Skip to main content

เช้านี้เหมือนกับทุกเช้าในช่วงนี้พ่อท่อน ยาแก้วเดินทอดน่องในสวนบนดอนทรายริมฝั่งแม่น้ำโขงเพื่อดูแปลงมะเขือราว ๔ ไร่ ในใจพ่อท่อนเองไม่อยากเก็บมะเขือในตอนนี้แม้ว่าจะถึงช่วงเวลาในการเก็บแล้ว สาเหตุที่ทำให้พ่อท่อนไม่อยากเก็บมะเขือในตอนนี้ เพราะราคามะเขือต่ำกว่าปีที่ผ่านมา ปีนี้มะเขือหนึ่งหมื่น (๑๒ กิโลกรัม) ขายส่งจากสวนได้เงิน ๑๒ บาท


ไม่ใช่ว่าจะมีแต่พ่อท่อนเท่านั้นที่ไม่อยากเก็บมะเขือ แต่คนอื่นๆ ที่ปลูกมะเขืออยู่บนดอนตาเปี้ยอันเป็นดอนทรายที่โผล่พ้นน้ำในช่วงน้ำลดตั้งแต่เดือนกันยายนเป็นต้นไปก็ไม่อยากเก็บ เพราะเมื่อบวกลบคูณหารถึงต้นทุนการผลิต และผลกำไรที่จะได้แทบไม่คุ้มทุน

ยามสายบนดอนตาเปี้ย คนที่ทำเกษตรบนดอนริมแม่น้ำโขงยังพากันเดินทางมาสวน เพื่อเฝ้าดูผลผลิต บางคนเริ่มเปลี่ยนจากการปลูกมะเขือเป็นการปลูกถั่ว ส่วนบางคนที่มีพื้นที่มากพอจะปลูกพืชอย่างอื่นก็กำลังเตรียมดิน เพื่อปลูกมะละกอ

ว่ากันว่าผลผลิตทางการเกษตรที่เดินทางออกจากดอนทราย และริมฝั่งแม่น้ำโขงในเขตอำเภอปากชมปลายทางของสินค้าเหล่านี้นอกจากจะกระจายอยู่ตามท้องถิ่นแล้ว ยังกระจายไปจังหวัดใกล้เคียง และไกลออกไปถึงกรุงเทพฯ

นอกจากจะได้ลิ้มรสผลไม้และพืชผักเหล่านั้นแล้วจะมีกี่คนรู้ได้ว่า ต้นธารของสิ่งที่กำลังกินอยู่มาจากที่ใด บนทางหลวงหมายเลข ๑๒๒ ที่เลาะเลียบแม่น้ำโขงมีคำตอบของคำถามนี้


รถค่อยๆ ชะลอจอดเข้าข้างทางโดยมีเป้าหมายอยู่ที่บ้านหลังหนึ่งของบ้านปากเนียม อำเภอปากชม จังหวัดเลย ที่บ้านหลังนั้นพ่อท่อนผู้เป็นเจ้าของบ้านจะพาเราเดินทางไปดูแปลงเกษตรบนดอนทรายริมแม่น้ำโขงที่จัดได้ว่าเป็นพื้นที่ทำการเกษตรขนาดใหญ่ หลังทักทายพูดคุยกัน พ่อท่อนก็พามุ่งหน้าสู่แม่น้ำโขงด้วยรถไถนาเดินตามต่อพ่วง

 


แปลงปลูกมะละกอบนดอนตาเปี้ย

 

เมื่อไปถึงแปลงเกษตรที่คำนวนคร่าวด้วยสายตาน่าจะมีประมาณ ๔๐๐ กว่าไร่ก็ปรากฏอยู่เบื้องหน้า พ่อท่อนเล่าว่า ดอนที่ชาวบ้านพากันมาทำเกษตรนี้เรียก ‘ดอนตาเปี้ย' อยู่ระหว่างบ้านปากเนียมกับบ้านสงาว คนที่ลงมาทำเกษตรบนดอนก็มีทั้งคนบ้านปากเนียม สงาว และโนนสวรรค์ โดยการลงมาจับจองดอนแห่งนี้ทำการเกษตร คนที่มาทำเป็นคนแรกก็คือตาเปี้ย ดอนนี้จึงชื่อว่าดอนตาเปี้ย ที่ดินบนดอนในตอนนี้ไม่ใช่ว่าใครจะมาจับจองทำการเกษตรก็ได้ไม่เหมือนแต่ก่อน เพราะตอนนี้บนดอนทรายมีเจ้าของหมด แต่ก่อนถ้าจะทำต้องลงมาจับจองในช่วงน้ำโขงลด บางปีก็ได้ที่ดินมาก บางปีก็ได้ที่ดินน้อย มันแล้วแต่ว่าน้ำจะพัดทรายมาทับถมมากน้อยแค่ไหน แรกๆชาวบ้านก็ปลูกผัก ปลูกถั่วพอได้อยู่ได้กิน หลังๆ มาชาวบ้านเริ่มปลูกมะเขือ ข้าวโพด ใบยาสูบ มะละกอ เพื่อส่งออกไปขายตามตลาดต่างๆ ช่วงแรกรายได้ดี บางคนได้เงินจากการปลูกมะเขือบนดอนเป็นแสนบาท บางคนก็ส่งลูกเรียนจนได้ปริญญา


นอกจากคำบอกเล่าถึงรายได้ที่ได้ยินจากปากของพ่อท่อนแล้ว แม่บังอรหนึ่งในคนทำเกษตรบนดอนตาเปี้ยก็ได้ย้ำเตือนถึงจำนวนของรายได้ที่เคยมีจากการทำเกษตรบนดอนทรายริมโขงให้ฟังว่า ถ้าปีไหนมะเขือในตลาดแพง ปีนั้นเรายิ้มออกเลย หักลบหนี้สินแล้วยังไงก็มีเงินเหลือเก็บ บางคนพอเสร็จจากมะเขือก็ปลูกข้าวโพดต่อ รายได้มันก็หมุนเวียนอยู่อย่างนี้ แต่มันก็ไม่ได้ทำทั้งปี เราจะลงไปปลูกพืชผักก็ต้องรอให้น้ำในแม่น้ำโขงลดลงก่อน ผักที่ปลูกนี่คนได้กินเยอะ เราเป็นเจ้าของที่ เราก็มีรายได้จากการขาย ส่วนคนไม่มีที่ก็มารับจ้างเก็บมะเขือ เก็บถั่ว เก็บข้าวโพด รายได้มันก็กระจายไปหลายคน


เมื่อลองตามเส้นทางของพืชผักที่เดินทางออกจากบ้านปากเนียมไปยังที่ต่างๆ เราจะพบได้ว่า รายได้อันเกิดจากพื้นที่ที่ธรรมชาติได้ให้มานั้นไม่ได้เกิดเฉพาะกับคนริมฝั่งน้ำเพียงอย่างเดียวยังเกิดกับพ่อค้า แม่ค้า และคนกลุ่มอื่นๆ ด้วย


นอกจากพื้นที่ดอนทรายริมฝั่งแม่น้ำโขงจะเป็นพื้นที่อันก่อให้เกิดรายได้แล้ว พื้นที่ดอนทรายริมฝั่งแม่น้ำโขงยังถือว่าเป็นพื้นที่อันสำคัญทางการเกษตรอีกแห่งหนึ่งที่ส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหารของผู้คนไม่ว่าจะเป็นคนในท้องถิ่น และคนในภาคส่วนอื่นๆ

แปลงมะเขือราคาถูกที่คนปลูกน้ำตาตกใน


ถึงแม้ว่าในวันนี้ราคาของสินค้าภาคเกษตรจะยังไม่อยู่ในภาวะที่คนทำการเกษตรจะมีกำไร แต่หากไปถามคนทำเกษตรริมโขงบนดอนทรายเช่นดอนตาเปี้ยแล้ว ชาวสวนบนดอนทรายริมฝั่งโขง พวกเขาคงตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า ยังไงก็ไม่มีทางเลิกทำการเกษตรบนดอนทรายเด็ดขาด เพราะนี่คือพื้นที่แห่งความมั่นคงทางรายได้แม้มันจะไม่มากเหมือนแต่ก่อน และนอกจากนั้นคนทำเกษตรบนดอนทรายริมฝั่งโขงหลายคนยังเชื่อว่า ตราบที่พวกเขายังคงมีพื้นที่ทำเกษตรแม้จะขายไม่ได้กำไรดีเหมือนแต่ก่อน แต่พวกเขายังคงมีพืชผักที่เก็บกินได้โดยไม่ขาดแคลนเช่นกัน

 

 

 

บล็อกของ สุมาตร ภูลายยาว

สุมาตร ภูลายยาว
ปีที่ผ่านมา เหนือสายน้ำเชี่ยวกรากสายหนึ่ง ความทรงจำเกี่ยวกับแม่น้ำได้พาให้เดินทางไปสู่ห้วงยามหนึ่งของชีวิต ห้วงยามที่ทำให้ต้องจดจำไม่เคยลืม เพราะใครบ้างจะลืมประสบการณ์เฉียดตายของตัวเองได้ ในความทรงจำนั้น ภาพแม่น้ำแห่งบ้านเกิดผุดพรายขึ้นมา คล้ายภาพขาวดำหม่นมัวที่พาผมเดินทางกลับไปสู่ดินแดนแห่งความหวาดกลัวอันกว้างใหญ่ไพศาล ด้วยเรือคือความหวั่นไหว...ใช่แล้ว ตอนหัดว่ายน้ำครั้งแรก ผมเกือบจมน้ำตาย เหตุการณ์ครั้งนั้นสอนให้รู้ว่า ความรู้สึกของคนใกล้ขาดใจตายเป็นอย่างไร นี่คือภาพความทรงจำในอดีต แต่ภาพความทรงจำครั้งใหม่ได้เกิดขึ้น หลังจากผมเดินทางมาถึงเมืองริมฝั่งน้ำเหนือสุดในล้านนาเรื่องมีอยู่ว่า...…
สุมาตร ภูลายยาว
“เอยาวดี” เป็นชื่อท้องถิ่นของแม่น้ำสายสำคัญสายหนึ่งของพม่า แต่คนภายนอกทั่วไปรู้จักชื่อของแม่น้ำสายนี้ในนาม “อิรวดี” แม่น้ำเอยาวดีเป็นแม่น้ำใหญ่สายหลักของประเทศสหภาพพม่าต้นน้ำ และปลายทางของแม่น้ำอยู่ในประเทศพม่า ไม่แตกต่างกับแม่น้ำเจ้าพระยาแม่น้ำเอยาวดีไหลผ่านกลางประเทศจากเหนือจรดใต้ แบ่งประเทศพม่าออกเป็นสองส่วน แม่น้ำในตอนบนเกิดจากการละลายของหิมะ นอกจากแม่น้ำเอยาวดีจะเกิดจากการละลายของหิมะแล้ว ยังมีแม่น้ำสาขาที่คอยเติมน้ำให้กับแม่น้ำสายนี้จนกลายเป็นแม่น้ำสายใหญ่ แม่น้ำสาขาที่คอยเติมน้ำให้กับแม่น้ำเอยาวดีคือ แม่น้ำมาลี และแม่น้ำมายที่อยู่ทางตอนเหนือสุดของประเทศ รวมระยะทางจากต้นน้ำถึงปากน้ำ ๒,…
สุมาตร ภูลายยาว
อำเภอเชียงของเป็นอำเภอเล็ก ๆ อำเภอหนึ่งของจังหวัดเชียงราย ผู้คนที่นี่ทั้งในอดีตและปัจจุบันต่างมีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย เรียนรู้และสืบทอดการใช้ประโยชน์จากแม่น้ำของนับตั้งแต่การหาปลา เก็บสาหร่ายน้ำของหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ไก” ปลูกพืชผักริมของ หรือแม้แต่การสัญจรไปมาของผู้คนแถบนี้ ทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวาของลำน้ำสายนี้ต่างก็อาศัยแม่น้ำเป็นสำคัญ ชีวิตของผู้คนที่นี่จึงมีความผูกพันใกล้ชิดกับแม่น้ำของตั้งแต่ในอดีตจนกระทั่งปัจจุบัน เมื่อลมหนาวเริ่มมาเยือนซึ่งเป็นฤดูกาลน้ำลด จิกุ่ง (แมลงชนิดหนึ่งมีลักษณะเหมือนจิ้งหรีดแต่ตัวสีน้ำตาลและมีขนาดใหญ่กว่า) เริ่มลงดอน คือ…