"ตามหาชายหาด...ที่หายไป"

            ช่วงวันหยุดเข้าพรรษาที่ผ่านมามีน้องๆเยาวชนในนามของกลุ่มโหมเรารักษ์จะนะซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลาได้ร่วมกันจัดค่ายเยาวชนโหมเรารักษ์จะนะครั้งที่ 2 ตามหาชายหาด...หายไปขึ้นระหว่างวันที่ 7-8 กรกฎาคม 2552 ณ บ่อโชนรีสอร์ท ตำบลสะกอม อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา หลังจากที่มีการจัดค่ายเยาวชนครั้งแรกไปเมื่อปีกลายที่ผ่านมา เวลานั้นเป็นค่ายตามรอยเรื่องเล่าเมืองจะนะ

            เช้าวันที่ 7 กรกฎาคมน้องๆสามสิบกว่าชีวิตจากหลายหมู่บ้านและหลากหลายโรงเรียนได้เดินทางมารวมตัวกัน ณ ศูนย์การเรียนรู้วิถีธรรมชาติเพื่อชุมชน ตำบลบ้านนา อำเภอจะนะ  น้องเล็กสุดก็ประถมห้าประถมหก พี่สุดกำลังศึกษาปริญญาตรีเพื่อเตรียมออกเดินทางไปยังริมทะเลตำบลสะกอม

            ความคาดหวังของเยาวชนในการจัดค่ายครั้งนี้ เพื่อเรียนรู้ประการณ์ใหม่ๆ ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ต้องการเรียนรู้เกี่ยวกับชายหาดและท้องทะเล   เรียนรู้วิถีชีวิตของชาวประมงพื้นบ้านที่สัมพันธ์กับท้องทะเล ค้นหาที่ทำให้ชายหาดหายไป  ที่สำคัญเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์ทะเลบ้านเรา  ส่วนหนึ่งค่ายนี้ถือเป็นค่ายพัฒนาการของน้องๆโหมเรารักษ์จะนะจากค่ายที่หนึ่งในฐานะผู้เข้าร่วมค่าย  แต่ในครั้งนี้ขยับบทบาทเป็นผู้ออกแบบและเป็นพี่เลี้ยงค่าย  ผู้ปกครองที่ทำหน้าพี่เลี้ยงค่ายแรก สำหรับค่ายนี้เป็นฝ่ายสนับสนุน อำนวยความสะดวกและเฝ้าดูการเติบโตของเด็กๆ

            หลังจากทำความรู้จักและประมวลความคาดหวังของการมาค่ายคราวนี้แล้ว  น้องๆเริ่มกระบวนการเรียนรู้วิถีประมงพื้นบ้านและชายหาดบ้านสะกอม  นายเจ๊ะหมัด สังข์แก้ว  จากบ้านบ่อโชน ตำบาลสะกอมถ่ายทอดเรื่องราวของชายหาดในอดีตว่า เดิมทีชายหาดแถวนี้สวยงาม จากชายฝั่งถึงท้องทะเลมีหาดทรายกว้างยาวทอดขวางอยู่ ริมชายหาดมีต้นสนเป็นทิวแถว ชาวบ้านจะทำมาหากินบริเวณริมชายหาดหาหอยเสียบ รุนกุ้งเคย  แต่หลังจากที่เกิดปัญหาการกัดเซาะชายหาดทำให้กระทบการทำมาหาของชาวบ้านในพื้นที่ พันธุ์สัตว์น้ำหลายชนิดลดน้อยลง

            นายสาลี มะประสิทธิ์  ผู้ใหญ่แห่งบ้านโคกสัก ถ่ายทอดถึงความเปลี่ยนแปลงของชายหาดเริ่มอย่างรวดเร็วตั้งแต่มีการสร้างเขื่อนกั้นคลื่นที่ปากคลองสะกอม โดยกรมการขนส่งทางน้ำพาณิชนาวี ตั้งแต่ประมาณปี 2541 เป็นตั้งต้นมา ชายหาดสะกอมถูกน้ำกัดเซาะอย่างรุนแรง และพังทลายลงถึงปัจจุบันกัดเซาะลึกประมาณ 80 เมตร ระยะทางยาวกว่า 3 กิโลกรัม จากบ้านบ่อโชนบ้านโคกสักตลอดแนวยาวถึงตลิ่งชัน สำหรับบ้านโคกสักวันนี้คลื่นซัดใกล้ถึงบ้านเรือนที่อยู่อาศัย ศาลเอนกประสงค์ของหมู่บ้านที่อยู่บริเวณที่ดินสาธารณประโยชน์ก็ถูกคลื่นกัดเซาะจนพังทลาย  ที่สถานที่แห่งนี้เองที่ดินถูกกัดเซาะไปเนื้อที่หลายไร่ชายหาดขาวสะอาดถูกแทนที่ด้วยหาดหิน นายสาลีเล่าว่าธรรมชาติของคลื่นมีการพัดพาทรายขึ้นลงเป็นธรรมดาอยู่แล้ว  แต่ไม่ก่อให้เกิดการกัดเซาะ แต่หลังจากที่มีการสร้างเขื่อนกั้นคลื่นกั้นทรายที่ปากคลองสะกอมทำให้กระแสคลื่นเปลี่ยน ที่สำคัญเขื่อนดังกล่าวไม่สามารถกั้นทรายตามที่กรมเจ้าท่าฯตั้งใจไว้ เพราะกรมเจ้าท่าฯยังต้องใช้รถมาดูดทรายบริเวณนั้นทุกปี

            ด้านนายดลรอหมาน โต๊ะกาหวี ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ่อโชน  เล่าถึงความสำคัญของชายหาดอีกแง่มุมหนึ่งว่าชายหาดเป็นที่วิ่งเล่นและพักผ่อนหย่อนใจของคนในชุมชน  สมัยก่อนเด็กๆและผู้ใหญ่จะมีพักผ่อนบริเวณริมชายหาดเด็กๆมีการละเล่นมากมาย เป็นการสร้างความผูกพันธ์ภายในครอบครัว และยังเล่าให้น้องๆฟังว่าตัวแทนชาวบ้านสะกอมได้ร่วมกันฟ้องร้องกรมขนส่งทางน้ำฯต่อศาลปกครองสงขลาให้รับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับชายหาด เพราะไม่ต้องการให้ชายหาดเกิดความเสียหายมากกว่านี้

ช่วงบ่ายน้องๆฝ่าเปลวแดดที่ร้อนแรงไปยังริมชายหาดบ้านสวนกง   ตำบลนาทับ อำเภอจะนะ บริเวณชายหาดใกล้กับศูนย์วิจัยทางทะเลของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งปัจจุบันถูกทิ้งร้างไว้ น้องๆชาวค่ายล้อมวงริมหาดคุยกับชาวประมงที่นั้น จากสายตาที่มองเห็นชายหาดบริเวณนี้ยังอยู่ในสภาพที่ทอดยาวสวยงามไม่ถูกกัดเซาะแบบตำบลสะกอม 

จากการถ่ายทอดเรื่องราวของชาวประมงบ้านสวนกงทำให้รู้ว่าต้นตระกูลเดิมที่มาตั้งบ้านเรือนบริเวณนี้เป็นชาวจีน ชื่อ แปะกง ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นที่มาของชื่อบ้านสวนกง จากคำบอกเล่าอดีตชายฝั่งทะเลบ้านสวนกงทรัพยากรอุดมสมบูรณ์มาก ต่อมาช่วงประมาณ 10-15ที่ผ่านมามีเรือประมงประเภทอวนลากอวนรุนเข้าทำการประมงส่งผลให้ทรัพยากรลดน้อยลง ชาวบ้านส่วนใหญ่ต้องออกไปรับจ้างนอกพื้นที่ ต่อมาคนในชุมชนเกิดความคิดที่จะฟื้นฟูท้องทะเลให้คืนความอุดมสมบูรณ์ เพื่อจะได้กลับมาทำมาหากินในชุมชนตนเอง  จึงคิดถึงการทำปะการังเทียม เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยและเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ ซึ่งหลังจากการทำปะการังปรากฎว่าทรัพยากรพันธุ์สัตว์น้ำในท้องทะเลเพิ่มมากขึ้นทำให้ชาวบ้านสามารถกลับมาทำประมงได้อีกครั้ง

นอกจากการอนุรักษ์ฟื้นฟูทะเลแล้วยังมีการจัดการขยะในชุมชน แต่น่าเสียดายที่ขาดความต่อเนื่อง   และช่วงเวลาสิบที่ผ่านมาสมาชิกในชุมชนยังทำการรณรงค์การปลูกต้นไม้ในชุมชนเพื่อให้ลูกหลานได้ใช้ประโยชน์ระยะยาวซึ่งตอนนี้บางส่วนได้ใช้ประโยชน์จากต้นไม้ที่ปลูกแล้ว 

            ณ วันนี้ชาวบ้านสวนกงส่วนหนึ่งหวั่นวิตกกับกระแสข่าวที่ว่าท่าเทียบเรือน้ำลึกสงขลาแห่งใหม่จะเกิดขึ้นที่นี้ ซึ่งหมายถึงชายหาดอาจต้องถูกทำลายไปเช่นที่ตำบลสะกอม นั่นหมายถึงวิถีการทำมาหากินของชาวประมงจะกระทบไปด้วย 

            ยามค่ำคืนนั้นน้องๆได้นั่งล้อมวงรอบกองไฟและบอกเล่าสิ่งที่ได้เรียนรู้โดยสื่อสารผ่านการเล่าเรื่อง บทกลอน บทเพลงและศิลปะภาพวาดที่ถ่ายทอดจากหัวใจของเด็กๆ

บ้านสวนกงปลูกไม้ไว้ทดแทน                          ผู้ใหญ่ท่านหวงแหนเป็นหนักหนา

ให้ลูกหลานได้ใช้ประโยชน์นานา                           คนในถิ่นศึกษาน่าจดจำ

ทั้งต้นย่างยางนำมาอุดเรือได้                          มะพร้าวกล้วยลำเพ็งไว้เก็บเกี่ยวผล

ต้นวาหรือมังคุดป่าช่างน่ายล                                ทิ้งให้ชนรุ่นหลังได้ดูแล

ส่วนต้นเค็ดเมล็ดใช้ซักผ้า                               ผลนั่นหนาย้อมศีรษะงามเกศี

นำลำต้นทำรั้วหนามหลายบ้านมี                           หนามเค็ดนี้ถ้าโดนตำปวดถึงใจ

กระถินไซร้ได้พันธุ์มาจากฉลุง                         เราบำรุงกินกล้วยป่าน่าพิสมัย

เม็ดมะม่วงหิมพานต์ทานกันไว                              ทั้งพวกไก่พฤกษามาพึ่งพิง

ทั้งโท๊ะเหมรอออกผลชนได้กิน                         เป็นทรัพย์สินธรรมชาติมาตรฐาน

ใครมาซื้อไม่ขายได้ประโยชน์นาน                           รักษาไว้ให้ลูกหลานได้ชม

แต่วันนี้ท่าเรือใหญ่จะมาตั้ง                            เยาวชนช่วยรั้งโครงการนี้

ต่อไปคงมีแล้วเขียวขจี                                         ทุกพื้นที่สวนนานาเขาเข้าครอง

ในค่ายนี้โหมเรารักษ์จะนะ                              พวกเราจะเชิญชวนเพื่อนทั้งผอง

ผนึกแรงกำลังของพี่น้อง                                      ร่วมปกป้องความสมบูรณ์ของบ้านเรา

และสื่อสารผ่านบทเพลงรักบ้านเกิด

            ..รู้ว่าเสี่ยงแต่คงต้องขอลอง          รู้ว่าเหนื่อยแต่อยากได้ของที่สดสวย            ยังไงก็ต้องขอร่วมด้วยช่วยกัน        ได้เกิดมาเป็นคนทั้งที ยังไงต้องทำมันดีสักวัน    อยากปกป้องต้องเสี่ยง     ไม่อยากให้บ้านเราเป็นเพียงความฝัน         ลำบากลำบนมาหลายปี            ตรากตรำยังไงก็คิดที่จะทำ            ก็ดีกว่าปล่อยให้มันเสื่อมสูญ         ก็เพราะรักบ้านเราจริงๆ    รักจริงๆก็ต้องช่วยกัน..

      เช้าวันรุ่งขึ้นน้องๆช่วยกันระดมความคิดเห็นว่าอนาคตอยากให้ชายหาดเป็นอย่างไรและจะทำอย่างไรกันได้บ้าง  น้องๆทั้งหมดคาดหวังว่าอยากให้ชายหาดขาวสะอาดมีน้ำทะเลใสๆ ไร้ขยะ   ให้ระบบนิเวศน์สมบูรณ์ เหมือนในอดีต   ไม่อยากให้เกิดโรงงานอุตสาหกรรมเกิดขึ้นบริเวณชายหาดและทะเล  อยากให้ปู ปลาหมึกกลับมาวางไข่ใกล้ๆชายฝั่ง  ไม่อยากให้นายทุนมาสร้างสิ่งก่อสร้างที่ทำลายระบบนิเวศน์ชายทะเลของเรา อยากให้เกิดการรวมกลุ่มของชุมชนในการจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นกับชายหาดย่างจริงจัง อยากให้เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยว  และที่สำคัญอยากให้อยากให้ทุกคนช่วยกันอนุรักษ์ป่าสันทรายและชายหาด  ให้มีชายหาดที่สวยงามนี้อยู่คู่โลกใบนี้ตลอดไป เพื่อให้ชนรุ่นหลังได้ศึกษาและพัฒนาให้ดีขึ้นต่อไป  โดยเด็กๆจะเริ่มจากสิ่งเล็กๆที่สามารถทำเอง เช่นเก็บขยะริมชายหาดไม่ทิ้งขยะเกลื่อนกลาด    ช่วยกันรณรงค์ให้ทุกคนเกิดจิตสำนึกรัก  จัดกลุ่มเยาวชนขึ้น เพื่อรักษาชายหาดและป่าสันทราย บอกเล่าสิ่งที่ได้เรียนรู้และสัมผัสให้คนอื่นๆได้รับรู้ นี่คือสัญญาใจของค่ายโหมเรารักษ์จะนะในครั้งนี้ เพื่อตามหาชายหาดที่หายไปให้กลับคืนมาสู่ผืนแผ่นดินเกิด

 

ความเห็น

Submitted by แสงดาว ศรัทธามั่น on

อ้ายขอคารวะที่ทำให้เด็กๆเยาวชนรักแผ่นดินถิ่นเกิด ขอให้พลังใจ คับ

การกัดเซาะชายหาดจากการสร้างเขื่อนกันทรายและกันคลื่น

11 January, 2010 - 20:16 -- suchana

 

คณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา  ลงพื้นที่จังหวัดสงขลาเพื่อศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับกรณี ปัญหาการกัดเซาะพื้นที่ชายฝั่งทะเล  จังหวัดสงขลา ระหว่างวันที่ 11 -12  มกราคม 2553  ประกอบด้วยนายสุรชัย  เลี้ยงบุญเลิศชัย             ประธานคณะกรรมาธิการฯ   นายสุรจิต  ชิรเวทย์       รองโฆษกคณะกรรมาธิการฯและคณะ

10.00 น.คณะกรรมาธิการฯได้เดินทางมายังบ้านสวนกง หมู่ที่ 7  ตำบลนาทับ  เพื่อดูสภาพพื้นที่ของชายหาดที่ยังอยู่สภาพที่ยังสมบูรณ์ เพื่อเปรียบเทียบกับสภาพชายหาดที่ถูกกัดเซาะไปในพื้นที่อื่นๆในจังหวัดสงขลา และพื้นที่ดังกล่าวกำลังเป็นพื้นที่เป้าหมายในการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2  และเพื่อรับฟังปัญหาจากชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาการกัดเซาะชายหาดจากกรณีการสร้างเขื่อนกันทรายและกันคลื่นของกรมขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวีในพื้นที่ร่องน้ำปากคลองสะกอม

นายสุรชัย  เลี้ยงบุญเลิศชัย กล่าวว่า เนื่องจากได้รับการร้องเรียนประเด็นปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่จังหวัดสงขลา จึงได้นำเรื่องเข้าสู่กรรมาธิการวุฒิสภา และได้เชิญผู้ที่มีความรู้และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อมาชี้แจงข้อมูล และในวันนี้ทางคณะลงมาเพื่อรับฟังปัญหาข้อเท็จจริงจากประชาชนในพื้นที่ ข้อมูลที่ได้จะจัดทำเป็นรายงานการศึกษาเสนอต่อรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหาให้ถูกต้องและเป็นการแก้ไขปัญหาแบบยั่งยืนต่อไป

จากนั้นทางคณะได้รับฟังข้อมูลจากชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบจากการกัดเซาะชายชาดจากการสร้างคลื่นกันทรายและกันคลื่น

ตัวแทนชาวบ้านปากบาง หมู่ที่ 4 อดีตชายหาดสะกอมชายหาดที่สวยงาม มีทรายที่สวยงามคนอัมพาตในสมัยก่อนจะไปฝังทรายซึ่งถือเป็นภูมิปัญญาของคนในพื้นที่ สภาพชายหาดสะกอมธรรมชาติสรรสร้างอย่างสวยงาม ซึ่งการสรรสร้างของธรรมชาติไม่เคยทำร้ายประชาชน ไม่เคยทำลายธรรมชาติมีแต่มนุษย์ที่ไม่ขัดขวางการสรรสร้างของธรรมชาตินี่เป็นความคิดของชาวบ้านธรรมดาคนหนึ่ง แม้จะฤดูมรสุมคลื่นอาจจะทำให้ชายหาดได้พังไป แต่โดยธรรมชาติคลื่นจะตกแต่งชายหาดให้มีความอุดมสมบูรณ์กว้างใหญ่ทวีขึ้นทุกๆปี ที่ผ่านมาหลังสร้างเขื่อนกันทรายที่บริเวณร่องน้ำปากคลองสะกอมทำให้บริเวณบ้านบ่อโชน บ้านโคกสักพังทลาย การสร้างเขื่อนไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ยั่งยืนอย่างที่รัฐบาลคิดคิดว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาให้กับชาวบ้าน การสร้างเขื่อนเป็นการแก้ปัญหาโดยกลุ่มหนึ่งได้ประโยชน์ แต่อีกกลุ่มหนึ่งจะเสียประโยชน์ ทำให้ชุมชนมีความขัดแย้งทางความคิดกัน  แม้สร้างเขื่อนกันทรายทุกกรมขนส่งทางน้ำฯมีการขุดลอกปากร่องน้ำทุกปี ต้องเสียงบประมาณทุกปีทั้งที่มีการทำเขื่อนแล้ว สมัยก่อนที่จะมีการสร้างเขื่อนไม่มีการขุดลอกร่องน้ำปากคลองในช่วงมรสุมพี่น้องในพื้นที่จะช่วยกันเข็นเรือออกไปทะเลเป็นวัฒนธรรมการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน  และไม่มีการสร้างปัญหาการกัดเซาะให้กับพื้นที่อื่นๆ

            

 

ตัวแทนชาวบ้านโคกสัก หมู่ที่ 6 ต.สะกอม กล่าวว่า สภาพชายหาดต.สะกอมในอดีตก่อนการสร้างเขื่อนชายทะเลจะเป็นลักษณะหาด 2 ชั้น หาดหนึ่ง หาดสอง แต่พอสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นบริเวณปากน้ำสะกอมชายหาดจะหายไป จะมีเฉพาะการกัดเซาะในแต่ละปีจะไม่มีการงอกของชายหาดอีกเลยในส่วนตำบลสะกอม   ตอนนี้วิตกกังวลที่สุดจากเดิมบ้านโคกสักห่างจากทะเล 100 เมตร ปัจจุบันเหลือไม่ถึง 50 เมตร จาก 10 ปีที่มีการสร้างเขื่อน อดีตก่อนการสร้างเขื่อนจะมีการกัดเซาะปีละ 1-2 เมตร บางปีจะไม่กัดเซาะและมีการงอกของชายหาดสวยงามมาก เด็กๆในตำบลสะกอมได้เป็นวิ่งเล่น  จากกการสังเกตตลอดระยะเวลา 10 หลังสร้างเขื่อนปลาหลายชนิดและกุ้งเคยหายไป  ในอ่าวบริเวณนั้น เวลานี้มีลักษณะเป็นโคลนถึงหัวเข่า การแก้ปัญหาในการเอาเงินมาถมคิดว่าไม่มีความเหมาะสมกับชายหาดที่ถูกกัดเซาะไป การทำเขื่อนกันคลื่น(ตัวที)นั้นไม่คุ้มค่ากับงบประมาณครั้งละ 200-300 ล้านบาท เป็นการลงทุนแก้ปัญหาแล้วไม่เกิดผล จริงๆมีตัวอย่างให้เห็นในอำเภอเทพาพื้นที่ใกล้เคียงตำบลสะกอมมีเกาะขาม ซึ่งเป็นเกาะธรรมชาติขนาดใหญ่ยังไม่สามารถป้องกันการกัดเซาะได้  แล้วกรมขนส่งทางน้ำฯเอาหินมาทิ้งในทะเลทำลักษณะเป็นเกาะเชื่อว่าแก้ปัญหาไม่ได้  วิธีที่ดีสุดในเวลานี้คือที่ทำไปแล้วขอให้หยุดการก่อสร้างไว้ก่อน  อย่าไปกีดขวางทะเลยิ่งทำยิ่งกัดเซาะเห็นจากทั่วประเทศที่ทำตัวทีแล้วไม่ได้ผลเลยทุกแห่งป้องกันได้ด้านเดียว อีกด้านหนึ่งกัดเซาะไม่คุ้ม เพราะเป็นการใช้งบประมาณแผ่นดินในการแก้ไขปัญหาแล้วไม่เกิดผล พูดถึงชายชายหาดที่ถูกกัดเซาะไปในแต่ละปีไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท  หากคิดค่าความเสียหายปีละเท่าไรแล้วหากลงทุนแล้วไม่เกิดผลเป็นลงทุนเป็น 100 ล้านคิดว่าไม่คุ้มค่า

ตัวแทนชาวบ้านบ่อโชน หมู่ที่ 7 ต.สะกอม  ในตำบลสะกอมทั้งที่ก่อนหน้านี้เป็นชายหาดที่สวยงามแต่เริ่มมีการสร้างเขื่อนกันทรายและกันคลื่นในปี 2539 แล้วเสร็จในปี2540  หลังการสร้างเขื่อนทำให้เกิดปัญหาการกัดเซาะชายหาดอย่างรุนแรง และทำให้วิถีประมงพื้นบ้านริมชายหาดเปลี่ยนแปลงไปมาก การปลาริมหาดหายไปเพราะน้ำลึกขึ้น ไม่มีชายหาดให้ปลาวางไข่ โดยเฉพาะที่สูญหายคือเต่าทะเลทั้งที่ก่อนหน้าตั้งแต่เดือนมกราคมถึงมีนาคมเต่าจะขึ้นมาวางไข่แต่หลังสร้างเขื่อนเต่าหายไปเลย การแก้ไขปัญหาในปัจจุบันไม่ควรทำอะไรเพิ่มเติมในทะเลเป็นดีที่สุด ไม่ว่าพื้นที่ใดๆปล่อยให้เป็นธรรมชาติให้คลื่นแต่งหาดตามฤดูกาลอดีตการกัดเซาะชายหาดมีเป็นปกติในช่วงมรสุมพอช่วงฤดูแล้งคลื่นจะแต่งชายหาดให้เหมือนเดิม แต่หลังจากที่มีการสร้างเขื่อนกันทรายชายหาดด้านหนึ่งงอกและอีกด้านหนึ่งหายไปอย่างต่อเนื่อง  ที่สำคัญก่อนการก่อสร้างทางกรมขนส่งทางน้ำฯไม่ได้ชี้แจง ไม่เคยทำเวทีสาธารณะว่าจะเกิดผลกระทบดังกล่าวทั้งที่มีการศึกษาแล้วว่าจะมีผลกระทบ สร้างจะเกิดผลกระทบ 20 ปีแต่นี่เพียง 10 ปียังสร้างผลกระทบอย่างมาก 

มีแนวโน้มว่าจะมีการสร้างเขื่อนกันทรายและกันคลื่นตลอดแนวทะเลอ่าวไทย เพราะทำตัวหนึ่งกัดเซาะและทำต่อๆไปก็จะกัดเซาะไป  ถามว่า งบประมาณก็เสียไป  แผ่นดินก็เสียไปถามว่าประเทศไทยพัฒนาแบบนี้จะคุ้มทุนไหม  

อยากให้กรรมาธิการตรวจสอบรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าทำแบบนี้ประเทศชาติคุ้มทุนไหม มีชาวบ้านบางส่วนฟ้องกรมขนส่งทางน้ำฯเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาที่ถูกทาง ซึ่งกรมขนส่งทางน้ำฯมีการพยายามปรับเปลี่ยนรูปแบบของแนวกันทรายและกันคลื่นในรูปแบบของเขื่อนใต้น้ำที่อ้างว่าเป็นรูปแบบปะการังเทียมนั้นขอยืนยันว่าการทำรูปแบบเช่นนั้น  เป็นอันตรายกับชาวประมงพื้นบ้านเป็นขนาดเล็กอย่างมาก เพราะเรือประมงสามารถวิ่งชนและปิดช่องทางทำให้เรือประมงพื้นบ้านไม่สามารถเอาเรือเข้าออกได้  แม้ทางกรมขนส่งฯจะอ้างว่าต่างประเทศก็ทำรูปแบบเช่นนี้  ขอยืนยันว่าที่นี่เมืองไทย จะลอกรูปแบบมาใช้ไม่ได้  เพราะต่างประเทศไม่มีเรือประมงขนาดเล็กแบบบ้านเรา ต่างประเทศเป็นเรือประมงพาณิชย์ขนาดใหญ่

                                

และตัวแทนชาวบ้านสวนกง หมู่ที่ ๗ ต.นาทับ ให้ข้อมูลต่อทางคณะกรรมาธิการว่า ชายหาดบ้านสวนกงเป็นชายหาดที่ยังอุดมสมบูรณ์ แต่ในอนาคตความอุดมสมบูรณ์กำลังจะเลือนหายเพราะกรมขนส่งทางน้ำฯกำลังจะมีโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 ที่บริเวณนี้ หากเป็นเช่นนั้นจริงชายหาดที่สวยงาม       และอุดมสมบูรณ์คงหมดไปที่ผ่านมาชาวบ้านในพื้นที่สวนกงไม่เคยอดอยาก เพราะมีอาหารทะเลที่สมบูรณ์ สามารถพึ่งตนเองด้วยวิถีชีวิตที่เรียบง่ายพอเพียง ที่ผ่านมาชาวบ้านสวนกงไม่เคยทำลายทรัพยากรธรรมชาติและชายหาด มีแต่นักการเมืองและนายทุนที่เข้ามาทำลาย ซึ่งตามแบบของการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกต้องมีการสร้างแนวกันคลื่นถึงจำนวน 15 ตัว ยาวขนานไปกับแนวชายหาดระยะทางยาวประมาณ 5 กิโลเมตร เพื่อป้องกันแนวกันตัวท่าเทียบเรือไว้ ซึ่งการสร้างแนวกันคลื่นยาวยอมส่งผลต่อการกัดเซาะชายหาดอย่างแน่นอนในลักษณะเว้าเป็นเสี้ยวพระจันทร์ จะส่งผลกระทบต่ออาชีพประมงอย่างแน่นอน และจะมีการโยกย้ายชาวบ้านออกจากพื้นที่เพื่อเอามาสร้างท่าเรือน้ำลึก

จนกระทั่งเวลา 11.00 น.ได้เดินทางต่อไปยังบ่อโชนรีสอร์ท ม.7 ต.สะกอม เพื่อรับฟังปัญหาจากตัวแทนองค์การบริหารส่วนตำบล  ตัวแทนองค์การบริหารส่วนจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  ซึ่งชาวบ้านและตัวแทนองค์การบริหารส่วนตำบล ที่เข้าร่วมส่วนใหญ่เกิดความเข้าใจผิดคิดว่าคณะกรรมาธิการฯจะมาทำการรื้อเขื่อนกันทรายและกันคลื่น  เพราะมีการปล่อยกระแสดังกล่าว  จึงค่อนข้างแสดงท่าทีไม่เป็นมิตรกับทางกรรมาธิการ จนทางคณะกรรมาธิการต้องชี้แจงทำความเข้าใจกับทางชาวบ้าน ชาวบ้านจึงเกิดความเข้าใจบทบาทของกรรมาธิการว่าเพียงมาศึกษาพื้นที่ว่ามีปัญหาจริงหรือไม่และปัญหาการกัดเซาะรุนแรงเพียงใดแล้ว มาเพื่อรับฟังข้อมูลทุกฝ่ายเพื่อประกอบกับหลักทฤษฎีที่ทางคณะกรรมาธิการได้ศึกษาข้อมูลไว้แล้ว และไม่ได้มาเพื่อสั่งให้รื้อเขื่อน จึงอยากให้ทุกฝ่ายให้ข้อมูลโดยสุจริตใจและไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง เพราะชายหาดเป็นสมบัติของแผ่นดินที่ทุกคนควรจะรักษา

นายสมชาย สุมนัสขจรกุล ผู้เชี่ยวชาญวิชาชีพเฉพาะด้านฯรักษาการผู้อำนวยการสำนักวิศวกรรม กรมเจ้าท่า ซึ่งสังกัดส่วนกลางที่กรุงเทพมหานคร  ชี้แจงข้อมูลว่า ปัญหาการกัดเซาะชายหาดมีทั่วประเทศ ปัญหาเกิดจากโลกร้อนและและปัญหาของการวางผังเมือง ที่ไม่มีการจัดโซนนิ่งพื้นที่เกี่ยวกับกิจกรรมของมนุษย์ที่อยู่ใกล้ชายหาด เช่น รีสอร์ท หลังจากที่กรมขนส่งทางน้ำฯถูกฟ้องศาลปกครองจังหวัดสงขลา  จึงตั้งงบประมาณ 7 ล้านบาททำการศึกษาโมเดลการแก้ปัญหาที่รับกันได้  อะไรที่ไม่สวยไม่เหมาะสม เขื่อนแบบไหนที่จะเป็นทางเลือก แต่เนื่องจากการตั้งงบประมาณดังกล่าวไม่ได้รวมถึงการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม(EIA) ซึ่งกฎหมายระบุไว้ตาม หากนำงบประมาณดังกล่าวมาทำการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมก็จะไม่มีงบประมาณในการก่อสร้าง และกล่าวว่าการแก้ไขปัญหาด้วยการรื้อเขื่อนที่สร้างแล้วคงเป็นไปได้ยาก  ปัจจุบันมีการพยายามวางแผนที่จะทำการย้ายทรายจากด้านที่งอกมาทดแทนด้านที่กัดเซาะ ซึ่งคาดว่าในปี 2553 น่าจะเริ่มได้ในตำบลสะกอม จ.สงขลาและจะดำเนินการในพื้นที่อื่นต่อไปในอนาคต

นายสุรชัย  เลี้ยงบุญเลิศชัย  กล่าวหลังจากการลงพื้นที่ว่า  การกัดเซาะชายหาดเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศในเวลานี้ ต้องยอมรับว่าเป็นเพราะการสร้างสิ่งปลูกสร้างลงไปในทะเล ทำให้ทิศทางน้ำถูกกีดขวาง ธรรมชาติของน้ำมีการเคลื่อนไหวตลอดเวลา ไม่เคยหยุดนิ่ง การสร้างเขื่อนป้องกันจุดหนึ่งได้แต่ไปกัดเซาะอีกหลายจุด ทำให้สภาพชายหาดแปรสภาพเว้าแหว่งตลอดแนว การแก้ไขปัญหาเราต้องเข้าใจระบบธรรมชาติกันใหม่ ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงการสร้างสิ่งกีดขวางใต้ทะเล เช่น การทำเขื่อนใต้น้ำในลักษณะปะการังเทียม เป็นการปิดกันระบบการถ่ายเทเม็ดทรายในชาดหาด โดยหลักเม็ดทรายมีการถ่ายเทตลอดเวลา ดังนั้นการสร้างสิ่งปลูกสร้างในทะเลควรทบทวน

การปัญหาของหน่วยราชการ ขาดการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานและขาดการบูรณาการ ความรู้  ประสบการณ์และความคิดทั้งระดับส่วนกลาง ภูมิภาคและท้องถิ่น คล้ายอยู่ในเรือลำเดียวกันแต่ต่างคนต่างพาย ไม่มีเป้าหมายเดียวกัน อยากเสนอให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องให้ความสนใจปัญหาอย่างจริงจัง จากการลงพื้นที่มีปัญหาหลายแห่งแต่ไม่มีหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องลงมาแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ขาดการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการทำงานร่วมกันและขาดการฟังชาวบ้าน ซึ่งปัญหาของชายหาดนอกจากมีปัญหาผลกระทบทางระบบนิเวศกายภาพแล้วยังส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวประมงพื้นบ้าน

 

               

คิดถึงเธอ...ชายหาด

11 January, 2010 - 19:28 -- suchana

                           

          ท่ามกลางสถานการณ์ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลอ่าวไทยตลอดทั้งแนวตั้งแต่จังหวัดนราธิวาสถึงจังหวัดสุราษฎร์ธานี  คนรักและผูกพันกับชายหาดในจังหวัดสงขลา จึงร่วมกันจัดกิจกรรมคิดถึงเธอ...ชายหาดขึ้น เพื่อพูดคุยถึงปัญหาที่เกิดขึ้น

ศูนย์เรียนรู้วิถีธรรมชาติเพื่อชุมชน ตำบลบ้านนา ร่วมกับ  คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้(กป.อพช.ใต้) สมาคมดับบ้านดับเมือง  สมาคมรักษ์ทะเลไทย  มหาวิทยาลัยชาวบ้านลานหอยเสียบ อำเภอจะนะ  เครือข่ายนักข่าวพลเมืองเฝ้าระวังชายหาด และองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณแห่งประเทศไทย(ทีวีไทย)  จัดงานคิดถึงเธอ...ชายหาดขึ้นบริเวณริมทะเลบ้านบ่อโชน ต.สะกอม อ.จะนะ  จ.สงขลา เมื่อวันที่ ๒๗ ธันวาคมที่ผ่านมา

กิจกรรมที่จัดขึ้น เพื่อมุ่งสร้างกระบวนการศึกษาเรียนรู้สภาพปัญหาของชายหาด ความ

เปลี่ยนแปลง และผลกระทบที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดสงขลา เกิดการแลกเปลี่ยนเรื่องราวของชายหาดตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันผู้เข้าร่วมเห็นคุณค่าและความสำคัญของชายหาด และเกิดจิตสำนึกร่วมกันในการดูแลรักษาทรัพยากรชายหาด

กิจกรรมเริ่มตั้งแต่เวลา ๑๐.๐๐ น. เป็นการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับเยาวชนจากตัวแทน ๑๐ โรงเรียนในพื้นที่จังหวัดสงขลา ได้แก่ โรงเรียนวรนารีเฉลิม โรงเรียนศิรินุพงศ์ โรงเรียนจะนะชนูปถัมภ์ โรงเรียนสุทธิ์รักษ์ โรงเรียนบ้านสุเหร่า โรงเรียนบ้านโคกม้า โรงเรียนบ้านปากบาง โรงเรียนบ้านสะกอม โรงเรียนบ้านบ่อโชน และนักศึกษามหาวิทยาลัยราชัฏสงขลา ประมาณ ๖๐ คน โดยมีการจัดฐานการเรียนรู้เป็นฐานต่างๆ อาทิ หนึ่งฐานเรียนรู้วิถีชีวิตชาวประมงพื้นบ้านและความรู้เรื่องทรัพยากรชายหาด มีการสาธิต การหากุ้งเคย ด้วยการรุนและการใช้ตีนต่อ(เป็นลักษณะคล้ายขาเทียมทำจากไม้ ใช้ใส่เพื่อให้ช่วงขาสูงขึ้นกรณีที่รุนกุ้งเคยในบริเวณที่น้ำทะเลลึก) การถักอวน  สองฐานเรียนรู้อาหารพื้นบ้านซึ่งมีส่วนประกอบของปลาสดจากทะเล เช่น ข้าวยำ ข้าวดอกราย ซึ่งเป็นอาหารพื้นบ้านของชาวสะกอม และวิธีการทำกะปิ  สามฐานเรียนรู้กิจกรรมของเยาวชนในอำเภอจะนะ  ได้แก่กิจกรรมกลุ่มเยาวชนโหมเรารักษ์จะนะ  กิจกรรมนักข่าวพลเมืองหมีดหม้อสีขาว และเครือข่ายนักข่าวพลเมืองเฝ้าระวังชายหาด ซึ่งได้รับความสนใจจากนักเรียนที่มาร่วมงาน สี่ฐานเรียนรู้แนวคิดธรรมชาติบำบัดการดูแลสุขภาพด้วยการใช้ผัก ผลไม้ อากาศ

ช่วงบ่ายเริ่มด้วยการแสดงศิละ ของนักเรียนโรงเรียนบ้านสุเหร่า อ.จะนะ ซึ่งเป็นการร่ายรำศิลปะต่อสู้ป้องกันของพี่น้องมุสลิม  การแสดงลิเกฮูรูของเยาวชนลานหอยเสียบ 

การเสวนาประเด็น คิดถึงชายหาดบ้านเรา ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย นายเจ๊ะหมัด  สังข์แก้ว และนายดลรอหมาน โต๊ะกาหวี  ตัวแทนชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากการกัดเซาะชายหาด   รศ.ดร.สมบูรณ์ พรพิเนตพงศ์   คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์   คุณพีระ  ตันติเศรณี นายกเทศมนตรีนครสงขลา  คุณศุ บุญเลี้ยง  ซึ่งได้ร่วมกับสื่อมวลชนจากส่วนกลาง นักเขียน และสื่อมวลชนท้องถิ่น ลงพื้นที่สำรวจปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งจากอำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราชถึงตำบลสะกอม อำเภอจะนะ   จังหวัดสงขลา ระหว่างวันที่ ๒๖ ๒๗ ธันวาคม  ดำเนินรายการเสวนาโดย  คุณศิริมา นิตะโย 

 

 

นายเจ๊ะหมัด  สังข์แก้ว  อดีตสมาชิกอบต.สะกอม เล่าว่าสภาพอดีตของชายหาดตำบลสะกอมเป็นชายหาดที่ทอดยาวมีความสวยงามมาก มีต้นสนตลอดแนว ความสมบูรณ์ของชายหาดทำให้สัตว์น้ำอุดมสมบูรณ์ด้วย มีเต่าขึ้นมาวางไข่จำนวนมาก  ชายหาดมีความสำคัญทั้งในแง่การทำมาหากินเลี้ยงชีพแล้ว ยังมีคุณค่าทางด้านจิตใจคนในชุมชนและเยาวชนจะมีพักผ่อนกันเป็นจำนวนมาก และอดีตเคยมีการทำพีธีตาละบาลาบริเวณหน้าหาด(ลักษณะคล้ายลอยเรือสะเดาเคราะห์แบบไทยพุทธ)  แต่หลังจากที่กรมเจ้าท่าเดิมหรือกรมขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวีสร้างเขื่อนกั้นทรายและกันคลื่นบริเวณปากคลองสะกอมตั้งแต่ปี ๒๕๔๑ ทำให้เกิดปัญหาการกัดเซาะชายหาดรุนแรงขึ้นทุกปี ส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพ กระทบต่อการใช้ประโยชน์จากชายหาดสะกอม ต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมที่สำคัยกระทบต่อความรู้สึกด้านจิตใจต่อการสูญเสียชายหาด

นายดลรอหมาน โต๊ะกาหวี  ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านบ่อโชน ตำบลสะกอม กล่าวว่าการที่ตนและชาวบ้านตำบลสะกอมต้องลุกขึ้นมาฟ้องร้องต่อกรมขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวีและอธิบบดีกรมฯ  ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลและรับผิดชอบการสร้างเขื่อนกั้นทรายและกันคลื่นบริเวณปากคอลงสะกอม ผลจากการก่อสร้างทำให้ชายหาดสะกอมถูกกัดเซาะอย่างรุนแรง  การฟ้องร้องศาลปกครองสงขลา มูลค่าร่วม ๒๐๐ ล้านบาทเพื่อนำเงินดังกล่าวมาเยียวยาและฟื้นฟูชายหาด  สำหรับแนวทางกาแก้ไขปัญหาการกัดเซาะเวลานี้คืออย่าก่อสร้างสิ่งล่วงล้ำทะเลเพิ่ม ไม่ว่าเขื่อนหรือท่าเทียบเรือน้ำลึกที่จะเกิดขึ้นที่บ้านสวนกง

สมบูรณ์ พรพิเนตพงศ์   ยืนยันเอกสารการศึกษาของกรมขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวีที่ระบุชัดว่า  หลังจากการก่อสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นร่องน้ำสะกอม ในปีแรกจะเกิดการทับถมที่เขื่อนด้านทิศตะวันออกเป็นระยะทาง ๗๑ เมตร เป็นแนวยาว ๒.๕ กิโลเมตรและเกิดการกัดเซาะ ๔๕ เมตร ในระยะทาง ๑.๕ กิโลเมตรตามชายฝั่ง เมื่อผ่านไป ๒๐ ปี การทับถมจะเกิดขึ้น ๔๐๓ เมตร เป็นระยะทางมากกว่า ๕ กิโลเมตร และเกิดการกัดเซาะ ๓๒๔ เมตรในระยะทาง ๔ กิโลเมตร  แต่ในความเป็นจริงเกิดปัญหากัดเซาะมากว่าที่คาดการณ์ไว้ด้วยซ้ำ และกล่าวว่าโดยหลักหากก่อสร้างสิ่งล่วงล้ำทางน้ำจะก่อสร้างเกิดปัญหาการกัดเซาะอย่างแน่นอน เพราะทิศทางน้ำทิศทางคลื่นเปลี่ยน โดยหลักธรรมชาติเมื่อคลื่นปะวัตถุกีดขวางคลื่นจะแรงกว่าปกติ การที่ชายหาดถูกทำลายทำให้ไม่มีตัวชะลอความแรงของคลื่น หน้าที่หนึ่งของชายหาดคือเป็นเสมือนกำแพงกันคลื่นตามธรรมชาติที่จะป้องกันฝั่งให้ปลอดภัยจากคลื่นลม

คุณพีระ  ตันติเศรณี กล่าวว่าชายหาดชลาทัศน์ในปัจจุบันกำลังได้รับความสนใจเนื่องจากพื้นที่ชลาทัศน์อยู่ติดถนน เดินทางสะดวกมีคนนำรูปที่ถ่ายออกข่าวไปจึงเป็นที่รับรู้เรื่องการพังทลายขงชายหาด  พื้นที่เดิมของหาดชลาทัศน์เป็นชายหาดชุมชนและถนนเกิดขึ้นที่หลังทำให้เกิดการกัดเซาะ จึงมีการสร้างแนวกันคลื่นแต่การกัดเซาะยังเกิดขึ้นทุกปี ตนเองเพิ่งเข้ามารับตำแหน่งใหม่ได้คุยกับเจ้าหน้าที่ว่าในปีนี้ใช้งบประมาณแก้ไขปัญหาไป ๗๖ ล้านบาทแล้วจึงเกิดความคิดว่างบประมาณจำนวนมากดังกล่าวน่าจะนำไปแก้ไขปัญหาในรูปแบบอื่นๆ เช่นการปรับรูปแบบบ้านเวณเก้าเส้ง ส่วนตัวมองว่าการแก้ไขปัญหาชายหาดต้องทำความเข้าใจกับคนสงขลาและร่วมกันคิดเพราะเป็นปัญหาที่ส่งผลวงกว้าง

คุณศุ บุญเลี้ยง  เล่าว่าตนคุ้นเคยกับหาดชลาทัศน์เคยวิ่งออกกำลังกายเป็นหาดที่กว้างสวยงาม แต่เมื่อวานไปดูเห็นแต่ล้อยางรถยนต์และกระสอบทราย ปัญหาการกัดเซาะไม่ใช่เฉพาะสงขลาหลายพื้นที่ในประเทสก็เจอรวทั้งเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานีด้วย บางครั้งเราแก้ปัญหาการกัดเซาะด้วยเจตนาดีแต่ไม่รู้ถึงผลกระทบที่จะตามมา คำถามคือเราจะเรียนรู้ร่วมกันได้อย่างไร จะต้องช่วยกันคิด การถกเถียงจะทำให้เกิดความรู้ในการแก้ไขปัญหา ก่อนเดินทางมาได้คุยกับท่านว.วชิรเมธีท่านบอกว่าโบราณว่าไว้ อย่าถมสมุทร

ากนั้น อาจารย์สดใส ขันติวรพงศ์  ขึ้นอ่านบทกวี ทักษิณประเทศ  ซึ่งประพันธ์โดย ศ.สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์   ตามด้วยผศ.ยงยุทธ หนูเนียม อ่านบทกวี บาทแผลแห่งชายหาด ตามการแสดงของศิลปะพื้นบ้าน รองแง็ง    โดยเยาวชนกลุ่มโหมฺเรารักษ์จะนะ  ไวโอลีนบรรเลงเพลงหยาดเพชร  โดยเด็กหญิงเพียงปรางค์ แสงนวล  และจบด้วยการแสดงดนตรีของอภินันท์ จิตรโสภาและวงดนตรีบาโรย

การรำรองแง็งของเยาวชนโหมฺเรารักษ์จะนะ

ทักษิณประเทศ

 

เหมือนแต่งนิทานหลานเอ๋ย                

ห้วยหนองบึงเคยพียบผล

พืชผักบัวบาเบียดปน                            

ปลอดเสียงคนปลาออ กุ้งต่อแพน 

ที่ปรือ กก รกเร้นเป็นเซิงพัก               

นกพำนักรังซอนซ่อนแขวน

ค่าน้ำคุณดินดีทั่วแดน                          

พูนแผ่นทักษิณเป็นถิ่นทอง

วันนี้ถิ่นนี้เป็นไฉน                                

ข้าวใหม่ปลามันไม่ได้ต้อง

พลิกเดนดินกินไตข้าวน้ำคาวนอง    

ห้วยบึงหนองเหือดเฉาหมดเต่าปลา

หมายผักริ้นริมหนองเหมือนทองก้อน         

ต้นขี้ไต้ในทอนยากถามหา

แสงหิ่งห้อยใครเห็นเป็นบุญตา  

น้ำเผล้งหลา อย่าหมายกรายกลั้วคอ 

 

สุธิวงศ์  พงศ์ไพบูลย์

๑๔ กุมภาพันธ์  ๒๕๓๖

 

 

(น้ำเผล้งหลา น้ำดื่มในโอ่งดินที่ผู้มีน้ำใจเตรียมไว้สำหรับผู้เดินทางที่เดินทางมาพักในศาลาริมทาง)

 

 

เขียนให้  กป.อพช.ภาคใต้                                      บาดแผลแห่งชายหาด

งาน คิดถึง...เธอชายหาด

27 ธ.ค.52  ณ บ่อโชนรีสอร์ต

ต.สะกอม  อ.จะนะ  จ.สงขลา          

             จากวันนั้น.....

ณ เวิ้งว้าง...อาณาอลังการ

อัศจรรย์สถานสถิตหล้า

ตระการภพตรึงผ่านกาลเวลา

เชื่อมฝั่งฟ้าฝั่งทรายได้เห็นกัน

โยงหาดฟ้า...หาดทรายให้ถึงกัน

คือมหาทะเลสีครามคลอมรกต

คือมหาทะเล...สีครามคลอมรกต

เบิกบริบทอันงดงามเหนือความฝัน

คำแผ่วพลิ้ว-โครมครืน-คลื่นยืนยัน

ทุกคืนวันฤดูกาล...ผ่านหาดทราย

ผ่านคืนวันผ่านฤดูกาล...ผ่านหาดทราย

เห็นหาดทราย...พบวัยวันอันสดใส

เด็กๆจำหลักไว้ไม่เลือนหาย

สู่วันวัยหนุ่มสาวก้าวเคียงกาย

ลุวัยวันอันผ่อนคลาย...แห่งผู้ชรา

                พบครรลองผองคนบนลำเรือ

                พลีหยาดเหงื่อเพื่อสู้คลื่นลมกล้า

                ค้นทรัพย์น้ำ-ฝูงกุ้ง-หอย-ปู-ปลา

                ล่องนาวาเลี้ยงชีวิตครอบครัวตน

                ร่วมนาวาเวิ้งชีวิต...แห่งชุมชน

พบจุดยืน...บนนิยามความพอเพียง

วัฒนธรรม-เล-หล่อเลี้ยงให้สุขล้น

หลอมอัตลักษณ์อิ่มเต็มในตัวตน

ภูมิปัญญาแห่งผองชนเจนตาใจ

ภูมิปัญญาแห่งผองชน...ชัดตาใจ

 

 

คนกับเล-ร่วมฤดูกาลสานชีวิต

                แนบสนิทเนาว์นานผ่านยุคสมัย

                วิถีคน- วิถีเล-ร่วมวิถีใจ

                สุขสมดุล-สำแดงไว้ในเวิ้งกาล

ด้วยสมดุล...จึ่งสุขได้ในเวิ้งกาล

                                                   ทุกเรื่องราว...หาดทรายได้บันทึก

ทุกเกลียวคลื่นเวียนจารึกรอยริ้วผ่าน

ทุกเม็ดทรายคืออักษรอันจดจาร

ทุกเสียงคลื่นส่งสื่อสาร...ถึงผู้คน

มหาทะเล...เพียรสื่อสารถึงผองคน

                                                ว่าหาดทราย...คือนิยามงามแห่งโลก

คือขุมโชคโภคทรัพย์นับค่าล้น

ธรรมชาติรังสรรค์บันดาลดล

เพื่อชีวิตทุกๆคนได้พึ่งพา

ให้ชีวิต...ให้ทุกๆคน...ได้พึ่งพา

ถึงวันนี้.......

ทุกชายหาด...เห็นบาดแผลแลกว้างใหญ่

ทุกหาดทราย...ได้บาดแผลแลกว้างใหญ่

เนื้อกายหาดขาดวิ่นไป...ทุกเบื้องหน้า

หลากเรื่องราว-พร่า-พราก-จากจอตา

สุขสมดุลเริ่มเลือนลาจากหาดทราย

สุขสมดุลจึ่งเลือนลา...ทุกหาดทราย

ฤาวงวัฏฎ์-สัจจะแห่งโลกธรรม

ฤาอุบัติการณ์-เตือนย้ำก่อนโลกสลาย

ฤาโศกนาฏกรรม-ก่อนชีวิตจักวอดวาย

ฤาเพราะคน-ลอบทำร้าย...มหาทะเล

ฤาเพราะคนร่วมทำร้าย...มหาทะเล

ฤามนุษย์..รุมทำลาย...มหาทะเล!!!!

                ...............................

                 ผศ.ยงยุทธ  หนูเนียม

         ๒๔ ตุลา ๕๒ ยามย่ำเย็นชายหาดชลาทัศน์ สงขลา

 

เรากำลังรักษาหรือฆาตกรรมชายหาด!

24 November, 2009 - 23:19 -- suchana

          

ภาพ ชายหาดชลาทัศน์และถุงทรายกันการกัดเซาะ บันทึกไว้เมื่อกันยายน 2552

     เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2552 ที่ผ่านมามีโอกาสเดินทางไปแถบถนนเก้าเส้ง ทอดยาวไปถึงชายหาดชลาทัศน์  บริเวณแหลมสมิหลา จังหวัดสงขลา แนวต้นสนที่บางตาลง เห็นกระสอบทราย กองหิน ล้อยางรถยนต์วางกองเรียงรายบนฟุตบาธถนน เห็นป้ายประกาศเตือนขนาดเขื่องว่า ระวังต้นสนล้มทับ เดินลงไปสำรวจแนวชายหาดพบว่ามีการนำล้อยางรถยนต์เก่าที่ไม่ใช้งานมารียงรายบริเวณแนวชายหาดและซ้อนทับด้วยกระสอบทราย  ภาพที่เห็นไม่แน่ใจว่าคือประติมากรรมหรือนวตกรรม ที่เกิดจากความรู้ ภูมิปัญญาหรือเป็นการทดลองเทคโนโลยีใหม่กันแน่  คำถามที่เกิดขึ้นในหัวใจคือเรากำลังปฐมพยาบาลบาดแผลของชายหาด เพื่อปกป้องรักษาชายหาดไว้ให้ลูกหลานในอนาคต หรือเรากำลังวางยาเพื่อฆาตกรรมชายหาดให้ค่อยตายไป  แล้วสุดท้ายก็ไม่รู้ว่าใครเป็นฆาตกร  เข้าใจความรู้สึกของการแก้ไขปัญหาโดยการเอาล้อยางรถยนต์มาวางเรียงรายบนชายหาดนั้นเฉพาะหน้า โดยมีเป้าหมายเพื่อชะลอความแรงของคลื่น ไม่ให้กัดเซาะชายหาดพังหรือป้องกันไม่ให้ต้นสนล้ม  แต่ในความเป็นจริงเพียงแค่ล้อยางรถยนต์และกระสอบทรายไม่สามารถแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายหาดชลาทัศน์ได้เลยได้   เพราะเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุเท่านั้น

 

 

 

 

โจทย์ใหญ่ที่ควรคิดในเวลานี้คือการพังทลายของชายหาดอะไรคือต้นตอของปัญหากันแน่?  เพราะในเวลานี้คลื่นลมแรงและภาวะโลกร้อนกำลังตกเป็นจำเลย ของการพังทลายของชายหาด

            คำถามคือชายหาดในวันนี้บาดเจ็บแสนสาหัสเกินกว่าเยียวยาแล้วจริงหรือ? หรือเรากำลังใช้วิธีการเยียวยาปฐมพยาบาลที่ผิดทิศผิดทางกันแน่  มีใครบ้างคนเคยพูดว่าชายหาดสงขลาตายแล้ว มีคนบางกลุ่มต้องการทำให้ตาย เพื่อให้ชายหาดหมดความสวยงามและหมดคุณค่าที่จะปกป้องรักษา เพื่อสร้างความชอบธรรมในการทำลายชายหาดด้วยการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่สองในอนาคต   

ภาพชายคนหนึ่งกำลังนอนเอกเขนกพักผ่อนร่างกายบนกองถุงทรายที่วางเรียงรายโอบอุ้มโค่นต้นสน แทนที่เขาจะได้ทอดกายลงบนชายหาดที่ขาวสะอาด ได้สัมผัสกับเม็ดทรายที่ละเอียดเยียดยาว เขากลับต้องนอนทอดกายบนถุงทรายที่แข็งกระด้าง เราจะยังปล่อยให้การดูแลและแก้ปัญหาการกัดเซาะชายหาดพังเป็นหน้าที่ของผู้บริหารบ้านเมืองและกลุ่มผลประโยชน์ เป็นผู้ผูกขาดความคิดในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายหาดเช่นนี้ต่อไป 

ต้นตอของปัญหาการกัดเซาะชายหาดที่แท้จริงเกิดจาก การสร้างสิ่งก่อสร้างรุกล้ำชายฝั่งทั้งหลายทั้งของท้องถิ่นและหน่วยงานภาครัฐส่วนกลาง โครงการสร้างเขื่อนกันทรายและเขื่อนกันคลื่น ของกรมเจ้าท่าปัจจุบันเปลี่ยนเป็นกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี เพื่อแก้ไขการตกตะกอนของทรายบริเวณร่องน้ำปากบางคลองสะกอมและปากบางคลองนาทับ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา  เขื่อนบริเวณปากคลองสะกอมเป็นเขื่อนหินทิ้ง 2 ตัว ความยาวประมาณ 620 เมตรและสร้างเกาะกันกัดเซาะบริเวณด้านทิศเหนือของเขื่อนอีกจำนวน 4 ตัว

หลังจากการสร้างเขื่อนดังกล่าวปรากฎว่าไม่สามารถกั้นทรายได้จริง เพราะชาวบ้านในพื้นที่ตำบลสะกอมเล่าว่าทุกปีกรมเจ้าท่ายังต้องใช้เรือขุดลอกปากคลองเป็นประจำทุกปี และในปี2541 หลังจากการสร้างเขื่อนกันทรายกันคลื่นชายหาดสะกอมถูกน้ำทะเลกัดเซาะอย่างรุนแรงและพังทลายลง โดยในปีแรกชายฝั่งของบ้านบ่อโชนถูกกัดเซาะกว่า 10 เมตร ขณะนี้ถูกกัดเซาะลึกถึง 80 เมตร ระยะทางกว่า 3 กิโลเมตร  วิธีเหล่านี้วิศวกรผู้ออกแบบเชื่อว่าจะแก้ไขปัญหาชายหาดพังได้  แต่ในความเป็นจริง ส่งผลให้เกิดการพังทลายอย่างรุนแรงของชายหาดตั้งแต่อำเภอเทพา ตำบลสะกอม ตำบลนาทับ บ้านบ่ออิฐ บ้านเก้าเส้งเป็นระยะยาวตลอดแนวชายฝั่งทะเลอ่าวไทย ถนนบริเวณบ้านปึก บ่ออิฐยังถูกคลื่นกัดเซาะทุกปีและในปีนี้สุสาน(กุโบร์)บ้านปึกถูกคลื่นกัดเซาะจนพังทั้งที่มีแนวหินกั้นคลื่นตลอดแนวชายหาด

ปัจจุบันชาวบ้านในพื้นที่ตำบลสะกอมได้ยื่นฟ้องคดีต่อกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวีและอธิบดีที่ศาลปกครองจังหวัดสงขลา ในความผิดเกี่ยวกับการกระทำละเมิด เพราะการสร้างเขื่อนกั้นทรายและคลื่นทำให้เกิดปัญหาการกัดเซาะชายหาดเสียหายกระทบกับการทำมาหากิน

ความเชื่อว่าเขื่อนกั้นทรายกั้นคลื่นเป็นต้นเหตุของปัญหาการเกาะเซาะชายหาดไม่ใช่การกล่าวอ้างลอยๆหรือเป็นการโยนความผิดให้ใคร เห็นได้จากงานศึกษาวิทยานิพนธ์ การเปลี่ยนแปลงของชายฝั่งลุ่มน้ำปากพนังของอาจารย์ปรารถนา ฤทธิ์พริ้ง ได้อ้างข้อมูลการศึกษาของกรมเจ้าท่าว่า เมื่อเวลาผ่านไป 20 ปีจะมีการกัดเซาะชายฝั่งเกิดขึ้นทางทิศเหนือของตัวเขื่อนเป็นระยะประมาณ 18 กิโลเมตรจากเส้นชายฝั่ง  หรือแม้แต่รายงานผลการตรวจสอบของคณะกรรมการสิทธิ์มนุษยชนแห่งชาติ ตามหนังสือร้องเรียนขอให้ตรวจสอบโครงการก่อสร้างเขื่อนริมทะเลทำลายชายหาดจังหวัดสงขลาระหว่างบ้านนาทับ อำเภอจะนะและบ้านบ่ออิฐ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา มีความเห็นว่าการกัดเซาะชายฝั่ง ต้นเหตุของปัญหาคือ การสร้างเขื่อนกันคลื่นกันทรายที่ยื่นออกไปในทะเลบริเวณปากคลองและปากแม่น้ำ ซึ่งก่อสร้างกรมการขนส่งทางน้ำฯทราบผลการศึกษาว่าด้านหนึ่งจะเกิดทรายงอก อีกด้านหนึ่งจะมีการกัดเซาะชายฝั่งขึ้นอยู่กับความยาวของเขื่อนกันคลื่นและกันทรายที่ยื่นออกไปในทะเล โดยเสนอมาตรการการแก้ไขปัญหา คือ ให้กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี รื้อเขื่อนด้านทิศเหนือของคลองนาทับที่เป็นต้นเหตุของการกัดเซาะทั้งหมด และลดขนาดความยาวของเขื่อนด้านทิศใต้ให้มีขนาดที่เหมาะสมและให้กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวียุติการสร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งบริเวณที่มีการก่อสร้างเขื่อนกันทรายและบริเวณปากคลองและปากแม่น้ำ

 

นี่คงเป็นคำตอบได้ว่าการแก้ปัญหาชายหาดแบบนี้มาถูกทางหรือไม่ บ่อยครั้งที่งานด้านวิศวกรรมมองแต่วัตถุและสิ่งก่อสร้าง แต่ไม่ถูกหลักและกฎของธรรมชาติ การแก้ไขปัญหาของธรรมชาติ เราต้องเข้าใจธรรมชาติของคลื่นด้วย นักสมุทรศาสตร์เคยบอกว่าคลื่นทะเลควรปล่อยให้มันซัดอย่างเป็นอิสระอย่าไปขวางกั้น การที่คลื่นปะกับสิ่งก่อสร้างจะเพิ่มความแรงขึ้นและทำให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงในวงกว้างขึ้น   เราลองนึกไปถึงเหตุการณ์สึนามิคนรอดชีวิตจากคลื่นยักษ์ เพราะป่าชายเลนที่เป็นปราการสำคัญในการปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของผู้คน วันนี้คงพิสูจน์แล้วว่าหิน อิฐ ปูนไม่สามารถปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนตลอดแนวชายหาดได้

ที่สำคัญเราควรหยุดการโฆษณาชวนเชื่อว่าการพังทลายของชายหาดพังต้นเหตุมาจากคลื่นและโลกร้อน ส่งผลให้น้ำแข็งขั้วโลกละลายน้ำทะสูงขึ้นทำให้คลื่นลมในทะเลสูงขึ้นและคลื่นลมแรง มนุษย์ควรหยุดโยนบาปให้ธรรมชาติ พอหรือยังกับการสร้างวาทกรรมทางวิชาการเหล่านี้เพื่อให้สังคมหลงเชื่ออย่างผิดๆ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่นักวิชาการที่มีความรู้มีการศึกษาเหล่านี้จะพูดความจริงว่าที่ชายหาดพัง เป็นเพราะฝีมือมนุษย์ จำเป็นต้องบอกความจริงและให้ความรู้ทางวิชาการที่ถูกต้อง เพื่อสร้างการเรียนรู้และการรับรู้ของสังคมด้วยความรู้ที่ถูกต้องไม่ใช่ความรู้ที่ครอบงำหรือหมกเหม็ดซ่อนเร้นด้วยตัวเลขงบประมาณมหาศาลในโครงการต่างๆที่จะใช้เป็นมาตรการป้องกันชายหาดพัง     ซึ่งเป็นทั้งการที่ผูกขาดแนวทางการแก้ไขปัญหา ทั้งที่ยังมีนักวิชาการที่มีความรู้  ที่สำคัญยังมีชุมชนที่อยู่ใกล้ชิดกับชายหาดมาตลอดชีวิต สั่งสมความรู้ในการเฝ้ามอง เฝ้าสังเกตความเปลี่ยนแปลงไปของชายหาดจนเกิดเป็นภูมิปัญญา 

ชาวบ้านที่อยู่กับทะเลมาชั่วชีวิตเล่าว่าสมดุลของชายฝั่งจะผันแปรตามฤดูกาล มีการกัดเซาะและคืนสภาพ ในช่วงฤดูมรสุมทรายชายหาดจะจะถูกหอบไปกองเป็นสันดอนใต้น้ำ และนำกลับคืนมาในฤดูแล้งเป็นวัฎจักรเช่นนั้นนี้มาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัญหาการกัดเซาะที่เกิดขึ้นไม่รุนแรง ต่างจากเมื่อมีการสร้างเขื่อนกั้นทรายกันคลื่น  ดังนั้นสิ่งก่อสร้างล่วงล้ำทางน้ำไม่ว่าเขื่อนกันทรายและกันคลื่น ท่าเทียบเรือน้ำลึก หรือการปลูกสร้างอาคารรุกล้ำลงไปในทะเล คือต้นเหตุสำคัญของปัญหาการกัดเซาะชายหาดไม่ใช่คลื่นลมในทะเลหรือภาวะโลกร้อน คนสงขลาคงไม่ลืมว่าหลังจากที่มีการสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกที่สิงนครส่งผลให้ธรรมสถานหาดทรายแก้วถูกกัดเซาะจากเนื้อที่ราว 80 ไร่ ปัจจุบันเหลือเนื้อที่ไม่เกิน 1 ไร่

ชายหาดชลาทัศน์เป็นแค่ตัวอย่างหนึ่งของปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเล ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะมีการทบทวนแนวทางการแก้ไขปัญหาของชายหาด และหยุดสร้างสิ่งล่วงล้ำทางน้ำในรูปต่างๆ เช่น เขื่อนกั้นทรายและคลื่น ท่าเทียบเรือน้ำลึก  และยกระดับการแก้ปัญหาการพังทลายของชายหาดเป็นเรื่องราวของสาธารณะที่ประกอบด้วยนักวิชาการที่หลากหลายมุมมอง การมีส่วนร่วมของชุมชนอย่างแท้จริง ประกอบกับหน่วยงานในการดูแลทรัพยากรชายหาดชายฝั่งไม่ใช่จากแนวคิดผูกขาดของผู้บริหารฯและนักเทคโนโลยีบางคนบางกลุ่มเท่านั้น  การแก้ไขปัญหาการกัดเซาะคงแก้ไม่ได้ด้วยหลักและความเชื่อทางด้านเทคนิควิศวกรรมศาสตร์เท่านั้น แต่ต้องอาศัยภูมิปัญญาของชาวบ้านและหลักของการเคารพและการเข้าใจธรรมชาติร่วมด้วย

เราควรใช้หลักอริยสัจสี่ในการมองปัญหาการกัดเซาะชายหาด ก่อนอื่นต้องหาต้นเหตุแห่งทุกข์ให้พบว่าอะไรคือต้นตอของปัญหาที่ทำให้เกิดทุกข์ในเวลานี้ เมื่อเจอต้นเหตุแล้วเรายอมรับกับต้นเหตุนั้นหรือไม่ จากนั้นใช้สติปัญญาพิเคราะห์พิจารณาแล้วหาทางออกจากปัญหา เราจึงจะพ้นทุกข์และสามารถรักษาชายหาดไว้ให้ลูกหลาน

 

 

หากปล่อยการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายหาดเป็นเรื่องของคนบางกลุ่มเช่นนี้ต่อไป  ผลงานสุดท้ายที่จะทำเพื่อชายหาดคงไม่พ้นการจัดงานฌาปนกิจ แล้วเก็บเถ้ากระดูกของชายหาดไว้ในความทรงจำของผู้คนที่เคยพบเห็นความงดงามของชายหาดไว้ตลอดไป

 

คนสงขลา สวนหมัดนายกอภิสิทธิ์ทำไมไม่เอา "อุตสาหกรรม"

21 November, 2009 - 10:01 -- suchana

 

          ทันทีที่นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ลงพื้นที่จังหวัดสงขลาเมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยให้นักธุรกิจและหอการค้า 5  จังหวัดชายแดนใต้เข้าพบ เพื่อเสนอแนวทางการพัฒนาที่ทางหอการค้าต้องการ ซึ่งในวันนั้นนายกอภิสิทธิ์พูดชัดว่าหากก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบารา จ.สตูล         และท่าเทียบเรือน้ำลึกที่ตำบลนาทับ จ.สงขลา หากมีเพียงท่าเทียบเรืออย่างเดียวไม่คุ้มการลงทุน ต้องมีถนน โครงข่ายท่อน้ำมัน รางรถไฟ และอุตสาหกรรมโดยโยนเผือกร้อนใส่คนสงขลา ว่า คนสงขลาต้องช่วยผมกำหนด ตัดสินใจว่าจะเอาหรือไม่เอาการพัฒนาอุตสาหกรรม

          ถัดมาเพียงสี่วัน (4 พฤศจิกายน 2552)  ห้องประชุมเกษม ลิ่มวงศ์ ศูนย์การประชุมคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  ทางศูนย์การเรียนรู้วิถีธรรมชาติเพื่อชุมชน ตำบลบ้านนา อำเภอจะนะ จ.สงขลา ได้จัดการจัดโครงการสัมมนา ร่วมกำหนดอนาคตคนสงขลา บนฐานทรัพยากรที่ยั่งยืนทำให้เห็นถึงมุมมองกลุ่มคนที่หลากหลายที่ไม่เห็นด้วยกับทิศทางนโยบายรัฐบาล   และสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่ต้องการพัฒนาพื้นที่จ.สงขลาไปสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมแบบมาบตาพุด

            และข้อเสนอจากเวทีในวันนั้นคงตอบโจทย์ของนายกอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ  ที่ทิ้งโจทย์ให้คนสงขลาต้องกำหนดเองว่าต้องการการพัฒนาอย่างไร จะเอาหรือไม่เอากับทิศทางแนวทางที่ทางสภาพัฒน์ฯกำหนดไว้ การทบทวนแผนพัฒนาภาคใต้และแผนพัฒนาจังหวัดสงขลา(เซาท์เทิร์นซีบอร์ด)สู่การรองรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีคงเป็นดีชนีชี้วัดความจริงใจ โปร่งใสของนายกรัฐมนตรีที่ชื่ออภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ว่าจะฟังเสียงคนใต้ และคนสงขลาจริงเท็จแค่ไหน ซึ่งภาคใต้ถือเป็นฐานเสียงสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์     หรือเพียงสร้างภาพการมีส่วนร่วมเหมือนกรณีที่รัฐบาลนายกทักษิณ ชินวัตร ได้ทำกับพี่น้องจะนะ  กรณีโครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซียมาแล้ว ลงมาบอกว่ารับฟังสุดท้ายก็ผลักดันโครงการโดยไม่ฟังเสียงของคนในพื้นที่จนนำไปสู่ความแตกแยก ขัดแย้งอย่างรุนแรงทั้งกับรัฐบาลและคนในพื้นที่

นายแพทย์สุภัทร  ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ เป็นผู้ที่ติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสงขลามาหลายปี และเป็นผู้ที่เห็นพัฒนาความเปลี่ยนแปลงของชุมชนหลังจากมีโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซียและโรงไฟฟ้าจะนะ  กล่าวถึงภาพรวมทิศทางพัฒนาสงขลา  ว่าทิศทางการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ถึงจังหวัดปัตตานีมีแนวโน้มก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรม   โดยเฉพาะสงขลากำลังจะก้าวสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรม และระบบโลจิกติกส์ ปัจจุบันความพร้อมของการพัฒนาไปในทิศทางอุตสาหกรรมค่อนข้างพร้อมทั้งสาธารณูปโภคและความพร้อมของหน่วยงานรัฐ ภาคอุตสาหกรรม และนโยบายที่เอื้ออำนวย

ที่ผ่านมามีการพัฒนาพื้นที่เจดีเอโดยท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย เป็นตัวนำการพัฒนาอุตสาหกรรม  ตามด้วยโรงไฟฟ้าจะนะและกำลังมีโครงการขยายกำลังผลิตของโรงไฟฟ้าจะนะ   และการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกจะนะ บริเวณต.นาทับ อ.จะนะ  เพื่อไปเชื่อมกับท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบารา จังหวัดสตูล  ท่าเรือน้ำลึกปากบาราจะอยู่ใกล้กับท่าเรือท่องเที่ยวเป็นไปได้ยากที่จะไปด้วยกันได้สุดท้ายคงต้องแลกกันระหว่าการท่องเที่ยวกับอุตสาหกรรม  และท่าเรือกับวิถีประมง ภาพของสงขลาและสตูลต้องเปลี่ยนแปลงไปอย่างแน่นอน   การก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกจะส่งผลกระทบต่อกากัดเซาะชายหาดอย่างมาก เพื่อเชื่อมโยงเป็นสะพานเศรษฐกิจ(แลนด์บริดจ์) สะพานเศรษฐกิจ(แลนด์บริดจ์)  ประกอบด้วย การขยายถนน  รางรถไฟคู่  โครงข่ายท่อน้ำมันคลังน้ำมัน และนำไปสู่การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่   ซึ่งการประชาพิจารณ์ท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบารามีการศึกษาพื้นที่เหมาะกับการทำนิคมบริเวณรอยต่อละงู-มะนังประมาณ 150,000  ไร่แต่ทำเต็มพื้นที่ขึ้นอยู่กับความพร้อม

สำหรับโครงข่ายท่อน้ำมันตามแผนจะมีการวางท่อน้ำมันจากจังหวัดสงขลาฝั่งทะเลอ่าวไทยบริเวณ วัดขนุน อ.สิงหนคร จ.สงขลาไปยังปากบารา จ.สตูล  ตามแผนจังหวัดสงขลาจะมีคลังน้ำมัน 10,000 ไร่ พื้นที่เป้าหมายคือวัดขนุน และฝั่งสตูลจะมีคลังน้ำมัน 5,000 ไร่  ซึ่งถนนและทางรถไฟเส้นสงขลา   - สตูลอาจมีการเจาะลอดเขาสันกาลาคีรีบริเวณป่าผาดำ หากเป็นเช่นนั้นจะส่งผลกระทบมาก 

นอกจากนี้จังหวัดสงขลายังมีโครงการก่อสร้างถนนมอเตอร์เวย์หาดใหญ่ มาเลเซีย มอเตอร์เวย์นาทับ- ปากบารา ซึ่งต้องผ่านป่าผาดำ  การรื้อฟื้นโครงการโรงไฟฟ้าและเหมืองลิกไนต์ที่ อ.สะบ้าย้อย  โครงการเขื่อนกั้นทะเลสาบสงขลา เพื่อเอาน้ำจืดมาใช้ และเดิมจังหวัดสงขลามีการศึกษาของบริษัทอุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลป์ไทย จำกัด (มหาชน) ได้จัดทำรายงานโครงการศูนย์อุตสาหกรรม บ้านบึก  ต.นาทับ 2.4  พันไร่ 

            มีความเข้าใจพื้นฐานบางประการของการเอาคนและสุขภาพเป็นตัวตั้งมีสามข้อ  มีทัศนะสามด้านที่สังคมต้องเรียนรู้  ทัศนะที่หนึ่งคนแบ่งเป็นสามประเภทประชากรเหมือนระฆังคว่ำ มลพิษเกิดมาตรฐานหนึ่งมีคนที่แข็งแรงมาก  แม้ว่ามลพิษที่ออกมาจะเกินมาตรฐานมหาศาลก็ยังอยู่ได้  สองบางคนอ่อนแอ  มลพิษไม่มากก็ป่วยได้  สามคนทั่วไป  ถ้าเราเข้าจำภาพนี้เราจะเข้าใจว่าทัศนะที่สองซึ่งเป็นทัศนะค่ามาตรฐานของอุตสาหกรรม คืออุตสาหกรรมพยายามควบคุมระดับค่าไม่ให้เกินมาตรฐาน สำหรับคนทั่วไป  แต่สำหรับคนอ่อนแอจะป่วยได้  คนทั่วๆ ไปจะป่วยหรือไม่ป่วยจะขึ้นอยู่กับปัจจัยทั่วไป  ถ้าไม่เกินค่ามาตรฐานแปลว่าปลอดภัยแต่ว่าไม่ได้กับทุกคน 

ทัศนะที่สามการศึกษาโครงการต่างๆ ในปัจจุบันในเรื่องของอีไอเอการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่มีการทำในปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นการศึกษาแบบปัจจุบันทันด่วน  แต่สิ่งที่สังคมต้องเผชิญคือการได้รับสารพิษระดับต่ำแต่เป็นระยะเวลายาวนาน  ๑๐-๒๐ ปีจะเป็นอย่างไร  ถ้าเราจะเฝ้าระวังระดับสารที่ต่ำๆ  จะมาถามหาโรคไม่ได้เพราะโรคมันยังไม่เกิด อาจจะมีการก่อตัวระดับอาการซึ่งต้องดูระดับอาการเป็นการวิจัยที่ยากมาก

การพัฒนาพื้นที่มาบตาพุดซึ่งเป็นบทเรียนที่สำคัญ  มีแนวโน้มที่มาบตาพุดจะหยุดการพัฒนาและมาเกิดที่ภาคใต้แทน  สุดท้ายทิ้งข้อคิดไว้ว่า เมื่อก่อนเราสามารถพึ่งตนเองได้ ปัจจุบันคือการทำสงคราม เป็นการทำลายฐานทรัพยากร การท่องเที่ยว ประมง ค้าขาย บรรยากาศการเรียนการสอนจะเปลี่ยนไป  เป็นการพัฒนาที่ทำให้คนไม่สามารถพึ่งตนเองได้ คนต้องเข้าสู่ระบบสายพาน  ต้องถามว่าการพัฒนาเพื่ออะไรเพื่อคนส่วนใหญ่พออยู่พอกินหรือเพื่อคนส่วนน้อยสุขสบายโดยอ้างคำว่าพัฒนา ทั้งที่การพัฒนาต้องเพื่อคนส่วนใหญ่พออยู่พอกิน

 

ดร.อาภา  หวังเกียรติ  คณะวิศวกรรมศาสตร์สิ่งแวดล้อม  มหาวิทยาลัยรังสิต ได้เปรียบเทียบให้เห็นพัฒนาการการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก(อีสเทิร์นซีบอร์ด)มาถึงการพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคใต้(เซาท์เทิร์นซีบอร์ด)

          แผนพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคใต้ เซาเทิร์นซีบอร์ด  มีที่มาที่ไปคือ  หลักการและแนวคิด  มีมาตั้งแต่ปี ๔๐  จ้างญี่ปุ่นมาศึกษาหลักคิดต้องการให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการคมนาคมทางทะเลและทางอากาศ  เป็นศูนย์กลางและแหล่งสำรองพลังงานของประเทศ ในสมัยรัฐบาลทักษิณชัดเจนมากขึ้นเมื่อมีกระทรวงพลังงาน  เขาสำรวจทรัพยากรทางทะเลก๊าซธรรมชาติและน้ำมันอยู่เยอะ  เพื่อเป็นแหล่งสำรองพลังงานของประเทศในภาคใต้แนวท่อส่งก๊าซตามแผนแม่บท  เมื่อมีท่อมาโรงไฟฟ้าก็ต้องเกิดเป็นการมองภาพรวมไม่ใช่จังหวัดใดจังหวัดหนึ่ง  ที่สงขลาเมื่อมีท่อก๊าซก็มีโรงไฟฟ้า  ที่สำคัญประเทศไทยเป็นพื้นที่เป้าหมายในการเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมปิโตรเคมีอาเซี่ยน  และเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมเหล็กอาเซี่ยน

แผนพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับภาคใต้ ตอนบนทิศทางพัฒนาไปสู่การเป็นอุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำ   นิคมอุตสาหกรรม  โรงไฟฟ้านิวเคลียร์   ท่าเรือ  ภาคใต้ตอนกลางทิศทางพัฒนาไปสู่การเป็น  สะพานเศรษฐกิจ ทับละมุ-สิชลแต่เกิดสึนามิก็เลยย้ายมาอยู่ที่สงขลา  ภาคใต้ตอนล่าง  แผนพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย มาเลเซียและไทย 

แนวโน้มการพัฒนาประเภทอุตสาหกรรมที่มีความเหมาะสมในพื้นที่สงขลา   ได้แก่   อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิก อุตสาหกรรมอู่ต่อเรือซ่อมเรือ   อู่ต่อเรือ  อุตสาหกรรมปิโตรเคมีสะพานเศรษฐกิจสุดท้ายจะกลายเป็นมาบตาพุด

            โดยได้เปรียบเทียบพัฒนาการสู่การเป็นนิคมอุตสาหกรรม เหมือนกันทำสงครามคือเริ่มต้นด้วยการเปิดประตูเมืองด้วยการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึก จากนั้นจะถูกรุกรานด้วยองค์ประกอบต่างๆ เช่น  ระบบขนส่งคมนาคม มีการสะสมเสบียงได้แก่การพัฒนาแหล่งน้ำจืด เช่นสร้างเขื่อน สร้างอ่างเก็บน้ำ วางท่อส่งน้ำ  สะสมเสบียงพลังงาน ได้แก่ โรงแยกก๊าซ โรงไฟฟ้าเพื่อรองรับอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้น

ผลกระทบจากการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก  สู่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด

การถมทะเลสร้างท่าเรือน้ำลึกมาบตาพุด ส่งผลกระทบได้แก่ หนึ่งการกัดเซาะชายฝั่งทำให้ชายหาดพัง  ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวการโรงแรมโดยเฉพาะบริเวณหาดแสงจันทร์ ซึ่งเดิมเป็นชายหาดที่สำคัญต่อการท่องเที่ยว ส่วนชายหาดบริเวณชุมชนหนองแฟบชายหาดบริเวณนั้นพังหมดส่งผลกระทบต่ออาชีพประมง รวมถึงชายหาดอื่นๆ  สองผลกระทบด้านมลพิษทางอากาศและกลิ่นเหม็นระดับสูง  ทำให้โรงเรียนบริเวณนิคมอุตสาหกรรมต้องย้ายหนี   สามผลกระทบจากฝนกรดส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรทำให้ผลผลิตเกษตรเสียหาย    สี่ผลกระทบจากขยะพิษทิ้งในชุมชน  แหล่งน้ำธรรมชาติถูกทำลาย  ปัญหาน้ำบ่อตื้นมีสารพิษตกค้างและเป็นคาบสนิมไม่สามารถใช้ประโยชน์

รายงานผลการตรวจพบสารพิษในอากาศ  คนระยองได้รับ Toxic Cocktail  มลพิษแบบผสมรวม  สารพิษที่มีในอากาศในจังหวัดระยองมี ๙ ชนิด Benzene,1,3-Butadiene   อัตราผู้ป่วยมะเร็งในเพศชายคือมะเร็งปอด ตับ  หลอดอาหาร  โรคที่คนระยองเป็นที่รองจากมะเร็งคือโรคที่เกี่ยวข้องกับทางเดินหายใจ ชีวิตคือเครื่องมือวัดตะกั่ว 

มุมมองนักวิชาการท้องถิ่นต่อศักยภาพเมืองสงขลา

            ผศ.ดร.จารุณี  เชี่ยววารีสัจจะ  ภาควิชาวาริชศาสตร์  คณะทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตหาดใหญ่

            ระบบนิเวศน์และฐานทรัพยากรชายฝั่งสงขลา  จังหวัดสงขลาคือจังหวัดที่มีขนาดใหญ่เป็นที่ ๓ ในพื้นที่ ๑๔ จังหวัดภาคใต้ที่จะต้องเสนอสถานการณ์นโยบายสาธารณะ  การพัฒนาอุตสาหกรรมที่ภาคใต้  ภาคใต้เป็นลักษณะของภูมิประเทศที่ทำให้เกิดระบบนิเวศน์ที่แตกต่างจากภาคอื่นๆ  ของประเทศไทยเป็นด้ามขวานยาว  ที่สำคัญของความยาวของด้ามขวานมีแนวของสันเขาที่ทอดยาวมาตลอด  กลายเป็นด้ามขวาน ๓ มิติขึ้นมา  การประมง  อาชีพหนึ่งที่เป็นอาชีพสำคัญและฐานทรัพยากรสำคัญคือทรัพยากรในทะเลหรือทรัพยากร

            สงขลาอยู่ในฝั่งตะวันออกของด้ามขวานเป็นฝั่งตะวันตกของอ่าวไทย จังหวัดสงขลามี ๑๖ อำเภอครอบคลุมพื้นที่ ๗๔ ร้อยตารางกิโลเมตร ( ๔ ล้านไร่)  เรามีสันเขาอยู่กลางด้ามขวาน สภาพแวดล้อมของจังหวัดสงขลาหันหน้าให้ทิศตะวันออก มีความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตเยอะมาก  เรายังมีที่ราบที่ไม่กว้างมากเรายังมีที่สำหรับทำเกษตรกรรม  เรามีทะเลสาบสงขลาที่มีความพิเศษที่สุดที่ในโลกนี้มี 2-3 แห่ง  มีความหลากหลายสูงมาก มีการดำรงชีวิตที่สูงมาก  ซึ่งเป็นฐานทรัพยากรที่เรามีอยู่  ถ้านิคมอุตสาหกรรมลงตรงนี้จะทำให้เราสูญเสียทรัพยากรไปมาก  เราจะมีอาชีพเกษตรกรรมเป็นส่วนใหญ่  มีสวนผลไม้  ประมง  แต่ในขณะเดียวกันมันเป็นความพิเศษของภาคใต้ และอีกอย่างที่เป็นความพิเศษ การอยู่ในภูมิศาสตร์และภูมิประเทศสามารถอยู่ได้ระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดียได้ 

            นฤทธิ์  ดวงสุวรรณ์  ผู้เชี่ยวชาญและติดตามปัญหาทะเลสาบมาอย่างยาวนานกล่าวว่า  ทะเลสาบถือเป็นความสมบูรณ์ของจังหวัดสงขลาในอดีต   มีพันธุ์ปลา 465ชนิด สัตว์ไม่มีกระดูสันหลัง193ชนิด สัตว์มีกระดูกสันหลัง222ชนิด แพลงต์ตอน211ชนิด  น้ำทะเลสาบสงขลา ถือเป็นต้นทุนทางธรรมชาติเป็นทุนชีวิตของคนไทย   เป็นฐานทรัพยากร 8,727 ตร.กม. ที่รองรับ คน กว่า 1.8 ล้านคน ใน 3 จังหวัด   ผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP)141,324 ล้านบาทรายได้ประชากรต่อหัวต่อปีเฉลี่ยประมาณ 75,000 บาท   มีพื้นที่ผลิตยางพารา 2,010,044 ไร่ มีผลผลิตปีละ  445,240 ตัน

นาข้าว 668,229 ไร่  มีผลผลิต 321,406 ตัน เพาะเลี้ยงชายฝั่ง(กุ้งทะเล) 35,000 ไร่ มีผลผลิตต่อปี 4,200 ล้านบาท และการประมงในทะเลสาบปีละ 200 ล้านบาท   โรงงานอุตสาหกรรม(การเกษตร/การประมง) 1,965 โรง รองรับแรงงานจากพื้นที่ ลุ่มน้ำ 77,255 คน  มีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและแหล่งท่องเที่ยวทางโบราณและศิลปวัฒนธรรม 172 แห่ง

บทเรียนการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบพ.ศ. 2504-2519 โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ส่งเสริมการตั้งโรงงานอุตสาหกรรม  โรงงานอุตสาหกรรม รอบทะเลสาบสงขลา เริ่มขยายตัวคุณภาพน้ำในแหล่งธรรมชาติเริ่มเสื่อมโทรม   พ.ศ.2525-2534  เริ่มสร้างท่าเรือน้ำลึก /ท่าเรือประมง สะพานเศรษฐกิจเกาะยอ พัฒนาแหล่งน้ำเพื่อ บริโภคและอุตสาหกรรม โรงงานอุตสาหกรรม ขยายตัวมากขึ้น  การกัดเซาะชายฝั่งด้านอ.สิงหนคร รุนแรงมากขึ้นหลังจากการสร้างท่าเรือน้ำลึกสงขลาเกิดการขัดแย้งชาวนากับชาวประมงกรณีโครงการคันกั้นน้ำเค็มทะเลสาบสงขลา

ยุทธศาสตร์การพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา  การฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ    การใช้ประโยชน์ทรัพยากรลุ่มน้ำแบบบูรณาการและใช้อย่างยั่งยืน การควบคุมและป้องกันมลพิษ   การอนุรักษ์ ฟื้นฟู บูรณะ ศิลปวัฒนธรรม แหล่งประวัติศาสตร์  โบราณคดี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และวัฒนธรรม    การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา โดยเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน  หากมีการพัฒนาภาคใต้และสงขลาเป็นสู่ทิศทางการเป็นอุตสาหกรรมย่อมส่งผลกระทบต่อลุ่มน้ำทะเลสาบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

รศ.ดร.สมบูรณ์  เจริญจิระตระกูล  คณะเศรษฐศาสตร์  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  ได้กล่าวถึงมายาคติของรายได้จากการพัฒนาและบางบทเรียนจากการพัฒนาในจังหวัดสงขลา การพัฒนาและขยายพื้นที่อุตสาหกรรมในจ.ระยองไม่สามารถทำได้เป้าหมายจึงเป็นพื้นที่ภาคใต้  ข้อมูลโครงสร้างเศรษฐกิจไทย จำแนกตามสาขาปี 50  ภาคอุตสาหกรรม 45 เปอร์เซ็นต์ คืออุตสาหกรรม โรงงาน  พลังงาน  ก่อสร้าง  โม่หิน ย่อยหิน  เหมืองแร่   เกษตร  11  เปอร์เซ็นต์   บริการ  44  เปอร์เซ็นต์   ภาคใต้ อุตสาหกรรม 21 เปอร์เซ็นต์   เกษตร  37   เปอร์เซ็นต์  บริการ42 เปอร์เซ็นต์  ส่วนโครงสร้างเศรษฐกิจจ.สงขลา จำแนกตามสาขาในปี50  มีบริการ 39 เปอร์เซ็นต์  เกษตร 28 เปอร์เซ็นต์  อุตสาหกรรม  33 เปอร์เซ็นต์ 

            สิ่งที่เป็นมายาคติคือสิ่งที่รัฐบาลเชื่อว่ารายได้ต่อหัวของประชาชนต่อคนต่อปี ภาคใต้ของเราอุตสาหกรรมน้อยมากส่งผลให้รายได้ต่ำ   จากผลสำรวจคนระยองในปี50 มีรายได้เฉลี่ยต่อคนละ 1,035.536 บาทต่อปี แต่ความเป็นจริงผลสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน โดยสำนักงานสถิตแห่งชาติรายได้ต่อครัวเรือนของคนระยองเพียง 25.090 บาทต่อครัวต่อเดือน เทียบกับจ.สงขลาจากผลสำรวจคนระยองในปี50 มีรายได้เฉลี่ยต่อคนละ 114,981 บาทต่อปี  รายได้ต่อครัวเรือนจ.สงขลา 22,342 บาทต่อครัวต่อเดือน   ซึ่งรายได้ต่อครัวเรือนต่างกันประมาณ 2.000กว่าบาท แต่คนสงขลาไม่ต้องเผชิญกับปัญหามลพิษแบบมาบตาพุด 

คำเตือนของโจเชฟ สติกลิทธ์ นักเศรษฐศสตร์ได้รับรางวัลโนเบลปี44 ว่า บริษัทวัดประเมินจากบัญชีมีกำไร สังคม ที่ผ่านมามองแต่เรื่องจีดีพีประเด็นนี้ขอให้ทำความเข้าใจใหม่ ว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดีเลยที่ใช้จีดีพีประเมินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งจีดีพีนี้ถือว่าเป็นตัววัดผลประกอบการการทำงานที่แย่ ผมมองว่าจีดีพีว่าไม่ใช่ตัววัดที่ทำให้เห็นถึงเศรษฐกิจมีความผาสุกอยู่ดีกินดีและไม่ใช่ตัวช่วยให้สังคมโดยรวมวงกว้างมีความสุขได้

แม้นิคมอุตสาหกรรมยังไม่เกิดที่จ.สงขลา แต่เรามีบทเรียนบทเรียนของโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย ที่ส่งผลกระทบต่ออาชีพ วิถีชีวิตและเริ่มก่อปัญหามลพิษและโรงงานอุตสาหกรรมทั้งที่เป็นอุตสาหกรรมเกษตรมีการบำบัดน้ำเสียไม่ดีพอที่ส่งลงสู่ทะเล  ปล่อยน้ำทิ้งลงที่นาของชาวบ้าน ต.สะกอม  การปล่อยน้ำเสียของโรงงานเหล่านี้ปล่อยไปทั่วทำให้ที่นาทั้งหมดหายไปเลยทั้งตำบลสะกอมเดิมมีคนทำนา 30 เปอร์เซ็น  แต่ประมาณปี 40 เป็นต้นมาที่นาสูญหายไปเนื่องจากการทิ้งน้ำจากโรงงานอุตสาหกรรม  และเน้นย้ำว่าฐานทรัพยากรของสงขลาได้แก่ ยางพารา ประมง การท่องเที่ยว 

 

ผศ.ประสาท มีแต้ม ภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ยกคำกล่าวของเออร์วิน ลาสซโล นักคิดชาวฮังการี  เผยแพร่โดย ดร.ไสว บุญ ขณะนี้ชาวโลกกำลังยืนอยู่บนทางสามแพร่ง ยังมีเวลาอีกสามปี ที่จะตัดสินใจว่าจะไปทางไหน ระหว่างความล่มสลายหายนะและความยั่งยืนท้าทายว่าเรามีเวลาสามปีในการต่อสู้

จากนโยบายพลังงานของไทยที่ผูกขาดความคิด ผูกขาดแหล่งพลังงานแล้วปล่อยมลพิษไปทำลายแหล่งอาหาร ทำให้คนตกงานนับล้านคน แล้วใช้สื่อที่ตนยึดครองได้เพื่อล้างสมองคนทั้งประเทศว่าพลังงานอีกประเภทหนึ่งใช้ไม่ได้นั้น ผมไม่มีคำพูดอื่นครับ นอกจากคำว่า เป็นอาชญากรรมเชิงนโยบาย

แหล่งเชื้อเพลิงแบ่งเป็น 2 ประเภท ประเภทแรกคือ ถ่านหิน น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ประเภทที่สองได้แก่ พลังงานลม แสงอาทิตย์ ชีวมวล (ของเสีย-ของเหลือจากการเกษตร) ประเภทแรก กำเนิดเมื่อหลายล้านปีมาแล้ว ใช้หมดแล้วหมดเลย อยู่ใต้ดินหลายพันเมตรและถูก ผูกขาดโดยพ่อค้าพลังงานจำนวนน้อยราย ส่วนประเภทที่สองเกิดขึ้นใหม่ทุกวัน ไม่มีวันหมด และกระจายอยู่ทั่วไป การผูกขาดจะทำได้ยากทั้งสองต่างก็เป็น ลูกพระอาทิตย์

ขณะที่ทั่วทั้งโลกรวมทั้งประเทศไทยกำลังเผชิญหน้ากันระหว่างคนสองกลุ่ม คือทุนสามานย์กับชุมชน พลเมืองที่ได้รับผลกระทบของการพัฒนาจากข้อมูลของกระทรวงพลังงานพบว่า ในปี 2536 คนไทยเราจ่ายค่าพลังงานไปเพียง 10% ของรายได้ที่อุตส่าห์หามาได้ แต่พอมาถึงปี 2551 กลับพบว่าค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของเราเพิ่มขึ้นเป็น 20%   แปลว่าอะไรครับ ว่า ยิ่งพัฒนา ยิ่งยากจน ยิ่งเป็นคนในชนบทยิ่งจนมากขึ้น  ปัญหาที่สำคัญกว่าเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ คือการจ้างงาน หรือการไม่มีงานทำของคนที่กำลังรุนแรงขึ้น ทุกขณะ พบว่าในภาคส่วนพลังงานที่มีสัดส่วนถึง 20% ของรายได้นั้นมีการจ้างงานเพียงร้อยละ 1% ของแรงงานทั้งประเทศเท่านั้น  ขณะที่นายกฯอภิสิทธิ์ โฆษณาว่า ผมสัญญา ...คนไทยต้องมีงานทำ

ในความเป็นจริงข้อมูลที่มาจากกระทรวงพลังงานเองว่า ประเทศไทยมีศักยภาพจะผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล (Biomass) ได้ถึง 7,000 เมกกะวัตต์  ทุก ๆ หนึ่งตันของผลปาล์ม จะสามารถนำน้ำเสียมาผลิตเป็นไฟฟ้าได้คิดเป็นมูลค่าถึง 100 บาท แต่ละปี ผลผลิตปาล์มอย่างเดียวในภาคใต้สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 670 ล้านบาท นี่ยังไม่นับทะลายปาล์ม ไม่นับตอของต้นยางพาราที่ถูกเผาทิ้งปีละ 4-5 แสนไร่ (เพื่อปลูกใหม่) ซึ่งสามารถนำไปเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าได้อีกด้วย นี่ยังไม่นับนาร้างจำนวนอีก 5 แสนไร่ในภาคใต้ ถ้าคิดจะปลูกไม้โตเร็วมาผลิตไฟฟ้าก็ได้อีกเยอะ คนกระบี่ทั้งจังหวัดใช้ไฟฟ้าขนาด 60 เมกกะวัตต์ แต่มีการผลิตไฟฟ้าจากของเหลือจากปาล์มได้ 30 เมกกะวัตต์ ในขณะที่มีศักยภาพที่จะทำได้ถึง 120 เมกกะวัตต์

สรุปนโยบายพลังงานของไทยที่ผูกขาดความคิด ผูกขาดแหล่งพลังงานแล้วปล่อยมลพิษไปทำลายแหล่งอาหาร ทำให้คนตกงานนับล้านคน แล้วใช้สื่อที่ตนยึดครองได้เพื่อล้างสมองคนทั้งประเทศว่าพลังงานอีกประเภทหนึ่งใช้ไม่ได้นั้น  ดังนั้นเราต้องเอาพลังงานหมุนเวียนเอาพระอาทิตย์คืนมาเป็นของประชาชน และพลเมืองต้องร่วมกำหนดนโยบายพลังงานเอง

มุมมองคนสงขลาต่อการพัฒนา

เพ็ญณี  ฤทธิ์กาญจน์ คณะกรรมการสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ประธานสมาพันธ์ท่องเที่ยวภูมิภาคแห่งภาคใต้และนายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดสงขลา กล่าวว่าโดยภูมิศาสตร์ภาคใต้ติดทั้งทะเลอ่าวไทยและทะเลอันดามัน ปฏิเสธไม่ได้ทั้งสองฝั่งทะเลมี และอารยธรรม มีประเพณี วัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกัน มีวิถีชีวิตที่พึ่งพาประมง ท่องเที่ยวและเกษตรกรรม ชุมชนภาคใต้โดยเฉพาะชุมชนสงขลามีความสุขจากการอาศัยทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลเลี้ยงดูครอบครัวมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ วันนี้กำลังจะเกิดการเปลี่ยนแปลงรู้ข่าวการพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคใต้เพื่อรองรับอุตสาหกรรมมา 2-3 ปีแต่มีชัดเจนในปีนี้ว่าจะมีอุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำทำให้สมาคมท่องเที่ยวเกิดการตื่นตัวมากทุกพื้นที่ตลอดทั้งภาคใต้

ภาคใต้ทั้งหมดโดยเฉพาะสงขลามีศักยภาพด้านท่องเที่ยวหลากหลายรูปแบบทั้งทางทะเล การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เช่น คลองรัตภูมิ คลองนาทับ อ.จะนะ แต่พื้นที่เหล่านี้เป็นพื้นที่ที่กำลังถูกวางแผนการพัฒนาอุตสาหกรรม เชื่อว่ารายได้จากการพัฒนาอุตสาหกรรมไม่ใช่รายได้ที่เจริญรุ่งเรืองอย่างยั่งยืนแน่นอน การท่องเที่ยวไม่ต้องกู้เงินทุนมหาศาลอาศัยทรัพยากรทางทะเล บริการและจุดขายทางวัฒนธรรม นี่คือคุณค่าสูงสุดคือความสุขของคนในพื้นที่ที่มาจากสิ่งแวดล้อม ดังนั้นการพัฒนาสงขลาต้องมองถึงการท่องเที่ยว ประมง การเกษตรเป็นหลัก

ที่สำคัญรัฐบาลกำลังพูดถึงการเปิดประตูสู่อาเซียน ทิศทางการพัฒนาจ.สงขลาเพื่อรองรับการนโยบายการเปิดประตูสู่อาเซียน ควรกำหนดทิศทางการพัฒนาการท่องเที่ยวให้เพื่อนบ้านได้ทราบว่าจ.สงขลาเป็นแหล่งการท่องเที่ยว เปิดภาพพจน์การท่องเที่ยวให้ประเทศเพื่อนบ้านรู้จัก หากเปรียบเทียบการท่องเที่ยวกับอุตสาหกรรมจะเห็นว่าการท่องเที่ยวมีคุณค่ามหาศาลทั้งต่อจิตใจและสุขภาพ

นายสุมิตร  สมิตชัยจุฬารัตน์ โครงข่ายสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจังหวัดสงขลา  และผู้ประกอบการโรงแรมในจังหวัดสงขลา  กล่าวว่า จังหวัดสงขลามีศักยภาพด้านใดให้สังเกตจากสองฤดูกาลคือช่วงระหว่างเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม  และช่วงฤดูกาลเดือนตุลาคม   ซึ่งเป็นช่วงปิดภาคเรียนทุกปีจะมีนักเรียนจากจังหวัดต่างๆทั่วภาคใต้โทรศัพท์จากที่พัก เพื่อเข้ามาติวตามสถาบันการติวต่างๆ ทำให้เห็นว่าสงขลามีศักยภาพเป็นเมืองแห่งการศึกษาและแหล่งเรียนรู้ของคนภาคใต้   และในอนาคตน่าจะพัฒนาจังหวัดสงขลาเป็นศูนย์กลางการกินเจ อยากฝากให้นายกมา

ซึ่งประเด็นที่นายสุมิตรเสนอเป็นความคิดที่สอดคล้องกับความคิดเห็นของนักวิชาการ ภาคธุรกิจและการท่องเที่ยว ที่เห็นว่าสงขลามีศักยภาพด้านการศึกษา สงขลาถือเป็นตักศิลา เพราะเป็นศูนย์รวมของการศึกษา ความรู้และที่ผ่านมาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันมีบทบาทสำคัญในการผลิตและพัฒนาบุคลากรของประเทศ จะทำอย่างไรที่จะพัฒนาจังหวัดสงขลาเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ทั้งของคนในประเทศ  รวมถึงสายตาของต่างประเทศด้วยไม่ใช่มีมองภาพลักษณ์ของสงขลาเป็นเมืองบันเทิงด้านเดียว

นางจินตนา จิโนวัฒน์  สมาคมผู้นำสตรีจ.สงขลา การพัฒนาต้องเน้นการพัฒนาศักยภาพของคนอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนการอบรมครอบครัว  จากการฟังข้อมูลวันนี้ตนรู้สึกสะเทือนใจ คนสงขลามีทั้งหมด 1 ล้านคนที่ยังไม่รู้ข้อมูลทำอย่างไรให้คน 500,000  คนได้รู้ข้อมูลผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

นายนภดล อ่อนวิจัย สหพันธ์ครอบครัวเพื่อสันติภาพโลก ประเทศไทย (เครือข่ายภาคใต้)  รู้สึกดีใจจากการพูดคุยในวันนี้มุ่งเน้นการพัฒนาบุคลากร ซึ่งต้องปลูกฝังคุณธรรมด้วย การเมืองล้มเหลวประชาชนขาดเสียง นักการเมืองพึ่งพาระบบทุนธุรกิจ เมื่อได้รับเลือกตั้งก็เข้ามากอบโกยผลประโยชน์จากทรัพยากร  ระบบการศึกษาปลูกฝังแนวคิดเรียนจบเข้าสู่โรงงาน ไม่มีการกลับมาพัฒนาท้องถิ่น วิศวกรเข้าสู่โรงงาน แพทย์เข้าสู่เมือง  ควรพัฒนาพลังงานทางเลือก พลังงานสีเขียวไม่ต้องอาศัยเฉพาะพลังงานที่ก่อมลพิษ และพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว เราต้องรุจักตัวเรา เช่นการพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว  พัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตร

สำหรับกลุ่มองค์กรชาวบ้านและเครือข่ายประชาชนกลุ่มต่างๆ มีความเห็นตรงกันว่ายุทธศาสตร์การพัฒนาหรือจินตภาพการพัฒนาที่ชุมชนต้องการเห็น คือการพัฒนาบนพื้นฐานทรัพยากรของท้องถิ่นและชุมชนที่มีอยู่ ไม่เห็นด้วยกับการโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของภาครัฐที่ต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล และเสนอว่ารัฐบาลไม่ต้องเร่งรีบในการพัฒนาอุตสาหกรรมหรือโครงการแลนด์บริดจ์ การพัฒนาต้องสอดคล้องกับวิถีชีวิตและสอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ที่สำคัญต้องเป็นการพัฒนาที่เกิดจากประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนด ในการตัดสินใจทิศทางการพัฒนาของชุมชน

ข้อสรุปยุทธศาสตร์ทิศทางการพัฒนาจังหวัดสงขลา   

1.ยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยว

2.ยุทธศาสตร์ด้านภาคเกษตรกรรม เกษตรกรรมยั่งยืน  ประมงชายฝั่งโดยการเพิ่มมูลค่าผลิต  การพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตร แต่ต้องเป็นอุตสาหกรรมที่ใส่ใจดูแลสิ่งแวดล้อม

3.ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาบุคลากร โดยเฉพาะการพัฒนาด้านการการศึกษา ปลูกฝังจิตสำนึก จิตวิญญาณ

4.ยุทธศาสตร์ด้านพลังงานทางเลือก ส่งเสริมการสร้างพลังงานทางเลือกจากทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจริงจัง เช่น พลังงานลม พลังงานน้ำ พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานอื่นๆที่ไม่ส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม 

สำหรับยุทธศาสตร์ทิศทางการพัฒนาจังหวัดสงขลาที่ประชุมเวทีสัมมนาเสนอว่า ต้องเกิดจากการมีส่วนร่วมของประชาชน  ต้องพัฒนาบนฐานทรัพยากรที่มีอยู่ท้องถิ่น ชุมชน รัฐบาลต้องบูรณาการการมีส่วนร่วมโดยต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย  เสนอควรเป็นวาระแห่งชาติของคนสงขลาในการวางยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดสงขลา  พัฒนาต้องอยู่บนแนวคิดการพึ่งตนเองเศรษฐกิจพอเพียงไม่ก่อความขัดแย้งในชุมชน  ซึ่งยุทธศาสตร์การพัฒนาดังกล่าวชุมชนสามารถดำรงชีวิตพิถีพิถันบนฐานทรัพยากร ความหลากหลายชีวภาพ ความหลากหลายทางวัฒนธรรมประเพณีได้อย่างปกติสุข 

 

 

 

 

 

"ตามหาชายหาด...ที่หายไป"

            ช่วงวันหยุดเข้าพรรษาที่ผ่านมามีน้องๆเยาวชนในนามของกลุ่มโหมเรารักษ์จะนะซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลาได้ร่วมกันจัดค่ายเยาวชนโหมเรารักษ์จะนะครั้งที่ 2 ตามหาชายหาด...หายไปขึ้นระหว่างวันที่ 7-8 กรกฎาคม 2552 ณ บ่อโชนรีสอร์ท ตำบลสะกอม อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา หลังจากที่มีการจัดค่ายเยาวชนครั้งแรกไปเมื่อปีกลายที่ผ่านมา เวลานั้นเป็นค่ายตามรอยเรื่องเล่าเมืองจะนะ

            เช้าวันที่ 7 กรกฎาคมน้องๆสามสิบกว่าชีวิตจากหลายหมู่บ้านและหลากหลายโรงเรียนได้เดินทางมารวมตัวกัน ณ ศูนย์การเรียนรู้วิถีธรรมชาติเพื่อชุมชน ตำบลบ้านนา อำเภอจะนะ  น้องเล็กสุดก็ประถมห้าประถมหก พี่สุดกำลังศึกษาปริญญาตรีเพื่อเตรียมออกเดินทางไปยังริมทะเลตำบลสะกอม

            ความคาดหวังของเยาวชนในการจัดค่ายครั้งนี้ เพื่อเรียนรู้ประการณ์ใหม่ๆ ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ต้องการเรียนรู้เกี่ยวกับชายหาดและท้องทะเล   เรียนรู้วิถีชีวิตของชาวประมงพื้นบ้านที่สัมพันธ์กับท้องทะเล ค้นหาที่ทำให้ชายหาดหายไป  ที่สำคัญเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์ทะเลบ้านเรา  ส่วนหนึ่งค่ายนี้ถือเป็นค่ายพัฒนาการของน้องๆโหมเรารักษ์จะนะจากค่ายที่หนึ่งในฐานะผู้เข้าร่วมค่าย  แต่ในครั้งนี้ขยับบทบาทเป็นผู้ออกแบบและเป็นพี่เลี้ยงค่าย  ผู้ปกครองที่ทำหน้าพี่เลี้ยงค่ายแรก สำหรับค่ายนี้เป็นฝ่ายสนับสนุน อำนวยความสะดวกและเฝ้าดูการเติบโตของเด็กๆ

            หลังจากทำความรู้จักและประมวลความคาดหวังของการมาค่ายคราวนี้แล้ว  น้องๆเริ่มกระบวนการเรียนรู้วิถีประมงพื้นบ้านและชายหาดบ้านสะกอม  นายเจ๊ะหมัด สังข์แก้ว  จากบ้านบ่อโชน ตำบาลสะกอมถ่ายทอดเรื่องราวของชายหาดในอดีตว่า เดิมทีชายหาดแถวนี้สวยงาม จากชายฝั่งถึงท้องทะเลมีหาดทรายกว้างยาวทอดขวางอยู่ ริมชายหาดมีต้นสนเป็นทิวแถว ชาวบ้านจะทำมาหากินบริเวณริมชายหาดหาหอยเสียบ รุนกุ้งเคย  แต่หลังจากที่เกิดปัญหาการกัดเซาะชายหาดทำให้กระทบการทำมาหาของชาวบ้านในพื้นที่ พันธุ์สัตว์น้ำหลายชนิดลดน้อยลง

            นายสาลี มะประสิทธิ์  ผู้ใหญ่แห่งบ้านโคกสัก ถ่ายทอดถึงความเปลี่ยนแปลงของชายหาดเริ่มอย่างรวดเร็วตั้งแต่มีการสร้างเขื่อนกั้นคลื่นที่ปากคลองสะกอม โดยกรมการขนส่งทางน้ำพาณิชนาวี ตั้งแต่ประมาณปี 2541 เป็นตั้งต้นมา ชายหาดสะกอมถูกน้ำกัดเซาะอย่างรุนแรง และพังทลายลงถึงปัจจุบันกัดเซาะลึกประมาณ 80 เมตร ระยะทางยาวกว่า 3 กิโลกรัม จากบ้านบ่อโชนบ้านโคกสักตลอดแนวยาวถึงตลิ่งชัน สำหรับบ้านโคกสักวันนี้คลื่นซัดใกล้ถึงบ้านเรือนที่อยู่อาศัย ศาลเอนกประสงค์ของหมู่บ้านที่อยู่บริเวณที่ดินสาธารณประโยชน์ก็ถูกคลื่นกัดเซาะจนพังทลาย  ที่สถานที่แห่งนี้เองที่ดินถูกกัดเซาะไปเนื้อที่หลายไร่ชายหาดขาวสะอาดถูกแทนที่ด้วยหาดหิน นายสาลีเล่าว่าธรรมชาติของคลื่นมีการพัดพาทรายขึ้นลงเป็นธรรมดาอยู่แล้ว  แต่ไม่ก่อให้เกิดการกัดเซาะ แต่หลังจากที่มีการสร้างเขื่อนกั้นคลื่นกั้นทรายที่ปากคลองสะกอมทำให้กระแสคลื่นเปลี่ยน ที่สำคัญเขื่อนดังกล่าวไม่สามารถกั้นทรายตามที่กรมเจ้าท่าฯตั้งใจไว้ เพราะกรมเจ้าท่าฯยังต้องใช้รถมาดูดทรายบริเวณนั้นทุกปี

            ด้านนายดลรอหมาน โต๊ะกาหวี ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ่อโชน  เล่าถึงความสำคัญของชายหาดอีกแง่มุมหนึ่งว่าชายหาดเป็นที่วิ่งเล่นและพักผ่อนหย่อนใจของคนในชุมชน  สมัยก่อนเด็กๆและผู้ใหญ่จะมีพักผ่อนบริเวณริมชายหาดเด็กๆมีการละเล่นมากมาย เป็นการสร้างความผูกพันธ์ภายในครอบครัว และยังเล่าให้น้องๆฟังว่าตัวแทนชาวบ้านสะกอมได้ร่วมกันฟ้องร้องกรมขนส่งทางน้ำฯต่อศาลปกครองสงขลาให้รับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับชายหาด เพราะไม่ต้องการให้ชายหาดเกิดความเสียหายมากกว่านี้

ช่วงบ่ายน้องๆฝ่าเปลวแดดที่ร้อนแรงไปยังริมชายหาดบ้านสวนกง   ตำบลนาทับ อำเภอจะนะ บริเวณชายหาดใกล้กับศูนย์วิจัยทางทะเลของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งปัจจุบันถูกทิ้งร้างไว้ น้องๆชาวค่ายล้อมวงริมหาดคุยกับชาวประมงที่นั้น จากสายตาที่มองเห็นชายหาดบริเวณนี้ยังอยู่ในสภาพที่ทอดยาวสวยงามไม่ถูกกัดเซาะแบบตำบลสะกอม 

จากการถ่ายทอดเรื่องราวของชาวประมงบ้านสวนกงทำให้รู้ว่าต้นตระกูลเดิมที่มาตั้งบ้านเรือนบริเวณนี้เป็นชาวจีน ชื่อ แปะกง ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นที่มาของชื่อบ้านสวนกง จากคำบอกเล่าอดีตชายฝั่งทะเลบ้านสวนกงทรัพยากรอุดมสมบูรณ์มาก ต่อมาช่วงประมาณ 10-15ที่ผ่านมามีเรือประมงประเภทอวนลากอวนรุนเข้าทำการประมงส่งผลให้ทรัพยากรลดน้อยลง ชาวบ้านส่วนใหญ่ต้องออกไปรับจ้างนอกพื้นที่ ต่อมาคนในชุมชนเกิดความคิดที่จะฟื้นฟูท้องทะเลให้คืนความอุดมสมบูรณ์ เพื่อจะได้กลับมาทำมาหากินในชุมชนตนเอง  จึงคิดถึงการทำปะการังเทียม เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยและเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ ซึ่งหลังจากการทำปะการังปรากฎว่าทรัพยากรพันธุ์สัตว์น้ำในท้องทะเลเพิ่มมากขึ้นทำให้ชาวบ้านสามารถกลับมาทำประมงได้อีกครั้ง

นอกจากการอนุรักษ์ฟื้นฟูทะเลแล้วยังมีการจัดการขยะในชุมชน แต่น่าเสียดายที่ขาดความต่อเนื่อง   และช่วงเวลาสิบที่ผ่านมาสมาชิกในชุมชนยังทำการรณรงค์การปลูกต้นไม้ในชุมชนเพื่อให้ลูกหลานได้ใช้ประโยชน์ระยะยาวซึ่งตอนนี้บางส่วนได้ใช้ประโยชน์จากต้นไม้ที่ปลูกแล้ว 

            ณ วันนี้ชาวบ้านสวนกงส่วนหนึ่งหวั่นวิตกกับกระแสข่าวที่ว่าท่าเทียบเรือน้ำลึกสงขลาแห่งใหม่จะเกิดขึ้นที่นี้ ซึ่งหมายถึงชายหาดอาจต้องถูกทำลายไปเช่นที่ตำบลสะกอม นั่นหมายถึงวิถีการทำมาหากินของชาวประมงจะกระทบไปด้วย 

            ยามค่ำคืนนั้นน้องๆได้นั่งล้อมวงรอบกองไฟและบอกเล่าสิ่งที่ได้เรียนรู้โดยสื่อสารผ่านการเล่าเรื่อง บทกลอน บทเพลงและศิลปะภาพวาดที่ถ่ายทอดจากหัวใจของเด็กๆ

บ้านสวนกงปลูกไม้ไว้ทดแทน                          ผู้ใหญ่ท่านหวงแหนเป็นหนักหนา

ให้ลูกหลานได้ใช้ประโยชน์นานา                           คนในถิ่นศึกษาน่าจดจำ

ทั้งต้นย่างยางนำมาอุดเรือได้                          มะพร้าวกล้วยลำเพ็งไว้เก็บเกี่ยวผล

ต้นวาหรือมังคุดป่าช่างน่ายล                                ทิ้งให้ชนรุ่นหลังได้ดูแล

ส่วนต้นเค็ดเมล็ดใช้ซักผ้า                               ผลนั่นหนาย้อมศีรษะงามเกศี

นำลำต้นทำรั้วหนามหลายบ้านมี                           หนามเค็ดนี้ถ้าโดนตำปวดถึงใจ

กระถินไซร้ได้พันธุ์มาจากฉลุง                         เราบำรุงกินกล้วยป่าน่าพิสมัย

เม็ดมะม่วงหิมพานต์ทานกันไว                              ทั้งพวกไก่พฤกษามาพึ่งพิง

ทั้งโท๊ะเหมรอออกผลชนได้กิน                         เป็นทรัพย์สินธรรมชาติมาตรฐาน

ใครมาซื้อไม่ขายได้ประโยชน์นาน                           รักษาไว้ให้ลูกหลานได้ชม

แต่วันนี้ท่าเรือใหญ่จะมาตั้ง                            เยาวชนช่วยรั้งโครงการนี้

ต่อไปคงมีแล้วเขียวขจี                                         ทุกพื้นที่สวนนานาเขาเข้าครอง

ในค่ายนี้โหมเรารักษ์จะนะ                              พวกเราจะเชิญชวนเพื่อนทั้งผอง

ผนึกแรงกำลังของพี่น้อง                                      ร่วมปกป้องความสมบูรณ์ของบ้านเรา

และสื่อสารผ่านบทเพลงรักบ้านเกิด

            ..รู้ว่าเสี่ยงแต่คงต้องขอลอง          รู้ว่าเหนื่อยแต่อยากได้ของที่สดสวย            ยังไงก็ต้องขอร่วมด้วยช่วยกัน        ได้เกิดมาเป็นคนทั้งที ยังไงต้องทำมันดีสักวัน    อยากปกป้องต้องเสี่ยง     ไม่อยากให้บ้านเราเป็นเพียงความฝัน         ลำบากลำบนมาหลายปี            ตรากตรำยังไงก็คิดที่จะทำ            ก็ดีกว่าปล่อยให้มันเสื่อมสูญ         ก็เพราะรักบ้านเราจริงๆ    รักจริงๆก็ต้องช่วยกัน..

      เช้าวันรุ่งขึ้นน้องๆช่วยกันระดมความคิดเห็นว่าอนาคตอยากให้ชายหาดเป็นอย่างไรและจะทำอย่างไรกันได้บ้าง  น้องๆทั้งหมดคาดหวังว่าอยากให้ชายหาดขาวสะอาดมีน้ำทะเลใสๆ ไร้ขยะ   ให้ระบบนิเวศน์สมบูรณ์ เหมือนในอดีต   ไม่อยากให้เกิดโรงงานอุตสาหกรรมเกิดขึ้นบริเวณชายหาดและทะเล  อยากให้ปู ปลาหมึกกลับมาวางไข่ใกล้ๆชายฝั่ง  ไม่อยากให้นายทุนมาสร้างสิ่งก่อสร้างที่ทำลายระบบนิเวศน์ชายทะเลของเรา อยากให้เกิดการรวมกลุ่มของชุมชนในการจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นกับชายหาดย่างจริงจัง อยากให้เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยว  และที่สำคัญอยากให้อยากให้ทุกคนช่วยกันอนุรักษ์ป่าสันทรายและชายหาด  ให้มีชายหาดที่สวยงามนี้อยู่คู่โลกใบนี้ตลอดไป เพื่อให้ชนรุ่นหลังได้ศึกษาและพัฒนาให้ดีขึ้นต่อไป  โดยเด็กๆจะเริ่มจากสิ่งเล็กๆที่สามารถทำเอง เช่นเก็บขยะริมชายหาดไม่ทิ้งขยะเกลื่อนกลาด    ช่วยกันรณรงค์ให้ทุกคนเกิดจิตสำนึกรัก  จัดกลุ่มเยาวชนขึ้น เพื่อรักษาชายหาดและป่าสันทราย บอกเล่าสิ่งที่ได้เรียนรู้และสัมผัสให้คนอื่นๆได้รับรู้ นี่คือสัญญาใจของค่ายโหมเรารักษ์จะนะในครั้งนี้ เพื่อตามหาชายหาดที่หายไปให้กลับคืนมาสู่ผืนแผ่นดินเกิด