Skip to main content

picture

ผมมีความเชื่อว่า
คนที่เป็นนักปฏิบัติธรรมตามหลักธรรมคำสอนทางพุทธศาสนาบ้านเรา ถ้าหากไม่หลงไปปฏิบัติผิดที่ผิดทาง ท่านคงจะรู้กันดีทุกคนนะครับ ว่าเป้าหมายสูงสุดในการปฏิบัติธรรม คือการปฏิบัติเพื่อลดละและปล่อยวาง  ความยึดมั่นถือมั่นว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้ เป็นตัวของเรา – เป็นของของเรา ซึ่งทางพุทธบ้านเราถือว่าเป็นต้นตอรากเหง้าของความทุกข์ทางใจทั้งหลายทั้งปวง

ส่วนจะเป็นทุกข์มากหรือน้อย ย่อมขึ้นอยู่กับใจของเรา ที่เข้าไปยึดเอาสิ่งนั้นสิ่งนี้เป็นตัวกำหนด พูดง่าย ๆ ก็คือ ถ้าเข้าไปยึดถือมากก็ย่อมเป็นทุกข์มาก ถ้าเข้าไปยึดถือน้อยก็เป็นทุกข์น้อยนั่นเอง

ครับ
นี่เป็นเรื่องที่เป็นนามธรรมที่เข้าใจได้ยาก หรือถ้าสามารถเข้าใจได้แล้ว...ก็ยังมีเรื่องที่ยากยิ่งขึ้นไปอีก นั่นคือการปฏิบัติให้ได้จริงและเป็นจริง เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ฝืนใจปุถุชนคนธรรมดาอย่างเรา ที่ล้วนแล้วแต่เกิดมาเพื่อเรียนรู้การยึดมั่นถือมั่น มากกว่าการลดละและปล่อยวาง...

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เรื่องนี้ ซึ่งถือกันว่าเป็นแก่นของพุทธศาสนาที่พระเดชพระคุณท่านพุทธทาสภิกขุ เคยพูดเอาไว้ครั้งแล้วครั้งเล่าว่า เป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่ผู้คน จะกลายเป็นเรื่องที่ยากยิ่งที่คนจะเข้าใจและปฏิบัติได้ พวกเราส่วนมากที่สักแต่ได้ชื่อว่าเป็นชาวพุทธ จึงกลายเป็นคนที่อยู่ใกล้...แต่กลับไกลจนสุดหล้าฟ้าเขียวจากของดีที่อยู่ใกล้ตัว เพราะมันฝืนความเคยชิน ฝืนใจคนกิเลสหนาอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ  เหลือเกินครับพระคุณเจ้า...

จึงไม่ใช่เรื่องที่แปลกอีกเหมือนกัน
ที่คนที่หันหลังให้กับทางโลกย์เข้าไปหาทางธรรม ถึงขั้นเข้าวัดวาหรือสำนักปฏิบัติธรรม เพื่อปฏิบัติธรรมอย่างเอาจริงเอาจัง จึงมักจะเป็นคนที่ได้ประสบกับความทุกข์ทางใจอันใหญ่หลวงมาแล้วอย่างหนักหนาสาหัส และมองเห็นความทุกข์นั้นด้วยตัวเองจริง ๆ เท่านั้น ที่มักจะพากันเข้าไปด้วยความสมัครใจ และเข้าใจอย่างลึกซึ้ง และเมื่อเดินมุ่งหน้าเข้าไปแล้ว ก็ยากยิ่งที่จะถอยหลังกลับมา

ดังเช่นกรณี ท่านศาสตราจารย์ อุบาสิกา คุณรัญจวน อินทรกำแหง นักปฏิบัติธรรม อาวุโส ผู้มีชื่อเสียงขจรขจายในวงการพุทธ ศาสนา ได้ให้สัมภาษณ์ คุณขวัญใจ เอมใจ เอาไว้ในหนังสือสารคดีประจำเดือนมีนาคม 2543 เกี่ยวกับเส้นทางการปฏิบัติธรรมของท่านเอาไว้ตอนหนึ่ง ซึ่งตรงกับประเด็นที่ผมได้เกริ่นกล่าวเอาไว้อย่างน่าสนใจ และควรค่าแก่การศึกษา ดังต่อไปนี้

สารคดี : เหตุผลหลักที่สำคัญที่สุดที่ทำให้ท่านตัดสินใจบวชคืออะไรคะ ดิฉันได้ยินมาว่า มีความ    คิดสองทาง มองว่าคนที่มาบวชนั้น หนึ่ง เพราะมีความทุกข์ สอง เป็นคนที่กำลังแสวงหา บางคนมองไกลไปถึงว่า พระพุทธเจ้าก็เป็นผู้แสวงหาอีกท่านหนึ่งในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ชาติ

อ.รัญจวน : เห็นทุกข์ค่ะ แต่ก่อนนี้ไม่รู้ ทั้ง ๆ ที่อาการของความทุกข์ก็คืออาการซัดส่ายของใจ วุ่นวายไม่เป็นปกติ แต่ไม่รู้ว่าอยู่กับความทุกข์ เพราะไม่เคยศึกษา พอมาตอนหลังก็มีเหตุที่ทำให้เริ่มเห็นความทุกข์ชัดขึ้น คือเรื่องหลานชาย ดิฉันมีหลานชายที่ดิฉันเลี้ยงเอาไว้ตั้งแต่เล็ก ๆ  เขาเป็นเด็กเก่ง เด็กฉลาด เรียนหนังสือดี อยู่มหาวิทยาลัยก็เรียกว่าเป็นดารา แต่เขาเป็นคนคิดมาก ดิฉันไม่รู้ว่าเขาคิดมากขนาดไหน ภายนอกของเขาเป็นคนที่รื่นเริงบันเทิงใจมาก อยู่ที่ไหนมีแต่จะทำให้ที่ตรงนั้นมีเสียหัวเราะ เพื่อนฝูงจะไปไหนก็มาขอให้เขาไปด้วย เพราะเขาเป็นคนนำ ทำให้เพื่อนฝูงสนุกสนาน มีปัญหาอะไรก็แก้ไขปัญหาให้เพื่อน แต่ผลที่สุด เขาก็แก้ปัญหาให้ตัวเองไม่ได้ ต้องเข้าไปอยู่โรงพยาบาลจนทุกวันนี้  เขาไม่ก้าวร้าว แต่จะพูดจะคิดอะไรเลื่อนลอย อยู่กับความหลัง อยู่กับอนาคต แต่ไม่อยู่กับปัจจุบัน ตอนนั้นดิฉันเริ่มรู้แล้วว่า อ้อ...ความทุกข์มันเป็นเช่นนี้เอง

แล้วก็นั่งคิด เอ...นี่เราเลี้ยงเขาผิดหรือเปล่า ทั้งที่เราก็ประชาธิปไตยพอสมควร มีอะไรก็พูดอภิปรายกัน ไม่ได้เก็บกักอะไรเขาเลย ก็ถามตัวเอง โทษตัวเอง รู้สึกเศร้าใจ ยิ่งเมื่อเห็นดอกเตอร์หนุ่ม ๆ ก็นึกในใจ หลานเราก็เป็นได้ แล้วเขาก็เป็นได้อีกตั้งหลายอย่าง เป็นนักดนตรี นักพูด นักเขียน แต่กลับมาเป็นอย่างนี้ นี่ละจิตที่ทุกข์จริง ๆ ก็ตอนนั้น

สารคดี : เรื่องหลานชายถือเป็นเหตุปัจจัยหลักที่ทำให้เห็นทุกข์ กระทั่งตัดสินใจบวช
อ.รัญจวน : ใช่ค่ะ เริ่มเห็นความทุกข์ชัดเจนขึ้น ทั้ง ๆ ที่เราอยู่กับความทุกข์มาตลอดชีวิตอย่างที่เล่ามาแล้ว นี่ที่สำคัญมากนะคะ คนทุกคนในโลกนี้คลุกคลีกับความทุกข์มาตลอด แต่ทุกข์เล็ก ๆ น้อย ๆ ในชีวิตประจำวันกลับมองไม่เห็น มันมีอยู่ตลอดทั้งวัน  ตลอดระยะทางของชีวิต เกือบจะทุกขณะทุกชั่วโมง ก็ที่เดี๋ยวเราดีใจ เดี๋ยวเสียใจ เดี๋ยวชอบใจ เดี๋ยวไม่ชอบใจอีกแล้ว นั่นละ

แต่เพราะไม่เคยเรียนรู้ ก็เลยไม่รู้ว่า เรามีชีวิตอยู่กับความทุกข์ จนกระทั่งวันหนึ่ง สิ่งที่เรารักมาก ยึดถือมาก...ว่ามันเป็นของเราเกิดวิปริตขึ้นมา มันถึงตีตูมเข้ามาที่ใจ ทำไมถึงเห็นว่าเป็นทุกข์มาก ทุกข์ใหญ่  เพราะเราไม่เคยได้ฝึกอบรมใจ เพื่อจะต้อนรับทุกเล็ก ๆ  ที่ผ่านใจเข้ามาตลอดชีวิตของเรา เราไม่เคยรู้ เราไม่เคยจัดการ ที่หลังมันก็จะสะสมความทุกข์ ความไม่พอใจมาเรื่อยทีละน้อย ๆ แล้วพอมีอะไรใหญ่มาก ๆ ลงมาตูมเดียว จึงไม่มีความต้านทานที่จะรับ
แต่สำหรับตัวเอง พอจะรับได้บ้าง ไม่ถึงเป็นบ้าเป็นหลังไปกับความทุกข์ ไม่ได้ล้มสลบสิ้นสติลงไป ที่เน้นเรื่องนี้ก็อยากจะบอกทุกคนว่า เราควรจะต้องศึกษาเรื่องความทุกข์ อย่างที่พระพุทธเจ้าทรงสอนอริยสัจสี่ และเมื่อเกิดอะไรขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นทุกข์ใหญ่ เช่นไฟไหม้บ้าน เกิดอุบัติเหตุตายทั้งหมู่ ลูกสาวหลานสาวถูกข่มขืน ยำยี มันก็จะไม่ทำให้เราเป็นทุกข์ชอกช้ำจนถึงเสียสติ

สารคดี : อาการของท่านเองตอนที่เจอทุกข์ใหญ่มากในตอนนั้น เป็นอย่างไรบ้าง
อ.รัญจวน : ข้างนอกนี่ไม่เป็นอะไร แต่ข้างในรู้สึกเหนื่อย...เหนื่อยมากเหลือเกิน เพราะพอหลานชายออกจากโรงพยาบาล แล้วก็ต้องเอาเขามานอนเตียงข้าง ๆ ติดกัน แล้วก็ต้องคอยพูดคอยปลอบใจ ให้กำลังใจ แนะนำต่าง ๆ  ไหนจะงานสอนที่รามคำแหง แล้วตอนนั้นเป็นประธานสภาอาจารย์รามคำแหง ซึ่งเริ่มมีเป็นครั้งแรกด้วย พอมาถึงบ้านก็ต้องมาทำงานพยาบาลด้วย แล้วพยาบาลโรคทางใจนี่หนักกว่าโรคทางกายนัก เพราะฉะนั้น นอกจากทุกข์เพราะสงสารว่าเขาเป็นอย่างนี้แล้ว ยังทุกข์เพราะเหนื่อยอีก มันเหนื่อยสายตัวแทบขาดทีเดียว เหนื่อยทุกอย่างทั้งกายและใจ เลยรู้ว่า อ๋อ...ลักษณะของความทุกข์ที่เกิดขึ้นมันเป็นเช่นนี้เอง

ถ้ามองจากตอนนี้ ถามว่า ที่ตอนนั้นตัวเองทุกข์เพราะอะไร ก็ตอบว่า ทุกข์เพราะอุปทาน ยึดมั่นถือมั่น  ถ้าเราไม่ยึดมั่นถือมั่นเราก็ไม่ทุกข์  มีเด็กหนุ่ม ๆ สาว ๆ ที่มีอาการอย่างหลานชายของเราอีกนับพันนับหมื่น ทำไมเราไม่ไปทุกข์กับเขา ก็เพราะเขาไม่ใช่หลานเรา นี่ธรรมะบอก เพราะเราไปยึดมั่น เพราะฉะนั้นจึงทุกข์มาก นี่ถ้าไม่ใช่หลานของเรา มีอะไรจะช่วยได้ก็คงช่วยกันไปเท่าที่กำลังจะช่วยได้  แต่ไม่ต้องเสียใจเศร้าหมองจนไม่คิดถึงเหตุผลอย่างใช้สติปัญญา

ครับ ผมหวังว่า บทสัมภาษณ์ บทนี้ของอาจารย์รัญจวน ที่สูญเสียหลานชายที่ท่านรัก และเป็นเหตุทำให้ท่านหันหน้าเข้ามาปฏิบัติธรรมตราบจนเท่าทุกวันนี้ คงจะทำให้ท่านผู้อ่านเข้าใจคำว่า ยึดมั่นถือมั่น ซึ่งเป็นต้นตอความทุกข์ทางใจของคนเราได้ง่ายขึ้น และได้รับประโยชน์จากความเข้าใจนี้กันทุกคนนะครับ.

17 ตุลาคม 2550
กระท่อมทุ่งเสี้ยว เชียงใหม่

ภาพประกอบจาก http://dungtrin.com ขอบคุณครับ

บล็อกของ ถนอม ไชยวงษ์แก้ว

ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
เมื่อรักจะเล่นกันในระบอบประชาธิปไตย ก็ต้องยอมรับการตัดสินใจของประชาชนจากผลการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะออก เหลือง หรือออก แดง ก็ตาม การเลือกตั้งในยุโรปหลายประเทศ ก็มีตัวอย่างมาแล้ว เมื่อประชาชนเบื่อ “ทุนนิยม” ขึ้นมา ก็หันไปเลือก “พรรคสังคมนิยม” เป็นรัฐบาลแทน เปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจจากหน้ามือเป็นหลังมือ พออยู่แบบ “สังคมนิยม” ไปสักพักเกิดเบื่อ “สังคมนิยม” ขึ้นมา ก็กลับไปเลือก “พรรคทุนนิยม”ขึ้นมาใหม่  
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
ยุทธวิธีการหาเสียง แบบใช้ความสุภาพอ่อนโยน ไม่ขุดคุ้ยโจมตีคู่ต่อสู้ ของ คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แม้กระทั่งกรณีการประกาศเข้าไปปราศรัยหาเสียงที่สี่แยกราชประสงค์ในวันที่ 23 มิ.ย. ของ คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยไม่ยอมฟังเสียงคัดค้านจากผู้ใด โดยคุณอภิสิทธิ์อ้างว่าทุกคนมีสิทธิ ไม่มีใครผูกขาด และคุณสุเทพช่วยเสริมว่า “ถ้าสิ่งที่พวกผมทำนั้นไม่ถูกต้อง ประชาชนก็ตัดสินเอง...” ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจคุณอภิสิทธิ์ที่ออกไปหาเสียงต่างจังหวัดที่ไหน ก็มักถูกคนเสื้อแดงชูป้ายต่อต้าน หรือเข้าไปประชิดตัวตั้งคำถามที่คุณอภิสิทธิ์ยากที่จะตอบได้...
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
      "ภาพประกอบจากมติชนออนไลน์" ผมเกิดคำถามขึ้นมาว่า การเลือก คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวคุณทักษิณ เข้ามาเป็นปาร์ตี้ลิสต์หมายเลข 1 ของพรรคเพื่อไทย และมีสิทธิ์ที่จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกแห่งประเทศไทย ถ้าหากพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง ซึ่งตอนนี้ทั้งโพลและสื่อการเมืองที่น่าเชื่อถือได้ ต่างก็ออกมาชี้ให้เห็นว่า คะแนนนิยมพรรคเพื่อไทยนำหน้าพรรคประชาธิปัตย์คู่แข่งอย่างท่วมท้น และแทบจะฟันธงได้เลยว่า ชัยชนะการเลือกตั้งในครั้งนี้เป็นของพรรคเพื่อไทยอย่างแน่นอน  
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
  เมื่อสองสามอาทิตย์ก่อน ผมได้รับหนังสือ “มหัศจรรย์ดอกไม้กินได้” เป็นอภินันทนาการจาก อันยา โพธิวัฒน์ เจ้าของร้าน สายหมอกกับดอกไม้ อดีตคนข้างเคียง จรัล มโนเพ็ชร ศิลปินผู้ยิ่งใหญ่แห่งล้านนา หลังจากที่คุณอันยาได้เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับคุณจรัลในเชิงบันทึกจากมุมมองของเธอเอาไว้ 2 เล่ม คือ รักและคิดถึง จรัล มโนเพ็ชร และ ตามรอยฝัน...จรัล มโนเพ็ชร ในช่วงตอนแรกๆที่คุณจรัลได้จากไปเมื่อหลายปีก่อน และเป็นหนังสือที่อยู่ในอันดับขายดี  
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
  สถาปนิกผู้หนึ่ง ทำงานอยู่บริษัทก่อสร้างแห่งหนึ่งมานานหลายปี ตลอดชีวิตการทำงานของเขาได้ออกแบบและสร้างสิ่งก่อสร้างให้บริษัทมากมาย ขณะนี้เขาใกล้จะปลดเกษียณ อยู่มาวันหนึ่ง ซีอีโอได้เรียกเขาเข้าพบ “คุณได้ทำงานใหญ่ๆให้เรามานานหลายปี ขณะนี้ผมมีงานสุดท้ายให้คุณทำก่อนเกษียณ” ซีอีโอกล่าว “ผมต้องการให้คุณออกแบบบ้านหลังหนึ่งให้ดีที่สุดเท่าที่คุณจะทำได้ และเป็นผู้รับผิดชอบโครงการนี้ทั้งหมด ที่คุณต้องทำคือ จัดซื้อวัสดุที่ดีที่สุดและจ้างช่างที่มีประสบการณ์มาสร้าง ส่วนค่าใช้จ่าย...ไม่อั้น!”  
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
Normal 0 false false false EN-US X-NONE TH MicrosoftInternetExplorer4 "ภาพผู้เขียน โดย ตุ๊ - ช่ออัญชัน กันทะปินตา ที่ยิปซีบาร์" ในกาลครั้งหนึ่ง มีภิกษุรูปหนึ่งพบอุปสรรคในการทำสมาธิ เมื่อไหร่ก็ตามที่พยายามเข้าสมาธิจะมี แมลงมุมยักษ์ปรากฏขึ้น ไม่ว่าจะทำอย่างไรก็ไม่สามารถกำจัดมันออกไปได้  
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
    โลกอันอ้างว้าง ทุกอย่างเหมือนความฝัน หมุนไปผ่านไปทุกวัน แปรผันสลายอยู่ทุกโมงยาม  
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
  ผมรู้จัก ม.ล.ศักดิ์สิน เกษมสันต์ หรือที่เราเรียกกันสั้นๆว่า คุณด้วง หรือ ด้วง ในฐานะศิลปินอิสระที่มีความสามารถที่แสดงให้เห็นเด่นชัดเท่าที่ผมได้ประจักษ์อยู่ 4 ประการ นั่นคือเป็นคนเขียนรูป เป็นคนเขียนบทกวี เป็นนักแสดงสดๆที่เราเรียกกันว่าเปอร์เฟอร์แมน และเป็นนักดนตรีที่มีความถนัดในสไตล์แบบเร็กเก้ที่น่าทึ่ง  
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
  "นางแบบ มาลานชา ตากล้อง Tou Paycheck" ท่านเคยพบไหมว่า ในบางครั้งเราไม่สามารถปล่อยเรื่องราวใน อดีต ให้ผ่านพ้นไป หรือไม่สามารถยุติความวิตกกังวลเกี่ยวกับ อนาคต ลงได้ เมื่อไหร่ที่รู้สึกเช่นนั้น ข้าพเจ้าจะนึกถึงนิทานเซ็นที่โด่งดังเรื่องหนึ่ง   วันหนึ่ง ขณะกำลังเดินผ่านป่ารกชัฏ ชายคนหนึ่งได้พบเข้ากับเสือดุร้ายตัวหนึ่ง เขาออกวิ่งสุดชีวิต โดยมีเสือไล่ตามมา
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
    รักรัก...ฉันมีความรัก ด้วยแจ้งประจักษ์คุณค่า ความรักคืออมฤตา ชุบชูชีวาสดใหม่  
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
  "นางแบบ มาลานชา ตากล้อง Tou paycheck"   ในกาลครั้งหนึ่ง มีชายคนหนึ่งหลงทางอยู่ในทะเลทราย น้ำในกระติกได้หมดไปเมื่อสองวันที่แล้ว เขารู้ดีว่า ถ้ายังหาน้ำไม่ได้ภายในเร็วๆนี้ เขาต้องตายแน่ๆ  
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
ที่ชายแดนภาคเหนือ ของประเทศจีนในสมัยโบราณ มีชายผู้หนึ่งซึ่งมีความเชี่ยวชาญพิเศษในการเลี้ยงม้า คนที่รู้จักเขาเรียกเขาว่า ซีเวิง ซึ่งหมายถึงผู้เฒ่าที่อยู่ตามชายแดน   วันหนึ่ง โดยเหตุใดไม่ทราบ ม้าของเขาตัวหนึ่งได้หนีเข้าไปในดินแดนของชาวหู ซึ่งอยู่นอกกำแพงยักษ์ เนื่องจากชาวหูเป็นปรปักษ์กับชาวจีน ดังนั้น ทุกคนจึงคิดว่า คงจะไม่ได้ม้ากลับคืนมาแน่ๆ