Skip to main content

การบังคับใช้กฎหมายของรัฐเหนือดินแดนหลังหมดยุคอาณานิคมนั้น ก็มีความชัดเจนว่าบังคับกับทุกคนที่อยู่ในดินแดนนั้น  ไม่ว่าคนไทย จีน อาหรับ ฝรั่ง ขแมร์ พม่า เวียต หากเข้ามาอยู่ในดินแดนไทยแล้วก็ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายไทย ดุจเดียวกับ “คนชาติ” ไทย   แต่ความยากลำบากเกิดขึ้นเมื่อปัจจุบันการข้ามพรมแดนย้ายถิ่นไปมาของผู้คนได้ก่อสิทธิ-หน้าที่ ให้แก่คนเหล่านั้นอย่างไร และรัฐจะปกครองดูแลเหล่าคนอพยพทั้งหลายอย่างไร

ถือกำเนิดสัญชาติ

เมื่อพูดเรื่อง “คนชาติ”  หรือคนที่เป็นสมาชิกของรัฐนั้น  ย่อมเชื่อมโยงกับความเป็น “รัฐชาติสมัยใหม่”   อย่างที่เรารู้กันว่า ประชากรเป็นส่วนประกอบสำคัญที่สุดของรัฐ   การกำหนด “สัญชาติ” จึงเชื่อมโยงกับการกำหนด “เขตแดน” อย่างแยกกันแทบไม่ออก

วิธีการได้สัญชาติของคน มี 2 หลักใหญ่ๆ คือ ได้มาตาม หลักดินแดน กับ หลักสายเลือด

หลักดินแดน ก็ง่ายๆเลยครับ คือ ใครเกิดในดินแดนนั้น ก็ได้สัญชาติทันที ซึ่งวิธีนี้ง่ายในการพิสูจน์ แค่ยืนยัน ณ จุดเกิดว่ามีหลักฐานยืนยันการเกิดในดินแดนไหมก็ได้สัญชาติทันที   แต่ในความเป็นจริงไม่ง่าย เพราะคนที่เกิดในที่ห่างไกลไม่ได้แจ้งการเกิดตั้งแต่ต้นก็อาจมีปัญหาในการพิสูจน์สัญชาติมาก   คงเคยได้ยินกันบ้างว่า มีคนจำนวนมาก “ตกสำรวจ” ทำให้ฝ่ายปกครองต้องเข้าไปสำรวจ  หรือมีองค์กรพัฒนาเอกชนเข้าไปทำโครงการช่วยพิสูจน์สัญชาติจนได้รางวัลระดับโลกมาแล้ว

รัฐไทยเลือกที่จะสมาทานอีกหลักมากกว่า คือ หลักสายเลือด คือต้องพิสูจน์ให้ได้ว่ามี พ่อ หรือแม่ เป็นคนมีสัญชาติไทย   เพราะฝ่ายปกครองของรัฐไทยมองว่าลักษณะทางภูมิศาสตร์ไทยนั้นยากจะป้องกันอาจมีคนข้ามพรมแดนไปมาหากให้สัญชาติตามหลักดินแดนอาจมีปัญหาต่อความมั่นคง   เรื่องสัญชาติจึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการรักษาความมั่นคงแบบไทยๆ   ถึงขนาดว่าในยุคหนึ่ง รัฐไทยริบเอาสัญชาติคืนจากเด็กที่เกิดจากแม่ไทย “แต่มีพ่อต่างด้าว”  ก็กลายเป็นภัยคุกคามเลยทีเดียว เนื่องจากกลัวเรื่องผัวฝรั่ง เขยฝรั่ง จดทะเบียนแล้วมาถือครองทรัพย์สินในประเทศไทยมากมาย  แต่ปัญหาก็ได้รับการแก้ไขแล้ว

 

สัญชาติของบุคคล นำไปสู่สิทธิ-หน้าที่อะไร?

หากมองอย่างละเอียดจะแยกแยะได้ว่า หากกฎหมายกำหนดหน้าที่อะไรให้คนต้องทำตามกฎหมาย หรือไม่ละเมิดกฎหมาย เช่น กฎหมายอาญากำหนดว่าการช่วยปลิดชีพคนอื่นด้วยความเมตตาเป็นความผิดตามกฎหมายไทย   ไม่ว่าหมอหรือคนที่ใกล้ตายนั้นจะมีสัญชาติใดก็แล้วแต่ หากมีการช่วยปลิดชีวิตอย่างสงบเพื่อให้พ้นจากความทุกข์ทรมานด้วยวิธีการใดก็ตาม   หมอก็จะมีความผิดฐานทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย   แม้หมอหรือคนไข้คนนั้นจะมาจากประเทศที่อนุญาตให้ทำการุญฆาตก็ตาม

แต่ในทางกลับกัน เราพบความย้อนแย้งบางอย่าง คือ เมื่อคนต่างด้าวเข้ามาอยู่ในประเทศ เขาอาจไม่ได้รับสิทธิทัดเทียมกับคนชาตินั้น   เช่น ไม่มีสิทธิทางการเมืองในการเลือกตั้ง ไม่มีสิทธิทางเศรษฐกิจในการรับสวัสดิการ หรือไม่ได้สิทธิทางสังคมและวัฒนธรรมในการรวมกลุ่มทำกิจกรรมตามประเพณี หากรัฐมองว่าเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคง ดังที่เคยมีกรณี กอ.รมน. เข้าไปห้ามการทำกิจกรรมประจำปีของชาวไทใหญ่ เป็นต้น

เรื่องรับหน้าที่เต็ม หรือมีหน้าที่เพิ่มเติมนี้ เป็นที่เข้าใจได้เหมือนกันทั่วโลก เนื่องจาก คนต่างด้าวไม่มีจุดเกาะเกี่ยวกับรัฐ   จึงต้องมีการสอดส่องและกำหนดหน้าที่เพิ่มเติม    แต่สิ่งที่ถกเถียงกันมาก คือ ความลักลั่นของ มาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนให้กับคนต่างด้าว   ไม่ว่าจะเทียบระหว่าง สิทธิของคนชาติ กับ สิทธิคนต่างด้าว   หรือที่เลวร้ายกว่า คือ สิทธิของคนต่างด้าวสัญชาติหนึ่ง กับ อีกสัญชาติ

รัฐไทยมีแนวทางและการปฏิบัติต่อ นักลงทุนต่างชาติ กับ แรงงานต่างด้าว ต่างกันขนาดไหน คนไทยที่เบิกตากว้างหน่อยก็คงรับรู้ดี

 

การจัดการกับคนต่างด้าวในดินแดนตน

จากปรากฏการณ์แรงงานต่างด้าวแห่เดินทางออกจากประเทศไทย และผู้แทนไทยโหวตไม่รับรองเรื่องสิทธิแรงงานในองค์การระหว่างประเทศ นำมาซึ่งข้อถกเถียงที่เผ็ดร้อนนอกประเทศ แม้จะเงียบงันไปบ้างในประเทศไทยก็คือ   รัฐไทยจัดการกับปัญหาแรงงานต่างด้าวที่เป็นกำลังสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างไร?     

ใช่แล้วครับ ทุกรัฐห่วงเรื่องเศรษฐกิจของตนเป็นหลักก่อน แล้วถึงจะมาออกแบบวิธีการดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน รวมไปถึงการจัดสวัสดิการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานต่างด้าว เพื่อให้มีความมั่นใจและยังคงอยู่ทำงานในประเทศต่อไป   เพราะงานประเภท สกปรก อันตราย ไร้ศักดิ์ศรี ยากจะมีคนมาทำ ต้องอาศัยแรงงานต่างด้าวที่หวังมาขุดทองนี่ล่ะครับ   ดังนั้น หาก “เขา” รู้สึกไม่ปลอดภัยหรือได้ไม่คุ้มเสียแล้วล่ะก็ แรงงานก็จะหนีกลับประเทศหรือย้ายไปทำงานที่อื่น

ในระดับโลกลงมาถึงภูมิภาคอาเซียน หรือภูมิภาคใดก็แล้วแต่ที่มีแรงงานเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดนกัน   จึงต้องพยายามออกแบบเรื่องการดูแลสิทธิแรงงานต่างด้าวและสมาชิกในครอบครัว   คือ ให้การดูแลสิทธิขั้นพื้นฐานต่ำสุด เพื่อไม่ให้คนเหล่านี้ตกเป็นทาสหรือเสี่ยงต่อภยันตราย และรู้สึกมั่นคงในชีวิตพร้อมที่จะทำงานได้อย่างต่อเนื่อง   รัฐที่ฉลาดจึงต้องออกแบบสิ่งเหล่านี้ให้ดี เพราะหวังว่าจะมีคนชาติมาทำงานเหล่านี้ทั้งหมดก็ไม่ง่าย   คนที่ได้รับผลกระทบจริงๆ ก็นายทุนพรรคทั้งนั้น

โมเดลทางเลือกที่เคยมีจากเข้มๆ ไปหาอ่อนๆ ได้แก่

- สิทธิสภาพนอกอาณาเขต คือ ให้คนต่างด้าวอยู่ภายใต้กฎหมายสัญชาติตัวเอง กฎหมายของเจ้าของประเทศไม่มีความหมายบังคับไม่ได้ มีข้อพิพาทก็ไปขึ้นศาลกงสุล   ซึ่งนี่คือ การเสียเอกราช

- การปกครองตนเอง คือ การให้พื้นที่เฉพาะในการปกครองกันเองของกลุ่มชาติพันธุ์ที่อพยพเข้ามาแล้วรัฐเจ้าของดินแดนไม่อยากให้ออกไป หรือผลักดันกลับไปไม่ได้ หรืออาจมีข้อขัดแย้งทางประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ จนต้องยอมให้ “ที่ว่าง” ในการจัดการเพื่อบรรเทาความขัดแย้ง   ซึ่งกรณีนี้มีเพียงในประเทศที่มีความขัดแย้งระหว่างคนต่างชาติพันธุ์ในรัฐ

- เขตปกครองพิเศษ คือ การกำหนดพื้นที่เฉพาะที่ใช้มาตรฐานพิเศษ ผ่านทางกฎหมายเศรษฐกิจพิเศษบ้าง การปกครองส่วนท้องถิ่นบ้าง แนวนี้เป็นที่นิยมมากขึ้นในประเทศรับการลงทุน   แต่ข้อสังเกต คือ แม้เปิดให้แรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานได้รับสิทธิ    แต่คนชาติที่เข้าไปทำงานอาจด้อยสิทธิลงในเขตพิเศษนี้   เพราะมีไว้เพื่อประโยชน์ของนักลงทุน

- สถานะกึ่งพลเมือง คือ การกำหนดสถานะทางสัญชาติแบบหนึ่งให้คนต่างด้าวเหล่านี้มีสิทธิหลายประการเกือบเทียบเท่าคนชาติ ถึงขนาดให้สิทธิทางการเมือง เช่น เลือกตั้ง เพียงแต่อาจกำหนดให้อยู่ในระดับท้องถิ่น   ส่วนเรื่องอื่นๆ เช่น สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม นั้นมีเทียบเท่าคนชาติ   เพียงแต่กำหนดอนาคตของชาติไม่ได้เท่านั้นเอง   กรณีนี้มีมากในสหภาพยุโรป เช่น เยอรมนีให้ชุมชนชาวตุรกีเลือกผู้นำท้องถิ่นในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตนเองได้

- การให้สิทธิบางประการ คือ การกำหนดในกฎหมายหลักต่างๆ ว่าสิทธิใดจะให้คนต่างด้าว สิทธิใดไม่ให้    ซึ่งประเทศไทยอยู่ในลักษณะนี้ ซึ่งมีปัญหามาก   เนื่องจากหน่วยงานต่างๆ ตีความไม่สอดคล้องกัน   คนเขียนกฎหมายจะให้สิทธิขั้นพื้นฐาน แต่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงอาจตีความแล้วไม่ให้สิทธิก็ได้   จนต้องมีประกาศ คำสั่ง ออกมาหลายๆเรื่อง เช่น ให้เด็กทุคนเข้าเรียนประถมได้ ให้คนต่างด้าวจ่ายเพื่อเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้ เป็นต้น

 

กฎหมายของรัฐติดตามคนชาติออกไปนอกประเทศมากขนาดไหน?

หลังจากมีข่าวดังเกี่ยวกับ คณะรัฐประหารเรียกตัวคนไทยในต่างแดน และมีความพยายามดำเนินคดีกับคนไทยที่ทำผิดกฎหมายนอกราชอาณาจักร ทำให้สงสัยว่า ทำได้ไหม   หากกางกฎหมายอาญาหรือกฎหมายต่างๆที่มีโทษทางอาญา จะพบว่า   กฎหมายกำหนดให้ความผิดต่อความมั่นคง เป็นความผิดที่ติดตามบุคคลออกไปนอกประเทศ   รวมถึงบังคับต่อคนต่างด้าวที่กระทำผิดต่อรัฐไทยเสียด้วย

แต่ปัญหาใหญ่ๆ ที่ขวางกระบวนการบังคับใช้กฎหมายอยู่ คือ รัฐปลายทางที่ ผู้ต้องหาอาศัยอยู่นั้น จะยอมให้ความร่วมมือส่งนักโทษคดีความมั่นคงกลับมาให้ประเทศไทยหรือไม่   ก็ขอให้ย้อนกลับไปอ่านรายละเอียดในตอน กฎหมายบังคับใช้ที่ไหน? ซึ่งให้รายละเอียดไว้

แต่ตอบหลักๆ ง่ายๆ คือ ถ้าเป็นคดีทางการเมือง เป็นความผิดที่ไม่มีในกฎหมายของประเทศปลายทาง หรือประเทศที่ขอให้ส่งตัวผู้ร้ายนั้นไม่ให้หลักประกันสิทธิมนุษยชน   เขาจะไม่ส่งกันครับ ทั้งยังทำให้ผู้ต้องหานั้นมีได้สถานะ “ผู้ลี้ภัยทางการเมือง” ปลอดจากการบังคับและไม่ถูกส่งกลับประเทศไปเสี่ยงต่อการถูกประหัตประหารเลยทีเดียว

 

รัฐไปช่วยเหลือคนชาติในต่างแดนได้อย่างไร?

นอกจากประมุขของรัฐ ประมุขรัฐบาล รัฐมนตรีการต่างประเทศ และนักการทูตที่ได้เอกสิทธิ์ความคุ้มกันไม่ต้องตกอยู่ภายใต้บังคับของประเทศอื่นแล้ว   ก็ยังมีบางกรณีที่คนชาติอาจได้รับการปกป้องจากประเทศเจ้าของสัญชาติตนในต่างแดน คือ เรื่องการคุ้มครองคนชาติในต่างแดน

หากเหล่าคนสำคัญข้างต้นทำความผิดทางอาญา หรือก่อเหตุละเมิดจนเกิดความเสียหาย เหยื่อผู้เสียหายจะแจ้งความต่อรัฐตนให้ดำเนินคดีในศาลตนจนมีคำสั่งศาล แล้วส่งไปที่รัฐบาล รัฐบาลจะส่งต่อไปยังกระทรวงการต่างประเทศ แล้วยื่นเรื่องไปให้ทูตตนในประเทศปลายทางรับทราบ แล้วกระทรวงการประเทศของรัฐปลายทางก็จะดำเนินการส่งเรื่องไปยังศาลภายในตน ศาลพิพากษาบังคับคดีสั่งจำคุก ถ้ามีการชดเชยค่าสินไหม ก็จะส่งกลับไปยังกระทรวงการต่างประเทศตน ติดต่อทูตประเทศที่เสียหาย แล้วประสานงานกลับไป ก่อนที่ทูตจะนำเรื่องกลับเข้ามาที่รัฐบาลตน ส่งเงินไปยังศาล แล้วชดใช้ให้กับผู้เสียหาย

ยาววววววววววววววววว ไหมล่ะครับ

ส่วนการดูแลสามัญชนคนชาติในต่างแดน จะใช้หลักการคุ้มครองทางการทูต ที่มีไว้เพื่อให้รัฐสามารถยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือคนชาติ บรรษัทที่มีสัญชาติตนในกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้เกิดการคุ้มครองสิทธิให้เป็นไปตามหลักประกันทางกฎหมาย   หากเป็นคดีทางอาญาก็จะช่วยดูแลให้เป็นไปตามหลักประกันสิทธิของรัฐนั้น หรือตามมาตรฐานสากลที่รัฐนั้นผูกพันต้องทำตามอยู่

ส่วนในคดีแพ่งและพาณิชย์ เรื่องชีวิตหรือ เงินๆ ทองๆ หากเกิดความลักลั่นย้อนแย้ง เช่นเรื่องนั้นเกี่ยวข้องกับหลายประเทศ หรือมากกว่า 1 ประเทศ ก็จะต้องหยิบเอา “กฎหมายขัดกัน” มาพิจารณาว่ากรณีพิพาทเรื่องนั้น   ต้องใช้กฎหมายของรัฐใด ก่อนที่จำนำคดีไปพิจารณาในศาลที่กฎหมายขัดกันกำหนด เพื่อให้เกิดการดำเนินคดีที่เลื่อนไหลไม่ติดขัดต่อไป

 

คงเห็นแล้วใช่ไหมครับ ว่าการดูแลคนน่ะ มันต้องใช้ความละเอียดอ่อนมากขนาดไหน การบริหารแบบขอไปที หรือใช้แต่วิธีรุนแรงหรือบังคับกัน มันไม่สำเร็จง่ายๆ หรอกครับ

บล็อกของ ทศพล ทรรศนพรรณ

ทศพล ทรรศนพรรณ
มาตรการสำหรับการแก้ปัญหาความอดอยากหิวโหยที่เกิดจากภัยพิบัติธรรมชาตินั้นสามารถดำเนินการได้ใน 3 ช่วงเวลา ก็คือ การเตรียมตัวก่อนภัยพิบัติจะเกิด การบรรเทาและแก้ไขปัญหาในขณะเกิดภัยพิบัติ การเยียวยาและฟื้นฟูหลังภัยพิบัติผ่านไปแล้ว   ในบทความนี้จะนำเสนอมาตรการและกรณีศึกษาที่ใช้ในการขจัดความหิว
ทศพล ทรรศนพรรณ
มาตรการทั่วไปที่ใช้ในการประกันความอิ่มท้องของประชากรในประเทศตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติที่รัฐบาลไทยประกาศสมาทานยึดถือนั้น ตั้งอยู่บนหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนเรื่องสิทธิด้านอาหาร นั้นหมายถึงรัฐไทยต้องมีมาตรการเคารพ ปกป้อง และส่งเสริมสิทธิประกอบด้วย กรอบทางกฎหมาย   กรอบทางนโย
ทศพล ทรรศนพรรณ
อุดมการณ์ที่เป็นสาเหตุของปัญหาแรงงานที่เกิดขึ้นทั่วโลกอยู่นั้น มีจุดก่อตัวมาจากระบบเศรษฐกิจการเมืองแบบเสรีนิยมใหม่ที่เข้ามาพร้อม ๆ กับกระแสแห่งการพัฒนาของโลกยุคโลกาภิวัฒน์ ที่ทำให้เกิดเสรีทางการลงทุนจนนำมาซึ่งรูปแบบการจ้างงานรูปที่มีความยืดหยุ่นต่อการบริหารจัดการของบรรษัท และสามารถตอบโจทย์นักลงทุ
ทศพล ทรรศนพรรณ
การขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินจำเป็นต้องวางแผนในการดำเนินการด้วยความเข้าใจพื้นฐานที่ว่า ความขัดแย้งเป็นสิ่งธรรมดาสามัญที่เกิดขึ้นได้ หากต้องการผลักดันข้อบัญญัติท้องถิ่นให้สำเร็จจึงต้องสามารถทำความเข้าใจลักษณะของข้อพิพาทที่มักเกิดขึ้นในการจัดการที่ดิน   และมีแนวทางในการข
ทศพล ทรรศนพรรณ
 ลู่ทางส่งเสริมการการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแก้ปัญหามลพิษ มีดังต่อไปนี้
ทศพล ทรรศนพรรณ
ปัญหาสิ่งแวดล้อมมักสร้างผลกระทบในระยะยาว ไม่ได้เกิดการบาดเจ็บ เสียหาย ทันทีทันใด   ดังนั้นเราจึงต้องมีวิธีการพิสูจน์ว่าความเจ็บป่วย เสียหายที่เกิดขึ้นนั้นมีผลมาจากปัญหาสิ่งแวดล้อมจริง   สิ่งที่เราต้องทำคือการเก็บหลักฐานอย่างต่อเนื่องและชัดเจนเพื่อนำไปใช้เป็นพยานหลักฐาน &n
ทศพล ทรรศนพรรณ
การจัดชุมนุมสาธารณะย่อมเป็นที่สนใจของสังคมตามความประสงค์ของผู้จัด จึงมีสื่อมวลชนที่เข้าร่วมทำข่าวทั้งที่เป็นสื่อมวลชนอาชีพที่มีสังกัดประจำหรือสื่อพลเมืองที่ทำหน้าที่ติดตามสถานการณ์และรายงานข่าวตามภูมิทัศน์เทคโนโลยีสื่อสารที่ปรับตัวไป 
ทศพล ทรรศนพรรณ
การชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธมีข้อจำกัดที่อาจถูกรัฐเข้าระงับหรือแทรกแซงการใช้สิทธิได้ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 4 ในสภาวะฉุกเฉินสาธารณะที่คุกคามความอยู่รอดของชาติที่ถูกประกาศอย่างเป็นทางการ และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักไทย พุทธศักราช 2560 กำหนดถึงเหตุที
ทศพล ทรรศนพรรณ
การชุมนุมโดยสงบเป็นเครื่องมือที่ทำให้บุคคลทั้งหลายสามารถแสดงออกร่วมกันและมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลง ให้ปัจเจกสามารถแสดงความเป็นตัวตนของตัวเองร่วมกับผู้อื่น   โดยการเลือกสถานที่การชุมนุมอยู่ภายใต้หลักมองเห็นและได้ยิน (sight and sound) ทั้งนี้ผู้ชุมนุมต้องอยู่ในที่ที่มองเห็นและสาธารณชนต้อ
ทศพล ทรรศนพรรณ
ขบวนการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้น ในบริบทโครงสร้างทางอำนาจในสังคมที่ไม่เท่าเทียมกัน การรวมศูนย์อำนาจหรือการครอบงำทางวัฒนธรรมโดยใช้วัฒนธรรมเดียว สิทธิชุมชนจึงเป็นการต่อสู้เพื่อปรับสัมพันธภาพทางอำนาจ สร้างตำแหน่งแห่งที่ให้ชุมชนให้เกิดความเป็นธรรมและเคารพในความหลากหลาย โดยท้องถิ่นมีเสรีภาพในการกำหนดกติกา
ทศพล ทรรศนพรรณ
ข้อกล่าวอ้างสำคัญของรัฐบาลไทยในการเพิ่มศักยภาพในด้านข่าวกรองและออกกฎหมายที่ให้อำนาจสอดส่องการสื่อสารของประชาชน คือ “ถ้าประชาชนไม่ได้ทำผิดจะกลัวอะไร” โดยมิได้คำนึงหลักการพื้นฐานเบื้องต้นว่า แม้ประชาชนมิได้ทำผิดกฎหมายอันใดก็มีสิทธิความเป็นส่วนตัว ปลอดจากการแทรกแซงการสื่อสาร อันเป็นสิทธิพื้นฐานตามกฎ
ทศพล ทรรศนพรรณ
การพัฒนารัฐที่ใช้กฎหมายเป็นหลักประกันสิทธิมนุษยชนของประชาชน และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของพลเมืองในประเด็นสาธารณะของผู้ตื่นตัวทางการเมืองในลักษณะ “นิติรัฐอย่างเป็นทางการ” แตกต่างจากความสัมพันธ์ทางอำนาจแบบ “ไม่เป็นทางการ” ที่รัฐอาจหลีกเลี่ยงการใช้อำนาจปกครองภายใต้กรอบของกฎหมายเพื่อประกันสิทธิเสรีภาพต