Skip to main content
 
            ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
 
 
 
 
ผมเคยเข้าใจว่า

             ท่านอาจารย์ธเนศวร์ เจริญเมือง อดีตอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาฯ ในปัจจุบัน เป็นคนแรกที่คิดและเสนอให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ แทนผู้ว่าฯที่ส่งมาจากส่วนกลาง เพราะผมเคยอ่านบทความของอาจารย์ไม่ว่าจะพูดเรื่องอะไร...ในที่สุดก็มักจะวกเข้ามาหาเรื่องนี้อย่างเอาจริงเอาจัง ประมาณว่า ผมนึกถึงอาจารย์ธเนศวร์ทีไร ผมก็จะนึกถึงเรื่องผู้ว่าฯจากการเลือกตั้งขึ้นมาพร้อมๆกัน 
 
            แต่เมื่อผมเข้าไปร่วมสัมมนา “เวทีปฏิบัติการ เพื่อขับเคลื่อนร่าง พ.ร.บ. เชียงใหม่มหานคร” ที่คุณสวิง ตันอุด ผู้อำนวยการวิทยาลัยจัดการสังคมภาคเหนือ คุณชัชวาลย์ ทองดีเลิศ อดีต ผู้อำนวยการ “โฮงเฮียนสืบสานล้านนา” เชียงใหม่ และตัวแทนองค์กรภาคประชาชนระดับผู้นำ 10 กว่าองค์กรร่วมกันจัด ณ ที่ห้องประชุม ภูอิงฟ้ารีสอร์ท ต.โป่งแยง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 30 - 31 พฤษภาคม 2555 เพื่อเตรียมตัวปฏิบัติการขับเคลื่อนนำเรื่องนี้ ที่ค่อยๆพัฒนาอย่างเงียบๆ เหมือนหน่อไม้ที่ค่อยๆเติบโตภายใต้พื้นดิน จนแทงหน้าดินทะลุโผล่ยอดแหลมๆออกมา - เป็นร่าง พ.ร.บ. เพื่อนำไปยื่นเสนอรัฐสภาให้พิจารณา
 
          ในงานนี้เองแหละครับ ที่ผมได้ข้อมูลใหม่ท่านอาจารย์ชำนาญ จันทร์เรือง ซึ่งเป็นผู้ตั้งต้น ร่าง พรบ.ฉบับนี้ และเป็นวิทยากรผู้บรรยายคนสำคัญในขณะบรรยายท้าวความหลังเรื่องนี้ว่า - ผู้ที่เป็นต้นคิดและออกมาพูดเรื่องนี้เป็นคนแรก ซึ่งเป็นเวลานานมาแล้วถึงสามสิบกว่าปี คือ คุณไกรสร ตันติพงศ์ อดีต ส.ส. หลายสมัยของจังหวัดเชียงใหม่ แต่ไม่ได้รับการขานรับจากภาคประชาชน 
 
          ต่อมา ท่านอาจารย์ธเนศวร์ เจริญเมือง จึงได้ลุกขึ้นมาพูดและเสนอให้มีผู้ว่าฯ มาจากการเลือกตั้งเมื่อปี  2533 ซึ่งว่ากันว่า นอกจากเสียงของอาจารย์จะไม่ได้รับการขานรับจากภาคประชาชนแล้ว อาจารย์ยังถูกคัดค้านต่อต้านแบบรุมกินโต๊ะกันอย่างเอร็ดอร่อยจากนักวิชาการทางรัฐศาสตร์ด้วยกันอีก
     
            จึงพอสรุปได้ว่า ณ ห้วงเวลานี้ เรื่องที่เคยแสลงใจใครต่อใครในเรื่องนี้ ได้รับการขานรับแล้วจากภาคประชาชนและแทบทุกภาคในสังคม ด้วยเหตุผลมากมายจากความเปลี่ยนแปลงของสังคม และการเมืองตั้งแต่ปี 2547 มาจนถึงปัจจุบันที่ยังอึมครึมอยู่
 
 
สิ่งที่บ่งบอกก็คือ 
 
       ร่างพรบ.ฉบับนี้ ที่อาจารย์ชำนาญ จันทร์เรือง อาจารย์ผู้สอนกฎหมายจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นผู้ตั้งต้นร่าง พรบ.ฉบับนี้ได้ให้รายละเอียดที่มาของ พรบ.เอาไว้ว่า “ปรับแก้เนื้อหา จากประชาชน นักวิชาการ ข้าราชการ องค์กรปกครองท้องถิ่น ในการประชุมกว่า 40 เวที จากเวทีอำเภอ 25 เวที และจากเวทีการประชุมตรวจการสอบ และการออกแบบที่ประชาชนมีส่วนร่วมอีก 10 กว่าครั้ง” โดยสรุปสาระสำคัญของ ร่าง พรบ.เชียงใหม่มหานคร  เอาไว้ 3 แนวทางด้วยกันคือ
 
      1. ยกเลิกการบริหารราชการส่วนภูมิภาค เหลือเพียงราชการส่วนกลางและราชการท้องถิ่นเต็มพื้นที่ และมีฐานะเป็นนิติบุคคล มีอำนาจในการกำหนดแนวนโยบาย ระเบียบ ข้อบัญญัติ การจัดงบประมาณ การคลัง การจัดการบริหารบุคลากร กลไกโครงสร้างการบริหารงานภายในท้องถิ่น เพื่อการบริหารราชการท้องถิ่นได้ โดยไม่ขัดต่อ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนท้องถิ่นให้ครอบคลุมทุกเรื่อง ยกเว้น 4 เรื่องหลัก คือ การทหาร ระบบเงินตรา การต่างประเทศ และการศาล
 
        โดยแบ่งการปกครองเป็น 2 ระดับ คือ ระดับบน (เชียงใหม่มหานคร) และระดับล่าง (เทศบาล) ทำให้สามารถดูแลครอบคลุมพื้นที่โดยทั้ง 2 ระดับมีการบริหารที่อิสระต่อกัน เป็นลักษณะการแบ่งหน้าที่การทำงานให้ชัดเจน
 
      2. ทำให้การเมืองมีความโปร่งใส มีคุณธรรม จริยธรรม ทำให้ระบบตรวจสอบมีความเข้มแข็ง และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการสร้างดุลภาพ 3 คือ ผู้ว่าราชการเชียงใหม่มหานคร สภาเชียงใหม่มหานคร และสภาพลเมือง
 
        รวมถึงการสนับสนุนให้ประชาชนสามารถใช้อำนาจโดยตรงในการกำหนดทิศทางการพัฒนาตรวจสอบการทำงานของหน่วยงาน ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ทุกระดับ และเข้าถึงการใช้งบประมาณ ผ่านกระบวนการกลไกต่างๆ เช่น สภาพลเมือง การไต่สวนสาธารณะ กรรมาธิการด้านต่างๆ เช่น  การศึกษา เกษตร ซึ่งมีการรับรองการใช้อำนาจ และมีงบประมาณกระบวนการดังกล่าว
 
      3. การปรับโครงสร้างด้านภาษี โดยภาษี โดยภาษีทุกชนิดที่เก็บได้ในพื้นที่จะส่งคืนรัฐบาลส่วนกลางร้อยละ 30 และคงไว้ที่จังหวัดร้อยละ 70
 
      และจากสาระสำคัญของ ร่างพรบ.ทั้ง 3 ประการนี้ ได้แตกรายละเอียดออกไปเป็นมาตราต่างๆ 4 หมวด รวมกันทั้งหมด 157 มาตรา (ที่ผมต้องกลับบ้านมานั่งอ่านจนเกือบป่วย)
     ครับ นี่คือที่มาและภาพรวมทั้งหมดของ ร่าง พรบ. ที่ผมเข้าไปร่วมในงานสัมมนาที่เพิ่งผ่านพ้นไป
 

ส่วนการขับเคลื่อน พรบ.สืบเนื่องต่อจากนี้ไป

 
       เป็นเรื่องของผู้นำองค์กรแต่ละท้องถิ่นจะทำการประชาสัมพันธ์แก่ประชาชนในท้องถิ่นของตนเอง พร้อมกับรวบรวมรายชื่อผู้ร่วมสนับสนุนทุกองค์กรรวมกันไปจนถึงปลายเดือนมิถุนาให้ได้ตามเป้าหมายในขั้นตอนนี้ไม่ต่ำกว่า 10,000 คนหรือ 15,000 คน เพื่อเปิดเวทีประกาศเจตนารมณ์ “เชียงใหม่จัดการตนเอง สู่การขับเคลื่อน พรบ.เชียงใหม่มหานคร” ในวันที่ 24 มิถุนายน 2555 ที่อนุสาวรีย์สามกษัตริย์เพื่อส่งสัญญาณให้รัฐบาลตรียมตัวรับการยื่นรายชื่อผู้สนับสนุน ร่าง พรบ.นี้ในช่วงเวลาระหว่างปลายเดือนกรกฏาถึงต้นเดือนสิงหา
 
        หลังจากยื่นรายชื่อแล้ว พวกเขายังจะจัดงานเกี่ยวกับเรื่องนี้อีกที่อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ติดต่อกันทุกวัน ไปจนถึงเดือนพฤศจิกายนเป็นเวลา 120 วัน (โอ พระเจ้า ผมฟังแล้วตกใจจนหายง่วงเป็นปลิดทิ้ง เพราะคิดไม่ถึงว่าเขาจะเล่นกันหนักถึงขนาดนี้)
 
 
นี่คือ 

         การเริ่มต้นเคลื่อนไหวของพลังการเมืองอันมหึมาอีกแนวทางหนึ่งจากส่วนภูมิภาค ที่ผมยังพบว่าในการรวมกันเป็นองค์ประกอบของพลังนี้ ยังมีกลุ่มคนเสื้อแดงและคนเสื้อเหลืองจำนวนหนึ่ง ที่ก้าวข้ามความขัดแย้งที่เคยมีต่อกันเข้ามาร่วมขับเคลื่อนด้วย 
 
        พร้อมกับการสรุปบทเรียนที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับทุกฝ่ายว่า ปัญหาแทบทุกอย่างในท้องถิ่นรวมทั้งปัญหาการแตกแยกเป็นคนเสื้อเหลือง - เสื้อแดงในสังคมไทย ล้วนแล้วแต่มีรากเหง้าต้นตอมาจากการรวมศูนย์อำนาจการบริหารปกครองไปกระจุกไว้ที่ส่วนกลางมาตั้งแต่สมัยรัชการที่ 5 รวมทั้งความผิดหวังจากรัฐบาลแบบนายทุนที่ต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของทุนที่ชักใยอยู่เบื้องหลังมากกว่าเพื่อชาวบ้านชาวเมืองส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นทุนศักดินาหรือว่าทุนโลกาภิวัตน์ที่ยังคงห้ำหั่นกันไม่รู้จักเลิกรา 
 
      ครับ ก็คงต้องรอดูกันต่อไป ถ้าปัญหา ร่าง พรบ.ปรองดองของรัฐบาลที่ถูกฝ่ายค้าน และกลุ่มพันธมิตรฯ ออกมาคัดค้านแบบเอาเป็นเอาตายในห้วงเวลานี้ ไม่ถูกหยิบขึ้นมาอ้างเป็นเหตุแห่งความชอบธรรมให้ใครสักคนหนึ่ง...ลุกขึ้นมายึดอำนาจให้เสียรังวัดเสียก่อน 
 
       แล้วเราคงจะได้เห็นขบวนการภาคประชาชน “เชียงใหม่จัดการตนเอง สู่การขับเคลื่อน พรบ.เชียงใหม่มหานคร” ขับเคลื่อนไปตามขั้นตอนจนถึงปลายทางที่รัฐสภา ด้วยความระทึกใจ...ในอนาคตอันใกล้นี้.
 
                     *****************************************************************
 
 
หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับ 29 มิ.ย. - 5 ก.ค. 2555
 

 

บล็อกของ ถนอม ไชยวงษ์แก้ว

ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
ชีวิตเอย เหตุใดเล่า เจ้าจึงเศร้าโศกเสียใจร้องไห้คร่ำครวญ ให้กับบางสิ่งที่เจ้าได้สูญเสียมันไป เหมือนนมที่หกออกจากแก้วไปแล้ว...ตกลงบนพื้นดิน วันแล้ววันเล่า ไม่รู้จักจบสิ้น  
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
12 เมษายน 2545 วันครบรอบวันเกิด...ที่แสนจะเจ็บปวด ขณะนั่งรถจักรยานยนต์ออกตรวจพื้นที่กับคู่หู ขับรถผ่านไปทางบ้านพ่อแม่ผู้พัน นายเก่าที่มาหยิบยืมเงินเราแล้วไม่ยอมใช้คืน เมื่อสองสามปีที่แล้ว พอเจอหน้า จอดรถจะเข้าไปถาม นายกลับรีบเดินหนี อนิจจา ! นายเอ๋ยนาย...ดอกไม่ต้องขอเพียงแค่ต้นคืนได้ไหม...
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
  7   ครับ รายละเอียดเรื่องราวของเขา ที่ผมอยากรู้อยากเห็นเหลือเกิน เริ่มปรากฏอยู่ในบันทึกหน้านี้นี่เอง และเมื่อหยิบหน้าคอลัมน์ “ศาลาคลายร้อน” ที่เขาถ่ายสำเนาจากหนังสือนิตยสาร “ชีวิตรัก” มาให้ผม ซึ่งเป็นหน้า คอลัมน์ - ในช่วงที่เขาได้แบกเป้ออกไปตะลอนทัวร์ ช่วยคุณวนัสนันท์ ตามที่เขาตั้งปณิธานเอาไว้ออกมาอ่าน เพื่อทำความรู้จักทั้งคอลัมน์และตัวตนของคุณวนัสนันท์ ที่นำมือแห่งความเมตตาของคุณวรรณและคุณแขคนไทยในต่างประเทศ มาฉุดเขาขึ้นมาตจากขุมนรกอันลึกล้ำดำมืดแห่งหนี้สิน และมือแห่งความเมตตาอีกมากมายที่หลั่งไหลติดตามมา... ผมพบว่าคอลัมน์ “ศาลาคลายร้อน” ของคุณวนัสนันท์…
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
6 หลังจากงานศพของพ่อแล้ว เขาก็เริ่มตกเข้าไปอยู่ในวังวน - ของการหมกมุ่นครุ่นคิด...เป็นทุกข์อยู่กับหนี้สินอีก และพยายามต่อสู้กับตัวเองอย่างถึงที่สุด ระหว่างการคิดทำลายตัวเองตามพ่อไป เพื่อหนีความทุกข์ปัญหาอันหนักหนาสาหัส และการพยายามคิดหาเหตุผลต่างๆนานาที่จะมีชีวิตอยู่อีกต่อไป...
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
30 ตุลาคม 2539 วันนี้ นายเรียกข้าราชการตำรวจทั้งโรงพักมาประชุม เพื่อร่ำลาไปรับตำแหน่งใหม่ เห็นพวงมาลัย...ที่นายดาบหัวหน้าสายแต่ละสาย เตรียมมาให้นายแล้ว ได้แต่นึกเสียดาย... ท่านมากอบโกย...แล้วก็ไป
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
  3. เขากลับกรุงเทพฯไปได้หนึ่งอาทิตย์กว่าๆ ผมก็ได้รับกล่องพัสดุขนาดใหญ่ หนักเกือบสองกิโลกรัมจากเขา เมื่อแกะกล่องออกมา ผมก็พบแฟ้มเก็บต้นฉบับที่เขาถ่ายสำเนามาจากหน้าคอลัมน์ “สะพานบุญ” ที่เขาเคยเขียนในนิตยสาร “ย้อนรอยกรรม”และ จากหน้าคอลัมน์ “ศาลาแรงบุญ” ในนิตยสาร “แรงบุญแรงกรรม” ที่เขาเขียนอยู่ในปัจจุบัน นับรวมกันได้ 60 กว่าเรื่อง หนาประมาณ 200 กว่าหน้ากระดาษ A4 รวมทั้งสำเนาต้นฉบับที่เขาถ่ายจากหน้าคอลัมน์ “ศาลาคลายร้อน” ของคุณวนัสนันท์ จากหนังสือ “ ชีวิตรัก” 15 แผ่น และจากกรอบหน้าคอลัมน์หนังสือพิมพ์รายวันที่เขียนยกย่องชื่นชมเขา 3 - 4 แผ่น
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
 1.  จินตวีร์ เกียงมี หรือที่มีชื่อเต็มยศว่า จ.ส.ต.จินตวีร์ เกียงมี ซึ่งปัจจุบันรับราชการตำรวจ ตำแหน่ง งานธุรการอำนวยการกองวิจัย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ  ที่ใครต่อใครต่างรู้จักกันทั่วไปทั้งประเทศ และเลื่องลือไปถึงเมืองนอกเมืองนาในวันนี้ ในฐานะ จ่าตำรวจใจบุญ ที่แบกเป้เที่ยวตะลอนๆ ไปช่วยเหลือคนที่กำลังตกทุกข์ได้ยาก แทบทุกหนทุกแห่งในประเทศ ที่ส่งเสียงร้องทุกข์โอดโอยมาให้เขาได้ยิน ซึ่งเราได้รับรู้เรื่องราวของเขาจากสื่อต่างๆ  ไม่ว่าจะเป็นสื่อทางวิทยุ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร อินเตอร์เน็ต ฯลฯ และที.วี.แทบทุกช่องที่นำเรื่องราวของเขา มาบอกเล่าแก่สาธารณะชน  
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
 สมัยที่ผมยังทำงานเป็นนักดนตรีประจำร้าน สายหมอกกับดอกไม้ ของคุณอันยา โพธิวัฒน์ คู่ชีวิตของคุณจรัล มโนเพ็ชร ศิลปินผู้ยิ่งใหญ่แห่งล้านนา ผู้ล่วงลับไปแล้ว ก่อนจะออกมาทำงานเขียนและงานเกี่ยวกับหนังสืออย่างเต็มตัวในทุกวันนี้ ผมจำได้อย่างแม่นยำว่า ภายในร้านสายหมอกกับดอกไม้ นอกจากเฟอร์นิเจอร์และเครื่องประดับตกแต่งภายใน ที่ประกอบด้วย โต๊ะ เก้าอี้ ที่เป็นเครื่องไม้ ภาพเขียน รูปปั้น และ ข้าวของเครื่องใช้ ผลงานเพลงของคุณจรัลในตู้โชว์ ตลอดจนรูปภาพของคุณจรัลตามฝาผนังห้องในอิริยาบถต่างๆแล้ว ยังมีกระจกเงาเก่าแก่บานหนึ่ง กว้างประมาณ สองฟุต สูงท่วมหัว ประดับอยู่ตรงมุมห้องโถงด้านขวามือใกล้ๆกับเวทีเล่นดนตรี…
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
  3 กันยายน 2552 ปีนี้ นอกจากจะเป็นวันรำลึกครบรอบการจากไปของ จรัล มโนเพ็ชร ศิลปินผู้ยิ่งใหญ่แห่งล้านนาแล้ว วันนี้ยังมาตรงกับวันจัดงาน " แอ่วสันป่าตอง " ซึ่งเป็นงานของโครงการย้อนยุคอำเภอสันป่าตอง ที่มีเป้าหมายที่จะแนะนำอำเภอสันป่าตองเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม โดยมีสภาวัฒนธรรมอำเภอเป็นตัวหลักในการจัดงาน ร่วมกับองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนอีกมากมายหลายองค์กร ฯลฯ
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
  ก่อนอาทิตย์ตกในไร่ข้าวโพดสีส้มโชติโชนอยู่อีกครู่ใหญ่แผ่ร่มเงาความเวิ้งว้างกว้างออกไปอีกหนึ่งวันกลืนวันวัยในวันนี้
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
  ฉันเอยฉันทลักษณ์ ยากยิ่งนักจะประดิษฐ์มาคิดเขียน เป็นบทกวีงามวิจิตรสนิทเนียน มิผิดเพี้ยนตามกำหนดแห่งกฎเกณฑ์
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
มิ่งมิตร เธอมีสิทธิ์ที่จะล่องแม่น้ำรื่น ที่จะบุกดงดำกลางค่ำคืน ที่จะชื่นใจหลายกับสายลม