Skip to main content

  

สมัยที่ผมยังทำงานเป็นนักดนตรี
ประจำร้าน สายหมอกกับดอกไม้ ของคุณอันยา โพธิวัฒน์ คู่ชีวิตของคุณจรัล มโนเพ็ชร ศิลปินผู้ยิ่งใหญ่แห่งล้านนา ผู้ล่วงลับไปแล้ว ก่อนจะออกมาทำงานเขียนและงานเกี่ยวกับหนังสืออย่างเต็มตัวในทุกวันนี้ ผมจำได้อย่างแม่นยำว่า ภายในร้านสายหมอกกับดอกไม้ นอกจากเฟอร์นิเจอร์และเครื่องประดับตกแต่งภายใน ที่ประกอบด้วย โต๊ะ เก้าอี้ ที่เป็นเครื่องไม้ ภาพเขียน รูปปั้น และ ข้าวของเครื่องใช้ ผลงานเพลงของคุณจรัลในตู้โชว์ ตลอดจนรูปภาพของคุณจรัลตามฝาผนังห้องในอิริยาบถต่างๆแล้ว ยังมีกระจกเงาเก่าแก่บานหนึ่ง กว้างประมาณ สองฟุต สูงท่วมหัว ประดับอยู่ตรงมุมห้องโถงด้านขวามือใกล้ๆกับเวทีเล่นดนตรี ตรงขอบกระจกจากด้านบนลงมา เขียนเป็นลายเครือเถาดอกไม้อะไรสักอย่าง ที่เขียนด้วยสีน้ำมัน ล้อมกรอบบทกวี ที่เขียนด้วยสีน้ำมันเช่นกัน มีข้อความรจนาเอาไว้ว่า...

\\/--break--\>

อยู่เดียวมิควรเหม่อพิงระเบียง

วสันตทัศน์ปลิดโปรย

สายน้ำขุนเขามิรู้สิ้น

ยามจากแสนง่าย พบนั้นยาก

น้ำไหล มาลีโรย วสันต์จากแล้วหนอ

ไปสู่ฟากฟ้าหรือแดนดิน

 

ถ้าหากจำไม่ผิด ดูเหมือนข้างล่างบทกวี เขาจะเขียนกำกับเอาไว้ว่า นิรนาม และไม่แน่ใจ ว่าตัวเอง เคยถามคุณอันยาเจ้าของร้านหรือเปล่า ว่ากระจกนี้ท่านได้แต่ใดมา และนิรนามผู้เขียนกวีบทนี้คือใคร ทำไม - จึงสามารถเขียนบทกวี ที่ผมได้อ่านแล้ว ชวนให้ตระหนักถึงความเป็นอนิจจังของชีวิต และผ่อนคลายความยึดมั่นถือในสิ่งต่างๆของชีวิต ซึ่งเป็นต้นตอของความทุกข์...สารพัดความทุกข์ ได้ลงมิใช่น้อย และได้คำตอบว่าอย่างไร เพราะผมจำความหลังได้เพียงแค่นี้...

 

แต่ที่แน่ๆคนที่เคยเขียนกวี และอ่านบทกวีมามากมายทั้งของไทยและต่างประเทศอย่างผม สามารถฟันธงได้เลยว่า บทกวีบทนี้เป็นบทกวีจีนโบราณ ที่มีลักษณะเด่นจนกลายเป็นขนบในการเขียนบทกวีจีนสืบเนื่องติดต่อกันมาแทบทุกยุคทุกสมัย นั่นคือ จะต้องมีฉาก หรือบรรยากาศของธรรมชาติ เช่น แม่น้ำ ขุนเขา ท้องฟ้า ดอกไม้ ฤดูกาล ฯลฯ เป็นองค์ประกอบสำคัญ

 

 

จนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้

ผมได้อ่านหนังสือ "เดียวดายใต้เงาจันทร์" ของ โกวเล้ง นักเขียนนวนิยายกำลังภายในชาวฮ่องกง ผู้โด่งดังในยุทธจักรของนวนิยายกำลังภายใน ที่นักอ่านบ้านเรา รู้จักกันเป็นอย่างดีจากผลงานเขียนที่ชื่อว่า ฤทธิ์มีดสั้น อันยอดเยี่ยมของเขา ผมจึงได้รู้จักนามของผู้เขียน และความเป็นมาของกวีบทนี้โดยละเอียด จากหนังสือเล่มนี้ ซึ่งแปลโดย คุณเรืองรอง รุ่งรัศมี ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับงานและชีวิตของโกวเล้ง ที่นิยามหนังสือในเชิงบทความกวีของโกวเล้งเล่มนี้เอาไว้ว่า "ปรัชญานิพนธ์ของคนเข้าถึงแก่นแท้ของชีวิต" เพราะ โกวเล้ง ได้เขียนถึงผู้เขียนกวีบทนี้ และความเป็นมาของกวีบทนี้ใน "เดียวดายใต้เงาจันทร์" บทที่ชื่อว่า "คนอาภัพ" เอาไว้ดังนี้

 

1.

คนเป็นอันมากต่างคิดว่า ฟ้าไม่น่าจะให้ หลี่โฮ่วจู่ เกิดมาในฐานะของขัตติยราช

เฉิงเหมยกง แห่งราชวงศ์หมิง เคยวิจารณ์ถึงกรณีนี้ว่า

" ฟ้าไยมิให้ หลี่โฮ่วจู่ เกิดมาในฐานะของบัณฑิต แต่จำเพาะให้ต้องมาเกิดเป็นขัตติยราช"

ผู้คนส่วนมากเมื่อได้อ่านแล้ว ต่างก็ถอนใจรันทดด้วยความเสียดาย...

ต่างรู้สึกว่า การที่เขาเกิดมาเป็นขัตติยราชกษัตริย์นั้น เป็นเรื่องอาภัพ

 

2.

การสร้างสรรค์งานของศิลปินคนหนึ่ง ไม่เพียงจะมีส่วนสัมพันธ์กับบุคลิก ภูมิปัญญา และการศึกษาของเขาจะสัมพันธ์ลึกซึ้ง ยิ่งกว่าประสบการณ์ทั้งทางกายและทางจิตใจของเขา โดยเฉพาะต่อนักประพันธ์ด้วยแล้ว เขามักจะนำความรู้สึกในใจสรรสร้างเป็นตัวหนังสือ หากท่านมิมีประสบการณ์ทางอารมณ์เช่นนั้น ท่านจะเขียนถึงจินตนาการภาวะนั้นได้อย่างไร

 

หลี่ไป๋ มีความสามารถถึงแปดโต่ มักทำตัวตามสบายด้วยความเป็นตัวของตัวเอง ไม่เพียงเป็นนักดื่ม หากยังเป็นจอมยุทธ ดังนั้นบทกวีที่เขาเขียนขึ้น จึงประดุจอาชาสวรรค์เผ่นโผนอยู่บนฟากฟ้า อีกทั้งดังประดุจสายน้ำแห่งแม่น้ำฮว๋างเหอ กลิ่นสุราหอมฟุ้งกำจาย ลึกซึ้งคมคาย

 

ตู้ฟู่ เป็นคนที่สุขุม และยั้งคิดมากกว่า แม้เขาจะเป็นนักดื่มเช่นกัน แต่จินตภาพในบทกวีของเขา มักจะหยุดในอาการเคลิ้มเมา ความแตกต่างของกวีทั้งสองท่านนี้ แน่นอนว่า ย่อมสัมพันธ์อย่างแนบแน่น กับชาติกำเนิดและประสบการณ์ชีวิตของพวกเขาเป็นอย่างมาก

 

3.

หลี่โฮ่วจู่ ใช้ชีวิตอยู่ในพระราชวัง อยู่ในสวนดอกไม้และตำหนักนางสนม มีชีวิตอยู่ท่ามกลางเสียงนกขับขานเคล้าคู่ ความสำราญในช่วงเยาว์วัย คงจะมากเสียจนเกินกว่าคนภายนอกราชวังจะสามารถบรรยาย แต่ว่ายังไม่ทันจะสู่วัยกลางคน ประเทศชาติกลับล่มสลายเสียแล้ว จึงจำจักต้อง "เช็ดน้ำตาอาลัยนางด้วยอาวรณ์" ประสบการณ์ชีวิตเหล่านี้ จะมีใครสักกี่คนในโลกนี้ ที่สัมผัสเข้าใจได้

 

ถ้าหากว่าเขาไม่ได้เกิดมาในฐานะ "ขัตติยราช" หากเป็นเพียง "บัณฑิต" สามัญชนคนหนึ่ง เขาจะเขียนกวีวรรคที่ว่า

"ในฝันมิรู้ตนคืออาคันตุกะ ละโมบในความรื่นรมย์อยู่เสมอมา" ได้หรือ

...เขาจะเขียนว่า "น้ำไหล มาลีโรย วสันต์จากแล้วหนอ ไปสู่ฟากฟ้าหรือแดนดิน" ได้อย่างไร

 

ครับ

นี่คือ เรื่องราวที่มาที่ไปของผู้เขียนบทกวีบทนี้ ที่มีฐานันดรเป็นถึงขัตติยกษัตริย์ - ระดับจักพรรดิ์ ที่ผมพบในร้าน สายหมอกกับดอกไม้ ซึ่งคุณเรืองรองผู้แปล ได้ให้ประวัติย่อ..ท้ายบทความเอาไว้อีกส่วนหนึ่งว่า

" หลี่โฮ่วจู่ : ( หลี่อวี้, ค.ศ. 937 - 978 ) จักรพรรดิองค์สุดท้ายของราชวงศ์หนานถาง เป็นเจ้าแห่งร้อยกรองประเภทฉือ ช่วงต้นของชีวิตทรงพระสำราญ ไม่สนพระทัยราชการบ้านเมือง หลังจากขึ้นครองราชย์ได้สิบหกปี ราชวงศ์หนานถางก็ถึงกาลสิ้นสุด เมื่อ ซึงไท่จง ปฐมจักรพรรดิราชวงศ์ซ้อง ยกกำลังเข้ามาล้มล้าง และจับตัวเป็นเชลย กวีบทนี้มีชื่อว่า "ลำนำคลื่นกระทบหาดทราย" ฉบับสมบูรณ์ มีข้อความทั้งหมด ดังนี้

 

นอกม่านพิรุณพรำพร่าง

วสันตทัศน์ปลิดโปรย

ห่มผ้าเกินฝืนหนาวยามห้า

ในฝันมิรู้ตนคืออาคันตุกะ

ละโมบในความรื่นรมย์อยู่เสมอมา

ยามจากแสนง่าย พบนั้นยาก

น้ำไหล มาลีโรย วสันต์จากแล้วหนอ

ไปสู่ฟากฟ้าหรือแดนใด.

 

 

ครับ เนื่องจากปีนี้ ผมไม่ได้เขียนบทกวีรำลึกถึงคุณจรัล มโนเพ็ชร เนื่องในวันครบรอบการจากไปของคุณจรัลในวันที่ 3 กันยาที่ผ่านไป เหมือนปีที่ผ่านๆมา จึงขอนำเรื่องในสถานที่ที่คุณจรัลและคุณอันยาเคยใช้ชีวิตร่วมกันมานำเสนอ ส่วนเรื่องที่คุณอันยาไม่สบายใจ ที่ผมได้รับรู้ จากการไปร่วมงานรำลึกถึงคุณจรัล ที่คุณอันยาเลื่อนเวลา และย้ายงานจากร้านสายหมอก และย่องานให้เล็กลง ไปจัดที่บ้านดวงดอกไม้ ตำบลประตูป่า ริมทุ่งหลวง จังหวัดลำพูน ในปีนี้ ร่วมกับมิตรสหายไม่กี่สิบคน ในวันที่ 5 กันยา กรณี ที่มีคนเขาตั้งประเด็นกันขึ้นมาว่า คุณจรัล มโนเพ็ชร อาจจะเป็นคนไม่มีอุดมการณ์อะไรเลยก็ได้...

 

อย่าเก็บมาคิดอะไรให้เสียอารมณ์เลยครับ ผมว่ามันเป็นธรรมดาของคนที่มีชื่อเสียงโด่งดัง ที่ต้องถูกพูดถึงทั้งในแง่ลบและแง่บวก เพราะเราไม่สามารถจะไปห้ามคนเขาไม่ให้พูด - ได้หรอกครับ ถ้าหากเขาเป็นคนมีชื่อเสียง เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป โดยเฉพาะในแง่ลบนี่...ต้องทำใจนะครับ เพราะคนบางคน บางพวกบางกลุ่ม เขาอาจจะชอบขุดคุ้ยและเสพ - เรื่องที่เป็นความเสียหายของคนอื่น...เป็นอาหาร ทั้งที่โดยเจตนาและไม่มีเจตนา คุณต้องทำใจครับ...

 

เพราะแม้แต่ผม

ที่เพิ่งมีชื่อเสียงในระดับท้องถิ่น เพราะได้รับรางวัลบุคคลผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม สาขาวรรณศิลป์ของอำเภอ ( มีคนล้อเลียนผมอย่างขำๆว่า ได้ซีไรท์ ของอำเภอ ) เมื่อสองสามวันก่อน ยังไม่ทันได้ฉลอง ตามมติที่ขัดขืนไม่ได้ของมิตรสหายและพี่ๆน้องๆ...

 

ครับ

เพียงแค่นี้ ก็ยังอุตส่าห์มีคน ที่เขาเคยเห็นแต่ผม - เล่นดนตรีตามร้านอาหารและร้านขายเหล้า พากันตั้งข้อสงสัยมาเข้าหูผมว่า ไอ้ผมยาว - ที่เคยเล่นดนตรีตามสถานที่อโคจร ที่คนดีๆเขาไม่เข้ากัน ปีแล้วปีเล่า ราวกะสัมภเวสี ที่หาที่ผุดที่เกิดไม่ได้ มันเสือก...ไปได้รางวัลอะไรกับเขาได้ยังไงว่ะ แล้วก็ติดตามมา...ด้วยการสรรหาเรื่องที่ไม่ดีของผมไปเมาธ์กัน จนผมเหวอะหวะ...ไปหมด เพื่อสนับสนุนความเชื่อของตัวเอง ที่เขามองกันว่าเป็นคนเลวและบ้า...ในสายตาของเขา จนคนที่เขารู้จักผม ทนไม่ไหวมาบอกผม เป็นโจทก์ใหม่โดยตรงของผมในขณะนี้ ถ้าทำใจไม่ได้...ก็ไม่รู้จะทำอย่างไรดี เพราะปาก...ของคนอื่น เราห้ามเขาไม่ได้หรอกครับ โดยเฉพาะคนที่เป็นคน...แต่มีปากเป็นหมา และชอบกัดคนลับหลัง ต้องทำใจครับ...

 

เพราะนี่คือเรื่องธรรมดาๆ

ในโลกของความเป็นจริง ที่เราจำเป็นจะต้องเผชิญกับมัน เอาชนะมัน และผ่านสันดอนร้ายๆนี้ไปให้จงได้ ด้วยการวางเฉย... เพราะหาไม่เช่นนั้น เราคงจะมีชีวิตอยู่...ในโลกที่มีทั้งเรื่องที่ดีงามและเรื่องที่เลวร้าย ผลัดเปลี่ยนกันเข้ามาในชีวิต - ด้วยความยากลำบาก และเป็นทุกข์กับมันไม่รู้จบ ถ้าหากเราเผลอตัว กระโดดลงไปเต้น..กับมันทุกเรื่อง เพราะโทสะจริต หรือเพราะอะไรก็แล้วแต่...

 

ขอบคุณมากๆครับ

สำหรับหนังสือ ตำนานเสาไห้ ของแดนอรัญ แสงทอง บันทึกของเสียงใบไม้ร่วง ของ 10 เดซิเบล ที่คุณหมูให้มา รวมทั้ง รักและคิดถึง จรัล มโนเพ็ชร ที่ผมหยิบมา 3 เล่ม และขออภัยที่ไม่ได้บอกลาในคืนนั้น เพราะมัวเพลินเล่นกีตาร์และร้องเพลงกับพวกสาวๆ จนเกือบลืมไปว่า จะต้องไปดูแลน้องชาย ที่เป็นโรคจิตประสาทซึมเศร้าอย่างแรง ที่โรงพยาบาลสวนปรุงวันถัดมา พอนึกออกก็เลยรีบร้อน จนลืมบอกลาเจ้าของงาน และทำของหล่นหายระหว่างทางไปหลายชิ้น บางชิ้นมีค่า...ทำให้ผมนึกเสียดายยังไม่หาย เฮ้อ... ความรีบร้อนนี่...ไม่ดีเลยนะ หวังว่าดอกเบญจมาศสีเหลืองสดใสสิบกว่าดอก ที่ผมห่อกระดาษหนังสือพิมพ์ไปฝาก คงจะบานชื่นตาชื่นใจไปอีกหลายวันนะครับ - สวัสดี.

 

7 กันยายน 2552

กระท่อม ทุ่งเสี้ยว เชียงใหม่

 

 

บล็อกของ ถนอม ไชยวงษ์แก้ว

ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว  
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
แด่...คนเล็กๆทุกๆคนในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นคนเสื้อแดง คนเสื้อเหลือง ฯลฯ หรือมิได้เป็นคนเสื้อสีใดๆ ที่ตกเป็นเหยื่อกฎหมายหมิ่นฯ ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยอำนาจพิเศษกับคนเล็กๆ ที่ขาดอำนาจต่อรองที่เข้มแข็งในการปกป้องและต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมให้แก่ตนเอง และไม่มีใครสามารถที่จะช่วยเหลือพวกเขาได้ แม้แต่รัฐบาลที่พวกเขาหลายคนได้เลือกเข้าไป นั่งอยู่ในรัฐสภา.
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
พุทธภาษิตที่กล่าวว่า “ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม” และ “อำนาจย่อมเป็นใหญ่ในโลก” ประการแรกยังน่าสงสัยว่าเป็นความจริงโดยหรือไม่ แต่ประการที่สองที่กล่าวว่า อำนาจย่อมเป็นใหญ่ในโลก เป็นความจริงตามพุทธภาษิตได้กล่าวเอาไว้อย่างแน่แท้
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
อำนาจ ไม่ว่าอำนาจนั้น จะเป็นอำนาจที่ชอบธรรมหรือไม่ ตราบใดที่อำนาจนั้นยังมีอำนาจอยู่ อำนาจนั้น ย่อมมีอำนาจในการบังคับผู้อยู่ภายใต้อำนาจ ให้เชื่อฟังและปฏิบัติตาม
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
ยามเช้า โอ้ ยามเช้าอันมืดมนของข้า ยามเช้าที่ข้ามองไม่เห็นหนทางใดๆ ที่จะนำชีวิตลุล่วงผ่านพ้นวันนี้ไปได้ เพราะข้าได้ใช้ตัวช่วยชีวิตทุกตัว