บทวิเคราะห์ที่ได้จากการถอดบทสัมภาษณ์นักปกป้องสิทธิมนุษยชนมากประสบการณ์ ในหลากหลายภูมิภาคไปจนถึงความแตกต่างของการทำงานกับกลุ่มเสี่ยงที่มีปัญหาสิทธิแตกต่างกันไป เป็นที่ชัดเจนว่าเขาเหล่านั้นมีชีวิตและอยู่ในวัฒนธรรมแตกต่างไปจากมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนและนิติรัฐที่ปรากฏในสังคมตะวันตก ซึ่งสะท้อนผ่านวิถีชีวิตของกลุ่มเสี่ยงและความยากลำบากในการทำงานของผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนที่สอดคล้องกับกรณีศึกษาในประเทศกำลังพัฒนาเช่นกัน อาทิ ประเทศในลาตินอเมริกา เอเชียและอัฟริกา ดังนั้นการศึกษานี้จึงเป็นการศึกษากลุ่มนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งแสดงให้เห็นถึง “ความเหลื่อมล้ำ” ที่สะท้อนผ่านเรื่องราวในชีวิตผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนในสังคมไทยว่ามีความแตกต่างกับการทำงานของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในสังคมที่มีการประกันสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานและธำรงไว้ซึ่งหลักนิติรัฐนิติธรรมในรัฐอารยะโดยทั่วไป แต่ “ข้อเท็จจริงทางสังคม” ที่แสดงให้เห็นในบทสัมภาษณ์เหล่านี้ย่อมสะท้อนบทเรียนที่สามารถนำมาวิเคราะห์รากเหง้าของความเหลื่อมล้ำในสังคมแล้วนำไปสังเคราะห์ข้อเสนอในการปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมสำหรับประเทศกำลังพัฒนาและเป็นรัฐทุนนิยมชายขอบอย่างรัฐไทย เพราะรัฐไทยยังอยู่ในสภาวะลุ่มๆดอนๆทางการเมืองไร้เสถียรภาพของระบอบประชาธิปไตยจนเกิดความเหลื่อมล้ำในการอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชนผู้ด้อยอำนาจ
โดยในไทยปรากฎสถาบันอย่างไม่เป็นทางการแต่มีพลังอำนาจคัดง้างสถาบันทางกฎหมายและสิทธิมนุษยชนสากล อาทิเช่น ระบบอุปถัมภ์ การเล่นพรรคเล่นพวก การมีมุ้งก๊กเหล่าย่อย ๆ อยู่ในพรรคการเมืองทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น การสร้างทายาททางการเมืองแบบเป็นที่รู้กันและอยู่ในโอวาททั้งในแนวระนาบ และแนวดิ่งลงลึกไปในพื้นที่ท้องถิ่น การตกลงของผู้มีอิทธิพลที่เป็นคู่แข่งกันเพื่อรับประกันว่าหลังการตกลงจะมีการจัดสรรผลประโยชน์และตำแหน่งแห่งที่กันโดยไม่มีการขัดขวางผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน หรือมีการสนับสนุนกันโดยไม่คำนึงถึงหน้าที่ตามกฎหมาย ตลอดจนถึงการสถาปนาความคิดเรื่องการส่งเสริมการลอบสังหารบุคคลที่มีการสงสัยว่าเป็นผู้มีอิทธิพล หรือคุกคามรัฐ โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยไม่ต้องรับผิดชอบการกระทำฆาตกรรมดังกล่าวแต่อย่างใด หากมีผู้ที่ริเริ่มการสืบสวนหาข้อเท็จจริงจากการวิสามัญฆาตกรรมเหล่านั้นก็ต้องเผชิญอันตรายที่มาจากวิธีการนอกกฎหมายแต่กลับเป็นที่ยอมรับได้ เนื่องจากมีการส่งสัญญาณจากผู้บังคับบัญชาและนักการเมืองระดับสูงให้ละเว้นการบังคับใช้กฎหมาย กระบวนการของสถาบันไม่เป็นทางการนี้ทำให้เกิดปัญหาความไร้ นิติธรรมในระบบกฎหมาย และการไร้ธรรมาภิบาลในทางการเมืองอย่างเรื้อรัง ไปจนถึงขั้นมีการฟ้องเชิงยุทธศาสตร์เพื่อขัดขวางการออกมาเปิดเผยข้อมูลข้อเท็จจริง หรือมีการฟ้องตบปากผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนที่ต้องการเผยแพร่ข้อมูลไปสู่การรับรู้ของสาธารณะชน (SLAPPs – Strategic Lawsuits Against Public Participation)
เครือข่ายปราบปรามขบวนการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน ประกอบไปด้วย รัฐ ฝ่ายปกครอง นักการเมืองท้องถิ่น หรือฝ่ายปกครอง บริษัท และซุ้มมือปืน ตัวอย่างเช่น เมื่อปี 2552 เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ได้เข้าบุกเข้าตรวจค้นที่อยู่อาศัยของประชาชนที่เข้าไปใช้ประโยชน์ที่ดินของนายทุนสวนปาล์ม ซึ่งปล่อยรกร้างมาเป็นเวลานาน พร้อมกับมีกลุ่มผู้มีอิทธิพล นำอาวุธเข้าปราบ ทำลายบ้านพักอาศัย และมีผู้นำท้องถิ่นสนับสนุน นำรถแทรกเตอร์เข้าทำลาย ข้อสังเกต ในเรื่องดังกล่าวคือ การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจนำกำลังเข้าตรวจนั้น เป็นการตรวจสอบว่า ชุมชนปลอดภัย ทำให้แน่ใจว่าชาวบ้านไม่สามารถใช้อาวุธตอบโต้ได้ เพื่อให้บริษัทนำกำลังเข้าปราบได้ต่อไป
อันเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าเมื่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิให้กลุ่มเสี่ยงตามครรลองของกฎหมายอย่างเป็นทางการ กลับต้องเผชิญกับการละเมิดสิทธิเสียเองในรูปแบบความรุนแรงหลากหลายลักษณะ ซ้ำยังต้องเผชิญกับความมอยุติธรรมเมื่อสถาบันอย่างเป็นทางการที่เรียกว่ากระบวนการยุติธรรมไม่ทำหน้าที่ปกป้องสิทธิประชาชนแต่กลับอำนวยความสะดวกให้กับฝั่งผู้ละเมิดสิทธิผ่านเครือข่ายความสัมพันธ์แบบสถาบันอย่างไม่เป็นทางการ โดยที่มาและสาเหตุของการกระทำที่ขัดแย้งกับพันธรณีซึ่งรัฐพึงกระทำก็ด้วยมี “สถาบันไม่เป็นทางการ” ในสังคมไทย อันมักประกอบไปด้วย กลุ่มทุน ผู้มีอิทธิพล นักการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องอุปถัมภ์กันอยู่ในเรื่องนั้นหรือมีเครือข่ายกันอยู่ในพื้นที่ ซึ่งกลายเป็น สถาบันไม่เป็นทางการที่มีพลังอำนาจคัดง้างมิให้รัฐบังคับใช้กฎหมายตามหลักนิติรัฐธรรมนิติธรรมนั่นเอง
เมื่อไล่เรียงประวัติศาสตร์ด้านกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชนของนักเคลื่อนไหวทางการเมือง จะเห็นทิศทางที่น่ากังวลของรัฐไทย กล่าวคือ ภายใต้ความขัดแย้งทางการเมืองที่สั่นคลอนอำนาจรัฐ รัฐไทยมักเปลี่ยนวิธีการคุกคามใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง การละเมิดสิทธิก็เปลี่ยนแปลงรูปแบบไปบ้าง รัฐตอบโต้ด้วยวิธีการทางกฎหมายมากขึ้น แต่ในภายภาคหน้าอาจรุนแรงมากขึ้น หากรัฐเริ่มจนตรอก และไม่สามารถใช้วิธีการที่ปราศจากความรุนแรงเพื่อกำราบประชาชนได้อีกแล้ว เช่นเดียวกับการใช้กลยุทธ์สลายการรวมกลุ่มและจัดตั้งองค์กรภาคประชาสังคม อาทิ การผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.การดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไร พ.ศ. .... ที่รัฐต้องการตราออกมาเพื่อควบคุมการทำงานขององค์กรพัฒนาเอกชน อาจทำให้ผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนต้องเจอกับอุปสรรคมากขึ้น ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ สถาบันอย่างไม่เป็นทางการ เข้ามากัดกร่อน สถาบันอย่างเป็นทางการ ผ่านกฎหมาย
ยิ่งไปกว่านั้นโครงสร้างอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานความมั่นคงและบทบาทของเหล่าข้าราชการและนักการเมืองที่เชื่อมโยงกับกลุ่มทุนที่มีลักษณะการทำธุรกิจร่วมกันในลักษณะหมิ่นเหม่ต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน ก็เป็นประเด็นสำคัญที่ยังต้องการงานศึกษาวิจัยต่อไป เพื่อยกระดับการพัฒนาสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยในสังคมไทย เพราะได้มีเสียงสะท้อนจากบทสัมภาษณ์และกรณีศึกษาในประเทศไทยจำนวนมากว่า การดำรงอยู่ของเครือข่ายหน่วยงานความมั่นคงและข้าราชการระดับสูงแม้เกษียณไปแล้ว ก็ยังมีผลต่อการกำหนดยุทธศาสตร์ต่อต้านการทำงานของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และผลักดันยุทธวิธีที่หนุนเสริมหน่วยงานรัฐและบรรษัทจนสร้างภัยคุกคามต่อตัวนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและกลุ่มเสี่ยงด้วย อันนับเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อกระบวนการยุติธรรมและกฎหมายตามหลักนิติธรรมซึ่งเป็นสถาบันทางการที่ต้องธำรงรักษาไว้เพื่อประกันสิทธิมนุษยชนของประชาชนอย่างเสมอภาค
อย่างไรก็ดี สถาบันอย่างไม่เป็นทางการนั้น มิได้มีแต่ลักษณะที่เป็นภัยและทำลายกระบวนการสร้างความเป็นประชาธิปไตย หรือการรักษาธรรมาภิบาล หรือนิติรัฐ นิติธรรม ไปเสียทั้งหมด ยังมีสถาบันไม่เป็นทางการจำนวนมากที่เอื้อให้ภาวะชะงักงันทางการเมืองสามารถดำเนินต่อไปได้ เช่น การตกลงกันเพื่อลดความรุนแรงหลังการแลกเปลี่ยนข้อมูลและแสดงจุดยืนของทุกฝ่ายให้ปรากฏชัดเจนต่อสาธารณะที่ผ่านกระบวนการตัดสินใจอย่างมีส่วนร่วมหรือสร้างองค์ความรู้ใหม่จนเป็นที่ยอมรับผ่านคำพิพากษาของศาลให้กลายเป็นบรรทัดฐานทางสังคมใหม่ หรือการเข้าไปอุดช่องว่างของภาวะไร้ประสิทธิภาพประสิทธิผลของกระบวนการยุติธรรม เช่น ระบบกฎหมายหรือความสัมพันธ์ของแกนนำชาวบ้านหรือองค์กรพัฒนาเอกชน ภาคประชาสังคมกับกลุ่มผลประโยชน์หรือนักการเมืองท้องถิ่นที่สามารถจัดการความขัดแย้งในระดับพื้นที่ห่างไกลได้ หากรัฐเลือกรักษาหรือส่งเสริมสถาบันไม่เป็นทางการในหลายกรณี ก็จะทำให้รัฐนั้นมีเครื่องมือที่หลากหลายในการรองรับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ และในหลายกรณีก็ชี้ให้เห็นว่าการเลือกกำจัดสถาบันไม่เป็นทางการที่มีหน้าที่บางอย่างทิ้งเสียแล้วแทนที่ด้วยสถาบันอย่างเป็นทางการของรัฐที่ไม่มีประสิทธิภาพ กลับจะทำลายความเชื่อถือต่อกฎหมาย และทำลายวิถีชีวิตของคนในชุมชนนั้นไปโดยไม่อาจคาดการณ์ได้
ผลการศึกษาจากการถอดบทเรียนของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยได้ฉายให้เห็น “ความจริงทางสังคม” เพื่อความเข้าใจปูมหลังหรือทางรากฐานทางวัฒนธรรมและสังคมไทย อันเป็นที่มาของการศึกษา ซึ่งมุ่งจะสะท้อนให้เห็นว่า การศึกษาประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนจากการทำงานของสถาบันต่างๆ อย่างเป็นทางการของรัฐนั้น ไม่อาจแยกวิเคราะห์ต่างหากออกมาจาก บริบททางสังคมซึ่งมีสถาบันไม่เป็นทางการที่เป็นฐานของระบบ ในรัฐนั้น ๆ การจะลดความเหลื่อมล้ำในสังคมใดก็ต้องเข้าใจลักษณะพื้นฐานของสังคมนั้นเสียก่อน จึงจะสร้างข้อเสนอแนะเชิงวิชาการและนโยบายได้อย่างเหมาะสมกับบริบททางสังคมที่เป็นหน่วยวิจัยนั้น
*จากบทสัมภาษณ์นักปกป้องสิทธิมนุษยชน ถอดความโดย ภาสกร ญี่นาง ในวิจัย การลดความเหลื่อมล้ำด้านความยุติธรรมต่อกลุ่มเสี่ยงโดยศึกษาสภาพปัญหาและแนวทางการคุ้มครองผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย, 2565. สนับสนุนทุนโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.).