Skip to main content

ต่อไปจะกล่าวถึงปัญหาที่เกิดจากวิถีชีวิตและความสัมพันธ์ของคนในสังคมที่เปลี่ยนไปมากจากวันเวลาของพ่อแม่เรา   บางเรื่องอาจจะได้ยินซ้ำๆซากๆและเป็นปัญหาคาราคาซังในสังคมทุกยุคทุกสมันและมีวิธีจัดการต่างกันไปในแต่ละยุค  คือ เรื่องเด็กกำพร้าที่ในอดีตเป็นเรื่องที่ชุมชนหรือสถาบันทางศาสนาเข้ามาโอบอุ้ม   แต่ถ้ากรณีที่มีแม่แต่ไม่มีพ่อ ครอบครัวของหญิงก็มีส่วนโอบอุ้มเอาไว้เสียมาก   แต่หากมองว่าเดี๋ยวนี้มีหญิงจำนวนมากที่สามารถเลี้ยงลูกด้วยตัวเองตามลำพัง ก็ชวนให้คิดว่าแล้วหญิงที่ไม่สามารถเลี้ยงลูกได้เองจะทำอย่างไร เราคงไม่เลือกที่จะบอกว่าให้ทำแท้งตั้งแต่ต้นเพราะเป็นความผิดตามกฎหมายปัจจุบัน   ส่วนการหาใครมาช่วยเลี้ยงหรือรับเลี้ยงต่อคงต้องดูกันจากเรื่องข้างล่างนี้เพื่อหาทางออกที่ดี ให้เด็กที่เกิดขึ้นมาในสังคมได้มีโอกาสพัฒนาตัวเองและเป็นสมาชิกที่ขับเคลื่อนสังคมต่อไป

น้องคนหนึ่งได้เข้ามาปรึกษาปัญหาเกี่ยวกับลูกของเธอโดยเล่าว่า ได้มีความสัมพันธ์ทางเพศชายอายุ 19 ปี จนทำให้เธอที่มีอายุในขณะนั้น 17 ปี ตั้งครรภ์ ซึ่งตอนนั้นน้องผู้หญิงยังอยู่ในวัยเรียน เมื่อทราบว่าตนองท้องจึงได้ไปบอกให้ฝ่ายชายทราบ เมื่อผู้ชายทราบเรื่องก็ปัดความรับผิดชอบ โดยอ้างว่าเด็กในท้องมิใช่ลูกของตน สุดท้ายผู้หญิงก็ต้องท้องโดยไม่มีพ่อของเด็กและยอมรับชะตากรรมเลี้ยงลูกด้วยตนเอง โดยที่ไม่คิดที่จะไปเรียกร้องอะไรกับผู้ชายอีกเลย

แต่สถานการณ์นั้นไม่ง่ายเอาเสียเลย เมื่อเธอต้องออกจากโรงเรียนก่อนจะจบชั้นมัธยมปลาย ทำให้หางานทำไม่ง่ายเลย   ไหนจะต้องทนรับความอับอายที่เพื่อนจากโรงเรียนเก่าและญาติพี่น้อง รวมถึงคนละแวกบ้านนินทา   ไม่เพียงการดูถูกเหยียดหยามโอกาสต่างๆที่จะได้ทำงานเพื่อหาเงินมาเลี้ยงลูกก็ไม่เปิดให้เลย   สุดท้ายเส้นทางสายที่เธอพอจะทำได้ คือ เข้าไปทำงานในร้านอาหารโดยรับงานเป็นสาวเชียร์เบียร์ ทำให้อาเฮียทั้งหลายที่หื่นกระหายกายเธอสั่งเครื่องดื่มเพื่อจะได้เข้ามาทำความรู้จักเธอให้มากขึ้น แต่เธอก็มีไม้ตายด้วยการให้ดูรูปถ่ายรูปน้อยขอเธอ จนเฮียๆ หนุ่มน้อยหนุ่มใหญ่ถอยกรูดไปตามๆกัน   แต่เรื่องก็ยิ่งพลิกผันเพราะเมื่อเศรษฐกิจตกต่ำ งานเชียร์เบียร์ก็หาทำยากขึ้น จนเธอต้องทำในสิ่งที่เธอไม่เคยคาดฝันมาก่อนเลย นั่นคือ งานนักร้องในคาราโอเกะ ใช่แล้วครับการเป็นเพื่อนนั่งร้องเพลงกับเหล่าแขกชายหนุ่มที่ไม่ได้มุ่งมาร้องเพลงอะไร เพียงแต่จะหาข้ออ้างให้ได้จับต้องเนื้อกายสาวก่อนจะก้าวมาครอบครองร่างกายของเธอ   แต่เธอก็พยายามเอาตัวรอดไปให้ได้โดยอาศัยลูกและยอมหักในหลายครั้งจนต้องย้ายร้านที่ทำงานไปเรื่อยๆ เนื่องจากเมื่อขัดใจลูกค้า มาม่าซังก็เรียกไปต่อว่าและจบลงด้วยการลาออกหรือไล่ออกไป

จนเมื่อมีคู่รักหญิงวัยกลางคนคู่หนึ่ง มาพบกับลูกสาวของเธอเมื่อวันที่มีการจัดกิจกรรมของสถานเลี้ยงเด็กของชุมชน คนทั้งคู่รู้สึกถูกชะตากับสาวน้อยที่คอยออดอ้อนพวกเธอมาก ถึงขนาดมาตามหาว่าใครคือ พ่อแม่ของเด็ก จนเช็คข้อมูลแล้วว่าเป็นใครจึงได้ติดต่อมาหาเธอ  พอมาเจอกันคนทั้งสองเข้าใจความยากลำบากของเธอมากและรู้สึกเห็นใจที่ต้องทำในเรื่องที่ขัดกับความรู้สึกเพื่อลูกตัวน้อยๆของเธอ   คนทั้งสองเลยคิดว่าจะขอรับลูกของเธอเป็นบุตรบุญธรรม เพื่อช่วยดูแลกันและกันต่อไป   หลังจากนั้นได้ไปดำเนินการเพื่อขอรับบุตรบุญธรรม เพื่อจะได้ดูแลเด็กคนนี้ได้ แต่กระบวนการก็ไม่ง่ายเลยเพราะต้องมีการพิสูจน์และตรวจสอบอะไรมากมายก่อนจะได้รับเด็กเป็นลูก เพราะหญิงทั้งคู่ไม่ได้อยู่ในฐานะคู่สมรส เนื่องจากเคยไปขอให้สำนักงานเขตบางรักจดทะเบียนให้ในวันวาเลนไทน์แต่ก็ไม่สามารถทำได้เพราะเจ้าหน้าที่ปฏิเสธกลับมา

หลังจากนั้นมาไม่นาน หญิงคนหนึ่งก็ป่วยไม่สบายเป็นโรคไตวาย ทำให้ต้องได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะเข้าไปแทน   ซึ่งจากการพิสูจน์แล้วพบว่าคู่รักของเธอมีลักษณะทางชีววิทยาเข้ากันได้ แต่ก็ไม่สามารถมอบอวัยวะให้เธอได้เนื่องจากไม่ใช่ญาติพี่น้อง หากจะบริจาคอวัยวะต้องให้ไปตามระบบ ส่วนคู่รักของเธอก็ต้องรอรับอวัยวะตามคิวในระบบไปด้วยอย่างช่วยไม่ได้   สิ่งหนึ่งที่เข้ามาเกาะกุมความรู้สึกของหญิงคู่รักทั้งสองอีกเรื่อง คือ ทรัพย์สินเงินทองที่หามาด้วยกันเมื่อถึงวันที่คนหนึ่งจากไป ของเหล่านั้นจะตกอยู่กับใครเพราะยังไม่ได้ทำกระบวนการรับบุตรบุญธรรมให้เสร็จสมบูรณ์ แถมคู่รักก็ไม่ใช่คู่สมรส คงจะอดได้ทรัพย์สินที่ฝ่ายหนึ่งหามาได้โดยไม่ได้ลงชื่อร่วมกันมาก่อน

คนทั้งคู่และน้องผู้เป็นมารดาตัวจริงของเด็กสาวตัวน้อยจึงเข้ามาปรึกษาปัญหากับดิฉัน

 

                วิเคราะห์ปัญหา

1.             การตั้งครรภ์ของหญิงนั้นสามารถเรียกร้องให้ชายที่มีเพศสัมพันธ์ด้วยมารับผิดชอบหรือไม่ ทำได้อย่างไร

2.             ถ้าชายไม่รับผิดชอบต่อบุตรจะถือเป็นความผิดตามกฎหมายหรือไม่ มีความรับผิดชอบอย่างไรบ้าง

3.             การรับบุตรบุญธรรมสามารถกระทำได้หรือไม่และมีข้อต้องห้ามหรือกระบวนการอย่างไรไหม

4.             คู่ชีวิตเพศเดียวกันสามารถจดทะเบียนสมรสเป็นคู่สมรสตามกฎหมายที่มีสิทธิหน้าที่ต่อกันหรือไม่

5.             มีแนวทางอย่างไรในการจัดการทรัพย์สินระหว่างคู่ชีวิตเพศเดียวกันบ้าง

การนำกฎหมายมาแก้ไข

1.             การตั้งครรภ์ของหญิงนั้นสามารถเรียกร้องให้ชายที่มีเพศสัมพันธ์ด้วยมารับผิดชอบได้ ทำได้โดยการแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ชายมารับตรวจร่างกายและพันธุกรรม โดยอ้างเหตุการณ์ที่ชายมีเพศสัมพันธ์กับหญิงอายุต่ำกว่า 18 ปี

2.             ถ้าชายไม่รับผิดชอบต่อบุตรจะถือเป็นความผิดตามกฎหมาย มีความรับผิดชอบในการดูแลอุปการะเลี้ยงดูบุตรของตน   การทอดทิ้งบุตรจะเป็นการละทิ้งหน้าที่ตามกฎหมายแพ่งฯ ที่ฟ้องบังคับให้ดูแลได้

3.             การรับบุตรบุญธรรมสามารถกระทำได้โดยบุคคลหรือคู่สมรส แต่ก็มีข้อต้องห้ามหรือกระบวนการในการตรวจพิสูจน์ตามกฎหมายเกี่ยวกับสวัสดิภาพเด็กและเยาวชน

4.             คู่ชีวิตเพศเดียวกันจดทะเบียนสมรสเป็นคู่สมรสตามกฎหมายไม่ได้ จึงไม่มีสิทธิหน้าที่ต่อกันทั้งเรื่องทรัพย์สิน และเนื้อตัวร่างกาย

5.             การจัดการทรัพย์สินระหว่างคู่ชีวิตเพศเดียวกัน ต้องอาศัยกระบวนการทางสัญญาและการจดแจ้งความเป็นเจ้าของในทรัพย์สินร่วมกันไว้ล่วงหน้า  โดยอาจทำพินัยกรรมไว้ด้วยก็ได้

ช่องทางเรียกร้องสิทธิ

1.             การแจ้งความในคดีมีเพศสัมพันธ์กับหญิงอายุต่ำกว่า 18 ปี นั้นต้องแจ้งต่อตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองในพื้นที่ การฟ้องเพื่อให้แต่งงานนั้นก็ทำในศาลอาญาต่อเนื่องไปเลยได้ถ้าต้องการ

2.             การฟ้องเกี่ยวกับการรับดูแลอุปการะบุตรต้องยื่นฟ้องต่อศาลยุติธรรมแผนกคดีเยาวชนและครอบครัว

3.             การจัดการทรัพย์สินและสิทธิหน้าที่ต่างๆ สามารถทำสัญญาหรือจดแจ้งต่อเจ้าพนักงานได้เท่าที่กฎหมายอนุญาต ตราบเท่าที่กฎหมายยังไม่อนุญาตให้คู่ชีวิตเพศเดียวกันสมรสตามกฎหมาย

สรุปแนวทางแก้ไข

ใช้หลักกฎหมายบุคคลและครอบครัว ซึ่งกรณีนี้การพิสูจน์จำต้องอาศัยการตรวจลักษณะทางพันธุกรรมเพื่อนำไปฟ้องให้ผู้เป็นบิดารับผิดชอบต่อเด็กที่เกิดมา และหากมีการเพิกเฉยอาจแจ้งความเป็นความผิดทางอาญาเกี่ยวกับการพรากผู้เยาว์เพราะแม้เป็นความยินยอมแต่อายุต่ำกว่า 18 ปียังไงก็เป็นความผิดเพื่อบีบให้ฝ่ายชายเขามาแสดงความรับผิดชอบหรือตรวจพันธุกรรมต่อไป การรับบุตรบุญธรรมทำได้หากไม่มีเหตุต้องห้าม แต่การสมรสโดยคนเพศเดียวกันยังทำไม่ได้ โดยคดีทั้งหลายอยู่ในเขตอำนาจศาลแผนกคดีเยาวชนและครอบครัว   ส่วนทรัพย์สินของคู่ชีวิตเพศเดียวกันจะไม่ตกทอดสู่คู่ชีวิตถ้าไม่ได้ใส่ชื่อร่วมกันไว้ก่อนหน้าจะเสียชีวิต

 

 

บล็อกของ ทศพล ทรรศนพรรณ

ทศพล ทรรศนพรรณ
มาตรการสำหรับการแก้ปัญหาความอดอยากหิวโหยที่เกิดจากภัยพิบัติธรรมชาตินั้นสามารถดำเนินการได้ใน 3 ช่วงเวลา ก็คือ การเตรียมตัวก่อนภัยพิบัติจะเกิด การบรรเทาและแก้ไขปัญหาในขณะเกิดภัยพิบัติ การเยียวยาและฟื้นฟูหลังภัยพิบัติผ่านไปแล้ว   ในบทความนี้จะนำเสนอมาตรการและกรณีศึกษาที่ใช้ในการขจัดความหิว
ทศพล ทรรศนพรรณ
มาตรการทั่วไปที่ใช้ในการประกันความอิ่มท้องของประชากรในประเทศตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติที่รัฐบาลไทยประกาศสมาทานยึดถือนั้น ตั้งอยู่บนหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนเรื่องสิทธิด้านอาหาร นั้นหมายถึงรัฐไทยต้องมีมาตรการเคารพ ปกป้อง และส่งเสริมสิทธิประกอบด้วย กรอบทางกฎหมาย   กรอบทางนโย
ทศพล ทรรศนพรรณ
อุดมการณ์ที่เป็นสาเหตุของปัญหาแรงงานที่เกิดขึ้นทั่วโลกอยู่นั้น มีจุดก่อตัวมาจากระบบเศรษฐกิจการเมืองแบบเสรีนิยมใหม่ที่เข้ามาพร้อม ๆ กับกระแสแห่งการพัฒนาของโลกยุคโลกาภิวัฒน์ ที่ทำให้เกิดเสรีทางการลงทุนจนนำมาซึ่งรูปแบบการจ้างงานรูปที่มีความยืดหยุ่นต่อการบริหารจัดการของบรรษัท และสามารถตอบโจทย์นักลงทุ
ทศพล ทรรศนพรรณ
การขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินจำเป็นต้องวางแผนในการดำเนินการด้วยความเข้าใจพื้นฐานที่ว่า ความขัดแย้งเป็นสิ่งธรรมดาสามัญที่เกิดขึ้นได้ หากต้องการผลักดันข้อบัญญัติท้องถิ่นให้สำเร็จจึงต้องสามารถทำความเข้าใจลักษณะของข้อพิพาทที่มักเกิดขึ้นในการจัดการที่ดิน   และมีแนวทางในการข
ทศพล ทรรศนพรรณ
 ลู่ทางส่งเสริมการการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแก้ปัญหามลพิษ มีดังต่อไปนี้
ทศพล ทรรศนพรรณ
ปัญหาสิ่งแวดล้อมมักสร้างผลกระทบในระยะยาว ไม่ได้เกิดการบาดเจ็บ เสียหาย ทันทีทันใด   ดังนั้นเราจึงต้องมีวิธีการพิสูจน์ว่าความเจ็บป่วย เสียหายที่เกิดขึ้นนั้นมีผลมาจากปัญหาสิ่งแวดล้อมจริง   สิ่งที่เราต้องทำคือการเก็บหลักฐานอย่างต่อเนื่องและชัดเจนเพื่อนำไปใช้เป็นพยานหลักฐาน &n
ทศพล ทรรศนพรรณ
การจัดชุมนุมสาธารณะย่อมเป็นที่สนใจของสังคมตามความประสงค์ของผู้จัด จึงมีสื่อมวลชนที่เข้าร่วมทำข่าวทั้งที่เป็นสื่อมวลชนอาชีพที่มีสังกัดประจำหรือสื่อพลเมืองที่ทำหน้าที่ติดตามสถานการณ์และรายงานข่าวตามภูมิทัศน์เทคโนโลยีสื่อสารที่ปรับตัวไป 
ทศพล ทรรศนพรรณ
การชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธมีข้อจำกัดที่อาจถูกรัฐเข้าระงับหรือแทรกแซงการใช้สิทธิได้ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 4 ในสภาวะฉุกเฉินสาธารณะที่คุกคามความอยู่รอดของชาติที่ถูกประกาศอย่างเป็นทางการ และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักไทย พุทธศักราช 2560 กำหนดถึงเหตุที
ทศพล ทรรศนพรรณ
การชุมนุมโดยสงบเป็นเครื่องมือที่ทำให้บุคคลทั้งหลายสามารถแสดงออกร่วมกันและมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลง ให้ปัจเจกสามารถแสดงความเป็นตัวตนของตัวเองร่วมกับผู้อื่น   โดยการเลือกสถานที่การชุมนุมอยู่ภายใต้หลักมองเห็นและได้ยิน (sight and sound) ทั้งนี้ผู้ชุมนุมต้องอยู่ในที่ที่มองเห็นและสาธารณชนต้อ
ทศพล ทรรศนพรรณ
ขบวนการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้น ในบริบทโครงสร้างทางอำนาจในสังคมที่ไม่เท่าเทียมกัน การรวมศูนย์อำนาจหรือการครอบงำทางวัฒนธรรมโดยใช้วัฒนธรรมเดียว สิทธิชุมชนจึงเป็นการต่อสู้เพื่อปรับสัมพันธภาพทางอำนาจ สร้างตำแหน่งแห่งที่ให้ชุมชนให้เกิดความเป็นธรรมและเคารพในความหลากหลาย โดยท้องถิ่นมีเสรีภาพในการกำหนดกติกา
ทศพล ทรรศนพรรณ
ข้อกล่าวอ้างสำคัญของรัฐบาลไทยในการเพิ่มศักยภาพในด้านข่าวกรองและออกกฎหมายที่ให้อำนาจสอดส่องการสื่อสารของประชาชน คือ “ถ้าประชาชนไม่ได้ทำผิดจะกลัวอะไร” โดยมิได้คำนึงหลักการพื้นฐานเบื้องต้นว่า แม้ประชาชนมิได้ทำผิดกฎหมายอันใดก็มีสิทธิความเป็นส่วนตัว ปลอดจากการแทรกแซงการสื่อสาร อันเป็นสิทธิพื้นฐานตามกฎ
ทศพล ทรรศนพรรณ
การพัฒนารัฐที่ใช้กฎหมายเป็นหลักประกันสิทธิมนุษยชนของประชาชน และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของพลเมืองในประเด็นสาธารณะของผู้ตื่นตัวทางการเมืองในลักษณะ “นิติรัฐอย่างเป็นทางการ” แตกต่างจากความสัมพันธ์ทางอำนาจแบบ “ไม่เป็นทางการ” ที่รัฐอาจหลีกเลี่ยงการใช้อำนาจปกครองภายใต้กรอบของกฎหมายเพื่อประกันสิทธิเสรีภาพต