Skip to main content

เช้านี้เหมือนกับทุกเช้าในช่วงนี้พ่อท่อน ยาแก้วเดินทอดน่องในสวนบนดอนทรายริมฝั่งแม่น้ำโขงเพื่อดูแปลงมะเขือราว ๔ ไร่ ในใจพ่อท่อนเองไม่อยากเก็บมะเขือในตอนนี้แม้ว่าจะถึงช่วงเวลาในการเก็บแล้ว สาเหตุที่ทำให้พ่อท่อนไม่อยากเก็บมะเขือในตอนนี้ เพราะราคามะเขือต่ำกว่าปีที่ผ่านมา ปีนี้มะเขือหนึ่งหมื่น (๑๒ กิโลกรัม) ขายส่งจากสวนได้เงิน ๑๒ บาท


ไม่ใช่ว่าจะมีแต่พ่อท่อนเท่านั้นที่ไม่อยากเก็บมะเขือ แต่คนอื่นๆ ที่ปลูกมะเขืออยู่บนดอนตาเปี้ยอันเป็นดอนทรายที่โผล่พ้นน้ำในช่วงน้ำลดตั้งแต่เดือนกันยายนเป็นต้นไปก็ไม่อยากเก็บ เพราะเมื่อบวกลบคูณหารถึงต้นทุนการผลิต และผลกำไรที่จะได้แทบไม่คุ้มทุน

ยามสายบนดอนตาเปี้ย คนที่ทำเกษตรบนดอนริมแม่น้ำโขงยังพากันเดินทางมาสวน เพื่อเฝ้าดูผลผลิต บางคนเริ่มเปลี่ยนจากการปลูกมะเขือเป็นการปลูกถั่ว ส่วนบางคนที่มีพื้นที่มากพอจะปลูกพืชอย่างอื่นก็กำลังเตรียมดิน เพื่อปลูกมะละกอ

ว่ากันว่าผลผลิตทางการเกษตรที่เดินทางออกจากดอนทราย และริมฝั่งแม่น้ำโขงในเขตอำเภอปากชมปลายทางของสินค้าเหล่านี้นอกจากจะกระจายอยู่ตามท้องถิ่นแล้ว ยังกระจายไปจังหวัดใกล้เคียง และไกลออกไปถึงกรุงเทพฯ

นอกจากจะได้ลิ้มรสผลไม้และพืชผักเหล่านั้นแล้วจะมีกี่คนรู้ได้ว่า ต้นธารของสิ่งที่กำลังกินอยู่มาจากที่ใด บนทางหลวงหมายเลข ๑๒๒ ที่เลาะเลียบแม่น้ำโขงมีคำตอบของคำถามนี้


รถค่อยๆ ชะลอจอดเข้าข้างทางโดยมีเป้าหมายอยู่ที่บ้านหลังหนึ่งของบ้านปากเนียม อำเภอปากชม จังหวัดเลย ที่บ้านหลังนั้นพ่อท่อนผู้เป็นเจ้าของบ้านจะพาเราเดินทางไปดูแปลงเกษตรบนดอนทรายริมแม่น้ำโขงที่จัดได้ว่าเป็นพื้นที่ทำการเกษตรขนาดใหญ่ หลังทักทายพูดคุยกัน พ่อท่อนก็พามุ่งหน้าสู่แม่น้ำโขงด้วยรถไถนาเดินตามต่อพ่วง

 


แปลงปลูกมะละกอบนดอนตาเปี้ย

 

เมื่อไปถึงแปลงเกษตรที่คำนวนคร่าวด้วยสายตาน่าจะมีประมาณ ๔๐๐ กว่าไร่ก็ปรากฏอยู่เบื้องหน้า พ่อท่อนเล่าว่า ดอนที่ชาวบ้านพากันมาทำเกษตรนี้เรียก ‘ดอนตาเปี้ย' อยู่ระหว่างบ้านปากเนียมกับบ้านสงาว คนที่ลงมาทำเกษตรบนดอนก็มีทั้งคนบ้านปากเนียม สงาว และโนนสวรรค์ โดยการลงมาจับจองดอนแห่งนี้ทำการเกษตร คนที่มาทำเป็นคนแรกก็คือตาเปี้ย ดอนนี้จึงชื่อว่าดอนตาเปี้ย ที่ดินบนดอนในตอนนี้ไม่ใช่ว่าใครจะมาจับจองทำการเกษตรก็ได้ไม่เหมือนแต่ก่อน เพราะตอนนี้บนดอนทรายมีเจ้าของหมด แต่ก่อนถ้าจะทำต้องลงมาจับจองในช่วงน้ำโขงลด บางปีก็ได้ที่ดินมาก บางปีก็ได้ที่ดินน้อย มันแล้วแต่ว่าน้ำจะพัดทรายมาทับถมมากน้อยแค่ไหน แรกๆชาวบ้านก็ปลูกผัก ปลูกถั่วพอได้อยู่ได้กิน หลังๆ มาชาวบ้านเริ่มปลูกมะเขือ ข้าวโพด ใบยาสูบ มะละกอ เพื่อส่งออกไปขายตามตลาดต่างๆ ช่วงแรกรายได้ดี บางคนได้เงินจากการปลูกมะเขือบนดอนเป็นแสนบาท บางคนก็ส่งลูกเรียนจนได้ปริญญา


นอกจากคำบอกเล่าถึงรายได้ที่ได้ยินจากปากของพ่อท่อนแล้ว แม่บังอรหนึ่งในคนทำเกษตรบนดอนตาเปี้ยก็ได้ย้ำเตือนถึงจำนวนของรายได้ที่เคยมีจากการทำเกษตรบนดอนทรายริมโขงให้ฟังว่า ถ้าปีไหนมะเขือในตลาดแพง ปีนั้นเรายิ้มออกเลย หักลบหนี้สินแล้วยังไงก็มีเงินเหลือเก็บ บางคนพอเสร็จจากมะเขือก็ปลูกข้าวโพดต่อ รายได้มันก็หมุนเวียนอยู่อย่างนี้ แต่มันก็ไม่ได้ทำทั้งปี เราจะลงไปปลูกพืชผักก็ต้องรอให้น้ำในแม่น้ำโขงลดลงก่อน ผักที่ปลูกนี่คนได้กินเยอะ เราเป็นเจ้าของที่ เราก็มีรายได้จากการขาย ส่วนคนไม่มีที่ก็มารับจ้างเก็บมะเขือ เก็บถั่ว เก็บข้าวโพด รายได้มันก็กระจายไปหลายคน


เมื่อลองตามเส้นทางของพืชผักที่เดินทางออกจากบ้านปากเนียมไปยังที่ต่างๆ เราจะพบได้ว่า รายได้อันเกิดจากพื้นที่ที่ธรรมชาติได้ให้มานั้นไม่ได้เกิดเฉพาะกับคนริมฝั่งน้ำเพียงอย่างเดียวยังเกิดกับพ่อค้า แม่ค้า และคนกลุ่มอื่นๆ ด้วย


นอกจากพื้นที่ดอนทรายริมฝั่งแม่น้ำโขงจะเป็นพื้นที่อันก่อให้เกิดรายได้แล้ว พื้นที่ดอนทรายริมฝั่งแม่น้ำโขงยังถือว่าเป็นพื้นที่อันสำคัญทางการเกษตรอีกแห่งหนึ่งที่ส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหารของผู้คนไม่ว่าจะเป็นคนในท้องถิ่น และคนในภาคส่วนอื่นๆ

แปลงมะเขือราคาถูกที่คนปลูกน้ำตาตกใน


ถึงแม้ว่าในวันนี้ราคาของสินค้าภาคเกษตรจะยังไม่อยู่ในภาวะที่คนทำการเกษตรจะมีกำไร แต่หากไปถามคนทำเกษตรริมโขงบนดอนทรายเช่นดอนตาเปี้ยแล้ว ชาวสวนบนดอนทรายริมฝั่งโขง พวกเขาคงตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า ยังไงก็ไม่มีทางเลิกทำการเกษตรบนดอนทรายเด็ดขาด เพราะนี่คือพื้นที่แห่งความมั่นคงทางรายได้แม้มันจะไม่มากเหมือนแต่ก่อน และนอกจากนั้นคนทำเกษตรบนดอนทรายริมฝั่งโขงหลายคนยังเชื่อว่า ตราบที่พวกเขายังคงมีพื้นที่ทำเกษตรแม้จะขายไม่ได้กำไรดีเหมือนแต่ก่อน แต่พวกเขายังคงมีพืชผักที่เก็บกินได้โดยไม่ขาดแคลนเช่นกัน

 

 

 

บล็อกของ สุมาตร ภูลายยาว

สุมาตร ภูลายยาว
    ...เสียงปืนดังลั่นเปรี้ยง-คล้ายเสียงชะนีหวน
สุมาตร ภูลายยาว
สายลมเริ่มพัดเปลี่ยนทิศจากเหนือลงใต้ ฤดูฝนใกล้พ้นผ่านแล้ว ฤดูหนาวกำลังเดินทางมาแทน ขณะอาทิตย์ใกล้ลับฟ้าถัดจากกระท่อมหลังสุดท้ายตรงหาดทรายไปไม่ไกล คนจำนวนมากกำลังวุ่นวายอยู่กับการเก็บเครื่องมือทำงาน หากนับตั้งแต่วันแรกถึงวันนี้ก็ล่วงเข้าไป ๔ วันแล้วที่ช่างในหมู่บ้านถูกไหว้วานให้มาช่วยกันทำเรือไฟ เพื่อให้ทันใช้ในวันออกพรรษา หลังจมอยู่กับงานมาทั้งวัน เมื่อโรงงานต่อเรือไฟปิดประตูลงในตอนเย็น โรงมหรสพริมฝั่งน้ำก็เข้ามาแทน
สุมาตร ภูลายยาว
แม่น้ำนิ่งงันลงชั่วการกระพริบตาของพญามังกร ชาวบ้านริมฝั่งน้ำไม่มีใครรู้ว่า พญามังกรกระพริบตากี่ครั้ง หรือด้วยอำนาจใดของพญามังกร แม่น้ำจึงหยุดไหล ทั้งที่แม่น้ำเคยไหลมาชั่วนาตาปี วันที่แม่น้ำหยุดไหล คนหาปลาร้องไห้ปานจะขาดใจ เพราะปลาจำนวนมากได้หนีหายไปจากแม่น้ำ
สุมาตร ภูลายยาว
แดดร้อนของเดือนมีนาคมแผดเผาหญ้าแห้งกรัง หน้าร้อนปีนี้ร้อนกว่าทุกปี เพราะฝนไม่ตก ยอดมะม่วงอ่อนจึงไม่ยอมแตกช่อ มะม่วงป่าเริ่มออกดอกรอฝนพรำ เพื่อให้ผลได้เติบโต ความร้อนมาพร้อมกับความแห้งแล้ง ในความแห้งแล้ง ดอกไม้ป่าหลากสีกำลังผลิบาน มีทั้งดอกสีส้ม แดง ม่วง ความแห้งแล้งดูมีชีวิตชีวาขึ้นมาบ้าง
สุมาตร ภูลายยาว
‘ย่างเข้าเดือนห้า น้ำท่าก็เริ่มขอดแล้ง’ คนแก่บางคนว่าอย่างนั้น (ถ้าผมจำไม่ผิด) คำพูดนี้ได้สะท้อนบางอย่างออกมาด้วย นั่นคือสิ่งที่ผู้คนในยุคสมัยก่อนเห็น พอถึงเดือนห้า น้ำที่เคยมีอยู่ก็แห้งขอดลงเป็นลำดับ ผู้คนในสมัยก่อนที่จะก้าวเข้าสู่สังคมเกษตรอุตสาหกรรมเช่นทุกวันนี้ทำอะไรบ้าง ในสังคมภาคกลางยุคที่ทำการเกษตรไม่ใช่อุตสาหกรรม หน้าแล้งไม่มีใครทำนา เพราะทุกคนต่างรู้ว่า หน้าแล้งแล้วนะ น้ำท่าจะมาจากไหน แต่พอยุคอุตสาหกรรมเกษตรเรืองอำนาจ หน้าแล้งผู้คนก็ยังคงทำนา เพื่อตอบสนองอุตสาหกรรมการเกษตรกันอยู่
สุมาตร ภูลายยาว
ผู้ดีตีนแดง-ขอ โทษ เท้าแดง ตะแคงเท้าเดิน เวลาเหยียบปุ่มปมของพรมผืนนุ่มนิ่มราวกับปุยเมฆ นั่นแหละเท้าของผู้ดี และโลกของผู้ดีมีแต่น้ำครำ –น้ำคำ แห่งการหลอกลวง ทั้งผู้ดีจริง และผู้ดีกลวง ขณะเดินย่ำไปบนเส้นทางสู่ร้านอาหารเลิศหรู เมนูไข่คาเวียกับบรั่นดีแก้วทรงสูงดัดจริตวางรอ ผู้ดีน้ำครำละเลียดเมรัยรสคมผ่านลำคอ และละเลียดไข่คาเวียที่มีอยู่นับจำนวนได้บนจานราคาแพงกว่าการขึ้นห้องกับปอง ของโฉน ไพรำ ผู้ดี น้ำครำมองออกไปนอกหน้าต่างสูงลิบของห้องอาหารโรงแรมเสียดฟ้า เบื้องล่างแม่น้ำไหลเอื่อยเหนื่อยปานจะขาดใจตาย ผู้ดีน้ำครำละเลียดไข่คาเวียราคาแพง เพื่อเลิศหรูมีหน้ามีตา…
สุมาตร ภูลายยาว
สายลมหนาวพัดมาพร้อมกับสายฝนที่โปรยสายลงมา ว่ากันว่านี่คือฝนหลงฤดู! กาแฟแก้วของวันเป็นคาปูชิโน่ร้อนสองแก้ว แต่ไม่ใช่ของผมเป็นของลูกค้าต่างชาติ รสชาติของกาแฟเป็นอย่างไรในเช้านี้ ผมไม่อาจรู้ เพราะไม่ได้ชิม หลังสตรีมนมสดจนร้อนได้ที่ กลิ่นกาแฟสดหอมกรุ่นโชยออกมา และพร้อมแล้วสำหรับการดื่ม-กิน
สุมาตร ภูลายยาว
เนิ่นนานหลายปีแล้วที่ผมพเนจรจากบ้านเกิด แต่หลายๆ ความรู้สึกเกี่ยวกับบ้าน ผมไม่มีทางลืมได้เด็ดขาด บางค่ำคืนที่มีโอกาสอยู่กับตัวเองเพียงลำพัง ด้วยความสงบเงียบ ภาพบ้านเกิดจะย้อนกลับมาสู่ความทรงจำ-ความทรงจำในวัยเยาว์เกี่ยวกับบ้านเกิด
สุมาตร ภูลายยาว
เวลาผ่านไปเร็ว ยามที่เราโตขึ้น เราเชื่อเช่นนั้น เพราะเราโหยหาเวลาของวัยเยาว์ เมื่อเราเติบโตขึ้นเป็นลำดับมีหลายความรู้สึกของวัยเยาว์ที่หล่นหายไปอย่างไม่อาจเรียกคืนกลับมา ราวกับสายน้ำที่ไหลไกลออกไปทุกทีๆ มิอาจหวนกลับมาเป็นสายน้ำได้เช่นเดิม แต่กลายเป็นสายฝนพรำลงมาแทน หากพูดถึงอดีตแล้ว บางด้านที่เลวร้าย เราอยากผ่านเลย แต่กลับจำได้ฝังใจ...
สุมาตร ภูลายยาว
บุนทะนอง ซมไซผล แปลโดย สุมาตร ภูลายยาว    ๑.ผลน้ำเต้าบุ่ง และวรรณคดีพื้นเมือง ถ้าจะให้พูดถึงความสัมพันธ์ไทย-ลาว ความเชื่อมโยงด้านวรรณคดีของชนชาติเผ่าพันธุ์ต่างๆ ในประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำของ สิ่งแรกที่ข้าพเจ้าคิดถึงคือ น้ำเต้าบุ่ง
สุมาตร ภูลายยาว
ดอกเกดเป็นดอกไม้ชนิดหนึ่งที่ลำต้นมีลักษณะเหมือนต้นปาล์ม เวลาออกดอก ดอกจะส่งกลิ่นหอม คนเฒ่าคนแก่จะนิยมนำไปบูชาพระและนำมาทัดหู ผมไม่รู้เหมือนกันว่าดอกไม้ชนิดนี้จะมีอยู่ทั่วไปในประเทศไทยหรือมีเฉพาะที่ภาคอีสานและประเทศลาว
สุมาตร ภูลายยาว
จากใบไม้ใบสุดท้ายถึงซิ่นไหมผืนเก่าๆ: ๒ เรื่องสั้นซีไรต์บนแผ่นดินเบื้องซ้ายแม่น้ำของ (โขง) เมื่อพูดถึงวรรณกรรมบนแผ่นดินฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงแล้ว หลายคนคงอดที่จะพูดถึงวรรณกรรมชิ้นคลาสสิกเช่น ‘สังสินไซ’ ไม่ได้ เพราะสังสินไซเป็นวรรณกรรมพื้นบ้านที่คนทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขงรู้จักมากที่สุดชิ้นหนึ่ง นอกจากสังสินไซแล้ว ผลงานของนักเขียนลาวหลายคนในความรับรู้ของคนไทยคงหนีไม่พ้นผลงานเขียนของท่านมหาสีลา วีระวงค์ ผู้รจนางานมหากาพย์อันยิ่งใหญ่ในนาม ‘ท้าวฮุ่งและขุนเจือง’