Skip to main content

6. ต่อสู้กับอาชญากรรม

            ปัญหาอาชญากรรมทางไซเบอร์ ที่ทางผู้พัฒนาและจัดวางจำหน่ายเกม GTA V และ GTA V online ต้องเผชิญนั้น มีอยู่หลายรูปแบบด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ และการสร้าง Mod หรือ ตัวปรับแต่งเกม เพื่อโกงค่าตัวเลขต่างๆ ภายในเกม การก่อความวุ่นวาย ความเดือดร้อนรำคาญ (เช่น ระเบิดผู้เล่นคนอื่นๆ ใน Session) รวมถึงการ Hack หรือ เจาะรหัสเอาข้อมูล หรือเอาสิ่งของภายในเกมจากผู้เล่นคนอื่น

            การละเมิดลิขสิทธิ์เกม GTA V ที่ ซึ่งทางบริษัท Rockstar games คือผู้ที่มีสิทธิโดยเด็ดขาด (Exclusive Right) ตามกฎหมายลิขสิทธิ์ของประเทศสหรัฐอเมริกา มักจะมีลักษณะเป็นการดาวน์โหลดเกม “เถื่อน” โดยผู้ดาวน์โหลดสามารถทำการ Crack[1] หรือ การเข้าไปแก้ไขโปรแกรม หรือข้อมูลที่ผู้ผลิตได้ตั้งค่าเอาไว้เพื่อป้องกันการเข้าถึงตัวเกมโดยมิชอบ การ Crack ดังกล่าวช่วยให้ผู้นั้นสามารถเล่นเกมได้เสมือนเป็นเกมถูกต้องตามลิขสิทธิ์ โดยไม่มีข้อจำกัดใดๆ โดยในเรื่องนี้ ทางบริษัท Rockstar games ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ออกมาแก้ไขโดยให้ผู้เล่นจะต้องเข้าลงทะเบียนใน Rockstar Social club ซึ่งเป็นเครือข่ายสังคมของ Rockstar games และผู้เล่นจะต้องใส่ Serial number หรือ รหัสผลิตภัณฑ์ก่อนเข้าเล่น ดังนั้นหากผู้ที่มีเกมเถื่อนและมีรหัสผลิตภัณฑ์ปลอมก็จะไม่สามารถเข้าเล่นได้

            ส่วนกรณี การสร้าง Mod หรือ ตัวปรับแต่งเกม เพื่อโกงค่าตัวเลขต่างๆ ภายในเกม การก่อความวุ่นวาย ความเดือดร้อนรำคาญให้แก่ผู้เล่นคนอื่นๆ หรือการกระทำความ “เกรียน” ภายนอกกรอบกติกาของเกมที่ Rockstar Games ได้กำหนดไว้ ซึ่งทางบริษัทจะตรวจสอบด้วยตนเอง หรือรับเรื่องร้องเรียนจากผู้เล่นที่ได้รับความเดือดร้อนรำคาญจากการใช้ Mod ของผู้เล่นเกรียนๆ หลังจากนั้น Rockstar games ก็จะทำการแบน (Ban) ผู้เล่นคนนั้น (ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงเกมได้) ซึ่งอาจเป็นการแบนเพียงชั่วคราว หรือแบนแบบถาวรก็ได้ ขึ้นอยู่กับระดับความร้ายแรงของการกระทำ[2]

            ข้อสังเกต หากนำกรณีการกระทำดังที่กล่าวมาในข้างต้นมาปรับเข้ากับกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ของไทยที่ได้ได้รับอิทธิพลมาจาก อนุสัญญาว่าด้วยอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ (Convention on Cybercrime) โดยสภาแห่งยุโรป (The Council of Europe) และกฎหมายหลายฉบับของสหรัฐอเมริกา จะถือว่าเป็นการทำให้เสียหาย ทำลาย แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นโดยมิชอบตามมาตรา 9 และเป็นการกระทำด้วยประการใดโดยมิชอบ เพื่อให้การทำงานของระบบคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นถูกระงับ ชะลอ ขัดขวาง หรือรบกวนจนไม่สามารถทำงานตามปกติได้ ตามมาตรา 10 ซึ่งอาจส่งผลให้รัฐต้องมีหน้าที่เข้ามามีบทบาทในการดำเนินการเพื่อจัดการกับความเสียหายที่เกิดขึ้น

            แต่อย่างไรก็ดี ปัญหาการโกง และการก่อความวุ่นวายภายในเกม เป็นปัญหาที่ทาง Rockstar games แก้ไม่หายมาเป็นเวลานาน ประเด็นนี้ถือเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ความนิยมของเกมลดลง เนื่องจากผู้เล่นหลายๆ คนขาดความเชื่อมั่น รู้สึกไม่ปลอดภัย และรู้สึกไม่ได้รับการคุ้มครองจากทางผู้สร้างเกม นอกเหนือจากโลกของเกมแล้ว ประเด็นนี้ชี้ให้เห็นว่ารัฐควรต้องใส่ใจถึงปัญหาในโลกของอินเตอร์เน็ตมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความปลอดภัย หรือเรื่องการจัดการกับอาชญากรรมทางไซเบอร์และความสงบเรียบร้อยในสังคมออนไลน์

7.GTA คือ ต้นแบบการก่ออาชญากรรม?

            สำหรับหลายๆ คน โดยเฉพาะเหล่าผู้เล่นเกม เกม GTA ถูกนับว่าเป็นเกมที่มีความสนุกเร้าใจมากที่สุดเกมหนึ่งบนโลก ทั้งในเรื่องของการดำเนินเรื่องในเกม กราฟิกที่สวยงาม วิธีการเล่นซึ่งต้องใช้สมาธิและไหวพริบอยู่ไม่น้อยในการเล่น แต่ในอีกด้านหนึ่ง เมื่อเกม GTA V (รวมถึงเกม GTA ภาคก่อนๆ) มีเนื้อหาหลักที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรง และเรื่องเพศตลอดทั้งเกม รวมถึงเกมก็ปล่อยให้ผู้เล่นทำความรุนแรงใดๆ ก็ได้ภายในเกม เช่นการทำร้ายคนบนท้องถนน การขับรถโดยไม่สนใจกฎจราจร ด้วยเหตุนี้เอง จึงไม่แปลกที่จะถูกสื่อกระแสหลัก มองว่าเป็นสาเหตุพฤติกรรมความรุนแรงในเด็ก และเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ ซึ่งวาทกรรมดังกล่าวก็ถูกผลิตซ้ำออกมาให้เห็นอยู่เสมอจากการนำเสนอข่าวในสังคมไทย ยกตัวอย่างเช่น

            เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2551 เว็บไซด์ผู้จัดการออนไลน์ เว็บไซด์ข่าวชื่อดัง ได้นำเสนอว่า ผู้ต้องหาตัดสินใจก่อเหตุดังกล่าว “เพราะเห็นจากในเกม Grand theft Auto หรือ GTA ซึ่งเป็นเกมออนไลน์ที่ตนเล่นเป็นประจำ...”         และอีก 8 ปี ต่อมา เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2559 เว็บไซด์ของสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 ก็ได้นำเสนอข่าวในทำนองเดียวกันว่า “จับแก๊งวัยรุ่น เลียนแบบเกม GTA ปล้นทำร้ายชาวต่างชาติ - ทั้งหมดสารภาพว่า ร่วมกันปล้นทรัพย์ โดยเลียนแบบมาจากเกม GTA ที่พวกตนชอบเล่น ...”

                      จากการนำเสนอข่าวของสื่อกระแสหลักเช่นนี้ ทำให้ GTA ถูกตราหน้าว่าเป็นดั่งปีศาจร้าย และเป็นสาเหตุให้เด็กๆ ต้องเติบโตไปเป็นอาชญากร  ดังนั้นทางการไทยจึงไม่รอช้าในการเข้ามาจัดการ ควบคุมการเข้าถึงเนื้อหาเกม โดยได้มีการสั่งห้ามจำหน่ายเกม GTA ในประเทศในที่สุด [3] ทำให้ผู้เล่นเกมหลายๆ คนตัดสินใจไปเล่นแบบ “เถื่อน” หรือ ใช้สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์แทน

            ประเด็นนี้ ได้เกิดถกเถียงอย่างมากสำหรับผู้เล่นเกมทั่วประเทศ ต่อการแบนเกม GTA ของทางการไทย เป็นไปได้ว่า เนื้อหาของข่าวที่สื่อได้นำเสนอ เป็นการนำเสนอข่าวเพียงด้านเดียว ซึ่งอันที่จริงแล้วเกม ก็เปรียบเสมือน “ดาบสองคม” มีทั้งด้านดีและด้านที่เป็นโทษ เมื่อเกมได้รับอนุญาตให้จัดวางจำหน่าย ย่อมผ่านการตรวจสอบเนื้อหามาแล้ว

            ด้านดีของเกม GTA V เช่น การฝึกทักษะภาษาอังกฤษ ฟัง พูด อ่าน เขียน การสร้างความสามัคคี และทักษะการทำงานเป็นกลุ่ม การฝึกสมาธิเพราะเกม GTA V เป็นเกมที่ต้องอาศัยไหวพริบปฏิภาณสูง เนื้อหาของเกม ไม่ได้มีเพียงแต่การใช้ความรุนแรงเพียงเท่านั้น แต่ยังมีเนื้อหาที่เกี่ยวกับการต่อสู้กับองค์กรตำรวจที่เลวทราม การทำภารกิจเพื่อปกป้องโลก และการช่วยเหลือพวกพ้อง เป็นต้น

            ข้อถกเถียงอีกข้อหนึ่งต่อการตีตราว่า “เกมก่อให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ” ขอให้ตระหนักถึงจำนวนผู้เล่นเกม GTA ทุกๆ ภาค ที่มีอยู่หลายล้านคนทั่วโลก ซึ่งถ้าหากตัวเกมเป็นสาเหตุในการก่ออาชญากรรมของเด็กจริง จะอธิบายอย่างไรกับกรณีผู้เล่นอีกหลายล้านคนซึ่งไม่มีพฤติกรรมความรุนแรง หรือ พฤติกรรมเลียนแบบเกม

            หลายครั้งเมื่อมีเด็กก่ออาชญากรรมขึ้น เกมก็มักจะตกเป็นจำเลยไป การที่รัฐและสังคมจึงพยายามที่จะสอดแทรกเข้ามาป้องกัน ควบคุมการเข้าถึงเนื้อหาและกีดกันเด็กมิให้เข้าถึงเกมได้โดยง่าย การกระทำดังกล่าวถือเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ และปัญหาอาชญากรเด็กย่อมไม่มีวันหมดไปได้ ถึงแม้โลกนี้จะไม่มีเกมให้เล่นแล้วก็ตาม

            การแก้ไขปัญหาโดยการควบคุมเนื้อหาของเกมนั้น ได้ละเลยปัญหาอื่นๆ ที่สังคมก็มีส่วนก่อให้เกิดขึ้น ซึ่งปัญหาเหล่านี้ถือเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างทางสังคม เช่น ปัญหาภายในสถาบันครอบครัวที่พ่อแม่ผู้ปกครองไม่สั่งสอนลูกๆ ปัญหาระบบการจ้างงานนี่ทำให้พ่อแม่ไม่มีเวลามาคอยดูแลลูก ปัญหาของสถาบันการศึกษาที่ล้มเหลวในการกล่อมเกลาเยาวชน และปัญหาอื่นๆ อีกมากมาย การกล่าวว่าเกมเป็นสาเหตุของความรุนแรง เสมือนเป็นการใส่ร้ายกับสิ่งที่พูดไม่ได้ ให้คอยเป็นแพะรับบาปกับปัญหาที่สังคมมีส่วนในการก่อให้เกิดขึ้นอยู่เสมอ

8. No money, No GTA

          ข้อความที่ว่า “No money, No GTA” หรือ “No money, No Fun” ซึ่งผู้เล่นหลายๆ คน ได้ประกาศในช่องสนทนาภายในเกม GTA V online เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาความไม่เป็นกลางของทาง Rockstar Games ที่ทำให้การจะเข้าถึงความสนุกสนานมากยิ่งขึ้น ขึ้นอยู่ความสามารถที่จะจ่าย หรือ กำลังซื้อของผู้เล่นในแต่ละคน เช่น ถ้าหากผู้เล่นต้องการมีเงินในเกมเพิ่มขึ้น 8,000,000$ ผู้เล่นจะต้องซื้อการ์ดจาก Rockstar Games ในราคาสูงถึง 2,500 บาท ทั้งๆที่ ได้จ่ายเงินเพื่อซื้อเกมมาแล้วในราคา 1,500 บาท [4]

            การทำเช่นนี้ อาจเป็นการกระตุ้นให้เกิดการแข่งขัน และสร้างความกระตือรือร้นของผู้เล่นแต่ละคนในการทำภารกิจและทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อนำเงินมา ซื้ออาวุธ ยานพาหนะและดำเนินธุรกิจ รวมถึงการเข้าถึงความสนุกในเกมได้อย่างหลากหลายมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ ผู้เล่นที่ไม่ต้องการจ่ายเพิ่มอีกมักจะกระทำเป็นประจำตอนเข้าเล่นเกม แม้จะได้มาซึ่งเงินจำนวนน้อยกว่าการซื้อการ์ดก็ตาม

            แต่อย่างไรก็ดี เมื่อเงินภายในเกมกลายเป็นข้อจำกัดสำหรับผู้ไม่มีกำลังจ่าย  Rockstar Games เริ่มทำการเพิ่มเติมเนื้อหาพิเศษขึ้นเพื่อเป็นการบีบบังคับให้ต้องผู้เล่นต้องจ่ายเงินมากยิ่งขึ้น [5]ทำให้สภาพสังคมภายในเกมเริ่มเกิดความเหลื่อมล้ำ เกิดความไม่เท่าเทียม ผู้เล่นที่มีเงินมากย่อมอยู่เหนือผู้เล่นคนอื่นๆ เกิดความไม่เป็นธรรมในการเข้าถึงเนื้อหาต่างๆ ผู้เล่นที่ด้อยกว่าอาจต้องเล่นเกมนี้อย่างอึดอัดคับข้องใจ แทนที่จะได้เข้ามาเล่นเกมเพื่อแสวงหาความสนุกสนานเพลิดเพลินเหมือนที่ควรจะเป็น

                        นอกจากนี้ ปัญหาความไม่เป็นกลางที่ทาง Rockstar Games ได้ก่อขึ้น อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ปัญหาการก่ออาชญากรรมในระบบของเกม ไม่ว่าจะเป็นการสร้าง Mod หรือ ตัวปรับแต่งเกม เพื่อ “โกง” ในรูปแบบต่างๆ อันเป็นปัญหาที่ทาง Rockstar Games ไม่เคยจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนก่อความรำคาญวุ่นวาย ทำให้ผู้เล่นหลายๆคนเกิดความไม่พอใจและต้องเลิกเล่นเกมนี้ไปในที่สุด

            จากโลกของเกม ลองมองย้อนกลับมาที่โลกความเป็นจริง จะเห็นข้อสำคัญอย่างหนึ่งว่า การจัดสรรผลประโยชน์อย่างเท่าเทียมกัน ถือเป็นหน้าที่ที่สำคัญอย่างหนึ่งของรัฐ โดยเฉพาะในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูง เพื่อที่จะเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุของปัญหา และป้องกันไม่ให้สังคมล่มสลายไปในที่สุด

อ่านตอนที่ 1 https://blogazine.pub/blogs/streetlawyer/post/6316

อ่านตอนที่ 2 https://blogazine.pub/blogs/streetlawyer/post/6317

รูปภาพจาก เว็บไซต์ gamerant.com

เขียนโดย นายภาสกร ญี่นาง


[1] ผู้เล่นเกมเถื่อนจะอาศัยโปรแกรม Crack จากบุคคลอื่นซึ่งเป็นผู้ที่ปล่อยเกมมาให้สาธารณชนดาวน์โหลดโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

[2] Rockstar support. “How to Report Cheaters in Grand Theft Auto Online.” [Online] Source : https://support.rockstargames.com/hc/en-us/articles/200704406-How-to-Report-Cheaters-in-Grand-Theft-Auto-Online (April 25, 2018)

[3]YouTube. “เกมเหล่านี้โดนแบนในไทย” [Video file]. Retrieved from https://www.youtube.com/watch?v=sm7S7towv5k (April 24, 2018)

[4]Steam. “GTA Online: Shark Cash Cards.”[Online] Source : http://store.steampowered.com/app/376850 (April 25, 2018)

[5] การอัพเดตตัวเกมในแต่ละครั้ง Rockstar Games จะเพิ่มเติมเนื้อหาใหม่เข้ามา และการจะเข้าถึงได้ ผู้เล่นจะต้องทำการซื้อสิ่งต่างๆที่เกมได้กำหนดเป็นเงื่อนไขในการเข้าถึง เช่น ตึกของแก๊ง สนามเครื่องบิน เป็นต้น

 

บล็อกของ ทศพล ทรรศนพรรณ

ทศพล ทรรศนพรรณ
การนำ คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 205/2549 มาตราเป็นพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร  โดยแฝงนัยยะของการสร้าง “รัฐทหาร” ด้วยการขยับขยายขอบเขตอำนาจแก่เจ้าหน้าที่ กอ. รมน.
ทศพล ทรรศนพรรณ
หลังสิ้นสุดยุคสมัยสงครามเย็น หนึ่งในมรดกตกทอดจากยุคนั้น ได้แก่ หน่วยงานความมั่นคงของรัฐไทยที่มีอำนาจหน้าที่อย่างเข้มข้นในการเฝ้าระวัง สอดส่อง ควบคุมการสื่อสารและการกระทำต่าง ๆ ของประชาชนที่ผู้มีอำนาจเห็นว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง และส่งผลเสียต่อการยืนหยัดสู้เพื่ออุดมการณ์ทางการเมืองช่วงนั้น อาทิ กอง
ทศพล ทรรศนพรรณ
คนไร้บ้านจัดเป็นกลุ่มที่เสี่ยงที่จะถูกละเมิดสิทธิและด้อยโอกาสในการเข้าถึงบริการสาธารณะ สวัสดิการ และหลักประกันด้านต่าง ๆ ด้วยเหตุที่เป็นกลุ่มซึ่งต้องปะทะโดยตรงกับการพัฒนาเมืองอย่างไม่ยั่งยืนทั้งที่สาเหตุของการออกมาอยู่ในพื้นที่สาธารณะนั้นเกี่ยวข้องกับความเหลื่อมล้ำทางสังคมอันเป็นผลลัพธ์ของนโยบายส
ทศพล ทรรศนพรรณ
คนไร้บ้านตกอยู่ในสถานะของกลุ่มเสี่ยงที่อาจต้องเผชิญจากการเหยียดหยามศักดิ์ความเป็นมนุษย์โดยตรงจากการละเมิด และยังอาจไม่ได้รับการดูและแก้ไขปัญหาเมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์ยุ่งยากต่าง ๆ เพราะถูกจัดให้อยู่ในสถานะต่ำต้อยเสี่ยงต่อการเลือกประติบัติจากรัฐ จนไปถึงการเพิกเฉย ละเลย ไม่ใส่จะแก้ปัญหาให้คนไร้บ้
ทศพล ทรรศนพรรณ
คนไร้บ้านเป็นเสียงที่ไม่ถูกนับ การใช้พลังในลักษณะกลุ่มก้อนทางการเมืองเพื่อเรียกร้องประโยชน์จากผู้มีอำนาจให้จัดสรรทรัพยากรให้จึงเป็นเรื่องยาก ด้วยสาเหตุหลัก 2 ประการ คือ
ทศพล ทรรศนพรรณ
การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของคนไร้บ้านจำเป็นต้องยืนอยู่บนฐานของกฎหมายที่ประกันสิทธิของบุคคลโดยมิคำนึงถึงความแตกต่างหลากหลายทางสถานภาพใด ๆ แม้คนไร้บ้านจะเป็นปัจเจกชน หรือกลุ่มคนที่มีปริมาณน้อยเพียงไร รัฐก็มีพันธกรณีในการเคารพ ปกป้อง และส่งเสริมสิทธิให้กลุ่มเสี่ยงนี้โดยเหตุแห่งความเป็นสิทธิมนุษยชนที่ร
ทศพล ทรรศนพรรณ
หากต้องกำหนดยุทธศาสตร์ของประเทศไทยในการเข้าร่วมตลาดดิจิทัลที่มีเข้มข้นของกิจกรรมข้ามพรมแดนตลอดเวลา เพื่อแก้ไขปัญหาศักยภาพของรัฐในการบังคับใช้กฎหมายขยายไปเหนือหลักเขตอำนาจศาลเหนือดินแดนของตนแบบเก่า เมื่อต้องกำกับกิจกรรมของบรรษัทข้ามชาติที่อยู่ในการบังคับของกฎหมายรัฐอื่นซึ่งมีบรรทัดฐานในหลายประเด็น
ทศพล ทรรศนพรรณ
การวิเคราะห์กฎหมายไทยที่เกี่ยวข้องกับลักษณะความสัมพันธ์ของนิติบุคคลเจ้าของแพลตฟอร์มที่มักเป็นบรรษัทข้ามชาติกับรัฐ จะกระทำใน 3 ประเด็นหลัก คือ ใครเป็นเจ้าของข้อมูล ใครมีสิทธิใช้ประโยชน์จากข้อมูลมากน้อยอย่างไร หรือแบ่งปันกันอย่างไร อันเป็นการเตรียมความพร้อมของกฎหมายในการรองรับปรากฏการณ์การใช้ข้อมูล
ทศพล ทรรศนพรรณ
บทความนี้จะทำการรวบรวมข้อเสนอทางกฎหมายในระดับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับลักษณะความสัมพันธ์ของนิติบุคคลเจ้าของแพลตฟอร์มที่มักเป็นบรรษัทข้ามชาติ กับรัฐและองค์การระหว่างประเทศ อันเป็นการเตรียมความพร้อมของกฎหมายในการรองรับปรากฏการณ์การใช้ข้อมูลจากแพลตฟอร์มดิจิทัล ว่าสามารถบริหารจัดการให
ทศพล ทรรศนพรรณ
บทความนี้จะทำการทบทวนข้อกฎหมายทั้งในระดับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับลักษณะความสัมพันธ์ของนิติบุคคลเจ้าของแพลตฟอร์มที่มักเป็นบรรษัทข้ามชาติ เรื่อยมาจนถึงสำรวจความพร้อมของกฎหมายในการรองรับปรากฏการณ์การใช้ข้อมูลจากแพลตฟอร์มดิจิทัล ว่าสามารถบริหารจัดการให้เกิดการแบ่งปันข้อมูลดิจิทัลระหว
ทศพล ทรรศนพรรณ
ประเด็นพื้นฐานที่รัฐต้องคิด คือ จะส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมทางเทคโนโลยีเพื่อสะสมความมั่งคั่งได้อย่างไร แล้วจึงจะไปสู่แนวทางในการแบ่งปันความมั่งคั่งให้กับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการผลิตข้อมูลขึ้นมาในแพลตฟอร์ม
ทศพล ทรรศนพรรณ
Kean Birch นำเสนอปัญหาของข้อมูลส่วนบุคคลในฐานะสินค้าของตลาดนวัตกรรมเทคโนโลยีจำนวน 5 ประเด็น คือ1.ข้อมูลส่วนบุคคลเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของแพลตฟอร์มในฐานะเจ้าของข้อมูลทึ่ถูกรวบรวมโดยนวัตกรรม,