Skip to main content

ผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชน (Human Rights Defender – “นักปกป้องสิทธิมนุษยชน” คือ คำแปลทางการของรัฐไทย) ที่องค์การสหประชาชาติได้ให้นิยามไว้นั้นหมายถึง "บุคคลผู้ดำเนินการโดยลำพังหรือร่วมกับบุคคลอื่น กระทำการเพื่อส่งเสริมหรือคุ้ครองสิทธิมนุษยชน"

การทำงานของ ผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชน นั้นปรากฏได้ในทุกภูมิภาคของโลก ซึ่งไม่ว่าจะเป็นรัฐที่เป็นประชาธิปไตย หรือ รัฐเผด็จการ หรือในรัฐที่ที่เศรษฐกิจกำลังพัฒนา หรือ พัฒนาแล้วก็ตาม โดยผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนจะพยายามที่จะส่งเสริมและ คุ้มครอง สิทธิมนุษยชนในบริบทที่แตกต่างและความท้าทายที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นประเด็นการพัฒนา การอพยพ นโยบายในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง  ซึ่งเกี่ยวพันกับความสัมพันธ์เชิงอำนาจของผู้มีสถานะเหนือกว่ากับกลุ่มเสี่ยงที่มีอำนาจต่อรองน้อยกว่า บทบาทของผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนจึงเข้ามาหนุนเสริมกลุ่มเสี่ยงเปราะบางให้ได้รับความปลอดภัย กล้ามีส่วนร่วมในการตัดสินใจและกำหนดทิศทางพัฒนาการเมืองและปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคม

การทำงานของผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนเริ่มขึ้นจากการปกป้องสิทธิมนุษยชนหรือการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนชายขอบ ซึ่งมักเกิดจากการไม่เห็นด้วยต่อการกระทำของหน่วยงานภาครัฐ หรือหน่วยงานเอกชน ทั้งในเรื่องของผลประโยชน์ หรือการพยายามเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางของนโยบาย รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายที่เป็นการละเมิดสิทธิและสรึภาพของประชาชนมากจนเกินไป โดยหน่วยงานภาครัฐมักจะอ้างความชอบธรรมจากกฎหมายเพื่อให้อำนาจตนเอง ซึ่งเป็นการไปกระทบหรือละเมิดสิทธิและเสรีภาพของกลุ่มคนที่ออกมาเคลื่อนไหว ต่อประชาชนทั่วไป และต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนด้วย จากวิกฤตกาลที่เกิดขึ้นนี้จึงทำให้เกิดการยื่นข้อเสนอ และข้อเรียกร้องต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือสังคม

โดยกลุ่มที่มักทำหน้าที่ผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชน คือ นักกฎหมายทนายความ องค์กรพัฒนาเอกชน ผู้นำประชาชนและชุมชน นักวิชาการและนักศึกษา ซึ่งเป็น 4 กลุ่มหลักที่มักเข้าไปปกป้องกลุ่มเสี่ยงที่ตนทำงานร่วมกันอยู่ แต่ก็ยังมีอีกกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญนั่นคือ สื่อมวลชน แต่กลุ่มนี้มีสถานะพิเศษบางประการได้รับการคุ้มครองตามมาตรการเฉพาะและมีกลุ่มเครือข่ายและเครื่องมือในการปกป้องตนเองต่างไปจาก 4 กลุ่มข้างต้น จึงจะไม่ขอกล่าวถึงในบทความวิจัยนี้

ผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยต้องเผชิญกับการคุกคามในหลายรูปแบบเมื่อลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิของตนเองและชุมชน โดยในหลายกรณีพบว่าผู้นำมวลชน แกนนำชาวบ้านต้องเผชิญกับความรุนแรงที่มาจากการกระทำโดยเจ้าพนักงานของรัฐ และเมื่อมีการเรียกร้องสิทธิต่อกลไกเยียวยาสิทธิกลับไม่ได้รับการตอบสนองอย่างมีประสิทธิผลมากนัก ซ้ำร้ายในหลายกรณีผู้พิทักษ์สิทธิกลับต้องโทษในคดีอาญาหรือมีคดีความจากการยุทธวิธีใช้มาตรการทางกฎหมายปิดปากควบคุมการแสดงออกอีกด้วย การต่อสู้เพื่อสิทธิของผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนในหลายกรณีจึงต้องเป็นการเลือกเดินหน้าแต่แลกกับสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่อาจสูญเสียไปด้วย

สถานการณ์ในปัจจุบันของผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนต้องเผชิญกับ สถานการณ์สุ่มเสี่ยงหลาย ๆ อย่าง อาทิ 


การฆ่า (killings)  มักเป็นการตอบโต้โดยตรงอันเนื่องมาจากการทำงานในการพิทักษ์สิทธิมนุษยชน ซึ่งมักถูกลักพาตัวโดยผู้ที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้ หรือ ในบางกรณีถูกบังคับโดน ผู้ที่มีอำนาจด้านความมั่นคง โดยเมื่อหลังจากนั้นจะพบว่า ผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนเหล่านั้นเสียชีวิต หรือ ถูกทำให้หายไปอย่างไร้ร่องรอยโดยสมบูรณ์ส่วน การลอบสังหารมักเป็นความพยายามที่ทำให้ผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนได้รับบาดเจ็บสาหัสจนถึงขั้นต้องเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาล

การขู่ฆ่า (death threats) ในบางภูมิภาคบนโลกการขู่ฆ่าถือเป็นเรื่องที่ทำให้ ผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนต้องหยุดทำงานของตนเองโดยมักจะมาในรูปแบบของการโทรศัพท์ หรือ จดหมาย หรือในบางกรณีอาจจะเกิดขึ้นกับบุคคลที่เป็นที่รู้จักกับผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชน และด้วยความล่าช้าของนโยบายที่ส่งผล หรือ กระบวนการทางศาลที่ตอบสนองเกี่ยวกับ การฆ่า หรือ ขู่ฆ่าทำให้ สภาวะของการยกเว้นการรับโทษก่อให้เกิดการดำเนินซึ่งความรุนแรงนั้นเป็นไปอย่างถาวร

การทรมาน (torture) เป็นการกระทำที่ ผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนจะถูกกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐ หรือ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยโดยการลักพาตัวไปแล้วโจมตีหรือทำร้ายในขณะที่ถูกกักขังโดยความรุนแรงของการโจมตีทำร้ายมักจะทำเพื่อเป็นการทรมานผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนอันก่อให้เกิดการรับสารภาพที่เป็นเท็จซึ่งการโต้ตอบไปยังความรุนแรงที่เกิดขึ้นโดยเจ้าหน้าที่ความมั่นคงของผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชน

การคุกคาม (harassment) การคุกคามผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนถือเป็นเรื่องปกติแต่บ่อยครั้งมักถูกปล่อยปะละเลยมักไม่ได้มีการรายงานถึงความรุนแรงดังกล่าวนี้ และทุกครั้งการคุกคามจะเป็นการคุกคามโดยผู้ที่มีอำนาจ โดยการคุกคามมักจะปรากฏในรูปแบบของการเฝ้ามองผ่านกล้องวงจรปิด หรือ ผ่านโทรศัพท์ โดยส่วนใหญ่แล้ว ผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนมักได้รับความทนทุกข์ทรมานจากการคุกคามในเชิงบริหาร ส่งผลให้ในบางครั้งครอบครัวของผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนจำเป็นต้องย้ายที่อยู่โดยบ่อยครั้ง และในสถานการณ์ปัจจุบันการคุมคามต่อหน้า กลับมีความถี่เพิ่มมากขึ้น

การหมิ่นประมาท (defamation) ผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนมักจะเป็นเหยื่อของการหมิ่นประมาทโดยการกล่าวหาใส่ร้ายจากสื่อที่รัฐเป็นผู้ควบคุมสื่อที่อาจจะขัดต่อหลักศีลธรรมและจรรยาบรรณทำให้มีการเผยแพร่การละเมิดสิทธิมนุษยชนและการทำงานของผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนต่อสาธารณชนอย่างผิดๆ

ความมั่นคง (security) การร่างแนวนโยบายหรือการร่างกฎหมายตลอดจนกระบวนพิจารณาที่อ้างถึงเรื่องความมั่นคง กลายเป็นมาตรการในการสร้างข้อจำกัดสำหรับการทำงานของผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชน ซึ่งมักจะเป็นข้ออ้างในเรื่องความมั่นคงจนทำให้ผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนจำเป็นต้องออกจากถิ่นที่อยู่ของตนเองอีกทั้งการบังคับโดยอ้างเรื่องความมั่นคงยังทำให้ ผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนจำเป็นต้องเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่รัฐในการสั่งสืบสวนเกี่ยวกับกิจกรรมทางด้านสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ อันส่งผลให้ ผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนถูกดำเนินคดีและถูกลงโทษภายใต้กฎหมายความมั่นคงที่ยังมีความคลุมเครือและถูกตัดสินโทษให้จำคุก และในสถานการณ์ปัจจุบันผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนยังถูกลิดรอนความมั่นคงในลักษณะของการระงับการจ้างงาน

การจำกัดสภาพแวดล้อมสำหรับการทำงานของผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชน (restricting the environment in which human rights defenders operate) เป็นการสร้างข้อจำกัดในการทำงานเพื่อให้ ผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนทำงานได้ล่าช้าโดยอาจจะมีการปิดองค์กรเพื่อทำให้เงินทุนที่เหมาะสมสำหรับการทำงานลดลงหรือความพยายามในการลงทะเบียนองค์กรต่าง ๆ ที่ทำงานตามเป้าประสงค์ตามหลักสิทธิมนุษยชน ซึ่งมีกระบวนการตามระบบราชการที่ล่าช้าอย่างจงใจ และรวมไปถึง การปฏิเสธซึ่งเสรีภาพในการเคลื่อนไหวด้วยเช่นเดียวกัน

จากสถานการณ์วิกฤตที่ผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนต้องเผชิญ ย่อมส่งผลกระทบต่อชีวิตของเหล่าผู้พิทักษ์สิทธิในประเด็นเหล่านี้ คือ


1) วิกฤตความไว้วางใจอันเนื่องมาจากความขัดแย้งและความรุนแรงเชิงโครงสร้าง จุดกำเนิดความขัดแย้งมักจะเกิดจากข้อพิพาทระหว่างกลุ่มคน ประชาชน กับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ซึ่งเริ่มได้จากความไม่เข้าใจทิศทางของการทำงาน การกำหนดนโยบายที่ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิต ชุมนุม หรือในเรื่องการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองด้วยเช่นกัน ดังนั้น เมื่อเกิดการร้องเรียนเกิดขึ้น หน่วยงานรัฐและเอกชนมักไม่เลือกวิธีการไกล่เกลี่ย หรือแก้ไขปัญหาตามที่ร้องเรียนไป แต่กลับอาศัยอำนาจจากกระบวนการยุติธรรมเข้าต่อสู้ ซึ่งในบางครั้งก็ทำให้เกิดความรุนแรง และไม่เข้าใจกันมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งรัฐและเอกชนมักไม่สนใจต่อข้อเรียกร้องและมองในเรื่องของผลประโยชน์ นโยบายที่ต้องดำเนินการเป็นสำคัญ และกลุ่มที่ออกมาคัดค้าน โต้แย้งกลายเป็นบุคคลที่รัฐมองว่าสร้างความรุนแรง สร้างความเดือดร้อนเสียให้กับรัฐและเอกชนมากกว่าจะมองถึงปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริง
การจัดการของรัฐที่กลายเป็นปัญหาและอุปสรรค เช่น ในกรณีของกลุ่มคนอนุรักษ์ทรัพยากรและวิถีชีวิตชุมชนท้องถิ่นปรากฏว่า เมื่อชาวบ้านพยายามนำเอกสารหลักฐานต่าง ๆ สะท้อนไปยังหน่วยงานภาครัฐ แต่พบว่าข้อมูลดังกล่าวไม่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการหรือถูกกีดกันออกไปจากหน่วยงานภาครัฐ ส่งผลให้เกิดปัญหาในเรื่องการละเมิดสิทธิ การใช้ความรุนแรง ข่มขู่คุกคาม รวมถึงการตั้งค่าหัวแกนนำชาวบ้านด้วย  ในกรณีการเรียกร้องทางการเมืองระดับประเทศนั้นมักเกิดการปะทะกันในระหว่างของการจัดกิจกรรม ทำให้เกิดความวุ่นวาย เช่น เมื่อมวลชนฝ่ายหนึ่งชุมนุมและเดินขบวนมักมีมวลชลฝ่ายอื่นที่เข้ามาแสดงพลัง ทำให้ในบางครั้งก็ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ให้เป็นปกติได้    ยิ่งถ้ากลายเป็นคดีความทางกฎหมายคู่ความที่กลุ่มเสี่ยงต้องต่อสู้คดีด้วยเป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่มีอำนาจในระดับสูง ทั้งทหาร ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ทางการเมือง ทำให้การต่อสู้เป็นไปได้ยากและส่วนใหญ่มักจะต้องแพ้ต่ออำนาจที่มากกว่า เช่น การโดนแจ้งความในข้อหาต่าง ๆ ที่ไม่สมควร

2) วิกฤตต้นทุนในการทำงานและขับเคลื่อนขบวนการ กลยุทธ์หนึ่งที่ปรากฏให้เห็นบ่อยมาก และถือได้ว่าเป็นเครื่องมือสำคัญที่รัฐและบรรษัทใช้ในการปราบปรามกลุ่มเห็นต่างได้เป็นอย่างดี คือการฟ้องคดีในลักษณะการฟ้องคดีตบปาก (Strategic Lawsuits Against People Participation – SLAPP) โดยมีลักษณะ สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้ที่ตกเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลย สร้างภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินกระบวนการยุติธรรม การฟ้องคดีในพื้นที่ศาลที่ห่างไกล หรือการฟ้องคดีหลายศาล ทำให้จำเลยต้องหยุดงาน หรือหาค่าเดินทางเพื่อไปขึ้นศาล อีกทั้งการฟ้องคดีในลักษณะนี้เป็นการเบี่ยงเบนความสนใจของผู้คนได้เป็นอย่างดี จากเดิมที่ต้องให้ความสนใจต่อประเด็นที่เคลื่อนไหว หรือนักปกป้องสิทธิให้ความสำคัญ เมื่อถูกฟ้องคดีดำเนินคดี การตั้งข้อกล่าวหา หรือการนำตัวนักปกป้องสิทธิเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมกลับกลายเป็นประเด็นที่ผู้คนให้ความสนใจมากยิ่งขึ้น และประเด็นที่ขับเคลื่อนอยู่นั้นก็ถูกลดความสนใจลง ผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนและกลุ่มเสี่ยงที่ถูกฟ้องคดีตบปาก เช่น กรณีของขบวนการต้านเขื่อนราศีไศลนั้นระหว่างกระบวนการพิจารณาคดี มีการเปลี่ยนวิธีการนัดจากเดิมที่นัดล่วงหน้าครั้งต่อครั้ง เป็นการนัดต่อเนื่องและมีการโยกย้ายโอนคดีไปสืบตามจังหวัดต่าง ๆ ซึ่งทำให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายในการขึ้นศาลในหลายจังหวัดทั่วประเทศ  และในกรณีของทนายความสิทธิมนุษยชนศิริกาญจน์ เจริญศิริ เกิดการเลื่อนนัดพิจารณาคดีจากทางฝ่ายโจทก์มากถึง 8 ครั้ง ทำให้เกิดค่าใช้จ่าย และกระทบต่อการทำงานจากกระบวนการยุติธรรมที่ยืดเยื้อ    โดยการดำเนินคดีในลักษณะนี้ได้กีดกันคนจำนวนมากออกไปจากขบวนการเคลื่อนไหวเนื่องจากไม่ต้องการรับภาระในการต่อสู้คดี และเป็นการลดกำลังของกลุ่มเสี่ยงในการขับเคลื่อนขบวนการเพราะต้องมาเสียสมาธิกับการต่อสู้คดีฟ้องตบปาก

3) วิกฤตส่วนตนของคนที่ต้องแบกรับความกดดันทางจิตใจ ในหลายกรณีที่ปรากฏว่าผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนหรือกลุ่มนักเคลื่อนไหวถูกคุมคามจากหน่วยงานรัฐและเอกชน โดยการบังคับใช้กฎหมายของรัฐทำให้เกิดการสร้างบรรยากาศความกลัวขึ้นได้อย่างมาก หากประเด็นที่กำลังเคลื่อนไหวนั้นเป็นเรื่องละเอียดออก เช่น ประเด็นทางการเมือง ประเด็นที่เกี่ยวกับสถาบันหลักของชาติ หรือประเด็นทางด้านสิ่งแวดล้อมที่ชาวบ้านถูกข่มขู่คุกคาม ก็สร้างความหวาดระแวงให้กับชาวบ้านที่ออกมาเคลื่อนไหวได้เช่นเดียวกัน ปัญหาที่กระทบต่อสภาพจิตใจทั้งกลุ่มตัวผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนเอง และยังเกิดผลกระทบต่อคนรอบข้างด้วย เช่น กรณีของ ไผ่ ดาวดิน ที่เจ้าตัวจำต้องเลือกระหว่างสู้คดีเพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ของตัวเอง หรือรับสารภาพให้โทษลดลงเพื่อความสบายใจของครอบครัวและคนรอบข้าง  หรือในกรณีของทนายอานนท์ นำพา ที่ต้องเจอกับเรื่องการถูกข่มขู่จากบุคคลของรัฐและบุคคลไม่ทราบสังกัดเป็นจำนวนมากและบ่อยครั้ง รวมถึงต้องเห็นสถานการณ์ที่คนรอบตัว เพื่อน เข้าคุกไปเป็นจำนวนมาก และอีกครึ่งหนึ่งหายไปนอกประเทศ ทำให้เกิดภาวะความเครียดสะสม

4) วิกฤตในหน้าที่การงาน ปัญหาอีกประการที่ผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนเผชิญร่วมกัน คือ การดำเนินชีวิตประจำวันมีความยากลำบากมากขึ้นได้รับผลกระทบจากกิจกรรมที่ได้เสี่ยงเข้าไปปกป้องกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะเกี่ยวกับอาชีพการทำงาน ซึ่งพบว่า ในกรณีของทนายความ ส่งผลกระทบต่อการความเชื่อถือในอาชีพ การยื่นขอต่อใบอนุญาตทนายความ นักพัฒนาเอกชนที่ทำหน้าที่เป็นผู้เผยแพร่ข้อมูลสู่สาธารณชนก็ประสบปัญหาด้านสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก ในหลายกรณีการเผยแพร่ข้อมูลก็ถูกแทรกแซงควบคุม หรือถูกกำกับเนื้อหาการทำงานและเกรงว่าจะถูกดำเนินคดี หรือตกอยู่ในภาวะหวาดระแวงได้
จากวิกฤตทั้ง 4 ประการสะท้อนให้เห็นข้อพิสูจน์ว่า ผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนมิอาจเกิดขึ้น ดำรงการต่อสู้เพื่อผู้อื่นได้ง่าย หากปราศจากโครงสร้างของรัฐที่ปกป้องการทำงานให้ปลอดภัย ซ้ำกระบวนการยุติธรรมที่ขาดกลไกคัดกรองคดีความฟ้องปิดปากยังเพิ่มต้นทุนให้กับผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนในการเลือกนำเสนอประเด็นสู่สาธารณะและส่งผลสะเทือนไปถึงประชาชนทั่วไปให้หวาดกลัวมิกล้าแสดงออกในประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรัฐและบรรษัท เมื่อไม่มีแนวทางในการส่งเสริมการทำงานของผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนในระดับโครงสร้าง ย่อมเป็นการผลักภาระให้ผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนแต่ละคนต้องแบกรับภาระกดดันไว้เองและสุ่มเสี่ยงว่าจะต้องเสียสละและสูญเสียโอกาสในการใช้ชีวิตประจำวันและการทำงาน  ด้วยอุปสรรคเหล่านี้ย่อมส่งผลในระยะยาวขัดขวางมิให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มีความห่วงใยเพื่อนมนุษย์ตัดสินใจเข้าร่วมกิจกรรมสาธารณะในลักษณะพิทักษ์สิทธิมนุษยชนเพราะมีต้นทุนที่ต้องแลกสูง

แนวทางในการส่งเสริมการทำงานของผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนให้มีประสิทธิภาพเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนภายใต้บริบทของเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศที่เชี่ยวกรากและนโยบายความมั่นคงทางสังคมของรัฐและประชาคมระหว่างประเทศตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนที่ผูกมัดรัฐอยู่ โดยแนวทางในการพัฒนาโครงสร้างและการปฏิบัตินั้นบทความวิจัยนี้ทดลองเสนอแนวทางเพื่อผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนของสหภาพยุโรป  เนื่องจากเป็นแนวทางที่มุ่งปรับโครงสร้างของรัฐและพัฒนากลไกคัดกรองในกระบวนการยุติธรรมเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับการทำงานของผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชน ทั้งนี้อาจนำมาปรับใช้เสริมสร้างศักยภาพให้กับรัฐไทยและการทำงานของผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนได้ คือ


1) การทบทวนสถานการณ์โดยการเฝ้าติดตาม การรายงาน และการประเมินผล รัฐควรจัดเตรียมรายงานประจำปี เพื่อรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศโดยในตัวรายงานจะระบุถึงสถานการณ์ของผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนในประเด็นการถูกคุกคามและถูกโจมตี เพราะว่ากรอบทำงานเชิงสถาบันจะกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความสามารถในการทำงานได้อย่างปลอดภัย และในประเด็นอื่นไม่ว่าจะเป็นในเรื่อง การตรากฎหมาย หรือ กระบวนการทางศาล รวมถึง วิธีทางปกครองต่าง ๆ อันเป็นหน้าที่ของรัฐ เพื่อป้องกันบุคคลไม่ให้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือจำเป็นต้องมีการตอบโต้เมื่อถูกคุกคาม และทั้งในทางพฤตินัยหรือนิตินัยก็ตาม การเลือกประติบัติ การสร้างแรงกดดัน หรือ การกระทำตามอำเภอใจที่ลดความสามารถในการทำงานของผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชน ซึ่งรายงานดังกล่าวจะแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการทำงานของรัฐต่อประเด็นต่าง ๆ  เหล่านั้นอย่างเหมาะสมหรือไม่เพียงใด


2) บทบาทขององค์กรกึ่งตุลาการในการสนับสนุนและคุ้มครองผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชน องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญถือเป็นผู้ประสานระหว่างกลุ่มเสี่ยง รัฐบาลและรัฐสภา ต่างจากตัวผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนที่จะต้องดำเนินงานด้วยตนเองทำให้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนจำเป็นต้องแนะนำแนวทางตามกฎหมายและนโยบายของรัฐให้แก่ผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนซึ่งภารกิจของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนประกอบไปด้วย  การให้ความร่วมมืออย่างใกล้ชิดรวมถึงแบ่งปันข้อมูลและความเสี่ยงให้แก่ผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชน ดูแล ติดตามผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนอย่างเหมาะสม โดยรวมไปถึงการรับภารกิจและการเข้าไปเยี่ยมชมพื้นที่ในการปฏิบัติงานพร้อมจัดหาสิ่งจำเป็นต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์  จัดเตรียมการสนับสนุนที่เหมาะสมอันจะก่อให้เกิดการตระหนักถึงผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนได้อย่างชัดแจ้ง เข้าร่วมสังเกตุการณ์อย่างเหมาะสมตลอดจนเข้าไปร่วมฟังการพิจารณาคดีความที่เกี่ยวกับผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชน


3) สนับสนุนกระบวนการพิเศษของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ รวมไปถึงผู้ตรวจการพิเศษสำหรับผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชน การสนับสนุนกระบวนการพิเศษเป็นความพยายามในการคุ้มครองผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนในทางระหว่างประเทศเพราะด้วยความเป็นอิสระและเป็นกลาง ทำให้กระบวนการพิเศษของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติกลายเป็นกระบอกเสียงสำคัญในการต่อต้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วย  รัฐพึงยอมรับเป็นการทั่วไปในหลักการที่ถูกร้องขอสำหรับประเทศที่ถูกกระบวนการพิเศษเฝ้าติดตาม  ส่งเสริมภารกิจด้านผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชน หรือ ชุมชนสิทธิมนุษยชนท้องถิ่น ขององค์การสหประชาชาติ และอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงช่องทางติดต่อแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกลไกสำคัญกับผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชน รัฐอาจสนับสนุนการจัดสรรทุนที่เพียงพอเพื่อให้บรรลุเป้าประสงค์ของกระบวนการพิเศษโดยเป็นการสนับสุนับทุนทั่วไปไปยังสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ


4) การสนับสนุนการปฏิบัติสำหรับผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนผ่านแนวนโยบายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ในหลักการการสนับสนุนการปฏิบัติการของชาติมักมีเป้าประสงค์เพื่อช่วยพัฒนากระบวนการและสถาบันประชาธิปไตยภายในประเทศและส่งเสริมคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเทศที่กำลังพัฒนาให้ขยายเพิ่มมากขึ้นโดยแนวทางปฏิบัติที่ได้รับการสนับสนุนยังรวมไปถึง แผนงานทวิภาคีระหว่างสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย ของรัฐเพื่อเป็นการช่วยเหลือการพัฒนาสถาบันและกระบวนการทางประชาธิปไตยไปพร้อมกับส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเทศอื่นที่มีความสัมพันธ์ รวมถึงสนับสนุนผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนผ่านกิจกรรมเพื่อสร้างการรับรู้สาธารณะ ส่งเสริมและสนับสนุนให้สังคมยอมรับในเรื่องการทำงาน ซึ่งองค์ประกอบในรัฐจะต้องส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนโดยรับเอาหลักการปารีสมาปรับใช้ รวมไปถึง สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน หรือ คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน  ช่วยเหลือและรับรองว่าผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนในประเทศที่สามสามราถเข้าถึงแหล่งทรัพยากรต่าง ๆ ให้การรับรองว่า จะมีการส่งเสริมให้เกิดแผนการเรียนรู้ด้านสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะคู่มือคุ้มครองผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชน


บทเรียนการทำงานของผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนที่เต็มไปด้วยภัยคุกคามทั้งจากรัฐและบรรษัทสะท้อนให้เห็นความต้องการมาตรการทางกฎหมายและกลไกบังคับตามที่ คอยตรวจตราและพร้อมจะเข้าคุ้มครองผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนที่ทำหน้าที่ปกป้องกลุ่มเสี่ยงอยู่ ด้วยมาตรการเชิงรุกมากขึ้น โดยมาตรการเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการปรับโครงสร้างของรัฐให้สอดรับกับปัญหาที่ปรับเปลี่ยนไปตามยุทธศาสตร์ของบรรษัทและหน่วยงานรัฐที่เปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ และเฝ้าระวังภัยคุกคามอย่างสม่ำเสมอ   ทั้งยังต้องมีองค์กรที่พร้อมให้ความช่วยเหลือผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนในสถานการณ์วิกฤต

 

บล็อกของ ทศพล ทรรศนพรรณ

ทศพล ทรรศนพรรณ
มาตรการสำหรับการแก้ปัญหาความอดอยากหิวโหยที่เกิดจากภัยพิบัติธรรมชาตินั้นสามารถดำเนินการได้ใน 3 ช่วงเวลา ก็คือ การเตรียมตัวก่อนภัยพิบัติจะเกิด การบรรเทาและแก้ไขปัญหาในขณะเกิดภัยพิบัติ การเยียวยาและฟื้นฟูหลังภัยพิบัติผ่านไปแล้ว   ในบทความนี้จะนำเสนอมาตรการและกรณีศึกษาที่ใช้ในการขจัดความหิว
ทศพล ทรรศนพรรณ
มาตรการทั่วไปที่ใช้ในการประกันความอิ่มท้องของประชากรในประเทศตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติที่รัฐบาลไทยประกาศสมาทานยึดถือนั้น ตั้งอยู่บนหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนเรื่องสิทธิด้านอาหาร นั้นหมายถึงรัฐไทยต้องมีมาตรการเคารพ ปกป้อง และส่งเสริมสิทธิประกอบด้วย กรอบทางกฎหมาย   กรอบทางนโย
ทศพล ทรรศนพรรณ
อุดมการณ์ที่เป็นสาเหตุของปัญหาแรงงานที่เกิดขึ้นทั่วโลกอยู่นั้น มีจุดก่อตัวมาจากระบบเศรษฐกิจการเมืองแบบเสรีนิยมใหม่ที่เข้ามาพร้อม ๆ กับกระแสแห่งการพัฒนาของโลกยุคโลกาภิวัฒน์ ที่ทำให้เกิดเสรีทางการลงทุนจนนำมาซึ่งรูปแบบการจ้างงานรูปที่มีความยืดหยุ่นต่อการบริหารจัดการของบรรษัท และสามารถตอบโจทย์นักลงทุ
ทศพล ทรรศนพรรณ
การขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินจำเป็นต้องวางแผนในการดำเนินการด้วยความเข้าใจพื้นฐานที่ว่า ความขัดแย้งเป็นสิ่งธรรมดาสามัญที่เกิดขึ้นได้ หากต้องการผลักดันข้อบัญญัติท้องถิ่นให้สำเร็จจึงต้องสามารถทำความเข้าใจลักษณะของข้อพิพาทที่มักเกิดขึ้นในการจัดการที่ดิน   และมีแนวทางในการข
ทศพล ทรรศนพรรณ
 ลู่ทางส่งเสริมการการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแก้ปัญหามลพิษ มีดังต่อไปนี้
ทศพล ทรรศนพรรณ
ปัญหาสิ่งแวดล้อมมักสร้างผลกระทบในระยะยาว ไม่ได้เกิดการบาดเจ็บ เสียหาย ทันทีทันใด   ดังนั้นเราจึงต้องมีวิธีการพิสูจน์ว่าความเจ็บป่วย เสียหายที่เกิดขึ้นนั้นมีผลมาจากปัญหาสิ่งแวดล้อมจริง   สิ่งที่เราต้องทำคือการเก็บหลักฐานอย่างต่อเนื่องและชัดเจนเพื่อนำไปใช้เป็นพยานหลักฐาน &n
ทศพล ทรรศนพรรณ
การจัดชุมนุมสาธารณะย่อมเป็นที่สนใจของสังคมตามความประสงค์ของผู้จัด จึงมีสื่อมวลชนที่เข้าร่วมทำข่าวทั้งที่เป็นสื่อมวลชนอาชีพที่มีสังกัดประจำหรือสื่อพลเมืองที่ทำหน้าที่ติดตามสถานการณ์และรายงานข่าวตามภูมิทัศน์เทคโนโลยีสื่อสารที่ปรับตัวไป 
ทศพล ทรรศนพรรณ
การชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธมีข้อจำกัดที่อาจถูกรัฐเข้าระงับหรือแทรกแซงการใช้สิทธิได้ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 4 ในสภาวะฉุกเฉินสาธารณะที่คุกคามความอยู่รอดของชาติที่ถูกประกาศอย่างเป็นทางการ และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักไทย พุทธศักราช 2560 กำหนดถึงเหตุที
ทศพล ทรรศนพรรณ
การชุมนุมโดยสงบเป็นเครื่องมือที่ทำให้บุคคลทั้งหลายสามารถแสดงออกร่วมกันและมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลง ให้ปัจเจกสามารถแสดงความเป็นตัวตนของตัวเองร่วมกับผู้อื่น   โดยการเลือกสถานที่การชุมนุมอยู่ภายใต้หลักมองเห็นและได้ยิน (sight and sound) ทั้งนี้ผู้ชุมนุมต้องอยู่ในที่ที่มองเห็นและสาธารณชนต้อ
ทศพล ทรรศนพรรณ
ขบวนการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้น ในบริบทโครงสร้างทางอำนาจในสังคมที่ไม่เท่าเทียมกัน การรวมศูนย์อำนาจหรือการครอบงำทางวัฒนธรรมโดยใช้วัฒนธรรมเดียว สิทธิชุมชนจึงเป็นการต่อสู้เพื่อปรับสัมพันธภาพทางอำนาจ สร้างตำแหน่งแห่งที่ให้ชุมชนให้เกิดความเป็นธรรมและเคารพในความหลากหลาย โดยท้องถิ่นมีเสรีภาพในการกำหนดกติกา
ทศพล ทรรศนพรรณ
ข้อกล่าวอ้างสำคัญของรัฐบาลไทยในการเพิ่มศักยภาพในด้านข่าวกรองและออกกฎหมายที่ให้อำนาจสอดส่องการสื่อสารของประชาชน คือ “ถ้าประชาชนไม่ได้ทำผิดจะกลัวอะไร” โดยมิได้คำนึงหลักการพื้นฐานเบื้องต้นว่า แม้ประชาชนมิได้ทำผิดกฎหมายอันใดก็มีสิทธิความเป็นส่วนตัว ปลอดจากการแทรกแซงการสื่อสาร อันเป็นสิทธิพื้นฐานตามกฎ
ทศพล ทรรศนพรรณ
การพัฒนารัฐที่ใช้กฎหมายเป็นหลักประกันสิทธิมนุษยชนของประชาชน และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของพลเมืองในประเด็นสาธารณะของผู้ตื่นตัวทางการเมืองในลักษณะ “นิติรัฐอย่างเป็นทางการ” แตกต่างจากความสัมพันธ์ทางอำนาจแบบ “ไม่เป็นทางการ” ที่รัฐอาจหลีกเลี่ยงการใช้อำนาจปกครองภายใต้กรอบของกฎหมายเพื่อประกันสิทธิเสรีภาพต