ขบวนการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้น ในบริบทโครงสร้างทางอำนาจในสังคมที่ไม่เท่าเทียมกัน การรวมศูนย์อำนาจหรือการครอบงำทางวัฒนธรรมโดยใช้วัฒนธรรมเดียว สิทธิชุมชนจึงเป็นการต่อสู้เพื่อปรับสัมพันธภาพทางอำนาจ สร้างตำแหน่งแห่งที่ให้ชุมชนให้เกิดความเป็นธรรมและเคารพในความหลากหลาย โดยท้องถิ่นมีเสรีภาพในการกำหนดกติกา วิถีชีวิต เศรษฐกิจและแบบแผน การจัดการทรัพยากรที่เหมาะสมกับระบบนิเวศและวัฒนธรรมของตน ทั้งนี้อยู่บนพื้นฐานความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย นัยของสิทธิชุมชนดังกล่าวจึงมีความลึกซึ้งกว้างขวางกว่า คำว่า“การกระจายอำนาจ” “การมีส่วนร่วม” “ประชาสังคม” และ “ธรรมรัฐ” ซึ่งเป็นคำที่รัฐหยิบมาใช้โดยขาดจิตวิญญาณเพื่อประชาชนและชุมชนอย่างแท้จริง
นับแต่การปฏิวัติเทคโนโลยีสารสนเทศก็ปรากฏ ชุมชนเสมือนจริง (Virtual Community) ขึ้นเป็นชุมชนรูปแบบใหม่ที่เกิดมา พรอ้มกับเทคโนโลยีสื่อสารจึงไม่จำกัดอยู่กับพื้นที่ทางภูมิศาสตร์แต่มีเครือข่ายที่เชื่อมโยงสื่อสารกันได้ โดยมีวัตถุประสงค์ร่วมกัน ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารประสบการณ์ และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เช่น เครือข่ายทางวิทยุ หรือ อินเทอร์เน็ต เป็นต้น จึงเป็นชุมชนที่อาศัยเทคโนโลยีสื่อสารและสารสนเทศซึ่งมีลักษณะเปิดกว้างให้กับสมาชิกทุกประเภทเป็นชุมชนที่ไร้พรมแดน
ประชาชนผู้รวมตัวกันเพื่อแสดงออกในประเด็นสาธารณะ หรือในทางทฤษฎีที่เรียกว่า “กลุ่มผลประโยชน์และกลุ่มกดดัน” ถือเป็นภาพสะท้อนของการใช้สิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในการแสดงออกซึ่งความต้องการของตน (Freedom of Expression) ที่มาควบคู่กันกับสิทธิในการชุมนุม (Right to Assembly) หรือการรวมตัวสมาคม (Freedom of Association) ของตนเอง อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย จึงอาจกล่าวได้ว่าการแสดงออกด้วยวิธีการชุมนุมหรือรวมกลุ่มบน “พื้นที่สาธารณะ” (public space) เป็นพื้นที่แห่งการแสดงออกซึ่งเจตจำนงของมวลชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยในอันที่จะเป็นเครื่องสะท้อนสังคม และกระตุ้นเตือน “รัฐบาล” ผู้กำหนดนโยบายแห่งรัฐอันส่งผลโดยตรงต่อความเป็นอยู่ของประชาชนให้ตระหนักถึงความสำคัญของการจัดสรรทรัพยากรร่วมให้เป็นไปตามกฎหมายและคำนึงถึงสิทธิของประชาชน
อุปสรรคสำคัญต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนก็คือ การดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อขัดขวางการมีส่วนร่วมของประชาชน (SLAPP - Strategic Lawsuit Against Public Participation) ซึ่งหมายถึงการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมของประชาชนในกิจการสาธารณะ หรืออาจเรียกง่ายๆ ว่า “การฟ้องคดีเพื่อตบปาก” คดีประเภทนี้จะแตกต่างจากคดีทั่วไป ตรงที่ผู้ฟ้องได้ฟ้องคดีเพียงเพื่อขู่อีกฝ่ายให้กลัว หรือทำให้เกิดภาระมากมายจนหยุดการกระทำ หรือแกล้งขัดขวางยับยั้งการใช้สิทธิเสรีภาพของอีกฝ่าย โดยถ้อยคำข้างต้นพ้องกับคำว่า slap ในภาษาอังกฤษ ซึ่งมีความหมายว่า “ตบ” ทำให้เห็นได้ว่าการฟ้องคดีที่มีลักษณะเป็น SLAPP ก็เหมือนเป็นการตบคนด้วยกฎหมายนั่นเอง
บทเรียนจากกรณีศึกษาทั้งในไทยและต่างประเทศก็สะท้อนให้เห็นความจำเป็นในการสร้างมาตรการป้องกันมิให้รัฐหรือบรรษัทเลี่ยงการถูกตรวจสอบด้วยการฟ้องหมิ่นประมาทประชาชน หากเปรียบเทียบกับในต่างประเทศ เมื่อมีการดำเนินคดีเพื่อยับยั้งการมีส่วนร่วมในกิจกรรมสาธารณะ (SLAPP) ก็มีความพยายามเป็นรูปธรรมในการแก้ปัญหาก็คือ กฎหมาย Anti-Slapp ของมลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกามิได้ห้ามโจทก์ฟ้องคดีเพื่อยับยั้งการมีส่วนร่วมในกิจกรรมสาธารณะ แต่ได้กำหนดมาตรฐานพิเศษเพื่อรักษาไว้ซึ่งประโยชน์สาธารณะ (special motion to strike) โดยการเปิดช่องให้จำเลยขอยุติการดำเนินคดีอย่างรวดเร็วและกำหนดภาระให้โจทก์ต้องจ่ายค่าใช้จ่ายและค่าทนายให้กับจำเลย
แต่เมื่อดูคดีที่เกิดขึ้นในประเทศไทยการบังคับใช้กฎหมายเพื่อตบปากประชาชนปรากฏในหลายรูปแบบ ตัวอย่างเช่น การฟ้องความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และ 328 และ นำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ ตามมาตรา 14 ของพระราชบัญญัติการทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ โดยผลสะเทือนของคดีนั้นรุนแรงถึงขั้นทำให้ไม่สามารถเดินทางเข้าออกประเทศไทยได้อย่างสะดวก อันเป็นการขัดขวางการใช้สิทธิเสรีภาพอย่างร้ายแรง หรือการมีคดีความติดตัวจนเป็นการยากในการทำงาน และเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ รึเป็นคดีความติดตัวจนไม่อาจลงรับสมัครเลือกตั้งหรือดำรงตำแหน่งสำคัญได้
โดยทั่วไปสิทธิในการฟ้องคดีมีจุดมุ่งหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ หรือให้สิทธิเรียกร้องความเป็นธรรม และประชาชนทุกคนมีสิทธิในกระบวนการยุติธรรมที่จะฟ้องร้องผู้ที่ทำให้เราเสียหายได้ แต่ทว่า ปฏิบัติการตบปากด้วยกฎหมาย กลับมีจุดมุ่งหมายที่ต่างออกไป โดยการฟ้องคนในลักษณะตบปาก ไม่ได้ต้องการความเป็นธรรม แต่ต้องการใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือหยุดกลุ่มคนหรือบุคคลที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านหรือวิพากษ์วิจารณ์ให้มีภาระทางกฎหมาย ซึ่งต้องมีค่าใช้จ่ายจำนวนพอสมควรในการต่อสู้คดี ทั้งนี้ ฐานความผิดที่นิยมใช้ส่วนมากก็คือ การฟ้องหมิ่นฐานประมาท แต่ในบางประเทศก็อาจจะนำกฎหมายอื่น ๆ อย่างเช่น กฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคงมาใช้ด้วย
กลุ่มที่มักตกเป็นผู้ถูกฟ้องหรือจำเลยในคดีฟ้องตบปาก คือ ปัจเจกบุคคลทั่วไป ภาคประชาสังคม องค์กรหรือหน่วยงานอื่น ๆ ที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐ ซึ่งได้ปฏิบัติการเคลื่อนไหวคัดค้านการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของกลุ่มบรรษัทหรือผู้มีอำนาจรัฐ โดยกิจกรรมดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ (Public Interest) และในการฟ้องปิดปากก็ทำให้ผู้ตกเป็นเหยื่อต้องเสียทั้งเวลาทั้งทรัพยากรต่าง ๆ ไปจำนวนมากในระหว่างการต่อสู้ในชั้นศาล การฟ้องปิดปากจึงกลายเป็นอุปสรรคสำคัญอย่างหนึ่งในการจะดำเนินกิจกรรมเคลื่อนไหวคัดค้านของผู้ถูกฟ้อง ในส่วนของประเด็นทางกฎหมายที่ถูกนำมาใช้ในการฟ้องตบปากนั้น ขึ้นอยู่กับลักษณะการกระทำของฝ่ายผู้ถูกฟ้อง ไม่ว่าจะเป็น ข้อหาหมิ่นประมาททำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง (Defamation) ข้อหาบุกรุกความเป็นส่วนตัว (Invasion of Privacy) การใช้กระบวนพิจารณาของศาลไปในทางมิชอบ (Abuse of Process), การฟ้องเท็จ (Malicious Prosecution) ความผิดฐานสมคบกันเพื่อร่วมกันกระทำการทุจริต (Civil Conspiracy) และการแทรกแซงการทำสัญญา หรือความสัมพันธ์ทางธุรกิจอันมีลักษณะเป็นการละเมิด (tortious interference with contract or business relationships) เป็นต้น
จะเห็นได้ว่าการฟ้องตบปากถือเป็นเป็นอุปสรรคสำคัญที่ขัดขวางการมีส่วนร่วมของประชาชนทั้งในไทยและต่างประเทศดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น หากจะส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนบนพื้นที่ไซเบอร์และลดต้นทุนให้กับพลเมืองผู้ตื่นตัวให้กล้าแสดงออกใด ๆ ต้องลดความสุ่มเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องดำเนินคดี
นอกจากนี้การสร้างหลักประกันพื้นฐานอื่น ๆ เกี่ยวกับสิทธิในการรวมกลุ่มเป็นสมาคมตั้งสหภาพ เสรีภาพในการชุมนุม และสิทธิในความเป็นส่วนตัวได้รับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ทั้งบนพื้นที่ไซเบอร์และในโลกกายภาพ ก็เป็นสิ่งที่รัฐไทยต้องพยายามปรับปรุงต่อไปเพื่อเสริมสร้างความมั่นใจให้ประชาชนทั่วไปกล้าที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงออกเพื่อเรียกร้องสิทธิในทรัพยากรร่วมมากยิ่งขึ้น