Skip to main content

การวิเคราะห์กฎหมายไทยที่เกี่ยวข้องกับลักษณะความสัมพันธ์ของนิติบุคคลเจ้าของแพลตฟอร์มที่มักเป็นบรรษัทข้ามชาติกับรัฐ จะกระทำใน 3 ประเด็นหลัก คือ ใครเป็นเจ้าของข้อมูล ใครมีสิทธิใช้ประโยชน์จากข้อมูลมากน้อยอย่างไร หรือแบ่งปันกันอย่างไร อันเป็นการเตรียมความพร้อมของกฎหมายในการรองรับปรากฏการณ์การใช้ข้อมูลจากแพลตฟอร์มดิจิทัล ว่าสามารถบริหารจัดการให้เกิดการแบ่งปันข้อมูลดิจิทัลระหว่างบุคคลทั้งหลายให้เกิดความเป็นธรรม เมื่อต้องเผชิญกับการประมวลผลข้อมูลเพื่อประโยชน์ด้านต่าง ๆ อย่างเข้มข้น


รัฐธรรมนูญ
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้บัญญัติรับรองสิทธิเสรีภาพประการต่าง ๆ ของประชาชน โดยสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญที่ควรนำมาพิจารณาเพื่อตอบปัญหาเกี่ยวกับความเป็นเจ้าของในข้อมูลการใช้งานแพลตฟอร์มและการแสวงหาประโยชน์จากข้อมูลดังกล่าว

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้บัญญัติคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินไว้ตลอดมานับตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับพุทธศักราช 2475 จนกระทั่งรัฐธรรมนูญฉบับพุทธศักราช 2560 แม้บทบัญญัติเรื่องสิทธิในทรัพย์สินในรัฐธรรมนูญฉบับต่าง ๆ จะมีความต่างในถ้อยคำของบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับต่าง ๆ อยู่บ้าง แต่ก็มีเนื้อหาสาระที่เป็นไปในแนวทางเดียวกัน กล่าวคือ รัฐธรรมนูญฉบับต่าง ๆ จะกำหนดว่าบุคคลย่อมมีสิทธิหรือเสรีภาพในทรัพย์สิน หรือสิทธิในทรัพย์สินของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง แต่ก็ระบุด้วยว่าขอบเขตและข้อจำกัดของสิทธิในทรัพย์สินดังกล่าวให้เป็นไปตามที่กฎหมายลำดับรองฉบับต่าง ๆ กำหนดไว้ ตัวอย่างเช่น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 บัญญัติคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินไว้ในหมวด 2 สิทธิและหน้าที่ของชนชาวสยาม มาตรา 14 ว่า “ภายในบังคับแห่งบทกฎหมายบุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในร่างกาย เคหสถาน ทรัพย์สิน การพูด การเขียน การโฆษณา การศึกษาอบรม การประชุมโดยเปิดเผย การตั้งสมาคม การอาชีพ” ส่วนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2495 บัญญัติถึงสิทธิในทรัพย์สินไว้ในมาตรา 26 ว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในทรัพย์สิน การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา การศึกษาอบรม การชุมนุมสาธารณ การตั้งสมาคม การตั้งพรรคการเมือง ทั้งนี้ภายใต้บังคับแห่งบทกฎหมาย”
ต่อมา รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517 พุทธศักราช 2540 และพุทธศักราช 2550 ได้บัญญัติในทำนอง เช่นที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 บัญญัติไว้ในหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย ส่วนที่ 5 สิทธิในทรัพย์สิน มาตรา 41 วรรคหนึ่ง ว่า “สิทธิของบุคคลในทรัพย์สินย่อมได้รับความคุ้มครอง ขอบเขตแห่งสิทธิและการจำกัดสิทธิเช่นว่านี้ย่อมเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ”
และนอกจากนี้ รัฐธรรมแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ก็กำหนดถึงสิทธิในทรัพย์สินไว้ไปในแนวทางเดียวกันกับรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมา โดยบัญญัติไว้ในหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย มาตรา 37 วรรค หนึ่ง ว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิในทรัพย์สินและการสืบมรดก” และวรรคสองว่า “ขอบเขตแห่งสิทธิและการจำกัดสิทธิเช่นว่านี้ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ”

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้เริ่มบัญญัติคุ้มครองสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับปีพุทธศักราช 2534 เป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญได้เริ่มบรรจุถ้อยคำเกี่ยวกับการนำข้อมูลส่วนบุคคลไปแสวงหาประโยชน์ไว้ในบทบัญญัติเรื่องดังกล่าว ในรัฐธรรมนูญฉบับปีพุทธศักราช 2550 และพุทธศักราช 2560
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ได้บัญญัติคุ้มครองสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัวไว้ในมาตรา 35 วรรคหนึ่ง ว่า “สิทธิของบุคคลในครอบครัว เกียรติยศ ชื่อเสียง ตลอดจนความเป็นอยู่ส่วนตัวย่อมได้รับความคุ้มครอง” และบัญญัติคุ้มครองการแสวงหาประโยชน์จากข้อมูลส่วนบุคคลไว้โดยเฉพาะในวรรคสอง ว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับความคุ้มครองจากการแสวงประโยชน์โดยมิชอบจากข้อมูลส่วนบุคคลที่เกี่ยวกับตน ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ”
ต่อมา รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้บัญญัติคุ้มครองสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัวไว้ในมาตรา 32 วรรคหนึ่งด้วยถ้อยคำที่กระชับมากขึ้น ว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียง และครอบครัว” และเพิ่มรายละเอียดของกฎหมายที่จะอนุญาตให้มีการนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ประโยชน์ ว่าจะต้องเป็นกฎหมายที่ตราขึ้นเพียงเท่าที่จำเป็นและเพื่อประโยชน์สาธารณะ ไว้ในวรรคสอง ว่า “การกระทำอันเป็นการละเมิดหรือกระทบต่อสิทธิของบุคคลตามวรรคหนึ่ง หรือการนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ประโยชน์ไม่ว่าในทางใด ๆ จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ”
เมื่อเปรียบเทียบลักษณะการบัญญัติเกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลระหว่างรัฐธรรมนูญฉบับพุทธศักราช 2550 และพุทธศักราช 2560 แล้ว ปรากฏว่ามีความแตกต่างกัน กล่าวคือรัฐธรรมนูญฉบับพุทธศักราช 2550 บัญญัติไว้ในลักษณะมุ่งคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลโดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติไว้ ในขณะที่รัฐธรรมนูญฉบับพุทธศักราช 2560 บัญญัติไว้ในลักษณะที่มุ่งคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลไม่ให้ถูกนำไปใช้ประโยชน์เป็นหลัก โดยจะได้รับการยกเว้นให้นำไปใช้ประโยชน์ได้ต่อเมื่อเป็นการใช้อำนาจของกฎหมายที่ตราขึ้นเพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะเท่านั้น 

ประเด็นเกี่ยวกับการนำข้อมูลที่เกิดจากการใช้งานแพลตฟอร์มไปแสวงหาประโยชน์ อาจต้องคำนึงถึงเสรีภาพในการประกอบอาชีพด้วย โดยเสรีภาพในการประกอบอาชีพได้รับการรับรองไว้ นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 เป็นต้นมา โดยรัฐธรรมนูญฉบับพุทธศักราช 2475 จนถึงฉบับพุทธศักราช 2517 มักใช้คำว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพ “ในการอาชีพ” หรือ “ในการประกอบอาชีพ” ส่วนรัฐธรรมนูญฉบับพุทธศักราช 2534 เป็นต้นมามักใช้ถ้อยคำว่า “สิทธิของบุคคลในการประกอบกิจการหรือประกอบอาชีพ ย่อมได้รับความคุ้มครอง”
ส่วนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 บัญญัติไว้ในมาตรา 40 วรรคหนึ่ง ว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการประกอบอาชีพ” และวรรคสอง ว่า “การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงหรือเศรษฐกิจของประเทศ การแข่งขันอย่างเป็นธรรม การป้องกันหรือขจัดการกีดกันหรือการผูกขาด การคุ้มครองผู้บริโภค การจัดระเบียบการประกอบอาชีพเพียงเท่าที่จำเป็น หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างอื่น” นอกจากนี้ยังบัญญัติวรรคสามเพิ่มขึ้นมาว่า “การตรากฎหมายเพื่อจัดระเบียบการประกอบอาชีพตามวรรคสอง ต้องไม่มีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติหรือก้าวก่ายการจัดการศึกษาของสถาบันการศึกษา”
บทบัญญัติเกี่ยวกับเสรีภาพในการประกอบอาชีพข้างต้น แม้เป็นการรับรองและคุ้มครองเสรีภาพในการประกอบอาชีพ แต่รัฐอาจจำกัดเสรีภาพดังกล่าวด้วยการตรากฎหมายขึ้นมา และต้องเป็นไปเพื่อเหตุผลตามที่กำหนด เช่น เพื่อการแข่งขันอย่างเป็นธรรม การป้องกันการผูกขาด การคุ้มครองผู้บริโภค หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะอื่น ๆ
โดยหลักแล้ว การประกอบอาชีพหรือกิจการในทางใด ๆ เพื่อแสวงหาผลกำไร เช่น การที่เจ้าของแพลตฟอร์มเก็บข้อมูลผู้ใช้งานและนำไปแสวงหาประโยชน์ ซึ่งเป็นแนวทางการประกอบธุรกิจ (business model) ของธุรกิจแพลตฟอร์มประเภทนี้ ย่อมเป็นการใช้เสรีภาพในการประกอบอาชีพตามรัฐธรรมนูญ แต่หากพบว่าเป็นการได้เปรียบผู้ใช้งานแพลตฟอร์มหรือสังคมโดยรวมจนเกินควรและจำเป็นจะต้องจำกัดสิทธิหรือกำหนดหน้าที่บางอย่างเกี่ยวกับการนำข้อมูลผู้ใช้งานแพลตฟอร์มไปแสวงหาประโยชน์ รัฐธรรมนูญก็กำหนดให้การจำกัดเสรีภาพในการประกอบอาชีพนี้จะต้องตราเป็นกฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายต่าง ๆ ในระดับพระราชบัญญัติ ซึ่งก็จะต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญข้อนี้กำหนดด้วย

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้บัญญัติคุ้มครองสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคล ว่าไม่สามารถถูกนำไปใช้แสวงหาประโยชน์ในทางใด ๆ เว้นแต่จะเป็นไปตามที่กฎหมายอนุญาต เพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ ดังนั้น ประเด็นว่าใครจะมีสิทธินำข้อมูลส่วนบุคคลไปแสวงหาประโยชน์ จึงต้องขึ้นอยู่กับกฎหมายฉบับต่าง ๆ โดยเฉพาะกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติ ว่าจะอนุญาตให้ใคร นำข้อมูลส่วนบุคคลประเภทใด ไปใช้แสวงหาประโยชน์ในทางใดได้บ้าง และข้อมูลชนิดใดบ้างที่ถือหรือไม่ถือว่าเป็นข้อมูลส่วนบุคคลที่ต้องได้รับความคุ้มครอง


กฎหมายระดับพระราชบัญญัติ
กฎหมายในระดับพระราชบัญญัติต่าง ๆ แม้ว่าจะมีบทบัญญัติบางมาตราที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลหรือข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับบุคคล แต่ก็มักเป็นการกำหนดในลักษณะที่ห้ามใช้หรือเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลซึ่งควรเก็บไว้เป็นความลับ เพื่อคุ้มครองสิทธิในความเป็นส่วนตัวหรือคุ้มครองความปลอดภัยของเจ้าของข้อมูล หรือมักเป็นการกำหนดกลไกการเก็บรักษาข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อคุ้มครองความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล แต่ไม่ปรากฏว่ามีบทบัญญัติที่กำหนดว่าใครเป็นบุคคลที่มีสิทธิในการนำข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลไปใช้แสวงหาประโยชน์หรือผลกำไร และผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการนำข้อมูลไปใช้ควรถูกแบ่งปันไปยังใคร อย่างไรบ้าง

แม้จะมีบทบัญญัติบางมาตราของพระราชบัญญัติบางฉบับที่มีถ้อยคำเกี่ยวกับการนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ประโยชน์ เช่น พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 มาตรา 79 ซึ่งกำหนดให้การนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้แสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายเป็นความผิด หรือพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ พ.ศ. 2553 มาตรา 32 ซึ่งกำหนดว่ากรณีมีการกระทำความผิดโดยการใช้ประโยชน์ข้อความข่าวสารหรือข้อมูลอื่นใดที่มีการสื่อสารทางโทรคมนาคมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้ถือว่า กสทช. เป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แต่บทบัญญัติเหล่านั้นเพียงกำหนดให้การนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในลักษณะดังกล่าวเป็นความผิดอาญา ส่วนพระราชบัญญัติความลับทางการค้า พ.ศ. 2545 ก็มุ่งคุ้มครองเฉพาะข้อมูลที่เป็นความลับทางการค้าซึ่งเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ แต่พระราชบัญญัติเหล่านี้ไม่ได้กำหนดว่าใครมีสิทธิในการนำข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลไปใช้แสวงหาประโยชน์หรือผลกำไร และผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการนำข้อมูลไปใช้ควรถูกแบ่งปันไปยังใคร อย่างไรบ้าง

ส่วนกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 เป็นกฎหมายที่ให้ความคุ้มครองแก่งานสร้างสรรค์ ไม่ให้ถูกนำไปทำซ้ำ ดัดแปลง หรือเผยแพร่โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ แต่ก็ไม่ได้ให้ความคุ้มครองไปถึงข้อมูลที่ปรากฏในงานสร้างสรรค์แต่อย่างใด ส่วนพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 เป็นกฎหมายที่ให้ความคุ้มครองแก่เจ้าของเครื่องหมายการค้าให้เป็นผู้มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการนำเครื่องหมายไปใช้กับสินค้าและบริการของตน แต่ไม่ได้คุ้มครองข้อมูลใด ๆ ที่อาจปรากฏในเครื่องหมายการค้านั้น และพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 เป็นกฎหมายที่ให้ความคุ้มครองแก่การประดิษฐ์ โดยให้สิทธิแก่เจ้าของสิทธิบัตรแต่เพียงผู้เดียวในการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ใช้กรรมวิธีตามสิทธิบัตรของตน แต่หากในการประดิษฐ์มีข้อมูลหรือข้อเท็จจริงบางประการ กฎหมายสิทธิบัตรจะไม่ได้คุ้มครองไปถึงข้อมูลหรือข้อเท็จจริงดังกล่าว ดังนั้น กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาฉบับต่าง ๆ ข้างต้นจึงไม่ใช่กฎหมายที่ให้สิทธิในทรัพย์สินหรือสิทธิในความเป็นเจ้าของใด ๆ ในข้อมูล

อย่างไรก็ตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 เป็นกฎหมายที่อาจนำมาปรับใช้กับข้อตกลงเกี่ยวกับการที่แพลตฟอร์มจะเก็บรวบรวมข้อมูลของผู้ใช้บริการและนำไปแสวงหาผลประโยชน์ได้ เนื่องจากผู้ประกอบธุรกิจแพลตฟอร์มอาจเข้านิยามเป็น “ผู้ประกอบธุรกิจการค้าหรือวิชาชีพ” หรือเป็นผู้กำหนด “สัญญาสำเร็จรูป” ซึ่งกฎหมายฉบับนี้เปิดโอกาสให้มีการตีความว่าสัญญาที่ผู้ใช้บริการในฐานะผู้บริโภคเข้าทำกับเจ้าของแพลตฟอร์มดังกล่าว โดยเฉพาะในข้อสัญญาที่เกี่ยวข้องกับการเก็บรวบรวมข้อมูลและการนำข้อมูลไปแสวงหาประโยชน์ รวมถึงการแบ่งหรือไม่แบ่งปันผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ และหากเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ก็สามารถตีความต่อไปได้ว่าข้อสัญญาดังกล่าวซึ่งจะมีผลบังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณี จะต้องมีขอบเขตเท่าใด

อย่างไรก็ดีมีความสลับซับซ้อนในการตีความและปรับใช้กฎหมายระดับพระราชบัญญัติรวมไปถึงกฎหมายรองที่ออกมาเพื่อกำหนดรายละเอียดเพิ่มเติมภายใต้กฎหมายแต่ละฉบับให้เกิดรายละเอียดที่ชัดเจนมากขึ้นไปอีกดังปรากฏอยู่ในวิจัยฉบับสมบูรณ์ที่ระบุไว้ด้านล่าง จึงขอเชิญชวนให้รัฐและสังคมไทยเปิดพื้นที่ให้ผู้มีส่วนเกี่ยวมาถกเถียงและเสนอทางออกในการแบ่งปันผลประโยชน์จากข้อมูลเพิ่มเติมติอไป

อ้างอิง
วิริยะ รามสมภพ, “การเชื่อมโยงข้อมูลภาครัฐ ศึกษากรณีผลกระทบต่อข้อมูลส่วนบุคคลภายใต้บังคับพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540,”.
สุนีย์ ธีรวิรุฬห์, “บทวิเคราะห์รัฐธรรมนูญ เรื่อง สิทธิเสรีภาพทางเศรษฐกิจ”.

*ปรับปรุงจากบทวิเคราะห์ทางกฎหมาย โดย วัชรพล ศิริ ใน วิจัย โครงการสังเคราะห์องค์ความรู้ทางกฎหมายเพื่อสนับสนุนการแบ่งปันผลประโยชน์จากข้อมูลดิจิทัลอย่างเป็นธรรม, 2565. โดย สถาบันพระปกเกล้า.

บล็อกของ ทศพล ทรรศนพรรณ

ทศพล ทรรศนพรรณ
การนำ คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 205/2549 มาตราเป็นพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร  โดยแฝงนัยยะของการสร้าง “รัฐทหาร” ด้วยการขยับขยายขอบเขตอำนาจแก่เจ้าหน้าที่ กอ. รมน.
ทศพล ทรรศนพรรณ
หลังสิ้นสุดยุคสมัยสงครามเย็น หนึ่งในมรดกตกทอดจากยุคนั้น ได้แก่ หน่วยงานความมั่นคงของรัฐไทยที่มีอำนาจหน้าที่อย่างเข้มข้นในการเฝ้าระวัง สอดส่อง ควบคุมการสื่อสารและการกระทำต่าง ๆ ของประชาชนที่ผู้มีอำนาจเห็นว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง และส่งผลเสียต่อการยืนหยัดสู้เพื่ออุดมการณ์ทางการเมืองช่วงนั้น อาทิ กอง
ทศพล ทรรศนพรรณ
คนไร้บ้านจัดเป็นกลุ่มที่เสี่ยงที่จะถูกละเมิดสิทธิและด้อยโอกาสในการเข้าถึงบริการสาธารณะ สวัสดิการ และหลักประกันด้านต่าง ๆ ด้วยเหตุที่เป็นกลุ่มซึ่งต้องปะทะโดยตรงกับการพัฒนาเมืองอย่างไม่ยั่งยืนทั้งที่สาเหตุของการออกมาอยู่ในพื้นที่สาธารณะนั้นเกี่ยวข้องกับความเหลื่อมล้ำทางสังคมอันเป็นผลลัพธ์ของนโยบายส
ทศพล ทรรศนพรรณ
คนไร้บ้านตกอยู่ในสถานะของกลุ่มเสี่ยงที่อาจต้องเผชิญจากการเหยียดหยามศักดิ์ความเป็นมนุษย์โดยตรงจากการละเมิด และยังอาจไม่ได้รับการดูและแก้ไขปัญหาเมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์ยุ่งยากต่าง ๆ เพราะถูกจัดให้อยู่ในสถานะต่ำต้อยเสี่ยงต่อการเลือกประติบัติจากรัฐ จนไปถึงการเพิกเฉย ละเลย ไม่ใส่จะแก้ปัญหาให้คนไร้บ้
ทศพล ทรรศนพรรณ
คนไร้บ้านเป็นเสียงที่ไม่ถูกนับ การใช้พลังในลักษณะกลุ่มก้อนทางการเมืองเพื่อเรียกร้องประโยชน์จากผู้มีอำนาจให้จัดสรรทรัพยากรให้จึงเป็นเรื่องยาก ด้วยสาเหตุหลัก 2 ประการ คือ
ทศพล ทรรศนพรรณ
การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของคนไร้บ้านจำเป็นต้องยืนอยู่บนฐานของกฎหมายที่ประกันสิทธิของบุคคลโดยมิคำนึงถึงความแตกต่างหลากหลายทางสถานภาพใด ๆ แม้คนไร้บ้านจะเป็นปัจเจกชน หรือกลุ่มคนที่มีปริมาณน้อยเพียงไร รัฐก็มีพันธกรณีในการเคารพ ปกป้อง และส่งเสริมสิทธิให้กลุ่มเสี่ยงนี้โดยเหตุแห่งความเป็นสิทธิมนุษยชนที่ร
ทศพล ทรรศนพรรณ
หากต้องกำหนดยุทธศาสตร์ของประเทศไทยในการเข้าร่วมตลาดดิจิทัลที่มีเข้มข้นของกิจกรรมข้ามพรมแดนตลอดเวลา เพื่อแก้ไขปัญหาศักยภาพของรัฐในการบังคับใช้กฎหมายขยายไปเหนือหลักเขตอำนาจศาลเหนือดินแดนของตนแบบเก่า เมื่อต้องกำกับกิจกรรมของบรรษัทข้ามชาติที่อยู่ในการบังคับของกฎหมายรัฐอื่นซึ่งมีบรรทัดฐานในหลายประเด็น
ทศพล ทรรศนพรรณ
การวิเคราะห์กฎหมายไทยที่เกี่ยวข้องกับลักษณะความสัมพันธ์ของนิติบุคคลเจ้าของแพลตฟอร์มที่มักเป็นบรรษัทข้ามชาติกับรัฐ จะกระทำใน 3 ประเด็นหลัก คือ ใครเป็นเจ้าของข้อมูล ใครมีสิทธิใช้ประโยชน์จากข้อมูลมากน้อยอย่างไร หรือแบ่งปันกันอย่างไร อันเป็นการเตรียมความพร้อมของกฎหมายในการรองรับปรากฏการณ์การใช้ข้อมูล
ทศพล ทรรศนพรรณ
บทความนี้จะทำการรวบรวมข้อเสนอทางกฎหมายในระดับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับลักษณะความสัมพันธ์ของนิติบุคคลเจ้าของแพลตฟอร์มที่มักเป็นบรรษัทข้ามชาติ กับรัฐและองค์การระหว่างประเทศ อันเป็นการเตรียมความพร้อมของกฎหมายในการรองรับปรากฏการณ์การใช้ข้อมูลจากแพลตฟอร์มดิจิทัล ว่าสามารถบริหารจัดการให
ทศพล ทรรศนพรรณ
บทความนี้จะทำการทบทวนข้อกฎหมายทั้งในระดับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับลักษณะความสัมพันธ์ของนิติบุคคลเจ้าของแพลตฟอร์มที่มักเป็นบรรษัทข้ามชาติ เรื่อยมาจนถึงสำรวจความพร้อมของกฎหมายในการรองรับปรากฏการณ์การใช้ข้อมูลจากแพลตฟอร์มดิจิทัล ว่าสามารถบริหารจัดการให้เกิดการแบ่งปันข้อมูลดิจิทัลระหว
ทศพล ทรรศนพรรณ
ประเด็นพื้นฐานที่รัฐต้องคิด คือ จะส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมทางเทคโนโลยีเพื่อสะสมความมั่งคั่งได้อย่างไร แล้วจึงจะไปสู่แนวทางในการแบ่งปันความมั่งคั่งให้กับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการผลิตข้อมูลขึ้นมาในแพลตฟอร์ม
ทศพล ทรรศนพรรณ
Kean Birch นำเสนอปัญหาของข้อมูลส่วนบุคคลในฐานะสินค้าของตลาดนวัตกรรมเทคโนโลยีจำนวน 5 ประเด็น คือ1.ข้อมูลส่วนบุคคลเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของแพลตฟอร์มในฐานะเจ้าของข้อมูลทึ่ถูกรวบรวมโดยนวัตกรรม,