Skip to main content

เรื่องล่าสุดที่ใครอาจคิดว่าไกลตัว แต่มันเข้ามาใกล้ตัวเรากว่าที่หลายคนคิด ใช่แล้วครับ แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย และจะมีจำนวนมากขึ้นอย่างแน่นอนในอนาคตตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย และความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจกับประเทศรอบด้าน   บางคนอาจคิดไปว่าคนต่างด้าวเข้ามาแย่งงานคนไทย แต่คนที่ได้ลองเข้ามาคลุกคลีอยู่วงใน หรือคนที่ทำธุรกิจต่างๆ คงทราบกันแล้วใช่ไหมครับว่า ถ้าไม่มีแรงงานต่างด้าวเศรษฐกิจและสังคมไทยมีปัญหาแน่ เพราะงานที่ต้องการแรงงานต่างด้าวราคาถูกจำนวนมากนั้น คือ งาน 3 สูง ได้แก่ เสี่ยงสูง โดนเหยียดหยามสูง สกปรกสูง อย่างภาคการประมงที่ต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำ งานเก็บกวาดชะล้างที่สกปรกและเป็นที่รังเกียจ ไปจนถึงงานบริการที่ต้องรองรับอารมณ์ลูกค้าตลอดเวลา   แต่กลับกลายเป็นว่าสังคมยังมีความเข้าใจผิดๆเกี่ยวกับเขาเหล่านั้น หรือบางครั้งก็แค่อยากจะเอาเปรียบ เลยหาวิธีการเหยียบย่ำสิทธิความเป็นคนเอาไว้ด้วยสารพัดกลวิธี จนมีปัญหาทางกฎหมายเข้ามาให้คลินิกกฎหมายจัดการไม่เว้นแต่ละเดือนกันเลยครับ   ยิ่งช่วงเงินเดือนออกนี่ไม่ต้องทำเรื่องอื่นกันเลยครับ   ถ้าไม่เชื่อก็ลองไปฟังดูครับ

“โม กับ อ่อง เป็นผัวเมียที่อพยพหนีภัยสงครามจากฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสาละวินมาเพราะโดนทหารของกองทัพรัฐบาลพม่าไล่ปราบปรามชนกลุ่มน้อยริมตะเข็บชายแดนช่วงหน้าแล้ง   เธอกับสามีต้องพยายามเดินลัดเลาะเข้ามารวมกับกลุ่มคนไทใหญ่กลุ่มอื่นเพื่อจะไปหานายหน้าที่จะพาข้ามไปทำงานในฝั่งไทย   โดยในครั้งแรกระหว่างที่เธอกับสามีโดนด่านตรวจความมั่นคงของทางการไทยตรวจพบจนต้องหนีกระเจิงแต่ก็มีบางส่วนถูกควบคุมตัวได้ และในวันถัดมาก็ถูกพาไปขังรวมกันไว้ในสถานที่แห่งหนึ่ง ซึ่งมีทั้งผู้หญิงผู้ชาย เด็ก คนแก่ วัยรุ่น ปะปนกันไปทั้งหมด ซึ่งก็สร้างความลำบากให้เธอในการทำธุระส่วนตัวมาก   หลังจากผ่านไปได้สักระยะเธอก็ไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไรต่อไปเพราะไม่มีใครมาบอกว่าจะต้องโดนอะไรต่อมารอแต่เพียงเวลาว่าเมื่อไหร่จะได้ออกไปเสียที   โดยไม่ได้มีการพาไปขึ้นศาลหรือดำเนินการใดๆทั้งสิ้น  จนสุดท้ายมีเจ้าหน้าที่พาไปขึ้นรถแล้วไปปล่อยให้เดินข้ามฝั่งกลับไปประเทศพม่า เพราะว่าไม่มีสัญชาติไทย  แต่พวกเธอก็ยังดีใจที่ไม่ถูกทำร้ายหรือที่โมกลัวมากกว่าคือการข่มขืน เพราะเพื่อนๆของเธอเคยเล่าให้ฟังว่ามีหลายครั้งที่ต้องเจอกับเหตุการณ์แบบหนีเสือปะจระเข้  คือ หนีการข่มขืนอย่างเป็นระบบของทหารพม่าเพื่อการกลืนชาติไต แต่ต้องมาเจอกับผู้ใช้อำนาจมืดข่มขืนเข้าให้ในฝั่งไทยแทน

หลังจากไปหาวิธีการเข้าประเทศไทยมาอีกครั้ง ก็ไปพบกันนายหน้าอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งบอกว่าไม่ต้องกลัวจะถูกจับได้ เพราะมีคนเสนอให้ข้าพรมแดนไปได้ตามออร์เดอร์เนื่องจากฝั่งไทยต้องการแรงงานชายเข้าไปทำงานก่อสร้างและประมงจำนวนมาก ส่วนผู้หญิงถ้าหากหน้าตารูปร่างใช้ได้ก็ไปทำงานในร้านกลางคืน เธอก็ไม่อยากฝืนใจอีก เนื่องจากหนีการข่มขืนอย่างเป็นระบบโดยกองกำลังทหาร แต่จะต้องมาโดนข่มขืนอย่างเข้มข้นด้วยอุตสาหกรรมทางเพศในเมืองไทยอีกเธอไม่ยอม   จึงดิ้นรนจนได้ทำงานบ้านเลี้ยงน้องที่ครอบครัวของคนรวย  แม้จะไม่ต้องเจอกกับการทารุณกรรมทางเพศแต่งานที่บ้านนี้ก็มีเวลาทำงานที่ทรมานเธอได้ไม่น้อยเพราะต้องตื่นก่อนนอนทีหลังคนในบ้าน   แต่ละวันต้องเริ่มงานตั้งแต่ตีห้า กว่าจะได้นอนก็ปาเข้าไปเที่ยงคืน   ส่วนกลางวันก็ต้องง่วนอยู่กับการทำนู่นทำนี่ตั้งแต่อาหารการกินไปจนถึงทำความสะอาดซักล้างทุกอย่าง รวมไปถึงเลี้ยงน้องที่ยังเล็กมากตลอดทั้งวัน ไม่ได้สุขสบายอย่างที่หลายคนคิด

ส่วนอ่อง ต้องแยกไปทำงานก่อสร้างกับเจ้าของบ้านที่รับเหมาก็สร้างตามที่ต่างๆ เพราะหมูบ้านและคอนโดขึ้นยุ่บยั่บ พอกลับมาถึงบ้านก็ต้องช่วยโมทำความสะอาดไม่ก็ทำสวนและทำงานต่างๆในบ้านเพื่อแบ่งเบาภาระของเมีย   สรุปแล้วทั้งคู่จึงได้อยู่ในบ้านคนงานหลังบ้านใหญ่เพราะเจ้าของต้องการให้โมอยู่ดูแลบ้านแทบจะทั้งวันทั้งคืน ไม่ได้ให้ไปอยู่บ้านคนงานแบบที่คนงานก่อสร้างคนอื่นแยกไปอยู่กันเป็นครอบครัว แต่ที่ต้องระวังตัวก็คือ เวลาออกไปไหนมาไหนต้องไม่ให้ใครรู้ว่ามาจากต่างแดน เพราะไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ถ้าใครถูกจับได้อาจถูกส่งกลับไปนอกประเทศแล้วอีกคนจะต้องอยู่คนเดียวไม่รู้จะตามหาอีกคนให้กลับมาอยู่ด้วยกันได้อย่างไร            

จนเกิดสิ่งที่ทั้งสองหวั่นเมื่อมีการบุกรวบแรงงานต่างด้าวที่ไซต์คนงานก่อสร้างที่เข้ามาซ่อมแซมตึกแถว ทั้งที่ทุกคนพยายามระวังอยู่แล้ว เนื่องจากวันนั้นเงินเดือนออก คนงานถือเงินทั้งเดือน พอกำเงินไม่ทันจะชุมเหงื่อก็โดนล้อมจับขึ้นรถขังไปสถานีหมด   ซึ่งมีคนมาติดต่อว่าถ้ายังอยากอยู่ทำงานในเมืองไทยต่อต้องจ่ายเงินเดือนครึ่งหนึ่งให้เขาไปจัดการ เมื่อมีกลุ่มที่ทำงานสิทธิแรงงานเข้าไปพบเข้าจึงประสานกันมาเพื่อหาทางออก เนื่องจากแรงงานต่างด้าวโดนอย่างนี้ทุกเดือนเสมือนว่าต้องทำงานเพื่อเอาเงินเดือนครึ่งหนึ่งมาไถ่ตัวออกมา   และพอมีปัญหาสุขภาพก็ไม่กล้าไปเข้าโรงพยาบาลต้องไปเข้าคลินิกรักษาซึ่งก็ได้ยามากิน แต่ไม่รู้ว่าวันข้างหน้าถ้ามีปัญหาใหญ่ๆจะทำอย่างไรเพราะไม่มีระบบอะไรมารองรับ ต่างกับแรงงานต่างด้าวในจังหวัดชายแดนที่มีระบบจ่างเงินก้อนต่อปีแล้วใช้บริการสาธารณสุขในโรงพยาบาลรัฐได้"

วิเคราะห์ปัญหา

1.             ผู้ที่หลบหนีภัยสงครามและการประหัตประหารและการข่มขืนมา จะอยู่ในฐานะคนเข้าเมืองผิดกฎหมายหรือไม่ รัฐไทยสามารถผลักดันกลับไปได้ทันทีรึเปล่า

2.             หากจับกุมผู้ที่เข้าเมืองผิดกฎหมายได้ จะมีการควบคุมตัวในลักษณะขังรวม หรือไม่ดำเนินการใดๆตามกระบวนการยุติธรรม แบบขังลืม ได้หรือไม่

3.             การเข้าเมืองมาทำงานของแรงงานต่างด้าวหากจะดำเนินการได้ถูกต้องตามกฎหมายจะต้องทำอย่างไร   สามารถเข้ามาก่อนแล้วดำเนินการทีหลังได้หรือไม่

4.             การทำงานในบ้านซึ่งไม่มีการระบุรายละเอียดการทำงาน นายจ้างสามารถใช้งานลูกจ้างได้ตามอำเภอใจของนายจ้างหรือไม่ ต้องมีมาตรการอย่างไรบ้างในการดูแลสิทธิของผู้ใช้แรงงาน

5.             หากมีการจับกุมแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายรัฐจะต้องดำเนินการอย่างไร สามารถแก้ไขปัญหาโดยใช้เงินหรือไม่

6.             หากแรงงานต่างด้าวเจ็บป่วยจะมีระบบประกันสังคมอย่างไรมารองรับหรือไม่

การนำกฎหมายมาแก้ไข

1.             ผู้ที่หลบหนีภัยสงครามและการประหัตประหารและการข่มขืนมา จะอยู่ในฐานะผู้ลี้ภัย แต่รัฐไทยมักให้สถานะผู้หลบหนีภัยสงครามเพราะไทยยังไม่เข้าร่วมอนุสัญญาผู้ลี้ภัย โดยรัฐไทยไม่สามารถผลักดันกลับไปให้ตกอยู่ในภาวะเสี่ยงภัยต่อการประหัตประหารตามกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ และอาจต้องดูแลการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานร่วมกับองค์การระหว่างประเทศ

2.             หากจับกุมผู้ที่เข้าเมืองผิดกฎหมายได้ รัฐจะต้องดำเนินการตาม พรบ.คนเข้าเมืองฯ และกระบวนการยุติธรรมทางอาญา โดยจะควบคุมตัวในลักษณะขังรวมไม่ได้ และต้องดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมทันที ตั้งแต่การนำตัวไปขึ้นศาล ฝากขัง ดำเนินคดี และเนรเทศต่อไป

3.             การเข้าเมืองมาทำงานของแรงงานต่างด้าวให้ถูกต้องตามกฎหมายจะต้องทำตามขั้นตอนในประเทศต้นทางเสียก่อนและมาตามโควต้าแต่ละช่วงเวลาที่รัฐไทยกำหนด   แต่มีบางกรณีที่แรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานอยู่แล้วรัฐไทยก็อาจประกาศผ่อนผันหรือให้มาดำเนินการขึ้นทะเบียนทีหลังได้เช่นกัน แต่ต้องทำตามเงื่อนไขและมีนายจ้าง ถิ่นที่อยู่ สถานที่ทำงาน อย่างชัดเจน

4.             การทำงานในบ้านซึ่งไม่มีการระบุรายละเอียดการทำงาน นายจ้างไม่อาจใช้งานลูกจ้างได้ตามอำเภอใจของนายจ้าง โดยต้องมีการใช้งานไม่เกินชั่วโมงการทำงาน และให้ในการดูแลสิทธิของผู้ใช้แรงงานเพื่อความปลอดภัยและสวัสดิการในการดำรงชีพ

5.             หากมีการจับกุมแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายรัฐจะต้องดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญา และใช้ พรบ.คนเข้าเมืองฯ อย่างเคร่งครัด ไม่สามารถแก้ไขปัญหาโดยใช้เงินเพราะจะนำไปสู่ความผิดเกี่ยวกับการให้หรือรับสินบนด้วย

6.             หากแรงงานต่างด้าวเจ็บป่วยจะมีระบบประกันสังคมมารองรับก็ต่อเมื่อเป็นแรงงานต่างด้าวในระบบ หรือมีการจ่ายสมทบในระบบที่ออกแบบไว้เป็นทางเลือกในบางจังหวัดหรือบางโรงพยาบาล แต่ยังไม่มีระบบพื้นฐานที่ครอบคลุมสวัสดิการแรงงานต่างด้าวทั้งหมดทันที

ช่องทางเรียกร้องสิทธิ

1.             การหนีภัยสงครามมาสามารถขออยู่หรือประสานให้องค์การระหว่างประเทศด้านมนุษยธรรมรับทราบเพื่อให้อยู่ภายใต้การคุ้มครอง   รวมถึงอาจร้องต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้

2.             การขังรวม ขังลืม หรือละเมิดสิทธิของคนต่างด้าวโดยมิชอบด้วยกฎหมาย อาจแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองหรือตำรวจได้ 

3.             หากผู้ละเมิดเป็นเจ้าพนักงานรัฐเสียเองให้ร้องต่อผู้บังคับบัญชา หรือคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ผู้ตรวจการแผ่นดิน หรือร้องต่อ ปปช. ได้

4.             หากยังไม่ได้รับการเยียวยาอาจฟ้องต่อศาลปกครองในกรณีการใช้อำนาจรัฐทั่วไป แต่ถ้าเป็นการละเมิดโดยความทุจริตส่วนบุคคลของเจ้าพนักงานให้ฟ้องศาลอาญา

5.             การติดต่อเรื่องจ้างงานหรือหางานต้องดำเนินการผ่านกระทรวงแรงงานและสำนักงานแรงงานจังหวัด ตามเงื่อนไขและเวลาที่รัฐประกาศ

6.             ลูกจ้างอาจร้องเรียนต่อกระทรวงแรงงาน หรือสำนักงานแรงงานประจำจังหวัด

7.             การฟ้องร้องคดีทั้งหลายต้องดำเนินการในศาลแรงงานกลางหรือศาลแรงงานจังหวัด โดยศาลจะใช้ระบบไตรภาคีมีตัวแทนนายจ้าง ลูกจ้าง และผู้พิพากษาอาชีพ

สรุปแนวทางแก้ไข

                การหลบหนีภัยสงครามใช้หลักการห้ามผลักดันกลับไปเผชิญการประหัตประหารซึ่งรัฐไทยต้องรับผู้หลบหนีและคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐาน   การขังรวมขังลืมทำไม่ได้เพราะรัฐธรรมนูญรับรองสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของบุคคลทั้งหลาย   การเข้าเมืองผิดกฎหมายต้องใช้กฎหมายคนเข้าเมืองดำเนินการและเนรเทศออกนอกประเทศ   การเรียกรับสินบนเป็นความผิดทางอาญา  การจ้างงานคนทำงานในบ้านต้องมีสภาพการจ้างที่ไม่ขัดต่อกฎหมายเช่นเวลาและความปลอดภัย   แรงงานต่างด้าวที่ถูกกฎหมายหรือได้รับการผ่อนผันสามารถเรียกร้องสิทธิต่อหน่วยงานด้านแรงงานและฟ้องศาลแรงงานได้   แต่ถ้าเป็นเรื่องการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของคนต่างด้าว เช่น รีดไถ ทำร้ายร่างกาย ข่มขืน แม้เป็นแรงงานเข้าเมืองผิดกฎหมายก็ใช้สิทธิฟ้องต่อหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนหรือฟ้องศาลยุติธรรมและศาลปกครองได้ในฐานะบุคคลตามกฎหมายแม้มิใช่ชนชาวไทย

 

 

บล็อกของ ทศพล ทรรศนพรรณ

ทศพล ทรรศนพรรณ
มาตรการสำหรับการแก้ปัญหาความอดอยากหิวโหยที่เกิดจากภัยพิบัติธรรมชาตินั้นสามารถดำเนินการได้ใน 3 ช่วงเวลา ก็คือ การเตรียมตัวก่อนภัยพิบัติจะเกิด การบรรเทาและแก้ไขปัญหาในขณะเกิดภัยพิบัติ การเยียวยาและฟื้นฟูหลังภัยพิบัติผ่านไปแล้ว   ในบทความนี้จะนำเสนอมาตรการและกรณีศึกษาที่ใช้ในการขจัดความหิว
ทศพล ทรรศนพรรณ
มาตรการทั่วไปที่ใช้ในการประกันความอิ่มท้องของประชากรในประเทศตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติที่รัฐบาลไทยประกาศสมาทานยึดถือนั้น ตั้งอยู่บนหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนเรื่องสิทธิด้านอาหาร นั้นหมายถึงรัฐไทยต้องมีมาตรการเคารพ ปกป้อง และส่งเสริมสิทธิประกอบด้วย กรอบทางกฎหมาย   กรอบทางนโย
ทศพล ทรรศนพรรณ
อุดมการณ์ที่เป็นสาเหตุของปัญหาแรงงานที่เกิดขึ้นทั่วโลกอยู่นั้น มีจุดก่อตัวมาจากระบบเศรษฐกิจการเมืองแบบเสรีนิยมใหม่ที่เข้ามาพร้อม ๆ กับกระแสแห่งการพัฒนาของโลกยุคโลกาภิวัฒน์ ที่ทำให้เกิดเสรีทางการลงทุนจนนำมาซึ่งรูปแบบการจ้างงานรูปที่มีความยืดหยุ่นต่อการบริหารจัดการของบรรษัท และสามารถตอบโจทย์นักลงทุ
ทศพล ทรรศนพรรณ
การขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินจำเป็นต้องวางแผนในการดำเนินการด้วยความเข้าใจพื้นฐานที่ว่า ความขัดแย้งเป็นสิ่งธรรมดาสามัญที่เกิดขึ้นได้ หากต้องการผลักดันข้อบัญญัติท้องถิ่นให้สำเร็จจึงต้องสามารถทำความเข้าใจลักษณะของข้อพิพาทที่มักเกิดขึ้นในการจัดการที่ดิน   และมีแนวทางในการข
ทศพล ทรรศนพรรณ
 ลู่ทางส่งเสริมการการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแก้ปัญหามลพิษ มีดังต่อไปนี้
ทศพล ทรรศนพรรณ
ปัญหาสิ่งแวดล้อมมักสร้างผลกระทบในระยะยาว ไม่ได้เกิดการบาดเจ็บ เสียหาย ทันทีทันใด   ดังนั้นเราจึงต้องมีวิธีการพิสูจน์ว่าความเจ็บป่วย เสียหายที่เกิดขึ้นนั้นมีผลมาจากปัญหาสิ่งแวดล้อมจริง   สิ่งที่เราต้องทำคือการเก็บหลักฐานอย่างต่อเนื่องและชัดเจนเพื่อนำไปใช้เป็นพยานหลักฐาน &n
ทศพล ทรรศนพรรณ
การจัดชุมนุมสาธารณะย่อมเป็นที่สนใจของสังคมตามความประสงค์ของผู้จัด จึงมีสื่อมวลชนที่เข้าร่วมทำข่าวทั้งที่เป็นสื่อมวลชนอาชีพที่มีสังกัดประจำหรือสื่อพลเมืองที่ทำหน้าที่ติดตามสถานการณ์และรายงานข่าวตามภูมิทัศน์เทคโนโลยีสื่อสารที่ปรับตัวไป 
ทศพล ทรรศนพรรณ
การชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธมีข้อจำกัดที่อาจถูกรัฐเข้าระงับหรือแทรกแซงการใช้สิทธิได้ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 4 ในสภาวะฉุกเฉินสาธารณะที่คุกคามความอยู่รอดของชาติที่ถูกประกาศอย่างเป็นทางการ และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักไทย พุทธศักราช 2560 กำหนดถึงเหตุที
ทศพล ทรรศนพรรณ
การชุมนุมโดยสงบเป็นเครื่องมือที่ทำให้บุคคลทั้งหลายสามารถแสดงออกร่วมกันและมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลง ให้ปัจเจกสามารถแสดงความเป็นตัวตนของตัวเองร่วมกับผู้อื่น   โดยการเลือกสถานที่การชุมนุมอยู่ภายใต้หลักมองเห็นและได้ยิน (sight and sound) ทั้งนี้ผู้ชุมนุมต้องอยู่ในที่ที่มองเห็นและสาธารณชนต้อ
ทศพล ทรรศนพรรณ
ขบวนการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้น ในบริบทโครงสร้างทางอำนาจในสังคมที่ไม่เท่าเทียมกัน การรวมศูนย์อำนาจหรือการครอบงำทางวัฒนธรรมโดยใช้วัฒนธรรมเดียว สิทธิชุมชนจึงเป็นการต่อสู้เพื่อปรับสัมพันธภาพทางอำนาจ สร้างตำแหน่งแห่งที่ให้ชุมชนให้เกิดความเป็นธรรมและเคารพในความหลากหลาย โดยท้องถิ่นมีเสรีภาพในการกำหนดกติกา
ทศพล ทรรศนพรรณ
ข้อกล่าวอ้างสำคัญของรัฐบาลไทยในการเพิ่มศักยภาพในด้านข่าวกรองและออกกฎหมายที่ให้อำนาจสอดส่องการสื่อสารของประชาชน คือ “ถ้าประชาชนไม่ได้ทำผิดจะกลัวอะไร” โดยมิได้คำนึงหลักการพื้นฐานเบื้องต้นว่า แม้ประชาชนมิได้ทำผิดกฎหมายอันใดก็มีสิทธิความเป็นส่วนตัว ปลอดจากการแทรกแซงการสื่อสาร อันเป็นสิทธิพื้นฐานตามกฎ
ทศพล ทรรศนพรรณ
การพัฒนารัฐที่ใช้กฎหมายเป็นหลักประกันสิทธิมนุษยชนของประชาชน และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของพลเมืองในประเด็นสาธารณะของผู้ตื่นตัวทางการเมืองในลักษณะ “นิติรัฐอย่างเป็นทางการ” แตกต่างจากความสัมพันธ์ทางอำนาจแบบ “ไม่เป็นทางการ” ที่รัฐอาจหลีกเลี่ยงการใช้อำนาจปกครองภายใต้กรอบของกฎหมายเพื่อประกันสิทธิเสรีภาพต