Skip to main content

เนื่องจากมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับปรัชญากฎหมาย สำนักกฎหมายธรรมชาติ และสำนักกฎหมายบ้านเมือง ในการตอบโต้ทางการเมืองอยู่บ่อยครั้ง   และตำราด้านปรัชญากฎหมายไทยก็มีความเฉื่อยกว่าพัฒนาการด้านปรัชญากฎหมายที่ถกเถียงและพัฒนามาอย่างต่อเนื่องในระดับโลก   จึงขออธิบายให้เข้าใจดังต่อไปนี้

 

สำนักกฎหมายบ้านเมือง ยอมรับอำนาจเผด็จการเป็น รัฐาธิปัตย์ จริงหรือ?

มีความเข้าใจผิดว่าถ้าใครมีอำนาจสูงสุดในรัฐก็จะเป็น "รัฐาธิปัตย์" เป็นองค์อธิปัตย์จะออกกฎหมายมาอย่างไรก็ได้ ซึ่ง “ผิดมหันต์”

สำนักกฎหมายบ้านเมือง เสนอว่าการบัญญัติกฎหมายต้องคำนึงถึงองค์กร/สถาบันที่มีอำนาจในการออกกฎหมายเป็นหลัก แต่นักกฎหมายสำนักนี้ก็ได้สร้างปรัชญาตามพัฒนาการของระบอบประชาธิปไตย กล่าวคือ รัฐาธิปัตย์ต้องมีที่มาชอบด้วยกฎหมายต่างๆที่มีอยู่ด้วย   ดังนั้นการออกกฎหมายใดๆจะต้องคำนึงถึงวิธีการและ เนื้อหา มิให้ไปละเมิดกฎหมายเดิมที่มีอยู่ เช่น กฎหมายระหว่างประเทศ กฎหมายมหาชน ฯลฯ นั่นก็คือ เรื่องศักดิ์ของกฎหมาย

ยกตัวอย่าง

หากประเทศนั้นจะออกกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งใหม่ ก็ต้องใช้วิธีการและองค์กรที่กฎหมายกำหนดไว้ล่วงหน้า การใช้อำนาจเข้ายึดหรือฉีกกฎหมายเดิมทิ้ง แล้วเขียนกฎหมายขึ้นตามที่กลุ่มตัวเองเห็นว่าดี โดยไม่สนใจว่า กฎหมายเดิมที่ให้ตัวแทนของประชาชนเป็นผู้ออกกฎหมาย จะกระทำมิได้ เป็นต้น  

การมีขบวนการเคลื่อนไหวให้ยกเลิกกฎหมาย ก็ต้องอยู่ในกรอบกฎหมาย เช่น ยื่นเข้าตามช่องทาง หรือรณรงค์ให้ตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้งตามกฎหมาย ขับเคลื่อนต่อไป   หากจะถอดถอนนักการเมืองก็ไปยื่นตามกระบวนการต่างๆที่กฎหมายกำหนดไว้ มิใช่การสร้างความปันป่วนจนนำไปสู่การใช้กำลังดิบเข้ายึดอำนาจแล้วเขียนกฎหมายขึ้นใหม่ตามอำเภอใจ  รวมถึงต้องคำนึงถึงกฎหมายระหว่างประเทศที่รัฐนั้นผูกพันอยู่ด้วย นั่นเอง

 

สำนักกฎหมายธรรมชาติ เพ้อฝันว่า สิทธิเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ กระนั้นหรือ?

มีความเจ้าใจผิดว่า สิทธิตามธรรมชาติ ผุดขึ้นเองตามธรรมชาติซึ่ง “มิใช่” สิ่งที่สำนักกฎหมายธรรมชาติเสนอ

สำนักกฎหมายธรรมชาติเสนอว่าการบัญญัติกฎหมาย ต้องดูธรรมชาติของมนุษย์แล้วเขียนขึ้นเพื่อรับรองสิทธิความเป็นคนที่ติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด และอาจขยับขยายรับรองสิทธิเพิ่มเติมได้ตามการเรียกร้องของประชาชน เมื่อสังคม เทคโนโลยีต่างๆ เปลี่ยนไป   แต่ก็ยังเป็น “คน” ที่สร้างขึ้นเพียงแต่ต้องรับฟังประชาชน คำนึงถึง “มาตรฐานขั้นต่ำสุด” ในการดำรงชีวิตอย่างมี “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์”

ยกตัวอย่าง การสร้างกฎหมายที่รับรอง “เนื้อหา” สิทธิของคนในการดำรงชีพอย่างมีศักดิ์ศรี

สิทธิมนุษยชน ยุคที่ 1 สิทธิที่ติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด พวก Negative Rights เช่น สิทธิในชีวิต เนื้อตัวร่างกาย ไม่ถูกทรมาน

สิทธิมนุษยชน ยุคที่ 2 สิทธิของมนุษย์ที่เชื่อมโยงกับสิ่งอื่น พวก Positive Rights เช่น สิทธิในทรัพย์สิน สังคม วัฒนธรรม

สิทธิมนุษยชน ยุคที่ 3 สิทธิของกลุ่มมนุษย์ Collective Rights เช่น สิทธิในการกำหนดอนาคตตนเองของกลุ่มชน (Right to Self-Determination of Peoples) หรือสิทธิที่นำไปสู่ความเป็นคนที่มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างแตกต่างหลากหลายตามลักษณะเฉพาะ เช่น สิทธิของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBT Rights) เป็นต้น

ส่วนวิธีการในการคุ้มครองสิทธินั้น หลังจากผ่านมานับร้อยปี มีการตกลงร่วมกันจนออกมาเป็นกฎหมายแล้วว่า สิทธิมนุษยชน เป็น “สิทธิขั้นต่ำ” ที่มนุษย์ที่ไหนก็ต้องมีเหมือนกันอย่างเป็นสากล (Universal)   ดังนั้นการคุ้มครองสิทธิจะไม่มีการแยกขาดกันระหว่างวิธีการสร้างกลไกห้ามรัฐมิให้ละเมิดสิทธิแบบ Negative Rights กับวิธีการสร้างมาตรการเพิ่มเติมขึ้นมารับรองสิทธิให้ดีขึ้นแบบ Positive Rights เพราะทุกสิทธิเชื่อมโยงซึ่งกัน และการส่งเสริมสิทธิต่างๆก็พึ่งพิงซึ่งกันและกัน นั่นเอง (Relationship and Inter-Dependence of Rights)   โดยมีการเขียนป้องกันรัฐเผด็จการมิให้มายกเลิกสิทธิเดิมที่มีอยู่ก่อนแล้วด้วย (Non-Alienation of Rights)

 

 

สำนักกฎหมายธรรมชาติ และสำนักกฎหมายบ้านเมือง มีจุดยืนต่างกันไหม?

เมื่อดูข้อเสนอที่สำนักกฎหมายทั้งสองพัฒนา จะเห็นได้ชัดว่า การสร้างกฎหมายต้องคำนึงถึง กฎหมายที่มีอยู่ “ตัวแทนของประชาชน” และเสียงของประชาชน  เพื่อสร้างกฎหมายที่ตอบสนองต่อ “ความจำเป็นพื้นฐาน” ในการดำรงชีพของมนุษย์

สิทธิมนุษยชน จึงเป็น มรดกทางอารยธรรมที่มนุษย์ค้นเจอหลังผ่านสงครามระหว่างเชื้อชาติ ศาสนา ลัทธิการเมือง ฯลฯ ด้วยเหตุนี้สิทธิมนุษยชนจึงเป็น คุณค่าหลัก หากรัฐยังศรัทธาและแสวงหา “สันติภาพอย่างยั่งยืน”    นี่คือ สาเหตุว่าทำไมการเรียนการสอนกฎหมายในอารยประเทศมี “สิทธิมนุษยชน” เป็นแก่นกลางและรากฐานทั้งหมด   เพราะ กฎหมายสร้างขึ้นโดยมนุษย์ เพื่อมนุษย์ และเป็นของมนุษย์ นั่นเอง    (การคุ้มครองสิ่งแวดล้อม หรือสัตว์ ก็เพื่อให้มนุษย์สามารถดำรงชีพอยู่ได้ในโลกนี้อย่างมีศักดิ์ศรี)     ต่างจากประเทศไทยที่มักเลี่ยงไปใช้คำว่า “สิทธิเสรีภาพ” โดยทำให้ “มนุษย์” หายไป

แม้ในเบื้องต้น สำนักกฎหมายทั้งสอง จะ “เริ่มต้น” มาจากคนละมุม แต่เป้าหมายและวิธีการในปัจจุบันมาบรรจบกัน คือ ที่มาและวิธีการต้องชอบด้วยกฎหมาย และเนื้อหาต้องไม่ขัดกับกฎหมายต่างๆ ที่รับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนนั่นเอง

ยกตัวอย่างให้เป็นรูปธรรม คือ

สำนักกฎหมายธรรมชาติ อาจจะให้ความสำคัญกับออกกฎหมายตามการเรียกร้องของประชาชนที่มาจากเบื้องล่างมากหน่อย เช่น ประชาสังคม ขบวนการเคลื่อนไหวสังคมแนวใหม่ เพื่อรองรับการออกกฎหมายที่ผลักดันด้วยเสียงประชาชน (Revolution from Below)   แต่ก็มิใช่ไปล้มล้างระบบกฎหมายหรือกลไกรัฐเดิมที่สร้างโดยตัวแทนประชาชน

สำนักกฎหมายบ้านเมือง อาจจะคำนึงถึงการใช้องค์กร/กลไกที่กฎหมายกำหนดไว้ล่วงหน้า เช่น ใช้รัฐสภา ฝ่ายนิติบัญญัติที่มาจากวิธีการที่ชอบด้วยกฎหมาย หรือการรับฟังเสียประชาชนที่มาตามช่องทาง เช่น การประชามติ การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย จึงอาจมีลักษณะการปฏิรูป (Revolution from the top down) แต่ก็ต้องคำนึงถึงความชอบธรรมของวิธีการที่ยึดโยงอยู่กับตัวแทนประชาชนหรือการมีส่วนร่วมของประชาชนตามที่กฎหมายรับรองเสมอ

ส่วนเนื้อหา ก็คือ การสร้างรัฐที่ใช้กฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิของประชาชน หรือที่ในสากลโลก กล้าเรียกตรงๆว่า

“สิทธิมนุษยชน”

 

มุขตลก “สิทธิมนุษยชนเป็นของตะวันตก ไม่มีในอารยธรรมตะวันออก”

ข้ออ้างนี้มีมาอย่างยาวนาน ดังที่สิงคโปร์ มาเลเซีย หรือจีน เสนอว่า ไม่ควรนำความเป็น สากลของสิทธิมนุษยชน มาใช้กับประเทศอื่นที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะเอเชียที่มีระบบคุณค่าแตกต่างไปจากตะวันตก (Asian Value)

คนเอเชียเป็นคนหรือไม่ มีอะไรที่ติดตัวต่างจากคนที่อื่นไหม   คนเอเชียมีความต้องการในการบริโภค หรือใช้สอยทรัพยากรหรือไม่  สังคมและวัฒนธรรมเอเชียไม่เหมือนกับตะวันตกอย่างสิ้นเชิงกระนั้นหรือ?   นี่คือ สิ่งที่ต้องตอบ ก่อนอ้างลอยๆ

ในวัฒนธรรมตะวันออกเอง ก็มีคุณค่าด้าน มนุษยธรรม หรืออาจเรียกรวมๆว่า คุณค่าแบบ “มนุษยนิยม”

วัฒนธรรมและประเพณีของเอเชียจำนวนมากที่มีลักษณะนี้ เช่น ศาสนาสำคัญ คำนึงถึงศักยภาพของมนุษย์ในการพัฒนา

วิถีประชา ที่คนอยู่ร่วมกับฐานทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น คนในชุมชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเรื่องต่างๆในหมู่บ้าน ในชุมชน เพื่อคลี่คลายความขัดแย้งต่างๆ เช่น ระบบเหมืองฝาย ระบบการจัดการของหน้าหมู่ ฯลฯ

 

การอ้างเรื่อง คุณค่าที่แตกต่าง จึงมักออกจากปากของ “ผู้นำรัฐ” ที่พยายามสร้างระบอบเผด็จการมาควบคุมประชาชนทั้งหมดในดินแดน โดยพยายามยกเลิกกฎอื่นๆที่ต่างไปจากนโยบาย “รวบอำนาจรัฐเข้าสู่ศูนย์กลาง”  ทั้งที่รัฐสมัยใหม่เพิ่งเกิดมาแค่หลักร้อยปี   แต่ชุมชนและคนอยู่กันมานับพันปีโดยมีศาสนาและประเพณี วิถีประชาที่รับรองคุณค่า “ความเป็นคน” ที่หวงแหนเสรีภาพในชีวิตประจำวันของตนมาอย่างยาวนาน

 

วิกฤตของรัฐ เมื่อปะทะกับ “การกำหนดอนาคตตนเอง” ของประชาชน

วิกฤตของรัฐสมัยใหม่จำนวนมากที่พยายามรวบอำนาจทั้งหมดเข้าสู่ศูนย์กลาง ให้ท้องถิ่นหรือชุมชนมีอำนาจเพียงน้อยนิดในการจัดการตนเอง   ย่อมเป็นการบีบคั้นความต้องการพื้นฐานในการกำหนดอนาคตตนเอง   เช่น    ทำไมพื้นที่นี้ผลิตรายได้ขึ้นมามาก แต่ได้รับการแบ่งงบประมาณกลับมาเพียงเล็กน้อย   หรือ   คนที่นี่เคยอยู่อย่างนี้กันมามีกลไกจัดการปัญหากันเองได้ แต่พอเอาระบบราชการเข้ามาทำให้ความสัมพันธ์ในการคลี่คลายปัญหาพัง ทำให้ชุมชนหรือท้องถิ่นไม่น้อยอยากกลับไปฟื้นฟูกลไกเดิม หรืออยากจัดการตนเอง เป็นต้น

ในระดับโลกที่มีความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และเศรษฐกิจที่สลับซับซ้อน ก็เริ่มสะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลกลางที่จัดการปัญหาสารพัดอย่างไม่ได้ดั่งใจ ถูกท้าทายโดยคนในพื้นที่ต่างๆ มากขึ้น เช่น การเรียกร้องขอแยกดินแดนไปเพื่อให้รอดพ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจการเมืองในสก็อตแลนด์ หรือการแยกดินแดนออกไปจัดการตามความต้องการของต่างชาติพันธุ์ในคาตาลุนญ่า   และก่อนหน้านั้นในดินแดนเกิดใหม่ เช่น ติมอร์ตะวันออก เชค สโววัก บอสเนีย เฮอร์เซโกวีน่า ฯลฯ

 

อ่านประสบการณ์รัฐที่เคยผ่านปัญหานี้มาแล้ว

เราคงไม่มีโอกาสเห็น คนอเมริกันในมลรัฐใด ลุกขึ้นมาชุมนุมของแยกดินแดนออกจากสหรัฐ   เพราะได้มีการออกแบบระบบ “สหรัฐ” เพื่อแบ่งสรรอำนาจระหว่าง “รัฐบาลกลาง” กับ “มลรัฐ” ไว้แล้วนั่นเอง

ในราชอาณาจักรสเปนที่มีสงครามกลางเมืองต่อเนื่องยาวนาน ในที่สุดก็สามารถยุติสงครามภายในด้วยการ สร้างรัฐธรรมนูญที่ยอมรัฐ   “แคว้นปกครองตนเอง” เพื่อแสวงหาจุดร่วมโดยยังคงสงวนจุดต่างไว้ได้ มิเช่นนั้น คงมีสงครามแยกดินแดนอย่างรุนแรงไปแล้วหากมองย้อนไปในประวัติศาสตร์การสู้รบที่เคยเป็นมา

กลับกันการพยายามรวมอำนาจทั้งหมดรวมศูนย์แล้วให้ระบบราชการจัดการสารพันปัญหาต่างหาก ที่เป็นการตั้งระเบิดเวลาโดยรวมทุกอย่างให้วิ่งเข้าหาศูนย์กลาง

 

การป้องกันความขัดแย้งที่สำคัญ คือ การสร้างสมดุลระหว่างการ คงอยู่ของรัฐ กับ การกำหนดอนาคตตนเองของประชาชน   โดยการออกแบบขีดขอบเขตในรูปของ “กฎหมาย” ระหว่างอำนาจรัฐ กับ สิทธิมนุษยชน นั่นเอง

 

ดังนั้น   ใครก็ตามที่บอกว่า สิทธิมนุษยชน ไม่มีจริง ก็คือ คนที่บอกว่าตัวเองไม่ใช่มนุษย์ ไม่ว่าจะ เหนือกว่าคนอื่นเป็นเทพเจ้า หรือ ชั่วร้ายกว่าคนอื่นเป็นอมนุษย์   

 

 

*สนใจอ่าน นิติปรัชญารุ่นประชาธิปไตย เบื้องต้น ได้ที่ http://en.wikipedia.org/wiki/H._L._A._Hart และ http://en.wikipedia.org/wiki/John_Rawls  ที่ทำให้แม่น้ำสองสายมาบรรจบกันเพื่อ มนุษยชาติ

บล็อกของ ทศพล ทรรศนพรรณ

ทศพล ทรรศนพรรณ
มาตรการสำหรับการแก้ปัญหาความอดอยากหิวโหยที่เกิดจากภัยพิบัติธรรมชาตินั้นสามารถดำเนินการได้ใน 3 ช่วงเวลา ก็คือ การเตรียมตัวก่อนภัยพิบัติจะเกิด การบรรเทาและแก้ไขปัญหาในขณะเกิดภัยพิบัติ การเยียวยาและฟื้นฟูหลังภัยพิบัติผ่านไปแล้ว   ในบทความนี้จะนำเสนอมาตรการและกรณีศึกษาที่ใช้ในการขจัดความหิว
ทศพล ทรรศนพรรณ
มาตรการทั่วไปที่ใช้ในการประกันความอิ่มท้องของประชากรในประเทศตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติที่รัฐบาลไทยประกาศสมาทานยึดถือนั้น ตั้งอยู่บนหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนเรื่องสิทธิด้านอาหาร นั้นหมายถึงรัฐไทยต้องมีมาตรการเคารพ ปกป้อง และส่งเสริมสิทธิประกอบด้วย กรอบทางกฎหมาย   กรอบทางนโย
ทศพล ทรรศนพรรณ
อุดมการณ์ที่เป็นสาเหตุของปัญหาแรงงานที่เกิดขึ้นทั่วโลกอยู่นั้น มีจุดก่อตัวมาจากระบบเศรษฐกิจการเมืองแบบเสรีนิยมใหม่ที่เข้ามาพร้อม ๆ กับกระแสแห่งการพัฒนาของโลกยุคโลกาภิวัฒน์ ที่ทำให้เกิดเสรีทางการลงทุนจนนำมาซึ่งรูปแบบการจ้างงานรูปที่มีความยืดหยุ่นต่อการบริหารจัดการของบรรษัท และสามารถตอบโจทย์นักลงทุ
ทศพล ทรรศนพรรณ
การขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินจำเป็นต้องวางแผนในการดำเนินการด้วยความเข้าใจพื้นฐานที่ว่า ความขัดแย้งเป็นสิ่งธรรมดาสามัญที่เกิดขึ้นได้ หากต้องการผลักดันข้อบัญญัติท้องถิ่นให้สำเร็จจึงต้องสามารถทำความเข้าใจลักษณะของข้อพิพาทที่มักเกิดขึ้นในการจัดการที่ดิน   และมีแนวทางในการข
ทศพล ทรรศนพรรณ
 ลู่ทางส่งเสริมการการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแก้ปัญหามลพิษ มีดังต่อไปนี้
ทศพล ทรรศนพรรณ
ปัญหาสิ่งแวดล้อมมักสร้างผลกระทบในระยะยาว ไม่ได้เกิดการบาดเจ็บ เสียหาย ทันทีทันใด   ดังนั้นเราจึงต้องมีวิธีการพิสูจน์ว่าความเจ็บป่วย เสียหายที่เกิดขึ้นนั้นมีผลมาจากปัญหาสิ่งแวดล้อมจริง   สิ่งที่เราต้องทำคือการเก็บหลักฐานอย่างต่อเนื่องและชัดเจนเพื่อนำไปใช้เป็นพยานหลักฐาน &n
ทศพล ทรรศนพรรณ
การจัดชุมนุมสาธารณะย่อมเป็นที่สนใจของสังคมตามความประสงค์ของผู้จัด จึงมีสื่อมวลชนที่เข้าร่วมทำข่าวทั้งที่เป็นสื่อมวลชนอาชีพที่มีสังกัดประจำหรือสื่อพลเมืองที่ทำหน้าที่ติดตามสถานการณ์และรายงานข่าวตามภูมิทัศน์เทคโนโลยีสื่อสารที่ปรับตัวไป 
ทศพล ทรรศนพรรณ
การชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธมีข้อจำกัดที่อาจถูกรัฐเข้าระงับหรือแทรกแซงการใช้สิทธิได้ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 4 ในสภาวะฉุกเฉินสาธารณะที่คุกคามความอยู่รอดของชาติที่ถูกประกาศอย่างเป็นทางการ และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักไทย พุทธศักราช 2560 กำหนดถึงเหตุที
ทศพล ทรรศนพรรณ
การชุมนุมโดยสงบเป็นเครื่องมือที่ทำให้บุคคลทั้งหลายสามารถแสดงออกร่วมกันและมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลง ให้ปัจเจกสามารถแสดงความเป็นตัวตนของตัวเองร่วมกับผู้อื่น   โดยการเลือกสถานที่การชุมนุมอยู่ภายใต้หลักมองเห็นและได้ยิน (sight and sound) ทั้งนี้ผู้ชุมนุมต้องอยู่ในที่ที่มองเห็นและสาธารณชนต้อ
ทศพล ทรรศนพรรณ
ขบวนการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้น ในบริบทโครงสร้างทางอำนาจในสังคมที่ไม่เท่าเทียมกัน การรวมศูนย์อำนาจหรือการครอบงำทางวัฒนธรรมโดยใช้วัฒนธรรมเดียว สิทธิชุมชนจึงเป็นการต่อสู้เพื่อปรับสัมพันธภาพทางอำนาจ สร้างตำแหน่งแห่งที่ให้ชุมชนให้เกิดความเป็นธรรมและเคารพในความหลากหลาย โดยท้องถิ่นมีเสรีภาพในการกำหนดกติกา
ทศพล ทรรศนพรรณ
ข้อกล่าวอ้างสำคัญของรัฐบาลไทยในการเพิ่มศักยภาพในด้านข่าวกรองและออกกฎหมายที่ให้อำนาจสอดส่องการสื่อสารของประชาชน คือ “ถ้าประชาชนไม่ได้ทำผิดจะกลัวอะไร” โดยมิได้คำนึงหลักการพื้นฐานเบื้องต้นว่า แม้ประชาชนมิได้ทำผิดกฎหมายอันใดก็มีสิทธิความเป็นส่วนตัว ปลอดจากการแทรกแซงการสื่อสาร อันเป็นสิทธิพื้นฐานตามกฎ
ทศพล ทรรศนพรรณ
การพัฒนารัฐที่ใช้กฎหมายเป็นหลักประกันสิทธิมนุษยชนของประชาชน และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของพลเมืองในประเด็นสาธารณะของผู้ตื่นตัวทางการเมืองในลักษณะ “นิติรัฐอย่างเป็นทางการ” แตกต่างจากความสัมพันธ์ทางอำนาจแบบ “ไม่เป็นทางการ” ที่รัฐอาจหลีกเลี่ยงการใช้อำนาจปกครองภายใต้กรอบของกฎหมายเพื่อประกันสิทธิเสรีภาพต