Skip to main content

 

ก่อนอาทิตย์ตกในไร่ข้าวโพด

สีส้มโชติโชนอยู่อีกครู่ใหญ่

แผ่ร่มเงาความเวิ้งว้างกว้างออกไป

อีกหนึ่งวันกลืนวันวัยในวันนี้

\\/--break--\>

 

แก้มซีดเซียวพรายพลิ้วบนผิวน้ำ

ป้ายความช้ำอ่อนไหวไว้เต็มที่

ความอ่อนหวานซึ้ง ซึ้ง..ที่พึงมี

อาจเป็นสีดำสนิท - นิจนิรันดร์

 

เหน็ดเหนื่อยและอ่อนเพลียเสียทุกอย่าง

การเดินทางที่เป็นอยู่สู่ความฝัน

อาจจะถึง หรือบางที ไม่มีวัน

อิ่มพิษอันปวดร้าวช่างยาวนาน

 

ปีกความมืดร่อนคว้างกลางดงไม้

ดับดวงไฟ สายรุ้ง ความฟุ้งซ่าน

ดอกไม้ดาว - ดอกเดิมเริ่มผลิบาน

ทีละดอก จนละลาน เต็มลานฟ้า

 

เหล้าแก้วใหม่ให้รสชาติฝาดกว่าเก่า

โรยความเหงาท่ามกลางความฟางฝ้า

ในอารมณ์...ล้วนความหลังและน้ำตา

แย่งเข้ามาต่อสู้อยู่ภายใน

 

ยิ้มหลายยิ้มเยือกเย็นไม่เป็นมิตร

ดำสนิทข่มขวัญให้หวั่นไหว

ตาหลายคู่เป็นเส้นทางที่ห่างไกล

ไม่พบความจริงใจใครสักคน.

 

 

คราวที่แล้ว ผมได้พูดถึงฉันทลักษณ์หรือกฎเกณฑ์ข้อบังคับในการเขียนกลอนแปด ตั้งแต่การกำหนดเบื้องต้นว่า กลอนบทหนึ่ง ต้องมี 4 วรรค วรรคหนึ่งใช้คำได้ตั้งแต่จำนวน 7 ถึง 8 และไม่เกิน 9 คำ รวมทั้งเรื่องสัมผัสนอก สัมผัสใน สัมผัสระหว่างบท และเสียงท้ายวรรคอย่างละเอียด

 

คราวนี้ ผมขอนำตัวอย่างกลอนฉันทลักษณ์ชิ้นหนึ่ง ที่ชื่อว่า " สิ่งที่หัวใจแสวงหา " ของ อุฬาริน หรือที่มีนามจริงว่า คุณอุไรวรรณ ภู่ทะวงศ์ สุภาพสตรีนักกลอนผู้มีเสียงโด่งดังในวงการนักกลอนในอดีต จากหนังสือรวมเล่มบทกวีของเธอที่ชื่อว่า " คิดถึง ห่วงหา และว้าเหว่ " ที่ตีพิมพ์มาตั้งแต่ปี 30 มานำเสนอ เป็นตัวอย่างของงานฉันทลักษณ์ที่ผมถือว่ายอดเยี่ยม ตั้งแต่ คำ ความ สัมผัสนอก สัมผัสใน สัมผัสระหว่างบท และเสียงท้ายวรรคที่ไม่ผิดเพี้ยนจากกฎเกณฑ์แม้แต่วรรคเดียว

 

ครับ ถ้าจะเปรียบบทกวีบทนี้เป็นยอดเจดีย์อันงดงามสูงส่ง ที่เราต้องแหงนหน้ามองดู ก็ไม่ควรลืมก้มมองดู รากฐานอันแข็งแกร่งของเจดีย์ทุกขั้นตอน ที่ก่อขึ้นไปให้ยอดเจดีย์งดงามสูงส่งเสียดฟ้า ซึ่งหมายถึง ความประณีตในการสร้างงานตามกำหนดกฎเกณฑ์ของฉันทลักษณ์อันยากยิ่ง - ทุกขั้นตอนนั่นเอง

 

ที่สำคัญก็คือ เนื้อหา " สิ่งที่หัวใจแสวงหา " ของ อุฬาริน ที่บอกไว้ในบทสุดท้ายว่า

 

" ยิ้มหลายยิ้มเยือกเย็นไม่เป็นมิตร

ดำสนิทข่มขวัญให้หวั่นไหว

ตาหลายคู่เป็นเส้นทางที่ห่างไกล

ไม่พบความจริงใจใครสักคน "

 

ยังเป็นเนื้อหาที่เป็นสากล และไม่วันที่จะตกยุคสมัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคปัจจุบัน ที่เป็นสังคมวัตถุนิยมที่เลวร้ายถึงขนาด ทำให้เยาวชนในสถาบันการศึกษาต่างๆของเรา บางพวก บางกลุ่ม ยอมขายตัว เพียงเพื่อแลกมือถือ หรือกระเป๋าแบรนด์เนมสักใบหนึ่ง จนเป็นเรื่องธรรมดา และไม่มีสิทธิ์ที่จะไปโทษเยาวชนที่รู้ไม่เท่าทัน แต่ต้องโทษสังคมบริโภควัตถุที่สร้างค่านิยมเช่นนี้ขึ้นมา - จากกระแสวัฒนธรรมของทุนนิยมการผลิตเพื่อขายของสารพัด ทั้งจากภายนอกและภายในประเทศที่เข้ามามีอำนาจในการสร้างวาทกรรมค่านิยมทางวัตถุเพื่อขายของที่บริษัทของตัวเองผลิต... จนกลายเป็นค่านิยมที่เลวร้ายนี้ ท่ามกลางความเมินเฉยของอำนาจรัฐ ใช่หรือมิใช่.

 

23 สิงหาคม 2552

กระท่อมทุ่งเสี้ยว เชียงใหม่

 

 

บล็อกของ ถนอม ไชยวงษ์แก้ว

ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว  
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
แด่...คนเล็กๆทุกๆคนในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นคนเสื้อแดง คนเสื้อเหลือง ฯลฯ หรือมิได้เป็นคนเสื้อสีใดๆ ที่ตกเป็นเหยื่อกฎหมายหมิ่นฯ ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยอำนาจพิเศษกับคนเล็กๆ ที่ขาดอำนาจต่อรองที่เข้มแข็งในการปกป้องและต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมให้แก่ตนเอง และไม่มีใครสามารถที่จะช่วยเหลือพวกเขาได้ แม้แต่รัฐบาลที่พวกเขาหลายคนได้เลือกเข้าไป นั่งอยู่ในรัฐสภา.
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
พุทธภาษิตที่กล่าวว่า “ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม” และ “อำนาจย่อมเป็นใหญ่ในโลก” ประการแรกยังน่าสงสัยว่าเป็นความจริงโดยหรือไม่ แต่ประการที่สองที่กล่าวว่า อำนาจย่อมเป็นใหญ่ในโลก เป็นความจริงตามพุทธภาษิตได้กล่าวเอาไว้อย่างแน่แท้
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
อำนาจ ไม่ว่าอำนาจนั้น จะเป็นอำนาจที่ชอบธรรมหรือไม่ ตราบใดที่อำนาจนั้นยังมีอำนาจอยู่ อำนาจนั้น ย่อมมีอำนาจในการบังคับผู้อยู่ภายใต้อำนาจ ให้เชื่อฟังและปฏิบัติตาม
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
ยามเช้า โอ้ ยามเช้าอันมืดมนของข้า ยามเช้าที่ข้ามองไม่เห็นหนทางใดๆ ที่จะนำชีวิตลุล่วงผ่านพ้นวันนี้ไปได้ เพราะข้าได้ใช้ตัวช่วยชีวิตทุกตัว