Skip to main content

บทบัญญัติกฎหมายที่ใช้เป็นรากฐานในการอ้างสิทธิในการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนนั้น จะพบว่ารัฐไทยได้วางบรรทัดฐานทางกฎหมายที่รับสิทธิของประชาชนในการรวมกลุ่มกันเพื่อแสดงออกในประเด็นทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเริ่มต้นจากหลักการพื้นฐานสำคัญที่เชื่อมโยงเรื่องสิทธิมนุษยชนเข้าหาสิ่งแวดล้อมนั่นก็คือ แนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนบนหลักการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยแสดงให้เห็นถึงการรับรองหลักการมีส่วนร่วมซึ่งเป็นรากฐานของสิทธิในการรวมกลุ่มและเสรีภาพในการแสดงออก ในกฎหมายสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศที่มีสภาพบังคับต่อรัฐไทยแตกต่างกัน เรื่อยมาจนถึงกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศผลผูกพันรัฐไทยให้ต้องประกันสิทธิเหล่านี้ นอกจากนี้ยังได้แสดงให้เห็นถึงขอบเขตวิธีการใช้สิทธิเสรีภาพเช่นว่ารวมถึงเงื่อนไขในการจำกัดสิทธิเสรีภาพดังกล่าวบางประการ โดยในท้ายที่สุดจะใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชาอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ซึ่งเป็นบทบัญญัติกฎหมายที่มีผลผูกพันทุกองค์กรเป็นแนวทางในการวางหลักประกันสิทธิของประชาชนในการมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นและตัดสินใจในประเด็นทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

แต่เมื่อพิจารณา จะเห็นได้ว่าสิทธิในความเป็นส่วนตัว การแสดงออก การชุมนุมและการรวมตัวโดยสงบ นั้นไม่อยู่ในข้อยกเว้นของพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนที่รัฐภาคีไม่อาจ ใช้มาตรการหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งหมายความว่า ในภาวะฉุกเฉินสาธารณะเช่นว่านั้น รัฐภาคีก็อาจใช้มาตรการบางประการเพื่อจำกัดสิทธิในการชุมนุมได้เพียงเท่าที่จำเป็น ตามความฉุกเฉินของสถานการณ์ ซึ่งมีข้อสังเกตว่า โดยเฉพาะถ้าภาวะฉุกเฉิน สาธารณะซึ่งคุกคามความอยู่รอดของชาตินั้นเกิดขึ้นจาก “กลุ่มเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิ” นั้นเอง รัฐภาคีก็ชอบที่จะพิจารณาโดยเด็ดขาดและดำเนินมาตรการบางประการ ในการจำกัดขอบเขตของการรวมตัวและแสดงออกเพื่อระงับภาวะฉุกเฉินสาธารณะเช่นว่านั้นได้

ในปัจจุบันอินเตอร์เน็ตได้เข้ามามีบทบาทในการเป็นช่องทางในการสื่อสารและสร้างพื้นที่สาธารณะในการเชื่อมโยงผู้คนที่มีความสนใจและรสนิยมใกล้เคียงกันให้เข้ามาปฏิสัมพันธ์และแบ่งปันข้อมูลความคิด และความปรารถนาความหวังร่วมกัน อันเป็นที่มาว่าต้องศึกษาหาความเป็นไปได้ในการใช้อินเตอร์เน็ตส่งเสริมความเป็นไปได้ในการรวมกลุ่มกันเพื่อแสดงออกในประเด็นฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คนไทยเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้มากขึ้นตามราคาสมาร์ทโฟนที่ลดลง อันเป็นการเพิ่มโอกาสในการใช้อินเตอร์เน็ตโดยเฉพาะโซเชียลเน็ตเวิร์คเป็นพื้นที่ในการสร้างชุมชนเสมือนที่เชื่อมโยงกันด้วยสำนึกร่วมด้านสิ่งแวดล้อม และยังสามารถประยุกต์ใช้เป็นช่องทางในการแสดงออกเพื่อมีส่วนร่วมในกำหนดทิศทางนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม หรือการมีส่วนร่วมตัดสินใจในโครงการสาธารณะที่มีผลกระทบต่อสิทธิในคุณภาพชีวิตที่ดีด้านสิ่งแวดล้อมของประชาชน การสื่อสารประเด็นอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือการระดมมวลชนพลเมืองเน็ตให้ตระหนักถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมจึงเป็นช่องทางที่จะมีอิทธิพลทางการเคลื่อนไหวขบวนการด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเรื่อย ๆ หากเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนกลายเป็นคุณค่าหลักของผู้บริโภคในตลาดอีคอมเมิร์ซ การขับเคลื่อนให้ผู้ผลิตปรับกระบวนการผลิต โลจิสติกส์ และองคาพยพที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับมาตรฐานการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ก็จะมีพลังมากขึ้น

จากการประเมินสถานการณ์ปัจจุบันจะเห็นว่าอินเตอร์เน็ตสร้างศักยภาพในเชิงเปิดช่องทางและพื้นที่ในการรวมกลุ่มและสื่อสารให้กับขบวนการเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากร เนื่องจากมีทุนในการใช้ช่องทางและพื้นที่ต่ำ และก้าวข้ามข้อจำกัดทางกฎหมายอาทิข้อห้ามด้านการรวมกลุ่มชุมนุมในพื้นที่สาธารณะตามกฎหมาย อย่างไรก็ดีพลเมืองผู้ตื่นตัวยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงอันเนื่องมาจากการแสดงออกไม่ว่าจะเป็นการถูกสอดส่องจับตาโดยหน่วยงานรัฐ และบรรษัทเอกชน รวมไปถึงการต้องคำกล่าวหาทางกฎหมายซึ่งสร้างอุปสรรคขัดขวางการมีส่วนร่วมในประเด็นสาธารณะเป็นอย่างยิ่ง เพราะประชาชนที่ต้องการเข้ามารวมกลุ่มจะวิตกกังวลว่าอาจเกิดความยุ่งยากในการสู่กระบวนการต่อสู้คดีทางกฎหมาย และหวั่นใจว่าอาจมีชื่อติดอยู่ในรายชื่อของฝ่ายความมั่นคง

ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ ตัวแทนจากหน่วยงานรัฐและเอกชนมักไม่มาเจรจาตามนัดกับกลุ่มเครือข่ายสิ่งแวดล้อม และเลื่อนกำหนดการออกไปอย่างไม่มีกำหนด อีกทั้งยังเตรียมฟ้องผู้เกี่ยวข้องที่เผยแพร่ข้อมูลในโซเชียล รัฐบาลมักไม่เห็นด้วยหรือชะลอการตัดสินใจที่จะให้ยกเลิกโครงการที่ได้ใช้งบประมาณของรัฐ เพราะเกรงว่าจะเกิดการฟ้องร้องของผู้รับเหมาก่อสร้างเอกชนที่ได้ทำสัญญากับรัฐไว้แล้ว มีการดำเนินการฟ้องร้องคดีกับกลุ่มคัดค้านและนักวิชาการที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ ว่าเข้าข่ายการดูหมิ่นศักดิ์ศรี ใช้ถ้อยคำหยาบคาย อันทำให้เกิดกระแสโจมตีทางโซเชียลที่รุนแรงสร้างความเสื่อมเสียชื่อเสียงแก่หน่วยงานรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐ เช่นเดียวกับภาคเอกชน บรรษัท อุตสาหกรรมที่มักเลือกยุทธวิธีฟ้องตบปากเพื่อสะกดการแสดงออกของประชาชนและภาคประชาสังคมเช่นกัน

อย่างไรก็ดี รัฐบาล หน่วยงานภาครัฐ หรือภาคเอกชนยอมรับฟังข้อมูลและเสียงคัดค้านจากประชาชนที่เคลื่อนไหวต่อต้านโครงการ โดยมีการพยายามหาแนวทางลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการริเริ่มโครงการพัฒนาใหม่ที่มีความยั่งยืนกว่า โดยขบวนการมีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมในการให้ข้อมูล แสดงความคิดเห็น และร่วมตัดสินใจในประเด็นสาธารณะด้วย มีการริเริ่มสร้างสรรค์ทั้งในเชิงข้อมูลที่เชื่อมโยงกับชุมชนท้องถิ่นโดยใช้ความเชื่อ จารีต วัฒนธรรม เป็นสิ่งกระตุ้นการชุมนุมคัดค้าน เช่น ผสานวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ถือเป็นว่าทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่า เขาเป็นแม่และมีความผูกพันกับวิถีชีวิตชาวบ้านทั้งประเพณี วัฒนธรรมและความเชื่อ ในเชิงวิธีการสื่อสารสามารถเชื่อมโยงคนที่อยู่ต่างที่ต่างเวลาให้สามารถเชื่อมต่อกันได้โดยปราศจากอุปสรรคด้วยอินเตอร์เน็ต สามารถแสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนข้อมูล แล้วนำข้อมูลไปขยายผลได้ตลอด 24 ชั่วโมง จากทั่วทุกมุมโลกที่เข้าถึงอินเตอร์เน็ต และสามารถนำข้อมูลในอินเตอร์เน็ตไปขยายผลในโลกจริงทั้งในต่างประเทศ และในท้องถิ่นที่เข้าไม่ถึงอินเตอร์เน็ตได้อีกรอบ

หลังจากมีกิจกรรมเคลื่อนไหวของขบวนการสิ่งแวดล้อม สถานการณ์ที่เกิดกับผู้ส่วนเกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนขบวนการในโลกไซเบอร์หรือนำข้อความหรือกิจกรรมในโลกจริงมาเผยแพร่ในโลกไซเบอร์ คือ ทางเจ้าหน้าที่ได้เรียกตัวผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามาที่สถานีตำรวจเพื่อรับทราบข้อกล่าวหา และบางกรณีมีการส่งสำนวนไปยังอัยการให้สั่งฟ้องต่อศาลยุติธรรม โดยกลุ่มที่มักจะถูกดำเนินคดีมักประกอบไปด้วย 4 กลุ่มหลัก คือ
1) กลุ่มของผู้จัดงานแสดงความคิดเห็น หรือผู้ริเริ่มขบวนการต่อต้านโครงการในโลกไซเบอร์ โดยหวังผลให้ยุติการนำเสนอข้อมูล หรือไปถึงขั้นย่อยสลายให้เลิกรวมกลุ่มชุมชนเสมือนไปเลย
2) กลุ่มของผู้คัดค้านในโลกจริง ซึ่งใช้สิทธิและยืนยันว่ามีหน้าที่ในการแสดงออกเพื่อปกป้องทรัพยากรตามสิทธิและหน้าที่ของประชาชนแต่ต้องเผชิญกับคดีความทั้งในแง่การชุมนุมสาธารณะและการแสดงออกจนต้องยุติการแสดงความคิดเห็นหรือให้ข้อมูล หรือยุติบทบาทการเคลื่อนไหว
3) นักวิชาการที่นำเสนอข้อมูลหรือให้ใช้ข้อมูลที่หน่วยงานรัฐและบรรษัทเอกชนคิดว่าทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง โดยหวังให้นักวิชาการยับยั้งการให้ข้อมูลสนับสนุนขบวนการ หรือออกมาปฏิเสธข้อเท็จจริงลดน้ำหนักความน่าเชื่อถือของข้อมูลที่เป็นผลเสียต่อหน่วยงานรัฐและบรรษัทเอกชน
4) สื่อมวลชนกระแสหลักได้นำข้อมูลในโลกไซเบอร์ไปเผยแพร่ต่อในสื่อกระแสหลักอื่น ๆ ขยายผลความเสียหายต่อภาพลักษณ์องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะสื่อมวลชนที่ไม่สามารถควบคุมได้ด้วยงบประมาณการซื้อพื้นที่โฆษณา

สิ่งที่เกิดขึ้นตามมา คือ การดำเนินคดีโดยอาศัย พ.ร.บ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ เป็นกลยุทธ์หลักที่หน่วยงานรัฐและบรรษัทเอกชนใช้ โดยใช้มาตรา 14 ของ พ.ร.บ. คอมฯ ฉบับแรก เป็นคดีที่ไม่สามารถยอมความได้ ซึ่งก็เป็นภาระผูกพันกับจำเลยต่อไป ซึ่งก็เข้าตามกระบวนการฟ้องตบปาก คือ เสียเวลา เสียเงิน ยืดระยะเวลาของคดีออกไป ต่อมา พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) ถูกแก้ไขให้ความผิดในมาตรา 14(1) เป็นความผิดที่สามารถยอมความได้ แต่ก็ยังส่งผลกระทบต่อผู้ถูกฟ้องตามเดิม แต่จากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ในตอนแรกทางโจทก์อาจจะต้องการกลั่นแกล้งจำเลย เพราะโจทก์มีความประสงค์อย่างชัดเจนว่า ไม่ขอไกล่เกลี่ย จึงทำให้ต้องดำเนินการต่อสู้กันในชั้นศาลต่อไป จำเลยจึงต้องรับภาระทั้งเรื่อง ค่าใช้จ่าย ค่าเดินทาง เวลาในการทำงาน และการมาศาลในหลายๆครั้ง แม้สุดท้ายแล้ว โจทก์จะยอมถอนฟ้อคดีดังกล่าวก็ตาม

กรณีการถูกฟ้องเพื่อตบปากมักใช้ควบคู่ไปกับคดีชุมนุมสาธารณะหรือบุกรุกและยังคงมีอีกหลายคดี เช่น คดีเหมืองแร่ทองคำ จังหวัดเลย ทางบริษัททุ่งคำได้ฟ้อง ผู้ชุมนุม ซึ่งคดีดังกล่าวดำเนินมาตั้งแต่ปี 2550 โดนความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และ 328 และการดำเนินคดีในศาลก็ดำเนินมาตลอด ชาวบ้านต้องไปศาลอยู่หลายครั้ง เมื่อเป็นกระแสสังคมถาโถมบรรษัทหนักเข้าสุดท้ายแล้ว บริษัทฯ ได้ถอนฟ้องจำเลยในบางกรณี และในหลายกรณีก็ยังมีคดีค้างอยู่ในระบบ

การฟ้องร้องเชิงยุทธศาสตร์ต่อชาวบ้านนอกจากจะเป็นการฟ้องตบปากแล้ว ยังทำให้นำมาเป็นข้อต่อรองเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจหรือไม่ ซึ่งทางบริษัทฯเองก็รู้ดีว่า ถ้าหากตนฟ้องชาวบ้าน ตัวของชาวบ้านเองที่เดือดร้อน ไม่ว่าจะทั้งค่าเสียหายที่ทางบริษัท (โจทก์) เรียกให้ชาวบ้านชดใช้ ซึ่งข้อเท็จจริงคือ ชาวบ้านไม่มีทางหาเงินมาจ่ายให้ได้

การตั้งมูลค่าความเสียหายจากข้อเท็จจริงในคดีที่เกิดขึ้น บางคดีโจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยสูงถึงหลักพันล้านบาท หากมองย้อนมาที่กรอบการควบคุมการตั้งมูลค่าของคดี หรือ มูลค่าของความเสียหาย ก็พบว่า ไม่มีกรอบหรือกฎหมายใดที่จะกำหนดไว้อย่างชัดเจน แม้ว่าตัวโจทก์อาจจะไม่ได้หวังชัยชนะในการต่อสู้คดี แต่ถ้าหากศาลพิจารณาพิพากษาแล้ว โจทก์เป็นผู้ชนะ ประเด็นเกิดขึ้นว่า จะสามารถบังคับคดีให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายอย่างไร หรืออีกกรณีหนึ่งการตั้งมูลค่าความเสียหายที่สูงมากนั้น เป็นวิธีการข่มขู่ตัวจำเลย หรือ ชาวบ้านด้วย เพราะไม่มีใครสามารถชดใช้ค่าเสียหายได้สูงเพียงนั้น

ผลกระทบที่เกิดขึ้นหลังจากการตกเป็นจำเลย ซึ่งชาวบ้านไม่สามารถหากินได้ และต้องมีรายจ่ายค่าคดี ค่าทนาย ค่าเอกสาร ค่าประกันตัว ฯลฯ นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างความหวาดกลัวให้กับชาวบ้านและครอบครัวที่อยู่เบื้องหลัง ยังไม่รวมถึงเรื่องของการถูกปิดกั้นเสรีภาพในการดำเนินชีวิตในระหว่างที่มีคดีความอยู่ ทั้งเรื่องของหน้าที่การงาน ตำแหน่งต่าง ๆ จำเลยบางคนอาจจะถูกกลุ่มที่เห็นต่างเกลียดชังด้วย
การเลื่อนนัดฟังคำสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องของอัยการ หรือการเลื่อนนัดไปกรณีอื่น ๆ จากข้อเท็จจริงจะเห็นว่า คดีเกี่ยวกับเหมืองแร่ทองที่ถูกฟ้องหลายคดีนี้ มีการถูกเลื่อนนัดหลายครั้ง ไม่ได้มีการกำหนดระยะเวลาให้อัยการต้องออกคำสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องภายในระยะเวลาเท่าใด เป็นที่น่าสังเกตได้ว่าการกระทำดังกล่าวนี้ จะสามารถมองได้ว่าเป็นการกลั่นแกล้งจำเลยหรือผู้ต้องหาหรือไม่

สรุปได้ว่า มีการขัดขวางการมีส่วนร่วมของประชาชนด้วยมาตรการทางกฎหมายรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการริเริ่มโดยหน่วยงานรัฐ หรือภาคเอกชน ประกอบไปด้วยประเด็นการสอดส่อง การสลายการรวมกลุ่มด้วยการละเมิดความเป็นส่วนตัวหรือข้อมูลส่วนบุคคล การเซ็นเซอร์ข้อมูลเพื่อสกัดการเข้าถึงข้อมูลสารสนเทศ ไปจนถึงการดำเนินคดีฟ้องเชิงยุทธศาสตร์เพื่อจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน โดยในไทยประเด็นที่เด่นชัดสุด คือ เรื่องการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์ การดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อขัดขวางการมีส่วนร่วมของประชาชน หรือ (Strategic Lawsuit Against Public Participation - SLAPP) การตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล หรือเอกชนเป็นสิ่งที่สามารถพึ่งกระทำได้ตามสิทธิพื้นฐานของประชาชนคนทั่วไป แต่หากว่าเมื่อฝ่ายที่ถูกตรวจสอบไม่พอใจ หรือไม่อยากให้คนอื่น หรือประชาชนกลุ่มอื่น ๆ รับรู้ การฟ้องคดีตบปากจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่เขาจะกระทำ การฟ้องตบปาก มีการให้ความหมายไว้ในหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐเอง นักวิชาการ รวมถึงองค์กรเอกชน

*ปรับปรุงจากบทสรุป วิจัย สภาพปัญหาและลู่ทางสนับสนุนสิทธิในการรวมกลุ่มบนโลกไซเบอร์เพื่อแสดงออกในประเด็นฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, 2563. สนับสนุนโดย สถาบันพระปกเกล้า

 

บล็อกของ ทศพล ทรรศนพรรณ

ทศพล ทรรศนพรรณ
การพัฒนาสิทธิแรงงานรับจ้างอิสระ (Freelancer) ต้องยึดโยงกับหลักกฎหมายสำคัญเรื่องการประกันสิทธิของแรงงานอันมีสิทธิมนุษยชนเป็นพื้นฐาน (Human Rights-Based Approach – HRBA) ไว้ เพื่อเป็นรากฐานทางกฎหมายในการอ้างสิทธิและเสนอให้ภาครัฐสร้างมาตรการบังคับตามสิทธิอย่างเป็นรูปธรรม ตั้งแต่การประกันรายได้รูปแบบ
ทศพล ทรรศนพรรณ
การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของปัจเจกชนจากการเก็บข้อมูลและประมวลผลโดยบรรษัทเอกชนจำต้องปกป้องคุ้มครองสิทธิของเจ้าของข้อมูลตามมาตรฐานที่กำหนดหน้าที่ของผู้ควบคุมระบบตามกฎหมายด้วย เนื่องจากบุคคลหรือกลุ่มองค์กรเหล่านี้ทำหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิเจ้าของข้อมูลในหลายรูปแบบ อาทิ การให้ความรู้เกี่ยวกับสภาพปั
ทศพล ทรรศนพรรณ
บุคคลแต่ละคนย่อมมีทุนที่แตกต่างกันไปทั้ง ทุนความรู้ ทุนทางเศรษฐกิจ ทำให้การตัดสินใจนั้นตั้งอยู่บนข้อจำกัดของแต่ละคนไม่ว่าจะเป็นการไม่รู้เท่าทันเทคโนโลยี ขาดความรู้ทางการเงิน ไปจนถึงขาดการตระหนักรู้ถึงผลกระทบต่อสุขภาพตนเองและผู้อื่นในระยะยาว ยิ่งไปกว่านั้นรัฐไทยยังมีนโยบายที่มิได้วางอยู่บนพื้นฐานข
ทศพล ทรรศนพรรณ
บทบัญญัติกฎหมายที่ใช้เป็นรากฐานในการอ้างสิทธิในการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนนั้น จะพบว่ารัฐไทยได้วางบรรทัดฐานทางกฎหมายที่รับสิทธิของประชาชนในการรวมกลุ่มกันเพื่อแสดงออกในประเด็นทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเริ่มต้นจากหลักการพื้นฐานสำคัญที่เชื่อมโยงเรื่องสิทธิม
ทศพล ทรรศนพรรณ
เทคโนโลยีด้านการสื่อสารที่เข้ามามีอิทธิพลแทบจะทุกมิติของชีวิต ส่งผลให้พฤติกรรมด้านการปฏิสัมพันธ์ของประชาชนเปลี่ยนแปลงไปตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยี มีประชาชนจำนวนมากที่ใช้เทคโนโลยีในการหา “คู่” หรือแสวง “รัก” ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดการกระทำความผิดที่เรียกว่า Romance Scam หรือ “พิศวาสอาชญากรรม”&
ทศพล ทรรศนพรรณ
เมื่อถามนักปกป้องสิทธิมนุษยชนว่าอยากเห็นสังคมไทยเป็นเช่นไรในประเด็นการมีส่วนร่วมต่อการกำหนดนโยบายสาธารณะ หรือมีความคาดหวังให้รัฐไทยปรับปรุงอะไรเพื่อส่งเสริมการพิทักษ์สิทธิมนุษยชนของกลุ่มเสี่ยง   นักปกป้องสิทธิมนุษยชนในไทยได้ฉายภาพความฝัน ออกมาดังต่อไปนี้
ทศพล ทรรศนพรรณ
นักปกป้องสิทธิมนุษยชนผู้คร่ำหวอดอยู่ในสนามมายาวนานได้วิเคราะห์สถานการณ์การคุกคามผ่านประสบการณ์ของตนและเครือข่ายแล้วแสดงทัศนะออกมาในหลากหลายมุมมอง ดังนี้
ทศพล ทรรศนพรรณ
สถานการณ์ในด้านสิทธิมนุษยชนในต่างประเทศนั้น มีความสัมพันธ์กับหลายปัจจัยที่อาจเกิดความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาการละเมิดต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนภายในประเทศที่เกิดจากข้อค้นพบจากกรณีศึกษา มีปัจจัยดังต่อไปนี้1. สถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับบริบทภายในประเทศ
ทศพล ทรรศนพรรณ
บทวิเคราะห์ที่ได้จากการถอดบทสัมภาษณ์นักปกป้องสิทธิมนุษยชนมากประสบการณ์ ในหลากหลายภูมิภาคไปจนถึงความแตกต่างของการทำงานกับกลุ่มเสี่ยงที่มีปัญหาสิทธิแตกต่างกันไป   เป็นที่ชัดเจนว่าเขาเหล่านั้นมีชีวิตและอยู่ในวัฒนธรรมแตกต่างไปจากมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนและนิติรัฐที่ปรากฏในสังคมตะวันตก ซึ่งสะ
ทศพล ทรรศนพรรณ
การคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงได้ถูกรับรองไว้โดยพันธกรณีระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ ให้ความสำคัญประกอบจนก่อให้เกิดอนุสัญญาเฉพาะสำหรับกลุ่มเสี่ยงนั้น ๆ ประกอบไปด้วย สตรี, เด็ก, เชื้อชาติ และ แรงงานอพยพ รวมถึง ผู้พิการ โดยกลุ่มเสี่ยงมีสิทธิที่ถูกระบุไว้ในปฏิญญาว่าด้วย
ทศพล ทรรศนพรรณ
แนวทางในการสร้างนโยบาย กฎหมาย และกลไกเพื่อคุ้มครองสิทธิประชาชนจากการสอดส่องโดยรัฐมาจาการทบทวนมาตรฐานและแนวทางตามมาตรฐานสากลเพื่อสร้างข้อเสนอแนะเชิงนโยบายครอบคลุม 2 ประเด็นหลัก คือ
ทศพล ทรรศนพรรณ
ต้นปี 2563 หลังจากการอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคอนาคตใหม่ บรรยากาศความขัดแย้งทางการเมืองไทยที่ถูกกดไว้มาตั้งแต่หลังการรัฐประหาร 2557 ก็ปะทุขึ้นอีกครั้ง เกิดการเคลื่อนไหวชุมนุมทางการเมืองเพื่อต่อต้านรัฐบาลกระจายไปทั่วทุกจังหวัดในรัฐไทย จุดสำคัญและเป็นเรื่องที่ไม่ปรากฏขึ้นมาก่อนในหน้าประว