ไหลมาจากป่าเขาอันเหงาเงียบ
เย็นยะเยียบลงสู่ถิ่นแผ่นดินใหญ่
พาดผ่านเมืองแห่งตำนานล้านนาไทย
คงคู่เวียงเชียงใหม่มาเนิ่นนาน
เป็นเส้นเลือดของชุมชนบนฟากฝั่ง
ที่ยืนยังเกลียวกลมผสมผสาน
ด้วยพืชผลนาไร่จากแรงงาน
จากสายธารแม่น้ำใหญ่ที่ไหลริน
ตั้งแต่ดึกดำบรรพ์อันไกลโพ้น
ยังอ่อนโยนเป็นมือแม่กระแสสินธุ์
คอยหล่อเลี้ยงผองชนบนแผ่นดิน
มิรู้สิ้นกระแสแผ่กระจาย
ถ้าแม่ปิงถูก “ มือทุน ” มาตัดขาด
เพื่อนำสู่ตลาดไปค้าขาย
เหล่าชุมชนสองฝั่งฟากอันมากมาย
คงถึงคราวล้มละลาย...สิ้นสายน้ำ
เพราะนี่คือ...มือดำอำมหิต
ที่ครุ่นคิดคอยแต่จะขย้ำ
ทรัพยากรท้องถิ่นแผ่นดินธรรม
เพื่อกอบกำผลกำไรให้แก่ตน
ไหลมาจากป่าเขาอันเหงาเงียบ
เย็นยะเยียบในวงแวดแดดและฝน
โอ้ แม่น้ำสีทองของคนจน
จะถูกปล้นแล้วหรือไรในวันนี้.
หมายเหตุผู้เขียน กวีบทนี้ ผมเขียนให้งานนิทรรศการเกี่ยวกับแม่น้ำปิง เมื่อไม่นานมานี้ที่หอศิลป์ มช. ซึ่งจัดโดย “กลุ่มภาคีคนฮักเจียงใหม่” ที่เป็นแกนนำต่อสู้คัดค้านรัฐที่จะทุบฝายทดน้ำพญาคำที่อยู่ห่างจากสะพานเนาวรัฐไปทางทิศใต้ประมาณ 500 เมตร
เพื่อเอี้ออำนวยทางสะดวกให้กับโครงการธุรกิจท่องเที่ยวเรือสำราญ จะได้แล่นเรือจากท่าเรือในเมืองล่องไปเวียงกุมกาม โดยไม่คำนึงถึงเกษตรกรนับพันครอบครัวที่อาศัยน้ำจากระบบส่งน้ำจากฝายพญาคำไปทำการเกษตร ซึ่งเป็นอาชีพหลักของพวกเขา จะต้องเดือดร้อน หากฝายพญาคำที่มีอายุมาหลายชั่วคนถูกทำลาย...
ด้วยเหตุผลที่เขาว่า เป็นสาเหตุที่ทำให้น้ำท่วมเมืองเชียงใหม่ในหน้าฝน ซึ่งเป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้นและไม่เป็นความจริง เพราะมีคนคัดค้านกันมากมาย และสามารถชี้ให้เห็นสาเหตุที่แท้จริงหลายสาเหตุ แน่นอนเรื่องนี้ยังไม่ยุติ...
ยื่นหนังสือกรมชลฯ คัดค้านการสร้างประตูระบายน้ำเพื่อทุบฝาย
และในขณะที่ผมกำลังเขียนต้นฉบับนี้ ทาง “กลุ่มภาคีคนฮักเจียงใหม่” กำลังรวบรวมบทความที่ให้รายละเอียดเกี่ยวกับเรี่องนี้จากนักคิดนักเขียนสอง-สามท่าน รวมเล่มพิมพ์เป็นหนังสือชื่อ “เมืองแม่น้ำในหุบเขา” โดยได้รับทุนจัดพิมพ์จากมูลนิธิไทยรักษ์ป่า ในหนังสือเล่มนี้มีบทกวีบทนี้และบทความสั้นๆในเชิงประวัติศาสตร์เกี่ยวกับแม่น้ำปิงที่ผมเขียนอีกชิ้นหนึ่งได้รับเกียรติรวมอยู่ด้วย ครับ-นี่คือที่มาที่ไปของบทกวี “เสียงกระซิบจากแม่ปิง” ที่คุณกำลังอ่าน.
กระท่อมทุ่งเสี้ยว เชียงใหม่