   เพราะถ้าไม่มีกติกา ต่างฝ่ายต่างระดมเหตุผล พรรคพวก กำลังภายในทางมืด มาสู้กันไม่ถอย   เพราะต้องคอยยันกันไว้ไม่ให้ฝ่ายตัวเองเพลี่ยงพล้ำ   ยิ่งปัญหาใหญ่ๆ ที่เถียงกันเอาเป็นเอาตายและมีส่วนได้เสียกันมหาศาล ก็ทำให้ต้องเลิกสนใจเรื่องอื่น แล้วมาตื่นตัวคอยระวังเรื่องนี้ไว้ตลอดใช่ไหมครับ   เช่น   จะมีเขื่อนมาสร้างข้างบ้าน คนจะเอาเขื่อนเอาไฟก็ให้เหตุผลว่าต้องพัฒนาเพื่อคนทั้งชาติ   ชาวบ้านในพื้นที่ก็ว่าต้องรักษาไว้ให้ชุมชนใช้สอยไปถึงลูกหลาน มาปิดเบี่ยงทางน้ำ ตัดป่าไล่สัตว์ได้ยังไง   ถ้าไม่มีกฎหมายมาวางกรอบไว้ สงสัยได้ตั้งป้อมเฝ้าหรือจ้องเข้าไปไล่รื้อ  จนต้องมีกองกำลังติดอาวุธกันทั้งสองฝ่ายเป็นแน่

นี่ละครับ สิ่งที่เรียกว่าความเสี่ยง เพราะต้องคอยหวาดระแวงคนใกล้ตัว และระวังภัยที่คาดไม่ถึงตลอดเวลา   เพราะไม่มีกติกา หรือการบังคับใช้กติกาอย่างตรงไปตรงมา ให้คาดเดาได้ง่ายๆว่า ถ้าเกิดเหตุการณ์นี้จะมีขั้นตอนอย่างไร ใครผิด ใครถูก จะเถียงกันยังไง จะให้ใครมาเถียงได้บ้าง ถ้าเถียงกันไม่จบ จะใช้หลักอะไรในการตัดสินใจ   ถ้าตัดสินใจหรือตกลงกันไปแล้ว จะทำตามข้อตกลงกันยังไง            บางกรณียื้อกันไปยื้อกันมาหลายสิบปีเลยนะครับ   ไม่ต้องทำอะไรกันพอดี หรือที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า “เสียโอกาส” ในการพัฒนานั่นแหละครับ                  

ความขัดแย้งเป็นของคู่กันกับสังคมคนจำนวนมากอยู่แล้ว จนมนุษย์เรามีบทเรียนมาหลายร้อยปีแล้วว่า ถ้าเรื่องไหนจะทะเลาะกันหรือมันเคยทะเลาะกันมาบ่อยๆ ก็ควรตกลงกันไว้เถอะว่าจะอยู่ยังไง จะเอายังไง เพราะไม่งั้นก็ไม่เป็นทำอะไรแน่ ดังกรณีปัญหาในคลินิกกฎหมายทุกเรื่องที่มาปรึกษา ก็บอกว่าพอคนในครอบครัวมีเรื่องขึ้นมา ก็เครียดกันจนไม่เป็นอันกินอันนอนเลยทีเดียว   นี่มันปัญหาใหญ่นะครับ

สังคมที่จะมีความมั่นคงและทำให้คนในสังคมสบายใจมีเวลาไปพัฒนาตัวเองและสังคม จึงต้องเขียนกติกาขึ้นมาอยู่ด้วยกัน เพื่อให้คาดเดาได้ล่วงหน้าเลยว่า ถ้ามีเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น เรื่องจะจบลงอย่างไร ใครผิดใครถูก รวมไปถึงบอกว่า ต้องสู้คดีกันอย่างไร จะได้เตรียมตัวถูก

กฎหมายมหาชน เช่น รัฐธรรมนูญ นี่ล่ะครับที่เป็น กติกาในการจัดการความขัดแย้งและสร้างความมั่นคงให้กับสังคม   เพราะจะบอกว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์สำคัญๆในรัฐขึ้นมาจะจัดการอย่างไร  เพราะจะบอกว่าประชาชนทำอะไรได้ คือ บอกว่า “มีสิทธิ” อะไร   และบอกว่าต้อง “ใช้สิทธิอย่างไร”  ซึ่งก็คือบอก ขอบเขตการใช้สิทธิ ไม่ให้สร้างผลกระทบกับผู้อื่นมากเกินไป   ซึ่งนักกฎหมายชอบพูดว่า “ต้องใช้สิทธิโดยไม่ละเมิดสิทธิผู้อื่น” นั่นล่ะครับ  

การชุมนุมทางการเมือง เป็นเรื่องที่กฎหมายอนุญาตให้ทำได้ครับ เพราะรู้ว่าหลายครั้งท่านมีปัญหาต้องการการแก้ไข แต่ผู้มีอำนาจทั้งหลายไม่สนใจหรือไม่รับฟัง ก็ต้องรวมตัวกันแสดงพลังและส่งเสียงไปให้ได้ยินชัดขึ้น และไปถึงนำไปสู่การแก้ไขปัญหา   แต่ว่าต้องไม่ลืมนึกถึงคนอื่นๆในสังคมที่มีปัญหาในชีวิตประจำวันต้องดิ้นรนเหมือนกัน   ดังนั้นรัฐธรรมนูญจึงกำหนดว่าการใช้สิทธิจะได้รับการคุ้มครองหากชุมนุม “โดยสงบ” และ “ปราศจากอาวุธ”   นั่นล่ะครับ ต้องเขียนกันให้ชัดเป็นรูปธรรมขึ้น   แต่ผู้ที่มาตัดสินว่าเป็นไปตามกฎหมายกำหนดก็คือ “ศาล” ซึ่งต้องดูข้อเท็จจริงว่า มีการใช้อาวุธในการชุมนุมหรือไม่ ชุมนุมโดยใช้พื้นที่เหมาะสมกับจำนวนคนรึเปล่า มีความจำเป็นที่ต้องใช้เวลานานเพื่อเจรจาหรือต่อรองจนได้รับข้อตกลงหรือไม่ 

เพราะหากไม่มีขอบเขตการชุมนุม และไม่มีการชี้ขาด  คงทำให้คนในสังคมอีกจำนวนมากเดือดร้อน จนกลายเป็นเดือดดาล และอยากจะเข้ามายุติการชุมนุมด้วยน้ำมือของตัวเอง   ซึ่งเป็น “ความเสี่ยง” ที่กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมปล่อยให้เกิดขึ้นไม่ได้ครับ   เพราะรัฐสมัยใหม่จะต้องทำให้คนอยู่ร่วมกันได้โดยไม่ใช้ความรุนแรงที่จะนำความเสียหายและความโกรธแค้นหวาดระแวงตามมาอีกมากมาย  ซึ่งคนในสังคมไทยคงสัมผัสได้ถึงความรู้สึกนั้นใช่ไหมครับ

บล็อกของ ทศพล ทรรศนพรรณ

ทศพล ทรรศนพรรณ
ผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชน (Human Rights Defender – “นักปกป้องสิทธิมนุษยชน” คือ คำแปลทางการของรัฐไทย) ที่องค์การสหประชาชาติได้ให้นิยามไว้นั้นหมายถึง "บุคคลผู้ดำเนินการโดยลำพังหรือร่วมกับบุคคลอื่น กระทำการเพื่อส่งเสริมหรือคุ้ครองสิทธิมนุษยชน"
ทศพล ทรรศนพรรณ
เกษตรกรรมถือเป็นวิถีการผลิตที่อยู่ควบคู่กับชีวิตคนไทยจำนวนไม่น้อยมาเป็นเวลานาน   แต่ในปัจจุบันนี้การผลิตในวิถีทางเดิมได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างที่คนในสังคมไทยมิได้ตระหนักรู้    ความคิดและจินตนาการเดิมเกี่ยวกับเกษตรกรรมที่มีทุ่งนาสีเขียว ชาวนารวมตัวกันลงแขกเกี่ยวข้าว หรือทำการผ
ทศพล ทรรศนพรรณ
การใช้กำลังเข้าประหัตประหารกันของมนุษย์ปรากฏอยู่อย่างต่อเนื่องยาวนานควบคู่กับทุกสังคม   แต่ก็มีหลายอารยธรรมพยายามสร้างขอบเขตและแนวทางในการควบคุมความเสียหายของการใช้กำลังมิให้กระทบกระเทือนชีวิตผู้คน ทรัพย์สิน และสังคม มากเกินกว่าจะธำรงเผ่าพันธุ์ของมนุษย์ไว้ได้
ทศพล ทรรศนพรรณ
การรวมกลุ่มประเทศในระดับภูมิภาคเพื่อสร้างนโยบาย หรือกฎหมายร่วมกันของรัฐสมาชิก ตั้งอยู่บนหลักความสมัครใจเข้าร่วมของรัฐ โดยส่วนใหญ่ยึดถือเจตจำนงของรัฐเป็นสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด   เนื่องจากรัฐทั้งหลายที่เข้ารวมกลุ่มนั้นย่อมีความหวังที่จะบรรลุเป้าหมายความเจริญก้าวหน้า และประโยชน์ของรัฐตนเป็นท
ทศพล ทรรศนพรรณ
7.เสรีภาพในการแสดงออก การสอดส่องของรัฐ และการควบคุมเนื้อหา  
ทศพล ทรรศนพรรณ
แรงงานสร้างสรรค์ในบทความนี้ที่จะพูดถึง คือ ผู้คนที่ทำงานในอุตสาหกรรมภาคสร้างสรรค์ เช่น คนทำสื่อสาระ บันเทิง ละคร นักเขียน ไปจนถึง นักแปล ดารา นักแสดง ศิลปิน ที่กลายเป็นอาชีพที่ปัญญาชน หรือผู้มีการศึกษายึดเป็นวิถีทางในการประกอบสัมมาอาชีพ หารายได้เลี้ยงดูตนเองและครอบครัว กันเป็นจำนวนมาก
ทศพล ทรรศนพรรณ
การประกวดความงามในช่วงหลังได้กลายเป็นเวทีแสดงพลังของความงดงามที่หลากหลาย และใช้ประเด็นการสร้างความเข้มแข็งให้สตรีเป็นแกนหลักส่งเสริมความงาม “อย่างมีคุณค่า”
ทศพล ทรรศนพรรณ
ระบอบการกำกับโลกไซเบอร์และตัวแบบในการกำกับดูแลพื้นที่ไซเบอร์
ทศพล ทรรศนพรรณ
4.ความเป็นส่วนตัวในการสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล       
ทศพล ทรรศนพรรณ
Internet Communication            ปัจจุบันเทคโนโลยีถือเป็นตัวกำหนดภูมิทัศน์ทางสังคม เศรษฐกิจและวัฒนธรรม ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ถือเป็นความท้าทายในสังคมยุดิจิทัลซึ่งผู้ให้บริการในโลกธุรกิจต้องเผชิญ เ
ทศพล ทรรศนพรรณ
มาตรการรัดเข็มขัด (Austerity) หรือ นโยบายที่มีแนวโน้มปรับลดค่าใช้จ่ายภาครัฐหรือเพิ่มการจัดเก็บภาษีควบคู่ไปด้วย  แนวทางนี้เป็นสิ่งที่ถูกโจมตีโดยนักคิดนักวิเคราะห์สายส่งเสริมสวัสดิการสังคมและพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนมาอย่างต่อเนื่องเพราะการตัดลดงบประมาณหมายถึงการลดคุณภาพและปริมาณสวัสดิการสังคมที