Skip to main content


 

3.


เขากลับกรุงเทพฯไปได้หนึ่งอาทิตย์กว่าๆ
ผมก็ได้รับกล่องพัสดุขนาดใหญ่ หนักเกือบสองกิโลกรัมจากเขา เมื่อแกะกล่องออกมา ผมก็พบแฟ้มเก็บต้นฉบับที่เขาถ่ายสำเนามาจากหน้าคอลัมน์ “สะพานบุญ” ที่เขาเคยเขียนในนิตยสาร “ย้อนรอยกรรม”และ จากหน้าคอลัมน์ “ศาลาแรงบุญ” ในนิตยสาร “แรงบุญแรงกรรม” ที่เขาเขียนอยู่ในปัจจุบัน นับรวมกันได้
60 กว่าเรื่อง หนาประมาณ 200 กว่าหน้ากระดาษ A4 รวมทั้งสำเนาต้นฉบับที่เขาถ่ายจากหน้าคอลัมน์ “ศาลาคลายร้อน” ของคุณวนัสนันท์ จากหนังสือ “ ชีวิตรัก” 15 แผ่น และจากกรอบหน้าคอลัมน์หนังสือพิมพ์รายวันที่เขียนยกย่องชื่นชมเขา 3 - 4 แผ่น


ถูกเจาะรูใส่ห่วง อัดแน่นเก็บรวมอยู่ในแฟ้มเดียวกันในกล่องพัสดุ พร้อมด้วยแฮนดี้ไดร์ฟอันเล็กๆเท่านิ้วก้อย - บันทึกต้นฉบับก่อนตีพิมพ์และอื่นๆ ห่อด้วยแผ่นพลาสติกกันกระเทือน 1 อัน และหนังสือรวมงานเขียนจากคอลัมน์ “สะพานบุญ” ที่ทางนิตยสาร “ย้อนรอยกรรม” ได้คัดสรรนำมาตีพิมพ์ขายราคาเล่มละ 100 บาท สมัยที่เขายังเขียนประจำอยู่ที่นั่น โดยใช้ชื่อคอลัมน์เป็นชื่อปก ไม่ระบุ เดือน ปี พ..ที่ตีพิมพ์ 1 เล่ม และหนังสือ 9 คน 9 ความดีเพื่อพ่อ ที่มีเขาและเรื่องราวของเขาเป็น 1 ใน 9 ในหนังสือเล่มนี้ 1 เล่ม


และที่ทำให้ผมยิ้ม.. ก็คือแผ่นพับสีขาวรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้างยาวประมาณนามบัตรขนาดเขื่อง 20 แผ่นพับ ที่พิมพ์ข้อความหน้าแรกเอาไว้ว่า “ยอดพระคาถาชิญบัญชร ผู้ใดสวดบริกรรมอยู่เป็นเนืองนิตย์ ผู้นั้นย่อมบริบูรณ์ด้วยสติ สมาธิ ปัญญา อันเป็นรากฐานแห่งความสำเร็จทั้งปวง”

จากนั้น
ผมก็ค่อยๆแทะเล็มอ่านงานเขียนของเขา ทีละชิ้นสองชิ้น ทั้งจากต้นฉบับถ่ายสำเนาจากนิตยสาร และต้นฉบับก่อนตีพิมพ์ใน แฮนดี้ไดร์ว ที่ถ่ายออกมาเปิดอ่านในจอคอมพิวเตอร์ อ่านอย่างพินิจพิเคราะห์ ทั้งเพื่อคัดสรรออกมาเป็นงานรวมเล่ม และอ่านเพื่อค้นหาสิ่งที่ผมอยากรู้อยากเห็น จนหมดเกลี้ยงภายในสองอาทิตย์
...

ปรากฏว่าได้แต่งานคัดสรรที่มีอยู่เหลือเฟือ พอที่จะรวมเล่มเป็น พ็อคเก็ตบุ๊ค สวยๆสักเล่มหนึ่งให้เขาลิงโลดใจ แต่ส่วนที่จะตอบสนองความอยากรู้อยากเห็นเฉพาะกิจของผม
- กลับหาค้นหาไม่พบ... คงมีแต่ข้อมูลอันแข็งทื่อแบบข้อมูลทางวิชาการที่น่าเบื่อ... ดังที่ผมนำมาเกริ่นกล่าวเอาไว้เบื้องต้น และเป็นคำบอกเล่าซ้ำๆซากๆแบบหนังม้วนเดียวฉายหลายรอบ แทรกเป็นยาดำอยู่ในงานเขียนชิ้นโน้นชิ้นนี้ของเขา เช่นเดียวกับในบทสัมภาษณ์ที่เหมือนๆกันในสื่อต่างๆ เช่น


“...
... จินตวีร์ เกียงมี หรือจ่าจินต์เป็นชาวเพชรบูรณ์ เติบโตมาจากครอบครัวที่ยากไร้ เกิดมาก็เห็นพ่อเป็นอัมพาต นอนอยู่กับที่มา 23 ปีเต็ม จนเสียชีวิต ตอนเด็กๆอยากได้รถเข็นมาให้พ่อนั่งสักคัน ก็ไม่มีปัญญาซื้อ แม้แต่ไปโรงเรียน แม่ยังต้องไปหยิบเงินชาวบ้านมาให้ พอได้ใช้ไปวันๆ ด้วยฐานะที่ยากจน พ่อตายก็ต้องขายปืน เพื่อนำไปทำศพพ่อ หลังจากงานศพของพ่อ จ่าจินต์ก็ประสบปัญหาทางการเงิน มีหนี้สินล้นพ้นท่วมตัวอยู่หลายหมื่นบาท จนเคยคิดฆ่าตัวตาย แต่วันหนึ่งก็ได้ผู้ใจบุญ...ที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน มาช่วยเหลือจนปลดเปลื้องหนี้สินทั้งหมดให้ จ่าจินต์จึงตั้งปณิธานว่า จะขอเดินตามรอยผู้มีพระคุณ คือการทำความดีโดยไม่หวังผลตอบแทน เพื่ออุทิศตนช่วยเหลือคนยากไร้และด้อยโอกาส จึงตัดสินใจขอย้ายตัวเองจาก สภ..บ้านหมี่ จ.ลพบุรี ที่อยู่มานานถึง 7 ปี เข้ามาทำงานที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตำแหน่ง ผบ.หมู่งานอำนวยการ กองวิจัย เพื่อจะได้มีเวลาไปช่วยเหลือผู้คนในวันหยุดเสาร์ - อาทิตย์...”


“...
และจากความตั้งใจริเริ่ม ที่จะช่วยเหลือเฉพาะผู้ที่ป่วยเป็นอัมพาตช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เพราะความหลังฝังใจตอนพ่อตัวเองป่วย แล้วไม่มีใครมาหยิบยื่นความช่วยเหลือ จนกลายความช่วยเหลือแทบทุกกรณีแก่คนทั่วๆไป ตั้งแต่ระดับเฉพาะตัวบุคคล ครอบครัว ไล่ขึ้นไปจนถึงระดับที่เป็นองค์กรใน ดังที่เห็นเป็นอยู่กันในปัจจุบัน...”

 

ทำให้ผมรู้สึกผิดหวัง...
ในสิ่งที่ผมคิดว่ามันควรจะมีอยู่ ในที่ที่มันควรจะมีอยู่ แต่กลับไม่มี ตราบจนกระทั่งถึงวันที่เขาเดินทางขึ้นมาเชียงใหม่อีกครั้งหนึ่ง เมื่อวันที่
13 กุมภาพันธ์ เพื่อมาเที่ยวดูค่ายเยาวชนอนุรักษ์ดอยหลวงเชียงดาว และเดินขึ้นไปดูดอกเสี้ยวบานบนดอยหลวง ตามคำชักชวนของคนข้างเคียงผม ผมจึงขอร่วมเดินทางไปด้วย เมื่อคนข้างเคียงผมบอกว่า เขาได้เตรียมงานเขียนที่เหลือตกค้างทั้งหมดในเครื่องคอมพิวเตอร์ ถ่ายใส่แฮนดี้ไดร์วมาให้ผมอีกชุดหนึ่ง


หลังจากเดินทางไปพบปะ และเที่ยวสนุกสนานเฮฮาด้วยกันสองวันสองคืน และเดินทางออกจากอำเภอเชียงดาวกลับเข้าตัวเมืองเชียงใหม่ มาแยกทางกันที่คิวรถช้างเผือก ตอนหัวค่ำวันที่ 16 เขาเดินทางกลับกรุงเทพ ผมเดินทางกลับบ้านอำเภอสันป่าตอง...


สองวันถัดมา หลังจากนอนพักผ่อนจนหายเหนื่อย ผมรีบถ่ายงานชุดสุดท้ายของเขา ที่มีอยู่ไม่กี่ชิ้นจากแฮนดี้ไดร์ว ออกมาคลิกอ่านปราดๆในจอคอมพิวเตอร์จนหมด ก็ยังไม่พบสิ่งที่ผมอยากรู้อยากเห็นเช่นเดิม...

จวนเจียนที่ผมกำลังจะสิ้นหวัง
โดยมิได้ตั้งใจ ผมย้อนกลับไปเปิดงานชุดแรกที่เขาส่งมาให้ผมในคอมพิวเตอร์ ผมพบว่ายังมีแฟ้มงานจิปาถะอีกหลายแฟ้ม นอกเหนือจากแฟ้มงานเขียนคอลัมน์ที่ผมหวังจะพบเรื่องราวที่ผมต้องการ
- รวมอยู่ด้วย เป็นเพราะเขาขี้เกียจจะคัดออก หรือเป็นเพราะอะไรก็ไม่ทราบ เขาจึงปล่อยแฟ้มงานจิปาถะทั้งหลายแหล่ ติดสอยห้อยตามมากับแฟ้มงานเขียนคอลัมน์ถ่ายใส่ แฮนดี้ไดร์วมาให้ผม - แบบเทครัวมาให้ จนผมนึกขำ...

แต่ผมก็ไม่ได้สนใจ เปิดอ่านแฟ้มจิปาถะเหล่านั้นอย่างจริงจัง ผมจึงกลับไปเปิดเช็คอ่านแฟ้มแต่ละหัวข้ออีกครั้งหนึ่ง - แบบผ่านๆอย่างช้าๆ โดยไม่ได้นึกมุ่งหวังอะไร แล้วผมก็ไปสะดุด...เอากับแฟ้มที่หลงหูหลงตาผม ตอนเปิดดูแบบผ่านๆครั้งแรกที่มีชื่อว่า “บันทึกสีกากี”


ซึ่งเป็นบันทึกประจำวันของเขา ตั้งแต่ปี พ.. 2537 - 2551 ที่เขาบันทึกเหตุการณ์ที่สำคัญในชีวิต แบบวันเว้นวัน ตั้งแต่วันแรกที่เขาเรียนจบหลักสูตรโรงเรียนพลตำรวจที่เขาหนองยาว จังหวัดสระบุรี จบแล้วฝึกงาน 1 ปี ก่อนจะได้รับการบรรจุลงทำงานครั้งแรกที่ สภ..บ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2538 เป็นต้นมา นับได้ 140 กว่าหน้ากระดาษ A4 แล้วผมก็ได้พบ - สิ่งที่ผมอยากรู้อยากเห็นทั้งหมดอยู่ในแฟ้ม “บันทึกสีกากี” ของเขานี่เอง!

 


4.


จาก “บันทึกสีกากี” ของเขา
ที่มีลักษณะการเขียนบันทึก แบบคนพูดกับตัวเองภายใน เหมือนมีคนสองคนอยู่ในตัวตนของเขา หรือบางทีก็มีคนอื่นๆที่เขาชักนำมาพูดด้วยในบันทึก โดยที่เจ้าตัวเขาไม่รับรู้อะไร
...

ซึ่งลักษณะการพูดกับตัวเองภายใน หรือท่องเที่ยวเข้าไปสำรวจโลกภายในของตัวเอง
- เช่นนี้ มักจะปรากฏอยู่ในงานเขียนวรรณกรรมสากล ที่ผมเคยอ่านมามากมายหลายเรื่อง เช่นการพูดกับตัวเองภายในของตัวละครตัวเอกในนวนิยายเรื่อง “คนนอก” และ “มนุษย์สองหน้า” ของอัลแบร์ กามูส์ เรื่อง “ คนรักจากโคลอง” ของมาเกอร์ริต ดูราส “รักของผู้ยากไร้” ของฟีโอดอร์ ดอสโตเยฟสกี และในงานเขียนรวมเรื่องสั้น “บันทึกของคนบ้า” ของนิโคโล โกโกล รวมทั้งเรื่องสั้นอันน่าพิศวงบางเรื่อง ของฟรันซ์ คาฟคา ฯลฯ


ที่เพิ่งปรากฏในบ้านเราอย่างเด่นชัด ก็คือนวนิยายเล่มมหึมาที่มีชื่อว่า “เงาสีขาว” ของแดนอรัญ แสงทอง ที่พลาดรางวัลซีไรท์เมื่อหลายปีก่อน เพราะถูกมองว่าเต็มไปด้วยเรื่องราวหมกมุ่นทางเพศและคำสบถ...


แต่เมื่อถูกนำไปแปลเป็นภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส ร่ำลือกันในแวดวงคนวรรณกรรมหัวก้าวว่า หนังสือเล่มนี้ และเรื่องสั้นขนาดยาวอีกสอง - สามเรื่องของผู้เขียนคนเดียวกัน ซึ่งมิอาจเติบโตได้ในวงวรรณกรรมในบ้านเรา ที่ยังติดอยู่ในกรอบจริยธรรมแบบจารีตนิยมที่ล้าหลัง และสวนทางกับความเป็นจริงของสังคมยุคใหม่...ในยุคปัจจุบัน กลับกลายเป็นหนังสืออ่านนอกเวลา ที่นักศึกษามหาวิทยาลัยในอเมริกาและยุโรป เขาชื่นชมกัน...

 

ขออภัย - ที่ผมเลยเถิดออกนอกเรื่องไปหน่อยเอาล่ะ กลับเข้ามาหาเรื่องของจ่าจินต์กันดีกว่า ผมจะขอตัดต่อเอาเฉพาะบันทึก - ที่เป็นเรื่องที่ผมอยากรู้อยากเห็นของเขา ให้เป็นผู้เล่าเรื่องนี้มาถ่ายทอดต่อให้คุณอ่าน ควบคู่กับการวิเคราะห์ข้อเท็จจริงจากตัวผม ตั้งแต่วันแรกที่เขาเริ่มสร้างหนี้ก้อนใหญ่ให้แก่ตัวเอง และมีคนอื่นมาช่วยซ้ำเติม...สร้างหนี้เพิ่มให้เขา จนกลายเป็นหนี้ก้อนที่ใหญ่ยิ่ง ซึ่งกดดันและโถมทับเขา...จนเกินกำลังเขาจะรับไหว และหวุดหวิดเกือบจะใช้ปืนระเบิดสมองตัวเอง ตัดต่อและเชื่อมโยงไปจนถึงผู้ที่ช่วยปลดเปลื้องหนี้สินให้เขา และทำให้เขาชีวิตเขาพลิกผัน...กลายเป็นบุคคลที่ใครต่อใครชื่นชมและยกย่องในวันนี้ ด้วยรายละเอียด - ดังต่อไปนี้  
 

4 กรกฎาคม 2538

แล้วหนี้ก้อนแรกก็เริ่มขึ้น เป็นหนี้ก้อนใหญ่ จากการกู้เงินสหกรณ์ตำรวจ ได้มา 70,000 ( เจ็ดหมื่นบาทถ้วน ) ได้เงินแล้วนำไปจ่ายหนี้พี่สาว ที่กู้มาให้เรายืมดาวน์รถจักรยานยนต์ สองหมื่นห้าพันบาท เหลืออยู่สามหมื่นกว่าบาท เดินทางกลับบ้านที่เพชรบูรณ์ ฝันเอาไว้มานานแล้วว่า อยากมีที.วี.สีให้พ่อสักเครื่อง อยากมีเตาแก็ส อยากมีตู้เย็นสักเครื่องให้แม่

 

อือ...สามหมื่นกว่าบาทนี่...ยังได้ตู้กับข้าวและตู้โชว์อีกหลัง ซื้อจนหนำใจแล้ว จึงเหมารถที่ตัวอำเภอให้ขนไปส่งที่บ้าน เห็นพ่อนอนยิ้มน้อยๆ แค่นี้ผมก็สุขแล้วแหละครับพ่อ แม่นะไม่ต้องพูดถึง บอกว่ามันเปลือง แต่ต่อมากลับบ้านทีไร เห็นมีแต่แม่นั่งหน้าจอที.วี.ทุกที

 

มีคนพูดว่า เมื่อเรากู้งวดแรก แล้วเราก็จะกู้มันจนจบวัฏจักรของวงการสีกากี ก็คงจะจริง เพราะมันไม่มีทางออก เหมือนเราถูกสาปมาแล้วกระมัง...

 

ครับ นี่คือรายละเอียดการเริ่มต้นสร้างหนี้ก้อนใหญ่ก้อนแรกของเขา - กับสหกรณ์ตำรวจ ที่ต้องชดใช้ด้วยการถูกหักดอกเบี้ยจากเงินเดือนทุกเดือน และปลายปีถัดมา เขาก็เริ่มประสบกับความเดือดร้อน เมื่อตำรวจรุ่นพี่ของเขาคนหนึ่ง...ที่กู้เงินสหกรณ์ไปซื้อรถยนต์ และเขาเป็นผู้ค้ำประกันได้ไปยิงคนตายในบ่อน แล้วหนีไป ทิ้งให้เขารับภาระชดใช้แทน เพราะไปขอพึ่งภรรยาและพ่อแม่ของผู้กู้ยืม ทุกคนต่างพากันบอกปัดความรับผิดชอบ ให้เขาต้องตกเป็นผู้รับกรรม เขาบันทึกเรื่องนี้เอาไว้ว่า


29 ตุลาคม 2539

 

ไปคุยกับแฟนพี่เขา ที่ทำงานที่ว่าการอำเภอ ขอให้ส่งเงินที่พี่เขากู้ไปซื้อรถยนต์ที่เราเป็นคนค้ำประกันกับสหกรณ์ พี่บอกว่าเห็นใจแต่ไม่รู้จะช่วยยังไง พี่...เขาไม่ได้ติดต่อมาเลย...จงรับกรรมต่อไปเถอะ หวังพึ่งเมียเขาช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบา แต่เมียเขากลับพูดตัดบทแบบไม่มีมีเยื่อใยอย่างนี้ ก็คงไม่ได้อะไรจากเขาเสียแล้วล่ะตู...

จากนั้น นั่งรถไปตัวเมืองลพบุรีกับเพื่อนตำรวจ ตั้งใจจะไปพูดขอความเห็นใจจากพ่อแม่เขา ว่าเราต้องส่งทั้งเงินสหกรณ์ที่เรากู้ ส่งค่างวดรถจักรยานยนต์ และส่งให้พ่อซื้อยาที่เพชรบูรณ์ แต่พอไปถึง ไอ้ที่เตรียมท่องๆไว้ลืมไปได้เลย เมื่อเขาบอกปัดคำเดียวว่า ไม่มีปัญญาหาให้หรอกคู้ณ!

เซ็งชีวิตชิบหายเลยตู... ยังไม่รู้เลยว่า สิ้นเดือนจะบริหารเงินเดือนอันน้อยนิดนี้อย่างไร ข่าวคราวฆ่าตัวตายในหน้าหนังสือพิมพ์ที่พบออกบ่อยๆ น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดของชีวิตกระมัง ทั้งโดนหักอยู่ก่อนแล้ว เดือนนี้เสือกมาโดนของพี่ทบเข้าไปอีก ติดลบเลยมึง... สมน้ำหน้า!

เรื่องนี้ทำให้เขาเป็นเริ่มทุกข์มาก เขาได้บันทึกความรู้สึกนึกคิดนี้เอาไว้ในวันประชุมส่งเจ้านายคนหนึ่งไปรับตำแหน่งใหม่ บันทึกหน้านี้ ยังสะท้อนให้เห็นด้วยว่า เขาเป็นตำรวจแบบไหนและมีจุดยืนอย่างไร ซึ่งเป็นผลทำให้ชีวิตอาชีพตำรวจของเขาค่อนข้างลำบาก และยากจะก้าวหน้าในงานอาชีพประจำ ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และในอนาคต...


18
มิ.. - 15 .. 2552
กระท่อมทุ่งเสี้ยว เชียงใหม่

 

 

 

 

บล็อกของ ถนอม ไชยวงษ์แก้ว

ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว  
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
แด่...คนเล็กๆทุกๆคนในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นคนเสื้อแดง คนเสื้อเหลือง ฯลฯ หรือมิได้เป็นคนเสื้อสีใดๆ ที่ตกเป็นเหยื่อกฎหมายหมิ่นฯ ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยอำนาจพิเศษกับคนเล็กๆ ที่ขาดอำนาจต่อรองที่เข้มแข็งในการปกป้องและต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมให้แก่ตนเอง และไม่มีใครสามารถที่จะช่วยเหลือพวกเขาได้ แม้แต่รัฐบาลที่พวกเขาหลายคนได้เลือกเข้าไป นั่งอยู่ในรัฐสภา.
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
พุทธภาษิตที่กล่าวว่า “ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม” และ “อำนาจย่อมเป็นใหญ่ในโลก” ประการแรกยังน่าสงสัยว่าเป็นความจริงโดยหรือไม่ แต่ประการที่สองที่กล่าวว่า อำนาจย่อมเป็นใหญ่ในโลก เป็นความจริงตามพุทธภาษิตได้กล่าวเอาไว้อย่างแน่แท้
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
อำนาจ ไม่ว่าอำนาจนั้น จะเป็นอำนาจที่ชอบธรรมหรือไม่ ตราบใดที่อำนาจนั้นยังมีอำนาจอยู่ อำนาจนั้น ย่อมมีอำนาจในการบังคับผู้อยู่ภายใต้อำนาจ ให้เชื่อฟังและปฏิบัติตาม
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
ยามเช้า โอ้ ยามเช้าอันมืดมนของข้า ยามเช้าที่ข้ามองไม่เห็นหนทางใดๆ ที่จะนำชีวิตลุล่วงผ่านพ้นวันนี้ไปได้ เพราะข้าได้ใช้ตัวช่วยชีวิตทุกตัว