Skip to main content

รัฐสมัยใหม่สถาปนาขึ้นมาบนพื้นฐานของการเข้าใจร่วมกันในประเด็นพื้นฐานที่ว่า “รัฐมีหน้าที่ปกป้องชีวิตและคุ้มครองทรัพย์สินของประชาชน”  แต่ก็เกิดข้อกังขาเสมอมาในลักษณะที่ว่า หากรัฐเป็นผู้ละเมิดชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเสียเอง แล้วจะทำเช่นไร  หรือถ้ารัฐไม่ทำหน้าที่ปล่อยปละละเลยจนเกิดการละเมิดสิทธิกัน พลเมืองจะรักษาสิทธิของตนได้เช่นไรบ้าง

ประชาชนย่อมมีสิทธิปัดป้องภยันตรายที่จะมากล้ำกลายตนรวมถึงสิทธิต่างๆที่เกี่ยวเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น ทรัพย์สิน หรือหนี้ต่างๆ ที่ประชาชนเป็นผู้ทรงสิทธิอยู่  แต่ด้วยข้อจำกัดของประชาชนจำนวนมากที่ไม่อาจปกป้องสิทธิตนเองได้ เพราะขาดความเชี่ยวชาญ ความรู้ ความช่ำชองในการเรียกร้องสิทธิ  จึงมีบุคคลจำนวนหนึ่งที่ทำหน้าที่เป็น ผู้พิทักษ์รักษาสิทธิให้แก่บุคคลอื่นด้วยความสมัครใจแม้ไม่ใช่เจ้าพนักงานของรัฐโดยตรง ไม่ว่าจะด้วยสำนึกส่วนตัวที่รักความยุติธรรม หรือเพื่อความเป็นธรรมในสังคม ก็แล้วแต่   ถือเป็นการ “อุดช่อง” ในประเด็นที่รัฐอาจจะบกพร่อง หรือ “ขยาย” ไปรองรับความเดือดร้อนในพื้นที่ซึ่งรัฐเอื้อมไปไม่ถึง

หากพูดถึงประเด็นสำคัญแห่งยุคสมัย เห็นจะไม่พ้นสิทธิของพลเมืองในโลกอินเตอร์เน็ต ที่มีคนเข้ามาใช้ประโยชน์มากขึ้นเรื่อยๆ แต่สิ่งที่ขาดแคลนความชำนาญด้านเทคโนโลยี  ยิ่งเมื่อสำรวจที่มาของเทคโนโลยีนี้จะพบว่าเกิดจากการคิดค้นพัฒนาด้านการทหาร เพื่อทำสำเนาบันทึกข้อมูลและรายละเอียดการสื่อสารเก็บไว้แม้เมื่อประสบภัยนิวเคลียร์ ก็ยังเหลือสำเนาบางชุดไว้ให้ค้นหากลับมาอ่านซ้ำได้อีก ชนิดที่เปรยกันว่า “สิ่งใดเกิดขึ้นบนโลกอินเตอร์เน็ต สิ่งนั้นไม่อาจลบทิ้งได้ตลอดกาล”

เมื่ออินเตอร์เน็ตกลายเป็นพื้นที่ซึ่งรัฐควบคุมมากขึ้น และตัวเทคโนโลยีก็บันทึกประวัติศาสตร์แทนการ “ทรงจำ” ไว้มากมหาศาล   การเจาะระบบ ดักข้อมูล สอดส่องพฤติกรรมของประชาชน จึงเกิดขึ้น เช่นเดียวกันกับ รัฐที่บันทึกภารกิจ และการสื่อสาร ของหน่วยงานต่างๆไว้เป็นจำนวนมาก   สิ่งที่ต้องคำนึง คือ รัฐมีอำนาจจ้องประชาชนได้มากแค่ไหน  และ รัฐต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนเห็นความโปร่งใสของรัฐมากเพียงใด

แน่นอนว่า ศักยภาพของหน่วยงานรัฐ หรือบริษัทเอกชนที่ให้บริการอินเตอร์เน็ต ย่อมเหนือกว่าประชาชนธรรมดา ความเสี่ยงที่รัฐจะจดจ้องประชาชนลึกและกว้างจึงมีมาก แต่ประชาชนจะเข้าดูรายละเอียดก็ต้องผ่านกระบวนการร้องเรียน และขั้นตอนเรียกร้องสิทธิอีกมากมาย   จนกลายเป็นว่า “ดุลยภาพแห่งอำนาจรัฐกับสิทธิมนุษยชน” ไม่เกิด

หนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา ได้ปรากฏรูปแบบการตื่นตัวของ พลเมืองเน็ต ผู้มุ่งมั่นที่จะนำ “ข้อมูล” ซึ่งจำเป็นต่อการรับรู้ของประชาชนออกมาให้สาธารณชนรับรู้ แต่กลับต้องอยู่ภายใต้การครอบงำของฝ่ายความมั่นคง และการอ้างเรื่องความมั่นคงแห่งรัฐมาปิดบังข้อเท็จจริง   เหตุการณ์ “เปิดโปง” ครั้งใหญ่ที่เผยนโยบายและปฏิบัติการของรัฐบาลและบรรษัทข้ามชาติ ออกมาเป็นชุด ได้แก่ WikiLeaks และ Snowden Revelations ฯลฯ   ซึ่งช่วยให้เรามองเห็นการทำงานของรัฐ ฝ่ายความมั่นคง รวมไปถึงบรรษัทขนาดใหญ่ ว่าได้ส่งผลอะไรต่อชีวิตเราบ้าง   ผลสะเทือนที่ตามมาก็ทำให้เกิดการปฏิรูปมากมายทั้งในภาครัฐ ภาคเอกชน มิตินโยบายและการปฏิบัติ รวมไปถึงการตื่นตัวของพลเมืองเน็ต และผู้บริโภค

บุคคลและเครือข่ายการทำงานเปิดโปงข้อมูลที่รัฐและบรรษัทพยายามปิดบัง จึงเป็นผู้ทำหน้าที่ “ผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชน” แก่พลเมืองทั่วโลกอย่างไม่อาจปฏิเสธได้  แม้รัฐบาลทั้งหลายจะกล่าวหาว่าเป็นการก่ออาชญากรรมร้ายแรงต่อความมั่นคงของรัฐ แต่เนื้อหาสิ่งที่เปิดเผยก็ล้วนช่วยให้ประชาชนตัดสินอนาคตของตนเอง และเลือกรัฐบาลใหม่ด้วยฐานข้อมูลที่กว้างขึ้น   รวมไปถึงการตื่นตัวในประเด็นอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เช่น สันติภาพ มนุษยธรรม ความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคม การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือความเป็นส่วนตัวของประชาชน เป็นต้น

กรณีที่จะพูดถึงเพื่อชี้ประเด็น “ใครจะเป็นผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชน” คือ WikiLeaks เว็บไซต์ที่ทำหน้าที่นำข้อมูลที่ได้จากสารพัดแหล่งมาเผยแพร่ว่า รัฐบาลและบรรษัททั่วโลกมีแผนการและปฏิบัติงานกันเช่นไรบ้าง โดยเฉพาะข้อมูลชั้นความลับที่ประชาชนทั่วไปไม่อาจเข้าถึงได้   โดยเว็บไซต์มีเครือข่ายทั้งประชาชน สื่อสารมวลชน ไปจนถึงเจ้าพนักงานของรัฐในหน่วยงานต่างๆ 

ผู้ก่อตั้งและเป็นเหมือนโฆษกหลักของ WikiLeaks คือ จูเลียน อัสสาจน์ (Julian Assange) ซึ่งแน่นอนว่าถูกตั้งข้อหามากมายจากรัฐบาลที่เป็นเจ้าของข้อมูลลับทั้งหลายที่ถูกเปิดโปง   มากที่สุดเห็นจะเป็นกลุ่มประเทศพันธมิตรห้าตา (Five Eyes Alliance) ประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แคนาดา เพราะถือเป็นกลุ่มที่ใช้นโยบายต่างประเทศและการข่าวกรองร่วมกันชั้นในสุดและเป็นพันธมิตรหลักร่วมกันด้วยประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมภาษาอังกฤษ ดังที่เอกสารของ เอ็ดเวิร์ด สโนวเด้น จาก Snowden Revelations ได้ยืนยันประเด็นนี้เช่นกัน

ความยากลำบากของ จูเลียน อัสสาจน์ คือ การทำงานและเผยแพร่ข้อมูลต้องเผชิญกับการต่อสู้คดีทางกฎหมาย รวมถึงการถูกห้ามเดินทางเข้าออกประเทศทางตรงโดยมีคำสั่งห้าม หรือทางอ้อมโดยการตั้งข้อหารอไว้จนเจ้าตัวไม่อยากเข้าไปเสี่ยงถูกดำเนินคดีในประเทศนั้น   ปัจจุบัน อัสสาจน์ขอลี้ภัยและได้รับการอนุญาตจากประเทศเอกวาดอร์ แต่เนื่องด้วยต้องข้อหาล่วงละเมิดทางเพศโดยรับบาลอังกฤษ และสวีเดน ในขณะที่เจ้าตัวพำนักอยู่ในลอนดอน  จึงเป็นที่มาว่า ต้องลี้ภัยเข้าไปอาศัยอยู่ในสถานทูตเอกวาดอร์ และไม่อาจหาวิธีไปขึ้นเครื่องบินเดินทางไปเอกวาดอร์ได้

การไม่สามารถไปพบแหล่งข้อมูลโดยตรง ไม่อาจไประดมทุน หรือขอความร่วมมือจากพาร์ทเนอร์ใหม่ๆ ล้วนเป็น ยุทธวิธีในการ “โดดเดี่ยว” เป้าหมายให้กลายเป็น ผู้เล่นที่ขาดกำลังเสริม   การต่อสู้เพื่อให้ได้สิทธิในการเคลื่อนไหวและปลอดจากคดีความผิดทางอาญาจึงสำคัญ รวมถึงการตอบโต้การใส่ร้ายหรือดิสเครดิตรูปแบบต่างๆ เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของ WikiLeaks   “เพื่อน” ที่สำคัญในการนี้ จึงเป็น ทนายความผู้ช่วยสู้คดี และสื่อมวลชนผู้ช่วยทำสงครามข่าวสาร

ผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชน ได้รับการรับรองสิทธิในมาตรฐานที่สูงกว่า คนทั่วไป เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงและภยันตรายที่เข้มข้นกว่ามาก ดังนั้นนอกจากสิทธิทั่วไปที่สามัญชนพึงมีแล้ว รัฐทั้งหลายยังต้องส่งเสริมให้ผู้พิทักษ์สิทธิได้รับการคุ้มครองมากขึ้น ในกรณีนี้จะพูดถึงการเข้าถึง ที่ปรึกษาทางกฎหมาย (ทนายความ) และ เสรีภาพในการแสดงออกและเข้าถึงข้อมูล (นักข่าวสืบสวน)

เนื่องจากในช่วงครึ่งปี พบว่ามี 3 กรณีสำคัญเกิดขึ้นกับคนรอบตัวเขา และส่งผลต่อการทำงานและความมั่นใจในการดำรงวิถีชีวิตในการพิทักษ์สิทธิมนุษยชนเพื่อพลโลก ได้แก่

1)      รถไฟชน John RWD Jones ตายในแถบลอนดอนเหนือ เมื่อ 18  เมษายน 2016 เนติบัณฑิตย์อังกฤษผู้นี้เป็นทนายความแก้ต่างให้อัสสาจน์ในสหราชอาณาจักร

<https://www.theguardian.com/law/2016/may/01/john-rwd-jones-obituary>

2)      การตายของ Michael Ratner  นักกฎหมายสัญชาติอเมริกันที่ทำหน้าที่ทนายความให้เขาในสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2016   ด้วยโรค “มะเร็ง”
<https://www.washingtonpost.com/national/michael-ratner-lawyer-who-won-victory-for-guantanamo-detainees-dies-at-72/2016/05/12/0095c312-184e-11e6-aa55-670cabef46e0_story.html>

3)      การตายของ Gavin McFadyen นักข่าวสืบสวนที่ให้ข้อมูลปกป้องการทำงานของอัสสาจน์มาโดยตลอด รวมถึงเป็นที่ปรึกษาและนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2016  ด้วยโรค “มะเร็ง”
<http://www.nytimes.com/2016/10/28/business/media/gavin-macfadyen-dies-wikileaks.html?_r=1>

การตายของบุคคลทั้ง 3 ซึ่งเป็นทั้งเพื่อร่วมงาน และผู้ปกป้องผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชน ย่อมทำให้การใช้สิทธิของ จูเลียน อัสสาจน์ และการทำงานของเว็บไซต์ WikiLeaks ชะงักงันไปไม่น้อย

 

เมื่อมองแนวโน้มรัฐบาลต่างๆ ทั่วโลกจะเห็นสถานการณ์ที่เหมือน “ลอกแบบ” กันมา คือ การฟ้องร้องดำเนินคดีกับทนายความและผู้สื่อข่าวที่ทำหน้าที่เปิดโปงและปกป้องสิทธิในการนำเสนอข้อมูลให้กับสังคม แทบจะเรียกว่าเป็น “ยุทธวิธีตบปาก” เพื่อให้เสียงของผู้ละเมิดที่แผ่วเบาอยู่แล้ว เงียบลงไป   ความเสียหายย่อมเกิดกับประชาชนที่ถูกละเมิดสิทธิ รวมไปถึงสังคมที่ไม่ได้รับรู้ข้อมูลที่ถูกต้องเพียงพอ เหมือนถูกหล่อเลี้ยงสมองไปด้วย “มายาคติ”   การหาทางออกร่วมกันของคนในสังคมจึงเป็นไปได้ยาก  อย่างมากก็แค่ ขว้าง “ข้อมูลคนละชุด” เข้าหากัน กลายเป็นการประจันหน้า มากกว่า แสวงหาข้อเท็จจริง

                หากรัฐและสังคมยังเชื่อว่าเป้าหมายของการอยู่ร่วมกันของประชาชนที่มีความแตกต่างหลากหลายทางความคิด คือ สันติภาพ การสร้างหลักประกันสิทธิให้แก่ผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนย่อมส่งผลให้การคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ในประเด็นต่างๆ ได้รับการดูแล และกระตุ้นสำนึกของการตื่นตัวรับรู้ปัญหาได้กว้างขวางมากขึ้น ก่อนที่ความบาดหมางจะขยายผลไปกลายเป็นความขัดแย้งที่ใหญ่ขึ้น การแสวงหา “ความจริง” และการธำรงไว้ซึ่ง “ความยุติธรรม” ย่อมเป็นสิ่งจำเป็น

                วีรบุรุษ หรือวีรสตรี จำนวนมากในโลก ได้รับการยกย่องหลังจากโลกนี้ไปแล้ว  ก็ด้วยเหตุที่ในยามที่เขาลุกขึ้นสู้เพื่อสิทธิ ต่อต้านความไม่เป็นธรรม  รัฐและสังคมกลับไม่เห็นความสำคัญ ป้องปรามและคุกคาม จนไม่น้อยเสียชีวิตไปด้วยน้ำมือของผู้มีอำนาจและการเมินเฉยของสังคม   หากต้องการโลกสามารถเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันได้ก่อนจะสายไป ต้องรักษาไว้ซึ่งชีวิตของเหล่าผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชน และ “เพื่อนพ้อง” ผู้ปกป้องนักสิทธิมนุษยชนทั้งหลายด้วย
 

*ปัจจุบัน อัสสาจน์ ถูกตัดการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตภายในสถานทูตเอกวาดอร์ไปเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2016 <http://www.theverge.com/2016/10/18/13325250/ecuador-wikileaks-julian-assange-internet-cut> หลังจาก WikiLeaks ได้เปิดเผยชุดข้อมูลเกี่ยวกับ การสื่อสารของผู้ลงสมัครรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฮิลลารี่ คลินตัน โดยเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการทำงานในระหว่างดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรงการต่างประเทศของสหรัฐ   โดยรัฐบาลเอกวาดอร์ให้เหตุผลว่าไม่ต้องการมีส่วนแทรกแซงกิจการภายในสหรัฐ จนทำให้ผู้ลงสมัครรายใดได้เปรียบเสียเปรียบเหนือคู่แข่ง  และยืนยันว่ารัฐบาลเอกวาดอร์ตัดสินใจเองมิได้มีแรงกดดันหรือร่วมตัดสินใจกับรัฐบาลอื่น ซึ่งก็คือ สหรัฐที่กำลังจัดการเลือกตั้ง <https://www.theguardian.com/media/2016/oct/17/ecuador-julian-assange-internet-access-wikileaks>

บล็อกของ ทศพล ทรรศนพรรณ

ทศพล ทรรศนพรรณ
การนำ คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 205/2549 มาตราเป็นพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร  โดยแฝงนัยยะของการสร้าง “รัฐทหาร” ด้วยการขยับขยายขอบเขตอำนาจแก่เจ้าหน้าที่ กอ. รมน.
ทศพล ทรรศนพรรณ
หลังสิ้นสุดยุคสมัยสงครามเย็น หนึ่งในมรดกตกทอดจากยุคนั้น ได้แก่ หน่วยงานความมั่นคงของรัฐไทยที่มีอำนาจหน้าที่อย่างเข้มข้นในการเฝ้าระวัง สอดส่อง ควบคุมการสื่อสารและการกระทำต่าง ๆ ของประชาชนที่ผู้มีอำนาจเห็นว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง และส่งผลเสียต่อการยืนหยัดสู้เพื่ออุดมการณ์ทางการเมืองช่วงนั้น อาทิ กอง
ทศพล ทรรศนพรรณ
คนไร้บ้านจัดเป็นกลุ่มที่เสี่ยงที่จะถูกละเมิดสิทธิและด้อยโอกาสในการเข้าถึงบริการสาธารณะ สวัสดิการ และหลักประกันด้านต่าง ๆ ด้วยเหตุที่เป็นกลุ่มซึ่งต้องปะทะโดยตรงกับการพัฒนาเมืองอย่างไม่ยั่งยืนทั้งที่สาเหตุของการออกมาอยู่ในพื้นที่สาธารณะนั้นเกี่ยวข้องกับความเหลื่อมล้ำทางสังคมอันเป็นผลลัพธ์ของนโยบายส
ทศพล ทรรศนพรรณ
คนไร้บ้านตกอยู่ในสถานะของกลุ่มเสี่ยงที่อาจต้องเผชิญจากการเหยียดหยามศักดิ์ความเป็นมนุษย์โดยตรงจากการละเมิด และยังอาจไม่ได้รับการดูและแก้ไขปัญหาเมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์ยุ่งยากต่าง ๆ เพราะถูกจัดให้อยู่ในสถานะต่ำต้อยเสี่ยงต่อการเลือกประติบัติจากรัฐ จนไปถึงการเพิกเฉย ละเลย ไม่ใส่จะแก้ปัญหาให้คนไร้บ้
ทศพล ทรรศนพรรณ
คนไร้บ้านเป็นเสียงที่ไม่ถูกนับ การใช้พลังในลักษณะกลุ่มก้อนทางการเมืองเพื่อเรียกร้องประโยชน์จากผู้มีอำนาจให้จัดสรรทรัพยากรให้จึงเป็นเรื่องยาก ด้วยสาเหตุหลัก 2 ประการ คือ
ทศพล ทรรศนพรรณ
การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของคนไร้บ้านจำเป็นต้องยืนอยู่บนฐานของกฎหมายที่ประกันสิทธิของบุคคลโดยมิคำนึงถึงความแตกต่างหลากหลายทางสถานภาพใด ๆ แม้คนไร้บ้านจะเป็นปัจเจกชน หรือกลุ่มคนที่มีปริมาณน้อยเพียงไร รัฐก็มีพันธกรณีในการเคารพ ปกป้อง และส่งเสริมสิทธิให้กลุ่มเสี่ยงนี้โดยเหตุแห่งความเป็นสิทธิมนุษยชนที่ร
ทศพล ทรรศนพรรณ
หากต้องกำหนดยุทธศาสตร์ของประเทศไทยในการเข้าร่วมตลาดดิจิทัลที่มีเข้มข้นของกิจกรรมข้ามพรมแดนตลอดเวลา เพื่อแก้ไขปัญหาศักยภาพของรัฐในการบังคับใช้กฎหมายขยายไปเหนือหลักเขตอำนาจศาลเหนือดินแดนของตนแบบเก่า เมื่อต้องกำกับกิจกรรมของบรรษัทข้ามชาติที่อยู่ในการบังคับของกฎหมายรัฐอื่นซึ่งมีบรรทัดฐานในหลายประเด็น
ทศพล ทรรศนพรรณ
การวิเคราะห์กฎหมายไทยที่เกี่ยวข้องกับลักษณะความสัมพันธ์ของนิติบุคคลเจ้าของแพลตฟอร์มที่มักเป็นบรรษัทข้ามชาติกับรัฐ จะกระทำใน 3 ประเด็นหลัก คือ ใครเป็นเจ้าของข้อมูล ใครมีสิทธิใช้ประโยชน์จากข้อมูลมากน้อยอย่างไร หรือแบ่งปันกันอย่างไร อันเป็นการเตรียมความพร้อมของกฎหมายในการรองรับปรากฏการณ์การใช้ข้อมูล
ทศพล ทรรศนพรรณ
บทความนี้จะทำการรวบรวมข้อเสนอทางกฎหมายในระดับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับลักษณะความสัมพันธ์ของนิติบุคคลเจ้าของแพลตฟอร์มที่มักเป็นบรรษัทข้ามชาติ กับรัฐและองค์การระหว่างประเทศ อันเป็นการเตรียมความพร้อมของกฎหมายในการรองรับปรากฏการณ์การใช้ข้อมูลจากแพลตฟอร์มดิจิทัล ว่าสามารถบริหารจัดการให
ทศพล ทรรศนพรรณ
บทความนี้จะทำการทบทวนข้อกฎหมายทั้งในระดับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับลักษณะความสัมพันธ์ของนิติบุคคลเจ้าของแพลตฟอร์มที่มักเป็นบรรษัทข้ามชาติ เรื่อยมาจนถึงสำรวจความพร้อมของกฎหมายในการรองรับปรากฏการณ์การใช้ข้อมูลจากแพลตฟอร์มดิจิทัล ว่าสามารถบริหารจัดการให้เกิดการแบ่งปันข้อมูลดิจิทัลระหว
ทศพล ทรรศนพรรณ
ประเด็นพื้นฐานที่รัฐต้องคิด คือ จะส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมทางเทคโนโลยีเพื่อสะสมความมั่งคั่งได้อย่างไร แล้วจึงจะไปสู่แนวทางในการแบ่งปันความมั่งคั่งให้กับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการผลิตข้อมูลขึ้นมาในแพลตฟอร์ม
ทศพล ทรรศนพรรณ
Kean Birch นำเสนอปัญหาของข้อมูลส่วนบุคคลในฐานะสินค้าของตลาดนวัตกรรมเทคโนโลยีจำนวน 5 ประเด็น คือ1.ข้อมูลส่วนบุคคลเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของแพลตฟอร์มในฐานะเจ้าของข้อมูลทึ่ถูกรวบรวมโดยนวัตกรรม,