หากต้องกำหนดยุทธศาสตร์ของประเทศไทยในการเข้าร่วมตลาดดิจิทัลที่มีเข้มข้นของกิจกรรมข้ามพรมแดนตลอดเวลา เพื่อแก้ไขปัญหาศักยภาพของรัฐในการบังคับใช้กฎหมายขยายไปเหนือหลักเขตอำนาจศาลเหนือดินแดนของตนแบบเก่า เมื่อต้องกำกับกิจกรรมของบรรษัทข้ามชาติที่อยู่ในการบังคับของกฎหมายรัฐอื่นซึ่งมีบรรทัดฐานในหลายประเด็น ไม่ว่าจะอยู่ในลักษณะการสถาปนาความสัมพันธ์แบบทวิภาคี พหุภาคี หลายฝ่าย หรือแบบการร่วมกลุ่มเศรษฐกิจ เพื่อแสวหาจุดเกาะเกี่ยวในการระงับข้อพิพาทระหว่างคู่กรณีเมื่อมีประเด็นข้ามชาติเข้ามาเกี่ยวข้อง เมื่อบรรษัทข้ามชาติเจ้าของแพลตฟอร์มคือผู้ได้ประโยชน์จากการเป็นตัวกลางให้บริการกระจายสินค้าและบริการ จึงต้องกำหนดกลยุทธ์ที่เหมาะสมในการแบ่งปันผลประโยชน์ย้อนกลับมาคืนแก่ผู้ประกอบการและผู้บริโภคในระบบเศรษฐกิจดิจิทัลไทย รวมถึงกำหนดแนวทางสร้างฐานภาษีจากตลาดดิจิทัลเข้าสู่ระบบงบประมาณแผ่นดินของรัฐเพื่อนำมาจัดทำบริการสาธารณะและสวัสดิการของประชาชน
1. การสังเคราะห์ปรัชญาพื้นฐานในการพัฒนาหลักกฎหมายเพื่อแบ่งปันผลประโยชน์จากข้อมูลดิจิทัล
การปรับปรุงโครงสร้างประเทศไทยให้มีระบบเศรษฐกิจที่เกื้อกูลกับปวงชนทั้งหลายบนพื้นฐานของภราดรภาพ (Solidarity Economy) จึงเป็นแนวทางที่น่าสนใจเพื่อมาปรับใช้กับการสนับสนับความเชื่อมั่นต่อตลาดดิจิทัลให้มีการพัฒนาอย่างยังยืน
ข้อเสนอและทางเลือก ที่ค้นพบจากงานวิจัยและอยากนำเสนอไว้มี 7 ประการ คือ
1.1.การเข้าถึงสินค้าและบริการดิจิทัลและอื่น ๆ ต้องจัดให้มีทางเลือกอื่นในการเข้าถึงสินค้าหรือบริการที่เป็นธรรม
การเข้าถึงสินค้าและบริการดิจิทัลและอื่น ๆ ไม่ได้รวมอยู่ในการรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคล ต้องจัดให้มีทางเลือกอื่นในการเข้าถึงสินค้าหรือบริการที่เป็นธรรม เช่น ไม่ก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายที่สูงเกินไป ไม่เป็นการยุ่งยากซับซ้อน และไม่เลือกปฏิบัติ ทั้งนี้ ควรกำหนดราคาสำหรับการเข้าถึงแพลตฟอร์มเทคโนโลยีโดยที่ไม่มีการเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้ เพื่อประกันถึงความสำคัญของข้อมูลและทางเลือกที่เป็นธรรมแก่ผู้บริโภค
1.2.ข้อมูลส่วนบุคคลจะต้องไม่ถือว่าเป็นทรัพย์สินส่วนตัวที่มีอยู่ตลอดไปภายใต้การจัดเก็บจำกัดการเก็บรักษาข้อมูลส่วนบุคคลโดยองค์กรเอกชนในระยะเวลาที่เฉพาะเจาะจง
ข้อมูลส่วนบุคคลจะต้องไม่ถือว่าเป็นทรัพย์สินส่วนตัวที่มีอยู่ตลอดไปภายใต้การจัดเก็บของแพลตฟอร์ม เช่นเดียวกับ GDPR ของสหภาพยุโรป แนวทางอื่นคือการจำกัดการเก็บรักษาข้อมูลส่วนบุคคลโดยองค์กรเอกชนในระยะเวลาที่เฉพาะเจาะจง (และค่อนข้างสั้น) และสำหรับวัตถุประสงค์เฉพาะ (และไม่ใช่วัตถุประสงค์ทั่วไป) ดังนี้ การเก็บรักษาและการใช้งานเกินระยะเวลาที่กำหนดและจำกัดเวลานี้จะถือว่าผิดกฎหมาย
1.3.ควรหาวิธีเก็บภาษีการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลที่บริษัทถือครองอยู่
ควรหาวิธีเก็บภาษีการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลที่บริษัทถือครองอยู่ เนื่องจากการกำหนดราคาโอนย้ายข้อมูลระหว่างประเทศในแพลตฟอร์นั้นไม่ต้องการระบบขนส่งและการเก็งกำไร และไม่ต้องผ่านระบบภาษี ดังนี้หมายความว่าบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลส่วนบุคคลได้โดยไม่จำเป็นต้องให้ผลประโยชน์ใด ๆ แก่ผู้ใช้
1.4.กระตุ้นให้เอกชนผู้สร้างนวัตกรรมสร้างเทคโนโลยีเพื่อสังคม
เนื่องจากนวัตกรรมทางเทคโนโลยีในระบบเศรษฐกิจร่วมสมัยในปัจจุบันที่มุ่งเน้นการคุ้มครองทางการเงินที่จะแสวงหา ค่าเช่าทางเศรษฐกิจ “economic rents” ดังนั้น ไม่ควรสนับสนุนนวัตกรรมจากผลประกอบการทางการเงิน แต่ควรคำนึงถึงบริบทและคุณค่าทางสังคมเป็นหลัก อาจพิจารณาการลดพิธีมอบรางวัลทางนวัตกรรมที่เป็นการสะสมความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ และไปสนับสนุนงบประมาณในการวิจัยนวัตกรรมเพื่อสังคมแทน เป็นต้น
1.5.การเปิดให้ข้อมูลสามารถเข้าถึงได้โดยสาธารณะ (Public Domain) เพื่อประโยชน์ต่อการวิจัยและการศึกษา
สิ่งนี้จะเป็นการลดการผูกขาดในการเข้าถึงข้อมูล และเป็นก้าวแรกในการเปิดพื้นที่ให้แก่สาธารณชนและสถาบันการศึกษา
1.6.ไม่ควรสนับสนุนให้รัฐเป็นเจ้าของและควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาถึงการละเมิดความไว้วางใจทางการเมืองต่าง ๆ เกี่ยวกับการสอดแนม ดังนี้ จึงจำเป็นต้องคิดหาวิธีอื่นในการควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลที่รวมเอาความจำเป็นทางการเมืองในการสร้างความปึกแผ่นให้กับสังคมมาเป็นแกนหลัก รวมไปถึงการประกันผลประโยชน์ทางสังคม
1.7.พิจารณาถึงสวัสดิการรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า' หรือ 'UBI' (Universal Basic Income)
เนื่องจากในยุคดิจิทัลที่ข้อมูลมีมูลค่าในตัวเองและกลายสภาพเป็นสินค้า ไม่ได้มีแต่เพียงผู้ที่อยู่ภายใต้สัญญาจ้างเท่านั้นที่มีความสามารถสร้างมูลค่า แต่ทุกคนที่เข้าร่วมในปริมณฑลแพลตฟอร์มนั้นเป็นแรงงานที่ผลิตสร้างมูลค่าแบบใดแบบหนึ่งอยู่เสมอ
2. การแปลงปรัชญาให้กลายเป็นกลไกในการแบ่งปันผลประโยชน์จากข้อมูลดิจิทัลอย่างเป็นธรรม
โดยทางเลือกในเชิงรูปธรรมที่รัฐสามารถดำเนินการได้ตามแนวทางข้างต้นมีด้วยกัน 3 ประการ คือ
2.1.สร้างแพลตฟอร์มสาธารณะหรือแพลตฟอร์มที่ประชาชนเป็นเจ้าของและควบคุม
แทนที่จะแค่ควบคุมองค์กรแพลตฟอร์ม อาจมีความพยายามในการสร้างแพลตฟอร์มสาธารณะหรือแพลตฟอร์มที่ประชาชนเป็นเจ้าของและควบคุม (และที่สำคัญคือ เป็นอิสระจากเครื่องมือของรัฐในการสอดแนม) นี่จะหมายถึงการลงทุนทรัพยากรจำนวนมากของรัฐในเทคโนโลยีที่จำเป็นในการสนับสนุนแพลตฟอร์มเหล่านี้และเสนอให้เป็นสาธารณูปโภค ยิ่งไปกว่านั้น แพลตฟอร์มอาจถูกใช้เพื่อแจกจ่ายทรัพยากร สนับสนุนการมีส่วนร่วมแบบประชาธิปไตย และสร้างการพัฒนาทางเทคโนโลยี
2.2.จัดการข้อมูลด้วยระบบทรัพย์สินร่วม
Multitude หมายความถึง การเมืองของแรงงานอวัตถุในฐานะพลังการผลิตที่ก้าวหน้าที่สุดในระบบทุนนิยมความรับรู้ เป็นพลังซ่อนเร้นในระดับชีวิตประจำวันของผู้คน เป็นการปฆิวัติแบบย่อย ๆ ที่เคลื่อนตัวอยู่ตลอดเวลาและมีพลังไม่น้อยกว่าการเคลื่อนไหวปฏิวัติทางกายภาพแบบสากล ตรงกันข้ามจากการเมืองอัตลักษณ์ที่ปฏิเสธและต่อต้านความคิดแบบสมัยใหม่ที่วางอยู่บนประชารัฐและความเป็นชาตินิยม อัตลักษณ์นี้มีความเกี่ยวข้องกับระบบทุนนิยมในฐานะเครื่องมือทางการเมือง การเคลื่อนตัวของ multitude นั้นมุ่งที่จะสร้างความเป็นส่วนรวม common ที่จะสร้างความเป็นหนึ่งเดียวให้กับสังคม ผ่านการสร้างอัตลักษณ์ของตนเองโดยไม่รีรอการยอมรับ
ลักษณะของการจัดการแบบ Multitude ลักษณะเป็นแบบทรัพย์สินร่วมกัน ดังนั้น ย่อมเป็นความท้าทายในการทลายกำแพงของการสะสมข้อมูลของบรรดาแพลตฟอร์ม และการประกันว่าข้อมูลในฐานะทรัพยากรร่วมกันนี้จะไม่สร้างความเสียหายให้แก่เจ้าของข้อมูล
นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอที่ให้จัดการต่อข้อมูลในลักษณะของทรัพยากรส่วนรวม คือ Babara Prainsack ที่นำเสนอรูปแบบความเป็นปึกแผ่นของสังคม (Socialy Soditary) ซึ่งประชาชนได้ยินยอมพร้อมใจที่จะบริจาคข้อมูลของตนให้กับส่วนรวม เช่น การบริจาคข้อมูลเพื่อวิจัยความผิดปกติทางพันธุกรรม
อีกท่านคือ Teresa Scassa ที่เสนอว่าข้อมูลทั้งหมดควรอยู่ในโดเมนสาธารณะเพื่อให้ทุกคนเข้าถึงได้ ในรูปแบบบ่อรวมข้อมุลที่ถือเป็นทรัพย์สินส่วนรวม (pool of commons)
2.3. “ข้อมูลเป็นกรรมสิทธิ์ ข้อมูลเป็นการชดเชย; และข้อมูลเป็นการแบ่งปันผลกำไร (data as ownership; data as compen-sation; and data as profit-sharing)
ข้อมูลนั้นมีมูลค่าและมีความสำคัญไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง สิ่งเหล่านี้ล้วนสะท้อนมุมมองเชิงบรรทัดฐานว่ากลไกตลาดสามารถให้ค่าตอบแทนที่ยุติธรรมแก่ผู้ใช้สำหรับข้อมูลของตน โดยไม่จำเป็นต้องหยุดการสอดแนมที่แพร่หลายและการค้าของขอบเขตของชีวิตมนุษย์ที่ไม่เคยเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ทางการเงินมาก่อน (เช่น การศึกษา มิตรภาพ งานอดิเรก)
3. ข้อเสนอแนะในการปรับปรุงกฎหมายไทย
การสำรวจความท้าทายที่เกิดขึ้นในกรณีศึกษาต่าง ๆ ทั้งในต่างประเทศและประเทศไทย ผนวกเข้ากับข้อกฎหมายไทยที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน สามารถสร้างข้อเสนอแนะในการปรับปรุงกฎหมายไทยและระบบการบังคับใช้ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่มุ่งหวังไว้ตามทฤษฎีทางกฎหมายที่ ดังต่อไปนี้
1) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยยังต้องรับรองสิทธิในทรัพย์สิน สิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัวและคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และเสรีภาพในการประกอบอาชีพ แต่อาจเพิ่มสิทธิในการเป็นเจ้าของข้อมูลร่วมกันในข้อมูลดิจิทัลระหว่าง เจ้าของระบบแพลตฟอร์ม ผู้ใช้งานในฐานผู้บริโภคหรือผู้ประกอบการรายย่อย โดยมีรัฐเป็นผู้กำกับดูแล
2) บัญญัติ ตีความ รับรองว่า ข้อมูลทางคอมพิวเตอร์หรือข้อมูลดิจิทัลถือเป็นวัตถุไม่มีรูปร่างซึ่งอาจมีราคาและอาจถือเอาได้ แม้ไม่เป็นทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ตามแนวทางการตีความเดิม โดยจะต้องสร้างกลไกที่ทำให้ผู้ใช้ ผู้บริโภค ผู้ประกอบการ หรือเจ้าของแพลตฟอร์ม รายปัจเจกชนสามารถหวงกันไม่ให้บุคคลอื่นเข้าใช้หรือครอบครองทรัพย์นั้น และมีกลไกในการบริหารจัดการผลประโยชน์ร่วมกันในลักษณะกรรมสิทธิ์รวมเหนือทรัพย์สินข้อมูลดิจิทัล ได้ด้วย เพื่อยังคงรักษาสิทธิให้กับเจ้าของข้อมูลดิจิทัลมีสิทธิใช้สอยและจำหน่ายสิทธิในข้อมูลดิจิทัลของตนและได้ซึ่งดอกผลแห่งข้อมูลนั้น กับทั้งมีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งสิทธิในข้อมูลของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ และมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับสิทธิในข้อมูลนั้นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
3) ออกแบบระบบการบริหารจัดการการใช้ประโยชน์ข้อมูลดิจิทัลผ่านการหยิบยืมแนวคิดของกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาในการอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ แบ่งปัน และส่งต่อข้อมูลได้ โดยไม่หวงกันไว้ที่ผู้ใดผู้หนึ่งอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดตลอดกาล เนื่องจากข้อมูลไม่ใช่สิ่งที่มีข้อจำกัดว่าไม่สามารถแบ่งกันใช้ในเวลาเดียวกันได้ และจำต้องคำนึงถึงการถ่ายทอดดูดซับเทคโนโลยีจากการรวบรวม ประมวลผลและใช้ประโยชน์จากข้อมูลดิจิทัล และสิทธิในการเข้าถึงความก้าวหน้าทางศิลปะวิทยาการของมวลมนุษยชาติ
4) ประมวลกฎหมายอาญาบัญญัติให้คำว่า “ทรัพย์” เป็นวัตถุแห่งการกระทำในความผิดบางฐาน และบัญญัติให้คำว่า “ทรัพย์สิน” เป็นวัตถุแห่งการกระทำในความผิดบางฐาน แต่เพื่อคุ้มครองสิทธิในข้อมูลดิจิทัลอย่างครอบคลุม การวิเคราะห์คำว่า “ทรัพย์” ในทางอาญาไม่ควรยึดติดกับคำว่า “ทรัพย์” ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 137 ซึ่งกำหนดว่าทรัพย์ต้องเป็นวัตถุซึ่งมีรูปร่าง แต่จะรวมไปถึงการวิเคราะห์คำว่า “ทรัพย์สิน” ในทางอาญาด้วยว่าไม่ควรยึดติดกับคำว่า “ทรัพย์สิน” ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 138 โดยอาจปรับปรุงประมวลกฎหมายอาญาให้กำหนดองค์ประกอบความผิดทั้งหลายให้ครอบคลุมการกระทำต่อสิทธิเกี่ยวทรัพย์สินทั้งหมด
5) มีการพัฒนากลไกปรับใช้ประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการไขความลับ โดยคำนึงถึงความผิดตามพระราชบัญญัติการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล มาตรา 79 - 81 ที่ปรับปรุงขึ้นใหม่เพื่อรองรับการใช้ประโยชน์จากข้อมูลดิจิทัลโดยมิชอบด้วยกฎหมาย โดยต้องส่งเสริมความเข้มแข็งของคณะกรรมการตามกฎหมายให้สามารถตรวจตราและมีคำสั่งให้เยียวยาปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
6) ส่งเสริมระบบคุ้มครองผู้บริโภคและประชาชชนเจ้าของข้อมูลให้นำพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 มาปรับใช้กับข้อตกลงเกี่ยวกับการที่แพลตฟอร์มจะเก็บรวบรวมข้อมูลของผู้ใช้บริการและนำไปแสวงหาผลประโยชน์ได้ เนื่องจากผู้ประกอบธุรกิจแพลตฟอร์มอาจเข้านิยามเป็น “ผู้ประกอบธุรกิจการค้าหรือวิชาชีพ” หรือเป็นผู้กำหนด “สัญญาสำเร็จรูป” ซึ่งสามารถตีความว่าสัญญาที่ผู้ใช้บริการในฐานะผู้บริโภคเข้าทำกับเจ้าของแพลตฟอร์มดังกล่าว โดยเฉพาะในข้อสัญญาที่เกี่ยวข้องกับการเก็บรวบรวมข้อมูลและการนำข้อมูลไปแสวงหาประโยชน์ รวมถึงการแบ่งหรือไม่แบ่งปันผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ และหากเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ก็สามารถตีความต่อไปได้ว่าข้อสัญญาดังกล่าวซึ่งจะมีผลบังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณี
7) พัฒนาระบบจัดสรรผลประโยชน์ที่โปร่งใส และเป็น “ฐานคำนวณภาษี” ที่เกิดจากการใช้ประโยชน์จากข้อมูลดิจิทัล เพื่อนำมาเป็นงบประมาณในการจัดสวัสดิการถ้วนหน้าแก่พลเมืองในรัฐยุคดิจิทัล
ข้อเสนอดังกล่าวตั้งอยู่บนความมุ่งหวังในการสร้างความเป็นธรรมระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และสร้างสมดุลย์ระหว่างการใช้ประโยชน์จากข้อมูลเพื่อวิจัยและพัฒนานวัตกรรมไปพร้อมกับการเปิดโอกาสให้มีการถ่ายทอดและดูดซับเทคโนโลยีที่เกิดจากการรวบรวม ประมวลผลและใช้ประโยชน์ข้อมูลดิจิทัล
อ้างอิง
Lilian Edwards, “Data Protection: Enter the General Data Protection Regulation,” Law, Policy and the Internet, (2018).
Nick Srnicek, Platform Capitalism (Cambridge: Polity, 2017):.127-129
เก่งกิจ กิติเรียงลาภ. Autonomia ทุนนิยมความรับรู้ แรงงานอวัตถุ และการปฏิวัติของส่วนรวม. (กรุงเทพฯ :ภาพพิมพ์, 2560).
Barbara Prainsack, “Data Donation: How to Resist the Ileviathan,” Philosophical Studies Series 137 (2019).
The Ethics of Medical Data Donation: Philosophical Studies Series, edited by J. Krutzinna and L. Floridi, 137, 9–22. Cham: Springer.
Teresa Scassa, “Open Data and Privacy,” SSRN, last modified October 17, 2018, accessed May 23, 2022, https://papers.ssrn.com/abstract=3255581.
Kean Birch, Margaret Chiappetta, and Anna Artyushina, “The Problem of Innovation in Technoscientific Capitalism: Data Rentiership and the Policy Implications of Turning Personal Digital Data into a Private Asset,” Policy Studies 41, no. 5 (2020).
Shoshana Zuboff, The Age of Surveillance Capitalism: The Fight for a Human Future at the New Frontier of Power (New York: Public Affairs, 2019).
*ปรับปรุงจากบทสังเคราะห์ วิจัย โครงการสังเคราะห์องค์ความรู้ทางกฎหมายเพื่อสนับสนุนการแบ่งปันผลประโยชน์จากข้อมูลดิจิทัลอย่างเป็นธรรม, 2565. สนับสนุนทุนโดย สถาบันพระปกเกล้า.