Skip to main content

จากประวัติศาสาตร์ที่มีการบันทึกทั้งเป็นอักษร และไม่มีอักษร การสร้างเขื่อนเพื่อกักเก็บน้ำ และทำกิจกรรมอย่างอื่นมีมาหลายร้อยปีแล้ว หากนึกถึงเขื่อนหลายคนอาจนึกถึงสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ที่ขวางกั้นลำน้ำ และเมื่อนึกถึงเขื่อน เรานึกถึงอะไรเกี่ยวกับเขื่อนบ้าง แน่ละบางคนอาจตอบว่าไฟฟ้า บางคนอาจตอบว่าสถานที่ท่องเที่ยวรวมไปถึงน้ำเพื่อการเกษตร แต่สิ่งหนึ่งที่เราลืมนึกถึงไปเมื่อพูดถึงเขื่อน คือเรื่องราวเล็กๆ ในบริเวณสร้างเขื่อน ทั้งเรื่องของป่าไม้ ที่ดิน สัตว์ป่า และรวมไปถึงเรื่องราวของผู้คนที่ต้องอพยพออกจากพื้นที่ก่อการสร้างเขื่อน

“ทองปาน” นับเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างในหลายร้อยหลายพันตัวอย่างของผู้คนที่ต้องอพยพภายหลังการสร้างเขื่อน

องอาจ โพนทอง ผู้ได้รับบทเป็นทองปานจากภาพยนต์สารคดี ๑๖ มม. เรื่อง ‘ทองปาน’ เมื่อ ๓๐ กว่าปีก่อน (จัดสร้างโดย lsan film : mike morrow กำกับการแสดงโดยไพจง ไหลสกุล สุรชัย จันทิมาธร ยุทธนา มุกดาสนิท รัศมี เผ่าเหลืองทอง) เขาได้พูดบอกนักศึกษาคนหนึ่งที่เดินทางไปจังหวัดเลย เพื่อชวนชาวบ้านมาร่วมงานสัมมนาเกี่ยวกับการสร้างเขื่อนผามองที่จะสร้างเพื่อกั้นแม่น้ำโขงไว้ว่า เขาอพยพมาจากพื้นที่สร้างเขื่อนลำปาวในจังหวัดกาฬสินธุ์ หากจับใจความคำพูดของทองปานในเรื่องการอพยพของเขา พอจะบอกเป็นนัยๆ ได้ว่า ในยุคสมัยก่อนเมื่อประเทศไทยเริ่มลงมือก่อสร้างเขื่อนเพื่อกักเก็บน้ำ และปั่นเป็นไฟฟ้า รวมทั้งในการชลประทาน ชาวบ้านผู้อยู่ในพื้นที่ของการก่อสร้างไม่ได้รับการเหลียวแลจากภาครัฐเลยแม้แต่น้อย

ขณะเมื่อได้ฟังการสนทนาผ่านจอแก้วของท่านผู้นำในเรื่องการสร้างฝายแม้ว (Check Dam ตามที่ท่านผู้นำบอกเราคือเขาะกั้นน้ำไว้และดันให้น้ำถอยหลังไปสู่ท่อหรือคอลงน้ำที่ขุดไว้ จากนั้นน้ำก็จะไหลไปตามท่อสู่เป้าหมายปลายทาง) ที่จะมีการก่อสร้างถึง ๓ แห่งบนแม่น้ำบนพรมแดนไทย-ลาว และดูเหมือนว่าฝายบ้านกุ่มจะมีความก้าวหน้ากว่าที่อื่น เพราะในตอนนี้อยู่ในขั้นตอนเซ็นสัญญาในการทำการศึกษากันไปเรียบร้อยแล้ว นอกจากจะพุดเรื่องการทำฝายแม้วแล้ว ท่านผู้นำของเรายังได้พูดถึงเรื่องการผันน้ำจากแม่น้ำโขงมาสู่ภาคเกษตรของภาคอีสาน เมื่อได้ฟังทำให้หวนคิดถึงภาพยนต์เรื่องทองปาน

จากคำพูดของท่านผู้นำที่บอกว่า หลังสร้างฝายน้ำจะท่วมหมู่บ้านทางฝั่งลาว ๗ หมู่บ้าน ฝั่งไทยอีก ๒ หมู่บ้าน สิ่งที่ท่านผู้นำพยายามบอกเราไม่หมดก็คือว่า แล้วหมู่บ้านที่น้ำท่วมนั้น เราจะช่วยเหลือเขายังไง แต่สิ่งที่ท่านผู้นำพยายามย้ำกับเรา –ท่านผู้ชมคือ ประเทศไทยมีความจำเป็นต้องสร้างฝายบ้านกุ่ม และฝายอื่นๆ บนแม่น้ำโขงให้ได้ เพราะเราจะมีน้ำใช้ในภาคอีสานตลอดปี ทำไมท่านผู้นำต้องเอาจริงเอาจังในเรื่องนี้ คำถามนี้คงมีคำตอบภายหลังเมื่อฝายสร้างเสร็จ ว่าทำไมท่านผู้นำของเราต้องเร่งรีบที่จะดำเนินการในเรื่องนี้

ในกระบวนการที่กำลังเกิดขึ้นในเรื่องของการสร้างฝาย (เขื่อนนั้นแหละ แต่ท่านผู้นำหลีกเลี่ยงที่จะใช้คำว่าเขื่อน จึงใช้คำว่าฝายแทน) บทเรียนที่ชาวบ้านคนท้องถิ่นผู้อยู่ในพื้นที่การก่อสร้างจะได้รับก็คงซ้ำรอยกับทองปาน แม้ว่าเขาจะกล้าพูดเพียงใด แต่สุดท้ายคำพูดของคนท้องถิ่นก็คงไม่มีความหมาย

๓๐ กว่าปีผ่านไป การก่อสร้างเขื่อนผามองได้ถูกเก็บม้วนลงเงียบๆ แต่โครงการเขื่อนอื่นๆ บนแม่น้ำโขงกลับเร่งรุดเร่งรีบดำเนินการไปหลายต่อหลายเขื่อน แม้ว่าในตอนนี้เราจะมีคนอย่างทองปานอยู่มากเพียงใดก็ตาม แต่หากว่าท่านผู้นำลงฟังเสียงของคนอย่างทองปานบ้าง อย่าเพียงแต่คิดว่า คนที่คิดที่พูดเหมือนทองปานจะเป็นตัวถ่วงความเจริญเพียงอย่างเดียว บางทีสิ่งที่ท่านผู้นำจะได้อาจมากกว่าการได้รู้จักตัวตนของทองปานก็เป็นได้

20080606 sumart
แผ่นวีซีดีภาพยนตร์เรื่องทองปานที่ถูกแปลงจากม้วนหนังขนาด ๑๖ มม.
จัดทำโดยมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์ และมนุษย์ศาสตร์

นอกเหนือการสนทนาผู้เดียวของท่านผู้นำที่พูดเรื่องการสร้างฝายกั้นน้ำโขงแล้ว ท่านผู้นำยังใจดีพูดให้เราฟังถึงโครงการเมกกะโปรเจ็ต ในนามโครงการผันน้ำในลุ่มน้ำโขงไปสู่แม่น้ำและอ่างเก็บน้ำสายต่างๆ ของภาคอีสาน เพื่อพลิกแผ่นดินอีสานให้กลายเป็นภูมิภาคชุ่มน้ำ

จังหวัดชุ่มน้ำแรกสุดของภาคอีสานที่จะเกิดขึ้นคือจังหวัดเลย ที่อำเภอเชียงคานโดยตัวโครงการนั้นคือการผันน้ำโขงเข้ามาน้ำเลย และส่งต่อไปยังจังหวัดอุดร เพื่อลงสู่เขื่อนอุบลรัตน์ คำถามที่ตามาคือ ทำไมต้องลงที่อุบลรัตน์ น้ำในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนอุบลรัตน์ไม่พอใช้กระนั้นหรือ

และหากเป็นความจริงที่ท่านผู้นำยอมรับคือ เมื่อจะทำโครงการแบบนี้ เราต้องมีผู้เสียสละ คนที่เสียสละก็คือคนอย่างทองปาน ชาวบ้านตาดำๆ ผู้อยู่นอกขอบของความเจริญ มันไม่ได้มีตรรกะอย่างอื่นให้มองได้อีกเลยว่า ท่านผู้นำของเราจะเห็นใจคนอย่างทองปาน เพราะสมัยหนึ่ง ท่านผู้นำของเราเคยสั่งให้เทศกจรื้อข้าวของที่สมัชชาคนจนหอบหิ้วมาจากบ้าน เพื่อมาปักหลักชุมนุมบอกกล่าวความเดือนร้อนจากการสร้างเขื่อนของตัวเองให้สาธารณชนได้รับรู้ที่หน้าทำเนียบ ในครานั้น น้ำตาของชาวบ้านผู้ไม่ต่างจากทองปานหลายคนอาบใบหน้า

ท่านผู้นำครับ เรายังไม่พอใจอีกหรือครับที่เห็นคนส่วนใหญ่คล้ายทองปานเขาเดือนร้อน ท่านยังจะซ้ำเติมพวกเขาไปถึงไหนกัน ระวังนะครับหากว่าเมื่อไหร่ที่ทองปานหลายๆ คนซุ่มฝึกมวยเอาไว้ใช้ต่อสู้บนสังเวียน และคู่ต่อสู้ของเขาเหล่านั้นจะเป็นใครไปไม่ได้ นอกจากท่านผู้นำนั่นเอง

บล็อกของ สุมาตร ภูลายยาว

สุมาตร ภูลายยาว
ปีที่ผ่านมา เหนือสายน้ำเชี่ยวกรากสายหนึ่ง ความทรงจำเกี่ยวกับแม่น้ำได้พาให้เดินทางไปสู่ห้วงยามหนึ่งของชีวิต ห้วงยามที่ทำให้ต้องจดจำไม่เคยลืม เพราะใครบ้างจะลืมประสบการณ์เฉียดตายของตัวเองได้ ในความทรงจำนั้น ภาพแม่น้ำแห่งบ้านเกิดผุดพรายขึ้นมา คล้ายภาพขาวดำหม่นมัวที่พาผมเดินทางกลับไปสู่ดินแดนแห่งความหวาดกลัวอันกว้างใหญ่ไพศาล ด้วยเรือคือความหวั่นไหว...ใช่แล้ว ตอนหัดว่ายน้ำครั้งแรก ผมเกือบจมน้ำตาย เหตุการณ์ครั้งนั้นสอนให้รู้ว่า ความรู้สึกของคนใกล้ขาดใจตายเป็นอย่างไร นี่คือภาพความทรงจำในอดีต แต่ภาพความทรงจำครั้งใหม่ได้เกิดขึ้น หลังจากผมเดินทางมาถึงเมืองริมฝั่งน้ำเหนือสุดในล้านนาเรื่องมีอยู่ว่า...…
สุมาตร ภูลายยาว
“เอยาวดี” เป็นชื่อท้องถิ่นของแม่น้ำสายสำคัญสายหนึ่งของพม่า แต่คนภายนอกทั่วไปรู้จักชื่อของแม่น้ำสายนี้ในนาม “อิรวดี” แม่น้ำเอยาวดีเป็นแม่น้ำใหญ่สายหลักของประเทศสหภาพพม่าต้นน้ำ และปลายทางของแม่น้ำอยู่ในประเทศพม่า ไม่แตกต่างกับแม่น้ำเจ้าพระยาแม่น้ำเอยาวดีไหลผ่านกลางประเทศจากเหนือจรดใต้ แบ่งประเทศพม่าออกเป็นสองส่วน แม่น้ำในตอนบนเกิดจากการละลายของหิมะ นอกจากแม่น้ำเอยาวดีจะเกิดจากการละลายของหิมะแล้ว ยังมีแม่น้ำสาขาที่คอยเติมน้ำให้กับแม่น้ำสายนี้จนกลายเป็นแม่น้ำสายใหญ่ แม่น้ำสาขาที่คอยเติมน้ำให้กับแม่น้ำเอยาวดีคือ แม่น้ำมาลี และแม่น้ำมายที่อยู่ทางตอนเหนือสุดของประเทศ รวมระยะทางจากต้นน้ำถึงปากน้ำ ๒,…
สุมาตร ภูลายยาว
อำเภอเชียงของเป็นอำเภอเล็ก ๆ อำเภอหนึ่งของจังหวัดเชียงราย ผู้คนที่นี่ทั้งในอดีตและปัจจุบันต่างมีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย เรียนรู้และสืบทอดการใช้ประโยชน์จากแม่น้ำของนับตั้งแต่การหาปลา เก็บสาหร่ายน้ำของหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ไก” ปลูกพืชผักริมของ หรือแม้แต่การสัญจรไปมาของผู้คนแถบนี้ ทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวาของลำน้ำสายนี้ต่างก็อาศัยแม่น้ำเป็นสำคัญ ชีวิตของผู้คนที่นี่จึงมีความผูกพันใกล้ชิดกับแม่น้ำของตั้งแต่ในอดีตจนกระทั่งปัจจุบัน เมื่อลมหนาวเริ่มมาเยือนซึ่งเป็นฤดูกาลน้ำลด จิกุ่ง (แมลงชนิดหนึ่งมีลักษณะเหมือนจิ้งหรีดแต่ตัวสีน้ำตาลและมีขนาดใหญ่กว่า) เริ่มลงดอน คือ…