Skip to main content

 ลู่ทางส่งเสริมการการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแก้ปัญหามลพิษ มีดังต่อไปนี้

1) การปรับโครงสร้างองค์กรในพื้นที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วม   การจัดโครงสร้างขององค์กรแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยให้ความสำคัญกับปัญหาความเดือดร้อนในพื้นที่ของประชาชนซึ่งตกเป็นคนชายขอบของการพัฒนาอยู่เสมอ   ดังนั้นจึงจำเป็นต้องปรับโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานในพื้นที่มากกว่าการปรับโครงสร้างอำนาจหน้าที่ของหน่วยงาน เรื่องการจัดตั้งองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมขึ้นเพื่อช่วยตรวจตราและวางนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ว่าจะมีการจัดคณะอนุกรรมการในระดับจังหวัดเพื่อช่วยสอดส่องดูแลปัญหาในระดับพื้นที่เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจขององค์กรในส่วนกลาง


2) การบูรณาการอำนาจหน้าที่องค์กรแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมให้ทำงานได้เบ็ดเสร็จ   กฎหมายที่ใช้แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมมีหลายฉบับ   ดังนั้นจึงจำเป็นต้องบูรณาการโครงสร้างอำนาจรัฐให้เป็นหนึ่งเดียว (one-stop service) ในการแก้ไขปัญหาแต่ละประเด็นเพื่อลดขั้นตอนการตัดสินใจหรือเดินเรื่อง เพื่อให้มีการแก้ปัญหาและเยียวยาสิทธิให้กับประชาชนได้สะดวก รวดเร็วกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน   เช่น   การสร้างเอกภาพในการกำหนดอัตราการปล่อยมลพิษในพื้นที่หนึ่งๆ โดยนำเรื่องมาตรฐานการปล่อยมลพิษรวม (Carrying) มาใช้  อาจต้องคำนึงถึงการบูรณาการศาลสิ่งแวดล้อม หรือองค์กรระงับข้อพิพาทในพื้นที่ด้วยด้วย

3) การส่งเสริมประชาชนให้เข้าถึงข้อมูลข่าวสารของราชการ อาศัยอำนาจของพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ   ส่วนอีกวิธีเป็นการอาศัยวิธีพิจารณาคดีของ ศาลปกครอง   เนื่องจากศาลปกครองใช้ระบบไต่สวน   ดังนั้นศาลจึงมีบทบาทในกระบวนพิจารณาคดีสูง และสามารถเข้าแทรกแซงในกระบวนการแสวงหาพยานหลักฐานได้   ดังนั้นเราอาจใช้ประโยชน์จากบทบาทของศาลในระบบนี้ให้เป็นคุณต่อการเข้าถึงข้อมูลพยาน หลักฐานที่อยู่ในการครอบงำของรัฐ

4) การส่งเสริมประชาชนให้เข้าถึงพยานหลักฐานที่อยู่ในครอบครองของเอกชน   สิ่งที่ต้องทำคือการเก็บหลักฐานอย่างต่อเนื่องและชัดเจนเพื่อนำไปใช้เป็นพยานหลักฐาน   ซึ่งการเก็บพยานหลักฐานเพื่อเรียกร้องสิทธิมีข้อแนะนำดังต่อไปนี้    จดบันทึกเวลาสถานที่ซึ่งพบปัญหา   ทำให้พยานหลักฐานเกี่ยวกับเวลาสถานที่หนักแน่นขึ้นได้ ด้วยการแจ้งหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง   ถ้าเป็นการปล่อยออกจากโรงงานก็ถ่ายให้เห็นว่าออกมาจากโรงงานใด   เก็บตัวอย่างน้ำเสีย ขยะ  หรืออากาศพิษ อาจทำให้มีน้ำหนักมากขึ้นด้วยการเรียกให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาตรวจเก็บตัวอย่างไป   การบาดเจ็บล้มป่วยควรจะเก็บหลักฐานการรักษาพยาบาลไว้อย่างละเอียด   ถ้าเป็นไปได้ควรจดบันทึกพร้อมเก็บบิลค่าใช้จ่าย และถ่ายสำเนาการวินิจฉัยของแพทย์ ใบรับรองแพทย์ ถ้าเป็นไปได้ควรไปพบแพทย์ชีวอนามัย   หากมีพยานหลักฐานจากภายในสถานประกอบการให้เก็บรักษาไว้อย่างดี   แจ้งหน่วยงานของภาครัฐให้แก้ไขปัญหาต้องมีการเก็บสำนวนคำร้อง และติดตามว่าหน่วยงานเพิกเฉย ละเลย หรือปฏิบัติงานล่าช้าหรือไม่   ถ้าใช่อาจต้องมีการร้องเรียนไปยังผู้ตรวจการแผ่นดิน หรือฟ้องร้องไปยังศาลปกครองได้   ร้องเรียนไปยัง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนให้เข้ามาตรวจดูการละเมิดสิทธิของผู้ประกอบการได้   และฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายไปยังศาลยุติธรรมได้

5) การปรับระบบการฟ้องร้องคดีในชั้นศาลเพื่อการพิสูจน์ความผิดและความเสียหาย การพิสูจน์ความผิดและความเสียหายในคดีสิ่งแวดล้อมโดยรับเอาแนวคิดกฎหมายสิ่งแวดล้อมสมัยใหม่มาใช้ อาทิ  การรับเอาแนวคิดเรื่องความเสียหายของผู้ได้รับสารพาหะแต่อาการยังไม่ปรากฏมาปรับใช้   พัฒนาการกำหนดความเสียหายในเชิงลงโทษให้เข้าสู่ระบบกฎหมายของไทย   ควรมีการสร้างบัญชีรายชื่อผู้เชี่ยวชาญเพื่อเป็นการสร้างเครือข่ายในการทำงาน   การระงับข้อพิพาททางสิ่งแวดล้อมอาจมีข้อพิจารณาปรับปรุงกฎหมายให้มีกระบวนการหรือองค์กรระงับข้อพิพาทในพื้นที่    การนำระบบกองทุนสิ่งแวดล้อมเข้ามาสนับสนุนการเรียกร้องสิทธิของประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาสิ่งแวดล้อม 

6) การนำระบบฟ้องคดีแบบกลุ่มมาใช้ (Class Action) การนำระบบฟ้องคดีแบบกลุ่มมาใช้กับข้อพิพาททางสิ่งแวดล้อมโดยยอมรับ “หลักการดำเนินคดีโดยผู้แทนคดี”  เพื่อเปิดโอกาสให้แต่งตั้งผู้อื่นขึ้นมาดำเนินคดีแทนตัวผู้เสียหายได้   เมื่อนั้นจึงจะสามารถแต่งตั้งบุคคลอื่นขึ้นเป็นคู่ความผู้ดำเนินคดีแทนกลุ่มได้    ซึ่งมีแนวโน้มว่าอาจต้องอาศัยบุคคลภายนอกผู้มีประสบการณ์หรือมีความเข้มแข็งเข้ามาช่วยในลักษณะของ การฟ้องคดีของพลเมืองผู้ได้รับผลกระทบทางอ้อม (Citizen Suit)

7) การใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์จัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม  การนำเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์มาช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยแนวคิดต่าง ๆ ที่ควรนำมาปรับใช้เพื่อพัฒนากฎหมายสิ่งแวดล้อมได้แก่   ค่าธรรมเนียมการอนุญาต (Administrative Fees) ค่าธรรมเนียมการใช้ (User Fees, User Charges) ค่าปรับ    ค่าภาษีมลพิษ (Pollution Tax, Pollution Fees) ใบอนุญาตปล่อยมลพิษ (Pollution Permits) ค่าธรรมเนียมผลิตภัณฑ์ (Product Surcharge)  อัตราภาษีที่แตกต่าง (Tax Differentiation) ระบบมัดจำคืนเงิน (deposit-refund system) การวางเงินประกันความเสียหาย (Performance Bond)  การให้เงินอุดหนุน (Subsidy)

8) การปรับระบบประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ   การปรับระบบประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น โดยเข้าถึงข้อมูล แสดงความคิดเห็นในทุกระดับ และตรวจสอบการทำตามแผน    อันจะเป็นประโยชน์กับโครงการหลายประการ อาทิ เกิดทางเลือกใหม่และพิจารณาอย่างรอบคอบ ลดค่าใช้จ่ายและการสูญเสียเวลา สร้างฉันทามติทางการเมืองร่วมกันและเกิดความชอบธรรม ลดความขัดแย้งเมื่อถึงขั้นตอนปฏิบัติ

9) มาตรการคุ้มครองเยียวยาในพื้นที่ประสบปัญหา   การกำหนดให้มีแนวนโยบายการโยกย้ายถิ่นฐานและมีการจ่ายค่าชดเชยให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ หากการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมทางสังคมบ่งชี้ว่าโครงการจะสร้างผลกระทบแก่ประชาชนอย่างรุนแรงกว้างขวางจนต้องมีการอพยพถิ่นที่อยู่ของประชากร หรือมีการเวนคืนและการจ่ายค่าเสียหาย ก็จำเป็นต้องทำรายละเอียดให้เหมาะสมกับผลกระทบจริงที่เกิดขึ้น รวมถึงกำหนดแผนการตั้งถิ่นฐานใหม่และกำหนดค่าชดเชย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเสี่ยงพิเศษ

10) การจัดระบบระงับข้อพิพาทในพื้นที่พิเศษ การจัดตั้งระบบระงับข้อพิพาทในพื้นโดยยึดหลักการ 3 ประการ คือ   การเปิดโอกาสให้เอกชนผู้เสียหายทั้งหลายสามารถเข้าร่วมดำเนินคดีแบบกลุ่มได้   การเปิดโอกาสให้องค์พัฒนาเอกชน หรือผู้ได้รับผลกระทบทางอ้อมริเริ่มนำคดีเข้าสู่กระบวนการระงับข้อพิพาทได้   การใช้กระบวนวิธีพิจารณาแบบไต่สวนที่ทำให้มีการเข้าถึงพยานหลักฐานได้อย่างกว้างขวางโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายขององค์กรระงับข้อพิพาท

11) การสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังปัญหาแบบมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย   การนำเอาระบบการริเริ่มคดีโดยผู้ที่ได้รับผลกระทบทางอ้อมฟ้องแทนผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง (Citizen Suit) มาปรับใช้ในประเทศไทย เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่มิได้มีผลเสียหายจากปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยตรงสามารถนำเรื่องดังกล่าวขึ้นฟ้องร้องต่อศาลได้    ก็จะช่วยเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนและประชาสังคมยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือกลุ่มผู้ได้รับความเดือดร้อน

12) การส่งเสริมความเข้มแข็งของภาคประชาชน   การเปิดโอกาสให้องค์กรภาคประชาชนเข้าถึงการสนับสนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อมได้ง่ายขึ้นมีอุปสรรคน้อยลงการช่วยเหลือในด้านความรู้และคำปรึกษาด้านกฎหมาย โดยรูปแบบที่เป็นไปได้ คือ การจัดตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาทางกฎหมาย (ไม่จำกัดเฉพาะกฎหมายสิ่งแวดล้อมแต่ครอบคลุมถึงปัญหาอื่น ๆด้วย) ในพื้นที่

13) องค์กรของรัฐไม่ว่าฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหารและฝ่ายตุลาการจะต้องมีความเห็นร่วมกันว่าปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและมลพิษที่เกิดขึ้นนั้นเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ การดำเนินการในเรื่องเหล่านี้ต้องมีลักษณะพิเศษ   ฝ่ายบริหารจะต้องมีนโยบายที่ชัดเจนมากขึ้นในการดำเนินการเรื่องปัญหามลพิษว่าจะมีทิศทางอย่างไรเพื่อให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองสามารถที่จะบังคับใช้กฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ฝ่ายนิติบัญญัติจะต้องตรากฎหมายที่มีประสิทธิภาพในการจัดการมลพิษและเสริมสร้างการมีส่วนร่วมที่มากขึ้น

14) โครงการใดที่อาจส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม ฝ่ายนิติบัญญัติจะต้องบัญญัติกฎหมายกำหนดกระบวนการที่เข้มข้นมากกว่าโครงการทั่วไป   รวมถึงนโยบายของฝ่ายบริหารที่ต้องสร้างความมั่นใจให้กับเจ้าหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายและต้องให้ความคุ้มครองกระบวนการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ทางปกครองที่ผิดพลาดโดยเฉพาะการดำเนินการของพนักงานควบคุมมลพิษ

15) โครงการที่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจะต้องให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมทั้งก่อนการอนุญาตให้ดำเนินโครงการและภายหลังจากการดำเนินโครงการไปแล้ว   กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในการพิจารณาอนุมัติอนุญาตจะต้องมีการให้ข้อมูลของโครงการอย่างรอบด้าน และเปิดโอกาสให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นในการคัดค้านโครงการ หลังจากการรับฟังความคิดเห็นแล้วภาครัฐต้องจัดทำรายงานความคิดเห็นของประชาชนทั้งข้อสรุป ข้อโต้แย้ง แล้วเผยแพร่ให้ประชาชนได้รับทราบรวมทั้งต้องสร้างหลักประกันว่ารายงานความคิดเห็นของประชาชนจะได้นำไปใช้ประกอบการพิจารณาของเจ้าหน้าที่รัฐในการพิจารณาออกคำสั่งอนุมัติอนุญาตว่าได้อาศัยรายงานแสดงความคิดเห็นประกอบการพิจารณาอนุมัติอนุญาตและถ้าเจ้าหน้าที่จะอนุมัติอนุญาตก็ต้องมีเหตุผลที่รับฟังได้ในการหักล้างกับรายงานความคิดเห็นของประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว

16) ปรับมาตรการตามกฎหมายไทยโดยอิงหลักผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่ายอย่างได้สัดส่วนกับความเสียหาย   การกำหนดมาตรฐานมลพิษในแต่ละเรื่องให้เป็นมาตรฐานเดียวกันจึงควรมีการประสานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง   การเพิ่มอำนาจให้แก่เจ้าพนักงานควบคุมมลพิษในการควบคุมมลพิษให้มีประสิทธิภาพโดยการมีบทลงโทษในกรณีของการฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงาน

17) ปรับมาตรการตามกฎหมายไทยโดยอิงหลักการป้องกันความเสียหายล่วงหน้าไว้ในกระบวนการตัดสินใจทุกระดับ


เรียบเรียงจาก
โครงการศึกษาเพื่อจัดทำข้อเสนอในการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมในเขตมาบตาพุดและจังหวัดระยอง, นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2551.

บล็อกของ ทศพล ทรรศนพรรณ

ทศพล ทรรศนพรรณ
มาตรการสำหรับการแก้ปัญหาความอดอยากหิวโหยที่เกิดจากภัยพิบัติธรรมชาตินั้นสามารถดำเนินการได้ใน 3 ช่วงเวลา ก็คือ การเตรียมตัวก่อนภัยพิบัติจะเกิด การบรรเทาและแก้ไขปัญหาในขณะเกิดภัยพิบัติ การเยียวยาและฟื้นฟูหลังภัยพิบัติผ่านไปแล้ว   ในบทความนี้จะนำเสนอมาตรการและกรณีศึกษาที่ใช้ในการขจัดความหิว
ทศพล ทรรศนพรรณ
มาตรการทั่วไปที่ใช้ในการประกันความอิ่มท้องของประชากรในประเทศตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติที่รัฐบาลไทยประกาศสมาทานยึดถือนั้น ตั้งอยู่บนหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนเรื่องสิทธิด้านอาหาร นั้นหมายถึงรัฐไทยต้องมีมาตรการเคารพ ปกป้อง และส่งเสริมสิทธิประกอบด้วย กรอบทางกฎหมาย   กรอบทางนโย
ทศพล ทรรศนพรรณ
อุดมการณ์ที่เป็นสาเหตุของปัญหาแรงงานที่เกิดขึ้นทั่วโลกอยู่นั้น มีจุดก่อตัวมาจากระบบเศรษฐกิจการเมืองแบบเสรีนิยมใหม่ที่เข้ามาพร้อม ๆ กับกระแสแห่งการพัฒนาของโลกยุคโลกาภิวัฒน์ ที่ทำให้เกิดเสรีทางการลงทุนจนนำมาซึ่งรูปแบบการจ้างงานรูปที่มีความยืดหยุ่นต่อการบริหารจัดการของบรรษัท และสามารถตอบโจทย์นักลงทุ
ทศพล ทรรศนพรรณ
การขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินจำเป็นต้องวางแผนในการดำเนินการด้วยความเข้าใจพื้นฐานที่ว่า ความขัดแย้งเป็นสิ่งธรรมดาสามัญที่เกิดขึ้นได้ หากต้องการผลักดันข้อบัญญัติท้องถิ่นให้สำเร็จจึงต้องสามารถทำความเข้าใจลักษณะของข้อพิพาทที่มักเกิดขึ้นในการจัดการที่ดิน   และมีแนวทางในการข
ทศพล ทรรศนพรรณ
 ลู่ทางส่งเสริมการการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแก้ปัญหามลพิษ มีดังต่อไปนี้
ทศพล ทรรศนพรรณ
ปัญหาสิ่งแวดล้อมมักสร้างผลกระทบในระยะยาว ไม่ได้เกิดการบาดเจ็บ เสียหาย ทันทีทันใด   ดังนั้นเราจึงต้องมีวิธีการพิสูจน์ว่าความเจ็บป่วย เสียหายที่เกิดขึ้นนั้นมีผลมาจากปัญหาสิ่งแวดล้อมจริง   สิ่งที่เราต้องทำคือการเก็บหลักฐานอย่างต่อเนื่องและชัดเจนเพื่อนำไปใช้เป็นพยานหลักฐาน &n
ทศพล ทรรศนพรรณ
การจัดชุมนุมสาธารณะย่อมเป็นที่สนใจของสังคมตามความประสงค์ของผู้จัด จึงมีสื่อมวลชนที่เข้าร่วมทำข่าวทั้งที่เป็นสื่อมวลชนอาชีพที่มีสังกัดประจำหรือสื่อพลเมืองที่ทำหน้าที่ติดตามสถานการณ์และรายงานข่าวตามภูมิทัศน์เทคโนโลยีสื่อสารที่ปรับตัวไป 
ทศพล ทรรศนพรรณ
การชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธมีข้อจำกัดที่อาจถูกรัฐเข้าระงับหรือแทรกแซงการใช้สิทธิได้ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 4 ในสภาวะฉุกเฉินสาธารณะที่คุกคามความอยู่รอดของชาติที่ถูกประกาศอย่างเป็นทางการ และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักไทย พุทธศักราช 2560 กำหนดถึงเหตุที
ทศพล ทรรศนพรรณ
การชุมนุมโดยสงบเป็นเครื่องมือที่ทำให้บุคคลทั้งหลายสามารถแสดงออกร่วมกันและมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลง ให้ปัจเจกสามารถแสดงความเป็นตัวตนของตัวเองร่วมกับผู้อื่น   โดยการเลือกสถานที่การชุมนุมอยู่ภายใต้หลักมองเห็นและได้ยิน (sight and sound) ทั้งนี้ผู้ชุมนุมต้องอยู่ในที่ที่มองเห็นและสาธารณชนต้อ
ทศพล ทรรศนพรรณ
ขบวนการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้น ในบริบทโครงสร้างทางอำนาจในสังคมที่ไม่เท่าเทียมกัน การรวมศูนย์อำนาจหรือการครอบงำทางวัฒนธรรมโดยใช้วัฒนธรรมเดียว สิทธิชุมชนจึงเป็นการต่อสู้เพื่อปรับสัมพันธภาพทางอำนาจ สร้างตำแหน่งแห่งที่ให้ชุมชนให้เกิดความเป็นธรรมและเคารพในความหลากหลาย โดยท้องถิ่นมีเสรีภาพในการกำหนดกติกา
ทศพล ทรรศนพรรณ
ข้อกล่าวอ้างสำคัญของรัฐบาลไทยในการเพิ่มศักยภาพในด้านข่าวกรองและออกกฎหมายที่ให้อำนาจสอดส่องการสื่อสารของประชาชน คือ “ถ้าประชาชนไม่ได้ทำผิดจะกลัวอะไร” โดยมิได้คำนึงหลักการพื้นฐานเบื้องต้นว่า แม้ประชาชนมิได้ทำผิดกฎหมายอันใดก็มีสิทธิความเป็นส่วนตัว ปลอดจากการแทรกแซงการสื่อสาร อันเป็นสิทธิพื้นฐานตามกฎ
ทศพล ทรรศนพรรณ
การพัฒนารัฐที่ใช้กฎหมายเป็นหลักประกันสิทธิมนุษยชนของประชาชน และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของพลเมืองในประเด็นสาธารณะของผู้ตื่นตัวทางการเมืองในลักษณะ “นิติรัฐอย่างเป็นทางการ” แตกต่างจากความสัมพันธ์ทางอำนาจแบบ “ไม่เป็นทางการ” ที่รัฐอาจหลีกเลี่ยงการใช้อำนาจปกครองภายใต้กรอบของกฎหมายเพื่อประกันสิทธิเสรีภาพต