เทคโนโลยีด้านการสื่อสารที่เข้ามามีอิทธิพลแทบจะทุกมิติของชีวิต ส่งผลให้พฤติกรรมด้านการปฏิสัมพันธ์ของประชาชนเปลี่ยนแปลงไปตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยี มีประชาชนจำนวนมากที่ใช้เทคโนโลยีในการหา “คู่” หรือแสวง “รัก” ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดการกระทำความผิดที่เรียกว่า Romance Scam หรือ “พิศวาสอาชญากรรม”
โดยทั่วไป Romance Scam หรือ “พิศวาสอาชญากรรม” คือ การที่นักต้มตุ๋น (Scammer) ได้ใช้เทคนิคทางจิตวิทยาผ่านเครื่องมือทางเทคโนโลยีต่าง ๆ ในการหลอกลวงให้ เหยื่อ (Victim) หลงเชื่อ จนกระทั่งยินยอมให้สิ่งต่าง ๆ ที่นักต้มตุ๋นต้องการ
แผนประทุษกรรมที่พบจากพิศวาสอาชญากรรมที่มีกระบวนการหลอกลวงทางออนไลน์นั้นมักปรากฏอยู่ในลักษณะขั้นตอน ดังต่อไปนี้
ขั้นที่หนึ่ง สร้างโปรไฟล์ปลอม เป็นขั้นตอนแรกของการหลอกลวงของ อาชญากร โดยการปลอมจะเป็นการสร้างโปรไฟล์ที่น่าดึงดูด บอกรายละเอียดส่วนตัว บางกรณีจะสร้างโปรไฟล์ว่าเป็นลูกครึ่งหรือมีเชื้อชาติเดียวกับเหยื่อ หรือมักโกหกว่าเป็นคนที่มีอำนาจ หากเป็นโปรไฟล์ผู้หญิงปลอม มักจะมีลักษณะคล้ายนางแบบและน่าหลงใหล โดยกลุ่มเป้าหมายจะเป็นชายอายุ 50 ปีขึ้นไป ส่วนโปรไฟล์ผู้ชายปลอมนั้น จะเป็นคนมีเสน่ห์ ลักษณะฐานะมั่นคง บางราย ซึ่งเป้าหมายก็จะเป็นผู้หญิงวัยเกษียณ เป็นม่าย หย่าร้างแล้ว และกรณีของชายรักร่วมเพศปลอม จะต้องใช้ผู้ชายที่มีแรงดึงดูดสูงสำหรับกลุ่มรักร่วมเพศโดยตรง หน้าตาดี บุคลิกดี คล้ายนายแบบ และอายุไม่มากนัก
ขั้นที่สอง โอ้โลมปะติโลม Grooming เป็นช่วงเวลาที่ อาชญากร ใช้สร้างความไว้ใจ และทำให้เหยื่อเชื่อว่าพวกเขามีเงินจริง ๆ ซึ่งในขั้นตอนนี้จะมีความแตกต่างกันออกไปของลักษณะเหยื่อแต่ละราย บางรายทำให้เหยื่อรู้สึกว่าไม่เคยได้พบสิ่งนี้ โดยมุ่งหมายให้เหยื่อตกหลุมรักตนอย่างรวดเร็วที่สุด โดย อาชญากร จะใช้เวลาเรียนรู้และทำความเข้าใจเหยื่อแต่ละคน และใช้วิธีที่ดึงดูดใจแต่ละคนแตกต่างกันไป ส่วนมากจะทำเป็นกิจวัตร เพื่อทำให้ความสัมพันธ์ดูน่าเชื่อถือ แล้วสร้างเรื่องให้เหยื่อเชื่อว่าตนต้องการที่จะมาหาเหยื่อ แต่ติดขัดด้วยเหตุผลบางอย่างรวมถึงคาดหวังที่จะสร้างความสัมพันธ์ที่ยืนยาว และท้ายที่สุดในขั้นตอนนี้ อาชญากร จะร้องขอของขวัญบางอย่างเพื่อเป็นการทดสอบศักยภาพทางการเงินของเหยื่อ ขณะเดียวกันนั้น อาชญากร ก็ส่งของขวัญมาให้เหยื่อกระตุ้นให้เหยื่อทำตามคำขอ
ขั้นที่สาม การทำให้เจ็บปวด (The Sting) หลังจากที่ อาชญากร พยายามล่อลวงให้เหยื่อโอนเงินให้ ถ้าพวกเขาทำพลาดในครั้งแรกๆ พวกเขาจะล่อลวงเหยื่อต่อไป เพื่อรอโอกาสในการล่อลวงให้เหยื่อโอนเงิน ในขั้นตอนนี้ทำให้เหยื่อบางคนรู้ว่านี่คือการหลอกลวงและไม่ได้ส่งเงินให้ ซึ่ง อาชญากร ก็จะสร้างสถานการณ์ต่าง ๆ เพื่อทำให้เหยื่อหลงกล
ขั้นที่สี่ การล่วงละเมิดทางเพศ Sexual abuse บางกรณีที่ อาชญากร ร้องขอให้เหยื่อแสดงกิจกรรมทางเพศหน้า webcam แต่ส่วนมากเหยื่อจะไม่รายงานเรื่องดังกล่าว เพราะถือเป็นเรื่องที่หน้าอับอาย สิ่งนี้เกิดขึ้นน้อยมาก และที่พบมักเป็นกรณีที่เหยื่อบอกว่าไม่มีเงิน เหยื่อจะถูกร้องขอให้ถอดเสื้อ หรือช่วยตัวเองผ่านเว็บแคม บางคนจะโดนขู่ว่าจะ blackmail
ขั้นที่ห้า การเปิดเผย Revelation เหยื่อรู้ตัวว่าตนเองถูกหลอก โดยเหยื่อบางคนจะพยายามหาหลักฐานมาสนับสนุนเมื่อพวกเขามีลางสังหรณ์ว่าถูกหลอก เช่น แจ้งสถานทูต ตำรวจ และบริษัท/เว็บหาคู่ ในบางกรณีเหยื่อบางคนได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องว่าตนกำลังถูกหลอกลวง หรือมีเพื่อนแจ้งตำรวจว่าตนกำลังถูกหลอก ยิ่งไปกว่านั้นมีการซ้อนแผนของ อาชญากร เมื่อทราบว่าเหยื่อรู้ตัวแล้วว่าถูกหลอก โดย อาชญากร จะปลอมเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจของรัฐในทวีปแอฟริกา ติดต่อเหยื่อว่า อาชญากรที่หลอกคุณถูกจับแล้วและจะคืนเงินให้กับเหยื่อ แต่เหยื่อต้องจ่ายเงินค่าดำเนินการต่าง ๆ ในการรับเงินคืนดังกล่าว และทำให้เหยื่อยังคงอยู่ในวงจรของเหยื่อนั้นต่อไปซ้ำแล้วซ้ำเล่า
จะเห็นว่าการหลอกเหยื่อจะมีชั้นเชิงที่สูง จากกรณีข้างต้นที่เหยื่อโดนหลอกซ้ำว่าได้จับตัว อาชญากร แล้ว โดยผู้หลอกเหยื่อก็เป็น อาชญากร ด้วยกันเอง ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เหยื่อไม่หลุดพ้นออกจากวงจรของการหลอกลวงนี้ ถูกหลอกซ้ำไปซ้ำมาเรื่อย ๆ จนบางรายถึงขั้นคิดฆ่าตัวตายเพื่อหนีปัญหาและความอับอายดังกล่าว
คำถามที่ชวนฉงนสงสัยก็คือ ผู้เสียหายส่วนใหญ่ทำไมถึงถูกหลอกได้ ทั้งที่ผู้เสียหายบางคนเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถในด้านภาษาและการศึกษาเป็นอย่างดี เนื่องจาก อาชญากร ใช้วิธีการสร้างบทบาท บุคลิก ลักษณะของ “คนดี” โดยการใช้คำพูดและสำนวนในแง่ดีที่จะสื่อนัยยะของการเป็นคนที่ซื่อสัตย์ จริงใจ และพึ่งพาได้ โดยอาชญากร สร้างบทบาทเพื่อเข้าถึงเป้าหมายทั้งหมด 7 ลักษณะ
ลักษณะแรก การแสดงบทบาทของการเป็น “คนดีมีศีลธรรม” ด้วยการใช้ศาสนาเข้าถึงเป้าหมาย ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าโปรไฟล์ของเหยื่อในเว็บหาคู่อาจระบุสถานะทางศาสนา หรือระบุว่าเหยื่อกำลังหาคู่ที่เป็นผู้ศรัทธาในศาสนาเหมือนกัน
ลักษณะที่สอง การแสดงบทบาทของการเป็น “เนื้อคู่/คู้แท้ ไว้ใจได้” ด้วยการแสดงออกว่าเป็นคนซื่อๆ พยายามสร้างภาพว่าตนไม่ใช่คนที่ใช้บริการเว็บหาคู่นี้เป็นประจำ และเน้นถึงความไร้เดียงสาของตนเองที่เชื่อว่าเว็บดังกล่าวเป็นเว็บที่ไว้วางใจได้
ลักษณะที่สาม การแสดงบทบาทของการเป็น “ผู้ที่มาจากครอบครัวที่ดี มีการศึกษาสูง และถูกเลี้ยงดูมาอย่างดี” เป็นผู้หาเลี้ยงครอบครัว และประสบความสำเร็จทางอาชีพทั้งกับหน่วยงานรัฐบาลและเอกชน โดยมักอ้างอาชีพที่มีชื่อเสียง น่านับถือ มีความมั่นคง และรายได้สูง
ลักษณะที่สี่ การแสดงบทบาทของการเป็น “คนมีเสน่ห์ น่าหลงใหล” หลายครั้งเพื่อที่จะหลอกเหยื่อก็มักจะยอเหยื่อให้รู้สึกว่าตนมีเสน่ห์น่าดึงดูด
ลักษณะที่ห้า การแสดงบทบาทที่ทำให้เหยื่อรู้สึกว่า “เหยื่อเป็นคนสำคัญ” มักอ้างว่าต้องการเหยื่อตลอดเวลา ขาดเธอไม่ได้ เหยื่อเป็นเหมือนคู่ชีวิต
ลักษณะที่หก การแสดงบทบาทที่ทำให้เหยื่อรู้สึกว่า “เหยื่อมีคุณค่า น่ายกย่อง น่าสรรเสริญ” โดยทำให้เป้าหมายรู้สึกว่าตนเป็นที่ต้องการ และเป็นพิเศษอยู่ตลอดเวลา ด้วยการใช้วลีที่เกินจริง แสดงออกว่าคลั่งรักเหยื่อมาก อันจะนำไปสู่การพัฒนาความสัมพันธ์ใกล้ชิดได้เร็วยิ่งขึ้น และ
ลักษณะที่เจ็ด การแสดงบทบาทของการเป็น “คนที่รู้จักสำนึกบุญคุณ” ลักษณะประเภทนี้มักใช้เป็นข้ออ้างในการขอยืมเงิน และสัญญาว่าจะใช้คืนอย่างแน่นอน นอกจากการคืนเงินที่ยืมมาแล้วยังเตรียมของพิเศษบางอย่างสำหรับให้เหยื่อด้วย
เมื่อเชื่อมโยงเรื่องการสร้าง “ความไว้วางใจ” เข้ากับการสร้าง “กลยุทธ์จู่โจมที่เหมาะกับเหยื่อ” สิ่งที่ทำให้ อาชญากร บรรลุเป้าหมายของการหลอกลวงนั่นก็คือ “ความน่าเชื่อถือ” บนพื้นฐานของ “ข้อเท็จจริง” ดังนั้นพื้นฐานของความสำเร็จของ คือ ความเชื่อใจและข้อเท็จจริง อาชญากรจะสร้างความเชื่อมั่นให้แก่เหยื่อในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเว็บไซด์ที่เกี่ยวกับอาชีพของตน การแสดงภาพกิจวัตรประจำวัน รวมถึงการเต็มใจที่จะคุยกับเหยื่อทางโทรศัพท์เพื่อพิสูจน์ว่าพวกเขาเป็นคนตะวันตกจริง ๆ ด้วยสำเนียงการพูด หรือสร้างตัวละครเสริมมาพูดคุยกับเหยื่อเพื่อให้เข้าใจว่าได้คุยกับแม่ของชายที่เธอหลงรัก อันเป็นเหตุผลที่ทำให้เหยื่อเชื่อ และมั่นใจว่าคนที่กำลังสานสัมพันธ์อยู่มีตัวตนจริง ๆ ในส่วนของเรื่องไวยากรณ์นั้น แม้ว่าพวก อาชญากร จะมีข้อบกพร่องเล็กน้อยในการเลือกใช้คำศัพท์ หรือเครื่องหมายวรรคตอน แต่ส่วนมากประโยคก็จะถูกต้อง และมีเนื้อหาสอดคล้องกัน ทั้งนี้อีกเหตุผลที่พอฟังขึ้นก็คือ คนส่วนใหญ่มักไม่ให้ความสำคัญกับความถูกต้อง ไวยากรณ์ หรือแบบฟอร์มของภาษาในการสนทนาอย่างไม่เป็นทางการนั่นเอง
ดังนั้นการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลจำนวนมากและบ่อยครั้งทั้งในแง่ของความคิดและความรู้สึกบนโลกไซเบอร์ ทำให้เป็นเรื่องง่ายต่อใช้เป็นข้อมูลในการประกอบอาชญากรรมชนิดที่อาศัยการสร้างความสัมพันธ์ หรือการแสวงหาผลประโยชน์จากความสัมพันธ์ในโลกออนไลน์
อ้างอิง
Monica T. Whitty (2015) เรื่อง Anatomy of the online dating romance scam
Tan Hooi Koon และ David Yoong (2017) เรื่อง Preying on lonely hearts: A systematic deconstruction of an Internet romance scammer’s online lover persona
*ปรับปรุงจากบทสังเคราะห์ วิจัย ข้อจำกัดของกระบวนการยุติธรรมเพื่อป้องกันและปราบปรามพิศวาสอาชญากรรม (Romance Scam) และแนวทางสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชน, 2562. สนับสนุนโดย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)