Skip to main content

มาตรการสำหรับการแก้ปัญหาความอดอยากหิวโหยที่เกิดจากภัยพิบัติธรรมชาตินั้นสามารถดำเนินการได้ใน 3 ช่วงเวลา ก็คือ การเตรียมตัวก่อนภัยพิบัติจะเกิด การบรรเทาและแก้ไขปัญหาในขณะเกิดภัยพิบัติ การเยียวยาและฟื้นฟูหลังภัยพิบัติผ่านไปแล้ว   ในบทความนี้จะนำเสนอมาตรการและกรณีศึกษาที่ใช้ในการขจัดความหิวโหยในสถานการณ์ฉุกเฉินเหล่านั้น

1) การเตรียมการก่อนเกิดภัยพิบัติ


มาตรการป้องกันและรับมือกับภัยพิบัติที่สำคัญ ได้แก่ ระบบแผนที่ข้อมูลความเสี่ยงและความไม่มั่นคงด้านอาหาร   และระบบเตือนภัยล่วงหน้า   ซึ่งทำหน้าที่ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อประมวลผลความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากภัยธรรมชาติและภัยสงครามเพื่อให้รัฐและองค์การระหว่างประเทศจัดหามาตรการรับมือกับภัยพิบัติได้อย่างทันท่วงที   เพื่อให้ประชาชนได้รับความช่วยเหลืออย่างรวดเร็วและทั่วถึงกันโดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงที่อาจได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง   เทคโนโลยีสารสนเทศและการเฝ้าสังเกตข้อมูลผ่านระบบดาวเทียมได้เข้ามามีบทบาทในการจัดทำข้อมูลเหล่านี้เป็นอันมาก    ในหลายระบบรัฐและปัจเจกชนสามารถเข้าถึงข้อมูลของระบบได้ตามเวบไซต์ทันที หรือมีการแจ้งเตือนทางอุปกรณ์สื่อสาร


ระบบแผนที่ข้อมูลความเสี่ยงและความไม่มั่นคงด้านอาหารที่ใช้ในการตรวจตราภาวะเสี่ยงต่อภัยพิบัติโดยตรง ได้แก่ ระบบแผนที่และการวิเคราะห์ความเสี่ยง (VAM) ของโครงการอาหารโลก   ซึ่งได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี ค.ศ.2001   โดยระบบดังกล่าวจะทำงานร่วมกับระบบแผนที่ข้อมูลความเสี่ยงและความไม่มั่นคงด้านอาหารของแต่ละประเทศที่ร่วมโครงการ   เพื่อทำการวิเคราะห์ข้อมูลความเสี่ยงให้แก่โครงการอาหารโลกในภารกิจฉุกเฉินในหลายพื้นที่ทั่วโลก   ซึ่งระบบนี้มีประโยชน์ต่อการประเมินความเสี่ยงและความร้ายแรงของสถานการณ์วิกฤตกาลด้านอาหารมาก   และยังได้มีการต่อยอดโครงการไปสู่การจัดตั้งคณะกรรมาธิการประเมินความเสี่ยงระดับภูมิภาคด้วย   ทำให้การกำหนดเป้าหมายของโครงการอาหารโลก พัฒนาจากการประเมินตามสภาพภูมิศาสตร์ไปสู่การประเมินตามสภาพสังคมและเศรษฐกิจ      นอกจากนี้ระบบแผนที่และการวิเคราะห์ความเสี่ยง (VAM) ยังมีส่วนช่วยพัฒนาระบบเตือนภัยล่วงหน้าของโครงการอาหารโลกด้วย   ทั้งในส่วนการกำหนดเป้าหมาย การเตรียมอุปกรณ์ การตรวจตรากลุ่มเสี่ยง การวางแผนงาน และนโยบายการจัดการภัยพิบัติ


ระบบเตือนภัยล่วงหน้าที่ใช้ในการตรวจตราสภาพความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติที่อาจนำมาซึ่งภัยพิบัติ   ได้แก่   ระบบข้อมูลและการเตือนภัยล่วงหน้าด้านอาหารและเกษตรโลก (GIEWS) ขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ   ระบบนี้มีบทบาทสำคัญในการทำงานร่วมกับคณะประสานงานในยามฉุกเฉิน (ECG) ขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติเพื่อจัดตั้งแผนงานขึ้นมารองรับภัยพิบัติในยามฉุกเฉิน    การทำงานของระบบข้อมูลและการเตือนภัยล่วงหน้าด้านอาหารและเกษตรโลก (GIEWS) มีทั้งที่เป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลภาคสนามและการเชื่อมต่อข้อมูลกับภาพถ่ายทางดาวเทียม เพื่อสร้างตัวชี้วัดที่แม่นยำมีประสิทธิภาพเพื่อการประเมินสถานการณ์ฉุกเฉินทางการเกษตร และให้ข้อมูลเพื่อการฟื้นฟูการเกษตรของประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างถูกต้อง     นอกจากนี้ระบบยังได้ทำงานร่วมกับสำนักงานเพื่อประสานงานกิจการมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ (OCHA) ในการจัดทำข้อมูลและระบบตรวจตราผลผลิตทางการเกษตรไว้ให้แก่ผู้ที่สนใจเข้าชมได้ที่เวบไซต์ (ReliefWeb)   และทำงานร่วมกันกับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ในการจัดหาเงินทุนและเสบียงอาหารสำรองเพื่อส่งมาตรการความช่วยเหลือด้านอาหารให้ทันกับสถานการณ์ภัยพิบัติที่ทวีความรุนแรงขึ้น   การเตือนภัยล่วงหน้าของระบบข้อมูลและการเตือนภัยล่วงหน้าด้านอาหารและเกษตรโลก (GIEWS) จะอยู่ในรูปแบบ “รายงานพิเศษ”   หรือ   “รายงานเตือนภัย”   เพื่อเตือนภัยพิบัติและเหตุฉุกเฉินต่าง ๆ ที่อาจคุกคามต่อความมั่นคงด้านอาหารของภูมิภาคหรือประเทศที่สุ่มเสี่ยงต่อการได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ   ซึ่งรายงานดังกล่าวสามารถเข้าถึงได้ทางเวบไซต์ของ FAO/GIEWS

มาตรการสำรองอาหาร เป็นมาตรการป้องกันที่เป็นหลักประกันให้แก่ประเทศผู้ประสบภัยพิบัติได้ดีอีกประการ คือ  ความร่วมมือระหว่างประเทศในการสร้างระบบสำรองอาหารสำหรับยามฉุกเฉิน  ได้แก่
- โครงการระบบสำรองข้าวของภูมิภาคเอเชียตะวันออก EAERR (ASEAN + ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้)   ผลของโครงการ EAERR ทำให้เกิดการยกร่าง ข้อตกลงสำรองข้าวในยามฉุกเฉินของภูมิภาคอาเซียนบวกสามประเทศ (APTERR) ขึ้น    ซึ่งเป็นการจัดทำข้อตกลงขึ้นเพื่อเพิ่มความเข้มแข็งของความร่วมมือระหว่างประเทศในประเด็นภัยพิบัติด้านอาหารให้มีเจตจำนงทางการเมืองที่ชัดเจน มีกฎหมายรองรับ  
- ระบบข้อมูลเพื่อเฝ้าระวังภัยความมั่นคงด้านอาหาร (AFSIS)   ซึ่งเป็นมาตรการของ ASEAN+3  

นอกจากนี้ข้อตกลงสินค้าเกษตรภายใต้องค์การการค้าโลกยังได้กล่าวถึง มาตรการสำรองอาหารเพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหารภายในประเทศในยามฉุกเฉิน   และการอุดหนุนโครงการกระจายอาหารของภาครัฐไว้ด้วย   ข้อตกลงสินค้าเกษตรได้อนุญาตให้รัฐดำเนินมาตรการสำรองอาหารในสำหรับยามฉุกเฉินได้   โดยถือว่าโครงการสำรองอาหารและงบประมาณที่อุดหนุนหนุนนั้นอยู่ในหมวดการอุดหนุนภายในที่กระทำได้ (Green Box) ซึ่งกระทำได้ไม่จำกัด   แต่ต้องพิสูจน์ได้ว่าวัตถุประสงค์และการดำเนินการของโครงการเหล่านั้นต้องเป็นไปเพื่อการรักษาความมั่นคงด้านอาหารในยามฉุกเฉินจริง   กำหนดเงื่อนไขให้กลุ่มเสี่ยงเข้าถึงโครงการได้ง่าย

มาตรการภายในสำหรับประเด็นความขัดแย้ง และภัยธรรมชาติที่น่าสนใจ คือ ระบบเตือนภัยล่วงหน้า   เพราะเป็นมาตรการที่มีลักษณะสัมพันธ์กับมาตรการระหว่างประเทศ   และได้มีการเชื่อมระบบร่วมกับประชาคมระหว่างประเทศ ทั้งในส่วนที่เป็นการประมาณค่า   ภาพถ่ายจากดาวเทียม และการทำรายงานเตือนภัยล่วงหน้า


ประเทศไทยได้จัดตั้งระบบเตือนภัยล่วงหน้าขึ้นภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์   ซึ่งระบบเช่นว่า คือ
1) ระบบเตือนภัยธรรมชาติ   ระบบนี้จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับ ภัยแล้ง คลื่นความร้อน ข้อมูลลุ่มน้ำปริมาณน้ำฝน อัตราการพังทลายของดิน สภาพความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศที่รุนแรง   รวมถึงภัยธรรมชาติต่างๆที่อาจเกิดขึ้น เช่น พายุ
2) ระบบเตือนภัยโรคระบาด   ระบบนี้จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับ  โรคพืช โรคสัตว์ การแพร่ระบาดของแมลงและศัตรูพืช  
หลังจากเหตุการณ์คลื่นยักษ์ถล่มจังหวัดแถบทะเลอันดามันของไทย   ประเทศไทยได้จัดตั้งระบบเตือนภัยพิบัติธรรมชาติที่เกิดขึ้นจาก ธรณีพิบัติภัย และคลื่นยักษ์ถล่ม ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักนายกรัฐมนตรี   ส่วนปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งตามสภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้น   แผนพัฒนาการเกษตรแห่งชาติได้กำหนดให้รัฐบาลต้องบรรเทาปัญหาน้ำท่วม และปัญหาน้ำแล้งอย่างเป็นระบบ   โดยจัดทำและดำเนินการตามแผนป้องกันภัยธรรมชาติ แผนเฝ้าระวังและเตือนภัย และแผนช่วยเหลือฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัย รวมถึงผู้ที่ได้รับความเสียหายจากธรรมชาติ

ประเทศที่จะได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติธรรมชาติรุนแรงที่สุด คือ ประเทศที่ยากจน และไม่มีมาตรการป้องกันมารองรับภัยธรรมชาติ   จึงจำเป็นที่แต่ละประเทศต้องบรรจุแผนบรรเทาภัยธรรมชาติและระบบเฝ้าระวังภัยเข้าสู่ยุทธศาสตร์การพัฒนาแห่งชาติ   การจัดทำระบบแผนที่ข้อมูลความเสี่ยงและความไม่มั่นคงด้านอาหาร   ระบบเตือนภัยล่วงหน้า  รวมถึงโครงการต่างที่เกี่ยวกับข้อมูลสถิติ   จะต้องสร้างตัวชี้วัดที่ชัดเจน หลากหลาย และตอบสนองต่อความจำเป็นของกลุ่มเสี่ยงในแต่ละพื้นที่อย่างเฉพาะเจาะจงที่สุด

  
แม้จะมีมาตรการบรรเทาภัยพิบัติธรรมชาติ และระบบเตือนภัยล่วงหน้า ที่ดีจนสามารถบรรเทาความร้ายแรงของภัยพิบัติได้ในระดับหนึ่ง   แต่กลุ่มเสี่ยง เช่น เด็ก สตรี และผู้ยากไร้ในชนบทก็ยังได้รับความเดือดร้อนจากภัยพิบัติธรรมชาติมาก   เนื่องจากจะทำให้กลุ่มเสี่ยงเหล่านี้มีความสามารถในการเข้าถึงอาหารน้อยลงจากเดิมที่เข้าถึงได้น้อยอยู่แล้ว   เป็นเหตุให้กลุ่มคนเหล่านี้อดอยากและอยู่ในภาวะทุพโภชนาการอย่างรุนแรง

 


2) การบรรเทาและแก้ไขความหิวโหยเมื่อเกิดภัยพิบัติ

มาตรการบรรเทาภัยพิบัติในปัจจุบันมักอยู่ในรูปแบบความร่วมมือผสมระหว่างรัฐกับองค์การระหว่างประเทศ   และระหว่างองค์การระหว่างประเทศด้วยกันเอง    มีทั้งที่ดำเนินการผ่านองค์กรชำนัญพิเศษและองค์การระหว่างประเทศภายใต้องค์การสหประชาชาติ อาทิ โครงการอาหารโลก (WFP) โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP)   สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR)   สำนักงานเพื่อประสานงานกิจการมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ (OCHA)   คณะประสานงานในยามฉุกเฉิน (ECG) ขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ   ยูนิเซฟ (UNICEF)   กองทุนการเงินระหว่างประเทศ   และธนาคารโลก    ภายใต้กรอบความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDAF)    โดยองค์การต่าง ๆ จะร่วมมือกันใช้ความชำนาญที่มีอยู่ดำเนินการส่งเสริมสิทธิด้านอาหารให้เกิดประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น


มาตรการบรรเทาภัยพิบัติของโครงการอาหารโลกภายใต้องค์การสหประชาชาติ (WFP) จะครอบคลุมปฏิบัติการในยามฉุกเฉิน 3 ระดับคือ
- ภัยพิบัติฉับพลัน เช่น คลื่นยักษ์ถล่มทำให้พืชผลเสียหาย บุคคลต้องอพยพออกจากพื้นที่  
- ภัยพิบัติที่ค่อยๆ เกิดขึ้น เช่น การเกิดภัยแล้งจนพืชผลการเกษตรเสียหาย
- เหตุฉุกเฉินที่มีความซับซ้อน   เช่น   สงคราม   ความขัดแย้งทางสังคม   การลี้ภัยของประชากรจำนวนมาก


ในสถานการณ์ดังกล่าวโครงการอาหารโลกจะดำเนินงานร่วมกับทีมประเมินเหตุฉุกเฉินของสหประชาชาติเพื่อหามาตรการที่เหมาะสมเข้าไปช่วยเหลือ   โดยสามารถของบประมาณฉุกเฉินจากบัญชีฉุกเฉิน (IRA) เพื่อนำไปซื้ออาหารและขนส่งไปยังพื้นที่ประสบภัยในช่วง 3 เดือนแรกของการช่วยเหลือ   หากเลยช่วง 3 เดือนแรกมาแล้วยังจำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือเพื่อฟื้นฟูเพิ่มเติมก็ต้องดำเนินการภายใต้ ปฏิบัติการฉุกเฉิน (EMOP)   เพื่อร้องขอให้ประชาคมโลกส่งงบประมาณและอาหารมาร่วม โดยโครงการจะอยู่ในรูปแบบการแจกจ่ายอาหารให้ถึงกลุ่มเสี่ยง หรือโครงการจ้างแรงงานให้บูรณะพื้นที่แลกกับอาหาร  

กลุ่มที่มีความสามารถในการอยู่รอดท่ามกลางภัยพิบัติทางธรรมชาติ และภัยสงครามได้ดีที่สุดคือ กลุ่มที่ดำรงชีวิตด้วยการเกษตรแบบพึ่งพาตนเอง   ดังนั้นมาตรการที่จะตอบสนองต่อภัยพิบัติได้ดีจึงต้องส่งเสริม การเกษตร การปศุสัตว์ และการประมงที่สอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติของพื้นที่นั้น   การฟื้นฟูวิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่นจึงเป็นมาตรการประกันสิทธิของกลุ่มเสี่ยงที่จำเป็นในการดูแลภาวะโภชนาการของกลุ่มเสี่ยงเป็นอันมาก ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว  


ชุมชนที่ทำการเกษตรอย่างหลากหลาย มีการผสมผสาน การเพาะปลูกพืชหลายชนิด การปศุสัตว์ และการประมง เข้าด้วยกันในพื้นที่ของชุมชนโดยอาศัยฐานภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สอดคล้องกับสิ่งแวดล้อม   จะทำให้ชุมชนเหล่านั้นมีความยืดหยุ่นเมื่อต้องประสบกับภัยพิบัติในรูปแบบต่าง ๆ
เมื่อเกิดภัยพิบัติเรื้อรังเป็นระยะนาน ระบบเศรษฐกิจและสถาบันตลาดมักจะล้มเหลวได้ง่าย    ชุมชนที่จะสามารถยืดหยัดอยู่ได้ก็คือชุมชนที่มีเครือข่ายความสัมพันธ์แน่นแฟ้นสามารถปรับตัวรับภัยพิบัติในรูปแบบต่าง ๆ ได้

 


3) การเยียวยาและฟื้นฟูหลังภัยพิบัติ


หากล่วงเลย 24 เดือนมาแล้ว ก็จะช่วยเหลือผ่านปฏิบัติการบรรเทาภัยเพิ่มเติมและฟื้นฟู (PRRO) โดยจะบูรณะชุมชนที่ได้รับความเสียหายเพื่อให้กลับมาสร้างความเป็นอยู่ที่ดีและมีความมั่นคงด้านอาหารได้ ซึ่งประกอบไปด้วย
- โครงการอาหารเพื่อการศึกษาและฝึกอบรม   เป็นโครงการที่ให้อาหารเป็นตัวช่วยสนับสนุนให้เด็กและสตรีเข้ามาอบรมความเชี่ยวชาญ หรือ เรียนหนังสือ
- โครงการความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง เป็นโครงการช่วยเหลือกลุ่มเสี่ยงภัยอย่างต่อเนื่อง เช่น ผู้พิการ ครอบครัวที่สูญเสียหัวหน้า และผู้พลัดถิ่น ให้ได้รับความช่วยเหลืออย่างเหมาะสม
- โครงการบรรเทาทุกข์ผู้ลี้ภัย เป็นโครงการที่ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ลี้ภัยที่อยู่ในค่ายของประเทศที่รับการอพยพ
- โครงการอาหารเพื่อฟื้นฟู  มักจะทำในรูปแบบทำงานแลกอาหารโดยจะเป็นการจ้างให้บูรณาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน
โครงการต่างของโครงการอาหารโลกจะตั้งอยู่บนพื้นฐานการให้เปล่า   เพื่อฟื้นฟูให้กลุ่มเสี่ยงมีเวลาและทรัพยากรที่เพียงพอในการปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ของครอบครัวและชุมชนให้กลับมาพึ่งพิงตนเองได้ในระยะยาว เช่น การจัดให้มีที่อยู่อาศัยถาวร สถานีอนามัย โรงเรียน ความเชี่ยวชาญทางเกษตรกรรม และเทคโนโลยีการผลิต   ในการส่งความช่วยเหลือด้านอาหารเข้าไปในพื้นที่ทุรกันดานและมีเส้นทางขนส่งไม่สะดวก   โครงการอาหารโลกก็จะจัดหายานพาหนะ หรือ สร้างเส้นทางขนส่งใหม่ขึ้นมารองรับ
มาตรการบรรเทาภัยพิบัติขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติจะมีทั้งที่เป็น โครงการบรรเทาภัยพิบัติเบื้องต้น   และโครงการฟื้นฟูสภาพระยะยาว   โดยมีรูปแบบความช่วยเหลือที่ค่อนข้างหลากหลายเพื่อให้ตอบสนองต่อสภาพปัญหาที่ต่างกันไป อาทิ
-  การจัดหาปัจจัยผลิตที่หลากหลายให้แต่ละพื้นที่ที่มีความแตกต่างทางภูมิศาสตร์ เช่น อุปกรณ์การประมงสำหรับพื้นที่ชายฝั่ง   เมล็ดพันธุ์พืช ปุ๋ย สำหรับพื้นที่ลุ่ม   อุปกรณ์ปศุสัตว์สำหรับพื้นที่ดอน
-  ความช่วยเหลือที่ละเอียดอ่อนสำหรับสถานการณ์ที่ซับซ้อน   เช่น   การให้ความรู้ และอบรมกลุ่มเสี่ยง เพื่อให้สามารถทำการเกษตรแบบพึ่งพาตนเองได้  
-  สร้างความเข้มแข็งให้แก่ความหลากหลายทางชีวภาพ   เช่น   การส่งเสริมให้เพาะปลูกพืชหลายชนิดในพื้นที่   รวมถึงให้เลี้ยงสัตว์บก สัตว์น้ำร่วมกันไปด้วยให้เต็มพื้นที่ แต่ต้องเหมาะกับสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นด้วย
-  ส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น   เช่น   การส่งเสริมให้คนในท้องที่หันกลับไปทำการเกษตรที่สอดคล้องกับภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีอยู่ตั้งแต่อดีต
-  สร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นโดยสร้างความมั่นคงด้านอาหารเป็นรากฐาน   จึงมีการสร้างระบบตรวจตราข้อมูลด้านอาหารและเกษตรต่าง ๆ เพื่อเตือนภัยก่อนที่จะนำไปสู่ความขาดแคลนและการขัดแย้งในที่สุด
-  ส่งเสริมให้รัฐมีมาตรการทางสังคมเพื่อประกันสิทธิของกลุ่มเสี่ยง (Social Safety-net) หรือองค์การริเริ่มจัดหาโครงการมาให้เอง
-  เน้นการพัฒนาชนบทและการพัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน   โดยการปฏิรูประบบการเกษตรที่สอดคล้องกับธรรมชาติ   เพื่อความมั่นคงด้านอาหารในระยะยาว


การดำเนินงานขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติครอบคลุมพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลก  อาทิ   การบรรเทาภัยสงครามในซูดานให้กลับมาอยู่ในภาวะสงบสุข   การช่วยเหลือกลุ่มผู้ติดเชื้อเอดส์ในอัฟริกาใต้   การหามาตรการป้องกันการแพร่กระจายของโรคไข้หวัดนกและมีแผนรองรับสำหรับผู้ติดเชื้อ   การฟื้นฟูผู้ประสบภัยคลื่นยักษ์ถล่มในเขตมหาสมุทรอินเดีย   การฟื้นฟูผู้ประสบภัยพายุเฮอริเคนในเขตอเมริกากลาง


ภัยพิบัติธรรมชาติจะมีผลต่อชุมชนค่อนข้างมาก   กระบวนการฟื้นฟูจะทำได้ยากขึ้นหากภัยพิบัติธรรมชาติเหล่านั้นทำให้บุคคล และชุมชน ต้องอพยพออกจากพื้นที่ประสบภัย   การฟื้นฟูชุมชนจึงต้องอาศัยมาตรการระยะยาว   การให้ความรู้ และอบรมกลุ่มเสี่ยงให้มีความเชี่ยวชาญด้านการเกษตรจนสามารถพึ่งพิงตนเองได้   จะเป็นการสร้างหลักประกันความมั่นคงด้านอาหารที่ดีที่สุดแก่กลุ่มเสี่ยงในชนบท   และยังป้องกันสถานการณ์ขาดแคลนอาหารอย่างฉับพลันในอนาคตด้วย


ในยามที่เกิดภาวะฉุกเฉินเกษตรกรที่สามารถปรับตัวมาทำเกษตรกรรมที่อาศัยภูมิปัญญาท้องถิ่น   และอาศัยทรัพยากรในท้องถิ่น  จะได้รับความเดือดร้อนน้อยเพราะไม่ต้องพึ่งพิงเทคโนโลยี และปัจจัยการผลิต จากพื้นที่อื่นที่ต้องขนส่งผ่านเส้นทางคมนาคมที่อาจได้รับความเสียหายจากภัยพิบัติต่าง ๆ  แต่การหนุนเสริมของเทคโนลีโดยไม่ทำให้เกิดการพึ่งพิงก็เป็นมาตรการเสริมที่ทำให้เกิดการฟื้นฟูและพัฒนาตนเองและชุมชมได้เร็วขึ้น

 


สกัดจากงานวิจัย สภาพปัญหาและแนวทางการพัฒนาสิทธิด้านอาหารตาม “แนวทางการสร้างความมั่นคงด้านอาหารขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ 2004”. 2555

 

บล็อกของ ทศพล ทรรศนพรรณ

ทศพล ทรรศนพรรณ
การนำ คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 205/2549 มาตราเป็นพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร  โดยแฝงนัยยะของการสร้าง “รัฐทหาร” ด้วยการขยับขยายขอบเขตอำนาจแก่เจ้าหน้าที่ กอ. รมน.
ทศพล ทรรศนพรรณ
หลังสิ้นสุดยุคสมัยสงครามเย็น หนึ่งในมรดกตกทอดจากยุคนั้น ได้แก่ หน่วยงานความมั่นคงของรัฐไทยที่มีอำนาจหน้าที่อย่างเข้มข้นในการเฝ้าระวัง สอดส่อง ควบคุมการสื่อสารและการกระทำต่าง ๆ ของประชาชนที่ผู้มีอำนาจเห็นว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง และส่งผลเสียต่อการยืนหยัดสู้เพื่ออุดมการณ์ทางการเมืองช่วงนั้น อาทิ กอง
ทศพล ทรรศนพรรณ
คนไร้บ้านจัดเป็นกลุ่มที่เสี่ยงที่จะถูกละเมิดสิทธิและด้อยโอกาสในการเข้าถึงบริการสาธารณะ สวัสดิการ และหลักประกันด้านต่าง ๆ ด้วยเหตุที่เป็นกลุ่มซึ่งต้องปะทะโดยตรงกับการพัฒนาเมืองอย่างไม่ยั่งยืนทั้งที่สาเหตุของการออกมาอยู่ในพื้นที่สาธารณะนั้นเกี่ยวข้องกับความเหลื่อมล้ำทางสังคมอันเป็นผลลัพธ์ของนโยบายส
ทศพล ทรรศนพรรณ
คนไร้บ้านตกอยู่ในสถานะของกลุ่มเสี่ยงที่อาจต้องเผชิญจากการเหยียดหยามศักดิ์ความเป็นมนุษย์โดยตรงจากการละเมิด และยังอาจไม่ได้รับการดูและแก้ไขปัญหาเมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์ยุ่งยากต่าง ๆ เพราะถูกจัดให้อยู่ในสถานะต่ำต้อยเสี่ยงต่อการเลือกประติบัติจากรัฐ จนไปถึงการเพิกเฉย ละเลย ไม่ใส่จะแก้ปัญหาให้คนไร้บ้
ทศพล ทรรศนพรรณ
คนไร้บ้านเป็นเสียงที่ไม่ถูกนับ การใช้พลังในลักษณะกลุ่มก้อนทางการเมืองเพื่อเรียกร้องประโยชน์จากผู้มีอำนาจให้จัดสรรทรัพยากรให้จึงเป็นเรื่องยาก ด้วยสาเหตุหลัก 2 ประการ คือ
ทศพล ทรรศนพรรณ
การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของคนไร้บ้านจำเป็นต้องยืนอยู่บนฐานของกฎหมายที่ประกันสิทธิของบุคคลโดยมิคำนึงถึงความแตกต่างหลากหลายทางสถานภาพใด ๆ แม้คนไร้บ้านจะเป็นปัจเจกชน หรือกลุ่มคนที่มีปริมาณน้อยเพียงไร รัฐก็มีพันธกรณีในการเคารพ ปกป้อง และส่งเสริมสิทธิให้กลุ่มเสี่ยงนี้โดยเหตุแห่งความเป็นสิทธิมนุษยชนที่ร
ทศพล ทรรศนพรรณ
หากต้องกำหนดยุทธศาสตร์ของประเทศไทยในการเข้าร่วมตลาดดิจิทัลที่มีเข้มข้นของกิจกรรมข้ามพรมแดนตลอดเวลา เพื่อแก้ไขปัญหาศักยภาพของรัฐในการบังคับใช้กฎหมายขยายไปเหนือหลักเขตอำนาจศาลเหนือดินแดนของตนแบบเก่า เมื่อต้องกำกับกิจกรรมของบรรษัทข้ามชาติที่อยู่ในการบังคับของกฎหมายรัฐอื่นซึ่งมีบรรทัดฐานในหลายประเด็น
ทศพล ทรรศนพรรณ
การวิเคราะห์กฎหมายไทยที่เกี่ยวข้องกับลักษณะความสัมพันธ์ของนิติบุคคลเจ้าของแพลตฟอร์มที่มักเป็นบรรษัทข้ามชาติกับรัฐ จะกระทำใน 3 ประเด็นหลัก คือ ใครเป็นเจ้าของข้อมูล ใครมีสิทธิใช้ประโยชน์จากข้อมูลมากน้อยอย่างไร หรือแบ่งปันกันอย่างไร อันเป็นการเตรียมความพร้อมของกฎหมายในการรองรับปรากฏการณ์การใช้ข้อมูล
ทศพล ทรรศนพรรณ
บทความนี้จะทำการรวบรวมข้อเสนอทางกฎหมายในระดับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับลักษณะความสัมพันธ์ของนิติบุคคลเจ้าของแพลตฟอร์มที่มักเป็นบรรษัทข้ามชาติ กับรัฐและองค์การระหว่างประเทศ อันเป็นการเตรียมความพร้อมของกฎหมายในการรองรับปรากฏการณ์การใช้ข้อมูลจากแพลตฟอร์มดิจิทัล ว่าสามารถบริหารจัดการให
ทศพล ทรรศนพรรณ
บทความนี้จะทำการทบทวนข้อกฎหมายทั้งในระดับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับลักษณะความสัมพันธ์ของนิติบุคคลเจ้าของแพลตฟอร์มที่มักเป็นบรรษัทข้ามชาติ เรื่อยมาจนถึงสำรวจความพร้อมของกฎหมายในการรองรับปรากฏการณ์การใช้ข้อมูลจากแพลตฟอร์มดิจิทัล ว่าสามารถบริหารจัดการให้เกิดการแบ่งปันข้อมูลดิจิทัลระหว
ทศพล ทรรศนพรรณ
ประเด็นพื้นฐานที่รัฐต้องคิด คือ จะส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมทางเทคโนโลยีเพื่อสะสมความมั่งคั่งได้อย่างไร แล้วจึงจะไปสู่แนวทางในการแบ่งปันความมั่งคั่งให้กับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการผลิตข้อมูลขึ้นมาในแพลตฟอร์ม
ทศพล ทรรศนพรรณ
Kean Birch นำเสนอปัญหาของข้อมูลส่วนบุคคลในฐานะสินค้าของตลาดนวัตกรรมเทคโนโลยีจำนวน 5 ประเด็น คือ1.ข้อมูลส่วนบุคคลเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของแพลตฟอร์มในฐานะเจ้าของข้อมูลทึ่ถูกรวบรวมโดยนวัตกรรม,