แถลงข่าว
คณะกรรมการประสานงานองค์กรเอกชนภาคใต้(กป.อพช.ใต้)
การพัฒนาประเทศในปัจจุบันไม่ได้ก่อให้เกิดการพัฒนาที่นำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของคน ชุมชน สิ่งแวดล้อม แม้กระทั่งมิติเศรษฐกิจ เห็นได้ชัดจากช่องว่างทางรายได้ยังเพิ่มสูงขึ้น สัดส่วนคนจนและปัญหาสังคมยังเพิ่มขึ้นตลอดเวลา ทั้งนี้เนื่องจากการพัฒนาประเทศยังคงเน้นภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก ซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจที่ก่อให้เกิดช่องว่างของรายได้ เกิดกระทบต่อคนส่วนใหญ่ ทำลายสิ่งแวดล้อม สุขภาพและสังคม ซึ่งผลกระทบดังกล่าวมีส่วนอย่างสำคัญในการลดทอนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งหากประเทศไทยยังไม่เปลี่ยนทิศทางการพัฒนาที่ก่อให้เกิดปัญหาและความรุนแรงเพิ่มขึ้นจนไม่อาจเยียวยาได้ในอนาคต ปัจจุบันได้เกิดผลพวงจากการพัฒนาอุตสาหกรรมเกิดขึ้นแล้วในหลายพื้นที่ซึ่งมีผลทำลายคนส่วนใหญ่แต่ปรนเปรอคนส่วนน้อย เช่น กรณีมาบตาพุดซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบขนาดใหญ่ดังที่ทราบกันทั่วประเทศและรัฐบาลยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้เลยแม้มิติเดียว ในทางตรงกันข้ามรัฐได้สร้างกลไกที่ก่อให้เกิดความรุนแรงเพิ่มขึ้นในการพัฒนาอุตสาหกรรมซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงในอนาคต ซึ่งหากไม่สามารถสร้างทิศทางการพัฒนาประเทศที่ชัดเจนและยึดถือประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ประเทศไทยจะประสบวิกฤติอย่างร้ายแรง
กป.อพช.ใต้ได้ติดตามกระบวนการพัฒนาอุตสาหกรรมของรัฐมาโดยตลอด วิตกกังวล ในรอบการประชุมคณะกรรมการองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ วันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๕๓ มีมติ ดังต่อไปนี้
๑. ประเด็นการกำหนดประเภทโครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างร้ายแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๖๗
กป.อพช.ใต้ มีความเห็นว่า เจตนารมณ์รัฐธรรมนูญมาตรา ๖๗ เป็นการสะท้อนความคิดสังคมไทยว่า พร้อมที่จะรับโครงการพัฒนาที่อาจมีผลกระทบต่างๆ แต่ผู้ดำเนินโครงการต้องมีกระบวนการศึกษาและวางมาตรการลดผลกระทบทั้งทางด้านสิ่งแวดล้อม สังคม สุขภาพ รวมทั้งเปิดให้มีกระบวนการมีส่วนร่วมจากประชาชนและจากผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นประกอบในนามองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อม เป็นกลไกกลั่นกรองโครงการที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างรุนแรงให้ดำเนินการอย่างรอบคอบ ไว้ระดับหนึ่ง ส่วนกระบวนการอนุมัติ อนุญาต เป็นบทบาทของฝ่ายการเมืองที่จะต้องกำหนดนโยบาย และรับผิดชอบต่อนโยบายและการตัดสินใจของตน
อย่างไรก็ตาม ได้มีความพยายามที่จะกำหนดนิยาม โครงการที่มีผลกระทบรุนแรง ผ่านการทำงานของคณะกรรมการ๔ ฝ่าย ซึ่งประชาชนในภาคใต้ได้ร่วมกันเสนอโครงการที่จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงตามกลไกของคณะกรรมการ๔ฝ่าย และเข้าใจว่าจะมีการประกาศตามข้อเสนอของประชาชน แต่ปรากฏว่ารัฐบาลนำข้อเสนอของคณะกรรมการ๔ฝ่าย กลับไปให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเอง เป็นประธาน พิจารณาแก้ไข ทั้งที่ไม่มีกฎหมายฉบับใด รองรับความชอบธรรมในการกำหนดตัดสินใจว่าโครงการใดอาจก่อให้เกิดความรุนแรงฯ ของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม
ขั้นตอนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๖๗ ไม่ใช่ขั้นตอนที่เหนือบ่ากว่าแรง เกินกว่าที่เจ้าของโครงการจะดำเนินการไม่ได้ ทั้งจำเป็นต้องดำเนินการเพื่อประโยชน์สุขของทุกฝ่าย ถ้านักลงทุนและบริษัทต่างมีความจริงใจ มีธรรมาภิบาล มีมาตรฐานสูง มีความรับผิดชอบ กป.อพช.ใต้ จึงเห็นว่ารัฐบาลต้องยึดหลักเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ในเบื้องต้นให้ยึดรูปแบบและจำนวนโครงการที่คณะกรรมการ๔ฝ่ายกำหนด และเพิ่มจำนวนโครงการฯที่เสนอโดยประชาชน ซึ่งหลายโครงการได้ถูกตัดออกไป ตั้งแต่ขั้นคณะกรรมการ ๔ฝ่าย เช่น ปิโตรเคมีปลายน้ำ การขุดเจาะน้ำมัน ซึ่งล้วนเป็นโครงการที่ก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงทั้งสิ้น
กป.อพช.ใต้ เสนอให้ องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อม ต้องเป็นกลไกหลักในการทบทวนการกำหนดประเภทโครงการรุนแรงที่ต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๖๗
๒. กรณีโครงการต่างๆในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ซึ่งตัวนายกรัฐมนตรีเองเป็นประธาน มีเจตนายกเว้นมิให้ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ มีผลทำให้โครงการต่างๆเพิ่มขึ้น ทั้งๆที่ปัญหามลพิษในมาบตาพุด รุนแรงเกินจะรองรับได้อีก กป.อพช.ใต้ เห็นว่า รัฐบาลต้องแก้ปัญหามาบตาพุดให้ได้ก่อนเป็นเบื้องต้น ไม่ใช่เพิ่มปัญหาด้วยการลดขั้นตอน อำนวยความสะดวกแก่ฝ่ายอุตสาหกรรมอย่างน่ารังเกียจ
๓. รัฐบาลต้องทำให้เห็นถึงความจริงใจในการที่จะดูแลประชาชนทุกฝ่าย ก่อนที่จะกำหนดการพัฒนาในพื้นที่อื่นๆ ด้วยการยุติโครงการศึกษาของหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาพื้นที่ในภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายของการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของรัฐและเอกชนทั้งในและนอกประเทศ ทั้งนี้คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ประเด็น “แผนพัฒนาที่ยั่งยืน...กรณีภาคใต้” ตามกระบวนการพิจารณาของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่๒ โดยมีสาระสำคัญให้คณะรัฐมนตรีพิจารณามอบหมายให้สภาพัฒน์ฯ ทบทวนและยุติแผนพัฒนาอุตสาหกรรมภาคใต้ และให้คณะรัฐมนตรีออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจภาคใต้และภาคอื่นๆอย่างยั่งยืน กป.อพช.ใต้ เรียกร้องให้คณะรัฐมนตรีผลักดันให้เกิดผลในทางปฏิบัติ และให้ยุติการพัฒนาอุตสาหกรรมภาคใต้ทั้งหมดก่อน จนกว่าจะเกิดแผนแม่บทการพัฒนาที่ยั่งยืน
๔.รัฐบาลโดยสำนักงานนโยบายแผนและสิ่งแวดล้อม(สผ.) ได้จัดทำแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๓-๒๕๖๒ ซึ่งไม่ได้นำไปสู่การลดภาวะโลกร้อนอย่างแท้จริง เนื่องจากเนื้อหาของแผนแม่บทดังกล่าวไม่ได้นำไปสู่การควบคุมการเกิดขึ้นและการปล่อยสารพิษของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นภาคการผลิตที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนมากที่สุด อีกทั้งกระบวนการกำหนดเนื้อหาสาระไม่ได้สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนตั้งแต่ขั้นต้นตลอดจนการรับฟังความคิดเห็น
กป.อพช.ใต้ จึงไม่เห็นด้วยกับร่างแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๓-๒๕๖๒ ทั้งฉบับ จนกว่าจะผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการจัดทำแนวคิด เนื้อหา และโครงการทั้งหมดเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาของโลกร้อน
กป.อพช.ใต้ ปรารถนาที่จะเห็นการพัฒนาที่ยึดถือประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม สังคมและชุมชน การพัฒนาที่ทุกคนมีส่วนร่วมคิด ร่วมรับประโยชน์ ซึ่งจะเป็นการพัฒนาที่ถูกต้องอย่างแท้จริง นอกเหนือจากนี้เป็นการพัฒนาที่เราไม่เห็นด้วยและขอคัดค้านถึงที่สุด