Skip to main content

20080327 ภาพประกอบ 1

พ่อเฒ่าฟาน ดิน กัน แห่งหมู่บ้านทรีอาน (หมู่บ้านแห่งสันติ) หมู่บ้านริมแม่น้ำซมฮอง (แม่น้ำแดง) เส้นเลือดใหญ่ของชาวฮานอยยืนตระหง่านบนหัวเรือ หากไม่มีการถามไถ่คงยากที่จะคาดเดาอายุของพ่อเฒ่าได้ ปีนี้พ่อเฒ่าอายุ ๖๔ แล้ว ขณะพ่อเฒ่ายืนตระหง่านตรงหัวเรือ สายลมหนาวของเดือนมกราคมยังคงพัดมาเย็นเยือก ในสายลมหนาวนั้นมีฝนปนมาเล็กน้อย พ่อเฒ่าบอกว่า ฝนตกช่วงเดือนธันวาคม-มีนาคมที่ฮานอยเป็นเรื่องธรรมดา แต่ที่ไม่ธรรมดาคือความหนาว เพราะปลายปีที่ผ่านมาจนถึงต้นปี ๕๑ ความหนาวเย็นที่พัดมาขนาดหนักเช่นนี้เกิดขึ้นแล้ว ๓ ครั้ง ว่ากันว่าอากาศที่เปลี่ยนแปลง คงเป็นเพราะโลกเรามันร้อนขึ้น

ในเรือมีผม และเพื่อนร่วมทางอีก ๒ คน ทั้ง ๒ คนเป็นล่ามแปลภาษาของกันและกัน ถัดจากพวกเราไปเป็นหญิงชราวัย ๖๓ หญิงชรามีหน้าที่พายเรือ การพายเรือของหญิงชราแปลกแปร่งไปจากที่เคยเห็น เพราะแกใช้ตีนทั้งสองข้างในการถีบไม้พายที่ผูกติดเอาไว้กับกราบเรือ คงไม่ผิดแปลกอันใดที่จะกล่าวว่า เรือมุ่งไปข้างหน้าด้วยแรงเฉื่อยของตีนคน

ผมเก็บความสงสัยเอาไว้ไม่อยู่จึงตัดสินใจถามผ่านล่ามว่าด้วยเหตุผลกลใด หญิงชราจึงใช้ตีนทั้งสองข้างพายเรือ คำตอบที่ได้รับกลับมาคือ ตีนมีแรงมากกว่ามือ และมือก็ต้องเอาไว้ใช้เก็บกู้กุบ (เครื่องมือหาปลาชนิดหนึ่ง) ที่จมอยู่ในน้ำ

ขณะเราลอยเรืออยู่เหนือสายน้ำ เวลาก็ล่วงเลยไปเกือบบ่าย ๒ แต่บนฟ้าเฆมยังคงมืดครึ้ม และฝนก็ยังโปรยสายลงมาบางเบา ในม่านฝน เรือบรรทุกทรายลำใหญ่หลายลำกำลังเร่งเครื่องเพื่อทวนน้ำขึ้นไปทางตอนเหนือของแม่น้ำ ในเรือลำใหญ่บรรทุกทรายจนปริ่มกราบเรือ ทรายจากริมฝั่งแม่น้ำถูกนำไปใช้ในกิจการก่อสร้าง เมื่อเรือลำใหญ่วิ่งผ่าน ชายชราก็จะโยนก้อนหินลงน้ำ นัยว่าเพื่อถ่วงเรือเอาไว้

20080227 ภาพประกอบ 2

หลายปีมาแล้วที่เรือใหญ่วิ่งเต็มแม่น้ำ แต่เรือลำเล็กเช่นเรือหาปลาของพ่อเฒ่ากลับค่อยๆ หายไปจากแม่น้ำ คล้ายว่าคลื่นจากเรือใหญ่ได้โถมซัดคนหาปลาเช่นพ่อเฒ่าคนแล้วคนเล่าให้กลับคืนสู่ฝั่ง

ย้อนหลังไปเมื่อ ๕๑ ปีก่อน เรือใหญ่เล่านี้ยังไม่มีมากมาย แต่ผิดกับเรือหาปลาลำเล็ก เมื่อ ๕๑ ปีก่อนเรือหาปลาเหล่านี้มีมากจนเต็มแม่น้ำ หลังจากนโยบายของรัฐที่ให้คนน้ำคืนฝั่ง เพื่อลงหลักปักฐานสร้างชีวิต เรือลำเล็กก็ค่อยๆ หายไป แต่นั่นใช่ว่าจะเป็นสาเหตุใหญ่ที่ทำให้ผู้คน และเรือลำเล็กหายไปจากแม่น้ำเกือบหมด สิ่งที่ทำให้ผู้คนบนเรือลำเล็กหายไปจนเกือบหมดคือคลื่นของความเปลี่ยนแปลงอันมาพร้อมกับผู้คนที่มากขึ้นนั่นเอง

เมื่อ ๕๑ ปีก่อน และก่อนหน้านั้นไปอีกหลายปี พ่อเฒ่าฟาน ดิน กันยังเป็นหนุ่มแข็งแรงใช้ตีนพายเรือขึ้นเหนือล่องใต้ไปตามแม่น้ำมาแล้วชั่วเจ็ดย่านน้ำ จะมีบ้างในบ้างปีที่ต้องจอดเรือลอยลำหลบหลีกกระสุนปืนของสงคราม หลังสงครามยุติพ่อเฒ่าก็เอาตีนพายเรือต่อไป

พ่อเฒ่าเล่าให้ผมฟังว่า ในชั่วกว่า ๖๐ ปีของชีวิต พ่อเฒ่าต้องเผชิญเหตุแห่งความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง แต่พ่อเฒ่าก็ผ่านมันมาได้ แต่กับการเปลี่ยนแปลงครั้งล่าสุดนี่เองที่พ่อเฒ่าต้องเพ่งพินิจถึงมันด้วยความหวาดกลัว

แต่พ่อเฒ่าก็ยังใจดีบอกว่า “แล้วเราก็จะผ่านมันไปได้”
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมันไม่ได้เกิดขึ้นกับพ่อเฒ่าเพียงอย่างเดียว แต่มันเกิดขึ้นกับแม่น้ำที่พ่อเฒ่าได้อาศัยพึ่งพามาเกือบทั้งชีวิต

พ่อเฒ่าเล่าให้ฟังว่า หลังจากประเทศเดินทางไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครองที่ดีมากขึ้น ผู้คนในประเทศก็เริ่มสร้างเศรษฐกิจในครัวเรือนของตัวเอง แต่คนในหมู่บ้านทีรอานไม่ได้เป็นอย่างนั้น พวกเรายังอาศัยอยู่ในเรือ และล่องเรือไปตามแม่น้ำแดงเพื่อหาปลา เราไม่เคยอยู่บนฝั่ง แต่พอทางรัฐให้ขึ้นไปอยู่บนฝั่งโดยการให้เราซื้อที่ดิน เพื่อปลูกสร้าง และทำมาหากิน พวกเราก็ไม่สนที่จะทำ เพราะต่างคิดว่าหาปลาอย่างเดียวก็อยู่ได้ อยู่ในน้ำก็ได้ไม่ต้องขึ้นฝั่ง ภายหลังเมื่อเขื่อนหัวบินถูกสร้างบนแม่น้ำในปี ๑๙๗๘ แล้วเสร็จและทำการกักเก็บน้ำในปี ๑๙๘๕ ระบบนิเวศของแม่น้ำก็เปลี่ยนแปลงไป น้ำน้อยลงกว่าเดิม คนหาปลาที่เร่ร่อนบนเรือหาปลา มีเรือเป็นบ้าน มีน้ำเป็นที่ดิน เกือบ ๓๐๐ คนที่หาปลาเป็นอาชีพก็หาปลาได้น้อยลง สาเหตุที่หาปลาได้น้อยลง เพราะคนบางกลุ่มที่ไม่ใช่คนหาปลาเป็นอาชีพก็นำเครื่องมือที่ทำลายล้างมาใช้ในแม่น้ำ เช่น นำไฟฟ้ามาช๊อตปลา เมื่อปลาถูกช๊อตมันก็เป็นหมันขยายพันธุ์ไม่ดีอีกต่อไป เมื่อปลาขยายพันธ์ไม่ได้ ปลาที่เคยมีในแม่น้ำก็ลดจำนวนลงด้วย อีกทั้งน้ำในแม่น้ำก็ตื้นเขิน เพราะเขากักน้ำไว้ในเขื่อน และมีการดูดทรายริมฝั่ง ทั้ง ๒-๓ อย่างที่กล่าวมาล้วนส่งผลโดยตรงต่อคนหาปลา

คนหาปลาหลายคนหาปลาไม่ได้ก็ขึ้นไปอยู่บนฝั่ง แต่ขึ้นไปก็ไม่มีที่ดินทำกินก็ต้องไปรับจ้างในเมือง ครอบครัวที่เคยอยู่กันพร้อมหน้าก็ค่อยแตกกระจายกันไป ถึงวันไหว้ผีบรรพบุรุษบางคนก็ไม่ได้กลับมาไหว้ เพราะค่าใช้จ่ายในการเดินทางสูง

เมื่อพูดคุยกันอยู่นาน พ่อเฒ่าก็หันหน้ากลับดูกุบที่ใส่เอาไว้ พ่อเฒ่ายกกุบครั้งแล้วครั้งเล่า แต่สิ่งที่พ่อเฒ่าและเราผู้ผ่านทางมาได้รับรู้คือในกุบว่างเปล่า ไม่มีปลาแม้แต่ตัวเดียว แต่ความพยายามของพ่อเฒ่าที่รู้ทางหนีที่ไล่ แกจึงใส่กุบไว้เกือบ ๓๐ อัน ในที่สุดก็มีปลามาถูกกุบทั้ง ๓๐ อันอยู่ ๓ ตัว ‘ปลา ๓ ตัวรวมกันได้ไม่ถึงกิโลไม่มีคนซื้อหรอก เอากลับบ้านไปทำกินดีกว่า’ พ่อเฒ่ากล่าวออกมาหลังเบนหัวเรือกลับคืนสู่ฝั่ง หลังจอดเรือส่งผู้ผ่านทางมาที่ริมฝั่งเรียบร้อย ก่อนจากกันพ่อเฒ่าก็ตะโกนบอกเราว่า โชคไม่ดีนักวันนี้ไม่ได้ เอาไว้ถ้ามาวันหน้าจะเอาปลาตัวใหญ่ขึ้นมาโชว์ให้ดู

ในรอยทางของคนผู้มีชีวิตผูกพันกับแม่น้ำอย่างแท้จริง ไม่มีใครเลยที่คิดจะทำลายแม่น้ำ เพราะหากเขาทำลายแม่น้ำไม่ว่าทางใดทางหนึ่งก็เหมือนกับว่า เขาค่อยๆ ตัดเฉือนเนื้อของตัวเองออกไปทีละนิดทีละนิด แล้วเราผู้ไม่มีวิถีชีวิตอยู่กับแม่น้ำอย่างจริงจัง เราจะไม่ใส่ใจดูแลแม่น้ำ เพื่อคนหาปลาผู้ได้ใช้ประโยชน์จากแม่น้ำอย่างจริงจังกระนั้นหรือ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะให้พันธสัญญาต่อกันว่า จากนี้ต่อไปคนหาปลาผู้มีชีวิตอยู่ด้วยการลอยเรือไปบนคลื่นความเปลี่ยนแปลง พวกเขาจะไม่ต้องเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงเพียงลำพัง เราจะร่วมเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงนั้น และร่วมกันทำความเปลี่ยนแปลงนั้นให้เป็นความเปลี่ยนแปลงที่เปลี่ยนแปลงไปในทางด้านที่ดี และแม่น้ำต้องเป็น ‘แม่น้ำเพื่อชีวิต มิใช่เพื่อความตาย’

บล็อกของ สุมาตร ภูลายยาว

สุมาตร ภูลายยาว
ปีที่ผ่านมา เหนือสายน้ำเชี่ยวกรากสายหนึ่ง ความทรงจำเกี่ยวกับแม่น้ำได้พาให้เดินทางไปสู่ห้วงยามหนึ่งของชีวิต ห้วงยามที่ทำให้ต้องจดจำไม่เคยลืม เพราะใครบ้างจะลืมประสบการณ์เฉียดตายของตัวเองได้ ในความทรงจำนั้น ภาพแม่น้ำแห่งบ้านเกิดผุดพรายขึ้นมา คล้ายภาพขาวดำหม่นมัวที่พาผมเดินทางกลับไปสู่ดินแดนแห่งความหวาดกลัวอันกว้างใหญ่ไพศาล ด้วยเรือคือความหวั่นไหว...ใช่แล้ว ตอนหัดว่ายน้ำครั้งแรก ผมเกือบจมน้ำตาย เหตุการณ์ครั้งนั้นสอนให้รู้ว่า ความรู้สึกของคนใกล้ขาดใจตายเป็นอย่างไร นี่คือภาพความทรงจำในอดีต แต่ภาพความทรงจำครั้งใหม่ได้เกิดขึ้น หลังจากผมเดินทางมาถึงเมืองริมฝั่งน้ำเหนือสุดในล้านนาเรื่องมีอยู่ว่า...…
สุมาตร ภูลายยาว
“เอยาวดี” เป็นชื่อท้องถิ่นของแม่น้ำสายสำคัญสายหนึ่งของพม่า แต่คนภายนอกทั่วไปรู้จักชื่อของแม่น้ำสายนี้ในนาม “อิรวดี” แม่น้ำเอยาวดีเป็นแม่น้ำใหญ่สายหลักของประเทศสหภาพพม่าต้นน้ำ และปลายทางของแม่น้ำอยู่ในประเทศพม่า ไม่แตกต่างกับแม่น้ำเจ้าพระยาแม่น้ำเอยาวดีไหลผ่านกลางประเทศจากเหนือจรดใต้ แบ่งประเทศพม่าออกเป็นสองส่วน แม่น้ำในตอนบนเกิดจากการละลายของหิมะ นอกจากแม่น้ำเอยาวดีจะเกิดจากการละลายของหิมะแล้ว ยังมีแม่น้ำสาขาที่คอยเติมน้ำให้กับแม่น้ำสายนี้จนกลายเป็นแม่น้ำสายใหญ่ แม่น้ำสาขาที่คอยเติมน้ำให้กับแม่น้ำเอยาวดีคือ แม่น้ำมาลี และแม่น้ำมายที่อยู่ทางตอนเหนือสุดของประเทศ รวมระยะทางจากต้นน้ำถึงปากน้ำ ๒,…
สุมาตร ภูลายยาว
อำเภอเชียงของเป็นอำเภอเล็ก ๆ อำเภอหนึ่งของจังหวัดเชียงราย ผู้คนที่นี่ทั้งในอดีตและปัจจุบันต่างมีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย เรียนรู้และสืบทอดการใช้ประโยชน์จากแม่น้ำของนับตั้งแต่การหาปลา เก็บสาหร่ายน้ำของหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ไก” ปลูกพืชผักริมของ หรือแม้แต่การสัญจรไปมาของผู้คนแถบนี้ ทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวาของลำน้ำสายนี้ต่างก็อาศัยแม่น้ำเป็นสำคัญ ชีวิตของผู้คนที่นี่จึงมีความผูกพันใกล้ชิดกับแม่น้ำของตั้งแต่ในอดีตจนกระทั่งปัจจุบัน เมื่อลมหนาวเริ่มมาเยือนซึ่งเป็นฤดูกาลน้ำลด จิกุ่ง (แมลงชนิดหนึ่งมีลักษณะเหมือนจิ้งหรีดแต่ตัวสีน้ำตาลและมีขนาดใหญ่กว่า) เริ่มลงดอน คือ…