จากเหตุการณ์ของเช้าวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๑ เชื่อว่าคนไทยทั้งประเทศคงสลดใจกับโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นจากการใช้อำนาจรัฐที่ไม่ชอบธรรมของรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ คงไม่มีใครอยากเห็นภาพคนไทยต้องฆ่าคนไทยด้วยกันเอง(เว้นเสียแต่นายทักษิณ ชินวัตรที่คงสาแก่ใจ)
ภาพเหตุการณ์ในวันนั้นที่สื่อสารผ่านสื่อโทรทัศน์โดยเฉพาะTHAI TPS ASTVและหน้าหนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆในวันรุ่งขึ้น คงไม่มีมูลเหตุจูงใจให้เชื่อว่าเป็นการสลายการชุมนุมอย่างนุ่มนวลดังที่ตำรวจระดับสูงบางคนให้สัมภาษณ์อย่างแน่นอน เพราะนั่นคือภาพเหตุการณ์ฆาตกรรม สยองขวัญคนไทยทั้งประเทศมากกว่า หากภาพที่เห็นมีแต่ภาพข่าวไร้คำบรรยาย คนดูอาจเข้าใจว่าเป็นการทำสงครามกลางเมืองในประเทศใดประเทศหนึ่ง หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังทำสงครามปราบปรามข้าศึกมากกว่าเป็นภาพที่ข้าราชการตำรวจไทยกระทำกับคนไทย ผู้ชุมนุมขับไล่รัฐบาลตามสิทธิรัฐธรรมนูญที่พึงมี
เหตุการณ์ในวันนั้นคงสามารถยืนยันบางสิ่งบางอย่างในสังคมไทยได้ว่านักการเมือง ตำรวจ ทหารไทยไม่เคยเปลี่ยนแปลงทัศนคติต่อผู้ชุมนุมและไม่เคยเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้กำลังอำนาจในการปราบปรามประชาชนเลยในทุกยุคทุกสมัยนับตั้งแต่เหตุการณ์ ๖ ตุลา ๑๔ ตุลา พฤษภาทมิฬและเหตุการณ์ต่างๆอีกหลายครั้ง หนึ่งในเหตุการณ์คือเหตุการณ์ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๔๕ การสลายกลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซธรรมและโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย อ.จะนะ จ.สงขลา แม้เหตุการณ์ในวันนั้นจะไม่รุนแรงและป่าเถื่อนโหดร้ายเช่นเหตุการณ์ในครั้งนี้ แต่เบื้องหลังความคิดการปรามปราบประชาชนมาจากฐานความคิดทัศนคติเดียวกัน คือ การไม่เคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชน และใช้อำนาจเป็นใหญ่ แม้วันนั้นไม่คนตายแต่ก็มีคนเจ็บ คนถูกจับกุม ทรัพย์สินเสียหายเช่นกัน
ภาพเหมือนปาหี่การเมือง
ภาพที่นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ พยายามดันทุรังที่จะเปิดแถลงนโยบายรัฐบาล แม้ต้องเข่นฆ่าคนไทยร่วมชาติก็ตาม สมชาย วงศ์สวัสดิ์เข้ารัฐสภาโดยการเหยียบย่ำบนชีวิตและคราบรอยเลือดของเพื่อนร่วมชาติที่อาบท้องถนน เขาทำได้อย่างไร??? จิตใจเขาทำด้วยด้วยอะไร? ทำให้นึกถึงเหตุการณ์การจัดประชาพิจารณ์รับฟังความเห็นของโครงการท่อส่งก๊าซธรรมและโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย อ.จะนะ จ.สงขลาเมื่อปี ๒๕๔๓ ที่จัดโดยปตท. ประชาพิจารณ์ครั้งแรกไม่สำเร็จเนื่องจากประชาชนชุมนุมคัดค้าจำนวนมากจนประพิจารณ์ต้องล่ม แต่ทางปตท.ไม่ลดละจัดประชาพิจารณ์อีกครั้งหนึ่งในวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๔๓ โดยวันนั้นได้วางมาตการป้องกันกลุ่มคัดค้านอย่างเหนี่ยวแน่น แต่อย่างไรก็ตามกลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้านนับสองพันคนได้เดินทางมารอตั้งแต่คืนวันที่ ๒๐ โดยชุมนุมบริเวณประตูทุกด้านที่เข้าสู่สถานที่ประชาพิจารณ์ซึ่งใช้สนามกีฬาจีระนครหาดใหญ่ จ.สงขลา เพราะเป็นการประชาพิจารณ์ที่ไม่ชอบธรรมเพราะผิดกระบวนการตามกฎหมายรัฐธรรมนูญและกรรมการประชาพิจารณ์เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับโครงการ ที่สำคัญเปิดโอกาสให้เฉพาะพรรคพวกตนที่สนับสนุนโครงการเข้าร่วมเท่านั้น เหตุการณ์รุนแรงก็เกิดขึ้นในเช้าวันที่ ๒๑ ตุลาคม เมื่อประธานกรรมการประชาพิจารณ์ คือ พล.อจรัล กุลละวณิชย์ ยืนยันจะต้องเข้าไปจัดประชุมรับฟังความให้ได้เพราะมีเป้าหมายต้องการผลักดันการดำเนินโครงการอย่างเต็มที่ ดังนั้นจึงมีการวางแผนร่วมมือกับตำรวจพร้อมชุดตำรวจปราบจราจล ใครจะคิดว่ากรรมประชาพิจารณ์จะนั่งในรถตู้แล้วให้ตำรวจชุดหนึ่งการผลักดันและสลายการชุมนุม โดยมีตำรวจอีกหลายร้อยนายขนาบสองข้างรถคุ้มกันให้รถกรรมประชาพิจารณ์เข้าไปสู่สถานที่ประชุมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจทุบตีผู้ชุมนุมจนศีรษะแตกเลือดอาบไปหลายคน ฉุดกระชาดลากดึงและเหยียบย่ำไปบนร่างของผู้ชุมนุม สุดท้ายกรรมการก็สามารถจัดประชุมได้สำเร็จและใช้เวลาเพียงประมาณ ๒๕ นาทีก็สุดปิดการรับฟังความเห็น โดยการถามที่ประชุมว่าใครเห็นด้วยยกมือซึ่งทั้งหมดก็ยกมือให้ดำเนินโครงการได้ ถือเป็นการเสร็จปิดฉากปาหี่ประชาพิจารณ์เลือด จากนั้นพล.อจรัล กุลละวณิชย์ ก็รีบเพ่นหนีออกจากสถานที่ประชุมอย่างไร้เกียรติและศักดิ์ศรี และได้แถลงว่าการประชาพิจารณ์เสร็จสิ้นแล้ว ซึ่งสื่อมวลชนวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการประชาพิจารณ์ที่สั้นที่สุดในโลก ซึ่งคงไม่แตกต่างกับการแถลงนโยบายของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ที่ใช้เวลาแถลงนโยบายบริหารประเทศเพียง ๒๐ นาทีเท่านั้นจากนั้นก็ปีนกำแพงหนีขึ้นเฮลิคอปเตอร์ พล.อจรัล กุลละวณิชย์ รั้นจะจัดประชาพิจารณ์ให้ได้เพื่อสร้างสร้างความชอบธรรมในการดำเนินโครงการก่อสร้างโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย เพราะกฎหมายรัฐธรรมนูญบังคับให้ต้องจัดทำประชาพิจารณ์ก่อนดำเนินโครงการ ด้านนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ดื้อด้านต้องประชุมแถลงนโยบาย เพราะต้องการเข้าบริหารประเทศเพื่อสืบทอดระบอบทักษิณและช่วยเหลือพี่เมียตัวเองให้พ้นผิดจากคดีๆต่างเพื่อกลับมาสืบทอดอำนาจ ซึ่งทำให้นายสมชายถอยไม่ได้แม้ต้องกินเลือดกินเนื้อเพื่อนร่วมชาติ
ตำรวจแสดงจุดยืนชัดเจนมาตลอดทุกยุคสมัยว่ายืนเคียงข้างระบบทุนและระบบอำนาจรัฐเท่านั้น ไม่ว่ายุคสมัยใดไม่เคยยืนเคียงข้างประชาชนผู้เป็น "นาย"ที่แท้จริงของพวกเขา
บทเรียนสำนักงานตำรวจแห่งชาติจากการสลายการชุมนุม
สำนักงานตำรวจแห่งชาติคงลืมบทเรียนสำคัญบทที่หนึ่ง ที่มีเนื้อหาใจความว่าด้วย (๑)พล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์ อดีตผบ.ตร.และข้าราชการตำรวจระดับสูงอีก ๕ นายยังอยู่ในฐานะจำเลยคดีอาญา ข้อการใช้อำนาจไม่ชอบและการใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุมของกลุ่มคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย จากเหตุการณ์การสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๕๔ บริเวณโรงแรมเจบีหาดใหญ่ คดียังอยู่ในชั้นศาลของศาลจังหวัดสงขลา (๒) ศาลปกครองจังหวัดสงขลาให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติชดใช้ค่าเสียหายให้กับผู้ชุมนุมคนละ ๑๐,๐๐๐ บาทจำนวน ๒๔ คน จากกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุม บทเรียนบทที่หนึ่งที่ตำรวจไม่จดจำอาจเป็นเพราะตำรวจไม่เคยเดินทางมาศาลเพื่อฟังคำพิพากษาบทเรียนอันน่าจดจำเล่านี้จึงไม่แทรกซึมเข้าสู่สมองอันน้อยนิดของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่ว่าสมองน้อยนิดด้วยความเคารพไม่ได้คิดดูถูกแต่เป็นความจริงเพราะตำรวจส่วนมากไม่ใช้มันสมอง ความคิดและจิตวิญญาณของตัวเองว่าสิ่งไหนถูก สิ่งไหนควรกระทำไม่ควรกระทำพวกเขาถูกอบรมและฝึกฝนมาเพียงว่าให้ปฏิบัติตามคำสั่งนายเท่านั้น "นายสั่งต้องทำ"
หลักสูตรของตำรวจไทย : ว่าด้วย
บทที่ ๑ การสลายการชุมนุมต้องใช้ความรุนแรงเท่านั้น
อยากเป็นตำรวจดีต้องถือหางนักการเมืองและนายทุน รุมทำร้ายประชาชน ณ เวลานี้เริ่มเชื่อแล้วว่าตำราที่ตำรวจไทยคงถูกฝึกและสอนให้ทำร้ายประชาชนผู้เสียภาษีจ้างพวกเขา เมื่อมีประชาชนที่ไหนชุมนุมประท้วงเรียกร้องความเป็นธรรมต้องไม่เห็นใจ ไม่ต้องฟังเสียงประชาชน ให้ฟังคำสั่งนักการเมืองและนายทุนเท่านั้น ไม่ต้องคำนึงถึงคุณธรรมหาช่องทางและโอกาสใช้กำลังผลักดันสลายการชุมนุม โดยไม่ต้องคำนึงถึงขั้นตอนการสลายการชุมนุมของนานาอารยะประเทศหรือของสากลที่ปฏิบัติกัน ไม่ต้องมีการเจรจา ไม่ต้องประกาศให้ผู้ชุมนุมรู้ตัวว่ากำลังจะมีการสลายการชุมนุม ไม่ต้องใช้ความนุ่มนวลละมุนละม่อมกับประชาชนผู้ไม่ยอมจำนน
บทที่ ๒ ต้องใส่ร้ายป้ายสี ปัดความผิด
เมื่อใช้ความรุนแรงกับประชาชนผู้ชุมนุมเกิดกระแสประฌามจากสังคมให้ตำรวจชั้นผู้ใหญ่ออกมาจัดแถลงข่าว กล่าวหาว่าผู้ชุมนุมว่าเป็นผู้ก่อความวุ่นวายกับบ้านเมืองก่อน มีกรณีศึกษาที่หนึ่ง กรณีการสลายผู้ชุมนุมคัดค้านโครงการก่อสร้างโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย อ้างว่าต้องสลายเพราะผู้ชุมนุมกำลังจะขับรถยนต์หกล้อฝ่าแผงเหล็กกั้นของตำรวจเพื่อบุกยึดโรงแรมเจบี หาดใหญ่ที่ทักษิณ ชินวัตรใช้เป็นสถานีประชุมครม.สัญจร ทั้งที่ประชาชนนั่งล้อมวงรับประทานอาหาร บ้างก็ละหมาด ความเป็นจริงคือตำรวจตั้งแถวอ้อมแผงเหล็กกั้นเข้าหาฝั่งผู้ชุมนุมเพื่อผลักดัน ทุบตี และทำร้ายร่างกาย นักศึกษาศีรษะแตกเลือดอาบเย็บหลายเข็มพ.ต.อ.สุรชัย สืบสุข กลับให้การในศาลว่านักศึกษาคนดังกล่าวเอาสีจากกระเป๋ากางเกงมาป้ายบนศีรษะ จากการสลายการชุมนุมทำให้ผู้หญิงเสื้อผ้าฉีกขาดด้านหลังจนเห็นเสื้อชั้นใน พล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์กลับออกมาให้สัมภาษณ์ว่าผู้ชุมนุมสร้างสถานการณ์ฉีกเสื้อผ้าตัวเอง กรณีศึกษาที่สอง การสลายการชุมนุมเมื่อเช้าวันที่ ๗ ตุลา ตำรวจออกมาชี้แจงว่าต้องสลายเพราะผู้ชุมนุมเอาน้ำมันราดถนนบนถนนรัฐสภาเพื่อเตรียมจุดไฟเผา และบอกว่าผู้ที่บาดเจ็บและเสียชีวิตพกพาระเบิดติดตัวมาเอง เป็นการใส่ร้ายป้ายสีคนตาย ซึ่งเขาและเธอไม่มีโอกาสที่จะลุกขึ้นมาปกป้องตนเองหรืออธิบายแก้ข้อกล่าวใดๆพล่อยๆของตำรวจได้เลย การใส่ร้ายป้ายสีปัดความผิดคือความเชี่ยวชาญชำนาญเฉพาะทางของตำรวจไทย
บทที่ ๓ สร้างหลักฐานเท็จยัดเยียดความผิด
จากเหตุการณ์เช้าวันที่ ๗ ตุลาตำรวจเป็นฆาตกร เข่นฆ่าประชาชนผู้บริสุทธิ์เพียงไม่กี่ชั่วโมงต่อมาคราบรอยเลือดผู้บริสุทธิ์ยังไม่ทันแห้งเหือดกลับบอกจะเอาผิดตั้งข้อหาผู้ชุมนุม ซึ่งเชื่อมั่นว่าตำรวจจะทำอย่างแน่นอน มิเช่นนั้นเท่ากับยอมรับและจำนนต่อความผิด ซึ่งชายชาติตำรวจไทยไม่มีวันให้เป็นเช่นนั้น เห็นได้ชัดจากกรณีการสลายการชุมนุมกลุ่มคัดค้านโครงการการก่อสร้างและโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย ทั้งที่ตำรวจผิดอย่างชัดเจนกลับจับกุมผู้ชุมนุมและตั้งข้อหาร้ายแรง ทำสำนวนเท็จเพื่อตั้งข้อกล่าวหายัดเยียดความผิด ความเป็นจริงของสังคมไทยตำรวจและอัยการสามารถทำสำนวนให้คนถูกกลายเป็นคนผิด คนผิดกลายเป็นคนถูกได้เสมอมา
ต้นเหตุอันนำไปสู่เหตุการณ์วันที่ ๗ ตุลาคมคือระบอบทุนนิยมสามานย์ทักษิณ ทำให้คนไทยต้องฆ่าคนไป สังคมไทยไม่ควรปล่อยให้เหตุการณ์ ๗ ตุลาคมผ่านเลยไปต้องมีกระบวนลงโทษฆาตกรและผู้บังคับบัญชาให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุม ผู้กระทำผิดต้องได้รับผลกรรมทั้งทางธรรมและทางกฎหมาย ฆาตกรมือเปื้อนเลือดและจิตใจเลือดเย็นอย่างนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ไม่มีความชอบธรรมใดๆเลยที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีบริหารประเทศไทยอีกต่อไป