Skip to main content

ต้นปี 2563 หลังจากการอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคอนาคตใหม่ บรรยากาศความขัดแย้งทางการเมืองไทยที่ถูกกดไว้มาตั้งแต่หลังการรัฐประหาร 2557 ก็ปะทุขึ้นอีกครั้ง เกิดการเคลื่อนไหวชุมนุมทางการเมืองเพื่อต่อต้านรัฐบาลกระจายไปทั่วทุกจังหวัดในรัฐไทย จุดสำคัญและเป็นเรื่องที่ไม่ปรากฏขึ้นมาก่อนในหน้าประวัติศาสตร์การเมือง คือ การประกาศ “1 ความฝัน” ของกลุ่มผู้ชุมนุม “คณะราษฎร 2563” ในการเรียกร้องให้มีระบอบประชาธิปไตยอันมีสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ  ปรากฏการณ์นี้เป็นครั้งแรกที่ทำให้สังคมไทยเริ่มพูดถึงบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยอย่างกว้างขวางและเปิดเผย บนพื้นที่โลกออนไลน์ ซึ่งส่งผลสั่นคลอนต่อระเบียบและโครงสร้างเชิงอำนาจที่ชนชั้นนำ ผู้มีอำนาจรัฐหรือผู้มีบทบาทในหน่วยงานความมั่นคงต่างหวงแหน ผู้กุมอำนาจย่อมไม่อาจนิ่งนอนใจกับพฤติการณ์ดังกล่าวได้ ประกอบกับกรณีสื่อสังคมออนไลน์กลายเป็นพื้นที่สำคัญ ซึ่งกลุ่มผู้ชุมนุมใช้เพื่อนัดรวมตัวชุมนุม  แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร แสดงความเห็นทางการเมือง ด้วยเหตุเหล่านี้ จึงนำไปสู่การดำเนินกลไกการสอดส่อง เฝ้าระวัง ควบคุมความเคลื่อนไหวในโลกออนไลน์ที่ทวีเข้มข้นขึ้นมากกว่าเดิม


กระบวนการสอดส่องประชาชน ภายใต้บรรยากาศความขัดแย้งทางการเมือง ส่วนหนึ่งย่อมเกิดขึ้นผ่านหน่วยปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร (Information Operation) หรือ ไอโอ (IO) ของกองทัพ และหน่วยงานความมั่นคงต่าง ๆ ที่เข้ามาแฝงอยู่ในประชาชนผู้ใช้บริการด้วยกัน พร้อมกับปกปิดตัวตน และกระจัดกระจายอยู่ในทุกแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์  กลไกนี้ถือเป็นรูปแบบที่พบเห็นได้ชัดเจนมากที่สุด ในช่วงเวลาที่รัฐกำลังถูกท้าทาย ผ่านการเคลื่อนไหวเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ที่สั่นคลอนความชอบธรรมของผู้อำนาจและผู้ปกครอง


การมีอยู่ของปฏิบัติการ IO นั้นเปรียบเสมือนกับการที่รัฐ และฝ่ายความมั่นคง ได้ใช้ “ดวงตา” จำนวนมหาศาลในการสอดส่องความเคลื่อนไหวต่าง ๆ บนพื้นที่สื่อสังคมออนไลน์ที่อาจมีประสิทธิภาพมากที่สุด ณ ยุคปัจจุบันที่การสื่อสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์เข้ามามีบทบาทในวิถีชีวิตประจำวันของผู้คน ไม่เว้นแม้แต่การต่อต้านอำนาจรัฐ และการแสดงออกทางการเมือง ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารของรัฐเกิดจากการระดมทรัพยากรทั้งด้านการเงินและบุคลากรจำนวนมาก เพื่อมาปฏิบัติการแทรกแซงการสื่อสาร บิดเบือนข้อมูล สอดส่องเก็บรวบรวมข้อมูลของผู้ใช้บริการสื่อสังคมออนไลน์ที่เคลื่อนไหวและแสดงออกทางการเมือง การสร้างข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อผู้มีอำนาจรัฐ และรัฐบาล ซึ่งขณะเดียวกันก็เป็นการทำลายความชอบธรรมกับฝ่ายต่อต้าน และเป็นปฏิปักษ์ต่อำนาจรัฐ ทั้งนี้ มีการเปิดเผยข้อเท็จจริงว่า มียอดบัญชีไอโอกว่า 54,800 บัญชีภายใต้การควบคุมดูแลจากหน่วยงานต่าง ๆ ของกองทัพถึง 19 หน่วย  ตอกย้ำให้เห็นว่า เป็นการยากที่ประชาชนจะสามารถเล็ดลอดไปจากสายตาของเจ้าหน้าที่รัฐฝ่ายความมั่นคงไปได้


อย่างไรก็ตาม พฤติการณ์อันเกี่ยวเนื่องจากการพัฒนาศักยภาพและระบบกลไกการสอดส่องของรัฐในการเฝ้าระวังอาชญากรรม ผ่านการสร้างช่องทางการร้องเรียนและแจ้งเบาะแสการกระทำความผิด ทำให้สิ่งที่เรียกว่า “IO จิตอาสา” เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


IO จิตอาสา หมายถึง บุคคลกลุ่มหนึ่งที่ดำรงอยู่จำนวนมากในพื้นที่สื่อสังคมออนไลน์ แต่ที่สำคัญ บุคคลกลุ่มดังกล่าวมีฐานะเป็นปัจเจกบุคคลธรรม ไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่รัฐสังกัดในหน่วยงานความมั่นคง หากแต่ได้อาสาปฏิบัติหน้าที่เฉกเช่น หน่วยปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร ไม่ว่าจะเป็นการเผยแพร่เนื้อหาข่าวสารที่มีลักษณะเป็นการสนับสนุนผู้มีอำนาจ และรัฐบาล หรือทำลายความชอบธรรมของกลุ่มเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล ให้เข้าข่ายเป็นกลุ่มบ่อนทำลายความมั่นคงของชาติที่ “ท้าทาย ต่อต้าน หรือกระทั่งล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์...”  ตลอดจน การอาสาเก็บรวบรวมข้อมูลของคนอื่น ๆ และบันทึกภาพข้อความที่ถูกมองว่าเป็นการ “หมิ่นเบื้องสูง” ในสื่อสังคมออนไลน์ ส่งต่อไปยังเจ้าหน้าที่รัฐ และฝ่ายความมั่นคงผ่านช่องทางการที่รัฐจัดไว้ให้  เป็นการอาศัยบทบัญญัติกฎหมายมาเป็นเครื่องมือกดปราบทางการเมือง เล่นงานฝ่ายตรงข้ามไม่ให้แสดงออกทางการเมืองแบบเปิดเผยได้


นอกจากกลไกการสอดส่องจะเกิดขึ้นโดยเจ้าหน้าที่สอดส่องประชาชน และประชาชนสอดส่องกันเองแล้ว ยังปรากฏว่ามีการดำเนินกลไกการสอดส่องเจ้าหน้าที่รัฐด้วยกันเองเช่นกัน ดังกรณี ตำรวจภูธรจังหวัดลำปางออกคำสั่งที่ 302/2564 แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนกรณีมีข้าราชการตำรวจถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยร้ายแรง โดย “กระทำการโพสต์ข้อความอันมิบังควร” เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2563 สืบเนื่องมาจาก สิบตำรวจโท กฤติน รัตนา ตำแหน่งผู้บังคับหมู่ปราบปราม สถานีตำรวจภูธรเมืองลำปาง โพสต์ข้อความอันมิบังควรในกลุ่ม “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส-ตลาดหลวง”  อีกทั้ง ตำรวจภูธรจังหวัดลำปางยังออกคำสั่งที่ 303/2564 เพื่อให้ สิบตำรวจโท กฤติน ออกจากราชการโดยทันที พร้อมระบุว่า กรณีนี้เป็นการกระทำผิดวินัยร้ายแรง


เพจ Facebook “สถานีตำรวจภูธรเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง” ประกาศว่า “จากกรณีที่มีการโพสต์สื่อสังคมออนไลน์โดยข้าราชการตำรวจสังกัดสถานีตำรวจภูธรเมืองลำปาง ด้วยข้อความที่ไม่เหมาะสม ตำรวจภูธรจังหวัดลำปางได้รับทราบข้อมูลดังกล่าวแล้ว จึงได้ตรวจสอบและได้มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงต่อข้าราชการตำรวจนายดังกล่าวแล้ว ขอขอบคุณประชาชนที่กรุณาให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ หากมีความคืบหน้าจะได้นำเรียนให้ทราบในโอกาสต่อไปครับ”  นั่นหมายความอีกว่า มีประชาชนพลเมืองดีเข้ามามีส่วนร่วมในการสอดส่อง เฝ้าระวัง พฤติกรรมของเจ้าหน้าที่รัฐ ให้อยู่ต้องในร่องในรอย ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่ออำนาจ การปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา จึงเป็นหนทางรอดหนึ่งเดียวของของเจ้าหน้าที่รัฐระดับใต้บังคับบัญชา


ทั้งนี้ จะเห็นว่า รูปแบบกลไกการสอดส่องของรัฐ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง แยกไม่ออกจากบริบทความขัดแย้งทางการเมืองในไทย เมื่อใดก็ตามที่ความขัดแย้งรุนแรงมากขึ้น ในแง่ที่ว่าอำนาจรัฐและสถานะที่เหนือกว่าคนอื่น ๆ ของชนชั้นนำต้องถูกท้าทายอย่างหนัก รูปแบบกลไกการสอดส่องของรัฐย่อมมีลักษณะที่เป็นการล่วงล้ำความเป็นส่วนตัว และละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากยิ่งขึ้นเช่นกัน


ตัวอย่างเช่น กรณีศูนย์เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์การชุมนุม ที่ตั้งขึ้นโดยกระทรวงดีอีเอส ได้ดำเนินการตรวจสอบการใช้สื่อสังคมออนไลน์ของประชาชนช่วงที่มีการชุมนุมทางการเมือง ระหว่างวันที่ 13 ถึง 18 ตุลาคม 2563 พบมีแกนนำ นักการเมือง ประชาชนทั่วไปผู้ใช้บริการ นำเข้า เผยแพร่ข้อความที่มีเนื้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ตามมาตรา 9 ประกอบมาตรา 11 ข้อ 2 ซึ่งระบุไว้ว่า “ห้ามเสนอข่าว จำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด รวมตลอดทั้งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์บรรดาที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนในทั่วราชอาณาจักร”


นอกจากนี้ วันที่ 20 ตุลาคม 2563 พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอีเอส ได้กล่าวต่อผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับนโยบายในการตั้งศูนย์เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์การชุมนุม โดยมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ ปฏิบัติหน้าที่ เฝ้าติดตาม สอดส่องการกระทำความผิดในการใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ระหว่างวันที่ 13 ถึง 18 ตุลาคม 2563  ทั้งนี้ จะเห็นว่า ปฏิบัติการดังกล่าว อิงอยู่กับสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองอย่างเห็นได้ชัด รูปแบบการสอดส่องภายใต้บริบทนี้ เจ้าหน้าที่รัฐยังได้การกำหนดเป้าหมายผู้ที่ต้องจับตา เฝ้าระวัง สอดส่องอย่างเฉพาะเจาะจง คล้ายกับ “Target lists” หรือการจัดให้รายชื่อเป้าหมายที่รัฐต้องเฝ้าระวังเอาไว้ ไม่ว่าจะในเชิงพื้นที่ เช่น กลุ่ม Facebook แฟนเพจของคณะผู้จัดการชุมนุม การติดแฮชแท็กในทวีตเตอร์ ฯลฯ เชิงปัจเจกบุคคล เช่น แกนนำผู้ชุมนุม นักการเมืองฝ่ายตรงข้าม หรือ มุ่งเป้าไปยังลักษณะของการกระทำ เช่น การวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นต้น


การดำเนินกลไกการสอดส่อง พุทธิพงษ์ แถลงว่า ทั้งจากการแจ้งเบาะแสของเหล่าประชาชน พลเมืองดี และทางเจ้าหน้าที่ความมั่นคงตรวจสอบ พบว่า มีการกระทำเข้าข่ายสุ่มเสี่ยงกระทำผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทั้งหมด 324,990 เรื่อง แบ่งเป็น Twitter 75,076 เรื่อง Facebook 245,678 เรื่อง และ Web board 4,236 เรื่อง ซึ่งรวมทั้งผู้โพสต์คนแรก และแชร์ รีทวิตข้อความที่ผิดกฎหมาย


อย่างไรก็ดี พุทธิพงษ์ ชี้แจงต่อว่า โดยหลัก ลำดับแรกเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเอาผิดเฉพาะผู้โพสต์ข้อความคนแรก ๆ ที่นำเข้าซึ่งข้อความสู่ระบบคอมพิวเตอร์ก่อนจำนวนหนึ่ง โดยพบว่ามีทั้งเป็นแกนนำกลุ่มมวลชน นักการเมืองและผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหวในสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการเคลื่อนไหวครั้งนี้ อาทิ บัญชีของ ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์, เพจ Facebook ของ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และ ภาณุพงศ์ จาดนอก หนึ่งในแกนนำ รวมถึงสื่อและการรายงานสถานการณ์ทางออนไลน์ ได้แก่ เว็บไซต์ Voice TV และเพจเยาวชนปลดแอก Free Youth ที่เข้าข่ายผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน  โดยก่อนหน้านี้ ศาลได้มีคำสั่งให้ปิดกั้น เพจ Royalist Market Place (ตลาดหลวง) ไปแล้ว 2 ครั้ง ซึ่ง พุทธิพงษ์ กล่าวว่า หากผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตหรือแพลตฟอร์ม ไม่ทำการปิดกั้นภายใน 15 วัน กระทรวงดีอีเอส จะดำเนินการแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนให้เอาผิดตามมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์


อีกทั้ง กระทรวงดีอีเอสยังตรวจสอบและพบว่า  Facebook แฟนเพจที่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง และบุคคลที่มีชื่อเสียง อาจเข้าข่ายการกระทำความผิด พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ และ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ช่วงเวลานั้นจึงได้มีการมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ศูนย์เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์การชุมนุม พร้อมเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมาย ทยอยส่งหลักฐานเก็บรวบรวมได้ ส่งให้ทางกองอำนวยการร่วมแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง (กอร.ฉ.) และเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมถึงขออำนาจศาล ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายอย่างจริงจังเด็ดขาด


จากกรณีที่กล่าวมา บ่งชี้ว่า กลไกการสอดส่องของรัฐไทย เมื่อพิจารณาจากรูปแบบและลักษณะของการดำเนินการแล้ว จะพบว่าไม่ได้เป็นไปเพื่อป้องกันอาชญากรรม และรักษาความปลอดภัยสาธารณะเพียงอย่างเดียว หากยังมีลักษณะเข้าข่ายการเป็นเครื่องมือกดปราบทางการเมือง ปิดกั้นสิทธิเสรีภาพประชาชน ของฝ่ายผู้มีอำนาจรัฐและเจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคง เพื่อจัดการสยบการเคลื่อนไหวเรียกร้องทางการเมืองที่เป็นไปอย่างเข้มข้นในปัจจุบัน และส่งผลสะเทือนอย่างรุนแรงต่อระเบียบ หรือความสัมพันธ์เชิงโครงสร้างอำนาจตามแบบฉบับที่ชนชั้นนำสถาปนาเอาไว้ต้องถูกท้าทายสั่นคลอน

 

อ้างอิง
บีบีซีไทย, “คณะราษฎร: ประกาศ 3 ข้อเรียกร้องก่อนชุมนุมใหญ่ 14 ตุลา ประยุทธ์ลาออก-เปิดสภาแก้ รธน.-ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์,” บีบีซีไทย, 8 ตุลาคม 2563, (สืบค้นเมื่อ 29 เมษายน 2564), https://www.bbc.com/thai/thailand-54461248.
ข่าวประชาไท, “วิโรจน์ ย้ำขบวนการ IO ต้องการสร้างความแตกแยกในสังคม ทำคนคิดต่างกันอยู่ร่วมกันไม่ได้,” ประชาไท, (สืบค้นเมื่อ 29 เมษายน 2564), 12 มีนาคม 2563, https://prachatai.com/journal /2020/03/86763.
เดลินิวส์, “"ก้าวไกล"ซัด "บิ๊กตู่"ใช้กองทัพ-หน่วยงานรัฐ ทำไอโอสร้างความเกลียดชัง,” เดลินิวส์,      19 กุมภาพันธ์ 2564, (สืบค้นเมื่อ 29 เมษายน 2564), https://www.dailynews.co.th/politics/826339.
หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ, “สำรวจความเคลื่อนไหวแนวร่วม "ประชาชนปลดแอก" กับ "ประชาชนปกป้องสถาบันฯ" ในรอบเดือน ก่อนชุมนุมใหญ่ 16 ส.ค.,” บีบีซีไทย, 14 สิงหาคม 2563, (สืบค้นเมื่อ 29 เมษายน 2564), https://www.bbc.com/thai/thailand-53774835.
กองบรรณาธิการ, “กลุ่มปกป้องสถาบันฯ ประกาศแจ้งความ ม.112 ทั่วประเทศ,” ศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย, 23 พฤศจิกายน 2563, (สืบค้นเมื่อ 29 เมษายน 2564), https://theactive.net/news/20201123/.
ผู้จัดการออนไลน์, “ฟัน “สิบตำรวจโท” เมืองรถม้า คอมเมนต์มิบังควร “กลุ่มปวิน” ออกจากราชการไว้ก่อน,” ผู้จัดการออนไลน์, 30 มีนาคม 2564, (สืบค้นเมื่อ 29 เมษายน 2564), https://mgronline.com/onlinesection/detail/9640000030276.
มติชนออนไลน์, “ให้ออกจากราชการแล้ว ตำรวจลำปาง เมนต์เฟซบุ๊กกลุ่ม ‘ตลาดหลวง’, มติชนออนไลน์, 1 เมษายน 2564,” (สืบค้นเมื่อ 29 เมษายน 2564), https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_2652987.
ท็อปนิวส์, “ให้ ‘ส.ต.ท.’ โพสต์หมิ่นสถาบัน ออกจากราชการไว้ก่อน,” ท็อปนิวส์, 30 มีนาคม 2564, (สืบค้นเมื่อ 29 เมษายน 2564), https://www.topnews.co.th/news/4875.
ประชาชาติธุรกิจ, “ด่วน! ศาลสั่งปิดเพจเฟซบุ๊ก-ทุกแพลตฟอร์มออนไลน์ วอยซ์ทีวี,” ประชาชาติธุรกิจ, 20 ตุลาคม 2563, (สืบค้นเมื่อ 29 เมษายน 2564), https://www.prachachat.net/politics/news-541140.
ข่าวไอที, ““พุทธิพงษ์” เล็งดำเนินคดีหลายสื่อเผยข่าวฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ,”19 ตุลาคม 2563, (สืบค้นเมื่อ 29 เมษายน 2564), ผู้จัดการออนไลน์, https://mgronline.com/cyberbiz/detail/96300001 06375.
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (เฟซบุ๊กแฟนเพจ), “สรุปตัวเลขช่วงการชุมนุม รอบสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 13 – 18 ต.ค. 2563 พบมี แกนนำ นักการเมือง ผู้ใช้โซเชียล โพสต์ผิดกฎหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เตรียมทยอยส่งดำเนินคดี พร้อมเตือนประชาชนใช้สื่อออนไลน์อย่างระมัดระวัง,” ศูนย์เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์การชุมนุม กระทรวงดีอีเอส, 19 ตุลาคม 2563, (สืบค้นเมื่อ 29 เมษายน 2564), https://www.facebook.com/ prmdes.official/posts/ 1055215251580207.
บีบีซีไทย, “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส: เฟซบุ๊กเตรียมดำเนินทางการกฎหมายกับรัฐบาลไทย หลังบังคับบล็อกการเข้าถึงกลุ่มปิดที่พูดคุยเกี่ยวกับราชวงศ์,” บีบีซีไทย, 25 สิงหาคม 2563, (สืบค้นเมื่อ 29 เมษายน 2564), https://www.bbc.com/thai/thailand-53900663.
โพสต์ทูเดย์, “ดีอีเอส เอาผิดโซเชียลโพสต์แรก ฝ่า พรบ.คอมฯ-พรก.ฉุกเฉิน,” โพสต์ทูเดย์,             19 ตุลาคม 2563, (สืบค้นเมื่อ 29 เมษายน 2564), https://www.posttoday.com/economy/news/635879.

*การรวบรวมข้อมูลสถานการณ์โดย ภาสกร ญี่นาง อันเป็นส่วนหนึ่งของวิจัย การพัฒนามาตรการคุ้มครองพลเมืองจากการสอดส่องการสื่อสารโดยรัฐ, 2565. สนับสนุนทุนโดย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

บล็อกของ ทศพล ทรรศนพรรณ

ทศพล ทรรศนพรรณ
การพัฒนาสิทธิแรงงานรับจ้างอิสระ (Freelancer) ต้องยึดโยงกับหลักกฎหมายสำคัญเรื่องการประกันสิทธิของแรงงานอันมีสิทธิมนุษยชนเป็นพื้นฐาน (Human Rights-Based Approach – HRBA) ไว้ เพื่อเป็นรากฐานทางกฎหมายในการอ้างสิทธิและเสนอให้ภาครัฐสร้างมาตรการบังคับตามสิทธิอย่างเป็นรูปธรรม ตั้งแต่การประกันรายได้รูปแบบ
ทศพล ทรรศนพรรณ
การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของปัจเจกชนจากการเก็บข้อมูลและประมวลผลโดยบรรษัทเอกชนจำต้องปกป้องคุ้มครองสิทธิของเจ้าของข้อมูลตามมาตรฐานที่กำหนดหน้าที่ของผู้ควบคุมระบบตามกฎหมายด้วย เนื่องจากบุคคลหรือกลุ่มองค์กรเหล่านี้ทำหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิเจ้าของข้อมูลในหลายรูปแบบ อาทิ การให้ความรู้เกี่ยวกับสภาพปั
ทศพล ทรรศนพรรณ
บุคคลแต่ละคนย่อมมีทุนที่แตกต่างกันไปทั้ง ทุนความรู้ ทุนทางเศรษฐกิจ ทำให้การตัดสินใจนั้นตั้งอยู่บนข้อจำกัดของแต่ละคนไม่ว่าจะเป็นการไม่รู้เท่าทันเทคโนโลยี ขาดความรู้ทางการเงิน ไปจนถึงขาดการตระหนักรู้ถึงผลกระทบต่อสุขภาพตนเองและผู้อื่นในระยะยาว ยิ่งไปกว่านั้นรัฐไทยยังมีนโยบายที่มิได้วางอยู่บนพื้นฐานข
ทศพล ทรรศนพรรณ
บทบัญญัติกฎหมายที่ใช้เป็นรากฐานในการอ้างสิทธิในการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนนั้น จะพบว่ารัฐไทยได้วางบรรทัดฐานทางกฎหมายที่รับสิทธิของประชาชนในการรวมกลุ่มกันเพื่อแสดงออกในประเด็นทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเริ่มต้นจากหลักการพื้นฐานสำคัญที่เชื่อมโยงเรื่องสิทธิม
ทศพล ทรรศนพรรณ
เทคโนโลยีด้านการสื่อสารที่เข้ามามีอิทธิพลแทบจะทุกมิติของชีวิต ส่งผลให้พฤติกรรมด้านการปฏิสัมพันธ์ของประชาชนเปลี่ยนแปลงไปตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยี มีประชาชนจำนวนมากที่ใช้เทคโนโลยีในการหา “คู่” หรือแสวง “รัก” ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดการกระทำความผิดที่เรียกว่า Romance Scam หรือ “พิศวาสอาชญากรรม”&
ทศพล ทรรศนพรรณ
เมื่อถามนักปกป้องสิทธิมนุษยชนว่าอยากเห็นสังคมไทยเป็นเช่นไรในประเด็นการมีส่วนร่วมต่อการกำหนดนโยบายสาธารณะ หรือมีความคาดหวังให้รัฐไทยปรับปรุงอะไรเพื่อส่งเสริมการพิทักษ์สิทธิมนุษยชนของกลุ่มเสี่ยง   นักปกป้องสิทธิมนุษยชนในไทยได้ฉายภาพความฝัน ออกมาดังต่อไปนี้
ทศพล ทรรศนพรรณ
นักปกป้องสิทธิมนุษยชนผู้คร่ำหวอดอยู่ในสนามมายาวนานได้วิเคราะห์สถานการณ์การคุกคามผ่านประสบการณ์ของตนและเครือข่ายแล้วแสดงทัศนะออกมาในหลากหลายมุมมอง ดังนี้
ทศพล ทรรศนพรรณ
สถานการณ์ในด้านสิทธิมนุษยชนในต่างประเทศนั้น มีความสัมพันธ์กับหลายปัจจัยที่อาจเกิดความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาการละเมิดต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนภายในประเทศที่เกิดจากข้อค้นพบจากกรณีศึกษา มีปัจจัยดังต่อไปนี้1. สถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับบริบทภายในประเทศ
ทศพล ทรรศนพรรณ
บทวิเคราะห์ที่ได้จากการถอดบทสัมภาษณ์นักปกป้องสิทธิมนุษยชนมากประสบการณ์ ในหลากหลายภูมิภาคไปจนถึงความแตกต่างของการทำงานกับกลุ่มเสี่ยงที่มีปัญหาสิทธิแตกต่างกันไป   เป็นที่ชัดเจนว่าเขาเหล่านั้นมีชีวิตและอยู่ในวัฒนธรรมแตกต่างไปจากมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนและนิติรัฐที่ปรากฏในสังคมตะวันตก ซึ่งสะ
ทศพล ทรรศนพรรณ
การคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงได้ถูกรับรองไว้โดยพันธกรณีระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ ให้ความสำคัญประกอบจนก่อให้เกิดอนุสัญญาเฉพาะสำหรับกลุ่มเสี่ยงนั้น ๆ ประกอบไปด้วย สตรี, เด็ก, เชื้อชาติ และ แรงงานอพยพ รวมถึง ผู้พิการ โดยกลุ่มเสี่ยงมีสิทธิที่ถูกระบุไว้ในปฏิญญาว่าด้วย
ทศพล ทรรศนพรรณ
แนวทางในการสร้างนโยบาย กฎหมาย และกลไกเพื่อคุ้มครองสิทธิประชาชนจากการสอดส่องโดยรัฐมาจาการทบทวนมาตรฐานและแนวทางตามมาตรฐานสากลเพื่อสร้างข้อเสนอแนะเชิงนโยบายครอบคลุม 2 ประเด็นหลัก คือ
ทศพล ทรรศนพรรณ
ต้นปี 2563 หลังจากการอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคอนาคตใหม่ บรรยากาศความขัดแย้งทางการเมืองไทยที่ถูกกดไว้มาตั้งแต่หลังการรัฐประหาร 2557 ก็ปะทุขึ้นอีกครั้ง เกิดการเคลื่อนไหวชุมนุมทางการเมืองเพื่อต่อต้านรัฐบาลกระจายไปทั่วทุกจังหวัดในรัฐไทย จุดสำคัญและเป็นเรื่องที่ไม่ปรากฏขึ้นมาก่อนในหน้าประว