"นางแบบ มาลานชา ตากล้อง Tou paycheck"
ในกาลครั้งหนึ่ง
มีชายคนหนึ่งหลงทางอยู่ในทะเลทราย น้ำในกระติกได้หมดไปเมื่อสองวันที่แล้ว เขารู้ดีว่า ถ้ายังหาน้ำไม่ได้ภายในเร็วๆนี้ เขาต้องตายแน่ๆ
ชายคนนั้น ได้เห็นกระท่อมอยู่เบื้องหน้า เขาคิดว่าเป็นภาพลวงตาหรือเกิดอาการประสาทหลอน แต่ไม่มีทางเลือก จึงมุ่งตรงไปที่กระท่อมนั้น เมื่อเข้าใกล้จึงแน่ใจว่าเป็นความจริง เขาได้ลากสังขารที่อิดโรยไปยังประตูด้วยกำลังเฮือกสุดท้าย
ที่กระท่อม
ไม่มีคนอยู่และดูเหมือนได้ถูกปล่อยร้างมาช่วงระยะเวลาหนึ่ง ชายผู้นั้นเดินเข้าไปด้วยความหวังริบหรี่ว่าอาจจะเจอน้ำอยู่ข้างใน
หัวใจเขาเต้นไม่เป็นจังหวะ เมื่อเห็นสิ่งที่อยู่ภายในกระท่อม มันคือเครื่องสูบน้ำที่มีท่อต่อลงไปใต้พื้นกระท่อม คงใช้สำหรับเครื่องสูบน้ำจากแหล่งน้ำที่ใต้ดิน
เขาเริ่มทำการสูบน้ำ แต่ไม่มีอะไรออกมา หลังจากพยายามอยู่หลายครั้งก็ไม่บังเกิดผล ในที่สุดต้องยอมแพ้ เพราะหมดแรงและล้มเหลว เขายอมแพ้อย่างสิ้นหวัง ดูประหนึ่งกำลังจะตายในที่สุด
ทันใดนั้น เขาพลันเหลือบไปเห็นขวดใบหนึ่งวางอยู่ที่มุมกระท่อม บรรจุน้ำอยู่เต็มและมีจุกปิดเพื่อกันระเหย
เขาเปิดจุกขวดออกและกำลังจะดวดให้สมอยาก แต่สังเกตเห็นฉลากที่ติดขวด เขียนด้วยลายมือว่า “จงใช้น้ำนี้ในการเริ่มต้นสูบน้ำ เมื่อใช้แล้วอย่าลืมเติมให้เต็มขวด”
ชายคนนั้นตกอยู่ในสภาพที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก
จะทำตามคำแนะนำด้วยการเติมน้ำเข้าไปในเครื่องสูบน้ำดี
หรือว่าดื่มมันโดยไม่ต้องสนใจดี
จะทำอย่างไรดี
ถ้าเติมน้ำลงไปในเครื่องสูบน้ำ แล้วใครจะรับประกันว่ามันจะทำงานได้ ถ้าเครื่องสูบน้ำมันเสียไปแล้วล่ะ ถ้าท่อน้ำที่ต่อไว้มันรั่วล่ะ ถ้าน้ำใต้ดินมันหมดไปแล้วล่ะ
ทว่าบางทีคำแนะนำอาจจะถูก ลองเสี่ยงดูดีไหม ถ้ามันผิดก็เท่ากับโยนน้ำขวดสุดท้ายทิ้งไป
เขาเทน้ำลงเครื่องสูบน้ำด้วยมือสั่นระริก จากนั้นหลับตา สวดวิงวอน แล้วเริ่มสูบน้ำ ได้ยินเสียงโครกคราก แล้วมีน้ำไหลพุ่งออกมา มันมากจนเหลือใช้ เขาเพลิดเพลินอยู่กับกระแสน้ำที่เย็นและสดชื่น เขายังมีชีวิตอยู่ !
หลังจากดื่มน้ำจนอิ่มและรู้สึกสดชื่นดีแล้ว ได้มองไปรอบๆกระท่อม จึงพบดินสอและแผนที่แสดงปริมณฑลที่บอกให้รู้ว่า ยังอยู่ห่างไกลจากบริเวณที่มีอารยธรรม แต่อย่างน้อยที่สุด เขาก็ได้รู้ว่ากำลังอยู่ที่ไหน และควรจะไปทางไหน
เขาเติมน้ำใส่กระติกจนเต็ม เพื่อใช้ในการเดินทาง จากนั้นได้เติมน้ำใส่ขวดและปิดจุกไว้อย่างเดิม ก่อนออกจากกระท่อม เขาได้เขียนข้อความต่อท้ายคำแนะนำว่า
“เชื่อเถอะ, มันใช้ได้!”
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
ในการดำเนินชีวิตนั้น เราจะต้องให้ก่อน...จึงจะได้รับอย่างเหลือเฟือ ที่สำคัญคือ สอนให้รู้ว่า ความเลื่อมใสศรัทธามีบทบาทที่สำคัญในการให้ ชายผู้นั้นไม่รู้ว่าทำไปแล้วจะได้รับค่าตอบแทน แต่เขาได้ดำเนินต่อไปโดยไม่คำนึงถึง เขาโดดเข้าใส่ด้วยความศรัทธา
น้ำ ในนิทานเรื่องนี้
เป็นตัวแทนของสิ่งดีๆในชีวิต มันเป็นพลังงานทางบวกที่ทำให้เกิดรอยยิ้มบนใบหน้า มันอาจเป็นรูปธรรมหรือนามธรรมก็ได้ อาจเป็นตัวแทนของเงิน ความรัก มิตรภาพ ความสุข ความนับถือ หรืออะไรก็ได้ที่ท่านเห็นว่ามีคุณค่า
เครื่องสูบน้ำ
แทนลักษณะการทำงานของกลไกแห่งกรรม จงให้น้ำ (สิ่งดีๆ) แก่มัน เพื่อให้มันทำงาน แล้วมันจะตอบสนองให้มากกว่าที่ท่านป้อนเข้าไป กลไกนี้จะดำเนินไปเป็นลักษณะวงกลมขนาดใหญ่ เป็นวิถีที่ต่อเนื่องไม่ขาดสาย ซึ่งในที่สุดจะกลับมาสู่จุดกำเนิด พลังของการหมุนเวียนนี้จะเก็บรวบรวมพลังเอาไว้ขณะที่มันเคลื่อนที่ไปเป็นวงกลม ดังนั้น ในที่สุดมันจึงย้อนกลับมาด้วยขนาดที่ขยายใหญ่ขึ้นกว่าเดิม
ถ้าวงกลมนั้น
เป็นปรากฏการณ์ทางฟิสิกส์ เหมือนกับวงจรของดาวนพเคราะห์ หรือวงจรของฤดูกาล เราจะสามารถติดตามวิถีของมัน สังเกตความก้าวหน้าของมัน และพยากรณ์ได้...ก่อนที่วงจรจะสมบูรณ์ แต่เราไม่สามารถทำเช่นนั้นกับกลไกแห่งกรรม เพราะมันเป็นลักษณะทางอภิปรัชญา คลื่นกรรมนั้นวิถีของมันสามารถเข้าๆออกๆ โลกทางรูปธรรมได้อย่างง่ายดาย และเมื่อมันเข้าสู่อาณาจักรทางนามธรรม เราจะมองไม่เห็นมัน
นี่คือทำไมตามปรกติ เราจึงไม่สามารถเห็นความสัมพันธ์ระหว่างเหตุและผล ถ้าท่านทำกรรมแล้วได้รับผลเป็นการสรรเสริญทันที ความสัมพันธ์ของกรรมเช่นนี้ เข้าใจได้ง่าย เพราะในกรณีนี้วงกลมค่อนข้างเล็ก
แต่ส่วนมากแล้ว
วงกลมจะใหญ่โตมาก ทำให้เราขาดเบาะแสของมัน บางทีท่านอาจสร้าง กรรมดี เอาไว้โดยไม่มีใครรู้ ดังนั้น ท่านจึงสันนิษฐานว่า จะไม่มีผลเกิดขึ้นร่วมกับสาเหตุที่กระทำ ความจริงแล้วมีผลเกิดขึ้น แต่เป็นเพราะท่านได้เริ่มนำกลไกแห่งกรรมเข้าสู่อาณาจักรแห่งจิตใจ ท่านจึงไม่สามารถเห็นมันได้
มันทั้งหมดอยู่ที่นั่น
กำลังรวบรวมพลังงาน
และกำลังหาทางกลับมาหาท่าน
ซึ่งจะมาถึงในไม่ช้านี้
ณ ที่บางจุดในอนาคต
กรรมชนิดบวกที่มองไม่เห็นนี้ จะปรากฏในโลกทางรูปธรรม เมื่อวิถีแห่งวงกลมของมันกลับมาถึงท่าน เมื่อปรากฏเช่นนั้น มันจะดูประหนึ่งว่า ความลี้ลับได้ปรากฏให้เห็นจริง มันเหมือนกับว่าเป็นผลที่ปราศจากสาเหตุ ท่านอาจสงสัยเกี่ยวกับ โชคดี เช่นนั้นว่า มันมาโดยบังเอิญ หารู้ไม่ว่าความจริงแล้ว ตัวท่านเองนั่นแหละ เป็นแหล่งกำเนิดเดิมแท้ของมัน
ทีนี้ท่านคงจะพอมองเห็นแล้วว่า ทำไมเหลาจื๊อจึงเรียกสิ่งนี้ว่า “คุณความดีอันล้ำลึก” การทำงานของมันลึกลับและไม่สามารถอธิบายได้จริงๆ ถ้าเราเอาอย่างเต๋าด้วยการสร้างพลังทางบวก ด้วยการให้โดยปราศจากความมุ่งหวัง จักรวาลจะตอบแทนด้วยสิ่งของจำนวนมาก สิ่งนี้จะเป็นจริงเสมอ ถึงแม้เราจะไม่สามารถเห็นการเชื่อมโยง ระหว่างการให้แต่เดิมกับการตอบแทนที่ตามมาภายหลัง
ถ้าท่านพบว่า
หลักการนี้ยากที่จะยอมรับ จะนำแนวความคิดพื้นฐานมาใช้ก็ได้ ตามความเป็นจริงระดับพื้นฐานกล่าวว่า สรรพสิ่งล้วนเชื่อมโยงกัน มิได้มีการแยกออกจากกันอย่างแท้จริง ไม่มีเส้นแบ่งเขตที่ถูกจำกัดวงไว้อย่างชัดเจนในสรรพสิ่ง ถ้าเรายึดถือหลักการนี้ “คุณความดีอันล้ำลึก” อาจไม่ดูประหนึ่งเป็นของแปลกเหมือนก่อน ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นหนึ่งเดียวที่เราเรียกว่า “เต๋า” การแยกกันอยู่ที่เราสัมผัสรู้ในโลกทางรูปธรรมนั้นล้วนเป็นมายา
ตามในนิทาน
ชายคนนั้นได้เติมน้ำลงไปในเครื่องสูบน้ำ โดยไม่รู้ว่าความพยายามของเขาจะได้รับผลตอบแทน ในทำนองเดียวกัน เมื่อเราเอาอย่างเต๋าด้วยการบำรุงเลี้ยงผู้อื่น เราจะต้องกระทำไปโดยไม่มุ่งหวังที่จะได้รับรางวัลใดๆด้วย
ข้าพเจ้ายังจำได้ว่าเมื่อหลายปีก่อน เคยมีเพื่อนคนหนึ่งบ่นให้ฟังเสมอว่า เขาให้ผู้อื่นตลอดเวลา แต่ไม่เคยได้รับผลตอบแทนเลย เขาผิดหวังและขมขื่น ในขณะนั้นข้าพเจ้าไม่เข้าใจปัญหาของเขา แต่บัดนี้ข้าพเจ้าเข้าใจแจ่มแจ้งแล้วว่า ในขณะที่เขาให้ผู้อื่นนั้น เขาทำไปด้วยความคาดหวังและด้วยความขมขื่น นี่เป็นวิธีที่เป็นผลให้เกิด การลัดวงจร ของกลไกแห่งกรรม เขาไม่เข้าใจหลักการนี้ จึงได้รับแต่ความคาดหวังและความขมขื่นเป็นรางวัล
หลักการนี้
สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในทุกเรื่อง ตัวอย่าง เช่น
เมื่อท่านต้องการได้รับความเคารพนับถือจากผู้อื่น
ท่านจะต้องเริ่มต้นด้วยการให้ความเคารพนับถืออย่างเหมาะสมแก่ผู้อื่นเสียก่อน
โดยไม่พูดจาบ่ายเบี่ยงหรือมีความแคลงใจ
ถ้าท่านต้องการให้ผู้อื่นยอมรับผลงานของท่าน
ท่านจะต้องเริ่มต้นด้วยการยอมรับในความสำเร็จของทุกคนที่อยู่รอบตัวท่าน
เมื่อท่านยอมรับด้วยความจริงใจว่าผู้อื่นสมควรได้รับการยอมรับ
ความเคารพนิยมในตัวท่าน
จะเพิ่มขึ้นราวปาฏิหาริย์
ถ้าท่านต้องการมิตรภาพในการดำเนินชีวิต
ท่านจะต้องเริ่มต้นด้วยการทำตัวเป็นมิตรกับผู้อื่นโดยไม่หวังอะไรตอบแทน
แล้วท่านจะประหลาดใจที่ไมตรีจิตและความนิยม
จะไหลบ่ามาหาท่านอย่างน่าภูมิใจ
ถ้าท่านอยากให้ผู้อื่นเห็นความงามในตัวท่าน
ท่านจะต้องเริ่มต้นด้วยการเห็นความงามที่มีในตัวผู้อื่นเสียก่อน
มันง่ายมากที่จะเห็นเมื่อท่านให้ความสนใจ
ทุกๆคนรอบๆตัวท่าน
ล้วนมีความงามตามธรรมชาติอยู่แล้ว
ซึ่งเป็นความงามที่อยู่เหนือความงามทางร่างกาย
เมื่อท่านสามารถเข้าใจสิ่งเหล่านี้ และเริ่มต้นเห็นคุณค่าของมัน การเปลี่ยนแปลงก็จะเกิดขึ้น ท่านจะเป็นผู้ที่มีความงามอย่างแท้จริง
โดยทั่วไปแล้ว
ความดีงามอะไรก็ตามที่ท่านต้องการได้รับจากการดำเนินชีวิต จงให้สิ่งนั้นแก่ผู้อื่นเสียก่อน ให้ด้วยความเบิกบานใจและด้วยความจริงใจ ปราศจากการคำนวณ ผลได้ - ผลเสีย ดุจทำบัญชีงบดุล เพราะเมื่อเริ่มต้นวงจรแลกเปลี่ยนกันแล้ว กระบวนการแห่งเต๋าไม่เคยคดโกงใคร
ณ จุดนี้ ท่านอาจสงสัยว่า หลักการนี้ดูประหนึ่งเป็นคำพูดที่ขัดแย้งกันเอง เพราะถ้ารู้ว่าเราจะได้รับรางวัลตอบแทนมากมายอย่างแน่นอน ด้วยการสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นบวก นั่นมิใช่การมุ่งหวังหรือ และจะไม่เป็นความมุ่งหวัง ที่ทำให้ขบวนการเกิดลัดวงจรหรือ
ลองนึกถึงการเพาะเมล็ดไม้ดอกในสวน ที่อุปมาเหมือนกลไกแห่งกรรม แต่ละเมล็ดที่ท่านเพาะปลูก เป็นหนึ่งกระบวนการ ที่ท่านได้ลงมือกระทำ ท่านเข้าใจหลักการที่ควบคุมการเจริญเติบโตของพืช และรู้ว่าที่ดินนั้นอุดมสมบูรณ์ดี ดังนั้น จึงรู้ว่าจะต้องเห็นผลเมื่อถึงเวลา แม้ท่านไม่รู้อย่างแน่ชัดว่า เมื่อไหร่ หรือดอกไม้จะออกมาเป็นอย่างไร และนั่นคือความปรอดโปร่งสบายใจอย่างแท้จริง
การมีความมุ่งหวังในที่นี้หมายถึง การเปลี่ยนเป็นติดยึดกับสิ่งที่จะเกิดตามมาโดยเฉพาะเจาะจง ถ้าท่านยืนกรานว่า ดอกไม้จะต้องบานในเวลาที่แน่นอน มีรูปดอกเป็นลักษณะอย่างนั้นแน่นอน ท่านจะต้องผิดหวังแน่ๆ ถ้าในภาวะที่ความคิดหนึ่งครอบงำจิตใจของท่าน โดยที่ท่านไม่สามารถสลัดออกไปได้ ท่านก็จะนั่งอยู่ที่นั่น เพื่อเฝ้าดูไม้ดอกต้นนั้นเจริญเติบโต ส่วนที่เหลือในสวนของท่าน ต้องถูกปล่อยปละละเลยอย่างแน่นอน
กรรมก็เช่นเดียวกัน
เมื่อท่านได้เริ่มต้นด้วยพลังด้านบวก โดยไม่รู้แน่ชัดว่าผลจะปรากฏออกมาเมื่อไหร่ และอย่างไร เนื่องจากท่านเข้าใจกลไกแห่งกรรม และตระหนักรู้ว่ามันจะให้ผลในทางที่ดี ไม่ช้าก็เร็ว อย่างไรก็ดี ท่านไม่ติดยึดกับผลที่ตามมาอย่างเฉพาะเจาะจง เพราะฉะนั้นจึงไม่มีความมุ่งหวังเป็นพิเศษ
ขอเพียงเรา
เน้นที่ภารกิจแห่งศรัทธาเหล่านี้ คือ แค่รู้ว่าในสวนมีความอุดมสมบูรณ์ มีความศรัทธาในเมตตาที่เป็นมูลฐานแห่งจักรวาล เต๋าบำรุงเลี้ยงและปกป้องเรา โดยนัยที่แท้จริงแล้ว โลกปรารถนาให้เราประสบความสำเร็จ
สิ่งเดียวที่จำเป็นคือ
กล้าที่จะรับผิดชอบ
และเริ่มเดินเครื่องสูบน้ำ...
เชื่อเถอะ, มันใช้ได้!
หมายเหตุ ; นี่เป็นอีกเรื่องหนึ่งจากหนังสือ “อยู่อย่างเต๋า” ของ เกรียงไกร เจริญโท ที่ผมชอบไม่ยิ่งหย่อนกว่าเรื่องที่ผมนำมาเสนอแนะนำในตอนที่แล้ว แม้งานนี้คุณเกรียงไกรจะนำเขียนในเชิงนิทานสาธก และอธิบายหลักการของเต๋าโดยอาศัยเรื่องในนิทานเป็นตัวแทนคำสอนของเต๋ามาอธิบายให้เราเข้าใจได้ง่าย และสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิต แต่เนื้อหาของเต๋าก็เป็นงานที่หนักสำหรับคนส่วนใหญ่ในสังคมบ้านเรา ที่ชอบบริโภคเรื่องที่ให้ความสนุกเพลิดเพลิน มากกว่าเรื่องที่ประเทืองสติปัญญา
ผมเกรงว่า คนที่มาเปิดอ่าน เรื่องที่ดีและมีประโยชน์ต่อทุกท่านเรื่องนี้ จะถูกเปิดผ่านไปอย่างน่าเสียดายแทน เมื่อนำเรื่องนี้มาเสนอ ผมจึงลดทอนเอาบทเกริ่นนำที่เป็นปรัชญาคำสอนล้วนๆของเต๋า พร้อมด้วยคำอธิบายย่อๆของคุณเกรียงไกรออก เพราะผมเชื่อว่า ทันทีที่มีคนเปิดพบพารากราฟ หนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า หก ของงานชิ้นนี้ ที่เป็นปรัชญาล้วนๆ (แบบเนื้อดิบๆที่ยังไม่ได้ปรุงเป็นอาหาร) ยากที่จะมีคนหยุดอ่าน และถึงแม้ผมจะลดทอนส่วนนั้นออกไป แล้วนำเสนอเพียงแค่นี้ (แต่ก็ยาวเหยียดสำหรับสื่อออนไลน์) ก็สามารถเข้าใจได้อย่างลึกซึ้ง ถ้าคุณอ่านอย่างใคร่ครวญและพินิจพิเคราะห์
เช่นเดียวกับชื่องานที่ชื่อว่า “เครื่องสูบน้ำ” ก็ยากที่จะดึงดูดความสนใจ ผมจึงขออนุญาตคุณเกรียงไกร ทั้งการลดทอนข้อความที่เป็นอุปสรรคต่อการได้รับความสนใจออก และขอใช้ชื่อใหม่จากประโยคแรกในพารากราฟสุดท้ายที่ว่า ขอเพียงเรา...เน้นภารกิจที่เป็นศรัทธาเหล่านี้ มาแทนชื่อเก่า (เครื่องสูบน้ำ) ในการนำมาเสนอเฉพาะในพื้นที่แห่งนี้ เพราะประโยคนี้ ฟังดูโรแมนติก...ชวนให้ติดตามค้นหาความหมายที่อยู่เบื้องหลังถ้อยคำ และเป็นการย้ำว่าหลังจากการเรียนรู้แล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ การลงมือปฏิบัติ นั่นเอง เราจึงจะพบกับพลังการทำงานอันลึกลับของเต๋า
และสุดท้าย ผมขออนุญาตคุณ มาลานชา นำภาพอีกภาพหนึ่งของเธอ ที่ถ่ายโดยฝีมือคุณ Tou Paycheck มาเป็นภาพประกอบเรื่อง ซึ่งก็เป็นภาพที่อยู่ในชุดเดียวกันกับที่ผมนำมาลงในบทความที่ชื่อว่า “ความอ่อนแอ” ที่คุณ Tou ถ่ายในคราวที่คุณมาลานชาไปร่วมอ่านบทกวีชื่อ “เธอ” ของผมในงาน “น้อยแต่พองาม” ของชมรมสถาปนิกล้านนาที่ท่านอาจารย์ ดร.กาญจน์ นทีวุฒิกุล ประธานกรรมาธิการสถาปนิกล้านนา ได้เชิญผมไปเล่นดนตรีและอ่านบทกวีในรูปแบบดังกล่าว เมื่อวันที่ 16 มกราคม 54 ที่คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ สี่แยกกลางเวียงเชียงใหม่
ด้วยเชื่อมั่นว่า ภาพรอยยิ้มอันเบิกบานแลดูเป็นธรรมชาติของเธอในภาพนี้ จะช่วยเบรกรูปแบบงานที่มีเนื้อหาอันหนักอึ้งและจริงจังนี้ให้ผ่อนคลายลง รวมทั้งทำให้คนที่เปิดดูหน้าคอลัมน์แล้วพบภาพที่สวยงามนี้ เกิดความสนใจและหยุดอ่านเรื่องนี้ แม้เพียงแค่...คนสองคน ผมก็ดีใจและพอใจแล้ว ขอบคุณครับ
ปล.สำหรับท่านที่สนใจหนังสือ “อยู่อย่างเต๋า” ของคุณเกรียงไกร เจริญโท เชิญคลิกกลับไปดูรายละเอียดที่หมายเหตุท้ายเรื่องตอนก่อนหน้านี้ได้เลยนะครับ
1 มีนาคม 2554
กระท่อมทุ่งเสี้ยว เชียงใหม่
บล็อกของ ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
บุญญฤทธิ์ ตุลาพันธ์พงศ์นามนี้เป็นที่รู้จักกันมานาน และยังเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในวงการสื่อมวลชนภาคเหนือตอนบน ในฐานะนักหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นอาวุโสของจังหวัดเชียงใหม่ในปัจจุบัน แต่โดยส่วนตัวแล้ว ผมรู้จักเขามานาน ก่อนที่เขาจะเป็นนักหนังสือพิมพ์เสียอีกนั่นคือ รู้จักเขาตั้งแต่เขายังเป็นเด็กหนุ่มเอวบางร่างน้อย จากดินแดนแห่งขุนเขาและม่านหมอกอินทนนท์ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ที่เดินทางจากบ้านเกิดหน้าที่ว่าการอำเภอ ไปบวชเรียนเป็นเณรอยู่ที่วัดธรรมมงคล ถนนสุขุมวิท ต.บางจาก อ.พระโขนง กรุงเทพฯ ภายใต้ร่มเงาพุทธธรรมของท่านอาจารย์วิริยังค์ ซึ่งเป็นพระนักปฏิบัติชื่อเสียงโด่งดัง สายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต…
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
เมื่อคนสองคนหรือผู้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือสังคมใดสังคมหนึ่ง ที่เคยมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ได้เกิดความขัดแย้งกัน ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใด ๆ ก็แล้วแต่ แล้วต่อมา ความขัดแย้งนี้ได้ลุกลามถึงขั้น โกรธ เกลียด และแตกแยกกันเป็นฝักเป็นฝ่าย แล้วต่างฝ่ายต่างก็ตั้งหน้าตั้งตา ดุด่า ใส่ร้ายป้ายสี ทะเลาะวิวาทกัน เพื่อเอาชนะคะคานกัน เพื่อทำลายกันให้พินาศไปข้างหนึ่งเมื่อปรากฏการณ์ที่เลวร้ายนี้ได้เกิดขึ้น แทนการยุยงส่งเสริม หรือเข้าไปร่วมถือหางฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง อย่างที่พวกเรามักจะเป็นกันเพราะมีอคติ รักหรือว่าชอบ-คนนั้นพวกนั้น ผิด ถูก ชั่ว ดี อย่างไร ก็ขอเข้าข้างกันเอาไว้ก่อนแต่เรื่องนี้…
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
ภาพจาก http://gotoknow.org/file/i_am_mana/DSC04644.1.jpg คุณที่รักผมลงมือเขียนต้นฉบับนี้ เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2550 ซึ่งนับจากวันนี้ไปอีก 3-4 วันก็จะถึงวันเลือกตั้ง แต่จนป่านนี้ ผมซึ่งเป็นประชาชนคนหนึ่งของประเทศที่มีสิทธิไปลงคะแนนเสียงให้กับผู้สมัคร ส.ส.ในเขต 2 อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ ยังนึกไม่ออกเลยว่าควรจะใช้สิทธิอันชอบธรรมนี้ไปเลือกใครหรือพรรคใด หรือว่า...ควรจะโนโหวต คือไม่เลือกใครเลยเหตุที่เป็นเช่นนี้ เนื่องจากเป็นเพราะว่า ผมเป็นคนที่หน่อมแน้มในเรื่องการเมืองจริง ๆ จึงไม่สามารถวิเคราะห์และตัดสินด้วยตัวเองได้อย่างเชื่อมั่น ว่าใครหรือพรรคการเมืองใดเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด…
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
ผมเป็นคนที่วิตกกังวลกับทุกสิ่งทุกอย่าง ผมวิตกว่าตัวผมผอมไป วิตกว่าผมจะร่วงจนหมดศีรษะ กลัวไปว่าแต่งงานแล้วจะหาเงินเลี้ยงครอบครัวได้ไม่พอ กลัวว่าจะเป็นพ่อที่ดีของลูก ๆ ไม่ได้ และเพราะเหตุที่ตัวผมเองมีชีวิตไม่ค่อยเป็นสุขนัก ผมจึงวิตกกังวลเกี่ยวกับภาพพจน์ของตัวเองที่ปรากฏต่อคนอื่นเพราะความวิตกกังวล ทำให้ผมเกิดแผลในกระเพาะอาหาร ผมทำงานไม่ไหวอีกต่อไปต้องหยุดงานอยู่กับบ้าน ผมวิตกกังวลมากเกินไปจนเลยขีดขั้นจำกัด คล้ายกับหม้อน้ำเดือดที่ปราศจากวาล์วปิดกั้น จนทำให้ผมต้องเป็นโรคประสาทอย่างหนัก ผมไม่สามารถพูดกับใครได้เลย แม้แต่กับคนในครอบครัวของผมเอง ผมควบคุมความคิดของตัวเองไม่อยู่ และรู้สึกหวาดกลัวไปหมด…
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
โอ้ นางฟ้าของคนยากจากไปแล้วดั่งดวงแก้วตกต้องแผ่นผาจากไปไกลลิบลับไม่กลับมาจากไปแล้วหนา...วนิดา คนดีคนดีของคนยากของแผ่นดินยุคทมิฬ รัฐ บรรษัท ทำบัดสีถืออำนาจอยุติธรรมคอยย่ำยีขยำขยี้คนจนปล้นทรัพยากรสารพัดในนามของความผิดที่เขาคิดมากล่าวหามาถอดถอนเพื่อขับไล่ไสส่งจากดงดอนจากสิงขร จากน้ำฟ้า ป่าบรรพชนด้วยกฎหมายที่เขาตราขึ้นมาเองใช้เป็นเหตุยำเยงทุกแห่งหนที่มาดหมายครอบครองเป็นของตนขับไล่คนเหมือนหมูหมาเหมือนกาไก่เธอจึงเกิดขึ้นมาเพื่อต่อสู้อยุติธรรมแด่ผู้ที่ยากไร้ทั้งชีวิตอุทิศทั้งกายใจควรกราบไหว้ควรเชิดชู ควรบูชาโอ้ นางฟ้าของคนยากจากไปแล้วดั่งดวงแก้วตกต้องแผ่นผาจากไปแล้วคุณคนดี วนิดาต่อแต่นี้น้ำตา...…
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
- สวัสดีครับ- สวัสดีค่ะ- ต้องการพูดกับใครไม่ทราบครับ- ดิฉันต้องการพูดกับ คุณแดนทิวา คนที่เป็นนักเขียนบทกวีค่ะ- ผมกำลังพูดกับคุณอยู่พอดีครับ- โอ๋ ดีจังเลย- เอ...ผมรู้สึกว่า ผมไม่เคยได้ยินน้ำเสียงนี้ทางโทรศัพท์มาก่อนเลยนะ - ถูกต้องค่ะ- ขอโทษนะครับ ไม่ทราบว่าคุณกับผมเคยเป็นคนรู้จักกันมาก่อนหรือเปล่านะ- คุณไม่รู้จักดิฉันหรอกคะ แต่ดิฉันบังเอิญรู้จักคุณจากหนังสือรวมบทกวีเล่มหนึ่งของคุณ ที่ดิฉันได้มาจากร้านขายหนังสือเก่าแห่งหนึ่ง พร้อมกับเบอร์โทรศัพท์และที่อยู่ของคุณค่ะ- (หัวเราะ) แค่นี้เองหรือครับที่คุณรู้จักผม- ค่ะ แค่นี้เองค่ะ
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
คนที่ผ่านโลกและชีวิตมาอย่างโชกโชนถึงขั้นที่เรียกได้ว่า เป็นคนที่เข้าใจมนุษย์ พวกเขามักจะมีคำตอบที่เกี่ยวกับชีวิตอย่างง่าย ๆ สั้น ๆ แต่ลึกซึ้ง ชนิดที่เราฟังแล้ว...บางทีถึงกับสะอึก และต้องจดจำไปจนชั่วชีวิต เพราะมันเป็นคำตอบที่เต็มไปด้วยพลังทะลุทะลวงไปถึงก้นบึ้งของหัวใจวันหนึ่งนานมาแล้วผมขับมอเตอร์ไซค์ออกจากบ้านเข้าเมือง ไปส่งคุณแพรจารุ พูดคุยเรื่องงานกับอาจารย์ท่านหนึ่ง ซึ่งมีบ้านอยู่ในซอยที่ร่มรื่นด้วยแมกไม้หลังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ขณะคุณแพรและอาจารย์เลี่ยงไปคุยกันอีกมุมหนึ่งในห้องรับแขก ผมก็นั่งดูหนังจาก ยูบีซี ที่ท่านอาจารย์เปิดค้างไว้ รู้สึกว่าจะเป็นหนังจากยุโรป เรื่องอะไร…
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
หลังจากที่ จรัล มโนเพ็ชร ศิลปินผู้ยิ่งใหญ่แห่งล้านนาได้จากไป เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2544 ตราบจนกระทั่งถึงวันนี้เป็นเวลา 6 ปีเต็ม ๆ ผมคิดว่านอกจากบทเพลงที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวามากมายหลายชุด ที่เขาทิ้งไว้เป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมอันล้ำค่า ที่ทำให้เราคิดถึงถึงเขา ยามได้ยินบทเพลงของเขา ณ ที่แห่งใดแห่งหนึ่งแล้ว ยังมีสถานที่และผู้คนที่เคยเกี่ยวข้องผูกพันกับชีวิตของเขา บางสถานที่บางบุคคล ที่ทำให้เราคิดถึงเขา ยามได้ไปเยือนสถานที่แห่งนั้น และได้พบใครบางคนดังกล่าว เช่นร้านอาหาร สายหมอกกับดอกไม้ที่ตั้งอยู่ริมถนนเชียงใหม่ 700 ปี หน้าศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ มีใครต่อใครมากมายหลายคนบอกผมเป็นเสียงเดียวกันว่า…
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
ทำไมนะคนเราจึงมักมองเห็นแต่ความผิดพลาดของคนอื่นและชอบกล่าวคำประณามตัดสินลงโทษเขาราวกับว่าตัวเองไม่เคยทำความผิดบาปใด ๆครั้งหนึ่งเมื่อองค์พระคริสต์ทรงเสด็จประทับสอนฝูงชนอยู่ ณ มหาวิหารของกษัตริย์ซาโลมอนราชโอรสของกษัตริย์ดาวิด ผู้ที่มีความชอบเฉพาะพระเจ้าพวกธรรมาจารย์และพวกฟาริซายซึ่งต่อต้านคำสอนของพระองค์ด้วยความเชื่อที่ต่างกันว่า-พระเจ้าของเขาคือการแก้เเค้นตามคำสอนดั้งเดิมของโมเสสณ…
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
ผมมีความเชื่อว่าคนที่เป็นนักปฏิบัติธรรมตามหลักธรรมคำสอนทางพุทธศาสนาบ้านเรา ถ้าหากไม่หลงไปปฏิบัติผิดที่ผิดทาง ท่านคงจะรู้กันดีทุกคนนะครับ ว่าเป้าหมายสูงสุดในการปฏิบัติธรรม คือการปฏิบัติเพื่อลดละและปล่อยวาง ความยึดมั่นถือมั่นว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้ เป็นตัวของเรา – เป็นของของเรา ซึ่งทางพุทธบ้านเราถือว่าเป็นต้นตอรากเหง้าของความทุกข์ทางใจทั้งหลายทั้งปวงส่วนจะเป็นทุกข์มากหรือน้อย ย่อมขึ้นอยู่กับใจของเรา ที่เข้าไปยึดเอาสิ่งนั้นสิ่งนี้เป็นตัวกำหนด พูดง่าย ๆ ก็คือ ถ้าเข้าไปยึดถือมากก็ย่อมเป็นทุกข์มาก ถ้าเข้าไปยึดถือน้อยก็เป็นทุกข์น้อยนั่นเองครับนี่เป็นเรื่องที่เป็นนามธรรมที่เข้าใจได้ยาก…