Skip to main content

คนไร้บ้านเป็นเสียงที่ไม่ถูกนับ การใช้พลังในลักษณะกลุ่มก้อนทางการเมืองเพื่อเรียกร้องประโยชน์จากผู้มีอำนาจให้จัดสรรทรัพยากรให้จึงเป็นเรื่องยาก ด้วยสาเหตุหลัก 2 ประการ คือ
1) มีที่อยู่ไม่เป็นหลักแหล่งไม่ชัดเจน ในบางกรณีอาจมีภูมิลำเนาตามเอกสารราชการแต่เป็นพื้นที่อื่น ต่างจังหวัด มิใช่ประชากรในทะเบียนราษฎร์ของพื้นที่ซึ่งตนใช้ชีวิตอยู่ในแต่ละวัน
2) ไม่มีเอกสารยืนยันสถานะบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการสูญหาย ละทิ้ง หรือเป็นผู้ตกสำรวจในการทางทะเบียนราษฎร์ ไปจนถึงการเป็นคนสัญชาติอื่นหรือไม่อาจยืนยันได้เลยว่ามีสัญชาติใด

อย่างไรก็ดี คนไร้บ้าน คนเร่ร่อน คนอยู่ในพื้นที่สาธารณะเหล่านี้ ล้วนเป็น “บุคคล” ตามกฎหมายต้องได้รับการประกันสิทธิขั้นพื้นฐานไม่แตกต่างจากบุคคลอื่น เพียงแต่สิทธิทางการเมืองตามสถานะของสัญชาติอาจแตกต่างกันไปบ้าง   กล่าวคือ คนที่ไม่มีสัญชาติไทยอาจไม่ได้รับการประกันสิทธิทางการเมือง เช่น การลงรับสมัครเลือกตั้ง การลงคะคะแนนเสียง หรือการมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรงในบางประเภท  แต่สิทธิพลเมืองขั้นพื้นฐานอื่นๆ ยังต้องได้รับการประกันอยู่ แม้จะเป็น “สิทธิของคนเดียว” หรือ “สิทธิของคนส่วนน้อย” ไม่ใช่กลุ่มคะแนนเสียงทางการเมืองที่รัฐต้องการก็ตาม เช่น สิทธิเด็ดขาดในชีวิต เนื้อตัวร่างกาย ปลอดการทรมาน เสรีภาพในทางความคิดความเชื่อลัทธิและศาสนา สิทธิในกระบวนการยุติธรรม สิทธิในเกียรติยศชื่อเสียงความเป็นส่วนตัว เพศ และครอบครัว เป็นต้น

สิทธิอีกกลุ่มที่อาจมีข้อสนเท่ห์และอาจถกเถียงกันต่อไปได้ คือ สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ซึ่งเชื่อมโยงกับบริบททางสังคมและวัฒนธรรมในพื้นที่และเวลาของสถานการณ์ที่คนไร้บ้านเผชิญอยู่ และมีส่วนกำหนดนิยามความหมายให้กับ “ชีวิตของคนไร้บ้าน” จะได้กล่าวถึงต่อไปในภายหลัง เพราะยังมีรายละเอียดที่ต้องพิจารณาอย่างเชื่อมโยงกับเงื่อนไขสำคัญอีกประการนั่น คือ ทรัพยากรที่มีอยู่เพื่อส่งเสริมสิทธิเหล่านี้

ในเบื้องต้นจะวิเคราะห์ถึง สิทธิพลเมืองขั้นพื้นฐาน ที่รัฐจำเป็นต้องให้หลักประกันกับคนไร้บ้านโดยปราศจากการเลือกประติบัติไม่ว่าจะเป็นสัญชาติ เชื้อชาติ ศาสนา สถานะทางเศรษฐกิจและสังคม ความแตกต่างทางลัทธิความเชื่อและการเมืองใดๆทั้งสิ้น   สิทธิในกลุ่มนี้ถือเป็นสิทธิติดตัวของบุคคลมาตั้งแต่กำเนิดรัฐมิอาจพรากไปได้ เพียงแต่รัฐต้องไม่ละเมิดเพิกถอน และเพิ่มหลักประกันให้ อาทิ การมีกฎหมาย ระเบียบ และนโยบายที่รับรองสิทธิ การมีโครงการและมาตรการป้องกันการละเมิดสิทธิ  การฝึกอบรมและจัดสรรบุคลากรผู้เชี่ยวชาญเมื่อต้องจัดการปัญหาที่เกี่ยวข้องกับคนไร้บ้าน เป็นต้น

สภาพปัญหาเบื้องต้นเกี่ยวกับคนไร้บ้านนั้นเชื่อมโยงกับสถานภาพที่สุ่มเสี่ยงด้อยอำนาจของตัวคนไร้บ้านรายบุคคล ไปจนถึงกลุ่มคนไร้บ้านที่อยู่รวมกันเป็นหมู่คณะ ส่วนเรื่องขบวนการขับเคลื่อนประเด็นสาธารณะของกลุ่มคนไร้บ้านจะวิพากษ์ในภายหลังพร้อมกับเรื่องสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม   สถานะของคนไร้บ้านนั้นเสี่ยงต่อการถูก “เหยียดหยามศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” และเมื่อประสบภัยต้องการเรียกร้องสิทธิช่วยเหลือเยียวยาก็อาจไม่ได้รับการตอบสนองเพราะรัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมองด้วยสายตาที่ “เลือกประติบัติ”

กลุ่มปัญหาและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนี้โดยตรง คือ เรื่องการเชื่อมโยงคนไร้บ้านเข้ากับองค์กรอาชญากรรม “แบบเหมารวม”   การไม่อาจแยกแยะได้ว่ากลุ่มคนไร้บ้าน คนเร่ร่อน คนในพื้นที่สาธารณะ กลุ่มใด คนไหนเป็นอาชญากร เป็นส่วนหนึ่งขององค์กรอาชญากรรม หรือเป็นเหยื่อของอาชญากรรม ย่อมส่งผลกระทบร้ายแรงต่อตัวคนไร้บ้าน เนื่องจากการไม่รับการปกป้องคุ้มครอง และเสี่ยงต่อการถูกจดจ้องหรือจับกุมเป็นอาชญากรรม ย่อมส่งผลต่อความไว้วางใจของคนไร้บ้านต่อการสร้างความสัมพันธ์กับรัฐและองค์กรพัฒนาเอกชน   การสร้างฐานข้อมูลเกี่ยวกับคนไร้บ้านที่มีลักษณะบังคับเก็บปราศจากความยินยอมพร้อมใจจากเจ้าตัว นอกจากจะเป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัวและข้อมูลส่วนบุคคลแล้ว ยังเป็นการทำลายความไว้วางใจขั้นพื้นฐานไปเสียด้วย   “ความสมัครใจ” และ “ความรักษาความลับ” จึงต้องเป็นหลักการขั้นต้นของการทำงานด้านข้อมูลและการข่าว

ความอ่อนด้อยของประสิทธิภาพในการหาข่าว และการจัดเก็บข้อมูล และการปกป้องมิให้มีการนำข้อมูลที่เกี่ยวกับตัวคนไร้บ้านไปใช้อย่างผิดวัตถุประสงค์ หรือนำไปสู่การละเมิดสิทธิ  ย่อมทำให้คนไร้บ้านและกลุ่มไม่ไว้วางใจรัฐ ไม่สามารถประสานข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อราชการ และการวางแผนแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ  ถือเป็นรากของปัญหาที่ต้องการทิศทางและกรอบที่แน่ชัดในเบื้องต้น เพื่อป้องกันผลสะเทือนที่จะมีต่อไปในอนาคต และกระทบต่อกระบวนการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาทั้งระบบ   เพราะเป็นที่รับรู้ว่า การเข้าถึงข้อมูลของคนไร้บ้านต้องวางอยู่บนพื้นฐานของ “ความไว้ใจ”  หาไม่แล้วก็จะเจอแต่ข่าวลวง ข้อมูลเท็จ

ปัญหาที่หนักหน่วงยิ่งกว่า คือ การใช้คนไร้บ้านเป็นอาชญากรสมมติแต่ต้องได้รับโทษทัณฑ์จริง นำไปสู่การเสียประวัติต่อเนื่อง และตกอยู่ใต้อาณัติของรัฐและผู้มีอำนาจ   การสร้างหลักประกันสิทธิในกระบวนการยุติธรรม การจัดหาทนายที่ปรึกษาเพื่อต่อสู้คดีอาญา หรือการลด ละ เลิกนโยบายการจัดกุมคนไร้บ้านเพื่อเพิ่มยอดประสิทธิผลการทำงานของภาครัฐต้องยุติ เนื่องจากขัดกับสิทธิในการปลอดจากความรับผิดทางอาญาหากมิได้กระทำการอย่างสิ้นเชิง  เช่นเดียวกับ การบีบให้คนไร้บ้านเป็นสายรายงานข่าว หรือซัดทอดบุคคลอื่นในฐานะพยาน ก็ต้องได้รับการทบทวนทั้งในแง่การใช้สายข่าวประเภทนี้ และการรับฟังพยานเหล่านี้ในกระบวนการยุติธรรม

หากรัฐสามารถแยกแยะกลุ่มบุคคลได้ชัดเจนแล้ว จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวเนื่องการใช้ประโยชน์จากคนไร้บ้านได้ดีขึ้น อาทิ องค์กรอาชญากรรมที่กักขังหน่วงเหนี่ยวทำร้ายคนเพื่อบังคับให้เป็นขอทาน  การบังคับคนไร้บ้านให้กลายไปเป็นผู้ใช้แรงงานทาสในอุตสาหกรรมเสี่ยงภัยอันตราย และการบังคับขืนใจให้ขายบริการทางเพศ เป็นต้น   กิจกรรมเหล่านี้ถือเป็นอาชญากรรมร้ายแรงที่รัฐไทยได้ให้สัตยาบันและประกาศต่อประชาคนโลกว่าจะต่อต้านการค้ามนุษย์อย่างเข้มข้น   ดังนั้นการปรับการทำงานด้านการข่าว และการประกันสิทธิในกระบวนการยุติธรรม จะทำให้ช่วยปกป้องเหยื่อ และนำผู้กระทำความผิด/องค์กรอาชญากรรมมาลงทาได้ ด้วยพยานหลักฐานที่มีการประสานข่าวจากกลุ่มคนไร้บ้านที่ไว้วางใจรัฐมากขึ้น

เมื่อมองปัญหาคนไร้บ้านลงมาในระดับชีวิตประจำวันทั่วไป จะพบว่าปัญหาที่คนไร้บ้านเผชิญส่วนใหญ่จะจัดอยู่ในความขัดแย้งเล็ก ๆ น้อย ๆ สืบเนื่องจากการอยู่ในพื้นที่สาธารณะที่อาจกระทบกระทั่งกับผู้อื่นที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกัน หรือการประกอบอาชีพเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่อาจสร้างผลกระทบต่อผู้ประกอบการรายอื่น ๆ  เมื่อเกิดปัญหา “คนไร้บ้าน” มักตกอยู่ในสถานะเสียเปรียบเพราะอคติบางประการจากสายตาของสังคมหรือที่อันตรายไปกว่านั้น คือ การเลือกประติบัติจากเจ้าพนักงานที่ต้องผดุงความยุติธรรมบนหลักความเสมอภาคต่อบุคคลแม้จะมีความแตกต่างหลากหลายไป   การชี้ขาดระงับข้อพิพาทเบื้องต้น หรือทำสำนวนส่งฟ้อง อาจทำให้คนไร้บ้านต้องตกไปอยู่ฝั่งฝ่าย “จำเลย” ที่มีความลำบากในชีวิตประจำวันและสุ่มเสี่ยงที่จะสูญเสียเสรีภาพไปเนื่องจากเข้าไม่ถึงหลักประกันเพื่อยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราว(การประกันตัว) เพราะขาดทั้งทุนทางเศรษฐกิจ(ทรัพย์ประกัน) และทุนทางสังคม(บุคคลค้ำประกัน)  การจัดกระบวนการช่วยเหลือเมื่อต้องเผชิญกับความขัดแย้ง ไม่ว่าจะเป็นที่ปรึกษากฎหมายเบื้องต้นของรัฐ การเข้าถึงกองทุนหลักทรัพย์ของจำเลยในคดีอาญา หรือการได้ใช้ประโยชน์จากทนายอาสาที่มีคุณภาพ ย่อมเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐต้องประกันให้

นอกจากนี้การเร่งรัดติดตามตัวผู้ละเมิดสิทธิคนไร้บ้านอย่างร้ายแรง เช่น ฆาตกรรม ทำร้าย อุ้มหาย ย่อมเป็นการสร้างความมั่นคงในการดำรงชีวิตให้กับคนทั้งสังคมมิใช่แค่กลุ่มคนไร้บ้านเท่านั้น   และเนื่องจากคนไร้บ้านอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการถูกคุกคามสูงเพราะอยู่ในพื้นที่สาธารณะ   รัฐจึงอาจต้องผลักดันมาตรการส่งเสริมและเฝ้าระวังภัยให้กับคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่สาธารณะมากขึ้นหากไม่สามารถจัดสวัสดิการที่อยู่อาศัยพักหลบภัยที่เพียงพอให้กับประชาชน   นอกจากนี้การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของคนไร้บ้าน ในกรณีอื่น ๆ เช่น เป็นผู้เสียหายจากคดีเกี่ยวทรัพย์ ถูกลักขโมย ยักยอก ข่มขู่ กรรโชก ก็พึงได้รับการตอบสนองนำไปสู่การเยียวยาได้ตามกระบวนการยุติธรรมมากขึ้น

กล่าวอย่างถึงที่สุดเมื่อคนไร้บ้านประสบปัญหา หรือต้องการจะเรียกร้องสิทธิอันใดก็ตาม คู่กรณีหรือหน่วยรัฐมักจะถามย้อนไปถึง “สถานะบุคคล” เสมอ  ดังนั้นการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวกับคนไร้บ้านท่ามกลางสถานการณ์ของคนย้ายถิ่นและข้ามพรมแดนอย่างมโหฬารในปัจจุบัน จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องทำให้ปมเงื่อนไขแรกสุดถูกแก้ไปก่อน เพื่อนนำไปสู่การยืนอย่างมั่นใจของตัวคนไร้บ้านเอง คนรอบข้างที่สัมพันธ์กับกลุ่มคนไร้บ้าน และหน่วยงานรัฐผู้รับผิดชอบก็จะพร้อมแก้ปัญหาในประเด็นเฉพาะต่าง ๆ ได้อย่างหนักแน่นขึ้น    ปัญหาปลีกย่อยที่อาจต้องใส่ใจในรายละเอียดมากขึ้น อาทิ ปัญหาการแจ้งเกิดของบุตรหลานคนไร้บ้านที่ไม่มีภูมิลำเนาชัดเจน หรือไม่อาจพิสูจน์สัญชาติได้   ปัญหาการเสียสถานะบุคคลจากการสวมสิทธิทางทะเบียนราษฎร์ รวมถึงการบ่งชี้เพื่อให้สิทธิเพิ่มเติมแก่คนไร้บ้านที่เป็นผู้พิการ เป็นต้น

ยิ่งไปกว่านั้นการสร้างมาตรการเฝ้าระวังภัยคุกคามต่อคนเร่ร่อนในกลุ่มเสี่ยงภัยสูง เช่น เด็ก เยาวชน สตรี และบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ก็จำต้องวางมาตรการรองรับปัญหาที่เคยถูกหลบซ่อนบิดบังเอาไว้  ด้วยเหตุที่คนไร้บ้าน ถูกมองข้าม หรือถูกรัฐที่ต้องการพัฒนาเมืองไปสู่สังคมศิวิไลซ์ไร้ผู้ด้อยพัฒนา แล้วพยายามซุกซ่อนปัญหาไว้ไม่ยอมแก้ไข เพราะต้องการแสดงออกให้คนในสังคมอื่นมองเห็นแต่ด้านที่สวยงาม

*ปรับปรุงจากวิจัย โครงการศึกษาและวิเคราะห์สภาพปัญหาและสนับสนุนองค์ความรู้ทางกฎหมายเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไร้บ้าน, 2560. สนับสนุนทุนโดย สสส.

 

บล็อกของ ทศพล ทรรศนพรรณ

ทศพล ทรรศนพรรณ
Nick Srnicek ได้สรุปภาพรวมของแพลตฟอร์มดิจิทัลที่แตกต่างกัน 5 ประเภท คือ1.แพลตฟอร์มโฆษณา, 2.แพลตฟอร์มจัดเก็ยข้อมูล, 3.แพลตฟอร์มอุตสาหกรรม, 4.แพลตฟอร์มผลิตภัณฑ์, และ 5.แพลตฟอร์มแบบลีน 
ทศพล ทรรศนพรรณ
ผู้ประกอบการแพลตฟอร์มดิจิทัลมีรายได้และผลกำไรจำนวนมหาศาลจากการประมวลผลข้อมูลการใช้งานของผู้บริโภคในระบบของตน แต่ยังไม่มีระบบการแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม    เนื่องจากยังมีข้อถกเถียงเรื่องใครเป็นเจ้าของข้อมูลและมีสิทธิแสวงหาผลประโยชน์จากข้อมูลเหล่านั้นบ้าง    จึงจ
ทศพล ทรรศนพรรณ
การบังคับใช้ พรบ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ที่ผลักดันออกมาในปี พ.ศ.
ทศพล ทรรศนพรรณ
แพลตฟอร์มมักเป็นระบบแบบเปิดให้ทุกคนมีส่วนร่วม ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่นำไปสู่ปัญหา จากการที่ทำให้การเข้าถึงข้ามเขตอํานาจ ในทางกลับกัน กลับมีการกําหนดให้หน่วยงานกํากับดูแลและผู้ออกกฎหมายต้องร่วมมือกันข้ามพรมแดนแห่งชาติเพื่อประสานระบอบกฎหมายและกฎระเบียบในขณะที่จัดการความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นรวมถึงประเด็นกา
ทศพล ทรรศนพรรณ
การวิเคราะห์ปรับปรุงเกระบวนการระงับข้อพิพาทของบรรดาผู้บริโภคในแพลตฟอร์มต่าง ๆ ยืนยันว่าระบบสามารถใช้เพื่อทำการแก้ไขปัญหาให้แก่ผู้บริโภคจํานวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหน่วยงานระงับข้อพิพาททางเลือก (Alternative Dispute Resolution - ADR) ที่ได้รับการรับรองจากสาธารณะให้เป็นมากกว่ากลไกการระงับข้อพิพาทใน
ทศพล ทรรศนพรรณ
การสร้างความเชื่อถือให้กับผู้บริโภคจึงเป็นผลดีต่อการเติบโตของธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ และการตัดสินใจของผู้บริโภคที่จะทำธุรกรรมออนไลน์กับผู้ขายต่อไป ทำให้ประเทศต่าง ๆ  รวมถึงประเทศไทยให้ความสนใจและมุ่งให้เกิดการคุ้มครองอย่างจริงจังต่อปัญหาการละเมิดสิทธิในความเป็นส่วนตัวเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคลของผู
ทศพล ทรรศนพรรณ
ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลันทันใดที่ผู้คนจำนวนมากขาดความรู้ความเข้าใจต่อเทคโนโลยีที่มีผลกระทบต่อชีวิตโดยตรง รัฐในฐานะผู้คุ้มครองสิทธิประชาชนและยังต้องทำหน้าที่กระตุ้นความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจด้วย จึงมีภาระหนักในการสถาปนาความ “เชื่อมั่น” ให้เกิดขึ้นในใจประชาชนที่ลังเลต่อการเข้าร่วมสังฆกรรมใน
ทศพล ทรรศนพรรณ
โลกเสมือนจริงเป็นสื่อใหม่ในโลกยุคดิจิทัลที่แสดงด้วยภาพและเสียงสามมิติซึ่งผู้ใช้สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในโลกที่ถูกสร้างขึ้นเหล่านี้ ทำให้เกิดเป็นสังคม (Community) ภายในโลกเสมือนจริงที่ผู้คนสามารถติดต่อสื่อสารและมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันได้ แต่มิใช่เพียงการเข้าไปรับรู้ด้วยประสาทสัมผัสเพียงเท่านั้น นอก
ทศพล ทรรศนพรรณ
การทำธุรกรรมบนอินเตอร์เน็ตมีแนวโน้มที่จะส่งเสริมการเข้าร่วมสัญญาอย่างรวดเร็วสะดวกลดอุปสรรค ผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตก็ด้วยไม่ต้องการเดินทางหรือไม่ต้องมีตัวกลางในการประสานความร่วมมือหรือต้องจ่ายค่าธรรมเนียมให้กับผู้รับรองสถานะของสัญญาในลักษณะตัวกลางแบบที่ต้องทำในโลกจริง ที่อาจถูกกฎหมายบังคับให้ทำตามแบ
ทศพล ทรรศนพรรณ
โลกเสมือนจริง (Virtual World) คือสภาพแวดล้อมเสมือนซึ่งสร้างและปฏิบัติการด้วยซอฟต์แวร์ (Software) ที่อยู่ในเซิร์ฟเวอร์ (Server) ของเจ้าของแพลตฟอร์ม (Platform) สิ่งแวดล้อมเสมือนเหล่านี้ออกแบบมาให้ผู้เล่นหรือผู้ใช้โลกเสมือนจริงสามารถใช้ตัวตนเสมือนหรืออวตาร (Avatar) ในการท่องไปในโลกนั้น โดยสามารถติดต
ทศพล ทรรศนพรรณ
เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ในยุคดิจิทัลตั้งอยู่บนพื้นฐานของเสรีภาพในการแสดงออกบนโลกออนไลน์ โดยมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับประเด็นกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาเนื่องจากกฎหมายลิขสิทธิ์สามารถห้ามปรามการเผยแพร่ความคิดหรือการแสดงออกในงานสร้างสรรค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยอ้างเหตุแห่งการคุ้มครองสิทธิของปัจเจกชนอย
ทศพล ทรรศนพรรณ
ความเฟื่องฟูของเศรษฐกิจดิจิทัลที่สร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการจำนวนมหาศาลแต่นำมาซึ่งความกังขาว่า สังคมได้อะไรจากการเติบโตของบรรษัทขนาดใหญ่ผู้เป็นเจ้าของเทคโนโลยีและควบคุมแพลตฟอร์มเหล่านี้ อันเป็นที่มาของเรื่อง การจัดเก็บภาษีดิจิทัลได้กลายเป็นข้อกังวลที่สำคัญสำหรับหลาย ๆ รัฐบาล ในยุโรป เช่นใน เยอรมนี