Skip to main content

3.การกำกับดูแล

            การกำกับโลกของเกม GTA V online นั้น มีลักษณะเป็นระบอบเทคโนโลยีเป็นตัวกำหนด (Technology Determinism) ของผู้พัฒนาเกม/ผู้เขียนโปรแกรม โดยที่การซื้อเกมของผู้เล่นทุกคนนั้นเปรียบเสมือนการซื้อพื้นที่สำหรับการแสวงหาความสนุกสนานเพลิดเพลินบนโลกเสมือนจริงของเกม แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เล่นทุกคนต้องอยู่ภายใต้การกำกับควบคุม โดยผู้เชี่ยวชาญหรือช่างเทคนิคของ Rockstar Games อย่างไรก็ตาม อาจมีข้อเสียในเรื่องของการเกิดความไม่เป็นธรรมในการมีส่วนร่วมในการต่อรองและตกลงกันเพื่อกำหนดกฎและสร้างกลไกของผู้เล่นนั้นเป็นไปได้ยาก เนื่องจากมันเกี่ยวข้องกับเรื่องของการยินดีที่จะจ่ายเพื่อซื้อเกมของผู้เล่นตั้งแต่ต้น ผู้เล่นมีเสรีภาพในการตัดสินใจว่าจะซื้อหรือไม่ การที่ผู้เล่นตัดสินใจซื้อเกมก็คงถือโดยปริยายว่าผู้เล่นได้ยอมรับกฎกติกาของเกมแล้ว กล่าวคือ มันขาดความโปร่งใสในเรื่องของการตรวจสอบการกำกับควบคุมระบบของผู้เขียนโปรแกรม ถึงอย่างนั้นก็ดูเหมือนว่าผู้เล่นส่วนใหญ่จะพึงพอใจกับการอยู่ภายใต้กรอบกติกาของเกมที่ผู้สร้างที่กำหนดไว้     

            ประเด็นข้างต้น สะท้อนให้เห็นปัญหาอย่างหนึ่ง คือเรื่องความชอบธรรมของข้อตกลงระหว่างผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการ เมื่อข้อตกลงต่างๆ ที่ทาง Rockstar Game ได้กำหนดไว้และมีผลผูกพันกับตัวผู้เล่น ตัวผู้เล่นเองไม่อาจทราบถึงเนื้อหาของข้อตกลงได้อย่างชัดเจน และไม่สามารถที่จะต่อรองกับผู้ให้บริการได้ ยกตัวอย่างข้อตกลงที่ว่าเนื้อหาใดๆ ที่ผู้เล่นได้สร้างขึ้น และนำเข้าสู่ระบบของ Rockstar Game [1]ให้เนื้อหาเหล่านั้นทั้งหมดตกเป็นกรรมสิทธิ์ของทางบริษัทฯ โดยเด็ดขาด[2] การดำเนินการในระบอบนี้ทำให้ Rockstar Game มีบทบาทเสมือนพระเจ้าแห่งโลกของเกม GTA V Online รวมถึงการขาด “ความโปร่งใส” และขาดกลไกในการตรวจสอบการกำกับควบคุมระบบอันเป็นหลักประกันสิทธิของประชาชนในการสื่อสารโดยปราศจากการแทรกแซงโดยรัฐ[3]

            นอกจากนี้ ระบบของเกม ยังสอดแทรกการกำกับแบบ Market Driven[4] ที่ตลาดเป็นตัวขับเคลื่อนซึ่งมีลักษณะเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เล่นทุกคนสามารถช่วยกันเป็นหูเป็นตา ควบคุม เฝ้าระวังการกระทำผิดกฎกติกาของเกม โดยการแจ้งผ่านช่องทางรับเรื่องร้องเรียนที่ทาง Rockstar Game ได้จัดไว้ให้ในเว็บไซด์ของ Rockstar Games   เพื่อให้มีทางบริษัทบังคับใช้และดำเนินการตามกฎกติกาต่อไป กรณีเช่นนี้ได้ถือเป็นการสร้างกลไกกำกับโลกของเกม GTA V online ร่วมกันระหว่างผู้ให้บริการอย่าง Rockstar Game และผู้เล่นเกม ที่ถึงแม้จะไม่ใช่เป็นการต่อรองกันระหว่างผู้ใช้ฯและผู้ให้บริการก็ตาม

            ข้อสังเกตประการหนึ่ง ในเมื่อเกม GTA V online ได้สร้างพื้นที่ให้ผู้เล่นสามารถมีปฏิสัมพันธ์กันได้อย่างไร้อุปสรรคเรื่องระยะทาง และหากผู้เล่นด้วยกันมีความสัมพันธ์สนิทสนมกันยิ่งขึ้นสิ่งที่ตามมาก็คือ การเกิดขึ้นชุมชนหรือกลุ่มของผู้เล่นในรูปแบบเฉพาะ อย่างกรณีการสร้างแก๊ง (Gang) ในการดำเนินกิจกรรมต่างภายในเกมรูปแบบต่างๆ ที่หลากหลายยิ่งขึ้น ซึ่งผู้เล่นที่ตั้งแก๊งอาจกำหนดกฎกติกาต่างๆ ที่ใช้บังคับเฉพาะภายในแก๊งหรือกลุ่มของตน ภายใต้กฎเกณฑ์ที่ทาง Rockstar Games ได้กำหนดไว้ ซึ่งเปรียบเสมือนกับเป็นการ “สถาปนาอำนาจปกครองและคุมกฎในชุมชน” ของผู้เล่น เปรียบเสมือนเป็นการผสมผสานกับระบอบการกำกับควบคุมตนเอง (Self-Regulation)[5]

            ทั้งหมดในเรื่องนี้ ชี้ให้เห็นประเด็นสำคัญว่า การติดตั้งระบอบการกำกับควบคุมโลกไซเบอร์ให้เป็นการรักษาผลประโยชน์ของทุกฝ่ายได้มากที่สุด  หาใช่การเลือกติดตั้งการกำกับระบอบใดระบอบหนึ่งอย่างเดียวไม่ แต่ควรสร้างระบอบที่มีแนวทางการดำเนินงานในรูปแบบต่างๆ ผสมผสานร่วมกันกับระบอบอื่นๆ ในแบบบูรณาการ พึ่งพาอาศัยกันและกัน เพื่อให้กำกับควบคุมโลกไซเบอร์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด เท่าที่จะเป็นได้

4.เกมกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

ในส่วนนี้ ผู้เขียนได้ทำการสืบค้นไปยังการออกนโยบายด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่ทาง Rockstar Game ได้ระบุไว้ในเว็บไซด์ของทางบริษัท [6] เพื่อให้ผู้เล่นหรือผู้ที่กำลังตัดสินใจที่จะเข้าร่วมเล่นเกมของทาง Rockstar Game อย่างเกม GTA V online ได้พิจารณาเสียก่อน ว่าบริษัทจะดำเนินการกับข้อมูลส่วนตัวของพวกเขาในลักษณะใดบ้าง หรือได้รับการคุ้มครองหรือไม่อย่างไร

Rockstar Games ได้ประกาศตัว อย่างชัดเจนว่าทางบริษัทคำนึงถึงและเคารพสิทธิความเป็นส่วนตัว โดยใช้นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อปกป้องสิทธิความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้บริการทุกคน นโยบายของบริษัทซึ่งได้ประกาศไว้ในเว็บไซด์ นั้นจะอธิบายถึงวิธีจัดเก็บรวบรวมข้อมูล การเปิดเผย การถ่ายโอน การป้องกันและ การใช้ข้อมูลเหล่านั้นในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการออนไลน์ของบริษัท

 

ก่อนเริ่มเล่นเกม GTA V online ผู้เล่นทุกคนจะต้องลงทะเบียนสมัครบัญชี Rockstar Social club ซึ่งการลงทะเบียนดังกล่าวผู้เล่นจะต้องกรอกข้อมูลส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นชื่อเล่น วันเดือนปีเกิด อีเมล์ รวมถึงต้องระบุประเทศที่อาศัยอยู่ นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้ลงทะเบียนโดยเชื่อมต่อกับบัญชีเครือข่ายสังคมออนไลน์ อย่าง Facebook twitter Google เพื่อความรวดเร็วในการลงทะเบียน ในขณะเดียวกัน มีข้อน่าสังเกตอยู่อย่างหนึ่งคือ การเข้าใช้บริการของผู้เล่น  บริษัท Rockstar Games ถือว่าผู้เล่นได้ตกลงอนุญาตให้ทางบริษัทดำเนินการเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคลของผู้เล่นได้โดยปริยาย ดังต่อไปนี้ (1) ทางบริษัทสามารถถ่ายโอน ดำเนินการ และกักเก็บข้อมูลในบัญชีของผู้เล่นในประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศอื่นๆที่อาจมีการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลแตกต่างออกไปจากประเทศผู้เล่น (2) บริษัทสามารถดำเนินการเกี่ยวข้อมูล (DATA) ของผู้เล่นตามนโยบายของบริษัท รวมถึงผู้เล่นทุกคนถือว่ายินยอม (3) ที่จะมีพันธะผูกพันกับนโยบายด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของบริษัท และ (4) ผู้เล่นจะต้องอยู่ภายใต้ข้อกำหนดและเงื่อนไขของเราหลักปฏิบัติและนโยบายอื่นใดที่ทางบริษัทจะดำเนินการต่อไปได้ในอนาคต

 

แม้นโยบายด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของผู้เล่นที่ทาง Rockstar Games ได้ประกาศไว้ในเว็บไซด์ว่า บริษัทพร้อมที่จะป้องกันและเคารพสิทธิความเป็นส่วนตัวของผู้เล่นทุกคน  นั้นมีข้อน่าพิจารณาอยู่ประเด็นหนึ่งที่ว่า ทางบริษัทได้ออกมากล่าวในหัวข้อ “นโยบายความเป็นส่วนตัวนี้ใช้กับอะไร?” หรือ “WHAT DOES THIS PRIVACY POLICY APPLY TO?” ว่า ตนไม่รับประกันว่าข้อมูลส่วนบุคคลของผู้เล่นจะไม่ถูกเปิดเผยไปสู่บุคคลที่สาม ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ผู้เล่นควรระมัดระวัง แต่ผู้เล่นส่วนใหญ่กลับไม่ทราบสิ่งที่ว่านี้

 

แต่อย่างไรก็ดี การเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของผู้เล่นให้แก่ทางบริษัท Rockstar games ถือเป็นเงื่อนไขที่สำคัญอย่างหนึ่งสำหรับการเข้าไปมีส่วนร่วมกิจกรรมบางอย่าง กล่าวคือ หากผู้เล่นปฏิเสธที่จะให้ข้อมูล ผู้เล่นอาจถูกจำกัดในการเข้าถึงเนื้อหา หรือความสนุกสนานเพลิดเพลินของเกมในรูปแบบอื่นๆ ได้

 

เรื่องเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลสำหรับผู้เล่นเกมทุกคนถือเป็นสิ่งที่ ผู้เล่นแต่ละคนไม่เคยตระหนักถึงความเสี่ยง หรือปัญหาของการรั่วไหลของข้อมูลส่วนตัวต่างๆ รวมถึงพฤติกรรมส่วนตัว ซึ่งขัดกับสิทธิที่จะอยู่ในภาวะนิรนามของผู้เล่น เนื่องจากพฤติกรรมของผู้เล่นที่บังคับควบคุมตลอดละคร นั้นอาจคาดเดาได้ถึงพฤติกรรมของผู้เล่นคนนั้นในโลกของความเป็นจริงได้เช่นกัน

 

5.การรักษาความมั่นคงของระบบ

          ประเด็นเรื่องของการรักษาความมั่นคงทางไซเบอร์ (Cyber Security) ของทางบริษัท Rockstar games ได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนใน End User License Agreement (EULA) ในเรื่องของการป้องกันทางเทคนิค (Technical Protection)[7] โดยทางบริษัทได้จัดให้มีมาตรการตรวจสอบดูแล ควบคุม การกำหนดรหัสสินค้า (Serial Number) ซึ่งจะทำให้ผู้ที่จะเข้าถึงหาภายในเกมได้จะต้องเป็นผู้ที่ซื้อเกมของบริษัทมาโดยถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น รวมถึงอาจมีมาตรการอื่นๆ ที่ถูกออกแบบมาเพื่อป้องกันการเข้าถึงเนื้อหาในเกม, การใช้และการทำซ้ำคัดลอกตัวเกมโดยไม่ได้รับอนุญาต ขณะเดียวกัน บริษัทมีสิทธิที่จะตรวจสอบและกรณีที่พบผู้กระทำความผิด บริษัทการสามารถดำเนินการกีดกันให้ผู้กระทำผิดไม่สามารถเข้าถึงเนื้อหาในเกมเวลาใดก็ได้

            นอกจากนี้ บริษัท Rockstar Games ได้ดำเนินการป้องกันความปลอดภัยในระบบของตน โดยวิธีการจ้าง หรือจัดหา คนเฝ้าระวัง ซึ่งเรียกว่า GAME SECURITY ENGINEER [8]โดยกำหนดคุณสมบัติว่า ผู้จะเข้ามารับสมัครทำงานในตำแหน่งนี้ต้องมีทักษะความสามารถในการกระทำ “ด้านมืด” กล่าวคือ บุคคลที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านการ Hacking, สร้าง Mod, สร้าง Trainer (โปรแกรมโกงเกม) และการ Cracking จะได้รับการพิจารณาให้เข้ารับทำงานเป็นกรณีพิเศษ

          หน้าที่ความรับผิดชอบหลักของผู้ที่ทำงานในตำแหน่งนี้ คือการพัฒนาและขับเคลื่อนระบบความปลอดภัยของเกม รักษาความสนุกสนานเพลิดเพลินของผู้เล่น โดยการต่อสู้กับพวก ขี้โกง (Cheaters),
แฮคเกอร์ (Hackers), นักขูดรีด (Exploiters) และผู้ก่อปัญหาภายในเกมด้วยวิธีการอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสรรค์และสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ สำหรับการแก้ไขให้เพื่อให้ระบบรักษาความปลอดภัยดีขึ้น การค้นหาช่องโหว่ภายในเกม โดยการปฏิบัติการเชิงรุก และใช้มาตรการบรรเทาผลกระทบที่เหมาะสม การทำวิศวกรรมย้อนกลับเพื่อรักษาสภาพแวดล้อมภายในเกม หรือการทำวิจัยและดำเนินการสร้างเทคโนโลยีระบบป้องกันการเจาะ (Anti-tamper Technologies) ในหลากหลายรูปแบบ เป็นต้น

 

            หากพิจารณาอย่างถี่ถ้วน การดำเนินการของบริษัท Rockstar Games เป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญที่รัฐควรคำนึงถึงความมั่นทางไซเบอร์ ที่ไม่ใช่แค่ระบบเกมหากแต่เป็นระบบไซเบอร์ของประเทศ และรัฐจะต้องจัดให้มีมาตรการและกลไกทางกฎหมายสำหรับการป้องกันการถูกโจมตี และเพื่อรักษาความมั่นคงทางไซเบอร์ (ระบบ) ไม่ใช่ความมั่นคงของรัฐบาลแต่เพียงอย่างเดียวเพราะจะเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้ใช้บริการเสียมากกว่าเป็นการคุ้มครอง นอกจากนี้ การอาศัยความร่วมมือกับผู้ที่มีความสามารถความเชี่ยวชาญในการ “ทำลาย” หรือ “เจาะ”ระบบ ก็เป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งในการป้องกันระบบความมั่นคงทางไซเบอร์ของประเทศ เช่นการให้บุคคลนั้นมาช่วยในการสร้างมาตรการและกลไกทางกฎหมายให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ใช่เอาแต่ตั้งตนเป็นศัตรูและจับกุมปราบปรามบุคคลเหล่านั้น

อ่านตอนที่ 1 https://blogazine.pub/blogs/streetlawyer/post/6316

อ่านตอนที่ 3 https://blogazine.pub/blogs/streetlawyer/post/6318

รูปภาพจาก เว็บไซต์ eteknix.com

เขียนโดย นายภาสกร ญี่นาง


[1] ตัวเกม GTA V ได้เปิดโอกาสผู้เล่นสามารถเข้าร่วมในการพัฒนา ปรับแต่งหรือเพิ่มเติมเนื้อหา ด้วยตนเองได้ เพื่อเพิ่มความสนุกสนานยิ่งขึ้น

[2] Rockstar Games, “Corporate Information” [online] Source : https://www.rockstargames.com/corpinfo
(April 24, 2018)

[3] ทศพล ทรรศนกุลพันธ์, “ไม่มีแดนเถื่อนในโลกไซเบอร์?: การศึกษาตัวแบบในการกำกับดูแลโลกไซเบอร์”.
นิติสังคมศาสตร์. 2558 กรกฎาคม – ธันวาคม; ปีที่ 8 (2). หน้า 46.

[4] เรื่องเดียวกัน. หน้า 48.

[5] เรื่องเดียวกัน. หน้า 50.

[6]  Rockstar Games, “Privacy Policy” [online] Source : https://www.rockstargames.com/privacy
(April 24, 2018)

[7] Rockstar Games. “ Rockstar Games End User License Agreement.” [Online] Source : https://www.rockstargames.com/eula (April 24, 2018)

[8] Rockstar Games. “Game Security Engineer.” [Online] Source : https://www.rockstargames.com/careers/openings/position/81daa55e (April 24, 2018)

 

บล็อกของ ทศพล ทรรศนพรรณ

ทศพล ทรรศนพรรณ
การนำ คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 205/2549 มาตราเป็นพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร  โดยแฝงนัยยะของการสร้าง “รัฐทหาร” ด้วยการขยับขยายขอบเขตอำนาจแก่เจ้าหน้าที่ กอ. รมน.
ทศพล ทรรศนพรรณ
หลังสิ้นสุดยุคสมัยสงครามเย็น หนึ่งในมรดกตกทอดจากยุคนั้น ได้แก่ หน่วยงานความมั่นคงของรัฐไทยที่มีอำนาจหน้าที่อย่างเข้มข้นในการเฝ้าระวัง สอดส่อง ควบคุมการสื่อสารและการกระทำต่าง ๆ ของประชาชนที่ผู้มีอำนาจเห็นว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง และส่งผลเสียต่อการยืนหยัดสู้เพื่ออุดมการณ์ทางการเมืองช่วงนั้น อาทิ กอง
ทศพล ทรรศนพรรณ
คนไร้บ้านจัดเป็นกลุ่มที่เสี่ยงที่จะถูกละเมิดสิทธิและด้อยโอกาสในการเข้าถึงบริการสาธารณะ สวัสดิการ และหลักประกันด้านต่าง ๆ ด้วยเหตุที่เป็นกลุ่มซึ่งต้องปะทะโดยตรงกับการพัฒนาเมืองอย่างไม่ยั่งยืนทั้งที่สาเหตุของการออกมาอยู่ในพื้นที่สาธารณะนั้นเกี่ยวข้องกับความเหลื่อมล้ำทางสังคมอันเป็นผลลัพธ์ของนโยบายส
ทศพล ทรรศนพรรณ
คนไร้บ้านตกอยู่ในสถานะของกลุ่มเสี่ยงที่อาจต้องเผชิญจากการเหยียดหยามศักดิ์ความเป็นมนุษย์โดยตรงจากการละเมิด และยังอาจไม่ได้รับการดูและแก้ไขปัญหาเมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์ยุ่งยากต่าง ๆ เพราะถูกจัดให้อยู่ในสถานะต่ำต้อยเสี่ยงต่อการเลือกประติบัติจากรัฐ จนไปถึงการเพิกเฉย ละเลย ไม่ใส่จะแก้ปัญหาให้คนไร้บ้
ทศพล ทรรศนพรรณ
คนไร้บ้านเป็นเสียงที่ไม่ถูกนับ การใช้พลังในลักษณะกลุ่มก้อนทางการเมืองเพื่อเรียกร้องประโยชน์จากผู้มีอำนาจให้จัดสรรทรัพยากรให้จึงเป็นเรื่องยาก ด้วยสาเหตุหลัก 2 ประการ คือ
ทศพล ทรรศนพรรณ
การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของคนไร้บ้านจำเป็นต้องยืนอยู่บนฐานของกฎหมายที่ประกันสิทธิของบุคคลโดยมิคำนึงถึงความแตกต่างหลากหลายทางสถานภาพใด ๆ แม้คนไร้บ้านจะเป็นปัจเจกชน หรือกลุ่มคนที่มีปริมาณน้อยเพียงไร รัฐก็มีพันธกรณีในการเคารพ ปกป้อง และส่งเสริมสิทธิให้กลุ่มเสี่ยงนี้โดยเหตุแห่งความเป็นสิทธิมนุษยชนที่ร
ทศพล ทรรศนพรรณ
หากต้องกำหนดยุทธศาสตร์ของประเทศไทยในการเข้าร่วมตลาดดิจิทัลที่มีเข้มข้นของกิจกรรมข้ามพรมแดนตลอดเวลา เพื่อแก้ไขปัญหาศักยภาพของรัฐในการบังคับใช้กฎหมายขยายไปเหนือหลักเขตอำนาจศาลเหนือดินแดนของตนแบบเก่า เมื่อต้องกำกับกิจกรรมของบรรษัทข้ามชาติที่อยู่ในการบังคับของกฎหมายรัฐอื่นซึ่งมีบรรทัดฐานในหลายประเด็น
ทศพล ทรรศนพรรณ
การวิเคราะห์กฎหมายไทยที่เกี่ยวข้องกับลักษณะความสัมพันธ์ของนิติบุคคลเจ้าของแพลตฟอร์มที่มักเป็นบรรษัทข้ามชาติกับรัฐ จะกระทำใน 3 ประเด็นหลัก คือ ใครเป็นเจ้าของข้อมูล ใครมีสิทธิใช้ประโยชน์จากข้อมูลมากน้อยอย่างไร หรือแบ่งปันกันอย่างไร อันเป็นการเตรียมความพร้อมของกฎหมายในการรองรับปรากฏการณ์การใช้ข้อมูล
ทศพล ทรรศนพรรณ
บทความนี้จะทำการรวบรวมข้อเสนอทางกฎหมายในระดับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับลักษณะความสัมพันธ์ของนิติบุคคลเจ้าของแพลตฟอร์มที่มักเป็นบรรษัทข้ามชาติ กับรัฐและองค์การระหว่างประเทศ อันเป็นการเตรียมความพร้อมของกฎหมายในการรองรับปรากฏการณ์การใช้ข้อมูลจากแพลตฟอร์มดิจิทัล ว่าสามารถบริหารจัดการให
ทศพล ทรรศนพรรณ
บทความนี้จะทำการทบทวนข้อกฎหมายทั้งในระดับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับลักษณะความสัมพันธ์ของนิติบุคคลเจ้าของแพลตฟอร์มที่มักเป็นบรรษัทข้ามชาติ เรื่อยมาจนถึงสำรวจความพร้อมของกฎหมายในการรองรับปรากฏการณ์การใช้ข้อมูลจากแพลตฟอร์มดิจิทัล ว่าสามารถบริหารจัดการให้เกิดการแบ่งปันข้อมูลดิจิทัลระหว
ทศพล ทรรศนพรรณ
ประเด็นพื้นฐานที่รัฐต้องคิด คือ จะส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมทางเทคโนโลยีเพื่อสะสมความมั่งคั่งได้อย่างไร แล้วจึงจะไปสู่แนวทางในการแบ่งปันความมั่งคั่งให้กับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการผลิตข้อมูลขึ้นมาในแพลตฟอร์ม
ทศพล ทรรศนพรรณ
Kean Birch นำเสนอปัญหาของข้อมูลส่วนบุคคลในฐานะสินค้าของตลาดนวัตกรรมเทคโนโลยีจำนวน 5 ประเด็น คือ1.ข้อมูลส่วนบุคคลเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของแพลตฟอร์มในฐานะเจ้าของข้อมูลทึ่ถูกรวบรวมโดยนวัตกรรม,